ISUZU D-MAX SPARK 4×4 แข็งแกร่ง ทนทาน เพื่องานบรรทุก

DSC_0016_resize

“ผมว่ามีคนอีกตั้งมากมายที่อยากได้รถกระบะตอนเดียวขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่เขาไม่รู้ว่าทางบริษัทรถผลิตออกมาจำหน่ายแล้ว”

“ผมเสียดายที่ซื้อรถขับเคลื่อนสองล้อมาก่อน มารู้ตอนหลังว่าอีซูซุผลิตรถขับเคลื่อนสี่ล้อมาแล้ว เสียดายครับ”

“รุ่นนี้น่าจะตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดีนะ โดยเฉพาะชาวสวน ชาวไร่ ตรงใจเลย ต่อไปไม่ต้องกังวลใจเวลาเข้าพื้นที่ ใช้รถธรรมดาฝนตกทีไรต้องเอารถไถไปลากออกมาทุกที”

 “อยากให้มีการสอนหรือแนะนำเบื้องต้นให้กับผู้ใช้ เพราะผมเชื่อว่าถ้าเขารู้และได้ใช้รถอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว รับรองว่าคันต่อๆ ไป ต้องรถออฟโรดเท่านั้น”

 “ถูกใจมากเลย อยากได้รถกระบะตอนเดียวขับเคลื่อนสี่ล้อมานาน จ่ายแพงกว่า แต่ได้ประโยชน์มากกว่า”

  “การใช้งานจริงๆ ผมว่าไม่ต่างจากรถขับเคลื่อนสองล้อเท่าไร แต่ที่เหนือกว่าก็คือ มันไปได้ในทุกสภาพเส้นทาง ทำให้ผมหมดกังวล เวลาเข้าป่าขึ้นดอยหรือเข้าไร่”

นั่นคือ นานาทัศนะของลูกค้าอีซูซุ ที่ได้มีโอกาสพูดคุยหรือสัมผัสมา ไม่เฉพาะของอีซูซุเท่านั้นลูกค้าของค่ายรถอีกหลายๆ ค่าย ก็คงไม่ต่างกันสักเท่าไร(โดยเฉพาะผู้ใช้รถออฟโรด) ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็มีอยู่เพียงแค่ 3 ค่ายเท่านั้น ที่ผลิตรถปิคอัพหรือกระบะหัวเดี่ยวออกมาจำหน่าย แต่ทำตลาดหรือจำหน่ายจริงๆ จังๆ ก็เพียงแค่อีซูซุกับมิตซูบิชิ ส่วนฟอร์ดที่ออกเครื่องยนต์เบนซินมานั้น ก็เพียงแค่ 100 คัน แล้วก็เงียบหายไป

มิตซูบิชิผลิตออกมาจำหน่ายก่อน และได้รับความนิยมในระดับหนึ่งโดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคใต้ ที่มักใช้ในสวนยางพาราและสวนปาล์ม รวมทั้งในพื้นที่ทุรกันดาร ครั้นต้นปีที่ผ่านมา อีซูซุได้ฤกษ์ขยับตัว นำ Spark 4×4 เปิดออกมา เค้กก้อนนี้จึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ภาคกลางและภาคเหนือ ที่อีซูซุบุกเข้าไปครอบครองตลาดอย่างเงียบๆ

ในเรื่องประสิทธิภาพของตัวรถนั้น เป็นอันตัดทิ้งไปได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ ช่วงล่าง ความแรงและการประหยัดน้ำมันนั้น ผ่านการทดสอบมาเรียบร้อยแล้วในชื่อของ All New Isuzu D-Max แต่สิ่งที่ยังขาดไปก็คือ Spark 4×4 ชื่อนี้คนทั่วไปรู้น้อยมาก หรืออยู่ในวงจำกัด ยกเว้นสาวกของอีซูซุจริงๆ หรือผู้ที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับรถยนต์ เนื่องจากอีซูซุไม่ได้มุ่งเน้นการทำตลาด หรือมีการโฆษณาอย่างจริงจัง ต่างจาก All New Isuzu D-Max หรือ V-Cross ที่โหมโฆษณาอย่างจริงจัง

DSC_0191_resize

ปัญหาใหญ่จริงๆ ที่พบกันมากที่สุด ก็คือ ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรถออฟโรดหรือขับเคลื่อนสี่ล้ออย่างจริงจัง ไม่เข้าใจระบบเกียร์ หรือขาดทักษะในการขับ ทำให้ใช้งานรถประเภทนี้ได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือบางคนอาจจะคิดว่ามันไม่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะคนเมือง ทั้งๆ ที่รถออฟโรดนั้น หากเราสามารถใช้เป็นหรือใช้ได้อย่างถูกวิธี จะทราบดีว่ามันมีประโยชน์และอเนกประสงค์ รวมทั้งความปลอดภัยมากกว่ารถขับเคลื่อนสองล้อหลายเท่าตัว

DSC_0090_resize
ภายในให้อุปกรณ์เท่าที่จำเป็น แต่ระบบ INSIGHT มีมาให้ทุกคันสำหรับ อีซูซุ

แต่ก่อนอื่นอยากให้ท่านผู้อ่านได้ดูข้อมูลของรถ Isuzu D-Max Spark 4×4   กันก่อน ว่ามีความแตกต่างจากตัว All New D-Max V-Cross อย่างไรบ้าง

ภายในแม้จะเป็นแบบหัวเดี่ยวแต่ก็กว้างขวางพอสมควร
ภายในแม้จะเป็นแบบหัวเดี่ยวแต่ก็กว้างขวางพอสมควร
DSC_0085_resize
เกียร์แมนวล 5 สปีด Terrain Command หรือปุ่มปรับโหมดการขับขี่ จาก 2H ไปสู่ 4H และ 4L

Isuzu D-Max Spark 4×4 นั้น มีการผลิตมาแค่ 2 สี นั่นก็คือ สีขาวและสีตะกั่ว เครื่องยนต์ก็มีเพียงรุ่นเดียว คือ Did Super Commonrail 2.5 VGS Turbo เป็นเครื่องยนต์ที่ได้รับมาตรฐานยูโรโฟร์ ให้กำลังสูงสุด 100 กิโลวัตน์ที่ 3,600 รอบ/นาที (High Flat-Torque) 320 นิวตัน-เมตร ที่ 1,800-2,800 ต่อนาที และให้แรงม้า 136 แรงม้า ในส่วนของรูปร่างหน้าตานั้นไม่ต่างจากรุ่น SPARK ขับเคลื่อนสองล้อเท่าได้นัก ต่างแต่ก็ความสูงของใต้ท้องที่สูงเพิ่มขึ้นมาเป็น 225 มม. เป็นความสูงระดับเดียวกับรุ่น V-Cross ในขณะที่รุ่นธรรมดาสูง 200 มม. ส่วนในรุ่น B-Cab สูง 195 มม. ส่วนความยาวนั้นอยู่ที่ 5,215 มม. และฐานล้อกว้าง 3,095 มม. อัตราทดเฟืองท้ายอยู่ที่ขนาด 4.1 และมีลิมิเต็ดสลิปเพิ่มมาเป็นเขี้ยวเล็บให้ด้วย

DSC_0111_resize
เครื่องยนต์ 2,500 ซี.ซี. 136 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 320 นิวตัน – เมตร ที่ 1,800 – 2,800 รอบ/นาที

DSC_0112_resize

ในขณะที่ช่วงล่างด้านหน้านั้นเป็นแบบอิสระปีกนกสองชั้น คอยล์สปริงพร้อมเหล็กกันโคลง และใช้โช้คอัพแก๊ส ซึ่งก็คือช่วงล่างเดียวกับตัวลุยอย่าง V-Cross นั่นเอง จะต่างกันก็ตรงด้านหลังที่เน้นเพื่องานบรรทุก จึงเป็นแหนบรูปครึ่งวงรี เทินอยู่เหนือเพลา พร้อมโช้คอัพแก๊ส และใช้ยางขนาด 245 /70 R16

กันชนหน้าสีเดียวกับตัวรถและใช้ไฟแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์
กันชนหน้าสีเดียวกับตัวรถและใช้ไฟแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รถ Isuzu D-Max Spark 4×4 นั้น ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวันหรืองานเชิงพาณิชย์เป็นหลักๆ ความนิ่มนวลย่อมน้อยกว่ารุ่นแค็บหรือสี่ประตูอย่างแน่นอน รวมทั้งความสะดวกสบาย จึงมีมาให้เท่าที่จำเป็น ดังนั้นเมื่อมุดเข้าไปดูภายในห้องโดยสาร จะพบว่าเหมือนกับ All New D-Max รุ่นอื่นๆ แต่อุปกรณ์ที่ให้มาก็เท่าที่จำเป็น อาทิ พวงมาลัยเพาเวอร์ปรับระดับได้ วิทยุพร้อมเครื่องเล่นซีดีและเอ็มพี3 ในขณะที่กระจกข้างนั้น เป็นแบบมือหมุน ซึ่งอาจจะขัดตาสักเล็กน้อยสำหรับรถรุ่นใหม่ๆ ที่ยังใช้เป็นแบบเมลนวล แต่ที่แตกต่างรุ่น C-Cross ก็คือ ระบบปรับเปลี่ยนการขับเคลื่อนของรถหรืออีซูซุใช้ชื่อว่า Terrain Command ที่เป็นปุ่มปรับโหมดการขับขี่จาก 2H ไปสู่ 4H และ 4L(ต้องกดปุ่มลงไปและหมุน) ถูกโยกไปติดอยู่ใต้ด้านหลังของคันเกียร์ติดกับที่จุดบุหรี่ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาและไม่แตกต่างกันเท่าไร

DSC_0054_resize
ลุยเส้นทางทุรกันดาร ทั้งขึ้นเขา ลงห้วย ผ่านสบายๆ ไร้กังวลใจ เหมาะกับการบรรทุกงานหนัก

ต้องยอมรับว่า Isuzu D-Max Spark 4×4 ผลิตออกมาเพื่อเอาใจชาวไร่ ชาวสวน หรือผู้ที่ต้องการรถบรรทุกขนาดเล็กที่ให้สมรรถนะที่แตกต่างออกไป ดังนั้นในฉบับนี้ ทางนิตยสารออฟโรดจึงขอขันอาสาพาไปทำความรู้จักกับผู้ใช้รถดังกล่าว โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจาก บริษัท อีซูซุกาญจนบุรี จำกัด ในการประสานงานกับลูกค้าที่ใช้รถ Isuzu D-Max Spark 4×4 เพื่อตามติดไปถ่ายทำการใช้งานจริงของลูกค้าจำนวน 2 รายด้วยกัน ซึ่งถือได้ว่าตรงตามเป้าประสงค์ของการใช้งานจริงๆ

Specifications

ภายนอก                                                            แบบมัลติรีเฟล็กเตอร์

กันชนหน้า                                                         สีเดียวกับตัวรถ

ขอเกี่ยวที่ขอบกระบะด้านข้างและด้านท้าย มี

ภายใน

พวงมาลัยเพาะเวอร์ ปรับระดับได้                          มี

วิทยุพร้อมเครื่องเล่นยซีดีและเอ็มพี3                  ขนาด 1 Din

ลำโพง                                                                      2 ลำโพง

ระบบปรับความเย็น                                                 มี

เบาะนั่ง                                                                    เบาะไวนิล

เครื่องยนต์

ความจุกระบอกสูบ (ซีซี)  2,499

กำลังสูงสุด-ECE Net (กิโลวัตต์/รอบต่อนาที)  100 / 3,600

แรงบิดสูงสุด-ECE Net (นิวตัน-เมตร/รอบต่อนาที)  320 (1,800-2,800)

มิติและความจุ

มิติตัวรถ ยาวxกว้างxสูง (มม.)                              5,215 x 1,860 x 1,780

มิติกระบะ ยาวxกว้างxสูง (มม.)                            2,305 x 1,570 x 440

ฐานล้อ (มม.)                                                           3,095

ความกว้างช่วงล้อหน้า/หลัง (มม.)                         1,510 / 1,570

ความสูงใต้ท้องรถ (มม.)                                         225

ระบบส่งกำลัง

เกียร์ธรรมดา                                                      5 เกียร์เดินหน้า ซิงโครเมช พร้อมโอเวอร์ไดรฟ์

อัตราทดเกียร์ 1 / 2 / 3 / 4 / 5                     4,008 / 2,301 / 1,427 / 1,000 / 0.745

อัตราทดเกียร์ 4L / 4H                                    2,482 / 1.0

อัตราทดเกียร์ถอยหลัง                                     3,651

อัตราเกียร์เฟืองท้าย                                          4.1

เฟืองท้ายแบบลิมิเต็ดสลิป                                 มี

ล้อและยาง

ล้อ                                                                       ล้อเหล็ก 7.0J x 16

ขนาดยาง                                                            245 / 70R16

ระบบกันสะเทือน

หน้า                                          แบบอสระปีกนก 2 ชั้น คอนล์สปริง และเหล็กกันโคลง พร้อมโช้กอัพแก๊ส

หลัง                                          แหนบแผ่นรูปครึ่งวงรี พร้อมโช้กอัพแก๊ส (แหนบเหนือเพลา)

เสียงจริง จากประสบการณ์ของผู้ใช้

ชาติชาย อินทร์เกตุ-ชัญชนันท์ คงสุธนะชวิสิฐ

อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี

1 (1)_resize

อาชีพ…เกษตรกรรม ข้าวโพดหวานบ้านไร่ป้าเอียง

1 (2)_resize

หนุ่มเจ้าของไร่ข้าวโพดหวานบ้านไร่ป้าเอียง ถือว่าเป็นผู้ที่ใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อมาโดยตลอด เนื่องจากอาชีพของเขาต้องเดินทางเข้าสวนเข้าไร่ บุกไปตามเส้นทางที่ทุรกันดาร ดังนั้นเมื่ออีซูซุออก Spark 4×4 มา เขาจึงไม่รีรอที่จะจับจองเป็นเจ้าของเป็นคนแรกๆ เพราะตอบโจทย์ในการใช้งานชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี และครั้งนี้เราก็ไม่รอช้า พา ชาติชาย อินทร์เกตุ-ชัญชนันท์ คงสุธนะชวิสิฐ ไปทดสอบสมรรถนะกันแบบเต็มๆ นอกเหนือจากการใช้งานในไร่ นั่นก็คือ สนามเทรนนิ่งของกรังด์ปรีซ์ กอล์ฟ คลับ ของ ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา เพื่อให้ผู้ใช้ได้ทดสอบสมรรถนะในแง่มุมที่แตกต่างไปจากการใช้งานปกติ

DSC_0119_resize

ชาติชาย อินทร์เกตุ ได้กล่าวว่า

“อาชีพของผมคือ ทำไร่ข้าวโพดมาตั้งแต่ยุคคุณพ่อคุณแม่แล้ว แน่นอนว่าจำเป็นต้องใช้รถออฟโรดในการเข้าไร่เป็นหลักและชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ใช้แล้วสบายใจครับ เนื่องจากฝนตกฟ้าร้องอย่างไรก็ไม่ต้องกลัวติดหล่ม

ช่วงล่างแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น คอยล์สปริง และเหล็กกันโคลงพร้อมโช๊คอัพแก๊ส เช่นเดียวกับรุ่นพี่ V-Cross
ช่วงล่างแบบอิสระปีกนก 2 ชั้น คอยล์สปริง และเหล็กกันโคลงพร้อมโช๊คอัพแก๊ส เช่นเดียวกับรุ่นพี่ V-Cross

ยิ่งอีซูซุได้ผลิตรถ Isuzu D-Max Spark 4×4 ปิคอัพหัวเดี่ยวที่เน้นการใช้งานหนัก ลุยงานบรรทุกออกมา ผมไม่รีรอที่จะจับจองเป็นเจ้าของ ผมว่ามันเป็นรถที่น่าใช้มากครับ โดยเฉพาะงานในไร่ ที่ต้องการใช้รถที่สามารถบรรทุกหนัก มีความแข็งแกร่ง ทนทาน และที่สำคัญต้องประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่ง  Spark 4×4 ตอบโจทย์ของผมได้ทั้งหมด ทุกวันนี้กลายเป็นรถคู่ชีพของผมไปเรียบร้อยแล้ว บรรทุกได้มากกว่า ลุยงานหนักๆ ในเส้นทางวิบากก็ผ่านได้สบาย

DSC_0170_resize

ยิ่งได้มาทำการขับทดสอบในสนามเทรนนิ่งครั้งนี้ บอกตามตรงว่าได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้นอีกเยอะ แตกต่างจากการใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งได้รับรู้เกี่ยวกับสมรรถนะของรถเพิ่มขึ้น สนุกครับ เป็นไปได้ผมอยากให้บริษัทที่ผลิตรถออกมา ควรให้ความรู้กับผู้ซื้อหรือมีการเทรนนิ่งให้กับผู้ใช้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เขาเข้าใจขีดความสามารถของรถ จะสามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า แล้วจะรู้ว่ารถออฟโรดมันดีกว่ารถธรรมดาทั่วไปอย่างไร” 

วีระ  ตันแย้มแก้ว

อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

2 (3)_resize

เจ้าของสวนยางพารา สวนลิ้นจี่และมะม่วง

ผู้ก่อตั้งสหกรณ์ยางพาราทองผาภูมิ จำกัด และผู้ปลูกยางพาราเจ้าแรกของกาญจนบุรี

ต้องเรียกว่าคุณลุงจอมลุยคงไม่ผิดนัก เพราะ คุณลุงวีระ ตันแย้มแก้ว แห่งไทรโยค อายุแกหลุดเลยเลข 7 ไปแล้ว แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลข เพราะทุกวันนี้คุณลุงวีระยังขับรถขึ้นเหนือ ล่องใต้ เป็นว่าเล่น เป็นคนหนึ่งที่ใช้รถได้อย่างคุ้มค่า กว่าค่อนชีวิตของคุณลุงผูกพันอยู่กับรถและการเดินทาง และที่สำคัญแกเป็นสาวกอีซูซุอย่างเข้าสายเลือด มีตั้งแต่ปิคอัพตอนเดียว รถแค็บ ไปจนถึงรถสี่ประตู และทุกคันเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อทั้งหมด คุณลุงพูดสั้นๆ ว่า “มีรถออฟโรด จะไปไหนก็ได้” ดูเป็นคำพูดที่ตอกย้ำความทรงจำอันน่าภาคภูมิใจของแกเสมอ

DSC_0270_resize

คุณวีระ ตันแย้มแก้ว หรือคุณลุงวีระ กล่าวกับทีมงานนิตยสารออฟโรดว่า

“ผมเป็นคนที่ใช้รถโหด โหดในที่นี้หมายถึง บรรทุกของครั้งละ 2-3 ตัน เมื่อก่อนก็ใช้รถแค็บ แต่มีข้อเสีย

ก็คือ บรรทุกหนักขนาดนั้น หน้ามันลอย ต่างจากกระบะตอนเดียวเมื่อบรรทุกของแล้วน้ำหนักมันจะสมดุลกัน รวมทั้งกระบะตอนเดียวบรรทุกได้มากกว่า

 ถามว่าทำไมถึงชอบใช้รถออฟโรด อันนี้ก็มาจากอาชีพของเราที่ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ต้องเข้าสวนยางพาราที่ผมปลูกเอาไว้หลายแปลง ฝนตกทีไรได้เรื่องตลอด ต้องเอารถไถหรือรถออฟโรดไปลากออกมาทุกที จึงตัดสินใจซื้อรถออฟโรด ใช้แล้วก็ติดใจ หลังๆ มานี่ในบ้านเป็นรถออฟโรดหมดทุกคัน วันไหนเบื่อๆ ก็ขับไปนอนเล่นในป่าในเขา มีความสุขจะตาย คุณคิดดูสิ ถ้าเป็นรถธรรมดาไปได้ไหม…”

คุณวีระ ตันแย้มแก้ว หันมามองหน้าทีมงาน ก่อนกล่าวต่อไปว่า “ อย่างคันนี้ก็เหมือนกัน ไปเห็นในโปรชัวร์ที่โชว์รูม ก็ตัดสินใจซื้อทันทีอย่างไม่ลังเลใจ เพราะเรานั้นชอบรถอีซูซุอยู่แล้ว แต่น่าเสียดาย…น่าจะผลิตเครื่องยนต์ 3,000 ซี.ซี.ออกมาด้วย เพราะรถที่ผมใช้เป็นเครื่องยนต์ 3,000 ซี.ซี.ทั้งหมด มาขับเครื่อง 2,500 ซี.ซี.ยังไม่ค่อยชินเลยรู้สึกจะอืดไปนิด แต่ไม่รีบร้อนอะไรมาก ก็ถือว่าสมตัวของมัน เมื่อแลกกับการบรรทุกที่เพิ่มมากขึ้น”

ขอขอบคุณ

ขอขอบคุณ_resize

 

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย นิตยสาร ออฟโรด : www.grandprix.co.th/offroadmagazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์  รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ไดที่ www.grandprix.co.th

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save