WINCH……อย่าเดินทางไปโดยไม่มีมัน
เรื่องราวของอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ถือว่าจำเป็นอย่างมากถึงมากที่สุดอย่าง WINCH–วินช์ หรือรอกดึง บางทีก็เรียกว่า กว้าน ตามภาษาเข้าใจ ซึ่งน้อยคนที่จะไม่รู้จักมัน เนื่องจากมันเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลืออันดับ 1 ของชาวออฟโรด ที่หากว่าเป็นขาป่าจริงๆ ต้องมีมัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกใช้วินช์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน น้ำหนักรถ รวมทั้งสถานการณ์ นับเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ไม่ควรมองข้าม
วินช์ มีอยู่ด้วยกันหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น วินช์เพลา วินช์ไฮดรอลิก และวินช์ยอดนิยม นั่นก็คือ วินช์ไฟฟ้า ที่เห็นได้ง่ายทั่วไป ซึ่งมันมักจะอยู่ในตัวรถที่ด้านหน้าเป็นส่วนใหญ่จะมีบ้างกับบางคันที่เสริมเอาไว้ด้วยชุดวินช์หลังนั้นจะเป็นวินช์แบบ “วินช์ไฟฟ้า” แทบทั้งสิ้น ตัววินช์นี่มันถูกออกแบบมาให้ทำงานในการหมุนเก็บสายด้วยต้นกำลังตามแบบของชนิดวินช์ ถ้าเป็นวินช์เพลาก็ใช้กำลังจากเครื่องยนต์กับอัตราทดของชุดเกียร์เป็นส่วนที่ทำงาน แต่ถ้าเป็นวินช์แบบไฮดรอลิกก็ต้องใช้กำลังจากระบบไฮดรอลิกซึ่งมันจะพ่วงต่อกับปั๊มน้ำมันของชุดพวงมาลัยเพาเวอร์ วินช์แบบนี้จะใช้ได้กับรถที่มีระบบปั๊มเพาเวอร์พวงมาลัยที่มีกำลังเพียงพอเท่านั้น ส่วนวินช์ไฟฟ้านั้นก็ใช้กำลังจากกระแสไฟฟ้าในรถเป็นตัวขับเคลื่อนมอเตอร์ให้เกิดการหมุน บางรุ่นก็มีชุดเฟืองทดช่วยเพิ่มอัตราทดในการหมุนเพื่อแรงบิดแรงดึงลากที่มากขึ้น
ตัววินช์นั้นถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น เพราะอย่างที่เราเข้าใจว่าการเดินทางในเส้นทางออฟโรดต่างๆ อุปสรรคเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก และถึงจะมีการเซ็ตรถมาแบบเต็มที่เพียงไหน มันก็ย่อมที่จะต้องมีข้อจำกัดเสมอ ไม่เพียงวินช์จะช่วยให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างตลอดรอดฝั่งเท่านั้น แต่มันยังช่วยปกป้องอุปกรณ์ทั้งเครื่องยนต์และตัวรถทั้งหมด ไม่ให้บอบช้ำจากการที่ทำงานหนักมากเกินไปได้ด้วย เพราะการดึงลากของวินช์นั้น ช่วยให้รถข้ามอุปสรรคไปได้ โดยที่เครื่องยนต์ไม่ต้องใช้รอบสูงในส่วนของวินช์ไฟฟ้า อีกทั้งชุดวินช์ไฟฟ้านี้ ยังมีการใส่หรือเปลี่ยนเข้ากับตัวรถได้สะดวก ทำให้วินช์ประเภทนี้เป็นที่นิยมและมีการเลือกใช้งานอย่างแพร่หลายมากที่สุด
การเลือกใช้งานนี่แหละคือประเด็นของเราในวันนี้ เพราะคุณสมบัติของตัววินช์ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้คู่กัน จะมีรายละเอียดที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อเวลาที่ต้องใช้งานจริงมันจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเหลือเราได้อย่างแท้จริง โดยที่ตัวของมันเองไม่เสียหายและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน
รายละเอียดที่เราจะต้องรู้เมื่อจะทำการเลือกหาวินช์มาติดตั้งเอาไว้สักตัว วินช์ตัวหลักนั้นมักจะอยู่ที่ด้านหน้า เพราะในเวลาที่เดินทาง ตัวรถย่อมที่จะต้องมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย และเมื่อใช้วินช์ผู้ขับขี่ก็ต้องมองเห็นลักษณะของวินช์และการดึง รวมไปถึงอาการของรถด้วย ดังนั้นวินช์ตัวหลักมักจะอยู่หรือมีที่ด้านหน้า สำหรับสิ่งที่วินช์นั้นมีติดตัวมาก็คือ คุณสมบัติในการดึงหรือแรงดึงลาก ซึ่งมันจะมีคุณสมบัติบอกเอาไว้ในคุณสมบัติเฉพาะของวินช์แต่ละรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะต้องรู้อยู่แล้วว่า ต้องเลือกวินช์ที่มีแรงดึงมากกว่าน้ำหนักตัวรถ ส่วนจะมากกว่าเท่าไหร่ค่อยว่ากัน แต่อย่าลืมว่ามันย่อมที่จะต้องมีข้อจำกัดอย่างอื่นอยู่เสมอ
แรงดึงสาย (Rated Line Pull) จะระบุเอาไว้ว่าวินช์ตัวนั้นมีแรงดึงอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งทั่วไปมันมักจะมากกว่าน้ำหนักของรถสแตนดาร์ดหรือแม้กระทั่งรถออฟโรดที่แต่งแบบเต็มๆ ก็ตาม แต่ระยะช่องว่างซึ่งเป็นระยะห่างที่เหลือของแรงที่เผื่อไว้นั่นแหละมันจะมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่เราเลือก บางครั้งการเลือกวินช์โดยใช้สูตรของการเลือกวินช์ที่มีแรงดึงมากกว่าน้ำหนักตัวรถประมาณ 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวรถขึ้นไปอาจจะทำให้เราเข้าใจว่าพอ แต่มันจะพอสำหรับระยะเวลาไหนต้องมาดูอีกที
กรณีตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าตัวรถนั้นหนัก 1,000 กิโลกรัม บวกกับอุปกรณ์สัมภาระของตกแต่งต่างๆ ทำให้น้ำหนักรถอยู่ที่ 2,000 กิโลกรัม กับวินช์ที่มีแรงดึงอยู่ที่ 8,500 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 3,855 กิโลกรัม ดังนั้นเราจึงเข้าใจว่าวินช์ตัวนี้เพียงพอสำหรับการใช้งาน แต่ทว่าถ้าน้ำหนัก 3,855 กิโลกรัม ไปจมอยู่ในโคลนหรือพื้นดินทราย หรือการดึงขึ้นทางลาดชันแรงที่ใช้ดึงย่อมที่จะต้องมากขึ้น คิดง่ายๆ อย่างเวลาที่คุณเดินบนพื้นเรียบกับเดินในบ่อโคลน บ่อทรายหรือเดินขึ้นทางลาดชันพอนึกภาพออกใช่ไหม ก็นั่นแหละ แล้วไหนจะเป็นเรื่องของจุดยึดหลักดึงกับมุมที่ทำกับตัวรถอีก การแตกออกของแรงจากมุมในการเดินทางย่อมที่จะทำให้แรงดึงนั้นเปลี่ยนไปซึ่งตรงนั้นมันก็มีอุปกรณ์เสริมอย่างพวกรอกหรือรางลื่นมาเป็นตัวช่วยทำงาน ที่บอกว่าเพื่อที่ต้องการจะให้เข้าใจว่าระยะห่างของแรงดึงที่เหลือที่เห็นตัวเลขว่าเหลือเยอะในการใช้งานจริงมันอาจจะไม่ได้เหลือเยอะอย่างที่เข้าใจ ไอ้ตัวช่องว่างระยะห่างของแรงดึงที่ต้องใช้เอาชนะแรงฉุดจากน้ำหนักของตัวรถกับแรงดึงดูดของโลกยิ่งถ้ามันมีน้อย ตัววินช์ก็จะต้องทำงานหนักมากขึ้นเหมือนกับการขับรถที่มีแรงม้าสูงๆ กับรถที่มีแรงม้าน้อยๆ แต่ในระดับความเร็วที่เท่ากันเครื่องยนต์แรงม้าน้อยย่อมที่จะต้องใช้รอบเครื่องที่มากกว่ามีภาระมากกว่าคิดง่ายๆ ก็คือทำงานหนักกว่านั่นเอง
เมื่อวินช์ต้องทำงานหนักแล้ว และต้องใช้งานบ่อย มันย่อมที่จะไม่เป็นผลดี ถ้าเป็นการต่อวงจรของชุดวินช์ที่ถูกต้อง มันจะมีการออกแบบวงจรเพื่อความปลอดภัยด้วยฟิวส์หรือสวิตช์ตัดต่อเมื่อมีการใช้งานหนักติดต่อกันมากเกินไป ทำให้ชิ้นส่วนของมอเตอร์ร้อนในวินช์ไฟฟ้าก็จะตัด เพื่อป้องกันความเสียหายซึ่งการป้องกันนี้จะมีจุดที่เผื่อไว้มาก ทำให้เกิดการตัดบ่อย ซึ่งมักจะไม่ค่อยเป็นที่ชอบใจหลายคน จึงมักต่อวงจรตรงแล้วใช้ประสบการณ์กับความต้องการในการบังคับ แต่อาจจะทำให้เกิดการเสียหายจนวินช์พังได้ ดังนั้นการที่เราเลือกวินช์ให้มีแรงดึงที่มากกว่าที่เราใช้งานเผื่อเอาไว้มากๆ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้วินช์ไม่ต้องทำงานหนักและมั่นใจในการใช้งาน แต่ก็อย่าลืมว่าวินช์ตัวใหญ่ย่อมที่จะมีน้ำหนักและพื้นที่ในการติดตั้ง รวมไปถึงราคาค่าตัวที่ต้องจ่ายมากกว่า แถมยังต้องไปคิดเรื่องการรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอีก
อย่างไรก็ตามในการตกแต่งตัวรถออฟโรด เราควรจะติดตั้งอุปกรณ์เท่าที่จำเป็นจริงๆ ไม่เพิ่มน้ำหนักให้กับตัวรถมากเกินไป รวมทั้งสัมภาระต่างๆ ก็ควรนำติดรถไปเท่าที่จำเป็น อีกทั้งการใช้จุดยึดหลักดึงก็ควรดูให้อยู่ในมุมที่ไม่แตกแรง หรือทำมุมกับตัวรถมากนัก เป็นการช่วยลดภาระให้วินช์ได้อีกทางหนึ่งทำให้ตัววินช์ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป วินช์ไฟฟ้า วินช์ไฟฟ้าใช้พลังงานไฟฟ้าจากกระแสไฟแบตเตอรี่รถยนต์ เป็นที่นิยมใช้งาน หาง่ายราคาสมเหตุผล มีการใช้งานไม่ยุ่งยาก แต่ในขณะใช้งานต้องให้เครื่องยนต์ติดและทำงานอยู่เพราะต้องการการสร้างกระแสไฟ อีกทั้งยังต้องใช้งานในจังหวะการดึงที่ไม่ต่อเนื่องยาวนานมากเกินไปเพราะอาจทำให้เสียหายต่อตัวมอเตอร์วินช์และทำให้เกิดการกินกระแสไฟมากเกินไป
วินช์ไฮดรอลิก
วินช์ไฮดรอลิกใช้กำลังจากปั๊มไฮดรอลิก ร่วมกับระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ มีกลไกที่ซับซ้อนเครื่องยนต์ต้องติดทำงานอยู่ในขณะใช้งาน ในขณะวินช์ทำงานไม่สามารถช่วยแรงในการบังคับพวงมาลัยได้เหมือนปกติ แต่สามารถทำงานได้ต่อเนื่องนานเท่าที่ต้องการใช้
วินช์เพลา
วินช์เพลาใช้กำลังจากเครื่องยนต์ เพิ่มความเร็วในการดึงและแรงบิดด้วยอัตราทดของเฟืองเกียร์สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง แต่เครื่องยนต์ต้องติดอยู่เสมอ ส่วนการใช้งานที่เหมาะสมต้องใช้ทักษะในการเดินรอบเครื่องยนต์และเลือกอัตราทดของเกียร์ให้เหมาะสม
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.