THE BACK PACK CAR

1_resize

ปลายทางของการรอนแรมในครั้งนี้ คือ จุดเหนือสุดของแผ่นดินลาว ซึ่งจะอยู่ที่บ้าน”ล่านตู๋ย/Lantuy” (จุดสีน้ำเงินบนสุดของแผนที่) สีสันของการรอนแรมในครั้งนี้  สำหรับผมจะเริ่มที่จุดแยกบ้านนาหม้อแห่งนี้ จึงขออนุญาติ ทำความเข้าใจกับเส้นทางก่อน

2_resize

เริ่มจากแยกนาเตยถึงบุนใต้ (Bountai) ก่อนนะครับ การที่เราจะขับรถไปพงสาลี จากสามแยกนาเตย โดยปรกติ เราจะต้องขับรถผ่านบ้านนาหม้อ (Na-mor) เพื่อไปตั้งต้นที่อุดมชัย หลังจากนั้น จึงเลี้ยวซ้ายขึ้นเหนือ บนเส้นทาง 2E สู่ปากน้ำน้อย (ทางเส้นนี้หากตรงต่อไปเรื่อยๆ สามารถจะพาเราไปได้ถึงเมืองขวา ชายแดนเดียนเบียนฟู) เมื่อถึงคิวรถปากน้ำน้อยแล้ว หลังจากข้ามสะพาน จะมีทางเลี้ยวซ้ายเล็กๆ เข้าสู่บ้านสัมพัน เราจะวิ่งรถไปเรื่อยๆ จนเจอกับเมืองบุนใต้

3_resize

ทุกคนที่นั่น คงยืนยันให้ผมไปตามเส้นทางนี้ ไม่เว้นแม่แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ผมเลือกที่จะไปอีกเส้นทางหนึ่ง ทั้งที่หลายๆ คน บอกกับผมว่าเส้นทางบางช่วงจะขาด และบางช่วงก็จะมีดินสไลด์ปิดทาง หรือมีต้นไม้ใหญ่ล้มขวาง หากสังเกตุจากระยะทาง จะใกล้กว่าไปทางปกติมาก หากสังเกตจากแผนที่ประกอบดีๆ จะไม่มีถนน ซึ่งใน GPS ของผมก็ไม่มี MAP ถนนเช่นกัน

4_resize

ผมเพียรสอบถามข้อมูลของเส้นทางนี้ จนค่อนข้างมั่นใจ ว่ามันสามารถจะเชื่อมต่อกับบ้านบุนใต้ได้

แต่อาจจะมีจุดที่ต้อง Winch สัก 2-3 แห่ง ผมตั้งใจว่า หากไปไม่ไหวจริงๆ ก็จะไม่ฝืนรถ ผมจะหันหัวกลับ

สาเหตุที่ชาวบ้านไม่ใช้ทางเส้นนี้ เนื่องจากลักษณะเส้นทางที่แคบและพัง ลักษณะของเส้นทางคล้ายกับทางเข้าทุ่งใหญ่ฯ จากด่านทินวยไปที่จะแก ในหน้าแล้ง หลายช่วงของการเดินทาง ต้องข้ามห้วย ทางขึ้นลงห้วย บางครั้งก็ขาด

6_resize

บางแห่งก็เป็นหินก้อนโตๆ ใต้น้ำ ขณะนำรถลงน้ำ หินก้อนโตๆ เหมือนจะดักรอ คอยกระแทกเพลาหน้า-หลังของเราให้แตกได้ รถธรรมดาจึงไม่สามารถวิ่งได้ในเส้นทางนี้ (จุดลึกสุดของน้ำ บางห้วยพอท่วมยาง 33 และกระแสน้ำไม่แรง) ประกอบกับระยะทาง แปดถึงเก้าสิบกิโล กว่าจะทะลุออกที่บ้านบุนใต้ จะไม่มีปั้มน้ำมัน ไม่มีเมือง หรืออู่ซ่อมรถเลย

สองข้างทางจะมีก็แต่หมู่บ้านชาวเขาหรือบ้านไทลื้อเล็กๆ กระจัดกระจายกันห่างๆ ระหว่างทาง หากรถผมเกิดเสียหายหนัก พลิก ตะแคง ตกเหวหรือคว่ำ ผมก็ยังมีอุปกรณ์ซ่อมบำรุง แบบที่สามารถจะงัดมันออกมาซ่อมได้ทุกชิ้น จนพอที่จะประคองไอ้กะชอโพให้ออกมาจากป่าได้ ส่วนอุปกรณ์ยังชีพและเสบียงของผม สามารถอยู่ได้ถึง 4 อาทิตย์ แบบสบายๆ ผมจึงตัดความกังวลเรื่องนี้ออกไป

5_resize

ความกังวลของผม จึงอยู่ที่เรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก หากผมหลงทางบ่อยๆ น้ำมันเราจะหมดไปเรื่อยๆ ด้วยน้ำหนักของรถ บวกสัมภาระเพียบๆ ไอ้กะชอโพ ค่อนข้างที่จะกินจุด้วย หากหลงแล้ววนไปวนมาจนน้ำมันหมดเกลี้ยง หรือผมเกิดพลัดหลงขับเข้าไปในจีน ผ่านทางขุดเล็กๆ แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ที่นี้แหละ เรื่องสนุกต้องเกิดขึ้นกับผม แบบขำไม่ออกแน่ๆ !!!

แต่ด้วยลายแทงจากพี่แย้ และความมั่นใจกับไอ้กะชอโพแก่ของผม ผมจึงเลือกที่จะไปในเส้นทางนี้ ประมาณเจ็ดโมงเช้า สัมภาระทุกอย่างก็ถูกอัดขึ้นไปอยู่บนรถเรียบร้อย ผมใช้เวลาร่ำลาเจ้าของบ้าน พร้อมกับอุ่นเครื่องรถสักพัก

ถ้าตอนกลับ ผ่านมาทางนี้ อย่าลืมแวะมานะ  เสียงสาลี่ ตะโกนพร้อมกับโบกมือร่ำลาเรา

ผมหันหัวรถเข้าสู่ปากทางด่านแม้วจ่าย ถนนดินเล็กๆ เปียกชุ่มไปด้วยน้ำฝน เสียงยางมัด สลัดโคลนและหินกระเด็นใส่ไอ้กะชอโพอย่างไม่ขาดสาย พ้นจากปากทางมาสักระยะ อิทธิฤทธิ์ของทางเส้นนี้ที่มีแต่คนเตือน ก็ปรากฏแก่เรา ทางที่ผมวิ่งรถอยู่ขณะนี้บางช่วงจะลื่นเอามากๆ เนื่องจากบางตอนของทางเส้นนี้ ในหน้าแล้งจะมีแต่ฝุ่นปกคลุม ส่วนพื้นล่างแข็งโป๊ก

เมื่อฝนแรกเทลงมา ฝุ่นผงและดินที่เคยอาบหน้า ก็แปรสภาพเป็นโคลน อยู่ด้านบน กรอปกับพื้นด้านล่างที่แข็งมาก ทำให้ดอกยางไม่สามารถจะจิกลงไปได้ถึงชั้นดิน ซึ่งทำให้การควบคุมรถเป็นไปได้ยากมาก ผมมักเรียกทางเช่นนี้ว่า “ทางมันปู” ทางขุดบนดอย แถบภาคเหนือของบ้านเรา ก็มีทางลักษณะเช่นนี้ให้เห็นอยู่มาก สำหรับชาวบ้าน ” โซ่ ” ดูเหมือนเป็นคำตอบเดียว ที่จะสามารถต่อกรกับทางมันปูได้

บางตอนของเส้นทาง ไอ้กะชอโพต้วมเตี้ยมผ่านไปช้าๆ ตกหลุมใหญ่น้อย ที่ในหลุมมีแต่น้ำโคลน หลายครั้งที่ผมต้องลงจากรถเพื่อมาเอาน้ำราดกระจก ที่เต็มไปด้วยโคลนปนเศษดิน พ้นจากทางช่วงนี้ไปสักพัก ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น ผมเริ่มเห็นแดดรำไรมาจากท้องฟ้า ครึ่งชั่วโมงจากนี้ แสงแดดก็เริ่มแวะมาทักทายเรา

8_resize

ให้แดดออกสักพัก ก็ขับสบายขึ้นหน่อย ผมหันไปบอกกับคุณหนิง

ผมเคลื่อนตัวช้าๆผ่านโอบล้อมของขุนเขา มองไปลงเบื้องล่าง เห็นหลังคาบ้านเรียงราย คะเนว่าไม่น้อยกว่าสามสิบหลัง

เดี๋ยวแวะปล่อยลมยางออกที่หมู่บ้านข้างล่างดีกว่า ผมพูดลอยๆ

ถนนแคบๆ ทิ้งตัวลงเบื้องล่าง ผ่านกระท่อมหลังแรก มีเด็กๆ ออกมายืนมองเราอย่างสงสัย บนถนนกลางหมู่บ้าน ผมลงจากรถพร้อมที่วัดลมยาง เพื่อจะลดแรงดันให้เหลือสัก 15 ปอนด์ ชาวบ้านชายหญิงเริ่มออกมามุงดูคนแปลกหน้า เริ่มจาก 2-3 คน จนเป็นสิบ

9_resize

ผมสอบถามเกี่ยวกับเส้นทางข้างหน้า แต่เราไม่สามารถจะที่สื่อสารกันได้เข้าใจนัก เนื่องจากในลายแทงจากพี่แย้ ดูเหมือนผมจะใกล้ถึงแยกที่ผมต้องเลี้ยวขวาเต็มที หากผมเลี้ยวผิด ผมจะไปโผล่ที่ด่านจีน(ด่านแม้วจ่าย) และหากมีแยกอื่นย่อยไปอีก ก็จะไปกันใหญ่ ปัญหาหลักของผมคือ หากหลงทางแล้วต้องวนไปวนมา ผมกลัวน้ำมันของเราจะไม่พอ ซึ่งไอ้กระชอโพก็ซัดน้ำมันแบบไม่เกรงใจผม

จากการสอบถามคนที่พอจะเข้าใจกันที่สุด พอได้ความว่า ข้างหน้าจากนี้ ไม่รู่ว่าอีกกี่โล ผมจะเจอสามแยกแรก ให้ไปตามทางนี้ เขาไม่บอกว่าให้เลี้ยวซ้ายหรือขวา แต่ชี้มือประกอบ พอเจอแยกที่สอง จะมีป้ายบอกทางเป็นภาษาอังกฤษ เค้าว่า ถ้าผมอ่านอังกฤษออก ก็ให้อ่านดูที่ป้าย แล้วไปตามนั้น ผมพยักหน้าหงึกๆ แล้วยิ้ม พลางหันไปบอกกับคุณหนิงว่า เข้าใจที่เค้าบอกมั้ย คุณหนิงส่ายหน้า ผมหัวเราะ แล้วบอกต่อ เออไปเหอะ ผิดถูก เดี๋ยวก็รู้เอง

10_resize

ผมโบกมือร่ำรา พร้อมกับควบไอ้กะชอโพ ขึ้นเหนือต่อไปข้างหน้า แสงแดดเริ่มแรงขึ้น ผิวทางเริ่มแห้ง บางช่วง ผมเริ่มทำความเร็วได้มากถึง 40 กม/ชม แสงแดดที่สาดส่องลงมา ทำให้การควบคุมรถของผมง่ายกว่าเดิมมาก ผิวถนนหลายแห่งเริ่มจะแห้ง พระอาทิตย์เคลื่อนตัวขึ้นจนเกือบตรงหัว ผมขยับแขนเสื้อ เพื่อยกข้อมือขึ้นดูเวลา

กี่โมงแล้ว คุณหนิงถาม หลังเห็นอาการผม สิบเอ็ดโมงกว่าแล้ว เห็นป้ายบอกทางภาษาอังกฤษหรือยัง ผมตอบ พร้อมถามกลับ ไม่เห็นมีเลย เธอตอบพร้อมส่ายหน้า

ถนนช่วงนี้ ค่อนข้างเรียบและกว้างกว่าเดิม ผมสามารถทำความเร็วได้เกือบ 50 กม/ชม อากาศภายนอกอยู่ที่ 18 องศา ขณะนี้ผมกำลังวิ่งผ่านไปบนสันเขาอีกลูกหนึ่ง มองออกไปข้างล่างไกลลิบๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผมเห็นยอดทิวสนเอนไปมาตามแรงลม ไม่นานนัก หลังจากลงจากเขา ผมก็เริ่มมองเห็นสามแยกอยู่ด้านหน้า ผมจอดรถกลางแยกพอดี พร้อมกับหันไปถามถามคุณหนิงว่า เห็นป้ายบอกทางมั้ย ยังไม่เห็นเธอตอบ

สังเกตจากรอยล้อบนถนน แยกทางซ้ายจะต้องเป็นทางหลักแน่ ส่วนทางขวาจะเป็นทางแคบๆ บนพื้นถนนมีหญ้าขึ้นพร้อมเศษใบไม้แห้ง ที่ร่วงทับถมทาง พลันนึกไปถึงชาวบ้านที่ผมแวะปล่อยลมยาง ได้บอกผมไว้ว่า แยกแรกให้เลี้ยวไปทางที่เค้าชี้มือ ซึ่งมันก็คือทางซ้าย หลังจากนั้นเมื่อเจอป้ายบอกทางภาษาอังกฤษ จึงจะเลี้ยวขวา

11_resize

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่าเราจะต้องเลี้ยวซ้าย ใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน ผมก็ควบไอ้กะชอโพเลี้ยวซ้าย มุ่งหน้าสู่กลุ่มทิวสน ที่ผมมองเห็นจากบนเขา ยิ่งเข้าไปลึก ถนนก็ดีและกว้างขึ้นเรื่อยๆ บางช่วงผมสามารถทำความเร็วได้ถึง 60 กม/ชม เลยจากสามแยกมาเกือบยี่สิบกิโลเห็นจะได้ ข้างหน้าเริ่มมีแยกเล็ก แยกน้อยเต็มไปหมด แต่ละแยกดูเหมือนจะเป็นแยกเข้ามู่บ้านเล็กๆ ด้านใน ผมชลอความเร็วของรถลง เพื่อสังเกตุรอยล้อของแต่ละแยก สองข้างทางขณะนี้ เต็มไปด้วยต้นอ่อนข้าวโพดอันเขียวขจี ใบของมันสะท้อนเป็นประกาย เมื่อต้องแสงแดดอ่อนๆ ข้างหน้าผมประมาณ 100 เมตร มีชายสองคนสะพายย่าม ในมือกำหนังสะติ๊ก เดินอยู่ข้างทาง ผมค่อยๆชลอรถ พร้อกับส่งเสียงทักทาย

สะบายดี ผมจะไปบุนใต้ ทางนี้ถูกมั้ย ผมถามพร้อมชี้มือไปข้างหน้า

เออ..เออ ชายคนหนึ่งตอบ ไปอีกไกลมั้ย ผมถามต่อ เออ ชายคนเดิมตอบ แล้วทางไหนที่ไปแม้วจ่าย ผมถาม เออเออ ชายคนนั้นยังคงยืนยันคำตอบเดิม

12_resize

ผมเริ่มสงสัย เพราะไม่ว่าจะถามอะไร เค้าก็จะตอบว่า เออ..เออ… หลายคำถามที่ผมถามต่อจากนี้ เขาก็ยังตอบเหมือนเดิม คือ เออ เออ.. คำถามที่ผมต้องการจะถามต่อ….จึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

เราโบกมือร่ำลาชายแปลกหน้าสองคนนั้น พร้อมเคลื่อนรถออกมา ไอ้กะชอโพค่อยๆ แทรกตัวผ่านสายลมเย็น ท่ามกลางเปลวแดดบางๆ เราเริ่มเข้าใกล้กับแนวป่าสนเข้ามาทุกขณะ ผมละสายตาจากถนน เพื่อเหลือบไปมองเวลาอีกครั้ง

ระวัง! ระวัง! “ เสียงคุณหนิงเตือนผม พร้อมชี้มือไปข้างหน้า ฝูงวัวสิบกว่าตัว กำลังเยื้องย่างข้ามถนน อย่างไม่สนใจรถผม เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมก็กระทืบเบรคตัวโก่ง !!!

มออออออ…….” วัวบางตัว ตื่นตกใจเสียงเบรคของรถ ต่างวิ่งหนีเข้าข้างทางพร้อมส่งเสียงร้อง ในสถานการณ์แบบนี้ ห้ามบีบแตรหรือส่งเสียงดังเป็นอันขาด! เราควรจอดรถนิ่งๆ รอจนฝูงสัตว์เคลื่อนผ่านจากหน้ารถเราออกไปก่อน ท้ายฝูงวัว มีชายสูงอายุ กำลังเอาไม้ไล่ต้อนวัวที่เหลือให้ออกจากถนน

15_resize

ผมชะโงกหน้าออกไปทักทาย สะบายดี สิ้นเสียงทักทาย ลุงก็ยิ้มฟันหลอ ลุงพูดลาวได้มั้ย ผมคนไทย ผมถามต่อพร้อมกับชี้ไปที่ธงหน้ารถ ได้ พูดจีนก็ได้ ลุงตอบผมอีกครั้ง

ผมหันกลับมายิ้มกับคุณหนิง พร้อมกับดับเครื่องรถ แล้วเดินตรงไปหาลุง ลุงชิงยกมือไหว้ผมก่อน พร้อมกับทักทายผม สะบายดี ผมยกมือไหว้ลุง แล้วถามย้ำว่า ลุงฟังผมรู้เรื่องแน่นะ ผมจะถามทาง ลุงพยักหน้ารับ จะไปไหน ลุงถาม

ผมจะไปบุนใต้ ยังอีกหลายหลักมั้ยครับ สีหน้าลุงออกจะงงๆ ทางนี้ไปบ่ได้ บุนใต้ต้องไปทางโน้น พร้อมกับชี้ไม้ชี้มือไปทางที่ผมเพิ่งขับมา ทางนี้ไปจีน ไปอีกเจ็ดแปดหลักก็ถึงด่านแล้ว

อ้าวววว……” เสียงคุณหนิงอุทาน ผมหันไปสบตากับคุณหนิง พร้อมกับเรียกให้ลงจากรถก่อน

16_resize

เราสนทนากับลุงกันสักพัก ก่อนที่คุณลุงจะเอากิ่งไม้ข้างทาง มาขีดลงบนถนนเพื่อบอกถึงทางแยกที่เราเลี้ยวมาผิด แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจนัก ลุงพยายามอธิบายความด้วยสำเนียงไทลื้อปนจีน พร้อมกับยืนยันว่า ตรงแยก จะมีป้ายบอกทางเป็นภาษาอังกฤษ ให้เลี้ยวซ้าย จนไปถึงบ้านน้ำเงิน / และบ้านหวาย ผมสอบถามซ้ำๆ เพื่อความแน่ใจอีกครั้ง พร้อมกับร่ำลาคุณลุง แล้วเริ่มมองหาที่เพื่อกลับรถ

ขณะที่ผมกำลังกลับรถอยู่กลางถนน ก็มีเสียงแตรลมกระทบแก้วหู ดังมาจากฝั่งซ้ายของผม สิ้นเสียงแตร รถบรรทุกไม้เจ้าของเสียงก็มาหยุดอยู่ไม่เกินสองเมตรด้านข้างรถเรา ผมโบกมือให้คนขับรถจอด แล้วลงไปพูดคุยกับคนขับรถ คนขับรถบรรทุกเป็นคนลาว สามารถสื่อสารกับผมอย่างเข้าใจดี

ได้ความว่า เขาเป็นรถบรรทุกไม้มาจากจีน จะเอาไม้ไปลงที่หมู่บ้านข้างหน้า เลยจากแยกที่ผมตามหาไม่ไกล เขาให้ผมขับตามรถเค้าไปเรื่อยๆ ก่อน เมื่อถึงแยกที่ว่า แล้วเขาจะให้สัญญาณแก่ผม ผมโบกมือลาคุณลุงอีกครั้ง พร้อมขับรถตามกินฝุ่นจากรถบรรทุกไม้ ไม่นานนัก เขาก็ให้สัญญาณว่าผมต้องเลี้ยวซ้าย ผมหันมามองหน้ากับคุณหนิง พร้อมกับพูด นี่มันแยกเมื่อตะกี้ นี่นา ผมสงสัยจริงๆ ไอ้ป้ายบอกทางภาษาอังกฤษ ที่หลายคนบอกผม มันหายไปไหน

13_resize

อย่าบอกนะว่าจะบังเอิญหลุดหายไปตอนเช้า ก่อนที่เราจะมาถึง เป็นไปไม่ได้ มันไม่น่าจะหายากขนาดนั้น ยิ่งคิดก็ยิ่งเพิ่มความสงสัย ผมบีบแตรร่ำลา รถบบรทุก พร้อมกับเลี้ยวซ้ายผ่านทางรกๆ แคบๆ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีร่องรอยของรถยนต์ผ่านมานามมาก น่าจะตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปีที่แล้ว ความสงสัยของเราก็มาเฉลย หลังจากเลี้ยวซ้ายมาได้สักสองร้อยเมตร ให้ตายซิ ป้ายภาษาอังกฤษ ที่ว่า มันไม่ได้อยู่ที่แยก แต่มันกลับเลยจากแยกเข้าไปตั้งสองร้อยกว่าเมตร มันตั้งตระหง่านอยู่ใต้ต้นไม่ใหญ่ บนป้ายมีเพียงภาษาจีน พร้อมกับภาษาอังกฤษตัวเล็กๆ

ที่มากไปกว่านั้น มันไม่ใช่ป้ายบอกทาง แต่มันเป็นป้ายบอกเขตป่าสงวน ที่ถูกปักเอาไว้ ผมยังนึกขำไม่หาย แม้กระทั้งนั่งเล่าเรื่องอยู่ในขณะนี้ เนี่ยนะ ป้ายบอกทาง คุณหนิงเกาหัวพร้อมกับหัวเราะ จากป้ายเจ้าปัญหา เกือบสิบกิโลเมตร ผมเริ่มมองเห็นกระท่อมไม้ไผ่ ในกระท่อมมีชายสองคนนั่งมวนยาสูบอยู่อย่างสบายอารมณ์ ผมขับรถออกไปทางซ้ายของกระท่อมแล้วจอดรถ ด้านหน้าของผมตอนนี้ เป็นสะพานไม้ไผ่เล็กๆ ที่ดูแล้วไม่มีทางที่รถเราจะข้ามไปได้

14_resize

ผมจะไปบ้านน้ำเงิน จะข้ามไปได้ยังงัยครับ ผมถามชายสองคน มีเพียงรอยยิ้มเจื่อนๆ เท่านั้นที่ชายสองคนส่งสัญญาณให้กับผม เอาอีกแล้ว สงสัยจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ชายสองคนที่เดินถือหนังสะติ๊ก ผมหันมายิ้มแล้วพูดกับคุณหนิง พร้อมกับให้เธอเดินลงจากรถ เพื่อข้าสะพานไม้ไผ่ไปดูทางของฝั่งตรงข้าม

คุณหนิงหายไปสักพัก พร้อมเดินกลับมาแล้วบอกกับผมว่า ผมต้องเบี่ยงขวาก่อนถึงกระท่อม แล้วปักหัวลงน้ำ

ฝั่งโน้นมีทางขึ้นมั้ย ผมถามต่อ มี แต่ทางขึ้นมีหินก้อนเบ้อเริ่มเลย คุณหนิงตอบ ถ้าช่วยกันดันหินออกไหวมั้ย ผมถาม คุณหนิงส่ายหน้า มันมีหลายก้อน ดันไม่ไหวหรอก” “ไม่เป็นไร เดี๋ยวจะลงไปดูเอง ผมพูดพร้อกับลงจากรถ

สายตาของชายสองคนในกระท่อม ยังมองผมด้วยความสงสัย ผมเดินเบี่ยงไปข้างกระท่อม แล้วหันไปยิ้มกับชายทั้งสองคน ในมือผมถือกิ่งไม้ยาวๆ ไปด้วย 4-5 ท่อน เมื่อมาถึงริมห้วย ผมเอาไม้จุ่มเพื่อวัดระดับน้ำ พร้อมกับเดินลงไปในน้ำ เพื่อสำรวจความลึก และหินใต้น้ำ พื้นน้ำตรงนี้เป็นทรายหยาบๆ พร้อมกับหินก้อนใหญ่น้อยเรียงราย กิ่งไม้ถูกปักลง เพื่อบอกแนวของหินก้อนใหญ่ ที่ซ่อนตัวอยู่ ส่วนทางขึ้น คงจะไม่รอดแน่ ทางหนึ่งตลิ่งพังมาก และอีกทางมีแต่หินก้อนใหญ่ๆ

คะเนว่า หากหลับหูหลับตาดิ้นสู้ ไม่คันชัก คันส่ง ก็เพลาหน้า/หลัง กระแทกหิน งานนี้หากพลาด มีหวังกระจายแน่ๆ หลังจากวนไปวนมาเพื่อดูอยู่หลายรอบ ผมก็กลับขึ้นมาบนรถ พร้อมกับลากสายวินซ์ ออกมาพันรอไว้กับกันชน โชคเข้าข้าง สามถึงสี่เมตรที่ทางขึ้นฝั่งตรงข้าม มีตอไม้ขนาดเท่าต้นขาอยู่หนึ่งตอ ซึ่งเพียงพอที่จะเป็นหลักวินซ์ได้ ส่วนคุณหนิงมีหน้าที่เอาเชือกคล้องต้นไม่ไปคล้องรอไว้ที่ฝั่งโน้น

เกียร์ ถูกเปลี่ยนไปที่ตำแหน่ง 4L diff ผมเริ่มจุ่มหัวรถลงน้ำ แล้วขับทวนน้ำ ผ่านกิ่งไม้ที่ผมทำตำแหน่งไว้ น้ำไม่ลึกมาก ผมเลยตัดสินใจว่า ไม่จำเป็นต้องเอาผ้าใบมาคลุมที่หน้ากระจัง วิ่งผ่านมาได้ถึงกลางน้ำ ล้อหน้าซ้ายผมก็ตกหลุมใต้น้ำ พร้อมกับไฟหน้าซ้ายที่จมเกือบมิด ฉ่าาาาาๆๆเสียงเขาควายไอเสียที่ร้อนระอุ โดนน้ำเย็นๆ คล้ายกับเสียงเทน้ำลงในกระทะทอดไข่ที่ร้อนจัด น้ำที่เจอกับความร้อนของท่อไอเสีย ระเหยขึ้นเป็นไอ ลอดฝากระโปรงมาจับอยู่ที่หน้ากระจก

โป๊ก กุก กุก เสียงของแข็งกระแทกเข้ากับเพลาหน้าอย่างจัง โดยอัตโนมัติ ผมยัด 2 แล้วรีบหักล้อไปทางขวา เพื่อปั่นขึ้นจากหลุมทางซ้าย เสียงพัดลมฟรีปั้มคำราม เมื่อต้องปะทะกับกระแสน้ำ ทำให้ผมต้องลดรอบเครื่องลง เนื่องจากกลัวใบพัดจะถูกดูดไปฟันกับหม้อน้ำ ไอ้กระชอโพดิ้นพ้นจากหลุมใต้น้ำขึ้นมาได้ด้วยดี

จังหวะนี้ รถได้เปลี่ยนไลน์หันหัวจากทางขึ้นเดิม มาอีกทางที่ใกล้กับสะพานไม้ไผ่ หินก้อนโตๆ ส่งยิ้มและโบกมือรอผมอยู่ข้างหน้าตรงทางขึ้น ผมเข้าเกียร์ 1 แล้วใช้รอบเครื่องไม่เกินสองพันรอบ เดินทวนน้ำไปช้าๆ จนใกล้กับทางขึ้น เกียร์ถูกเปลี่ยนจาก L1 มาเป็น  L3 ก่อนถึงตลิ่ง เพื่อจะส่งขึ้น โดยไม่ให้รอบเหลือ ล้อหน้าทั้งสองข้างตอนนี้ผมเลือกเหยียบไปบนหินก้อนที่ใหญ่สุดของทั้งสองล้อ พร้อมกับเร่งส่ง ด้วยเกียร์ 3 รอบเครื่องจะได้ไม่สูงและต่ำจนเกินไป เนื่องจากหากผมเริ่มขึ้นที่เกียร์ 2 รอบเครื่องน่าจะเหลือก่อนพ้นตลิ่ง แล้วจะต้องยัด 3 ตอนคาเนินแน่ๆ

อาจจะทำให้จังหวะการส่งเสียไปในขณะเหยียบครัช หรือถ้าจะเล่นครัชก็ได้ แต่ผมไม่อยากให้ครัชใหม้

ผมจึงเร่งส่งไปที่เกียร์สาม รอบเครื่องราวสองพันห้าร้อยรอบ ” ตึ้ง ตึ้ง ๆ ฟรื่ดดดดด “ มีเสียงกระแทกของช่วงล่างพร้อมกับเสียงยางฟรีทิ้งบนหินก้อนใหญ่ เนื่องจากในยุคนั้นไอ้กระชอโพยังไม่มีอุปกรณ์ล็อคเฟือง หน้า/หลัง

17_resize

จึงต้องใช้เวลาปั่นอยู่สองยกใหญ่ๆ สำเร็จครับ ไอ้กระชอโพผ่านมาได้ โดยที่ไม่ต้องออกแรงวินซ์ หลุดจาห้วยแรกมาได้ หลังจากตรวจความเรียบร้อยของช่วงล่างที่ถูกหินกระแทก ไม่พบความเสียหาย ผมเริ่มเดินทางต่อ ไม่ไกลจากห้วยแรก ก็ยังมีห้วยเล็กๆ อีก 2-3 ห้วย แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหาให้ไอ้กระชอโพมานัก

ข้างหน้าของผม ขณะนี้ ไม่น่าจะเกินสองกิโลเมตร มีภูเขาลูกใหญ่ดังกำแพงตั้งตระหง่านอยู่ ผมมองเห็นทางสีแดงลิบๆ ขึ้นชันไปจนสุดสายตา หากถนนยังแฉะเหมือนเช่นตอนเช้า เย็นนี้ผมอาจจะต้องกินข้าวลิง อยู่กลางเนินไหนเนินหนึ่งเป็นแน่แท้ แต่ขณะนี้ ทางค่อนข้างจะแห้งสนิทแล้ว การเดินทางข้ามเขาลูกนี้ จึงไม่เป็นเรื่องที่ยากนักสำหรับเรา

ไอ้กระชอโพ เชิดหน้ากระโจน ต่อสู้กับแรงดึงดูดของโลก ตลอดทางขึ้นภูสูงชันและคดโค้ง อุณหภูมิเครื่องยนต์เพิ่มสูงจากปรกติเล็กน้อย ขณะอยู่กลางเนิน ผมพยายามไล่เกียร์ เพื่อเลี้ยงรอบให้อยู่ที่สองถึงสามพันรอบ

เพื่อที่จะเรียกเอาแรงทอล์ค  ออกมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เส้นขอบฟ้าที่ตัดกับปลายเนิน ก่อนถึงจุดสูงสุดของภูลูกนี้ มีไอหมอกลอยละเลียด ตั้งแต่พื้นทางไปจรดยอดไม้ กลิ่นดอกไม้ป่าจางๆ กลิ่นหญ้าอ่อนๆ ลอยเข้าเตะจมูก

พ้นจากจุดสูงสุดของเนินนี้ ผมเริ่มเห็นเงาตะคุ่ม ของหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง อยู่ข้างหน้า…..

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย นิตยสาร ออฟโรด : www.grandprix.co.th/offroadmagazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์  รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ไดที่ www.grandprix.

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save