The 4×4 Off Road Relationship Trip Chiang Rai ลุยโคลน กระโจนเนิน ตามหาเต่าปูลู บนเส้นทางพระธาตุศรีจอมเทพ

The relationship trip ที่นายเอบีบี สมาชิกกลุ่มหัวรั้น ชมรมเชียงรายแอ๊ดเวนเจอร์ คนต้นเรื่องได้โพสต์ในเฟสบุ๊กเชิญชวนเพื่อนเครือข่ายออฟโรดภาคเหนือมาร่วมทริปกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนออฟโรดจังหวัดใกล้เคียง เพราะนับตั้งแต่มีการจัดงาน Boomerang trip ปี 2548 ก็ไม่มีการจัดทริปพบปะใหญ่ๆ อีกเลย

“ทริปนี้ผมคิดไว้ว่าอยากให้เป็นทริปเริ่มต้นของการจัดทริปรวมพลคนออฟโรดของบ้านเรา ปีนี้เชียงรายจัด ปีหน้าก็ให้จังหวัดอื่นเป็นเจ้าภาพบ้าง” นายเอบีบี เกริ่นไว้ ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย เพื่อจะได้มีทริปพบปะกระชับความสัมพันธ์ในกลุ่มออฟโรดเป็นประจำทุกปี

เส้นทางหลังพระธาตุศรีจอมเทพ อ.เวียงชัย

ถึงวันเวลานัดหมาย  เจ้าภาพจอดรถสิบกว่าคันรวมกลุ่มรอแขกผู้มาเยือนที่ห้าแยกลานพระรูปพ่อขุนเม็งราย พร้อมกับเพื่อน ชมรมพะเยาออฟโรด ที่มาถึงก่อนหน้าผมได้สักครู่ จากนั้นไม่นาน กลุ่มอู่เอก 4×4 และ ชมรมดอยคำเชียงใหม่ อีกสิบกว่าคันก็ตามจอดเรียงรายเกือบเต็มพื้นที่ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีเพื่อน กลุ่มชมรมไก่ป่า ชมรมฝางออฟโรด ชมรมน้ำโขงออฟโรดเชียงแสน ตามมาสบทบอีก รวมแล้วมีน่าจะมีรถมาร่วมประมาณ 45 คัน

pooroo01

ถือว่างานนี้เจ้าภาพมีแขกมาร่วมไม่น้อยทีเดียว ดังนั้นจึงจัดขบวนออกเป็น 3 ชุด ทยอยมุ่งหน้าสู่เส้นทางออฟโรดหลังวัดพระธาตุศรีจอมเทพ อ.เวียงชัย ทริปนี้ผมเป็นชาวเกาะ เพราะว่ารถคู่ชีพยังอยู่ที่อู่ ซ่อมไม่ทันงาน จึงอาศัยเกาะมากับรถของอาจารย์เชษฐ์แทน ทำให้มีโอกาสได้ถ่ายภาพมากขึ้น

ฝ่า 4 ลำห้วยปูลู

ชุดแรกผมตามรถคุณลาล่า100 และผอ.เชียงราย ทริปลีดเดอร์ ออกจากหลังหมู่บ้าน ผ่านอ่างเก็บน้ำมาได้เริ่มเป็นทางแคบ แทบจะเรียกว่าแคบมากๆ มันช่างเหมาะเจาะพอดีกับตัวรถเสียนี่กระไร แถมบางช่วงก็ขาดวิ่น ต้องช่วยกันขุด ช่วยกันถม เรายึดคติปลอดภัยไว้ก่อน แม้นว่าหุบเขาจะไม่สูงนัก แต่หากพลาดพลั้งกลิ้งลงไปสักคันคงหมดสนุกแน่ ดังนั้นชุดนำหน้าจึงรับบทหนักกว่าชุดหลัง โดยเฉพาะทางเส้นนี้มันทั้งรกและแคบ

เราผ่านดงกล้วยมาได้ไม่ไกลก็พบกับลำห้วยเล็กๆ มีน้ำไหลรินเอื่อยๆ ผมดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ลองเดินข้ามลำห้วยบนสะพานไม้ไผ่ที่พาดขวางอยู่ แรงกดจากน้ำหนักตัวที่เหยียบลงไป รู้ทันทีว่าจุดนี้สนุกแน่นอน เพราะใต้น้ำและพงหญ้านั้นมันคือปลักโคลนเละๆ นั่นเอง

pooroo04

รถมาสด้า แฟมิเลียบักกี้คันเก๋าของลาล่าผู้นำทริป เปิดซิงเป็นคันแรก แม้นว่าจะเคยผ่านที่นี่มาครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม ทันทีที่ล้อสัมผัสโคลน มีผลถึงกับล้อหน้าจมลงไปเกือบมิด แรงม้าจากเครื่องยนต์ 3S ที่เพิ่งนำมาวางเพื่อทริปนี้โดยเฉพาะ ฉีกเลนโคลนกระจุยกระจาย จนผู้ชมหลบแทบไม่ทัน ลาล่าเกือบผ่าน แต่สุดท้ายก็ต้องยอมใช้วินช์ เพราะไม่อยากให้เสียเวลามาก รวมทั้งรถที่จะตามมาลงที่บ่อโคลนนี้ยังมีอีกมาก ต่อมาตามด้วยรถของนายเก๋ง ซึ่งเป็นรถคาริเบียนที่มีน้ำหนักไม่มาก วินช์นิดหน่อยก็ผ่านไปได้ ตามด้วยเพื่อนกลุ่มพะเยาออฟโรดที่ต้องวินช์กันทุกคัน ชุดนี้มีดีที่วินช์เพลาของแลนด์โรเวอร์ ซึ่งสามารถช่วยวินช์เพื่อนอีกหลายคัน

แต่คันหลังๆ ต่อมาซึ่งส่วนมากเป็นรถสตราด้าวางคานจากกลุ่มอู่เอก 4×4 จากเชียงใหม่ แต่ละคันใหญ่และหนักทั้งนั้น แม้นว่าจะเล็งไลน์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม น้ำหนักตัวรถที่กดลงไปในโคลน ยาง SIMIX ขนาด 35 นิ้วยังจม ยิ่งปั่นยิ่งดิ้นก็ยิ่งจมลงไปอีก ต้องรับใช้บริการวินช์จนได้ โดยมีแลนด์โรเวอร์จากพะเยาออฟโรดเป็นหลักวินช์ให้

ชุดแรกผ่านไปได้อย่างสะบักสะบอม มีบางคันที่ตามหลังมาเริ่มเห็นไลน์ที่ง่ายกว่า แค่อัดลงไปแรงๆ แบบไม่ถอนคันเร่งก็ผ่านบ่อโคลนนี้ไปได้ ส่วนคณะหลังมีบางคันถึงกับต้องสังเวยเพลาขับไปแค่ลำห้วยแรกนี่เอง

จากลำห้วยแรกไปอีกด้านหนึ่งของสันเขา ยังมีปลักโคลนให้ออกกำลังอีก 3 แห่ง แต่ละแห่งล้วนมีความโหดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลำห้วยที่ 2 นี้ ผู้นำทริปอย่าง ลาล่า, พงไพร และ ผอ. ต้องใช้ทักษะการใช้สมอบก เพราะรอบๆนั้นมีแต่ดงกอกล้วยล้วนๆ บางกอมีลูกสุกคาต้นเหลืองอร่าม จนผมทนความเย้ายวนของมันไม่ได้ และมื้อเที่ยงของผมจึงเป็นกล้วยน้ำว้าป่าที่สุกงอมหวานหอมอร่อยที่สุดเท่าที่เคยทานมา (สงสัยหิวจัด)

pooroo07

เมื่อคันแรกผ่านไปได้แล้วจึงหมดหน้าที่ของสมอบก โดยใช้รถคันที่ข้ามไปได้ก่อนเป็นหลักวินช์แทน จุดนี้ข้ามไปได้ช้ากว่าจุดแรกมาก โดยเฉพาะแลนด์โรเวอร์ที่ลองเปลี่ยนไลน์ไปด้านซ้ายกลับถลำลงปลักที่ลึกกว่า เสียงใบพัดหม้อน้ำตีขี้เลนโคลนดังลั่น ฟังแล้วน่ากลัวใบพัดจะหักเสียก่อน เพื่อนๆ จึงตะโกนบอกให้เขาวินช์อย่างเดียวก็พอแล้ว เมื่อมีรถที่ผ่านไปได้หลักวินช์คันหลังที่ตามมาก็วินช์สะดวกขึ้น ชุดแรกนี้จึงผ่านลำห้วยบ่อโคลนไปได้ทุกคัน ส่วนชุดหลังซึ่งเป็นกลุ่มอู่วีแทน ช่างกุ้งหัวหน้าทีมจากเชียงใหม่อีกชุดตามหลังมาติดๆ

เมื่อชุดแรกสิบกว่าคันผ่านลำห้วยที่ 3 ไปได้แล้ว ก็มาถึงลำห้วยที่ 4 ที่มีกอหญ้าน้ำขึ้นรกขวางอยู่ จุดนี้จะหาทางเบี่ยงให้แคบที่สุดไม่มี ทุกจุดกว้างและเละพอๆ กัน ทริปลีดเดอร์เจ้าถิ่นที่ใช้รถเล็ก 3 คันผ่านไปได้ไม่ยากนัก แต่รถของทีมอู่เอกที่เป็นรถคันใหญ่ๆ หนักๆ นั้น มีปัญหาที่จุดนี้มาก เมื่อรถหนักและแรง ยิ่งปั่นมันก็ยิ่งจมลึกลงไปทุกที บางคันหาจุดข้ามใหม่ ก็ไม่แตกต่างกันเลย กว่าคันที่สองที่สามจะผ่านบ่อโคลนหลุมนี้ไปได้ ก็อยู่ใต้เงาแห่งแสงจันทร์ซะแล้ว

              “แสงกระจ่าง ส่องแนวทางสัญจร…..คิดถึงนางฟ้าอรชร…” ก้องภพ หนึ่งในแฟนพันธุ์แท้มาลีฮวนน่า สมาชิกใหม่ของเชียงรายแอ๊ดเวนเจอร์ที่ยังติดจมอยู่ในบ่อโคลน วินช์จนหมดแรง เหลือแต่ฤทธิ์แอลกอฮอล์ ขึ้นไปนั่งบนหลังคารถคู่ชีพ ร้องเพลงนี้ออกมาดังๆ แม้นโทนเสียงจะฟังอู้อี้ด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ แต่ก็ช่างเข้ากับบรรยากาศเป็นที่สุด

pooroo08

3 ทุ่มกว่าแล้ว ดูเหมือนทุกคนทุกคันจะยอมแพ้แล้ว จุดพักแรมที่ทางเจ้าภาพวางแผนเอาไว้ยังอยู่อีกไกล จากลำห้วยที่ 4 แห่งนี้ มีเพียงเจ้าถิ่นสามคันและกลุ่มพะเยาออฟโรดอีก 3 คัน เท่านั้นที่ไปข้างหน้าต่อ ชุดที่ 2 ที่ส่วนมากจะเป็นทีมงานอู่เอก 4×4 ตัดสินใจนอนที่สวนยางใกล้ๆ บ่อที่ 4 เพราะรถวีโก้คันโตของแอร์วีโก้ มีปัญหาใหญ่เพลาขาด อาร์มคดงอเป็นตัวเอส หมดสิทธิ์ไปต่อ ส่วนชุดที่สามที่ตามมาทันก็ไม่มีใครอยากลุยโคลนยามดึกดื่น ต้องยอมถอยไปเข้าจุดพักแรมอีกทางหนึ่ง ทราบมาว่ากว่าจะถึงที่หมายก็ร่วมเที่ยงคืน

สี่ทุ่มกว่าหลังจากทานอาหารมื้อค่ำกันแล้ว ผมชวนก้องภพเดินตามเข้าไปดูชุดแรกที่น่าจะยังไปได้ไม่ไกลจากสวนยางนัก ผมคาดคะเนจากเสียงเครื่องยนต์ที่ดังผ่านสายลมมาเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นไปตามที่คาดไว้ เมื่อผมกับก้องภพเดินผ่านสันเขาแล้วลงเนินไปได้ไม่เกิน 2 กิโลเมตร ก็พบกับชุดของพะเยาออฟโรดตั้งแคมป์กางเต็นท์พักแรมกันอยู่ใกล้ลำห้วย 3 คัน เขาบอกว่ายอมแล้ว วันนี้แค่นี้พอ พรุ่งนี้ค่อยลุยต่อ

เราเดินตามเสียงรถที่คำรามลั่นป่าไปไม่ไกลก็พบกลุ่มเจ้าถิ่น ลาล่า, ผอ., ว้าแดง และพงษ์ไพร กำลังติดบ่อโคลนในลำห้วยที่มีน้ำนิดหน่อย นอกนั้นเป็นโคลนล้วนๆ ทุกคันสาละวนกับการดิ้น การปั่น การวินช์ ช่วยเหลือตนเอง โดยผมยืนถ่ายรูปบันทึกภาพอยู่ด้านท้ายขบวน ไม่กล้าที่จะลงไปลุยด้วย มันเละเกินสำหรับค่ำคืนนี้ และขอตัวเดินกลับมายังสวนยางที่พักแรม ส่วนชุดทริปลีดเดอร์นั้น ทราบมาว่าออกจากลำห้วยได้ตอนตีห้า….อืมมม เอาแรงมาจากไหนกันนี่ครับ

ที่แค้มป์จุดพักแรมสวนยาง บรรยากาศยังคงยังสนุกสนานครึกครื้นด้วยเสียงเพลงจากศิลปินเลอะเลนโคลนทั้งหลาย ส่วนผมนั้นหลับใหลไปตั้งแต่ตอนไหนแล้วก็ไม่รู้ มาตื่นอีกครั้งก็ตอนรุ่งสางแล้ว

pooroo15

เมื่อผมเดินไปดูจุดที่ลุยข้ามเมื่อวันที่ผ่านมาก็พบกับเต่าปูลู หรือเต่ามีหางสองตัว คลานต้วมเตี้ยมออกมาจากพงหญ้า เมื่อวานตั้งใจหาเกือบครึ่งวันกลับไม่เจอ โชคดีที่พบมันตอนเช้า จากคำบอกเล่าของนายเอบีบี ว่าที่นี่มีเต่าชนิดนี้อยู่มากพอสมควร ผมเองก็ไม่เคยพบมานานแล้ว เพราะเต่าปูลูเป็นเต่าที่หายากเกือบจะสูญพันธุ์แล้วก็ว่าได้ เพราะสารเคมีจากภาคการเกษตรและการทำลายระบบนิเวศน์ที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ทำให้สัตว์ที่น่ารักเหล่านี้ต้องสูญพันธุ์เร็วขึ้น

ขณะที่ผมเพลินอยู่กับเต่าปูลู มีเพื่อนมาบอกว่าน้องแอร์วีโก้ถูกตัวต่อต่อยที่หัวขณะมุดเข้าไปดูอาร์มที่คดงออยู่ ตัวต่อนั้นมีพิษร้ายแรงถึงขนาดที่ทำให้น้องแอร์ถึงกับสลบ ต้องช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลเวียงชัยที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับยาแก้แพ้ โชคดีที่จุดที่เราอยู่มีทางลัดไปสู่ตัวอำเภอได้ หลังจากรับการรักษาแล้วก็มีอาการดีขึ้นจนพอที่จะสามารถขับรถกลับออกมาได้

ขณะที่เรากำลังสาละวนกับการซ่อมรถ กลุ่มเจ้าภาพก็ตามมาหาที่สวนยาง เสียดายจริงๆ ที่ทริปนี้เราไม่อาจจะรวมกลุ่มค้างแรมในจุดพักแรมที่หมายไว้ได้ การเดินทางแบบออฟโรดมักจะมีเหตุการณ์ที่คิดไม่ถึงเกิดขึ้นเสมอ เช่นทริปนี้ เราพักกันถึงสามสี่จุด แต่ถึงอย่างไรสายวันนี้เราก็กลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่งที่สวนยางแห่งนั้น

สุดท้ายขอขอบคุณเพื่อนกลุ่มหัวรั้น ชมรมเชียงรายแอ๊ดเวนเจอร์ทุกท่านที่ทำให้เกิดทริปนี้ขึ้น และให้การต้อนรับอย่างดี นี่เป็นเพียงปฐมทริปของสายสัมพันธ์ของชาวออฟโรดชาวล้านนา ที่จะก้าวไปเป็นล้านนาออฟโรดเดย์ในอนาคตต่อไป

pooroo05

ข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเต่าปูลูที่เราควรรู้

เต่าปูลู นั้นอยู่ในวงศ์ PLATYSTERNIDAE Platysternon megacephalum Gray, 1831 เต่าชนิดนี้มีส่วนหัวที่มีขนาดใหญ่มาก และด้านบนมีแผ่นแข็งปกคลุม ปากงุ้มเป็นตะขอและมีกรามแข็งแรงมาก ทำให้ไม่สามารถจะหดหัวและส่วนคอเข้าภายในกระดองได้ หางยาวกว่ากระดอง และมีลักษณะเป็นข้อของปล้องรูปสี่เหลี่ยมเรียงต่อกัน กระดองหลังและกระดองท้องเชื่อมติดกันด้วยเนื้อเยื่อเหนียวมาก ยังมีสันเล็กๆ ตอนกึ่งกลางกระดองหลัง กระดองหลังมีสีเขียวเข้ม สีน้ำตาลแกมแดง หรือสีดำ กระดองท้องสีเหลืองมีแต้มสีน้ำตาลเข้ม ลูกเต่ามักมีขอบกระดองด้านหลังหยักคล้ายฟันเลื่อย เต่าชนิดนี้ออกหากินในเวลากลางคืน กินปูน้ำตก ปลา หอย และกุ้ง ไม่ค่อยชอบกินอาหารจำพวกพืช มีรายงานว่าเต่าปูลูวางไข่บนสันทรายเปียกในปลายเดือนเมษายน วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง

เต่าปูลูอาศัยอยู่ตามลำธารน้ำเย็นบนภูเขาในระดับสูงกว่า 1,000 เมตร ในภาคเหนือลงไปตามแนวทิวเขาด้านตะวันตกลงไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี และยังพบบริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ และเทือกเขาภูพาน โดยเฉพาะในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จะพบมีเต่าปูลูอยู่ค่อนข้างมาก ในอดีตได้มีการจับเต่าปูลูนับร้อยๆ ตัวเพื่อส่งขายเป็นเต่าเลี้ยงและใช้ในการปรุงยา ความต้องการของตลาดสูงขึ้น จนกระทั่งปริมาณเต่าในธรรมชาติลดลงอย่างมาก ชนเผ่าบางกลุ่มยังมีความเชื่อว่าเนื้อเต่านี้เป็นยาบำรุงที่ดีเช่นเดียวกับนอแรด นอกจากนี้การทำลายป่าดิบเขาและสภาพของลำธารลงอย่างรวดเร็ว ทำให้โอกาสคงอยู่ของเต่าปูลูน้อยลงทุกที

BY  นายหิน เอ้าท์ดอร์

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save