Technique in Skilled Drive ไปกับไทยรุ่ง TR Transformer II

456-56

โลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมากจากเมื่อก่อนที่การเดินทางไปไหนมาไหน จะค่อนข้างลำบากแต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนเทคโนโลยีต่างๆ ถูกพัฒนาและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ยานยนต์ก็เช่นกันแต่ละผู้ผลิตต่างคิดค้น และวิจัยใส่เทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปเพื่อให้ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน รถยนต์ขับเคลื่อน 4 จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องการความเอนกประสงค์ แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักใช้งานกันแบบผิดๆ หรือบางคนแทบไม่เคยใช้เลย ทำให้ไม่ทราบถึงประสิทธิภาพของมัน ดังนั้นคงต้องเรียนรู้กันอยู่พักใหญ่ เพราะแต่ละฟังค์ชั่นที่ติดตั้งมาให้นั้น เหมาะสมในแต่ละการใช้งานแตกต่างกันไป เช่น ขับเคลื่อน 2 (2H) ล้อเหมาะสมกับถนนแบบทางเรียบ ขรุขระได้นิดหน่อยขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ หรือ 4H ก็เหมาะสมกับอีกรูปแบบ ส่วน 4L ก็ใช้งานได้ดีในแบบที่แตกต่างไปอีก วันนี้ทางนิตยสารออฟโรดต้องขอขอบคุณทาง บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ส่งรถ TR Transformer II  รถยนต์ของคนไทย มาเป็นนายแบบในการถ่ายทำ ซึ่ง TR Transformer II  รุ่นนี้ มีพื้นฐานมาจากรถ Toyota Hilux Revo ถูกดัดแปลงให้เป็นรถอเนกประสงค์ PPV สายพันธุ์แกร่งขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่จะพาไปตะลุยในเส้นทางตามที่ใจเราต้องการ

456-20

TR Transformer II นี้เป็นรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Part Time คือ มีทั้งขับเคลื่อน 2 ล้อ และขับเคลื่อน 4 ล้อ มาพร้อมเครื่องยนต์ขนาด 2.8 ลิตร เกียร์ธรรมดา 6 สปีด สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ เราเลือกใช้เส้นทางสุพรรณบุรี-กาญจนบุรี ท่ามกลางฟ้าฉ่ำฝน พร้อมสัมภาระค่อนข้างมาก ทั้งอุปกรรณ์ถ่ายภาพกล้อง กระเป๋าเสื้อผ้า รวมทั้งอุปกรณ์แคมปิ้งต่างๆ จุดนี้ TR Transformer II  ต้องยอมรับเลยว่า ออกแบบภายในห้องโดยสารได้ที่มีความกว้าง โดยเฉพาะด้านท้ายบรรทุกสัมภาระได้เต็มพิกัด ทำให้การเดินทางไปลุยในเส้นทางออฟโรดนี้เป็นไปได้อย่างราบรื่น แถมยังมีพื้นที่พอที่จะแวะรับเจ้าบ้าน ชมรมท้ายขบวนยูนิคอร์นกาญจนบุรี นำทางพาทีมงานไปสนุกในเส้นทางออฟโรดที่ผาลาดอีกด้วย

456-59

เลือกใช้ 4H ปลอดภัยกว่า 2H

หลายคนยังเข้าใจกันว่ารถประเภทออฟโรด ต้องเอาไว้ลุยในเส้นทางทุรกันดารเพียงอย่างเดียว ความจริงแล้ว รถขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น เป็นรถที่มีความเอนกประสงค์ เพิ่มสมรรถนะหรือลบขีดจำกัด รวมทั้งเป็นการติดเขี้ยวเล็บให้กับรถ เพื่อความปลอดภัย การยึดเกาะถนน และทะยานผ่านเส้นทางทุรกันดารไปสู่จุดหมายปลายทาง

ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ (2H) ในรถกระบะ หรือ SUV ส่วนใหญ่จะส่งกำลังขับเคลื่อนอยู่ที่ 2 ล้อหลัง เหมาะสมกับการใช้งานทั่วไปรวมทั้งใช้ความเร็วสูงได้ เจ้า TR Transformer II นี้ก็เช่นกัน ระบบขับเคลื่อนสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างง่ายเพราะเป็นระบบไฟฟ้าเพียงแค่บิดสวิตท์ไปในตำแหน่งที่ต้องการ ระบบก็จะทำงานปรับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนให้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ตอนนี้แทบทุกค่ายใช้เหมือนๆ กันหมด เพราะสะดวกสบายในการปรับเปลี่ยนทำให้ง่ายต่อการใช้งาน

456-2 tranformer-51 tranformer-66

ถึงที่หมายเอาเมื่อสายแก่ๆ ที่โรงโม่หินเก่า แค่หักพวงมาลัยเข้าสู่เขาหิน สิ่งแรกที่ได้เจอก็คือ ทางลูกรัง หินลอย ได้เวลาลองของกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4H โดยที่ไม่ต้องหยุดรถที่ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งระบบขับเคลื่อน 4H จะมีการทำงานของระบบขับเคลื่อนของล้อหน้าเข้ามาทำงาน ทำให้ล้อคู่หน้ามีการหมุนช่วยล้อคู่หลังให้ยึดเกาะถนนได้ดีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางฝุ่น เส้นทางลื่น และฝนตก ทำให้ถนนเกิดมีน้ำเคลือบผิวถนน ระบบขับเคลื่อน 4H จะทำงานโดยเริ่มออกจากเครื่องยนต์ ส่งต่อผ่านระบบครัชมายังเกียร์ ผ่านเพลากลางลงสู่ล้อทั้ง 4 ล้อ ถ้าเป็นรถขับเคลื่อน 2 ล้อถ้าเจออุปสรรคดังที่กล่าวมา ต้องขับแบบระมัดระวังมากขึ้น เพราะถ้าเติมคันเร่งมากเกินไป ล้อหลังฟรีทิ้งอาจจะทำให้เกิดการลื่นไถลเสียการทรงตัวได้ แต่ระบบขับเคลื่อน 4H จะช่วยชดเชยในส่วนนี้ โดยล้อหน้าจะไม่อิสระ มีการแบ่งกำลังกันแบบ 50/50 เวลาเลี้ยวเข้าโค้งอาจจะเกิดความฝืดขึ้นมาเล็กน้อย เพราะล้อหน้าจะหมุนให้เท่ากับล้อหลัง แต่จะมีอัตราการบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าแลกกับความปลอดภัยถือว่าคุ้มแน่นอน และถ้าหากหมดอุปสรรคแล้ว สามารถปรับโหมดระบบขับเคลื่อน กลับมาเป็นระบบขับเคลื่อนจากขับเคลื่อน 2 ล้อ (2H)โดยที่ไม่ต้องหยุดรถที่ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้เช่นกัน (แต่จริงๆ แล้วได้ถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง)

456-3

ช่วงไหนที่ควรใช้ 4L (4LOW)

ในเส้นทางแบบออฟโรดที่ต้องลุยกันหนักๆ ควรปรับเป็นโหมดระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4L) ซึ่งจะมีการทดเฟืองเกียร์ให้มีพละกำลังในการเดินทาง โดยที่รอบเครื่องยนต์นั้นไม่สูง แต่ถูกแทนที่ด้วยแรงบิดมหาศาล และสามารถใช้งานได้ทุกเกียร์ การปรับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนแบบ 4L นี้ ต้องจอดรถให้สนิทเข้าเกียร์ว่างหรือเหยียบครัช (หากเป็นเกียร์อัตโนมัติต้องอยู่ที่ตำแหน่ง N) แล้วบิดหมุนระบบขับเคลื่อน 4 ไปยังโหมด 4L ไฟที่หน้าปัดจะโชว์ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4L ทำงาน ซึ่งครั้งนี้เราได้ลองทดสอบสมรรถนะของ TR Transformer II และอุปสรรคต่างๆ

456-33

ขับผ่านหินอย่างไรให้รถไม่เสียหาย

การขับผ่านก้อนหินขนาดใหญ่ในลำธาร หรือบนเส้นทางภูเขา ช่วงล่างของรถจะทำงานหนักมาก หากว่าเราใช้ความเร็วสูงเกินไป อาจจะเป็นการทำลายช่วงล่างของรถโดยไม่ตั้งใจ เราควรใช้ WALKING SPEED เพื่อให้ได้แรงบิดสูงสุด เร่งส่งเบาๆ ในบางจังหวะ โดยที่รอบเครื่องยนต์ไม่สูงเกินไป และที่สำคัญอย่ากำพวงมาลัยจนแน่นควรใช้แรงบีบปานกลางกำเฉพาะวงนอก เพราะพวงมาลัยรถอาจจะตีมือได้ทุกเมื่อสาเหตุจากการที่ก้อนหินกลิ้งหรือแตก จนทำให้ล้อตกลงอย่างแรง เกิดอาการสะบัดและส่งแรงกระแทกผ่านไปยังคันชักคันส่ง ซึ่งอาจทำลายลูกหมากให้ขาดได้ในครั้งเดียว ดังนั้นเมื่อผ่านโขดหินที่มีขนาดใหญ่จึงควรบังคับให้เหยียบก้อนหินเต็มหน้ายาง ไม่ควรเหยียบแบบหมิ่นเหม่ เพราะหากรถเกิดลื่นไถลตกจากก้อนหิน รวมถึงยางอาจจะหลุดขอบได้เช่นกัน วิธีการขับข้ามก้อนหินขนาดใหญ่ หากว่าเราไม่แน่ใจว่าใต้ท้องของรถสูงพอที่จะคร่อมไปได้ ก็ให้เปลี่ยนเป็นการวางตำแหน่งล้อให้ปีนไปเลยจะปลอดภัยกว่า และไม่ควรลืมที่จะลดกระจกข้างลงให้สุด เพราะตัวรถจะสะบัดอย่างรุนแรงจนผู้ขับถูกเหวี่ยงไป-มา อาจจะทำให้ศีรษะฟาดกระจกได้

456-46 456-47

การขับรถในเส้นทางที่คล้ายเนินสลับ

เป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ต้องอาศัยการควบคุมพวงมาลัย และการใช้รอบเครื่องยนต์เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับผ่านเนินสลับนั้น อาการสะบัดไป-มาของหน้ายางในขณะที่ล้อข้างหนึ่งกำลังปีนเนิน และล้อข้างหนึ่งตกอยู่ในหลุม ช่วงล่างจะมีอาการยืด และยุบแบบไขว้กันเป็นเส้นทแยงมุม หากว่ามีการฝืนพวงมาลัยมากเกินไป ล้อด้านที่ปีนเนินจะงัดเอาตัวรถให้มีอาการคล้ายกับไม้กระดก ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ ควรการแก้ทิศทางพวงมาลัยโดยหักล้อไปในทิศทางลงเนิน น้ำหนักรถจะเอียงกลับไปกดด้านที่อยู่ต่ำกว่า พร้อมกับกดคันเร่งเบาๆ รถก็จะสามารถขยับไปได้ หากยังไม่สามารถเคลื่อนรถได้ ให้ถอยหลังเล็กน้อยประคองพวงมาลัยให้ปีนเนินน้อยที่สุด แล้วกดคันเร่งเดินหน้าก็จะทำให้ผ่านอุปสรรคไปได้

ห้ามใช้ความเร็วแบบพรวดพราด เพราะช่วงล่างของรถอาจจะดีดตัวอย่างแรง เป็นผลให้รถเกิดพลิกคว่ำได้ แต่ใน TR Transformer II มีระบบล็อคเฟืองท้ายแบบไฟฟ้า หรือ DIFF-LOCK ที่ช่วยให้สามารถผ่านอุปสรรคแบบนี้ไปแบบง่ายๆ เพียงกดปุ่มก็สามารถเปิดใช้งานได้ง่าย ระบบล็อคเฟืองท้ายนี้ จะทำงานกระจายกำลังสู่ล้อหลังซ้าย และขวาแบบ 50/50 โดยไม่มีล้อข้างใดหมุนฟรีทำให้การขึ้นเนินที่มีการฟรีทิ้งของล้อข้างใดข้างหนึ่งนั้นหมดไป และยังคงสามารถปีนป่ายเนิน ที่มีการบิดตัวจนล้อลอย หรือโขดหินต่างๆ ก็สามารถขับโดยใช้รอบเครื่องยนต์ต่ำไต่ขึ้นไปได้อย่างสบายๆ

456-22

การขับในพื้นเอียง

การขับผ่านพื้นเอียงน้ำหนักของรถจะกดลงเพียงด้านเดียว รถออฟโรดที่มีเฟืองท้ายแบบ LIMITED SLIP AIR LOCKER หรือ DIFF-LOCK  ก็จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของล้อปั่นฟรีบนพื้นเอียงได้ดี วิธีการง่ายๆ ในการขับบนพื้นที่เอียงก็คือ ใช้เกียร์ SLOW1 ประคองพวงมาลัยให้ขนานไปกับเส้นทางเอียง ขับไปอย่างช้าๆ ด้วยความเร็วคงที่ พร้อมกับประคองพวงมาลัยให้ตรง หรือขนานไปกับระนาบพื้นเอียง ไม่ว่าจะเป็นโค้งซ้ายหรือโค้งขวา เป็นพื้นฐานการขับบนพื้นเอียงที่ถูกต้อง แล้วเราจะพบว่าแทบจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลย ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับพวงมาลัยของรถมากนัก เพียงประคองไม่ให้ล้อเป๋ไปเป๋มาก็พอ หากไม่แน่ใจว่าระนาบเอียงมีความปลอดภัยพอที่จะขับผ่านไปได้ ควรหยุดรถพร้อมกับหักพวงมาลัยไปในทิศทางลงจนสุด หน้ายางจะเป็นตัวค้ำยันไม่ให้รถพลิกคว่ำ แล้วค่อยหาวิธีแก้ต่อไป

walking-speed-2 engine-brake

การขับรถขึ้น–ลง เนินชัน 

การขับขึ้นเนินอย่างถูกต้อง  สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ควรปรับเบาะให้ตั้งตรงกว่าปกติ เพิ่มทัศนะวิสัยที่ดีกว่า และช่วยให้ผู้ขับไม่ต้องโหนพวงมาลัย  เพื่อดึงตัวเองในการมองเส้นทางข้างหน้า เนื่องจากระยะของผู้ขับกับหน้ารถไม่ห่างกันมากนัก เพียงชะเง้อเล็กน้อยก็สามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้สะดวก การขับขึ้นเนินชันนั้น ควรใช้เกียร์ต่ำ ซึ่งก็คือ เกียร์ 1 หรือ 2 ในตำแหน่ง 4LOW  อาศัยแรงบิดในการไต่ขึ้น และจะกลายเป็นแรงฉุด (ENGINE BRAKE) ในทางขาลง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับพื้นผิวของเส้นทาง ความลาดชัน และระยะทาง เราต้องรู้สึกถึงกำลังเครื่องของรถว่าพอหรือไม่  ควบคุมคันเร่งให้พอที่จะไต่ขึ้นถึงยอด หากเป็นเนินชันยาว ควรเปลี่ยนเกียร์มาใช้เป็นเกียร์ 2 ที่ 4L เพราะเป็นเกียร์ที่ยังมีแรงบิดที่สูงพอเพียง และความเร็วจัดกว่าเกียร์ 1-4L ทำให้ล้อสามารถหมุนได้จัดกว่า

ในการขับขึ้นเนิน ควรเร่งส่งตั้งแต่ตีนเนิน ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์กลางเนิน  เมื่อถึงจุดสูงสุดบนยอดเนิน  ให้ถอนคันเร่งทันที อย่าให้เกิดการกระโจนลอยในอากาศ เพราะอาจจะเสียการควบคุมได้ ในการขับขึ้นเนินชันที่มีอันตรายนั้น หากมีร่องล้ออยู่ ควรบังคับให้ล้อทั้ง 4 ลงไปอยู่ในร่อง เพื่อให้ล้อมีเกาะยึด และไม่มีทางที่จะเกิดการลื่นไถลจนเสียการทรงตัว สิ่งที่พึงระวังอีกอย่างหนึ่ง หากว่าล้อของรถอยู่ในร่องแล้ว อย่าพยายามหักพวงมาลัยปีนออกจากร่อง โดยเฉพาะผิวดินที่เปียกลื่น ร่องลึกเพียงไม่กี่นิ้ว ล้อก็ไม่สามารถปีนออกจากร่องได้แล้วยิ่งฝืนก็ยิ่งทำให้รถเสียการควบคุมมากขึ้น เนื่องจากล้อหน้าจะขวางร่อง ทำให้รถเคลื่อนที่ไปแบบขวางๆ การควบคุมพวงมาลัยโดยกำหลวมๆ ล้อก็จะเกาะอยู่ในร่อง ทำให้สามารถบังคับล้อได้ดีกว่า

%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%99 %e0%b9%82%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b8%99-1

การขับข้ามโคลน

ในช่วงฤดูฝนเช่นนี้ เป็นเส้นทางที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก ถ้าเดินทางเข้าเส้นทางธรรมชาติ หรือแม้แต่ในเมืองก็ไม่เว้น เส้นทางที่เป็นดิน จะมีลักษณะเปียกลื่นแบบดินหนังหมู จนถึงเละเป็นทะเลโคลนหรือดินมันปู ซึ่งก็กลายเป็นอุปสรรคที่ถือว่ายากพอสมควร เพราะหน้ายางจะสัมผัสกับพื้นดินที่มีความอ่อนตัวมากๆ ทำให้เกิดแรงเสียดทานที่พอเพียงในการที่จะทำให้รถเคลื่อนที่มีอยู่เพียงช่วงเดียว นั่นหมายถึงหากเราใช้รอบล้อที่ต่ำเกินไป รถก็จะไม่สามารถแล่นผ่านไปได้ หรือถ้าใช้รอบล้อที่จัดเกินไป ก็จะทำให้เกิดการขุดฝังตัวเอง

บนพื้นผิวโคลนที่มีความนุ่มปานกลาง ควรเลือกใช้ WALKING SPEED เพราะจะมีแรงบิดสูง ทำให้ล้อไม่ปั่นฟรี และไม่ขุดฝังตัวเองหรือไม่เกิดอาการลื่นไถลออกนอกลู่นอกทาง ทำให้การควบคุมรถง่ายขึ้น หากเกิดความรู้สึกว่ารถไม่เคลื่อนที่ สามารถกดคันเร่งช่วยเบาๆ หรือเร่งแบบปั๊มเป็นจังหวะ เพื่อช่วยให้ได้แรงเสียดทานที่พอดีซ้ำหลายๆ ครั้ง จะช่วยให้รถผ่านไปได้แบบสบายๆ

สำหรับพื้นผิวเป็นโคลนเละมากๆ ควรเปลี่ยนเป็นการใช้เกียร์ 2 (4L) จะทำให้ความเร็วของล้อเพิ่มมากขึ้น โดยค่อยๆ บังคับรถลงในบ่อโคลนหรือร่องแล้วจึงเร่งส่ง ไม่ต้องถอนหรือปั๊มคันเร่ง เพราะการถอนคันเร่งอาจทำให้เสียจังหวะ หรือรอบเครื่องยนต์ตก และอย่ากระโจนลงบ่อโคลนหรือแม้แต่บ่อน้ำอย่างเด็ดขาด เพราะใบพัดหม้อน้ำอาจจะแตกและพาลไปตีชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ รวมทั้งอาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟ เนื่องจากน้ำกระเด็นเข้าไปในห้องเครื่องยนต์ ถ้าเข้าไปในไดชาร์จจะทำให้แปลงถ่านติดจนไม่สามารถชาร์จไฟให้กับแบตเตอรี่ได้ และที่สำคัญในบ่อโคลนอาจจะเป็นหิน ท่อนไม้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ช่วงล่างหรือระบบต่างๆ ได้

456-20 456-31

การขับข้ามน้ำ

การขับข้ามน้ำในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ห้วย ลำธาร บึง แม้กระทั่งแม่น้ำ จะต้องทำการสำรวจความลึก พื้นผิวใต้น้ำ และกระแสน้ำทุกครั้งว่าเป็นอย่างไร มีโขดหิน หลุม อยู่บริเวณใดบ้าง รวมทั้งสภาพพื้นผิวใต้น้ำที่มีลักษณะเป็นดิน ทราย หรือ กรวด ที่แม้แต่ชาวออฟโรดเองก็พยายามหลีกเลี่ยง ดังนั้นจึงต้องเดินลุยน้ำเท่านั้น จึงจะทราบถึงสภาพเส้นทางที่เราขับลงไป และต้องเดินสำรวจตลอดเส้นทางจนถึงฝั่งตรงกันข้าม ไม่ใช่ขับข้ามไปเพียงครึ่งเดียวแล้วรถติดอยู่กลางน้ำ จะเดินหน้าถอยหลัง ก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก สาเหตุจากการเดินสำรวจอย่างรวกๆ และไม่ตลอดเส้นทางหรือมองเส้นทางบนรถคร่าวๆ ก็ทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ได้

เมื่อพร้อมจะลงน้ำห้ามคาดเข็มขัดนิรภัย และลดกระจกหน้าลงให้สุด พร้อมกับปลดล็อกประตูทุกบาน เพื่อป้องกันการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้า ด้วยเหตุว่าในกรณีฉุกเฉินรถอาจจะจมน้ำถึงในระดับที่เป็นอันตราย ผู้ที่อยู่ในรถจะสามารถมุดออกมาได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งสะดวกต่อผู้ที่เข้าไปช่วยเหลืออีกด้วย

ควรใช้เกียร์ 1 (4L) เป็นหลัก เพราะเครื่องยนต์ดับยาก โดยเฉพาะในน้ำที่ลึกและเป็นเกียร์ที่มีความเร็วต่ำ แต่มีแรงบิดสูง ค่อยๆ ขับผ่านไปได้โดยไม่ต้องกดคันเร่งมากนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีพื้นอ่อนนุ่ม เช่น พื้นที่เป็นทรายใต้น้ำ โคลน เป็นต้น ที่สำคัญห้ามใช้ความเร็วในขณะขับข้ามน้ำ เพราะระบบช่วงล่างอาจถูกก้อนหินกระแทกจนเกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะระบบช่วงล่างแบบปีกนก ซึ่งมีลูกหมากอยู่หลายจุด จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ…

 

polme

ข้อมูลผู้ทำการทดสอบ : โชติศีล  รัตนวราหะ

-กองบรรณาธิการนิตยสารออฟโรด

-วิทยากรผู้ฝึกอบรมการขับรถยนต์ออฟโรด

-แชมป์ประเทศไทยการแข่งขัน 

OFF ROAD TROPHY 2 ปีซ้อน

“ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ที่ให้ทีมงานหยิบยืม TR Transformer II  มาทำการทดสอบและขับแบบใช้งานจริงในเส้นทางทุรกันดารในครั้งนี้ ถือว่าเป็นรถที่น่าสนใจอีกคันหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบความแตกต่างที่ไม่เหมือนใคร มีสิ่งอำนวยความสะดวกมาให้ครบครัน สามารถใช้งาน และลุยได้อย่างสมบุกสมบัน เครื่องยนต์แรง ช่วงล่างแข็งแกร่ง

สำหรับรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแล้ว ถ้าพูดถึงภาพรวมถือว่าจะได้เปรียบกว่ารถรุ่นอื่นๆ ตรงที่สามารถเปลี่ยนโหมดระบบขับเคลื่อนได้ตามความเหมาะสมของเส้นทาง แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธีจึงต้องทำความเข้าใจในระบบการทำงานของเขาเสียก่อน เพราะระบบขับเคลื่อน 4 ล้อของแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ การทำงานก็คล้ายๆ กันเพียงแต่การปรับเปลี่ยนโหมดอาจจะไม่เหมือนกัน บางรุ่นอาจจะเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Fulltime บางรุ่นอาจจะมีระบบหรือโหมดฟังค์ชั่นที่ให้เลือกเยอะกว่า ก็ต้องเรียนรู้และศึกษาเพื่อใช้งานให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อมีความพิเศษในระบบขับเคลื่อนสิ่งที่จะตามมาคือ การดูแลรักษาที่มากขึ้นต้องตรวจเช็คตามระยะเพราะมีอุปกรณ์ที่มากกว่าขับ 2 ทั่วไป ที่ต้องดูแลทั้ง เกียร์สโลว์ เฟืองท้ายลูกหน้าและระบบอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าการดูแลรักษานั้นมีประสิทธิภาพจะทำให้ยืดอายุการใช้งานไปได้อีกนาน แม้ว่าจะสิ้นเปลืองมากกว่ารถขับเคลื่อน 2 ล้อ แต่ก็ให้สมรรถนะที่เหนือกว่ามาก”

 

 

 

เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการนิตยสารออฟโรด

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save