“ซูบารุขับสี่” Subaru Symmetrical All-Wheel-Drive
46 ปีที่แล้ว ท่ามกลางเสียงเครื่องยนต์ที่ดังกระหึ่ม เสียงโห่ร้องของผู้คนหนาตาที่ชื่นชอบหลงไหลในกีฬาแข่งรถยนต์ กลิ่นไอเสียที่คนชอบความเร็วรถชื่นชอบ เสียงยางล้อที่เบียดเสียดผิวทางโค้งที่ใช้สนามกีฬาหัวหมากที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นเป็นสนามแข่งรถประเภทเซอร์กิต
Subaru เป็นหนึ่งในสังเวียนความเร็วที่ยืนตระหง่านบนโพเดี้ยมซ้ำแล้วซ้ำเล่า หนึ่งในกระบวนนั้น ก็คือ คุณปรีดา จุลละมณฑล อดีตทีมชาตินักปั่นจักรยานประเภทลู่ขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ นักกีฬา 7 เหรียญทอง และนักกีฬาคนแรกของไทยที่เข้าแข่งโอลิมปิค ซึ่งหันมาขับรถยนต์แข่งขันและมีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้กีฬาเอเชียนเกมส์
ไม่มีใครสบประมาทสมรรถนะขับเคลื่อนล้อหน้าของ Subaru ขณะที่ Lancer และ Datsun ขับเคลื่อนล้อหลังนั้นตีคู่มาติดๆ
Subaru คว้าตำแหน่งแชมป์โลกประเภทผู้ผลิตรถแข่งยอดเยี่ยม 3 ปีซ้อน (ปี 1995, 1996, 1997) และนักขับแชมป์โลก 3 สมัย (ในปี 1995, 2001, 2003) โดย Collin McRae, Richard Burns, และ Petter Solberg จากสมาพันธ์กีฬาแข่งรถแรลลี่นานาชาติหรือ FIA (Federation Internationale de I’Automobile)
ทั้ง Rotary และ Boxer มีจุดเด่นที่เหนือกว่าเครื่องยนต์สูบตั้งสูบเฉียงทั้งหลายอย่างน้อย 3 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง-ตัวเครื่องยนต์กะทัดรัด(Compact), สอง-จุดศูนย์ถ่วงต่ำกว่า(Lower Central of Gravity), และ สาม-สมดุลดีกว่า(Optimum Balancing)
ขณะที่ Mazda นำเครื่องยนต์สูบหมุนหรือ Rotary Engine มาพัฒนาต่อจาก Felix Wankle ที่คิดค้นขึ้นในทศวรรษ 1920 เยอรมนี Subaru ก็นำแนวคิดเครื่องยนต์สูบนอน ที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า Boxer Engine (ชื่อทางการ คือ Flat Engine หรือ Horizontally Opposed Engine) ที่ Karl Benz คิดค้นขึ้นในปี 1897 มาพัฒนาต่อ
จุดเด่นทั้ง 3 ข้อนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขับใช้งาน ได้แก่ ประสิทธิภาพระบบส่งกำลังขับเคลื่อน(Power-Transmitting Efficiency)สู่พื้นผิวทาง, เกาะถนน/ทรงตัวดีกว่าเพราะจุดศูนย์ถ่วงต่ำและขับสี่ล้อ, ขับสนุก/บังคับควบคุมรถได้ง่ายมือเพราะความสมดุลและสมมาตร
ในเชิงการตลาด Subaru เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม(Niche Market) และไม่เดินตามผู้นำทางอุตสาหกรรม(Non-Me-Too Product) ขณะที่วิจัยพัฒนาให้เครื่องยนต์สูบนอนมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแต่ละยุคสมัยนั้น Subaru ก็ชัดเจนมากๆในการพัฒนาระบบเกียร์ส่งกำลัง(Transmission) โดยเฉพาะยิ่ง ระบบส่งกำลังขับเคลื่อน(Drivetrain system) ซึ่งนำระบบขับเคลื่อนทุกล้อหรือ All-Wheel-Drive (AWD.)มาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1972 โดยเรียกว่า “Symmetrical All-Wheel-Drive” มีความหมายว่า “ส่งกำลังขับเคลื่อนที่สมมาตร”
Subaru AWD หรือว่า SAWD อย่างไหนกันแน่?:
ดังที่เขียนไว้เมื่อเล่มที่แล้วว่า “AWD” ย่อจาก All-Wheel-Drive คือ ระบบส่งกำลังให้ “ทุกล้อ” มีแรงขับเคลื่อน หรือ “ขับเคลื่อนทุกล้อ” หรือจะเรียก “ขับสี่ล้อ” (ถ้าตัวรถมีทั้งหมด 4 ล้อ) ก็ไม่ผิดอะไร
เพื่อขับใช้งานบนผิวถนนเป็นหลัก มีเฟืองท้ายตัวกลาง(Center-Differential หรือบางยี่ห้อก็เรียก Transfer-Case)ทำหน้าที่กระจายกำลังไปให้ล้อคู่หน้าและล้อคู่หลัง แต่ไม่ใช่ “ขับเคลื่อนสี่ล้อวิบาก” เพราะไม่มีเกียร์ 4×4 High/Low
ปี 1903 สองพี่น้องตระกูล Spijkers (อ่านว่า สเปกเกอร์) ชาวเนเธอร์แลนด์ ประดิษฐ์รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ(หรือ “ขับทุกล้อ”) ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน(Internal Combustion Engine)ได้สำเร็จเป็นคันแรกของโลก
ไม่นับรถยนต์ขับสี่ล้อพลังงานไฟฟ้า(มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนที่ดุมล้อและใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในทำหน้าที่ปั่นไฟเข้าแบตเตอรี่ที่เป็นพลังงานให้มอเตอร์ไฟฟ้า)คันแรกของโลกที่ Dr. Ferdinand Porsche กับ Lohner-Werke ร่วมกันประดิษฐ์ขึ้นในปี 1900
สำหรับรถยนต์นั่งที่ใช้งานบนผิวถนนเป็นหลักใหญ่ รถสปอร์ตอังกฤษยี่ห้อ Jensen รุ่น FF นำระบบขับเคลื่อนทุกล้อมาผลิตจำหน่ายเป็นรายแรกในปี 1966 จากนั้น ทศวรรษ 1970 และ 1980 คือ ช่วงที่รถยนต์นั่งหลายยี่ห้อในโลกนำระบบขับเคลื่อน AWD มาผลิตจำหน่าย
Audi และ Subaru ก็ใช้สังเวียนความเร็วทางฝุ่นโลก FIA World Rally Championship มาประกาศศักดา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับแชมป์โลกหลายสมัยด้วยกันทั้งคู่
ปูมหลังของบริษัทผลิตรถยนต์ Subaru คือ Fuji Heavy Industries ในเมือง Nakajima เป็นศูนย์วิจัยอากาศยานแห่งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งในปี 1915 (108 ปีมาแล้ว) ก่อนเปลี่ยนเป็น Nakajima Aircraft Company ในปี 1932
รถยนต์ Subaru เกิดจากนโยบายของ Kenji Kita ประธานบริหารของ Fuji Heavy Industries สมัยนั้น ว่า ต้องการแตกหน่อธุรกิจจากอากาศยานมาเป็นรถยนต์นั่ง ใช้รหัสโครงการวิจัยพัฒนาว่า P-1 และเป็นที่มาของเครื่องหมายการค้า “กลุ่มดาวลูกไก่” หรือ Pleiades Star Cluster แต่นั้นมา
Symmetrical All-Wheel-Drive (SAWD.) คือ ระบบส่งกำลังขับเคลื่อนทุกล้อตลอดเวลา (คนอังกฤษเรียกว่า Permanent All-Wheel-Drive คนอเมริกันเรียกว่า Full-Time All-Wheel-Drive ทั้งที่เป็นระบบเดียวกัน) แม้จะไม่ใช่ลิขสิทธิ์เฉพาะ แต่ Subaru ก็ใช้ชื่อนี้เป็นทางการเพราะระบบให้ความ “สมมาตร” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ สมดุลทั้งซ้าย/ขวาและหน้า/หลัง”
(** ขออนุญาตอธิบายว่า คุณสมบัติเด่นของ Subaru SAWD อยู่ตรงที่…
หนึ่ง-เมื่อเรามองจากด้านข้างตัวรถ ด้วยสายตา X-Ray แบบ Superman เราจะเห็นว่า แนวเพลาข้อเหวี่ยง-แกนเพลาเกียร์ส่งกำลังขับเคลื่อน-เพลากลาง-เฟืองท้ายตัวหลัง-และเพลาข้างที่ส่งกำลังออกไปยังล้อทั้งสี่ อยู่ในแนวระนาบเดียวกันหรือขนานกับพื้นถนนราบทั้งหมด หรือ Horizontal Drivetrain Line
สอง-เมื่อเรามองจากด้านบน(Bird-Eyes View)ลงมาที่ตัวรถ ด้วยสายตา X-Ray เช่นกัน เราจะเห็นว่า เพลาข้อเหวี่ยงเครื่องยนต์-แกนเพลาเกียร์ส่งกำลัง-เพลากลาง-เฟืองท้ายตัวหลัง ทั้งหมดนั้นอยู่กึ่งกลาง(ซ้าย/ขวา)ตัวรถพอดี
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เพลาข้างทั้ง 4 ตัวที่ยิงจากเฟืองท้ายตัวหน้าไปล้อหน้าแต่ละข้าง และยิงจากเฟืองท้ายตัวหลังไปล้อหลังซ้าย/ขวา นั้นมีความยาวเท่ากัน หรือ All Equal-Length Drive-Shafts ดังนี้ จึงสามารถใช้คำว่า Symmetrical หรือ สมมาตร.**)
Subaru กับพัฒนาการขับสี่:
- Part-Time Mechanical 4-Wheel Drive
ปี 1972 เป็น Option ใน Subaru Leone Wagon เป็นระบบขับเคลื่อนทุกล้อแบบ Part-Time Mechanical 4 Wheel-Drive คือ เมื่อต้องการจะให้รถขับสี่ล้อก็ใช้คันโยกเข้าและปลดการทำงาน (แต่ ระบบนี้ไม่ใช่ขับสี่ล้อวิบากที่ต้องมีเกียร์ 4×4 High/Low แม้จะเรียกว่า 4 Wheel-Drive ก็ตาม)
ปี 1987 นำระบบอิเลคทรอนิคมาควบคุมระบบขับเคลื่อนทุกล้อเป็นครั้งแรกในรถ Subaru XT เรียกว่า Active Torque Split AWD โดยการทำงาน Electronically Controlled Multi-Plate Transfer Clutch ในเฟืองท้ายตัวกลาง(Center-Differential Unit)ติดตั้งอยู่หลังเกียร์ส่งกำลัง
ดังนั้น ในสภาพขับขี่/สภาพผิวถนนปกติอัตรากระจายกำลังระหว่างล้อหน้ากับล้อหลังอยู่ที่ 60%/40% (เพื่อให้บังคับรถได้ง่ายประหนึ่งรถขับล้อหน้า) แต่พอกระแทกคันเร่งเพื่อเค้นสมรรถนะ และ/หรือว่าผิวถนนลื่นไถลก็จะเปลี่ยนอัตรากำลังเป็น 50%/50% (ล้อหน้า/หลัง)โดยอัตโนมัติทันที
โดยระบบจะวิเคราะห์ประมวลสัญญาณที่ได้รับจากองศาของปีกผีเสื้อเครื่องยนต์(คือ การเหยียบคันเร่งฯ), การหมุนรอบเครื่องยนต์, การหมุนรอบเกียร์ส่งกำลัง, และ การหมุนรอบของล้อรถทั้งสี่ล้อ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนอัตราส่วนกระจายกำลังขับเคลื่อนสี่ล้อ(หรือทุกล้อ)แบบ Real-Time หรือผันแปรตามสภาพการขับขี่ใช้งานจริง
ด้วยเหตุผลในเชิงการตลาดการขาย คือ ขายรถที่ขับได้ง่ายมือ Active Torque Split AWD ของ Subaru จึงมาพร้อมกับเกียร์อัตโนมัติเดินหน้า 4 สปีด(ระบบเฟืองเกียร์แบบดาวนพเคราะห์ หรือ Planetary Gear-Set) กับ เกียร์พิเศษ Subaru’s Chain-Driven Lineartronic Continuously Variable Transmission หรือเกียร์อัตโนมัติระบบ CVT ในแบบที่ Subaru คิดพัฒนาขึ้น
- Variable Torque Distribution AWD
ปี 1991 พัฒนาขึ้นเป็นระบบขับเคลื่อนทุกล้อทำงานผันแปรอัตรากระจายกำลัง(Variable Torque Distribution หรือ VTD.) กับรุ่นเกียร์อัตโนมัติจะเป็นเดินหน้า 5 สปีด(E-5 A/T)ควบคุมการทำงานโดยอิเลคทรอนิค
อัตราส่วนกระจายกำลังจะผันแปรจาก 36%/64% เป็น 45%/55% และ 50%/50% ระหว่างล้อคู่หน้ากับล้อคู่หลังได้เองโดยอัตโนมัติในทันที
ทำงานร่วมระหว่าง Multi-Plate Clutch และ ชุดเกียร์ดาวนพพระเคราะห์ (Planetary Gear Set ที่อยู่ในเฟืองท้ายตัวกลาง(Center-Differential) กับเฟืองท้ายตัวหลังที่เป็นกระเปาะสารเหลว(Viscous Coupling) ผสานกับระบบวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนที่ของตัวรถ(Vehicle Dynamics Control หรือ VDC) เรียกว่า คุมแรงบิดให้เหมาะสมต่อการขับเคลื่อนในแต่ละล้ออิสระ
อนึ่ง Viscous Center Differential AWD ติดตั้งให้กับรถ Subaru ขับสี่ล้อรุ่นที่ใช้เกียร์ธรรมดา(Manual Transmission) ความพิเศษอยู่ตรงที่ เฟืองท้ายตัวกลางทำงานแบบจำกัดการหมุนฟรี(Limited-Slip) ทำงานกับกระเปาะสารเหลว ดังนี้ Subaru ขับสี่รุ่นเกียร์ธรรมดาสมรรถนะและความรู้สึกในการขับจึงดุดันเข้มแข็งมากว่ารุ่นเกียร์อัตโนมัติ
- Electronically Controlled AWD
ปี 1998 จึงพัฒนาให้ Electronically Controlled SAWD มีประสิทธิภาพถ่ายทอดกำลังขับเคลื่อนสู่ผิวถนนได้เหมาะสมมากขึ้น โดยทำงานกับระบบอิเลคทรอนิควิเคราะห์การเคลื่อนที่ของตัวรถ(Vehicle Dynamic Control หรือ VDC.), เบรก ABS และระบบอัตโนมัติควบคุมการยึดเกาะถนน(Traction Control system) ทำให้บังคับรถได้ง่ายมือขึ้น
- Multi-Mode Driver Control Center Differential AWD
ราวปี 2005 Subaru WRX STI ติดตั้งฟังก์ชั่นพิเศษ Multi-Mode Driver Control Center Differential AWD หรือ DCCD. นี้ ให้ผู้ขับเลือกปรับโหมดการทำงานของระบบขับสี่ได้ตามต้องการ หรือจะให้ทำงานอัตโนมัติก็ได้ โดยระบบไฟฟ้าจะสั่งการไปที่เฟืองท้ายตัวกลางที่ทำงานแบบจำกัดการหมุนฟรีโดยควบคุมแรงบิดที่เหมาะสม(Torque Sensing Mechanical Limited Slip Differential) ซึ่งมีสัญญาณอิเลคทรอนิคตรวจจับแรงบิด อัตรากระจายกำลัง 41%/59% (ล้อหน้า/หลัง) ดังนี้ WRX STI จึงสมรรถนะเต็มคาราเบลมากกว่ารุ่นอื่น
ทำไมต้องเลือก Subaru SAWD ?:
แน่นอนว่า สินค้าทุกชนิดในโลกมีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แม้แต่นาฬิกาข้อมือยี่ห้อแพงๆก็ใช่ว่าจะเป็นที่นิยมกับทุกกลุ่มคน ดังที่กล่าวแต่แรกว่า Subaru เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม(Niche Market)และมีนโยบายไม่ผลิตตามแบบสินค้าที่เป็นผู้นำตลาด(Non-Me-Too Product) ดังนั้น ผู้ที่เลือกซื้อรถยนต์ Subaru คือ ผู้ที่มีความเป็นเอกภาพ มีความคิดอ่านเป็นตัวเองสูง เช่นเดียวกับผู้ที่ซื้อ Audi, Maserati, Mercedes-Benz G-Series, นาฬิกาข้อมือ Breitling, และอื่นๆ
ผู้ที่ไม่ชอบสินค้าเหล่านี้ ก็คือ ไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
เหตุผลในการติดสินใจเลือกซื้อใช้รถยนต์ Subaru ได้แก่
- เป็นคนที่มีเอกภาพหรือ Differentiate ไม่ชอบเหมือนใคร ไม่ตามอย่างใคร จึงสนใจ Subaru เพราะความแตกต่างจากท้องตลาด ไม่ว่าจะตัดสินใจด้วยตนเองหรือว่าใครแนะนำก็ตาม
- ระบบขับสี่ล้อของ Subaru ที่ลือชื่อในเรื่องสมรรถนะและประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ซื้อ
หาครอบครอง(Proud-to-Own)มากกว่ารุ่นที่ขับเคลื่อน 2 ล้อ
- Subaru Symmetrical All-Wheel-Drive (SAWD.) นั้นมีอยู่หนึ่งเดียวในตลาดโลก ด้วยเอกภาพของ
เครื่องยนต์สูบนอน(Boxer Engine)ที่มิติขนาดตัวเครื่องฯนั้นกะทัดรัด น้ำหนักเบา และสมดุล
ยังผลเลิศต่อการถ่ายทอดแนวแรงจากเพลาข้อเหวี่ยงเครื่องยนต์-เกียร์ส่งกำลัง-เฟืองท้ายตัวกลาง-เฟืองท้ายตัวหน้า-เพลากลาง-เฟืองท้ายตัวหลัง-และเพลาข้างที่ส่งกำลังไปทั้ง 4 ล้อนั้นอยู่แนวระนาบกับพื้นถนน
- ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้คนส่วนมากจะชื่นชอบ Subaru เมื่อได้ทดลองขับ โดยเฉพาะกับหลายสภาพผิวถนน นั่นก็
เพราะ Subaru เป็นรถที่ขับใช้ง่ายมือ หรือ Easy-to-Drive ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงผู้ชาย คนที่ขับรถเก่งหรือไม่ถนัดในการขับรถ แม้กระทั่งคนต่างวัยกันก็มีความเห็นตรงกัน
สาเหตุที่เป็นรถที่ขับใช้ง่ายมือ คือ จุดศูนย์ถ่วงต่ำ(Low Central-of-Gravity) ลดอาการโคลงของตัวรถ(Body Roll) จึงเกาะถนนและทรงตัวดีกว่า(Better Road Holding & Stability) และคล่องตัวสูง(Maneuverability) ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวของเครื่องยนต์ Boxer ผนวกกับ SAWD ที่เป็นหนึ่งเดียวในตลาดโลก โดยมีโครงสร้างแชสซีส์ Subaru Global Platform (SGP.) สนับสนุนการทำงานของระบบกันสะเทือนอิสระสี่ล้อและระบบส่งกำลัง SAWD
และนี่คือ Subaru ขับสี่ หรือ Subaru Symmetrical All-Wheel-Drive หนึ่งเดียวในโลก.
เรื่อง: พีระพงษ์ กลั่นกรอง
เรียบเรียงข้อมูลโดย: Grand Prix Motor Park
ติดตามข่าวสารได้ที่: Off Road Magazine
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.