ย้อนรอยเส้นทางแห่งหินผามหาโหด ภูพระบาท ขอนแก่น

ป่าแถบอีสานเราทราบกันดีว่า พื้นที่เป็นเขาหินทรายและดินลูกรัง ป่าไม้ส่วนใหญ่ก็เป็นป่าจำพวกเต็งรังที่มีลักษณะไม้ผลัดใบ หน้าแล้งป่าพวกนี้จะเหี้ยนโกร๋นและอากาศค่อนข้างร้อน มีปัญหาเรื่องเกิดไฟป่าขึ้นบ่อยๆ วัฏจักรของป่าจำพวกนี้จะเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งก็ในช่วงฤดูฝน…การเที่ยวป่าในช่วงหน้าฝนยาวไปยันปลายฝนต้นหนาวจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุด

ชาวออฟโรดทางฝั่งนี้  จึงมักเดินทางท่องเที่ยวไปตามเส้นทางธรรมชาติ ที่เป็นหินผาและเขาหินเสียส่วนใหญ่ ต่างจากชาวออฟโรดภาคอื่นๆ ที่มีทั้งน้ำ ดินโคลน หรือปีนดงปีนดอย อย่างภาคอื่นๆ ดังนั้น ทักษะการปีนป่าย เทคนิคการโลดโผนโจนทะยานไปบนภูผาของชาวออฟโรดทางภาคนี้ จึงชำนาญและคล่องแคล่วเป็นธรรมชาติมากกว่า

ทริปนี้เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของ ชมรมขอนแก่นออฟโรด,  T-REX 4×4,  JEEP Khonkaen และ คาวบอยเวย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อบริจาคสิ่งของและยางรถยนต์ เพื่อใช้สำหรับทำสนามเด็กเล่นให้กับน้องๆ ที่โรงเรียนบ้านโคกสว่าง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เราเดินทางกันเมื่อปลายเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมานี่เอง หลังร่วมกันมอบสิ่งของให้กับน้องๆ เรียบร้อยแล้ว  จากนั้นก็ได้จัดทริปเล็กๆ ขึ้น เป็นการย้อนรอยตำนานแห่งเส้นทางหินแดนอีสาน ที่เคยโด่งดังของขอนแก่น นั่นก็กือ“ซองถ้ำพระ” หรือ “ช่องถ้ำพระ” ในขณะที่บางคนก็เรียกกันว่า “ภูพระบาท”

เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเก่าแก่ของชาวบ้าน ที่ใช้ในการขึ้นไปหาของป่า และไปมาหาสู่ระหว่างชาวบ้านทางฝั่ง อ.หนองบัวลำภู (ในขณะนั้น) และอ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ตั้งแต่ครั้งที่เส้นทางหลวงหมายเลข 2146 (อุบลรัตน์-หนองบัวลำภู) ยังไม่ตัดผ่าน  เส้นทางจะเริ่มจากบ้านโคกป่ากุง อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ไปทะลุที่ยังวัดถ้ำพระคำเม็ก บ้านพุทธบาท ต.นาคำ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ระยะทางไม่ใกล้ไม่ไกล เป็นการขับข้ามภูจากอีกด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ประมาณ 6 กิโลเมตร แต่อาจจะใช้เวลามากกว่า 12 ชั่วโมง โดยเฉพาะทริปนี้รถส่วนใหญ่เป็นเจ้าแมงหวี่ซูซูกิเสียส่วนใหญ่

ปัจจุบันเส้นทางนี้อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ซึ่งป่าบริเวณนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ฝั่งภูเก้าจะตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตก ส่วนเทือกเขาฝั่งภูพานคำที่เป็นป่ารอยต่อระหว่างชัยภูมิ หนองบัวลำภูและอุดรธานี จะตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออก

กำหนดการณ์เดิมนั้นจะขึ้นทางฝั่ง วัดถ้ำพระมาลงยังบริเวณบ้านโคกป่ากุง และย้อนกลับนั่นหมายถึงจากง่ายมาหายาก แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย คือ สวนทางขึ้นทางด้านบ้านป่ากุงม้วนเดียวไปจบที่วัดถ้ำพระ แบ่งอุปสรรคต่างๆ เอาไว้ ตามชื่อด่านต่างๆ (ในอดีตเรียกด่านที่ 1 ว่าเอียงถลาชมผา ด่านที่ 2 สกัดจับ 06 ด่านที่ 3 เฉลียงพระราม ด่านที่ 4 นางสีดาลื่นไถล ด่านที่ 5 หนุมานจะไปตีกรุงลงกา ด่านที่ 6 ลงเขาชมโลกพระจันทร์ และด่านสุดท้าย คือ สอบเอ็นทรานส์)

แต่ปัจจุบันก็มีการเรียกชื่อกันตามลักษณะภูมิประเทศของเส้นทาง เช่น ด่านแรกเรียกว่า “ประตูหิน” ช่วงแรกก็โดนใจเลยครับว่า จะไปต่อได้รึป่าว เพราะเส้นทางค่อนข้างแคบพอประมาณ ด้านขวามือมีหินขนาดใหญ่บีบให้เข้าไลน์ ส่วนด้านซ้ายคือ ช่องทางน้ำเซาะซึ่งลึกพอให้ได้ แต่ถ้าพลัดตกลงไปก็ได้เจ็บตัว ระยะทางช่วงสั้นๆ นี้ก็บอกได้เลยว่ากินเวลาไปเยอะ จากนั้นเดินทางขึ้นเข้าไปประมาณ 500 เมตร จะเจอกับด่านที่ 2 คือ ทางหักซอก จุดนี้ความยากอยู่ตรงที่เป็นทางหักซอกที่โดนบังคับด้วยหินน้อยใหญ่โดยระหว่างช่วงหักศอกจะมีโขดหินขนาดใหญ่ขวางไวหากพลาดบอกได้เลยว่าช่วงล่างพัง แหนบหัก สลักหาย น็อตหลุด กากบาดแตก เพลาขาด ก็ว่าได้หรือถ้าเบรคไม่อยู่ก็โบกมือลากันได้เลย  จากนั้นไปเพียง 50 เมตร ด่านที่ 3 ก็รออยู่ข้างหน้า

ช่องเขาขาด ถือเป็นด่านที่ 3 ลักษณะเป็นเส้นทางแคบๆ รถเล็กยังไปยาก รถใหญ่ไม่ต้องพูดถึง หากพลาดไปก็บอกได้เลยว่ามีต้นไม้ประมาณเสาไฟที่อยู่เกาะกลางเรียงกันอยู่ประมาณ 3-4 ต้นคอยรับไว้อยู่ หินน้อยหินใหญ่เรียงรายอยู่ตามทาง พอให้ได้กัดกร่อนช่วงล่างให้พังได้ทุกเมื่อ

มาถึงจุดนี้ถือว่าเรายังเดินทางมาไม่ถึงครึ่งทาง ถ้ายังไม่ท้อใจหรือรถพังไปก่อน เดินทางต่อไปก็จะเจอกับด่านที่ 4 ด่านสุดท้ายของเส้นทาง คือ ด่านบันไดหิน 5 ขั้น กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ถือได้ว่าสุดยอด ด่านบันไดหินนี้จุดเด่นคือ แต่ละขั้นความสูงประมาณหัวเข่า มีหินลอยไว้คอยตัดกำลังรถ แต่ละขั้นจะมีความยากง่ายผสมกันไป แต่เมื่อผ่านด่านนี้ไปได้ก็จะถึงบริเวณยอดภูด้านบนอันเป็นจุดสูงสุดของเทือกเขา สามารถมองเห็นทิวทัศน์ทางฝั่งทิศตะวันตกได้เกือบรอบ ทั้งเรือกสวนไร่นา อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ทิวเขาทางฝั่งภูเก้า เรียกว่าเป็นจุดชมวิวที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง

เส้นทางช่วงนี้ไปก็เป็นทางหินเช่นเดิม แต่ก็ยังเป็นทางหินวิ่งวนไปมาบนยอดเขา ลัดเลาะไปตามโขดหินรูปร่างแปลกตาน้อยใหญ่ แม้ว่ายังเหลืออีก 2 ด่าน คือ ด่านลงเขาชมโลกพระจันทร์ กับสอบเอ็นทรานส์  แต่ก็เป็นด่านในช่วงขาลงจึงไม่สร้างความยุ่งยากให้กับกองทัพแมงหวี่มากนัก

การขับรถในสภาพเส้นทางที่เป็นทางหินนี้ แทบไม่ต่างจากการขับในเส้นทางออฟโรดทั่วๆ ไป ผู้ขับจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพเส้นทาง มีทักษะในการขับ ทางหินจะแตกต่างเล็กน้อยก็ในเรื่องของปลีกย่อย แต่ก็ต้องใช้เทคนิคและความสามารถเฉพาะตัว ผสมผสานระหว่างรถกับคนเป็นหนึ่งเดียว ใช้ลมยางและใช้เกียร์รวมทั้งรอบเครื่องยนต์ที่เหมาะสม ไม่ตะบี้ตะบันเหยียบคันเร่งเพียงอย่างเดียว เพราะโอกาสพังมีเยอะ ส่วนการขับขี่นั้นต้องเป็นไปตามท่วงทำนองและเป็นจังหวะจะโคน รู้จักเร่งรู้จักผ่อน และการเลือกไลน์ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และแน่นอนว่าจะต้องมีบัดดี้ที่สามารถบอกไลน์ได้อย่างแม่นยำ

หากสมาชิกชมรมใดสนใจเส้นทางสายนี้ควรที่จะศึกษาสภาพเส้นทางและสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะมาหรือจะติดต่อประสานมายังชมรมขอนแก่นออฟโรด แล้เท่านจะรู้ว่า ความมันกำลังรอท่านอยู่ที่ ภูพระบาท

 

 

 

เรื่อง/ภาพ : นายเบียร์  ขอนแก่นออฟโรด

เรียบเรียงข้อมูลโดย Off Road Magazine

ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ Off Road Magazine

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save