One Malaysia ที่นี่มาเลเซีย
การเลือกตั้งของมาเลเซียเมื่อราวๆ กลางปี 2556 ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 13 นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ มีหลายเรื่องที่น่าสนใจคือ โดยพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล BN (Barisan Nasional — แนวร่วมแห่งชาติ) ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปที่ 133 ที่นั่ง โดยเสียที่นั่งลดลง 7 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน PR (Pakatan Rakyat — พันธมิตรประชาชน) ที่นำโดย อันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ที่นั่งรวมไป 89 ที่นั่ง โดยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 7 ที่นั่ง แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังชนะ และประกาศจัดตั้งรัฐบาล นายกฯ นาจิบ ราซัก ได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อหน้ากษัตริย์มาเลเซีย อีกครั้งหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นในปี พ.ศ.2555 ที่มีการประทั้งรัฐบาลครั้งใหญ่ในมาเลเซีย ชนิดที่ไม่เคยมีการประท้วงและคนมากมายขนาดนี้มาก่อน ปมปัญหามาจากเรื่องของการกีดกันเชื้อชาติในมาเลเซีย ที่รัฐบาลก่อน(ก็รัฐบาลนายราจิบ ราซักนี่แหละ) ออกกฎระเบียบหลายอย่างที่เหมือนกับจำกัดสิทธิชน เชื้อชาติอื่นในมาเลเซีย และให้เอกสิทธิ์คนเชื้อสายมลายูอย่างมาก
กลุ่มคนเชื้อสายจีน จึงไปเชียร์พรรคร่วมฝ่ายค้าน จนกระทั่งได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 7 ที่นั่ง นายจิบฯเองก็รู้ว่า การออกกฎกติกาออกมาแบบนั้น จะยิ่งทำให้สังคมมาเลเซียแตกแยก ตอนหาเสียงเขาถึงมีนโยบาย One Malasis มาเป็นแคมเปญหาเสียง แต่กระนั่นก็ยังทนสิ่งที่นายราจิบเรียกว่า “ซือนามิชาวจีน” ไม่ได้ เพราะพรรค กิจประชาธิปไตย” หรือ DAP (Democratic Action Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมและเน้นฐานเสียงไปยังคนเชื้อชาติจีนในมาเลเซีย นี่แหละตัวสำคัญ ทั้งๆ ที่พรรคร่วมฝ่ายค้ายไม่ได้มีแต่พรรคกิจประชาธิปไตยเท่านั้น แต่มีพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR หรือ Parti Keadilan Rakyat) ที่นำโดยนายอันวาร์, พรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ที่นำโดยสองพ่อลูกตระกูลลิม คือ ลิมกิตเสียง ประธานพรรค และ ลิมกวนเอ็ง เลขาธิการพรรค, รวมถึงพรรครวมอิสลามมาเลเซีย (PAS หรือ Parti Islam Se-Malaysia) ก็มีส่วนผสมจากคนทุกเชื้อชาติในมาเลเซีย พอมารับตำแหน่งใหม่ นโยบายหนึ่งที่นายราจิบต้องเร่งทำคือ คืนความปรองดองสู่สังคมมาเลเซีย
แต่ผลหลังจากเลือกตั้งคือ นายอันวา อิบราฮิม ก็ออกมานำคนมาเลเซียประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้ และก็มีคนมาเลเซียออกมาประท้วงกันเยอะเสียด้วย โชคดีของราจิบที่คนมาเลเซียกัดแล้วปล่อย ไม่ได้ประท้วงยืดเยื้อเหมือนในบ้านเรา
มาเลเซีย นั้นมีปัญหาเรื่องเชื้อชาติมานาน และจะไม่เกิดเป็นปัญหาเลย ถ้าทางการเมืองไม่ดึงออกมาเล่น แต่สิ่งที่คนมาเลเซียยุคนี้ประสบตั้งแต่เกิดมาก็คือ เศรษฐกิจของมาเลเซีย ไปอยู่ในมือของคน 2 เชื้อชาติ คือคนจีนและคนอินเดีย ประเทศมาเลเซีย จึงมีคน 3 กลุ่มใหญ่รวมกัน คือ คนมลายู คนอินเดียและคนจีน คนอินเดีย นั้น เข้ามาสู่สังคมมาเลเซียอย่างมากในสมัยอังกฤษปกครองมาเลเซีย ส่วนคนจีนเข้ามาแทบทุกยุคสมัยเพื่อการค้าขายและช่วงอังกฤษก็คงเข้ามามากเช่นกัน ทั้งมาทำเหมืองแร่มาเป็นกุลีสารพัด
ผมเคยบอกไปแล้วว่า ทั้งคนจีนและคนอินเดียนั้น มีนิสัยเหมือนกันหนึ่งอย่างคือ ขยัน อดทน หนักเอา เบาสู้ เสื่อผืนหมอนใบ ทำงานมันดะ ท่านผู้อ่านดูอาบังที่เข้ามาขายถั่ว ในบ้านเรา แรกๆ ก็ใส่กะบะเทินบนหัวเดินขาย เราดูๆไปไม่น่าจะได้กำไรมากมายอะไร แต่สักพักขยับจากขายถั่วมาขายมุ้งผ่อน จากเดินมามีจักรยานคันเก่าๆ ต่อมาปล่อยเงินกู้ ขยันเดินเก็บเงินหน่อย เดี๋ยวนี้เป็นนายห้าง ในมาเลเซียก็ไม่ต่างกัน จากเสื่อผืนหมอนใบ เดี๋ยวนี้ทั้งคนเชื้อสายอินเดียและเชื้อสายจีนกุมเศรษฐกิขของมาเลเซียไว้เกือบหมด มีแต่เพียงอำนาจทางการปกครองเท่านั้นที่คนเชื้อสายมลายูได้ไป (เพราะจำนวนคนที่มากกว่า)
มาเลเซียนั้น มีประชากรราว 20 กว่าล้านคน เวลาเราไปเมืองใหญ่ๆ อย่างกัวลาลัมเปอร์( KL) เราจะเห็นทั้งคนที่ดูเป็นคนอินเดียชัดๆ คนจีน และคนมลายู แล้วสามกลุ่มนี้เห็นปุ๊บเราก็รู้โดยปริยาย ไม่เหมือนในสังคมไทยที่เดี๋ยวนี้ คนจีน คนไทยปนเปผสมผสานกันจนบางทีแยกไม่ออก ตามร้านรวงต่างๆ ก็จะเห็นแต่หน้าอินเดียชัดๆ กับหน้าจีนชัดเจนทั้งนั้น กระแสการใส่ไฟให้เกลียดชังหรือตั้งแง่ในคนเชื้อสายอื่นในมาเลเซียคงมีเชื้อมาบ้าง แล้วในอดีตคนเชื้อสายอื่นก็คงรู้ตัวว่าต่อไปจะถูกรังแก เพราะในอดีตยุคที่คอมมิวนิสต์รุ่งเรือง ในมาเลเซียก็มีกลุ่มโจรจีนคอมมิวนิสต์ เป็นที่รู้กันว่าพรรคนี้ได้รับการสนับสนุนจากคนจีนในมาเลเซียและประเทศจีน คอยต่อสู้กับรัฐบาลมาเลเซีย เข้ามาหลบในชายแดนไทยแถบสงขลา อ.นาทวี อ.เบตง อะไรทางนั้น รบกันอยู่หลายปี จนมาเลเซียต้องให้ไทยช่วยเจรจา นั่นแหละมาเลเซียจึงเข้าสู่ความสงบ
มาเลเซียเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญของไทยประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะพี่น้องแถบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เข้าไปทำงานในมาเลเซียกันมาก ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารไทย ซึ่งได้รับความนิยมมาก คนไทยนั้นไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรล้วนทำต้มยำกุ้งอร่อยทุกคน ยิ่งไปในมาเลเซียต้มยำกุ้งยิ่งแล้ว หาดใหญ่ที่ว่าคนมาเลเซียเข้ามามาก โดยเฉพาะคนมาเลเชื้อสายจีน เข้ามาไหว้พระ มาไหว้ศาลเจ้า ที่ถ้าเข้ามาในหาดใหญ่เขาจะดูมีคุณค่ามาก แต่ถ้าอยู่ในมาเลเซีย แม้เขาจะคุมเศรษฐกิจ แต่ก็เหมือนเป็นพลเมืองชั้น 2 สู้หนีเข้ามาเที่ยวในไทยดีกว่าและอีกอย่างคือ เข้ามากินอาหารที่หาดใหญ่นี่เอง
ปีหน้าเราจะเปิด AEC กันแล้ว การไปมาหาสู่นั้นเดี๋ยวนี้ก็ไม่ยาก การไปมาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์ นั่งเครื่องหางแดงราคาถูกไปแป๊บเดียวก็ถึง ไม่ก็นั่งรถบัสจากหาดใหญ่ไปไม่ยากเลย สะดวกมาก จะไปปีนังที่ใกล้ๆไทย หรือจะไปใต้สุดถึงมะละกา ก็มีรถไปถึง การเดินทางนั้นไม่ยาก สิ่งที่ยากคือ การเรียนรู้วัฒนธรรม เรียนรู้ประเพณี ประวัติศาสตร์ซึ่งกันและกันต่างหาก มาคราวนี้ผมถึงพูดเรื่องเชื้อชาติและความขัดแย้งในปมเชื้อชาติในมาเลเซียแบบเน้นๆ เพื่อให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาประเทศเพื่อนบ้าน ว่าไม่มีที่ไหนที่มันจะสมบูรณ์ไปทุกอย่าง บ้านเรามีปัญหา เราก็ต้องแก้ไปแบบประเพณีและวัฒนธรรมแบบไทยๆ ประเทศเพื่อนบ้านก็ให้ความเคารพ เช่นเดียวกับเราก็เคารพประเทศเพื่อนบ้าน ผมเห็นคนไทยทำเป็นออกมาโวยวายบอกอยู่ยากแล้วประเทศไทย อายพม่า ถ้ารู้จักพม่าอย่างลึกซึ้งอาจจะไม่พูดคำนี้ ก็ขนาดมาเลเซียที่ว่า สงบ เศรษฐกิจดี ก็ยังมีปัญหาใหญ่โตซุกอยู่ในสังคมเขา
ทีแรกว่าจะพูดถึงระบบกษัตริย์ในมาเลเซีย การวางรากฐานการศึกษาที่อังกฤษมีให้รวมทั้งเมืองราชการปรุตจายาในมาเลเซีย ก็หน้ากระดาษหมดซะก่อน เอาไว้ครั้งต่อๆ ไปถ้าไม่ลืมจะเอามาคุยเรื่อยเปื่อยสู่กันฟังครับ…
เรียบเรียงข้อมูลโดย www.gpinews.com
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.