25 ปีบนเส้นทางนักแข่งรถอาชีพ—มานะ พรศิริเชิด

บทสรุปผลงานบนทางฝุ่น-ทางเรียบในปี 2019, ประสบการณ์ที่จดจำไปชั่วชีวิตจากการแข่งขันสุดหฤโหด Dakar Rally และหลังจาก 25 ปีในฐานะนักแข่งอาชีพอะไรความท้าทายต่อไปจากนี้ของ “หนึ่ง” มานะ พรศิริเชิด…

หากจะให้สรุปผลงานการลงแข่งขันตลอดปี 2019 ถือว่าคุณทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้หรือไม่?

มานะ: “ในปี 2019 การแข่งขันหลักคือรายการ Asia Cross Country Rally โดยผมลงแข่งขันในนามทีม Toyota Cross Country Team เป้าหมายของทีมคือขับให้จบการแข่งขัน โดยเราสามารถจบอันดับ 5 ในตารางเวลารวม และเป็นอันดับ 3 ในรุ่น T1 (Modified Cross-Country Cars) ก็ถือว่าพอใจในผลงานระดับหนึ่ง ถึงส่วนตัวอยากจะคว้าแชมป์ให้ได้ก็ตาม ส่วนอีกรายการหนึ่งคือ TWC Cross Country ตอนแรกทางทีมไม่ได้วางแผนจะเข้าแข่งขัน แต่มีความคิดว่าอยากพัฒนารถเพื่อการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะระบบช่วงล่าง ทำให้ Hilux Revo เครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร เกียร์อัตโนมัติที่เรานำมาลงแข่งแทบจะเรียกว่าเป็นรถสแตนดาร์ดจากโรงงาน มีการเปลี่ยนโช๊คอัพเพียง 4 ต้นเท่านั้น ทั้งที่กติกาของรายการประเภท Cross Country จะสามารถใส่โช๊คอัพเพิ่มได้ 6-8 ตัว ในส่วนอื่นๆ อย่าง คอม้าหรือปีกนกเป็นของเดิมหมด เหมือนเป็นการทดสอบโช๊คอัพ และผลงานที่ออกมาทำตำแหน่งค่อนข้างดีเข้าอันดับ 1-2 ตลอด โดยสนามสุดท้ายที่อุบลราชธานี เราได้อันดับ 1 ในตารางเวลารวมของรุ่น T2 ก็ถือว่าค่อนข้างพอใจกับผลงานจากการลงแข่งขันด้วยรถที่แทบจะไม่ได้ปรับแต่งมากเท่าไรนัก”

“ในส่วนการแข่งขันทางเรียบ Thailand Super Series กับทีม Mazda Innovation Motorsport ผมก็ถือว่าพอใจผลงาน ในช่วงเปิดฤดูกาลเราทำคะแนนนำมาตลอด แต่ในสนามสุดท้าย (ที่บุรีรัมย์, จบอันดับ 5) รถแข่งของเราเกิดมีปัญหาเล็กๆน้อยๆ ทำให้คะแนนรวมของคู่แข่งแซงขึ้นมา และผมได้แค่ตำแหน่งรองแชมป์ แต่ต้องยอมรับว่าการแข่งขันของรุ่น Super Compact ในปีนี้ค่อนข้างดุเดือด มีการเปลี่ยนแปลงกติกาจากที่เป็นการขับแบบสปรินต์เรซมาขับเหมือนกึ่งเอ็นดูรานซ์จับเวลา 1 ชั่วโมง และเพิ่มแฮนดิแคปเรื่องของเวลาเข้ามา โดยนักแข่งระดับ Class A จะโดนบวก 12 วินาทีทุกครั้งที่เข้าพิตต์ ซึ่งจะบังคับเข้าอย่างน้อย 1 ครั้งในแต่ละสนาม และหากเป็นนักแข่งที่มีคะแนนนำจะถูกบวกเพิ่มอีก 15 วินาที ทำให้เบ็ดเสร็จเราโดนบวกเวลา 27 วินาทีมาตลอดในทุกสนาม เรียกว่าค่อนข้างเยอะ หากขับนำมาพอเข้าพิตต์อันดับแทบจะร่วงลงไปอยู่ท้ายเลย แต่หากมองในภาพรวมผมสามารถแข่งจบทุกสนาม มีคะแนนติดมือ และได้ตำแหน่งรองแชมป์ก็ถือว่าโอเคแล้ว”

สำหรับปี 2020 คุณวางแผนจะลงแข่งขันในรายการใดบ้าง?

มานะ: “ในปีหน้า (การสัมภาษณ์มีขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคม 2019) เท่าที่คุยไว้คร่าวๆ จะเหมือนเดิม การแข่งขันทางเรียบยังร่วมงานกับ Mazda เหมือนเดิม ในส่วนของแรลลี่ รายการ Asia Cross Country Rally ซึ่งจะแข่งขันจากอำเภอหัวหิน-กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีการคุยกับผู้สนับสนุนไว้บ้างแล้ว แต่ที่เพิ่มเข้ามา และคอนเฟิร์มเรียบร้อยจะเป็นการแข่งขัน Super Endurance 25 ชั่วโมง ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงเดือนธันวาคม”

ในชีวิตนักแข่งรถอาชีพ การแข่งขันหรือแชมป์รายการใดที่คุณประทับใจมากที่สุด?

มานะ: “ผมลงแข่งรถมา 25 ปี ถือว่ายาวนานทีเดียว ทุกรายการแข่งขันต้องมีทั้งสมหวัง และผิดหวัง Dakar Rally ก็เช่นกัน ถือเป็น 1 ในการแข่งที่มีความประทับใจจากการที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง หากเป็นรายการในเมืองไทย Asia Cross Country ถือเป็นอีกรายการที่สนุกหรือการแข่งขันทางเรียบหลายๆ รายการ คงจะเรียกว่าแทบทุกรายการ สำหรับผมไม่มีรายการไหนตื่นเต้นมากเป็นพิเศษ อาจจะมีปีแรกๆ ที่ได้ Dakar Rally ตอนอยู่ในจุดสตาร์ท มองออกไปจะเห็นคนเป็นแสนๆ เฝ้ารอดูอยู่ตลอด 2 ข้างทาง เวลาขับผ่านตรงไหนแล้วพวกเขาเห็นชื่อของนักแข่งที่ติดอยู่ข้างรถ จะมีการตะโกนเรียกชื่อของเราเพื่อให้กำลังใจอีกด้วย”

“ส่วนแชมป์รายการไหนที่มีความหมายมากที่สุด ผมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับทุกแชมป์ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมทำทีมแข่งของตัวเอง พอแข่งชนะเราก็รู้สึกดีใจที่ได้ทำรถของตัวเองมาลงแข่ง อย่างสมัยก่อนที่มีรายการ Grand Prix Racing League จะมีรุ่น Japanese Power Challenge ตอนนั้นอยู่ดีๆ ผมตัดสินใจเอา Nissan Cefiro ที่ตั้งใจจะเก็บเอาไว้ทำรถดริฟต์ แต่พอได้คุยในกลุ่มเพื่อนๆ ทำให้นึกสนุก เปลี่ยนมาทำเป็นรถแข่งแทน ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ใช่ทีมใหญ่ ทุกคนไม่ได้เป็นช่างทำรถ แต่เป็นเพื่อนเรียนเพื่อนเล่นกันมา โดยทุกคนมีความชอบรถเหมือนกัน ทำให้ตัดสินใจทำเพื่อลงแข่งรายการนี้ ก่อนจะคว้าแชมป์ถ้วยพระราชทานมาได้สำเร็จ และล่าสุดยังจับเอา Cefiro คันนี้มาลงแข่งในรายการ Souped Up Thailand 2019 เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป้าหมายของเราคือมาขับเล่นสนุกๆ เพราะมีรถอยู่แล้ว แต่พอแข่งจบได้อันดับ 5 ก็กลายเป็นเรื่องสนุก เหมือนเรามาขับเล่นกับกลุ่มเพื่อน ไม่มีแรงกดดันหรือความเครียดอะไร ความรู้สึกแบบนี้ผมถือเป็นความประทับใจเช่นกัน”

คุณรู้สึกอย่างไรกับครั้งแรกที่ได้สัมผัสบรรยากาศของศึก Dakar Rally ในปี 2006?

มานะ: “ผมเดินทางไปแข่งขันทั้งหมด 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2006-2009 แต่ปี 2008 ผู้จัดการแข่งขันพิจารณาว่าอาจมีความไม่ปลอดภัยระหว่างเส้นทางบางช่วงทำให้ประกาศยกเลิก ก่อนที่จะย้ายไปจัดที่อาร์เจนตินา-ชิลี ในปี 2009 สำหรับผมในปีแรกที่รู้ว่าจะได้เข้าร่วม Dakar Rally โดยตอนนั้นใช้เส้นทางลิสบอน-ดาการ์ ก็ดีใจมาก ช่วงแรกที่ผมถูกส่งไปฝึกการขับขี่เพิ่มเติม ยอมรับว่าค่อนข้างยากเหมือนเราต้องเรียนรู้วิธีเอาตัวรอด ในสถานการณ์ที่รถแข่งติดทรายแบบนี้จะต้องแก้ไขอย่างไรเพื่อให้หลุดออกมา และพอช่วงเดินทางไปแข่งขันจริง เราไม่เคยเจอรายการแข่งรถที่มีผู้ชมเป็นแสนคนเรียกว่าปิดเมืองมาดูกันเลยทีเดียว และที่น่าประทับใจคือผู้คนที่นั้นจะให้ความสำคัญกับนักแข่งทุกคน หากพวกเขาเห็นคุณใส่ชุดแข่งจะเข้ามาขอถ่ายรูป ขอลายเซ็นตลอด จนทำให้ระหว่างการแข่งขันไม่สามารถแวะเข้าห้องน้ำตามปั๊มน้ำมันได้เลย เพราะจะโดนคนเข้ามารุมล้อมขอถ่ายรูปอย่างต่ำครึ่งชั่วโมง การได้เข้าร่วมแข่งขัน Dakar Rally นับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น และยิ่งใหญ่มาก”

เหตุการณ์ประทับใจของคุณจากการแข่งขัน Dakar Rally ทั้ง 3 ครั้ง?

มานะ: “ถ้าจะพูดถึงความประทับใจ หากบอกว่าทุกครั้งก็คงจะได้ อย่างปีแรกที่ไปแข่งรถของผมมีปัญหา เรื่องระบบส่งกำลัง วันนั้นเราใช้เวลาเกินที่กำหนดแต่ผมเข้ามาเช็คอินทัน ทำให้ผู้จัดการแข่งขันเข้าใจผิดตัดสิทธิ์ผม เพราะคิดว่าผมออกจากการแข่งขันไปแล้ว แต่พอวันรุ่งขึ้นพวกเขายอมให้เราขับต่อร่วมกับรถแข่งของทีมอื่นตามปกติ โดยวันนั้นผมขับทำเวลารวมขึ้นมาในอันดับ 10 กว่า ถึงจะต้องออกจากการแข่งขันสำหรับปีแรกก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากแล้ว”

“จากนั้นในปีที่ 2 ยังเป็นเส้นทางเดิมลิสบอน-ดาการ์ ผมสามารถขับจนครบทุกสเตจจบการแข่งขันในอันดับ 68 ของตารางเวลารวม โดยเราลงแข่งขันรุ่นโอเพ่นเครื่องยนต์ดีเซล ในช่วงนั้นเครื่องยนต์ดีเซลกำลังได้รับความนิยม ทำให้ทั้ง Peugeot, Volkswagen, Mini ย้ายมาเป็นเครื่องดีเซลกันหมดทุกทีม ก็ถือว่าเราทำผลงานได้น่าประทับใจ ก่อนที่จะการแข่งขันจะย้ายไปที่อาร์เจนตินา-ชิลี ในปี 2009 เหมือนผมได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันบนเส้นทางนั้นเป็นครั้งแรก โดยจบการแข่งขันอันดับ 78 ในตารางเวลารวม”

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จัดงานเลี้ยงต้อนรับ มานะ (กลาง) หลังจากผลงานที่ยอดเยี่ยมในศึก Dakar Rally 2009

 

จากประสบการณ์ในฐานะนักแข่งของคุณ Dakar Rally ถือเป็นรายการแข่งรถที่โหดที่สุดหรือไม่?

มานะ: “โหดที่สุดไหม? ผมมองว่า Dakar Rally โหดเรื่องระยะเวลา การแข่งขัน 1 สเตจจะใช้เวลาขับเกือบ 12 ชั่วโมง เส้นทางวันนี้อาจจะขับ 900 กิโลเมตร ฟังดูอาจจะเหมือนยาว แต่ความจริงเป็นการขับทางตรงตลอด แต่หากวันไหนบอกว่าระยะทางการขับแค่ 300 กิโลเมตร เตรียมตัวเจอความโหดสุดๆ ได้เลย คุณต้องขับขึ้นเนินทรายที่สูง เส้นทางคดเคี้ยวเลี้ยวไปเลี้ยวมาตลอด เส้นทางแบบนั้นต้องเตรียมอาหารหรืออุปกรณ์ยังชีพให้พร้อม เผื่อกรณีรถของเราเจออุปสรรคไปต่อไม่ไหวหรือต้องใช้เวลาแก้ไขนานหลายชั่วโมง”

“หลังจากมีประสบการณ์มาจาก 2 ปีแรก ในการแข่งขันที่อาร์เจนตินา-ชิลี มีอยู่สเตจหนึ่งรถแข่งของผมมีปัญหาที่เพลา ช่วงแรกที่ออกสตาร์ทเส้นทางเหมือนขับในซอยแคบๆ รถผมกำลังติดอยู่ แล้วถูกรถบรรทุกชนเข้าบริเวณฝั่งขวา ทำให้เพลาท้ายบิด ก่อนจะขาดในที่สุด ทำให้บางช่วงที่ต้องขับขึ้นภูเขา ผมต้องใช้วิธีถอยหลังขึ้นแทน เพื่อให้ล้อหลังช่วยส่งกำลังแทน แต่พอขับต่อไปสักพักมีฝนตกลงมาทำให้พื้นถนนที่เป็นดินแข็งๆ กลายเป็นโคลน แต่ยางรถที่เราใส่มาวิ่งได้เฉพาะทางดินทำให้ขับต่อไม่ได้ วันนั้นมีรถแข่งจอดติดอยู่ประมาณ 100 คัน ผมต้องนอนเฝ้ารถตรงนั้นทั้งคืน ท่ามกลางหิมะ และอุณหภูมิประมาณลบ 10 องศา เหตุการณ์นั้นทำให้ผมรู้จักคำว่าหนาวตายเป็นอย่างไร เพราะเราไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ไว้มากพอเผื่อติดกลางทางเป็นเวลาหลายชั่วโมง ก่อนที่ตอนเช้าทีมเซอร์วิสของผู้จัดการแข่งขันจะเข้ามาช่วยเหลือ และโชคดีที่สเตจนั้นประกาศยกเลิกด้วยเหตุผลทางสภาพอากาศ เหตุการณ์นั้นถือเป็นความโหดที่สุดเท่าที่ผมเจอในการแข่งขัน Dakar Rally ก็คงจะได้”

ในอนาคตหากมีโอกาสหรือการสนับสนุนจากบริษัทรถยนต์คุณอยากกลับไปแข่งขัน Dakar Rally อีกครั้งหรือไม่?

มานะ:“หากถามนักแข่งทุกคนที่เคยสัมผัส Dakar Rally มาแล้ว ใครๆ ก็อยากกลับไปแข่งขันอีก แน่นอนว่าผมอยากจะกลับไป แต่ต้องเข้าใจว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูง หลักๆ เป็นค่าขนส่งรถแข่ง และค่าเดินทาง โดยเฉพาะช่วงที่จัดการแข่งขันในอเมริกาใต้ เราจะต้องส่งรถปข่งไปตรวจสอบที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะส่งต่แไปที่อาร์เจนตินา ทำให้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ปีนี้การแข่งขันย้ายมาที่ซาอุดีอาระเบีย (มีการเซ็นสัญญาจัดการแข่งขันจนถึงปี 2024) ผมคิดว่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับนักแข่งทางฝั่งเอเชีย และในบ้านเรา หลังจากเปลี่ยนให้ทีมแข่งสามารถส่งรถไปที่ซาอุดีอาระเบียได้เลย ทำให้ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นผมหรือนักแข่งสัญชาติไทยคนอื่นๆ กลับไปลงแข่งขัน Dakar Rally อีกครั้ง”

หลังจากลงแข่งขันรถยนต์มานาน 25 ปี ตอนนี้อะไรคือความท้าทายสำหรับคุณเมื่อต้องมานั่งอยู่หลังพวงมาลัย?

มานะ: “มาถึงตอนนี้ต้องเรียกว่าเราอยู่ในวงการมานาน ปัจจุบันเราเจอนักแข่งรุ่นใหม่ที่เข้ามาพร้อมเทคโนโลยี ในสมัยที่เราเริ่มต้นลงแข่งรถไม่มีการเก็บ Data Log ข้อมูลนักแข่งหรือตัวรถ ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องหาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งการเลี้ยวของรถหรือเข้าโค้งนี้แล้วมีอาการเป็นอย่างไร เราต้องหาทางแก้ไข แต่ทุกวันนี้เราเจอเด็กรุ่นใหม่ที่นำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย สิ่งนี้กลายเป็นความท้าทายสำหรับผม ในการนำประสบการณ์ของตัวเอง และข้อมูลจากคอมพิวเตอร์มาช่วย เหมือนเป็นความท้าทายว่าเราต้องปรับตัวให้ทันนักแข่งรุ่นใหม่ๆ”

“เด็กรุ่นใหม่อยู่บ้านจะซ้อมด้วยการขับซีมูเลเตอร์เกมรถแข่ง Gran Turismo แตกต่างจากยุคของผมที่เวลาซ้อมคือการขับรถแข่งจริงในสนามเท่านั้น ทำให้ตอนนี้เราต้องทำเหมือนพวกเขา หากมีเวลาว่างที่บ้านต้องซ้อมขับกับซีมูเลเตอร์เพื่อฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในเรื่องของสายตา จังหวะการเลี้ยว หากไม่ฝึกซ้อมบ่อยๆ เวลาขับรถแข่งจริงจะทำสิ่งพวกนี้ได้ช้าลง หลักๆ สำหรับผมคือการฝึก Racing Line พยายามจำจุดเบรก รวมทั้งเวลาแข่งต้องมีเครื่องเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าแต่ละโค้งเราขับอย่างไร มีอะไรต้องแก้ไข จะเรียกว่าเป็นความท้าทายของนักแข่งรุ่นเก่า (หัวเราะ) ในการต้องเจอกับนักแข่งรุ่นใหม่ของยุคนี้ก็คงจะไม่ผิด”

ใครคือนักแข่งรถที่เป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจของมานะ พรศิริเชิด?

มานะ: “คงจะเป็นคุณพ่อของผม ซึ่งเป็นนักแข่งรถเหมือนกัน คุณพ่อเป็นคนสอนการขับรถแข่งให้ แต่จะเป็นแนวแบบผู้ชายๆ ไม่ได้สอนเหมือนโค้ชรุ่นใหม่ที่จะสอนแทกติกว่าโค้งแบบนี้ต้องหักเลี้ยวพวงมาลัยอย่างไร แต่คุณพ่อของผมจะพูดคำหนึ่งว่าเวลาลงแข่งให้ตั้งใจสังเกตนักขับคนอื่น คอยดูว่าเขาขับกันอย่างไร นำข้อดีของเขามาใช้ และเห็นข้อเสียอะไรก็ให้ตัดออกไป เวลาอยู่ในสนามแข่งต้องพยายามเรียนรู้คู่ต่อสู้ หากช่วงโค้งไหนเขาเลี้ยวไม่ดี เราต้องใช้จังหวะช่วงนี้เพื่อแซง และห้ามใจร้อนในการแข่งขัน”

คำถามสุดท้าย ถ้าเลือกได้รถยนต์ในฝันของคุณจะเป็นแบบใด?

มานะ: “ในฐานะนักแข่งผมก็อยากได้พวกรถแรลลี่ ครอสส์ คันทรี ความจริงก็คืออยากได้รถแข่ง Dakar Rally มาเก็บไว้ และถ้าเป็นไปได้ของเลือกรถบรรทุกที่ต้องขนอุปกรณ์สนับสนุนทีมแข่งในรายการ ถึงจะนำมาใช้งานจริงไม่ได้ แต่มันลุยได้แน่นอน จากประสบการณ์ที่เคยเห็นในการแข่งขัน ผมกำลังขับอยู่กลางทะเลทรายความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ผมโดนรถบรรทุกพวกนี้แซงหายไปเลย”

เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล

ขอบคุณข้อมูล: Toyota TCC (รูปประกอบ)

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save