“Life is a Beautiful Ride”
Mr.P’s เรื่อง/ GiGi ภาพ
ไม่ว่าวันนี้คุณจะมีจักรยานโคตรดี โคตรแพง และปั่นเก่งแค่ไหน..คุณจะไม่มีทางลืมโมเม้นแรกในการปั่นจักรยานสองล้อเป็น..มันไม่ได้เพิ่งมาเป็นที่นิยม..อย่าลืมว่าคุณถูกผลักดันให้เป็นนักปั่นตั้งแต่ยังเล็กแล้วล่ะ..โดยพ่อแม่คุณไง..สปอนเซอร์หลักอย่างเป็นทางการ
และไม่เฉพาะเด็กเล็กๆ ที่พ่อแม่ตั้งใจหาซื้อจักรยานให้ลองปั่นกันตั้งแต่5-6 ขวบ พอเป็นเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยเชื่อว่าเด็กผู้ชายหลายคนก็มักจะอยากครอบครอง BMX จักรยานขวัญใจวัยรุ่นสมัยก่อน จะปั่นในซอย ปั่นแถวบ้านหรือปั่นไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนข้างบ้านเหมือนแกงค์จักรยานในหนังเรื่องแฟนฉันก็ทำกันมาหมดแล้วจึงไม่น่าใช่เรื่องแปลกที่วันนี้คนหมู่มาก ซึ่งถือว่ามากเอาการทีเดียวเริ่มหันมาปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพปั่นออกกำลังปั่นเอาจริงเอาจังถึงขั้นลงแข่งจนกลายเป็นกระแสนิยมที่ถูกพูดถึง และได้รับความสนใจอย่างมากในทุกวันนี้
“เร็วกว่าเดิน…เพลินกว่าวิ่ง” วลีเด็ดนักปั่นที่คนไม่เคยปั่น ไม่มีทางเข้าใจ
วันนี้ จักรยาน กำลังเป็นพาหนะยอดนิยมของคนไทย ทำไมใครๆ จึงหันมาปั่นจักรยานหลายกระแสหลากเหตุผลจากหลากหลายคนที่หันมาปั่นจักรยานมีทั้งเทรนด์รักษ์โลก ห่วงสุขภาพ น้ำมันแพง รถติด เพื่อนชวนปั่น ตามแฟชั่น ปั่นไปเที่ยว กระแสสังคม เซเลบริตี้ หรือดาราคนดังหันมาปั่นกันเยอะและมีการประชาสัมพันธ์ออกสื่อต่างๆ มากมาย แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามการปั่นอย่างปลอดภัยปั่นให้ถูกที่ก็ถือเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ควรจะใส่ใจ ซึ่งอย่างที่เกริ่นว่าจักรยานไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่มันมีมาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ผู้เขียนยังไม่เกิดด้วยซ้ำมีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ตามสมัย เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งด้วยความเร็วที่มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านความเร็ว ด้วยกลไกง่ายๆ บวกกับการใช้แรงของมนุษย์เองเป็นตัวขับเคลื่อน จึงทำให้เป็นที่นิยมได้อย่างง่ายดายและจักรยานคันแรกก็ปั่นเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และแพร่หลายไปทั่วทุกบ้านทุกครัวเรือนเชื่อว่าอย่างน้อยหนึ่งคนต้องมีจักรยาน เป็นของตัวเอง 1 คัน จนถือได้ว่าเป็นพาหนะสามัญประจำบ้านของคนไทยก็ว่าได้
แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังเคลือบแคลงใจว่าใยจักรยานถึงได้มาบูมนักหนาจนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองแห่งการปั่นในช่วงนี้ ออฟโรดก็ออกตามหาความจริงด้วยการลงสนามปั่นที่เต็มไปด้วยนักปั่นจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อมาปั่นๆๆๆ ด้วยหลากหลายเหตุผลที่ต่างกันออกไปในแต่ละคน ซึ่งแต่ละเหตุผลต่างล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกาย และสมองของคนเราทั้งสิ้น ลองมาดูประโยชน์จากการปั่นจักรยานที่ทางออฟโรดได้สรุปมาจากความเห็นของผู้ปั่นจริงๆ กันดูว่าจะเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ที่ยังไม่เคยปั่น คิดจะเริ่มแต่ยังไม่ได้เริ่ม หันมาหยิบจักรยานแล้วออกมาปั่นกันได้บ้างหรือไม่
ประโยชน์ของการปั่นจักรยาน
- เลือดเลี้ยงสมองมากขึ้น การปั่นจักรยานจะทำให้เลือดสูบฉีดมากขึ้นมีการหมุนเวียนในระบบร่างกายมากขึ้นและเลือดจะไปเลี้ยงสมองมากขึ้นทำให้สมองปลอดโปร่ง
- พบแรงบันดาลใจใหม่ๆ การที่เราปั่นจักรยานบนถนนเส้นเดิมที่ปกติเราเคยแต่นั่งอยู่บนรถ จะทำให้เราสามารถเห็นภาพใหม่ๆ เหมือนเราไม่เคยผ่านเส้นทางนี้มาก่อน ทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ
- ทำให้อารมณ์ดีขึ้น การปั่นจักรยานจะทำให้เราอารมณ์ดีอย่างน่าประหลาดใจสิ่งเหล่านี้สามารถลดแรงกดดันเมื่อเราคิดงานไม่ออกและเพิ่มขีดจำกัดของจินตนาการสร้างสรรค์ชิ้นงานให้ไหลลื่นได้ด้วย
- ได้มิตรภาพที่ดีเพิ่มขึ้น การทักทาย กล่าวสวัสดี ขณะที่ปั่นผ่านจักรยานคันอื่นๆ เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเสพติดการปั่นจักรยานไม่เชื่อก็ต้องเชื่อถึงแม้จะไม่รู้จักกัน แต่เมื่อปั่นผ่านกันนิสัยของคนปั่นจักรยานเกือบทุกคนจะหันมาสวัสดีกันหรือขณะที่หยุดพักแล้วได้พบปะมีโอกาสได้พูดคุยกันคุณจะได้แลกเปลี่ยนทัศนคติกับเพื่อนใหม่เหล่านั้น
ลองมาฟังเหตุผลจากนักปั่นตัวจริงกันดูบ้าง
พรึก หอมหยก หรือ เซฟ (กลุ่มนักปั่นกรุงเทพฯ)
– ปั่นจักรยานมา 3 ปี
– ชอบปั่นชิลๆ ในช่วงกลางคืน
– การปั่นจักรยานทำให้ได้เพื่อน ได้สุขภาพ และได้ชนะใจตัวเอง
เมธาพันธ์ พลอธิปภูวนันท์ หรือ เค้ก (กลุ่มนักปั่นกรุงเทพฯ)
– ปั่นมาได้เกือบ 1 ปี
– เน้นปั่นชิลๆ จากบ้านแถวงามวงศ์วานเข้าไปในเมือง
– เน้นปั่นเพื่อสุขภาพ เพราะอายุเริ่มมากขึ้น และอยากเอาชนะใจตัวเองในเรื่องการออกกำลังกาย
ธนเดช ประดิษฐ์ลาภ หรือ อาร์ต (กลุ่มนักปั่นกรุงเทพฯ)
– ปั่นจักรยานมาแล้ว 3 ปี
– อยากปั่นชิคๆ เพื่อไปหาของกินอร่อยๆ
– แต่เมื่อเข้ามาปั่นแล้วก็ทำให้ได้เพื่อน ได้สุขภาพที่ดีขึ้น
จำนงค์ จันทร์ศรี หรือ หมอ (กลุ่มนักปั่นกรุงเทพฯ)
– ปั่นจักรยานมา 3 ปี และปั่นทางไกลกว่า 200 กิโล มาแล้วหลายทริป
– ชอบปั่นเพราะได้ท่องเที่ยว ชอบปั่นออกทริปต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ
– การปั่นจักรยานทำให้ได้เห็นและสัมผัสกับธรรมชาติรอบตัวชัดเจนขึ้น ได้เพื่อน ได้ประสบการณ์
ปิยะพงษ์ องค์สันติภาพ หรือ โน (กลุ่มนักปั่นภูเก็ต)
– ปั่นจักรยานมาแล้ว 1 ปี 3 เดือน
– อยากปั่นเพื่อออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพ
– ปั่นจักรยานช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีสมาธิ ได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ ชื่นชมธรรมชาติสองข้างทาง
สุรศักดิ์ ทวีสมาน หรือ นิกกี้ (กลุ่มนักปั่นภูเก็ต)
– ปั่นจักรยาน มาแล้ว 10 ปี
– หันมาปั่นครั้งแรก ก็เพราะประสพอุบัติเหตุ รถมอเตอร์ไซค์ชน โดยก่อนหน้านี้แข่งวิ่งอยู่เป็นประจำ แต่คุณหมอสั่งห้ามไม่ให้วิ่ง จึงหันมาปั่นจักรยานแทน เริ่มแรกปั่นแล้วรู้สึกสนุก ใช้เพียงจักรยานเสือภูเขา คันละไม่กี่พันบาท และพัฒนาขึ้นมาเป็นจักรยานเพื่อลงแข่งขันเริ่มพัฒนาความแข็งแรงขึ้น ก็เริ่มออกเดินทางแข่งต่างจังหวัด จากในภูเก็ต เริ่มออกไปทุกที่ที่มีงานแข่งจักรยาน
– การปั่นจักรยานทำให้ได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ ได้ออกเที่ยวต่างจังหวัด ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ มีความสุข ได้รู้จักผู้คนในวงการจักรยานมากขึ้น ได้เปิดรับทัศนคติที่ดีจากกลุ่มเพื่อนนักปั่น ได้สุขภาพที่ดีขึ้น และที่สำคัญรู้จักแพ้ ชนะ และอภัย
มณฑล ปะจันทบุตร หรือ เล็ก (กลุ่มนักปั่นภูเก็ต)
– ปั่นมา 1ปี 4เดือน
– อยากปั่นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
– ปั่นแล้วรู้สึกหัวใจแข็งแรง ไม่เหนื่อยง่าย ได้เพื่อน ได้สัมพันธภาพที่ดี ได้ถ่ายรูปเก็บภาพความทรงจำสองข้างทาง
อำนาจ ยศะวสุวิสุทธิ์ หรือ อ๊อฟ (กลุ่มนักปั่นภูเก็ต)
– ปั่นจักรยานมา 1 ปี
– เริ่มแรกปั่นเพราะอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆ และเพื่อสมรรถนะที่แข็งแรงของร่างกาย
– การปั่นจักรยานมีแต่ข้อดี อย่างแรกคือได้ เพื่อน จากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็กลายมาเป็นเพื่อนกัน คอยช่วยเหลือกันเสมอ และได้รู้จักอาจารย์แดนนี่ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่คอยสอนเทคนิคในการปั่น
นอกจากประโยชน์ของการปั่นที่มีแต่ข้อดี และดีมากอย่างที่ได้ทราบกันแล้ว สิ่งต่อมาที่อยากจะแนะนำสำหรับชาวกรุงที่รักในการปั่นแต่กลัวเหลือเกินต่ออันตรายบนท้องถนนที่จอแจ และวุ่นวายมากของกรุงเทพฯ ดังที่ได้เห็นข่าวรถยนต์ชนจักรยาน บ้างบาดเจ็บ บ้างเสียชีวิต ออฟโรดจึงอยากที่จะแนะนำสถานที่ปั่นจักรยานที่ปลอดภัยไร้กังวลให้ลองไปทดสอบฝีมือกันในสนามจริงดูบ้าง
“เส้นทางจักรยาน บึงมะขามเทศ คลองสามวา”
ถือเป็นอีกหนึ่งเส้นทางจักรยานที่น่าสนใจ โดยบึงมะขามเทศ และบึงสะแกงามสามเดือนนี้ เดิมเป็นพื้นที่ในโครงการแก้มลิง เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ ตามกำหนดขององการอนามัยโลกที่เมืองหลวงใหญ่ๆ จำเป็นต้องมีพื้นที่สีเขียวสำหรับคนเมือง และที่พิเศษสำหรับนักปั่นจักรยานที่ปลอดภัย เส้นทางของนักปั่นแห่งนี้เป็นเส้นทางยาว 4.7 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง ล้อมรอบบึงใหญ่สองบึงด้วยกัน
การเดินทางไปยังสนามปั่นแห่งนี้ก็ไม่ยากหากเริ่มต้นจาก กม.9 แฟชั่นไอส์แลนด์ ถนนรามอินทรา มุ่งหน้ามีนบุรี ถึง 4 แยกมีนบุรีเลี้ยวซ้าย ผ่านบิ๊กซี(ซ้ายมือ) ถึง 3 แยกตรงไป ข้ามสะพานหน้าโลตัส(ขวามือ) ชิดซ้าย ผ่านปั๊มปตท.(ซ้ายมือ) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนนิมิตรใหม่ ประมาณ 100 เมตร แล้วชิดขวากลับรถ ประมาณ 50 เมตรชิดซ้ายเข้าถนนประชาร่วมใจ ตรงไปจนถึงซอยประชาร่วมใจ 47 (ซ้ายมือ) หน้าซอยมีจักรยานคันใหญ่ตั้งเด่นเห็นได้ชัด ที่นี่เหมาะกับเสือภูเขามากกว่า เพราะถนนขรุขระกว่าสนามเขียวสุวรรณภูมิเสีย มีเนินให้เสือภูเขากับ BMX ได้เพลินไปกับเนินกระโดด ที่สำคัญสำหรับมือใหม่ยังไม่ได้ซื้อจักรยานเป็นของตัวเอง ที่นี่เขาก็มีจักรยานปันปั่นมาให้ยืมปั่นด้วย แต่ก็ต้องระวังกันนิดหน่อย เพราะเส้นทางรอบบึงนี้ไม่ใช่ทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ แต่อนุญาตให้ปั่นทำความเร็วได้ ก็ต้องใช้วิจารณญานเอาเองว่าช่วงไหนควรเร็ว ช่วงไหนควรช้า เพราะว่ามีเด็กๆ เข้ามาปั่นเล่นกับครอบครัวค่อนข้างเยอะ
เส้นทางปั่นจักรยานสีเขียว รอบสนามบินสุวรรณภูมิ
การท่าอากาศยานไทยสร้างถนนเส้นนี้ขึ้นเพื่อนักปั่นโดยเฉพาะ ระยะทาง 23.5 กม. รอบสนามบิน โดยต้องการให้คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพ และรักการปั่นจักรยาน รักษ์โลกกันมากขึ้น สนามนี้สามารถรองรับนักปั่นจำนวน 300 – 500 คน เปิดให้เข้าไปปั่นกันตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น
การเดินทางก็ไม่ยากเย็น หากมาทางมอเตอร์เวย์พระรามเก้า เมื่อถึงป้ายเลี้ยวเข้า Airport ก็ชิดซ้ายขึ้นสะพานวนเข้ามาทาง Airport ตามปกติ หลังจากข้ามสะพานลอยตีโค้งข้ามมอเตอร์เวย์มาสักครู่เดียว ให้ลงทางลงแรกไม่ต้องตรงเข้าไปที่ตัวสนามบิน พอลงมาแล้วให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุวรรณภูมิ 2 ขับต่อมาเรื่อยๆ สังเกตจะมี Bus terminal อยู่ด้านซ้าย ตรงสี่แยกนั้นให้เลี้ยวขวาเข้าถนนสุวรรณภูมิ3 เมื่อเลี้ยวแล้วจะผ่านปั๊มน้ำมันปตท. อยู่ทางซ้าย จากนั้นตรงมาอีกหลายกิโลเมตรอยู่ (ช่วงนี้ด้านขวาจะเห็น runway มีเครื่องบินบินขึ้นลงอยู่) กระทั่งเจอสะพานโค้งซ้ายข้ามคูน้ำที่จะมุ่งหน้าไปบางนา-ตราด ก็ไม่ต้องขึ้นสะพาน ให้ชิดซ้ายลอดใต้สะพานก็จะเห็นรถจำนวนมากจอดอยู่ ทางเข้าไปเลนจักรยานมีตรงนี้ที่เดียวเท่านั้น สังเกตง่ายๆ ว่ามีตึกบางกอกแอร์เวย์อยู่ฝั่งตรงข้าม
สนามสีเขียวนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มนักปั่นอย่างมาก ไม่เฉพาะชาวไทย แต่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในบ้านเราก็ยังนิยมมาปั่นกันด้วย เนื่องจากเป็นสนามที่สร้างขึ้นเพื่อการปั่นโดยเฉพาะ มีความปลอดภัย เพราะไม่อาจปั่นสวนทางได้ เป็นเส้นทางวันเวย์ พื้นถนนเป็นสีเขียว ไม่ลื่นเพราะฉาบด้วยยางพารา เรียกได้ว่าเอาไว้ออกกำลังกาย และฝึกมือก่อนสำหรับนักปั่นที่อยากจะลงสนามแข่งขันจริงจังได้อย่างดี ซึ่งสามเดือนต่อจากนี้เส้นทางสีเขียวนี้ได้ปิดปรับปรุง ก่อนที่จะเริ่มเปิดให้บริการแก่นักปั่นอีกครั้ง ด้วยถนนที่ดีขึ้น พร้อมกับไฟส่องถนนเพื่อให้ความสว่างในช่วงเวลากลางคืน อดใจรอกันอีกนิด เพราะการท่าอากาศยานเขาต้องการพัฒนาถนนเส้นนี้ให้ลอดภัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่มมากขึ้นจริงๆ ครับ
กฎเหล็ก 12 ข้อในการขี่จักรยานเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน จากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
1. เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร คนที่ได้เคยสอบเพื่อขออนุญาตมีใบขับขี่รถยนต์ควรจะได้รับรู้กฎจราจรมาแล้ว หากยังไม่ได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบจริงจังก็ไปหามาอ่านได้ง่ายๆ จากอินเตอร์เน็ต จักรยานอยู่ใต้กฎหมายที่กำกับการใช้ถนนให้เป็นระเบียบฉบับเดียวกับยานพาหนะอื่น มีทั้งกฎทั่วไป เช่น การปฏิบัติตามป้ายและไฟสัญญาณจราจรอย่างเคร่งครัด ดังนั้นคนที่ใช้จักรยานก็ต้องหยุดเมื่อมีสัญญาณไฟแดงเช่นเดียวกับพาหนะอื่นๆ และจอดหยุดอยู่หลังเส้นขาวหนาที่ทาไว้บนพื้นด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่ข้ามถนน และให้ปลอดภัยจากรถที่แล่นในทิศทางที่ตัดกัน และกฎเฉพาะสำหรับจักรยาน ซึ่งส่วนหนึ่งจะกล่าวในข้อต่อๆ ไป
2. ขี่ตามทิศทางจราจรร่วมไปกับพาหนะอื่นๆยกเว้นแต่เป็นถนนที่มีการอนุญาตให้ขี่จักรยานย้อนทิศทางจราจร หรือที่เรียกกันว่า “ย้อนศร” ได้ เช่น ถนนที่ให้เดินรถทางเดียวบางสายอนุญาตให้ขี่จักรยาน (หรืออาจจะจักรยานยนต์ด้วย) ย้อนทิศทางได้ ในกรณีนี้ก็ควรขี่สวนไปชิดขอบถนนทางด้านคนขับรถ (ในไทยจะเป็นด้านซ้ายเพราะคนขับรถจะนั่งอยู่ด้านขวา) เพื่อให้คนขับรถเห็นชัดๆ กะระยะผ่านเมื่อสวนกันได้ดี
3. มีไฟส่องสว่างด้านหน้าและหลังเมื่อขี่ยามค่ำคืนคนขับรถจะมองเห็นจักรยานและคนขี่ได้ยากในเวลากลางคืน จึงต้องมีไฟหรือแถบสะท้อนแสง พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่ารถจักรยานต้องติดไฟส่องสว่างสีขาวด้านหน้า และไฟสีแดงหรือกระจกสะท้อนแสงสีแดงด้านหลัง นอกจากนั้นการสวมใส่สายคาดหรือเสื้อกั๊กที่มีแถบสะท้อนแสงเพิ่มเติมเข้าไปก็ช่วยได้มากในการทำให้คนขับรถเห็นผู้ขี่จักรยานได้ชัดจากระยะไกลในยามค่ำคืน
4. มีอุปกรณ์ให้สัญญาณที่เหมาะสม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ยังระบุด้วยว่า รถจักรยานต้องมีกระดิ่งเพื่อให้สัญญาณบอกว่าจักรยานกำลังเคลื่อนเข้าไปในทิศทางนั้น อาจใช้แตรก็ได้ แต่ควรเลือกแตรที่เหมาะสม ไม่ส่งเสียงดังเกินไป (อย่าใช้แตรรถยนต์หรือรถบรรทุก) จนทำให้คนตกใจหรือก่อความรำคาญ เป็น “มลพิษทางเสียง” บางครั้งการร้องบอกเสริมการใช้กระดิ่ง เช่น “ขอทางด้วยครับ” “จะแซงไปทางขวานะครับ” ก็ช่วยได้มาก เมื่อมีเสียงดังมากจากถนน และเมื่อได้ทางหรือผ่านแล้วก็ควรแสดงการขอบคุณ อาจจะด้วยวาจาหรือการก้มหัวให้ จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีแก่ผู้ที่ให้ทาง โอกาสหลังเขาก็จะยินดีให้ทางอีก
5. ให้สิทธิในการใช้ทางเท้าแก่คนเดินเท้า กฎจราจรไทยห้ามขี่จักรยานบนทางเท้า แต่ตำรวจมักอนุโลมให้ เนื่องจากรถจักรยานเป็นพาหนะขนาดเล็กและมีความเร็วไม่มาก อย่างไรก็ตาม ปกติเราควรขี่บนถนน หลีกเลี่ยงการขี่บนทางเท้า นอกจากมีการทาสีตีเส้นหรือแบ่งพื้นที่ให้จักรยานใช้บนทางเท้าอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะในกรณีใด เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษและใช้ความเร็วต่ำเมื่อขึ้นไปขี่บนทางเท้า หากตกอยู่ในสภาพที่หลีกกันไม่ได้ก็ต้องให้คนเดินเท้าได้สิทธิใช้เดินไปก่อนเสมอ ในการข้ามถนนตรงทางข้ามเช่นกัน และในกรณีที่มีคนเดินเท้าหนาแน่น หากเอาจักรยานขึ้นมาบนทางเท้าหรือทางข้ามก็ควรลงจากจักรยานและจูงจักรยานเดินไป
6. ระวังรถที่จอดอยู่ สังเกตและระมัดระวังรถที่จอดอยู่ให้ดี คนที่นั่งอยู่ในรถอาจเปิดประตูออกมาหรือคนขับอาจจะขับรถพุ่งออกมาอย่างฉับพลัน ถ้าเป็นไปได้ ควรขี่แซงหรือขนานไปกับแถวรถที่จอดอยู่ห่างออกมาอย่างน้อย 1 เมตร
7. อย่าเกาะรถที่กำลังแล่นอยู่ข้างหน้า การใช้มือเกาะรถที่แล่นอย่างหน้าให้ช่วยลากเรากับจักรยานไปด้วยเพื่อผ่อนแรง เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ทั้งผิดกฎจราจร อย่าทำเด็ดขาด
8. อย่าบรรทุกน้ำหนักมากเกินไป เราต้องตระหนักว่า การใช้จักรยานบรรทุกของหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นการขี่คนเดียวขนของ หรือการที่พ่อแม่หรือพี่ให้ลูกหรือน้องซ้อนท้ายหรือซ้อนหน้า เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย หากจะทำก็ต้องแน่ใจว่ามีทักษะในการขี่จักรยานเพียงพอและใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเป็นสองเท่าสามเท่าของการขี่คนเดียว ความจริง พ.ร.บ.การจราจรทางบกได้ห้ามการขี่เกินหนึ่งคนไว้ด้วย
9. ตรวจเบรกเสมอ สิ่งที่ควรทำทุกครั้งก่อนขี่จักรยานออกมาตามถนนคือ การตรวจลมยางว่ามีเพียงพอ และการตรวจเบรกว่าจะใช้การได้ดีทั้งเบรกหน้าและเบรกหลัง โดยเฉพาะเมื่อเส้นทางที่ขี่ไม่ราบเรียบ มีหลุมบ่อ เนินหรือสะพาน และใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษเมื่อถนนเปียก เพราะถนนจะลื่นมากขึ้น เบรกได้ยากขึ้น รถจักรยานอาจปัดหรือลื่นไถลได้ ควรใช้เบรกทั้งสองควบคู่กันไปเสมอ
10. ระมัดระวังเมื่อมาถึงทางแยก ไม่ว่าจะเป็นจุดที่ซอยหรือถนนรองมาพบถนนใหญ่ สามแยก สี่แยก หรือห้าแยก (ไม่เคยเห็นมากกว่าห้าแยก) ให้ระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะมีรถมาก การจราจรจะสับสนวุ่นวายหากจัดช่องจราจรไม่ดีหรือคนขับไร้วินัย เห็นแก่ตัว ไม่เอื้ออาทร ไม่เคารพระบบจราจร ทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการชนกันสูงขึ้นมาก ขี่จักรยานให้อยู่ในช่องทางจราจรที่ถูกต้องสำหรับการแล่นตรงไปหรือการเลี้ยว ใช้สัญญาณมือช่วยบอกทิศทางของเราให้ชัดเจนขึ้น มองรอบด้านให้ดีก่อนเปลี่ยนทิศทางหรือย้ายช่องจราจร หากไม่มั่นใจและพิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูง ลงจากจักรยานและเข็นข้ามในแบบเดียวกับคนเดินเท้าปลอดภัยดีกว่า
11. ใช้สัญญาณมือ เรียนรู้สัญญาณมือในการบอกให้ผู้ใช้ถนนอื่นรู้ว่าเราจะเคลื่อนที่ไปอย่างไร และฝึกทักษะให้สามารถขี่จักรยานโดยใช้มือเดียวจับแฮนด์และอีกมือ-แขนให้สัญญาณได้ถูกต้องอย่างคล่องแคล่ว โดยที่รถจักรยานทรงตัวได้ดี จากนั้นก็ใช้สัญญาณมือให้เป็นนิสัย ไม่ว่าการจราจรจะเป็นเช่นไร รวมทั้งเมื่อเราขี่จักรยานอยู่คันเดียว ไม่มีรถอื่นก็ตาม
12. อย่าขี่ฉวัดเฉวียน การขี่ออกซ้ายออกขวาอย่างฉับพลันหรือเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหันเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการชนเป็นอันตรายตามธรรมดา เราควรขี่ใกล้ขอบถนน (แต่อย่าชิดมากเกินไป ถ้าทำได้ หากมาสักหนึ่งเมตรกำลังเหมาะ) แต่ถ้ามีรถจอดเป็นระยะ ไม่ห่างกันนัก ก็ควรขี่เป็นเส้นตรงในอีกช่องทางเดินรถนอกแนวรถที่จอดออกมาจนหมดรถที่จอดจึงจะขี่เข้าไปอยู่ใกล้ขอบถนนอีก การขี่วกเข้าหาขอบถนนและขี่วกออกไปอีกช่องทางเดินรถเมื่อไปถึงรถที่จอดขวางครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งมีคำที่ผมใช้เรียกว่า “ทำตัวเป็นนินจา” ผลุบๆโผล่ๆ นั้นอันตรายมาก คนที่ขับรถตามมาอาจไม่เห็นหรือเห็นไม่ทันที่จะหักหลีก การแซงรถที่จอดควรให้สัญญาณมือและเริ่มเปลี่ยนทิศทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป(จนเกือบใกล้จะเป็นการขี่แนวตรงเบนๆ มากที่สุด) ให้รถที่ตามมาเห็นแต่ไกล
คำบรรยายประกอบภาพ
HA.01 – การปั่นได้มิตรภาพที่ดีเพิ่มมากขึ้น
HA.02 – การปั่นให้ความแข็งแรงของร่างกาย
HA.03 – การปั่นจักรยานระยะไกลควรมีน้ำดื่มติดตัวไว้แบบนี้
HA.04 – ปั่นไป คุยไป ได้ทั้งสุขภาพ และได้แลกเปลี่ยนทัศนคติ
HA.05 – ปั่นเพื่อ…ความสุข
HA.06 – ยิ่งปั่น ยิ่งสวย
HA.07 – พรึก หอมหยก หรือ เซฟ (กลุ่มนักปั่นกรุงเทพฯ)
HA.08 – เมธาพันธ์ พลอธิปภูวนันท์ หรือ เค้ก (กลุ่มนักปั่นกรุงเทพฯ)
HA.09 – ธนเดช ประดิษฐ์ลาภ หรือ อาร์ต (กลุ่มนักปั่นกรุงเทพฯ)
HA.10 – จำนงค์ จันทร์ศรี หรือ หมอ (กลุ่มนักปั่นกรุงเทพฯ) และครอบครัว
HA.11 – ปิยะพงษ์ องค์สันติภาพ หรือ โน (กลุ่มนักปั่นภูเก็ต)
HA.12 – มณฑล ปะจันทบุตร หรือ เล็ก (กลุ่มนักปั่นภูเก็ต)
HA.13 – สุรศักดิ์ ทวีสมาน หรือ นิกกี้ (กลุ่มนักปั่นภูเก็ต)
HA.14 – อำนาจ ยศะวสุวิสุทธิ์ หรือ อ๊อฟ (กลุ่มนักปั่นภูเก็ต)
HA.15 – บรรยากาศรอบสนามปั่นที่บึงมะขามเทศ
HA.16 – เส้นทางปั่นในสนามรอบบึงมะขามเทศ
HA. 17 – หนุ่มน้อยในเส้นทางใหญ่
HA.18 – หนูน้อยนักปั่นกับจักรยานสี่ล้อ
HA.19- หากอากาศร้อน…ควรมีปลอกแขน และผ้าปิดคอและหน้า
HA.20 – เส้นทางสนามเขียวสุวรรณภูมิ ระยะทาง 23.5 กม.
HA.21 – สาวนักปั่น พร้อมอุปกรณ์ และแอคเซสซอรี่ในการปั่นที่เต็มรูปแบบ
HA.22 – สาวนักปั่นคนสวย…ยิ่งปั่นยิ่งหหุ่นดี
HA.23 – คู่รักนักปั่น ที่ชวนกันมาออกกำลังเพื่อสุขภาพ
HA.24 – ครอบครัวรักการปั่น
HA.25 – จักรยานแบบแปลกๆ ก็มีให้เราเห็นในสนามเขียว
HA.26 – จักรยานแบบไหนก็เข้ามาปั่นที่สนามเขียวได้
HA.27 – ชวนกันมาปั่นยกแกงค์
HA. 28 – ชาวต่างชาติก็นิยมเข้ามาปั่นที่สนามเขียว
HA. 28 – เหนื่อยก็พัก..แต่ต้องพักให้ถูกจุด อย่างกีดขวางนักปั่นคนอื่นๆ
HA.29 – แหวนแหวน..นางฟ้านักปั่น
HA.30 – เส้นทางการปั่นรอบสนามเขียว
HA.31 – อุปกรณ์การปั่นที่สมบูรณ์ เพื่อความปลอดภัย และสบายตัวขณะปั่น
HA.32 – ใส่เสื้อคู่มาปั่นก็น่ารักไปอีกแบบ
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.