Isuzu คอนเฟิร์มรถกระบะไฟฟ้า D-Max BEV เปิดตัวขายปี 2025
เลือกประเทศไทยฐานการผลิต-ส่งออกทั่วโลก
ผู้บริหารระดับสูง อีซูซุ มอเตอร์ส และตรีเพชรอีซูซุเซลส์ คอนเฟิร์มเตรียมใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต รถกระบะไฟฟ้า (Isuzu Pickup Truck BEV) โดยมีกำหนดเปิดตัวภายในปี 2025 เตรียมประเดิมขายในทวีปยุโรป ก่อนจะทำตลาดในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย
ในงานแถลงข่าวเปิดตัว New Isuzu D-Max ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ชินซูเกะ มินามิ ประธานกรรมการบริหารอีซูซุ มอเตอร์ส (ประเทศญี่ปุ่น) เปิดเผยถึงแผนพัฒนารถกระบะพลังงานไฟฟ้า ระหว่างขึ้นกล่าวบนเวทีว่า “อีซูซุ จะมุ่งหน้าพัฒนาสู่สังคมของ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” อย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคต เรามีแผนการที่จะผลิตรถปิกอัพไฟฟ้า BEV ในประเทศไทยด้วย และจะเริ่มแนะนำที่ตลาดยุโรปก่อน แล้วจะพิจารณาแนะนำในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ต่อไป โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ”
นับเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารระดับสูง Isuzu Motors ยืนยันแผนพัฒนารถกระบะพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ หลังจากเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Nikkei สำนักข่าวชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น รายงานว่าพวกเขากำลังพัฒนารถกระบะไฟฟ้าที่ใช้พื้นฐานจาก Isuzu D-Max เจเนอเรชั่นปัจจุบัน โดยมีกำหนดเปิดตัวขายในปี 2025
ในเนื้อหาของข่าวยังระบุว่าปัจจุบัน Isuzu Motors มียอดขายรถกระบะขนาด 1 ตัน คิดเป็นสัดส่วนราว 50 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายรวมทั่วโลกของพวกเขา ทำให้ต้องเร่งแผนพัฒนา All-New D-Max BEV เพื่อต้านกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วง 3-4 ปีหลัง โดยเฉพาะแถบอาเซียนที่เป็นตลาดสำคัญของ Isuzu
ประเทศไทย-ฐานการผลิต Isuzu D-Max BEV
ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลส์ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแผนรถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรกของ Isuzu เพิ่มเติมระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจบงานแถลงข่าวเปิดตัว New Isuzu D-Max “รถกระบะไฟฟ้า BEV รุ่นแรกของอีซูซุ จะเริ่มต้นผลิตในปี 2025 ตามที่มีสื่อรายงานออกมาก่อนหน้านี้ เราอยู่ในระหว่างพัฒนารถกระบะไฟฟ้า BEV ซึ่งจะเปิดตัวในตลาดยุโรปเป็นแห่งแรก เนื่องจากกลุ่มประเทศยุโรปมีความเข้มงวดด้านกฎเกณฑ์เกี่ยวกับปล่อยมลพิเศษ และข้อกำหนดต่างๆ ทำให้ Isuzu เลือกจะเปิดตัวขายที่ยุโรปก่อน”
“จากนั้นรถกระบะไฟฟ้า BEV ของ Isuzu จะเริ่มทำตลาดในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากเราต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เช่น ลูกค้าในแต่ละประเทศต้องการใช้งานรถกระบะไฟฟ้าหรือไม่ ระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เราต้องนำปัจจัยทั้งหมดมาพิจารณา เพื่อกำหนดลำดับที่จะออกจำหน่ายต่อไป”
การให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารตรีเพชรอีซูซุเซลส์ สอดคล้องกับรายงานข่าวของ Nikkei ที่ระบุว่า Isuzu Motors มีแผนจะส่งออก D-Max BEV ที่ผลิตจากประเทศไทยไปเปิดตัวขายที่นอร์เวย์ เป็นประเทศแรกในปี 2025 จากการที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มีความเข้มงวดในข้อกำหนดการปล่อยมลพิษของยานพาหนะใหม่ ก่อนจะเริ่มขายในประเทศอื่นของทวีปยุโรป รวมทั้งแถบตะวันออกกลางต่อไป
นอกจากนี้ ฮาตะ ยืนยันถึงการที่ Isuzu Motors จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งออกขายทั่วโลก “ถูกต้องครับ ฐานการผลิตรถปิกอัพพลังงานไฟฟ้าของอีซูซุ จะอยู่ในประเทศไทยแน่นอน และในส่วนของทางเลือกเครื่องยนต์อื่นๆ เช่น ไฮบริด กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ”
ขณะเดียวกัน ฮาตะ แสดงความเห็นถึงการขึ้นกล่าวของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน บนเวทีสัมนาด้านเศรษฐกิจ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถึงแผนที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาปในช่วงสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า พร้อมย้ำถึงการให้ความสำคัญกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
“เรารู้สึกยินดีกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาป และพร้อมจะสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน การไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศไทยเช่นเดียวกับทุกประเทศในโลก ไม่ว่ารถยนต์สันดาป, รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์พลังงานทางเลือกอื่นๆ จะมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของรัฐบาลได้เช่นกัน”
“ประเด็นสำคัญที่ผมอยากฝากให้รัฐบาลไทยพิจารณาคือการรักษาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในประเทศไทย รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในส่วนนี้ด้วย เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการจ้างงานในประเทศ, การส่งออก และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราจะผลิตรถอะไรควรคำนึงถึงว่ามีซัพพลายเชนอยู่ในประเทศไทยหรือไม่”
ตลาดรถยนต์เมืองไทยยังไม่ฟื้น-คาดยอดขายรถทั้งปี 8.2 แสนคัน
ในฐานะผู้นำตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ฮาตะ แสดงความเห็นถึงภาพรวมของตลาดรถยนต์ประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 โดยยอมรับว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากหลายด้าน ทำให้มีการประเมินว่ายอดขายรถยนต์ตลอดทั้งปีของประเทศไทยจะอยู่ในระดับ 820,000 คัน และรถกระบะจะมีสัดส่วนยอดขายราว 36 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับปี 2022
“ในช่วง 8 เดือนแรกของปี (มกราคม-สิงหาคม 2023) ยอดขายรถกระบะทุกแบรนด์อยู่ที่ 189,555 คัน ลดลง 26.8 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดย Isuzu D-Max มียอดขาย 83,654 คัน เป็นอันดับ 1 ของเซกเมนต์” ผู้บริหารตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ให้ข้อมูล “ถึงตลาดรถกระบะจะหดตัวมากกว่าตลาดรถยนต์รวมของประเทศไทย ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่ารถกระบะลูกค้าที่ซื้อส่วนใหญ่จะใช้เพื่อทำธุรกิจ โดยช่วงที่ผ่านมาเกิดปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบกับยอดขายรถกระบะทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้าที่ซื้อรถกระบะเพื่อทำธุรกิจมีรายได้ลดลง”
“การปล่อยสินเชื่อของบริษัทไฟแนนซ์ที่เพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณามากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้รถกระบะส่วนใหญ่จะซื้อรถเงินผ่อน และต้องยื่นกู้ผ่านไฟแนนซ์ เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวบริษัทไฟแนนซ์เผชิญผลกระทบเช่นกัน ทำให้รถที่ผ่านการอนุมัติจากไฟแนนซ์มีจำนวนน้อยลง ถึงความต้องการของลูกค้าจะมีอยู่ แต่ถ้าไฟแนนซ์ไม่ผ่าน ลูกค้าก็ไม่สามารถซื้อได้ เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกับตลาดรถยนต์โดยรวมแล้ว รถกระบะเป็นรถที่ใช้เพื่อทำธุรกิจมากกว่าใช้งานส่วนตัว ทำให้เมื่อเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิตลาดรถกระบะจะหดตัวลงมากกว่ารถยนต์นั่ง”
“และอีกปัจจัยคือเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งทางสงครามระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงประเทศไทย ทั้งหมดถือเป็น 3 ปัจจัยที่ทำให้ตลาดรถกระบะหดตัวลง” ฮาตะ ให้ความเห็นทิ้งท้าย
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: ตรีเพชรอีซูซุเซลส์
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.