ทริป สืบฐาน กอตง 02

สืบเนื่องจาก จ.ตรัง ตั้งอยู่บนรอยต่อของเทือกเขาบรรทัด ซึ่งในสมัยนั้นแนวเขตเทือกเขาดังกล่าวได้เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ตลอดแนวเทือกเขา  ในครั้งนี้ทางทีมงานได้รับการประสานงานจากผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อที่จะลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ประวัติศาสตร์ในสมัยคอมมิวนิสต์ที่ยังคงมีร่องรอยของการตั้งฐานที่มั่นในพื้นที่  ต.ในเตา  อ.ห้วยยอด  จ.ตรัง  โดยค่ายดังกล่าวชื่อว่าค่าย กอตง

ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง  ตั้งขึ้นเมื่อปี 2520 ทั้งหมดมี 3  ค่ายใหญ่ ๆ คือ ค่าย กอตง  ค่าย 02 ค่ายกองทัพแดง(วังสมบูรณ์)  ซึ่งได้ผ่านน้ำตกบ่อเจ็ดลูกซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ใกล้ๆ กับเขื่อนท่างิ้ว  ซึ่งหลังจากนั้นมาในปี 2526 ทางรัฐบาลได้มีแผนใต้ร่มเย็น  ได้ชักชวนให้กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์เหล่านี้เข้ามอบตัวกับทางการ  แล้วปล่อยให้เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน

ในทริปนี้ทางชมรมก็เห็นกันว่าถ้าได้ร่วมกับชาวบ้านและผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ได้ฟื้นคืนเส้นทางดังกล่าวให้ไว้เป็นเส้นทางศึกษาประวัติศาสตร์และธรรมชาติคงจะดีไม่น้อย  ก็ได้ตกลงกันเข้าไปโดยมีผู้นำท้องถิ่นของ ต.ในเตา  และเจ้าหน้าที่อุทยานเขาปู่-เขาย่า เป็นผู้ประสานงานและดูแลความปลอดภัยตลอดการเดินทาง  โดยในทีมของเราเองก็มิน้อยหน้านำทีมโดยสหายเก่า หย่ง  ตันอาวัชนการ  ซึ่งเป็นสหายคอมมิวนิสต์เก่าในสมัยนั้น  ตอนนี้ก็ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของชมรม โดยจำนวนรถทั้งหมดที่ได้เข้าร่วมทริปสำรวจนี้มีทั้งหมด  10 คัน และสมาชิกที่เข้าร่วมเดินทางนั้นประมาณ  30 กว่าชีวิต ที่ต้องเข้าไปร่วมกันเผชิญและฝ่าฟันกับอุปสรรคตลอดเส้นทางทั้งหมด 7  กิโลเมตร

จากหมู่บ้านจนกว่าจะถึงค่ายกอตงมีอุปสรรคมากมายทั้งร่อง V  (คล้ายกับปิเต็งเลยแหละ) ไม้ล้มขวาง  ผาชัน ร่องน้ำ บ่อโคลน หิน สายน้ำ พื้นทราย  ทำให้เราเข้าไปได้ไม่ถึงจุดหมายไปได้เพียงแค่ 4 กิโลเมตร ตั้งแต่เช้ายัน  2  ทุ่มทำให้เราต้องตั้งแคมป์กลางทาง  แต่ตลอดเส้นทางก็มีร่องรอยของเส้นทางเดิมอยู่แล้ว แต่จากสภาพถนนเดิมกว่า  80 ปี  ทำให้เส้นทางค่อนข้างยากลำบากพอสมควร  ในตอนกลางคืนเราก็ได้ให้ผู้นำท้องถิ่นได้เล่าถึงประวัติต่าง ๆ ในพื้นที่ตรงจุดนั้นเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์และให้โกหย่งได้อธิบายการเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์เพราะแกเองก็ได้เคยอยู่ในจุดๆ นั้นมาก่อน

ถึงตอนนี้พวกเราก็เดินทางมาถึงจุดพักแรมเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่ตะวันจะคล้อยตกดินเล็กน้อย ที่พักของเราคืนนี้ก็อยู่กลางดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นสีแดงในอดีต ต่างคนต่างสาละวนอยู่กับการตั้งแคมป์ บ้างก็จัดเตรียมอาหารเย็น ส่วนตัวผมก็ชักชวนชาวบ้านที่สู้อุตสาห์มาต้อนรับขับสู้อย่างดี และพาเดินไปดูร่องรอยของพคท.เก่า ซึ่งอดีตพื้นที่บริเวณบ้านห้างสูง เป็นมวลชนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่มากกว่า 500 คน ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของลำห้วยติดๆ กับที่พักนั่นแหละครับ แม้ว่ากาลเวลาได้ย่อยสลายทุกอย่างให้จางหายไปเกือบหมดแล้ว แต่ก็ยังเหลือหลุมระเบิดที่ทิ้งมาจากเครื่องบิน เส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 5-6 เมตร โรงพยาบาลเก่า ที่บัดนี้ไม่เหลือเค้าเดิมแม้แต่น้อย แต่ก็ยังสามารถพบเข็มและขวดยาอยู่ประปรายในบริเวณนั้น

ป่าทางฝั่งนี้แน่นทึบไปด้วยไม้ใหญ่ที่อวดเรือนร่างอันตั้งตรง แทงยอดสูงเสียดฟ้า แต่ละต้นนั้นมีขนาดใหญ่ถ้าจะวัดรอบลำต้นก็ต้องใช้คน 2-3 คนโอบขึ้นไป ด้วยว่ามันไม่เคยผ่านการทำไม้มาก่อน แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า ไม่ใช่แค่ป่าบนสันปันน้ำแห่งนี้เท่านั้น ป่าหลายแห่งของเมืองไทย ที่ถูกการยึดครองโดยผกค. ทั้งภูหินร่องกล้า ภูพาน ดอยช้าง ดอยผาจิ ฯลฯ นั่นเป็นไร ป่ายังคงสมบูรณ์มาถึงทุกวันนี้ เพราะอยู่ในเเขตการปกครองของผกค.นั้น ถ้าไม่ใช่สหายก็อย่าหมายจะเข้าไปได้ง่ายๆ ริมขอบอาณาเขตจะมีการฝังกับระเบิดเอาไว้ ตามต้นไม้ใหญ่ต่างๆ เขาจะนำผ้าหรือสีมาทาไว้ เป็นการบ่งบอกอาณาเขตของพวกเขา ถ้าป่าถูกทำลายหมด พวกเขาจะเอาที่กำบังจากที่ไหน เพราะในช่วงการปราบปรามอย่างหนักนั้น พคท.ถูกบอมส์อทั้งจากทางอากาศ ซึ่งยุคนั้นเครื่องบินที่ขึ้นชื่อก็คือ OV10 หรือผกค.เรียกกันว่า “ไอ้ปิ่นโต” ไหนจะถูกระดมยิงจากปืนใหญ่ทั้งขนาด 105 มม. และขนาดใหญ่ 155 มม. ถ้าไม่มีป่า ไม่มีที่กำบัง ไหนเลยการสู้รบจะยืดเยื้อมากว่า 20 ปี

ในส่วนของค่าย 04 นี้ ก็โดนบ่อยเหมือนกันทั้งจากทางอากาศและปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณวัดพุทธโกษี แต่ค่ายแห่งนี้ก็ไม่เคยแตกสักคราว อาจจะพูดได้ว่าป่านั้นเป็นที่กำบังที่ดีที่สุด จุดไหนที่เป็นช่องโหว่ที่เครื่องบินสามารถมองลงมาเห็นได้ ก็จะมีการใช้ลวดสลิงไปโน้มยอดให้เข้ามารวมกัน ปิดช่องช่องดังกล่าว

ป่าที่อยู่ในความปกครองของ พคท. สมบูรณ์ขนาดที่ว่าแสงแดดจะแทงทะลุผ่านเรือนยอดไม้ลงมาได้นั้นยังยากเต็มที อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะมีพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่านั่นเอง

กลุ่มของเราจึงนับเป็นนักเดินทางชุดแรกก็คงไม่ผิดนัก ที่ได้เข้าไปซึมซับบรรยากาศของธรรมชาติและอดีตอันขมขื่น นับตั้งแต่ค่ายแห่งนี้แตกไปเมื่อปี 2525

วันรุ่งขึ้นเราก็ต้องเดินทางย้อนกลับในเส้นทางเดิม เพราะทางผู้ใหญ่ในพื้นที่ได้มอบหมายงานและกิจกรรมดีๆ ให้ทางชมรมได้ร่วมกันนั้นก็คือ ฝายชะลอน้ำ โดยใช้ชื่อโครงการฝายมีชีวิตบ้านห้วยส้ม หมู่ที่  4 ต.ในเตา  อ.ห้วยยอด  จ.ตรัง  โดยทางชมรมก็ได้เดินทางออกกันมาร่วมทำกิจกรรมในการทำฝายชะลอน้ำดังกล่าว โดยการมอบกระสอบและเชือกจำนวนหนึ่ง  และได้ลงมือลงแรงร่วมกันกับชาวบ้านโดยมีความรักใคร่สามัคคีกัน เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่ทางชมรมได้ปฏิบัติยึดถือกันมาตลอดอยู่แล้ว

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ บุญธรรม กี่สุ้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลในเตาและทีมงานในพื้นที่ที่คอยดูแลและให้การต้อนรับและมอบกิจกรรมดีๆ ให้กับชมรม Boomerang  Offroad Trang ได้ร่วมกันฟื้นเส้นทางประวัติศาสตร์เพื่อให้ลูกหลานคนรุ่นหลังได้ใช้เป็นเส้นทางศึกษาประวัติศาสตร์และธรรมชาติอันสวยงามของภาคใต้  และได้เรียนรู้วิถีชีวิตของการอยู่กับป่า การดำรงชีวิตในป่า ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังต้องช่วยกันดูแลรักษาป่าให้อยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป 

 

 

ผกค.ในรอยต่อเทือกเขาบรรทัด

การฝักใฝ่ลัทธิฝ่ายซ้ายนี้ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 แล้ว จนมีการตราเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ก่อนจะยกเลิกไปและปี พ.ศ.2495 ได้ตราพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ขึ้นมาใหม่ และประกาศกฏอัยการศึกทั่วประเทศ เพื่อปราบปราม ผกค. ในปี พ.ศ. 2510 ต่อมาวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2505 ทางรัฐบาลจึงตั้งกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง)ขึ้น จนเดือนธันวาคม พ.ศ.2508 ก็จัดตั้งกองบัญชาการปราบปรามคอมมิวนิสต์(บก.ปค.) และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กอ.ปค.เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2512 โดยใช้นโยบายปรามปราม ผกค.ตามแนวความคิดพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ก่อนเปลี่ยนสภาพเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เมื่อ 2517

ส่วนผกค.ในแถบภาคใต้มีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 และมีการจัดตั้งเป็น”กลุ่มชาวนากู้ชาติ” และถูกการปราบปรามอย่างจริงจัง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2509 จนเกิดเป็นวันเสียงปืนแตกที่พัทลุงและจัดตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2512 ด้วยความร่วมมือกันระหว่าง พคท.พัทลุง ตรัง และสตูล เรียกว่า “คณะกรรมการจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล (กจ.พท.ตร.สต.) ในปี พ.ศ.2517 กองทัพบกได้จัดตั้งกองทัพภาคที่ 4 ขึ้น และขอกำลังจากกองทัพเรือเข้ามาสนับสนุน จนสามารถยึดค่ายกรุงชิงหรือค่าย 31 ใน อ.ท่าศาลาได้ ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2520 จากนั้นรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งที่ 66/23 ภาระกิจหลักก็คือ กวาดล้างและลดอำนาจของผู้มีอิทธิพล โดยมอบหมายให้พลโทจวน แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้รับผิดชอบ และมีการจัดสัมมนาผู้มีอิทธิพลของภาคใต้ โดยใช้ชื่อว่า “การสัมมนาผู้นำทางเศรษฐกิจของภาคใต้”

พลเอกกุญชร  ชวาลศิลป์ ท่านได้เขียนเอาไว้ในมติชนรายวัน เรื่อง “กว่าจะได้เป็นนายพล” ความตอนหนึ่งว่า ที่หมายสำคัญในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ครั้งนั้น ก็อยู่ที่เทือกเขาบรรทัด มีการนำปฏิบัติการแบบ “วัน ว.” มาใช้ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2523 ซึ่งตรงกับวันเสียงปืนแตกที่เรณูนคร จ.นครพนม นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติการทัวร์นรก รวมทั้งยุทธการใต้ร่มเย็น 9 (เริ่มจาก 1 ไม่มี 2-8) ในสมัยของพลโทหาญ  ลีลานนท์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2524 ที่หมายหลักอยู่ที่เขาช่องช้าง อ.บ้านนาสาร รวมทั้งเขตงาน 511 อ.กาญจนดิษฐ์ เขตงาน 514 เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี เขตงาน 357 รอยต่อบ้านนาสารและ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช เขตงาน 520 รอยต่อบ้านนาสารกับ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช และเขตงาน 04 ที่ห้วยยอด จ.ตรัง เหตุที่ต้องทำการกวาดล้างทั้งหมด เนื่องจากคอมมิวนิสต์บนเทือกเขาบรรทัดนั้น สามารถเคลื่อนตัวและหนุนกันได้อย่างคล่องแคล่ว

เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายลงเรื่อยๆ  เมื่อรัฐบาลใช้นโยบายยุทธศาสตร์การเมืองนำหน้าการทหาร มีการจัดตั้งหน่วยสันตินิมิต และศูนย์การุญเทพ เชิญชวนให้ผู้หลงผิดมอบตัว เหตุการณ์ที่ยืดเยื้อยุติลงอย่างสิ้นเชิงในปี 2528

ในช่วงของการต่อสู้ระหว่างกองทัพประชาชนหรือมักเรียกกันว่ากองทัพปลดแอก กับกองกำลังของฝ่ายรัฐนั้น ในพื้นที่ภาคใต้ผกค.จะใช้พื้นที่ของเทือกเขาบรรทัดเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางติดต่อประสานงาน ลำเรียงกองกำลัง หรือแม้แต่ปลุกระดมชาวบ้านตามแผนการโฆษณาเชิญชวน เริ่มตั้งแต่ภาคใต้ตอนบนที่ น้ำตกช่องช้าง บ้านนาสาร เวียงสระ เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี ผ่านมายังลำทัพ อ.วังวิเศษ(สิเกา) สระมรกต หรือแผ่นดินเสมอ เขานอจู้จี้ จ.กระบี่ เข้ามายังบ้านในเตา วังอด หรือวังสมบูรณ์ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ที่เราใช้เป็นจุดเริ่มต้นเดินทางในครั้งนี้ จากนั้นต่อไปก็เป็นกระช่อง นาโยง ย่านตาขาว ปะเหลียน ของตรังอีกเช่นกัน เข้าสู่มะนัง ควนกาหลง จ.สตูล ออกสู่จ.สงขลาที่ อ.รัตธภูมิ อ.นาทวี ตามเส้นทางที่กล่าวมานั้นใช้วิธีการเดินเท้าทั้งสิ้น

วกกลับมาที่เทือกเขาบรรทัดซึ่งเรากำลังมาเยือนอยู่นี้ มีความสำคัญกับการต่อสู้และขัดแย้งทางความคิด จนนำไปสู้การเสียเลือดเนื้อของชนชาติไทยด้วยกันเองอย่างไร

ย้อนกลับไปอีกนิดว่าผกค.ในพื้นที่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จริงๆ แล้ว มีการเคลื่อนไหวกันมานานก่อนเหตุการณ์ต่างๆ จะบานปลาย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2501 เสียด้วยซ้ำ แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไร โดย พคท.(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ได้ส่งคนเข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นที่ โดยเฉพาะที่พัทลุง มีชื่อว่านายพร้อยและหมอกอบ มีการส่งคนไปอบรมที่ประเทศลาว และจัดตั้งเป็น”กลุ่มชาวนากู้ชาติ” ขณะนั้นสามารถทำกันอย่างเปิดเผย จนเจ้าหน้าที่สืบทราบและเข้าทำการปราบปรามอย่างจริงจังเมื่อเดือนมิถุนายน 2509 จากนั้นก็ถึงวันเสียงปืนแตกเริ่มจากที่พัทลุง มีการจับอาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2512 โดยการจับมือกันระหว่าง พคท.พัทลุง ตรัง และสตูล โดยเรียกว่า “คณะกรรมการจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล (กจ.พท.ตร.สต.)

ในปี พ.ศ.2517 กองทัพบกได้จัดตั้งกองทัพภาคที่ 4 ทั้งนี้เพื่อต้องการปราบปรามพคท.อย่างจริงจัง แต่ก่อนหน้านั้นกองทัพบกได้ขอกำลังของกองทัพเรือ โดยหน่วยนาวิกโยธินมาร่วมรบก่อนในปี พ.ศ.2516 ที่ภูหินร่องกล้า และที่ดอยผาจิ ในปี พ.ศ. 2517 และในปี พ.ศ.2518-2519 ที่ จ.ปัตตานี ทหารนาวิกโยธินนั้นได้เข้ามาสนับสนุนกำลังของกองทัพภาคที่ 4 ในปี พ.ศ.2520 ยุทธศาสตร์สำคัญอยู่ที่เขาช่องช้าง บ้านนาสาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยึดครองด้วยผกค.ที่แข็งแกร่งมากที่สุดของภาคใต้ รองลงมาได้แก่ค่ายกรุงชิง จ.นครศรีธรรมราช และสามารถยึดค่ายกรุงชิงหรือค่าย 31 ใน อ.ท่าศาลา ได้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2520

ย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ของการสู้รบระหว่างคนในชนชาติเดียวกันนั้น สาเหตุมาจากความแตกแยกทางด้านความคิด และความเหลี่ยมล้ำในสังคม ระหว่างชนชั้นศักดินากับชนชั้นกรรมาชีพ จนถึงจุดแตกหักเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519

ภาคใต้เหตุการณ์ต่างๆ นั้นยังถูกเติมเชื้อไฟด้วยความไม่เป็นธรรมในสังคม และประชาชนมักถูกกดขี่ข่มเหงด้วยอำนาจมืดจากผู้มีอิทธิพล และในช่วงเวลานั้นชื่อของนายทหารผู้หนึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง คือ พลโทเปรม  ติณสูลานนท์ (ยศในขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 และสามารถเอาชนะสงครามประชาชนที่เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างทางภาคอีสาน จนได้รับราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และถัดมาไม่นานก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งตำแหน่ง ในขณะที่เรื่องราวต่างๆ ถูกสานต่อโดยพลโทอาทิตย์  กำลังเอก พร้อมทั้ง พล.ต.หาญ  ลีลานนท์ และ พ.อ.ชวลิต  ยงใจยุทธ

วลีที่ทุกคนจำขึ้นใจก็คือ “ข้อแตกต่างทางความคิดของทุกคนย่อมจะมีได้ แต่การแก้ไขต้องเป็นไปอย่างสันติ”

เมื่อเหตุกาณ์ต่างๆ ของภาคเหนือและภาคอีสานรวมทั้งพื้นที่บางส่วนของภาคกลางเริ่มคลี่คลายลง แต่พื้นที่ทางภาคใต้ปัญหาต่างๆ ยังคาราคาซังอยู่ จนรัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/23 ภาระกิจหลักก็คือ กวาดล้างและลดอำนาจของผู้มีอิทธิพล และความไม่เป็นธรรมทางสังคม จนเป็นสาเหตุหลักให้ประชาชนจับปืนและหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมอบหมายให้พลโทจวน แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้รับผิดชอบ และพลโทจวนได้มีการจัดสัมมนาผู้มีอิทธิพลของภาคใต้ โดยใช้ชื่อว่า “การสัมมนาผู้นำทางเศรษฐกิจของภาคใต้”

อีกด้านหนึ่งทางภาครัฐ ก็มีการทุ่มงบพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่และตัดเส้นทางนำความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการป้องปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ไปในตัว

ที่หมายสำคัญในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในครั้งนั้น ก็อยู่ที่เทือกเขาบรรทัด มีการนำปฏิบัติการแบบ “วัน ว.” มาใช้ในช่วงวันที่ 7 สิงหาคม 2523 ซึ่งตรงกับวันเสียงปืนแตกที่เรณูนคร จ.นครพนม ของพคท. นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติการทัวร์นรกในปี 2524-2525 มีการตั้งทหารพรานขึ้นเมื่อวันที่ 18  กรกฎาคม 2521 หรือสมัยของ พลเอกเสริม ณ นคร และที่สำคัญที่สุด ก็คือ ยุทธการใต้ร่มเย็น 9 (เริ่มจาก 1 ไม่มี 2-9) ในสมัยของพลโทหาญ  ลีลานนท์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2524 โดยมีที่หมายอยู่ที่ช่องช้าง ซึ่งมีความแข็งแกร่งมากที่สุดของภาคใต้ นอกจากช่องช้างแล้วก็ยังมี เขตงาน 511 ในเขต อ.กาญจนดิษฐ์ เขตงาน 514 เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี เขตงาน 357 รอยต่อบ้านนาสารและ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช เขตงาน 520 รอยต่อบ้านนาสารกับ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งเขตงาน 04 ที่ห้วยยอด จ.ตรัง เหตุที่ต้องทำการกวาดล้างทั้งหมด เนื่องจากคอมมิวนิสต์บนเทือกเขาบรรทัดนั้น สามารถเคลื่อนตัวและหนุนกันได้อย่างคล่องแคล่ว

แต่กองกำลังของกองทัพภาคที่ 4 ไม่เพียงพอ ทางกองทัพบกจึงต้องนำกองกำลังเข้ามาเสริม และมีการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะหน่วยเฉพาะกิจ ที่ชื่อว่า “ฤทธี” ภายใต้ชื่อกำบังว่า “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี นำทีมโดย พ.ท.สาโรจน์  รบบำรุง ระหว่าง 2524-2525 และเข้าตีช่องช้างเมื่อวันที่ 17  กุมภาพันธ์ 2525 ซึ่งเรื่องราวต่างๆ นั้น ทางพลเอกกุญชร  ชวาลศิลป์ ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือมติชนรายสัปดาห์ เรื่อง “กว่าจะได้เป็นนายพล”

ในช่วงของเหตุการณ์ความตึงเครียดในครานั้น พคท.ส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางเป็นเทือกเขาบรรทัดเป็นหลักในการเคลื่อนไหว ซึ่งถ้าเราพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า ป่าไม้ในเมืองไทยนั้นจะมีเทือกเขาต่างๆ เรียงร้อยกันเป็นลูกโซ่ เริ่มจากเทือกเขาถนนธงชัยที่ไล่ยาวลงมาจากพม่าและจังหวัดแม่ฮ่องสอน จนมาจบที่จ.ตาก ที่อ.อุ้มผาง จากป่าอุ้มผางลงมาเรื่อยๆ ก็จะเป็นเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งกินพื้นที่ฝั่งทิสตะวันตกของไทยมากที่สุด นั้นตั้งแต่อุ้มผางไล่เรื่อยผ่าน ตาก กาญจนบุรี แม้แต่กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี ก็ล้วนถูกกลืนกินด้วยผืนป่าดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น ป่าผืนนี้ยังทอดยาวไปยังราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ยันจังหวัดระนองโน้น จากนั้นก็จะเป็นเทือกเขาอันยิ่งใหญ่ของบรรทัด มารับช่วงต่อไปจนจรดมาเลเซีย ซึ่งในพื้นที่เช่น เทือกเขาหลวง สันการาคีรี เขาสก บูโด-สุไหงปาดี ซึ่งก็มีชื่อเรียกกันไปตามพื้นที่ แต่โดยรวมแล้วก็คือเทือกเขาบรรทัดนั่ยเอง และที่ป่าไม้บ้านเราในพื้นที่ดังกล่าวยังคงสมบูรณ์อยู่ได้ หรือไม่ถูกสมปทานก็เพราะบางพื้นที่นั้นอยู่ในความปกครองของผกค. ในเขตการปกครองของพวกนี้ ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่หรือสหายจะไม่ค่อยให้บุคคลภายนอกเข้าไป ตามต้นไม้ต่างๆ ในเขตก็จะมีการผูกผ้าสีแดงหรือนำสีมาขีดเอาไว้ เพื่อบ่งบอกถึงพื้นที่ดังกล่าว

ความจริงแล้วการฝักใฝ่ลัทธิฝ่ายซ้ายในเมืองไทยเรามีมานนแล้วครับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 โน้น ซึ่งรัฐท่านได้ตราเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์เอาไว้ ก่อนจะยกเลิกไปในปี 2489 และปี 2495 ได้ตราพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ขึ้นมาใหม่ และปี 2510 ได้ประกาศกฏอัยการศึกทั่วประเทศ เพื่อปราบปราม ผกค.อย่างเด็ดขาดและรุนแรง วันที่ 10 เมษายน 2505 รัฐบาลได้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง)ขึ้น ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2508 ได้จัดตั้งกองบัญชาการปราบปรามคอมมิวนิสต์(บก.ปค.) ขึ้นรับผิดชอบการปราบปราม ผกค.แยกมาจาก กรป.กลาง และเปลี่ยนชื่อเป็น กอ.ปค.เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2512 โดยใช้นโยบายปรามปราม ผกค.ตามแนวความคิดพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) และเปลี่ยนสภาพเป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เมื่อ 2517  และรัฐบาลได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยใช้ยุทธศาสตร์การเมืองนำหน้าการทหาร เน้นหนักการปฏิบัติการ “ทั้งปวงและขจัดเงื่อนไข เพื่อริดรอนทำลายขบวนการแนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธเพื่อยุติสงคราม

และในที่สุดปลายปี 2524 พคท.เริ่มเสื่อมอำนาจ ทั้งจากการปราบปรามอย่างหนัก และขาดการสนับสนุนจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงเร่งรัดใช้ยุทธศาสตร์การเมืองยิ่งขึ้น โดยออกคำสั่งนายกรัฐมนตรที่ 65/2525 มีการจัดตั้งหน่วนสันตินิมิต และเร่งรัดการปฏิบัติงานของศูนย์การุยเทพ และเชิญชวนให้มอบตัว

ในที่สุดสงครามระหว่างชนชาติเดียวกันก็ยุติลงอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2528 นี่เอง

 

 

 

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

เรียบเรียงข้อมูลโดย Off Road Magazine

ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ Off Road Magazine

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save