Heat Belt เข็มขัดนิรภัยทำความร้อนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเมืองหนาว
ตามปกติแล้วในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นมักมีพวงมาลัยและเบาะปรับความอุ่นได้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถบางรุ่น แต่ล่าสุด ZF ได้มีการพัฒนา Heat Belt หรือเข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้ออกมา ซึ่งนอกจากช่วยสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายแล้วยังระบุว่าสามารถช่วยให้รถไฟฟ้าประหยัดพลังงานมากขึ้นส่งผลให้เดินทางได้ไกลขึ้นด้วย
เข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้ Heat Belt ของ ZF ถูกระบุว่าออกแบบมาเพื่อให้รูปแบบความอุ่นใกล้กับร่างกายคนและสามารถใช้งานได้ดีที่สุดเมื่อใช้ร่วมกับเบาะปรับความอุ่นได้ โดยเข็มขัดนิรภัยจะให้ความอบอุ่นทันทีที่ผู้ขับเริ่มขับรถด้วยการปล่อยความร้อนอุณหภูมิประมาณ 36-40 องศาเซลเซียสออกมา ซึ่งจุดเด่นของ Heat Belt ถูกระบุว่าลดความต้องการใช้พลังงานในการสร้างความร้อนลงเมื่อเทียบกับการใช้ระบบปรับอากาศปกติของรถ เนื่องจากเป็นการเน้นไปที่ร่างกายของผู้ขับรถและผู้โดยสารแทนการสร้างความอุ่นให้กับทั่วทั้งห้องโดยสาร
ประโยชน์ที่ได้ตามมาของ Heat Belt คือช่วยลดการใช้พลังงานของรถซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในรถไฟฟ้า BEV ที่ระบบปรับอากาศใช้พลังงานจากแบตเตอรี ในขณะที่รถใช้เครื่องยนต์สันดาปใช้ความร้อนที่ปล่อยออกมาของเครื่องยนต์ ซึ่งหมายความว่าหากใช้เข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้จะมีการใช้พลังงานแบตเตอรีน้อยลงซึ่งเป็นการเพิ่มระยะการเดินทางให้กับรถไฟฟ้าได้มากขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ภายใต้สภาพอากาศที่หนาวเย็นซึ่งมักส่งผลกระทบต่อรถไฟฟ้า
ด้วยอัตราการใช้พลังงานที่ลดลงซึ่งเพิ่มระยะการเดินทางให้รถไฟฟ้า BEV ของ Heat Belt ตามที่ ZF ระบุ หมายความว่ารถไฟฟ้า BEV ที่ปกติเดินทางได้ 322 กิโลเมตรในสภาพอากาศที่หนาวเย็นจะมีระยะการเดินทางเพิ่มขึ้น 48 กิโลเมตรเมื่อใช้ Heat Belt แทนการใช้ระบบปรับอากาศตามปกติเพื่อสร้างความอุ่นในห้องโดยสาร
นอกจากนี้ Heat Belt ของ ZF ยังไม่ได้มีลักษณะที่หนามากไปกว่าเข็มขัดนิรภัยปกติ เนื่องจากใช้สิ่งที่เรียกว่า Special Webbing และ Heating Conductor Woven ในโครงสร้างของเข็มขัดนิรภัย รวมไปถึงยังมีการใช้งานและมาตรฐานการป้องกันผู้ขับและผู้โดยสารเหมือนกับเข็มขัดนิรภัยปกติ และไม่ต้องใช้อุปกรณ์สำหรับรั้งเข็มขัดนิรภัยเป็นพิเศษจึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถติดตั้ง Heat Belt กับรถของตนได้ง่าย
อย่างไรก็ตามทาง ZF ไม่ได้ระบุว่าเข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้ที่พัฒนาออกมานี้พร้อมสำหรับการผลิตออกมาใช้งานหรือยัง ซึ่งหากพร้อมผลิตเมื่อใดก็อาจกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถไฟฟ้าในประเทศที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นได้
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย Off Road Magazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ https://offroadmag-thailand.grandprix.co.th/
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.