“Happiness is Camping”
Mr.P’s เรียบเรียง/ GiGi ภาพ
ไม่จำเป็นต้องมีแสงสีเสียง หรือความศิวิไลซ์แต่อย่างใด เพราะต้นไม้ใหญ่ที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ นั่นแหละถือเป็นความศิวิไลซ์ที่สุดแล้วสำหรับนักท่องป่า
ท่องป่าหน้าฝนคือ สีสันของผู้ที่รักในการใช้ชีวิตแบบออฟโรด ฉะนั้นการได้กระโจนออกนอกเส้นทางจากที่นักท่องเที่ยวคนอื่นไปกัน ถือเป็นความท้าทายและความสุขสำหรับพวกเขาที่สุด ไม่จำเป็นต้องมีแสงสีเสียง หรือความศิวิไลซ์แต่อย่างใด เพราะต้นไม้ใหญ่ที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ นั่นแหละถือเป็นความศิวิไลซ์ที่สุดแล้วสำหรับนักท่องป่า
หลังจากชั่วโมงการทำงานที่แสนเหนื่อยล้า ยังมีอีกหลายคนในป่าที่ยังคงเดินหน้าทำงานปกป้องผืนป่าอันเป็นต้นน้ำ เป็นแหล่งธรรมชาติสำคัญที่หลายคนไม่ได้นึกถึง ทำให้ทริปการท่องเที่ยวในป่า เข้าไปตั้งแคมป์ของชาวออฟโรดกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าไปเติมฝันผู้พิทักษ์ ด้วยการสร้างโป่งเทียมให้สัตว์ป่า ณ จุดสกัดห้วยแอ่งกะลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งครั้งนี้นิตยสารออฟโรดได้มีโอกาสเข้าไปร่วมทริปด้วย โดยคำชักชวนของมิตรแท้ของชาวออฟโรดและนักเที่ยวป่าอย่าง “แมคแคมป์” ผู้ที่คอยแนะนำ และดูแลเราตลอดทริป ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิต และการตั้งแคมป์ที่ถูกต้องเมื่อเดินทางเข้าป่า
เช้าตรู่ของวันศุกร์ วันสุดท้ายปลายสัปดาห์ของการทำงาน ทีมงานออฟโรดตื่นออกเดินทางไปยังที่หมายย่านตลิ่งชัน เพื่ออาศัยรถของพี่แมค มิตรสหายที่ดีของชาวออฟโรดเพื่อเดินทางไปยังราชบุรี โดยมีพี่อุ้มภรรยาของพี่แมคเป็นผู้ขับรถพาเราไปส่งถึงปลายทาง ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เพื่อรวมพลกับผองเพื่อนผู้รักษ์ป่าที่ร่วมจิตอาสาจัดหาของใช้จำเป็นเพื่อเข้าไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานเพื่อประเทศชาติ ด้วยการรักษาแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยเอาไว้ให้อยู่ยืดยาวไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน อีกทั้งยังร่วมกันเข้าไปทำโป่งเทียมเพื่อสัตว์ป่า พร้อมสำรวจป่าตามรอยวัวและกระทิง ณ จุดสกัดห้วยแอ่งกะลา ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากที่ทำการของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีไปเพียง 16 กิโลเมตร ซึ่งเราจะเดินทางเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ กับการเข้าไปตั้งแคมป์ ใช้ชีวิตท่ามกลางป่าผืนใหญ่ที่ไร้ซึ่งสัญญาณการสื่อสารใดๆ เพื่อให้ได้ซึมซับกับธรรมชาติอย่างเต็มที่
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี “ประทีป เหิมพยัคฆ์” คือ อีกหนึ่งคนที่ให้ข้อมูลกับเราเกี่ยวกับป่าผืนนี้ ตลอดการเดินทางเข้าไป 16 กิโลเมตรที่ว่า เราเดินทางด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือรถออฟโรด เนื่องจากรถยนต์ธรรมดาไม่สามารถเข้าไปถึงแน่นอน เราต้องข้ามห้วยเล็กๆ กว่า 31 ห้วย ที่ทางป่าไม้ได้เข้าไปเปิดทางไว้ก่อนหน้า และติดป้ายเอาไว้ให้เราจำได้ว่าต้องผ่านทั้งหมดกี่ห้วย ก่อนจะถึงจุดสกัดห้วยแอ่งกะลา จุดที่เราจะกางเต็นท์พักแรมกัน ซึ่งกว่าจะเข้าไปถึงนั้น เราใช้เวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมงทีเดียว เมื่อเข้าไปถึงจุดนั้นรถออฟโรดของคณะทั้งหมดที่เดินทางเข้าไปร่วมบริจาคของ และทำโป่งเทียมให้กับสัตว์ก็ยกของ ขนเสบียงกันลงอย่างขะมักเขม้น ก่อนที่จะเคลียร์พื้นที่เพื่อกางเต็นท์กัน
โดยความสนุกของกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้ร่วมเดินทางกว่า 19 ชมรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้รักษ์ป่า และมีจิตอาสาที่จะเข้าไปให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้อยู่เบื้องหลังความสุขสบายของมนุษย์ สัตว์ และพันธุ์พืช ที่ได้ทำงานกันอย่างหนักโดยที่ไม่ค่อยมีใครเข้าไปเห็น ซึ่งพวกเขาทั้งหมดได้ร่วมกันบริจาคเงิน และแบ่งปันของใช้ที่จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ อาทิ ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการลาดตระเวนและดำรงชีพในป่า เตาแก๊สชนิดพกพาพร้อมหัวแก๊ส แก๊สกระป๋อง ฟลายชีทกันฝน เปลสนาม ถุงกันน้ำ ถุงเท้า ผ้าห่ม ยาสามัญชนิดต่างๆ เสื้อยืดลำลอง เกลือและแคลเซียมสำหรับทำโป่งให้สัตว์ป่า ถุงนอน เต็นท์ ฯลฯ ซึ่งตลอดการเดินทางเข้าไปตั้งแคมป์ค้างแรมในป่าครั้งนี้ ทุกคนต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างดี ไม่มีใครสักคนที่จะยอมนั่งเฉย เมื่อมีรถคันอื่นติดหล่ม หรือมีต้นไม้ขวางทาง ก็จะกรูกันเข้ามาช่วยเคลียร์ให้อุปสรรคตรงหน้านั้นผ่านไปอย่างง่ายดาย รวมถึงการหุงหาอาหาร แม้ว่าทุกคนจะเตรียมเสบียงกันมาอย่างเต็มที่ แต่ก็ไร้ซึ่งคำว่าอาหารใครอาหารมัน มีแต่คำว่าแบ่งปัน เตรียมมาเพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนเพื่อนร่วมเดินทางทั้งหมด ซึ่งนี่ก็ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาวออฟโรดที่ว่า “น้ำใจ และความจริงใจ คือตัวตนของคนออฟโรด”
มาถึงกิจกรรมการเข้าป่าไปค้างแรมเพื่อกางเต็นท์ ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า เมื่อเรารู้จุดหมายในการค้างแรมคร่าวๆ แล้ว สิ่งที่ควรเตรียมเข้าไปสำหรับการดำรงชีวิตในป่าใหญ่นั้นควรจะต้องจัดเตรียมอะไรบ้าง ซึ่งเราควรจัดหมวดหมู่ของใช้ในการตั้งแคมป์ ดังนี้
ของใช้ส่วนตัว
– ชุดเดินป่า : ซึ่งควรเป็นเสื้อแขนยาว และกางเกงขายาวที่เป็นผ้าเบา สวมใส่สบาย และแห้งง่ายเมื่อเปียกน้ำหรือเหงื่อ
– ชุดกันฝน : ยิ่งช่วงนี้ฝนตกถี่ ควรพกเสื้อกันฝนติดกระเป๋าไปด้วย
– รองเท้าเดินป่า : ควรเป็นผ้าใบ หรือรองเท้าหุ้มข้อที่เปียกและแห้งง่าย พื้นรองเท้าไม่ลื่น
– รองเท้าแตะ : ควรเป็นรองเท้าแตะที่เบา พกพาสะดวก
– กระติก หรือกระบอกน้ำ
– หมวก : เพื่อกันแดด กันลม กันฝน กันแมลงต่างๆ หรือกิ่งไม้เกี่ยวผม
– เสื้อแจ็กเก็ต หรือเสื้อหนาว : เพราะกลางป่าในยามค่ำคืน มักชื้น และเย็น
– ถุงนอน : แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็น และเป็นของส่วนตัวที่ควรพกติดเข้าไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้คุณนอนได้อย่างสบาย
– เป้สะพายหลัง : ขนาดไม่ต้องใหญ่มาก แยกออกมาจากประเป๋าเสื้อผ้า เพื่อใส่ของจำเป็นต่างๆ ที่ไว้ใช้ขณะเดินป่า
– ถุงมือ : อาจจะเป็นถุงมือที่สามารถเอานิ้วโผล่ออกมาได้ เพราะขณะเดินป่า เราอาจต้องหยิบจับกิ่งไม้ ใบไม้ที่ขวางทางเดิน
– ไฟฉาย : สำหรับใช้เวลากลางคืน
– ถุงพลาสติก : ไว้สำหรับใส่ผ้าเปียก และที่สำคัญคือใช้เป็นถุงขยะเพื่อนำกลับออกมาทิ้งข้างนอก เพื่อไม่เป็นการทำลายป่า หรือสัตว์ป่านำไปกิน ซึ่งพวกขยะถือเป็นสิ่งอันตรายต่อป่าและสัตว์ป่ามาก
ของใช้ส่วนรวม (หากเดินทางเป็นหมู่คณะ)
– เตาแคมปิ้ง : แน่นอนว่ากองทัพต้องเดินด้วยท้อง ฉะนั้นอุปกรณ์ครัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด
– แก๊สกระป๋อง : นำเข้าไปให้เพียงพอสำหรับแต่ละวันที่ต้องอาศัยอยู่ในป่า เพื่อไว้ปรุงอาหารขึ้นเตา
– เต็นท์ : ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็ขอให้ตรวจเช็คสภาพความสมบูรณ์ก่อนเดินทาง พร้อมสมอบกก็ควรต้องมีให้ครบ เพื่อความปลอดภัยในการนอนค้างแรม
– ผ้าร่ม หรือฟลายชีท : แผ่นผ้าสำหรับขึงกันแดด กันน้ำค้าง และแมลงต่างๆ เหนือเต็นท์ เมื่อกางเสร็จ และยังอาจนำไปปูรองนั่งได้อีกด้วย
– มีด : ไม่ว่าจะมีดเล็ก หรือมีดใหญ่ ทั้งแบบที่ใช้ฟันกิ่งไม้ที่ขวางทางเดินป่า หรือมีดเล็กสำหรับทำครัว
– อาหาร : วัตถุดิบในการหุงหาอาหารก็จำเป็นมาก ทั้งข้าวสาร เนื้อหมู ไข่ หรือมาม่า
– น้ำดื่ม : ต้องพกเข้าไปให้เพียงพอสำหรับจำนวนวันที่ค้างคืน
– เทียนไข : พกไปหลายๆ เล่ม กรณีฉุกเฉินที่ไฟฉายถ่านหมด และอย่าลืมติดไฟแช็กหรือไม้ขีดติดไปด้วย
– หยูกยา : ยาสามัญต่างๆ ที่จำเป็น อาทิ ยาแก้ปวดหัว ปวดท้อง ยาดม ยาลม ยาหม่อง ฯลฯ
หลังจากที่รู้เรื่องอุปกรณ์การเข้าป่าเพื่อไปแคมปิ้งแล้ว ก็ควรที่จะต้องรู้ขั้นตอนของการตั้งแคมป์กันดูบ้าง ว่าเมื่อถึงจุดกางเต็นท์แล้ว ควรเลือกพื้นที่ และเตรียมพื้นที่อย่างไร ให้ปลอดภัยเมื่อใช้ชีวิตอยู่กลางป่า
– เลือกดูพื้นที่ที่ค่อนข้างราบเรียบ ไร้ตอแหลมคม หากมีตอกิ่งไม้เล็กๆ หรือหญ้าขึ้นให้ใช้มีดถางออกให้เตียน เกลี่ยดินให้เรียบเนียน เพื่อที่จะใช้เป็นจุดกางเต็นท์ และนอนได้อย่างสบายไม่มีอะไรทิ่มหลัง
– ห้ามเลือกจุดกางเต็นท์ที่เน้นเห็นวิวที่สวยที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว เช่น กางเต็นท์บนยอดดอย ที่มีพื้นที่โล่งเตียน เพราะนั่นคือตำแหน่งแนวปะทะของลม หากเกิดลมกรรโชก หรือมีพายุ จะทำให้เต็นท์กระเด็นตกดอยได้ แต่หากจำเป็นต้องกาง ณ บริเวณนั้นจริงๆ ให้ยึดเต็นท์ให้มั่นคงด้วยสมอบก หรืออาจนำก้อนหินก้อนใหญ่ใส่ไว้ในเต็นท์ด้วย
– อย่ากางเต็นท์ใต้ต้นไม้ เพราะเมื่อเกิดพายุในยามค่ำคืนขณะที่กำลังหลับ อาจมีกิ่งไม้หักหล่นทับเต็นท์ได้
– ไม่ควรเลือกกางเต็นท์ใกล้ลำธาร โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เพราะเมื่อน้ำหลากมาขณะหลับ หรือในช่วงเวลาที่เราออกไปเดินป่า กลับมาเต็นท์อาจลอยหายไปกับสายน้ำ
– อย่ากางเต็นท์ในจุดที่เป็นแอ่งกะทะในช่วงที่อาจมีฝนตก เพราะที่ราบที่เราเห็นถึงแม้จะไม่มีน้ำขังแต่ถ้าหากมีฝนตกในวันนั้นหรือค่ำคืนนั้น น้ำฝนจะไหลมารวมกันยังพื้นที่ๆ ต่ำกว่า และอาจจะท่วมขังสูงเกินกว่าที่เต็นท์จะป้องกันไว้ได้
– อย่าตั้งแคมป์ใกล้ปากถ้ำ เนื่องจากอาจเป็นที่หลบพักของสัตว์ป่า
– เมื่อกางเต็นท์เสร็จแล้ว ควรขุดร่องน้ำไว้รอบๆ เต็นท์ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลผ่านใต้เต็นท์ จะทำให้เต็นท์ชื้น หรือเปียกได้
– ควรใช้ฟลายชีท หรือผ้าร่ม ปูเหนือเต็นท์ เพื่อกันแดด กันฝน กันแมลงให้กับเต็นท์อีกชั้นหนึ่ง
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.