DRIVE ACROSS ASIA กรุงเทพ – คัชการ์ 14 วัน 7,000 กม.
คณะผู้รวมเดินทาง Drive Across Asia นำโดยคุณราชัน ไตรรัตน์ และพวรรคพวกรวม 18 ท่าน พร้อมด้วยรถยนต์ 4WD จำนวน 9 คัน โตโยต้า Prado 3 คัน, Revo GR Sport 1 คัน, ฟอร์ด Raptor 4 คัน และ Everest 1 คัน ต่างคนต่างออกจากบ้านมาพบกันที่เชียงของเย็นวันที่ 19 ก.พ.68 วันต่อมาข้ามด่านที่สะพานข้ามโขงแห่งที่ 4 เข้าสู่แขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว และขับตามเส้นทาง R3A (AH13) 225 กม. ข้ามด่านบ่อเต็นเข้าสู่ประเทศจีนไปพักที่เมืองเชียงรุ้ง วันเดียวขับข้าม 3 ประเทศ
คาราวานคณะนี้ได้รับอนุมัติจากกรุงปักกิ่งล่วงหน้าเพื่อที่จะข้ามทั้ง 5 มณฑลทำให้ผ่านแดนได้ง่ายขณะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ช่วงประมาณบ่าย 3 หลังจากตรวจผ่าน ตม. แล้วรถต้องนำเข้าตรวจศุลกากรผลไม้ต่าง ๆ ที่อยู่ในรถโดนตรวจเจอต้องทิ้งหมด การเข้าจีนห้ามผลไม้และผักพืชสดทั้งหมด จากนั้นขับมาอีก 25 กม. เพื่อที่จะทำใบขับขี่จีน ซึ่งบริษัททัวร์จีนดำเนินการเพื่อออกใบขับขี่จีนล่วงหน้า เมื่อมาถึงก็แค่สแกนหน้ารับบัตรได้ทันที ฟังบรรยายจาก ตำรวจจีนถึงระเบียบเงื่อนไขในการขับรถในจีน เช่น
– ห้ามสวมรองเท้าแตะ
– ต้องใส่เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง
– ห้ามใช้ความเร็วเกินกำหนด 120 กม/ชม.
– ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ทุกอย่าง
ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ อากาศในประเทศจีนอุณหภูมิยังคงเย็นราว 16c’ และจะหนาวเย็นมากขึ้นตามลำดับของความสูง 3-4 วันแรก ขับกันยาวบนเส้นทางด่วนจากเมืองเชียงรุ้งสู่นครคุนหมิง 590 กม. ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลยูนาน วันต่อมา (Day 4) ขับจากซูหมิง – เลอซาน 700 กม.เป็นเส้นทางที่จะไปเริ่มต้นเข้าทะเลทรายคารามากันที่มณฑลหลานโจ วิวบนทางด่วนก็สวยงามในช่วงปลายกุมภาพันธ์ อากาศเริ่มเย็นลงความสูงจากระดับน้ำทะเลจาก 1300 เมตรขึ้นมาเป็น 2000 เมตร เรายังคงขับยาวต่อเนื่องมุ่งหน้าขึ้นทิศเหนือต่อไป รถทุกคันยังคงสมบูรณ์เครื่องยนต์ทำงานได้ดีแม้ว่าจะเป็นความสูงที่เพิ่มขึ้นและอุณหภูมิอากาศที่เย็นลง น้ำมันดีเซลในจีนเป็นสเปคยูโร 6 มีน้ำยา ad blue ขายเป็นปกติอยู่แล้วในปั๊มทุกแห่ง
เล่อซาน – หลงนาน 600 กม. อุณหภูมิลดลงเหลือ 8c’ ตั้งแต่วันนี้ไปต้องใส่เสื้อกันหนาวรักษาร่างกายให้อบอุ่นและต้องพร้อมที่จะไปเจออุณหภูมิติดลบ เล่อซาน ตั้งอยู่ทางภาคกลางของมณฑลเสฉวน
ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเป็นเมืองที่มีทิวทัศน์สวยงาม และเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาเป็นพระพุทธรูปที่องค์ใหญ่ที่สุดในโลก ยูเนสโก (UNESCO) จัดให้เป็นมรดกโลกด้านการแกะสลักยุคโบราณ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1996 พระพุทธรูปเล่อซานผลงานมหึมาที่ถูกแกะสลักจากบนหน้าผาอันสูงชันใช้เวลาถึง 90 ปีในการแกะสลักพระพุทธรูปองค์ใหญ่จนสำเร็จ ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของจีนอีกด้วย เล่อซานมีสายน้ำที่ไหลแรงของแม่น้ำต้าตู้ แม่น้ำหมิ่นเจียง และแม่น้ำชิงอี้ มาบรรจบกัน ชาวจีนเชื่อว่าแม่น้ำ 3 สายนี้มีเทพคุ้มครองอยู่นานกว่า 1000 ปี
หลงหนาน – หลานโจว 430 กม. เป็นเส้นทางช่องเขาสูงที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาคาราโครัม (Karakoram) ระหว่างพรมแดนปากีสถานและจีน เป็นถนนเปียกเจอหิมะตลอดเส้นทางต้องใช้รถ 4WD ในโหมด 4H หรือ 4A และต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากจะลื่นไถลรถมีโอกาสหมุนได้ง่ายและเส้นทางนี้เป็นจุดผ่านแดนระหว่างประเทศด้วยความสูง 4,693 เมตร เราเดินทางไปพักที่เมืองหลานโจว ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลกานซู่ ช่วงบ่ายจะได้พักผ่อนเที่ยวชมเมืองไปชมแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) สะพานจงซาน หรือสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเหลืองเมืองหลานโจว (Lanzhou Yellow River Iron Bridge) สร้างเสร็จปี 1909 เป็นสะพานที่มีประวัติเก่าแก่ที่สุดได้ชื่อว่า “สะพานที่ 1 แห่งแม่น้ำเหลือง”
หลานโจว – จางเย่ 520 กม. วันนี้ตื่นมาเจออุณภูมิติดลบ -2c’ ที่เมืองหลานโจเป็นเมืองเอกของมณฑลกานซู่ และเมืองจางเย่เป็นเมืองระหว่างทางที่จะมุ่งหน้าไปมณฑลซินเจียง ปลายทางวันนี้จะไปชมมรดกโลก ที่เป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติภูเขาหลากสีแยกชั้นสีดินชัดเจน เมืองจางเย่ อดีตเมืองโอเอซิสขอบแผ่นดินจีนในยุคโบราณตั้งอยู่ในทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน คำว่า“จางเย่” นั้นมีความหมายว่า “การขยายดินแดนออกไปไกล” (จางเย่อดีตเป็นเมืองสำคัญบนเส้นทางสายไหมโบราณเป็นจุดแวะพักให้กับขบวนคาราวานพ่อค้าในสมัยก่อนที่จะเดินทางไปค้าขายในทวีปยุโรป) เมื่อเริ่มขับเข้าเส้นทางสายไหมวิวยอดเขาหิมะ 2 ข้างทางในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ทิวทัศน์สวยมาก จากมณฑลกานซู่ – มณฑลซินเจียน กว่า 2,000 กม.
กานซู – เจียยี่กวน 250 กม. เช้านี้ตื่นมาเจอ -7c’ จากนี้ไปด้วยความสูงระดับ 2,000 เมตร เราจะเจอทางหิมะ, ภูเขาดิน, ทะเลทราย ในวันเดียวกันเลย จากเมืองกานซู 150 กม. ชมหุบเขาสีรุ้งวิ่งผ่านหุบเขาหิมะที่มีแดดแรงภาพรอบตัว 360 องศา สวยอลังการ กลางวันอุณหภูมิประมาณ 0 องศาไม่หนาวมากแต่มีลมแรง และช่วงบ่ายไปกำแพงเมืองจีน (ประตูเจียยี่กวนเป็นด่านปราการที่สำคัญของเส้นทางสายไหม) เป็นซุ้มประตูด่านสุดท้ายของกำแพงเมืองจีนด่านตะวันตก ประกอบด้วยกำแพง ซุ้มประตู กำแพงเมือง ด่านปราการซึ่งสร้างด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นทำด้วยดินเหนียวและทรายที่หาได้ง่ายโดยการนำดินมาคั่ว กับเมล็ดพืชและผสมปูนขาว, ข้าวเหนียว ,น้ำตาล มาตำอัดแน่นเป็นชั้นๆ จนเป็นกำแพงที่ทนทานแข็งแรง เนื่องจากฟืนไฟหายากมากในทะเลทราย เป็นด่านสุดท้ายที่สุดชายแดนบรรจบกับชนเผ่ามองโกล ซึ่งสภาพแวดล้อมมีแต่ทะเลทรายเวิงว้าง ด่านเจียยี่กวนได้รับการสร้างและออกแบบด้วยการคำนวณมาเป็นอย่างดี ภายในตัวด่านมีลานกว้างสำหรับการประลองยุทธ์
ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและสำคัญของมณฑลกานซู่ อุทยานธรณีวิทยาแห่งชาติตันเสียจางเย่ (张掖丹霞国家地质公园) ภูเขาหลากสีสันที่มีลวดลายสวยงามแปลกตาเทือกเขาทีสลับซับซ้อนกันเป็นชั้นๆที่เราเห็นออกไปไกลสุดลูกหูลูกตาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO เมื่อปี 2010 และในเวลาต่อมาเมื่อปี 2011 ก็ถูกตั้งให้เป็นอุทยานธรณีวิทยาแห่งชาติ
ด่านเจียอวี้กวาน เป็นจุดเริ่มต้นของกำแพงเมืองจีน อยู่มณฑลกานซู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
และอยู่ในหุบเขาที่แคบที่สุดบริเวณโดยรอบเป็นทะเลทรายโกบีที่กว้างใหญ่มีหน้าที่เฝ้ารักษาเส้นทางสายไหมโบราณเป็นจุดสำคัญที่ต้องผ่านสำหรับชนเผ่าที่จะยกพลเข้าแผ่นดินชาวฮั่น ความอลังการและความสำคัญ
ของด่านเจียอวี้กวาน กำแพงเมืองจีนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage Site) ในปี ค.ศ.1987 นอกจากจะเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกแล้ว ยังได้รับการจัดอันดับจากองค์การการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน (China National Tourism Administration (CNTA) ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเกรด AAAAA (หรือ 5A) ซึ่งเป็นการจัดอันดับคุณภาพในระดับสูงสุดอีกด้วย
เจียยี่กวน – ฮามิ ระยะทาง 610 กม. จากมณฑลการซู เข้าสู่ “เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์
ซินเจียง” อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีพื้นที่รวมกว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบ 3 เท่า!! เราเริ่มต้นขับรถข้ามทะเลทรายที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ทากลามากัน (Taklamakan Desert) เป็นหนึ่งในทะเลทรายที่สวยที่สุดและเป็นทะเลทรายที่มีการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีลมพัดแรง มีเนินทรายกระจายตัวอยู่มากมายเหมือนลอนคลื่น มีพื้นที่รวมประมาณ 330,000 ตารางกิโลเมตร บรรยากาศจึงคล้ายกับประเทศในเอเชียกลาง อีกทั้งยังโด่งดังในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามตระการตา เพราะมีภูมิประเทศที่หลากหลาย ตั้งแต่ภูเขาหิมะ ทุ่งหญ้า ป่าสน ทะเลสาบ จนถึงทะเลทราย อากาศแห้ง มีความสูงเพิ่มขึ้นได้อีกเรื่อยๆ ทั้งยังมีฝนตกน้อย ความเวิ้งว้างกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาของผืนทะเลทรายที่ทอดยาวจรดขอบฟ้า และมีกังหันลมมองเห็นไกลสุดสายตาทั้งด้านซ้ายและขวาตลอดเส้นทางกว่า 600 กม.
ฮามิ – ถูลู่ฟาน ระยะทาง 440 กม. เข้าสู่วันที่ 10 ของการเดินทาง เช้า ๆ ที่เมืองฮามิ อากาศติดลบ -5 c’ ที่มณฑลซินเจียง เวลาจะช้ากว่าปักกิ่ง 2 ชั่วโมง แต่จีนใช้เวลาเดียวกันทั้งประเทศ 2 ทุ่มกว่าแล้วก็ยังไม่มืด อาทิตย์ขึ้น : 08:23 น. อาทิตย์ตก : 19:35 น. เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญในภาคตะวันตกของจีน มีทิวทัศน์ธรรมชาติหลากหลายรวมทั้งทะเลทรายโกบี และโอเอซิส เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม (Silk Road) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญสมัยโบราณที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ประชากรของซินเจียงประกอบด้วยหลากหลายชนชาติส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
The Silk Road in the Gobi Desert ทะเลทรายโกบี (戈壁) ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างประเทศมองโกเลียตอนใต้กับเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของประเทศจีน โกบีเป็นทะเลทรายที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เป็นแนวโค้งยาว 1,600 กม. มีเนื้อที่ประมาณ 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร อยู่ในที่ลุ่มทางภาคตะวันออกของภูเขาเทียนซาน เขตปกครองตนเองชนเผ่าอุยกูร์ เขตที่เชื่อมต่อประเทศจีนกับเอเชียกลางที่นี่จึงมีวัฒนธรรมและศาสนาของตะวันออกและตะวันตกผสมผสานกันอย่างกลมกลืน เป็นสถานที่สำคัญบนเส้นทางสายไหมและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียกลาง
ช่วงบ่ายแวะไปชมความสวยงามระดับ 5 ดาว 2 ที่ คือ (1)- Flaming Mountains 火焰山 ภูเขาเปลวเพลิง โห่เยี่ยนซาน ซึ่งจะมีจุดชมทิวทัศน์ภูเขาเปลวเพลิงลักษณะเป็นเขาหินสีอิฐแดงทั้งลูก ไม่มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นเลย มองแต่ไกลจะเห็นเป็นสีเพลิงคล้ายไฟกำลังลุกไหม้ (2)- อุโมงค์น้ำคานเอ๋อจิ่ง หรือ คาเรส อันเป็นระบบชลประทานที่ชาวเมืองทูรูฟาน ในอดีตใช้ภูมิปัญญาสร้างเป็นอุโมงค์ส่งน้ำใต้ดินที่ไหลมาจากหิมะที่ละลายจากภูเขาหิมะเทียนซาน เพื่อมาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนที่มีระยะทางยาวรวมกว่า 5,000 กม.
ถูลู่ฟาน-หลุนไถ ระยะทาง 530 กม. ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อำเภอหลุนไถเป็นอำเภอการพัฒนาตัวอย่างที่ต้องต่อสู้กับทะเลทราย และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสกัดกั้นการขยายตัวของทะเลทรายทากลิมากันโดยอาศัยการสร้าง “กระดานหมากรุกฟาง” รายงานระบุว่าปัจจุบันคนงานก่อสร้างราว 400 คน กำลังสร้างตารางหมากรุกฟาง เพื่อป้องกันกระแสลมพัดพามวลทรายเข้าสร้างความเสียหายแก่พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร และพื้นที่อื่นๆ ช่วงไม่กี่ปีมานี้ อำเภอหลุนไถได้พยายามปลูกป่าป้องกันภัยและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมภายในโอเอซิสกลางทะเลทราย และสร้างแนวกันลมสกัดกั้นทรายภายนอกโอเอซิส รวมถึงดำเนินโครงการตรึงทราย ควบคุมทราย ผันน้ำ นอกจากนั้นมีการกำหนดเขตคุ้มครองแบบปิดขนาด 62,500 ไร่ และมีการปรับปรุงที่ดินทรายภายในเขตคุ้มครองนี้กว่า 20,833 ไร่ ซึ่งช่วยส่งเสริมความพยายามยับยั้งการแปรสภาพเป็นทะเลทรายอย่างมีประสิทธิภาพ
ทางด่วน G314 มีครบ ทะเลทราย ลำธารน้ำแข็ง หิมะ จากกรุงเทพมาถึงจุดนี้เกือบ 6,000 กม.
และระยะทางรวมเกือบ 4,400 กิโลเมตร ยาวที่สุดในจีนและเชื่อมโยง 6 มณฑลระหว่างซีกตะวันออกและตะวันตกของจีน ได้แก่
– เจียงซู (Jiangsu)
– อันฮุย (Anhui)
– เหอหนาน (Henan)
– ส่านซี (Shaanxi)
– กานซู่ (Gansu)
– ซินเจียง (Xinjiang)
อีก 3 วันหรือราว 1,200 กม. ถึงจุดหมายปลายทางกรุงเทพ – คัชการ์ แต่ได้แบ่งการเดินทางเป็นช่วงจากหยุนไหล-ถูมู่ซูเค่อ 580 กม. เขตฝั่งจีนตะวันตกดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลา 09:00 น. ความสวยงามถือว่าสวยอันดับต้น ๆ ของเมืองจีนเป็นถนนที่เริ่มต้นจาก อูรูมูฉี เมืองเอกของมณฑลซินเจียง ถนนลากยาวผ่านเทือกเขาเทียนซาน ผ่านเขตแดนจีน -ปากีสถานไปถึงกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของประเทศปากีสถานทางหลวงแผ่นดินจีนหมายเลข 314 วิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้จากอุรุมชี ซินเจียง ไปยังช่องแคบขุนเจราบอยู่บนพรมแดนทางเหนือของดินแดนกิลกิต-บัลติสถานในแคชเมียร์ที่บริหารโดยปากีสถาน มีความยาว 1,948 กิโลเมตร ไปทางตะวันออกเฉียงใต้จากอุรุมชีและทางใต้ของ Toksun เลี้ยวไปทางทิศตะวันตกและตามทางด้านเหนือของ Tarim Basin ถนนเส้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวง Karakoram Highway ที่ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางอันตรายที่สุด ทางหลวงสายนียาว 1,300 กม จากเมืองอิสลามาบัด นครหลวงของปากีสถานถึงเมืองคัชการ์ (Kashgar) ในเขตปกครองชินเกียงอุยกูร์ของจีน
ทางหลวง Karakoram ถูกเรียกว่าสิ่งมทัศจรรย์ของโลกที่ 8 เพราะสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบากในการก่อสร้างบางช่วงของถนนสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 4,700 เมตร สร้างครั้งแรกในปี 1959 และเดิมมีชื่อเรียกว่า “ถนนมิตรภาพจีน-ปากีสถาน” สร้างโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลปากีสถานกับจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CPEC (China-Pakistan Economic Corridor) เชื่อมท่าเรือทางใต้ของปากีสถานไปสู่จีนทางมณฑลซินเจียง Khunjerab Pass หรือ “ประตูปากีสถานสู่จีน” เป็นหนึ่งในจุดผ่านแดนระหว่างประเทศที่สูงระดับ 4,693 เมตร (15,397 ฟุต) ชื่อ “ขุนเจรับ” แปลว่า “หุบเขาเลือด” ในภาษาวาคีท้องถิ่น
มีชื่อเสียงในด้านทิวทัศน์อันน่าทึ่งของภูเขาใหญ่และธารน้ำแข็ง พื้นที่บริเวณเชิงเขาขุนเจราบมีความสวยงามมากมีภูมิประเทศที่ปกคลุมด้วยหิมะ และท้องฟ้าสีครามสดใส จุดหมายของการเดินทางนั้นไม่เพียงเป็นสถานที่แต่เป็นการค้นพบมุมมองใหม่รอบตัวเรา และเป็นการนำมาซึ่งการทำความเข้าใจต่อชีวิตของเรามากขึ้น
ถูมู่ซูเค่อ – เมืองโบราณ คัชการ์ ระยะทาง 329 กม. เป็นเมืองโซนเอเชียกลาง ดวงอาทิตย์ขึ้นช้ามาก 09.30 น. คัชการ์ เป็นเมืองโอเอซิสแห่งหนึ่งในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ อยู่ทางตะวันตกสุด ของประเทศจีนใกล้พรมแดนประเทศอัฟกานิสถาน คีร์กีซสถานปากีสถาน และทาจิกิสถาน ในอดีตเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งบนเส้นทางสายไหม ที่เชื่อมจีนกับตะวันออกกลางและยุโรปตั้งแต่ 2,000 ปีก่อน เมืองคัชการ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ผสมผสานประวัติศาสตร์และความทันสมัยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญที่เชื่อมโยงจีนกับเอเชียกลางและเอเชียใต้ในสมัยโบราณ การบรรจบกันของวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่หลากหลายในภูมิภาคนี้ทำให้เกิดความรุ่งเรืองทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันมั่งคั่ง
ปัจจุบัน คัชการ์ ได้ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ โดยเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ผสมผสานประวัติศาสตร์และความทันสมัยเข้าด้วยกัน เส้นทางสายไหมเมืองขอบตะวันตกของทะเลทราย Taklamakan บ้านเรือนสร้างจากอิฐโคลน สถาปัตยกรรมของเมืองเก่าคัชการ์ได้รับอิทธิพลทั้งจากวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก แสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ของเอเชียกลางและเอเชียตะวันตกรวมทั้งองค์ประกอบของโรมันโบราณเมืองเก่าคัชการ์เป็นเมืองเดียวที่มีการออกแบบแบบเขาวงกต คำว่าคัชการ์หมายถึง “สถานที่ที่รวบรวมหยก” หลังจากการวางรากฐานของเส้นทางสายไหม
คัชการ์ กลายเป็นจุดแวะสำคัญบนเส้นทางนี้และได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ปัจจุบันยังคงเห็นร้านค้าเล็กๆ ขายหมวก ผ้าห่มและอาหารพื้นเมือง มีช่างฝีมือทำเครื่องทองสัมฤทธิ์ เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องดนตรีและคัชการ์ยังคงเป็นเมืองใหญ่ทางตะวันตกของจีนโดยมีเที่ยวบินตรงจากอุรุมชี (เมืองเอกของมณฑลซินเจียง)
เข้าสู่จุดหมายปลายทาง 14 วัน 7,000 กม. กรุงเทพ – คัชการ์ เราเดินทางไปอีก 340 กม.พักที่เมือง Taxkorgan Tajik ดวงอาทิตย์จะขึ้น 09:30 น. และจะตก 3 ทุ่มทุกวัน เนื่องจากประเทศจีนใช้เวลากลางจากเมืองซีอาน ดังนั้นภาพที่เห็นว่าวัฒนธรรมความเป็นอยู่ก็จะเป็นของชาวเปอร์เชียทั้งหมด วันนี้เราจะขับรถไต่ขึ้นเขาจากระดับความสูง 1,300 เมตรขึ้นไปถึง 4,000 เมตร ปลายทางวันนี้คือยอดเขาที่อยู่ใกล้พรมแดนจีน-ปากีสถาน ระหว่างเดินทางคือไฮไลท์ที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยวคือถนนมังกรโบราณ Panlong อยู่บนที่ราบสูง Pamir เขตปกครองตนเอง Taxkorgan Tajik ถนนสายนี้มีชื่อเสียงในเรื่องทัศนียภาพธรรมชาติที่งดงามและสภาพถนนที่ซับซ้อนทางหลวงสายนี้สร้างขึ้นรอบภูเขาโดยมีลักษณะเฉพาะ เมื่อมองลงมาจากยอดเขาจะพบว่าเป็นเส้นทางที่งดงามมาก ระหว่างทางทางหลวงจะผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเช่น ทะเลสาบ Baisha ทะเลสาบ Karakul และยอดเขา Muztagh Ata มีทางโค้งรูปตัว S มากกว่า 600 แห่ง ทำให้เกิดทิวทัศน์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทิวทัศน์ธรรมชาติตลอดเส้นทาง เช่น ภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ หุบเขา และทะเลสาบ ล้วนสวยงามตระการตา และทุกๆ ทางโค้งเต็มไปด้วยความท้าทายและความตื่นเต้น บางครั้งถนนก็เลียบหน้าผาซึ่งน่าตื่นเต้น ระหว่างทางจะมีคนเลี้ยงสัตว์และฝูงแกะมาให้เห็นเป็นระยะๆความเป็นชนบท ฉากนี้เพิ่มความอบอุ่นและความสมดุลให้กับการเดินทาง จุดสูงสุดของ Panlong Ancient Road อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 4,269 เมตร ตั้งแต่แรกถนนเส้นนี้มีความยาว 36 กิโลเมตร ก่อนที่จะมีการขยายมาเป็น 75 กิโลเมตรในภายหลัง ถนนพานหลงมีลักษณะโค้งไปมาอย่างมาก คล้ายกับมังกรที่กำลังเลื้อยอยู่บนภูเขา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “พานหลง” (盘龙) ที่แปลว่า “มังกร”
…….ต่อฉบับหน้า EP 2 คัชการ์ – กรุงเทพ
Adventure: เรื่อง พิทักษ์ ปราดเปรื่อง ข้อมูล/ภาพ: ราชัน ไตรรัตน์, จีรศักดิ์ สุวรรณพืช
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.