บ้านอัมราและบ้านทิทะ ตั้งอยู่ใน อ.เมตตา จ.ทวาย ห่างจากชายแดนไทยทางบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรีไม่ไกลนัก เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงเล็กๆ ที่ตั้งอยู่เหนือริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรีอันสวยงามและเงียบสงบ มีวิถีชีวิตแฝงตัวอิงแอบอยู่กับธรรมชาติ มีวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ชาวบ้านแทบทุกคนสามารถพูดไทยได้อย่างชัดเจน เนื่องจากส่วนใหญ่เคยเดินทางมาทำงานที่เมืองไทย และมีไม่น้อยที่เข้ามาร่ำเรียนหนังสืออยู่ที่กาญจนบุรีและราชบุรี เนื่องจากเดินทางเข้ามาในไทยสะดวกสบายกว่าไปยังทวาย
ไหนๆ ก็พูดถึงทวายแล้ว ขอเกริ่นนำในเรื่องราวของจังหวัดนี้สักเล็กน้อย เพราะอีกไม่นานคนไทยเราคงต้องให้ความสำคัญไม่น้อยกับจังหวัดนี้ ในฐานะเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกที่เชื่อมต่อมายังไทยเรา เพราะเมื่อปี 2008 มีการลงนามระหว่างรัฐบาลไทยกับเมียนมาไปเรียบร้อยแล้ว
ทวาย หรือ เมียนม่าร์จะออกเสียงเป็น ดะแว ส่วนมอญออกเสียง ฮะไหว่ คำว่า ทวาย หมายถึงพื้นที่และชาติพันธุ์ทวาย อาศัยอยู่ที่ลุ่มน้ำทวาย พูดภาษาทวายที่ไม่ใช่ภาษาพม่า ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา และเป็นเมืองหลวงของภูมิภาคตะนาวศรี หรือตะนิ้นตายี อยู่ห่างจากย่างกุ้งราว 614.3 กม. บนฝั่งแม่น้ำทวายด้านเหนือ มีประชากรอาศัยอยู่ราว 139,900 คน เป็นเมืองท่าปากแม่น้ำ อยู่ห่างจากทะเลอันดามันราว 30 กิโลเมตร เท่านั้นเอง
จะว่าไปแล้วทวายมีความสัมพันธ์กับไทยมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม ต่อมาสมัยราชวงค์คองบองของเมียนมาทวงคืนเพื่อทำเป็นเมืองท่าการค้าทางทะเลตั้งแต่ศตวรรษ 11-12 ทั้งนี้ก็มีมะริดอยู่ตรงกลาง ส่วนตะนาวศรีเป็นเมืองภายในไม่ติดทะเล แต่เป็นเมืองคุมเส้นทางติดต่อผ่านมายังไทย ทั้งหมดถือว่าเป็นเส้นทางสายไหมจากอินเดีย จะผ่านยะไข่ สะเทิม ทวาย แล้วขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรมาที่กาญจนบุรี ราชบุรี หลักฐานที่เก่าที่สุดยังพบได้ที่พวกพยู (เพียว Pyu) ซึ่งคนทวายถือว่าเป็นบรรพบุรุษของพวกเขา แต่หลังจากนั้นในยุคศรีวิชัย เริ่มมีการเดินเรือผ่านมาทางระนอง ตะกั่วป่า อ้อมแหลมมลายูบทบาทของเมืองทวายจึงลดลงไปพอสมควร
ครั้นเมียนม่าร์เปิดเมืองต้อนรับ AEC การเดินทางโดยรถยนต์ไปยังทวาย ทำให้ชื่อของทวายได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยพาะเมื่อมีการเปิดด่านที่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ทำให้การเดินทางไปทวายสะดวกสบายขึ้นเพียงนำบัตรประชาชนไปทำ BORDERPASS กับเจ้าหน้าที่ ตรวจคนเข้าเมือง ก็จะได้ใบผ่านแดนชั่วคราวไปเมืองทวายได้ สามารถอาศัยอยู่ในทวายได้ 1 อาทิตย์ แต่ทั้งนี้ทางการเมียนมาก็ยังไม่อนุญาติให้รถยนต์ทะเบียนต่างประเทศเข้าไป ต้องใช้รถยนต์ของพม่าเองหรือไม่ก็ต้องยื่นทำเอกสารขอทำป้ายทะเบียนเมียนม่าร์ซึ่งก็ยุ่งยากพอสมควร ปัจจุบันมีทั้งรถตู้รับจ้าง และบริษัททัวร์ต่างๆ คอยให้บริการ ในฝั่งของไทยเราก็จะมีรถตู้วิ่งตรงจากบ้านพุน้ำร้อนสู่มหาชัยหรือสมุทรสาครคอยบริการ
ระยะทางจากบ้านพุน้ำร้อนไปทวายนั้น ประมาณ 150 กิโลเมตร เป็นทางฝุ่นลัดเลาะไปตามขุนเขาและแม่น้ำตะนาวศรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-6 ชั่วโมง ก็จะถึงทวาย เมืองประตูสู่การค้าขาย อาหารทะเลสด กุ้งมังกร กุ้งแม่น้ำ ปลาทะเล จากทะเลอันดามัน เมืองที่ผู้คนอัธยาศัยดี เป็นมิตร มีน้ำใจ บางคนเคยเดินทางมาทำงานที่เมืองไทย สามารถพูดภาษาไทยได้
ย้อนกลับมาในเรื่องของการเดินทางในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากทางกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ กาญจนบุรี โดยพันเอกวินิจ สว่างเนตร รองผู้การกรมสนับสนุนกองพลทหารราบที่ 9 ต้องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนม่าร์ จึงได้จัดทริปเล็กๆ ส่งมอบความสุขให้กับชาวบ้านริมตะเข็บชายแดน ร่วมกันด้วยการจัดงานวันคริสต์มาสให้กับชาวบ้านที่บ้านอัมราและทิทะ ต.ตะนาวศรี อ.เมตตา (MITTA) จ.ทวาย (DAWEI) และมอบหมายให้ทาง จเด็ด ถ้ำทอง จากชมรมท้ายขบวน ยูนิคอร์น เป็นผู้ประสานงานทางกลุ่มออฟโรด ในการร่วมกันนำของไปบริจาคและมอบให้กับชาวบ้าน โดยมีรถร่วมเดินทางทั้งหมด 20 คัน จาก ชมรมท้ายขบวน ยูนิคอร์น ชมรมแควใหญ่-แควน้อย ชมรมยุทธหัตถีสุพรรณบุรีออฟโรด ทีมงานจากนิตยสารออฟโรด และทางกลุ่มของพันเอกวินิจ สว่างเนตร อีก 6 คัน
ทุกคันเดินทางมารวมตัวกันที่หน้าด่านพุน้ำร้อนในวันที่ 24 ธันวาคม 2559 หลังจากจัดการยื่นเอกสารรถและคนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นานนักจากการประสานงานล่วงหน้าอาไว้ก่อนแล้ว จากนั้นในช่วงบ่าย เมื่อทุกอย่างพร้อมก็เคลื่อนขบวนออกจากด่านพุน้ำร้อนไปอีก 3 กิโลเมตร ก็ถึงด่านทิขี้ของเมียนมา ต้องปรับความรู้สึกกันเล็กน้อยในเรื่องของการขับ จากเลนซ้ายของบ้านเรามาเป็นเลนขวาของพม่า และตั้งแต่ด่านทิขี้ไปเส้นทางจะเป็นทางฝุ่นล้วนๆ ทำให้รถทุกคันต้องทิ้งช่วงกันพอประมาณ เพื่อความปลอดภัย เส้นทางไต่ความสูงของขุนเขาขึ้นไปเรื่อยๆ ราว 4 กิโลเมตร ก็ผ่านแคมป์ของบริษัท อิตาเลี่ยนไทย จำกัด ขับไปอีกราวๆ 5-6 กิโลเมตรก็มีทางแยกซ้ายจากทางหลักที่มุ่งหน้าไปทวาย ไปยังบ้านอัมราและบ้านทิทะ(HTEE HTA) ต.ตะนาวศรี
ขบวนของเรายังคงวิ่งฝ่าทางฝุ่นที่ไม่ต่างจากเมืองในหมอก พร้อมกับลัดเลาะไป-มาอยู่กลางขุนเขา ข้ามลำห้วยน้อยใหญ่อีกราว 5 แห่ง ราวบ่ายแก่ๆ ก็เดินทางถึงยังบริเวณโบสถ์คริสต์ใจกลางหมู่บ้านอัมรา ปลายทางของการทำกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ ในย่านนี้เดินทางมารวมตัวกันอยู่ก่อนหน้านนี้แล้ว รวมระยะทางจากด่านพุน้ำร้อนประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร
นอกจากการร่วมงานวันคริสต์มาส การมอบของให้กับชาวบ้าน และทำอาหารเลี้ยงเด็กๆ แล้ว ที่พิเศษสุดทางชมรมท้ายชบวนยูนิคอร์นยังจัดเต็ม จัดหนัก ด้วยการนำหนังกลางแปลงมาสร้างความบันเทิงให้กับชาวบ้านในครั้งนี้อีกด้วย ซึ่งทีมงานได้จัดเตรียมมาเป็นอย่างดี ขณะที่อีกส่วนหนึ่งแยกลงไปยังจุดแคมป์พักแรมด้านล่าง ริมแม่น้ำตะนาวศรี ห่างจากสถานที่จัดงานไปไม่กี่ร้อยเมตร เป็นลานหินกว้างๆ ที่ทางชาวบ้านและทางการเมียนม่าร์ประสานงานและจัดเตรียมเอาไว้ให้ เพื่อกางเต็นท์พักแรมและทำอาหารเลี้ยงคณะและชาวบ้านในคืนนี้
แม่น้ำตะนาวศรีนั้น มีต้นกำเนิดอยู่ในทวายต้นแม่น้ำตะนาวศรีที่ไหลเคียงข้างเทือกเขาอันยิ่งใหญ่ ก่อนที่ปลายน้ำจะไหลออกสู่ทะเลอันดามันที่เมืองมะริต ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมียนม่าร์ ในช่วงน้ำหลากแม่น้ำแห่งนี้คงยิ่งใหญ่ไม่แพ้สายน้ำอื่นๆ ในช่วงนี้ต่อเนื่องไปจนถึงหน้าแล้ง นอกจากชาวบ้านจะใช้เรือเป็นพาหนะในการข้ามฟากไป-มาแล้ว ส่วนหนึ่งก็ยังเดินลุยน้ำที่เชี่ยวกรากข้ามไป-มาได้อีกด้วย โดยอาศัยเดินไปตามรอยทางของรถบรรทุกถ่านหิน ส่วนใครที่มีรถขับเคลื่อนสี่ล้อก็สามารถข้ามไป-มาได้สบายๆ แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนก็จะมีแพขนานยนต์คอยให้บริการบริเวณวัดอัมรา เช่นเดียวกับแพไม้ไผ่ที่นำมาประยุกต์ใส่เครื่องยนต์ใช้สำหรับบรรทุกรถมอเตอร์ไซค์และผู้คนข้ามฟากไป-มา
ในพื้นที่พรมแดนแนวเขตติดต่อกับไทยเรา นับตั้งแต่เทือกเขาถนนธงชัยใน จ.แม่ฮ่องสอน มาบรรจบกับเทือกเขาตะนาวศรีที่ จ.ตาก และ จ.กาญจนบุรี ไปสุดปลายทางที่ระนอง รวมระยะทางประมาณ 834 กิโลเมตร ถือเป็นเทือกเขาที่ยาวที่สุด และเต็มไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างชนชาติเดียวกัน ตามแนวชายแดนแถว จ.ตากและจ.กาญจนบุรี ส่วนใหญ่เคยอยู่ในการปกครองของกะเหรี่ยงเคเอ็นยู (KNU) หรือพวกเขาเรียกตัวเองว่า”กอทูเล” และทำการสู้รบกับรัฐบาลเมียนม่าร์มาอย่างยาวนาน จนกระทั่งค่ายมอเนอพลอ ของนายพลโบเมี๊ยะ ผู้นำสูงสุดของกะเหรี่ยงแตกเมื่อปี พ.ศ.2537 บางส่วนก็วางอาวุธเข้าร่วมกับรัฐบาลเมียนม่าร์ บางส่วนก็ยังจับอาวุธสู้รบและกระจายเป็นกลุ่มต่างๆ ตามตะเข็บชายแดนไทย
ในพื้นที่ที่เราเดินทางไปนี้ก็เช่นกัน เมื่อปี 2540 ก็เกิดการต่อสู่กันอย่างหนักริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรี ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพหนีภัยสงครามเข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแถวชายแดนไทย โดยเฉพาะที่ถ้ำหิน จ.ราชบุรี จนกระทั่งมีการทำสัญญาหยุดยิง ชาวบ้านจึงได้เดินทางกลับยังภูมิลำเนาเดิมอีกครั้ง เมื่อ 3-4 ปีก่อน จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ชาวบ้านในแถบตะเข็บชายแดนสามารถพูด อ่าน รวมทั้งเขียนภาษาไทยได้แทบทุกคน เนื่องจากเคยอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัย หรือบางคนก็เคยเดินทางมาทำงานที่ไทย ส่วนคนที่พอมีเงินก็ส่งลูกไปเรียนที่เมืองไทย โดยเฉพาะที่โรงเรียนบ้านหนองขาวใกล้ชายแดนไทยนั่นเอง
หลังร่วมกันมอบและมีการฉายหนังกลางแปลงให้กับชาวบ้านอัมราแล้ว เช้าวันที่ 25 ธันวาคม 2559 คณะของเราทั้งหมดก็เดินทางออกจากบ้านอัมรา ขับรถเลาะแม่น้ำตะนาวศรีขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ เพื่อไปยังหมู่บ้านทิทะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีวัด โรงเรียน และเป็นที่ตั้งของเจดีย์ Htee Hta อันสวยงาม และได้รับการต้อนรับป็นอย่างดีจาก พ.อ.Colonel Than Alarng Win ผู้บัญชาการทหารพม่าในเขตตะนาวศรี ที่มาร่วมมอบของกับคณะเราด้วยตัวเอง
หลังจบภารกิจและทั้งหมดก็เดินทางต่อมาจับจ่ายซื้อของที่เขตปลอดภาษี (Duty Free) ของเมียนม่าร์ สินค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็น เหล้า บุหรี่ และเบียร์ ซึ่งมีราคาค่อนข้างถูกพอสมควร ก่อนจะเดินทางกลับสู่ด่านชายแดนพุน้ำร้อนในช่วงบ่ายๆ ของวันนั้น
ถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าอีกครั้งหนึ่ง ในการเดินทางสู่ดินแดนแห่งต้นกำเนิดแม่น้ำตะนาวศรีอันยิ่งใหญ่ ได้ใช้ชีวิตอยู่ในวงล้อมแห่งธรรมชาติ กลางบรรยากาศอันงดงามของน้ำใจไมตรีอันงดงามของชาวบ้าน และทำให้เรารู้ว่า พรมแดนมิใช่เครื่องกีดกั้นมิตรภาพของพวกเราได้
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย Off Road Magazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ Off Road Magazine
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.