BYD e6 รถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้า-ทางเลือกใหม่ของบริการรถสาธารณะ

ประหยัดค่าพลังงาน พร้อมช่วยลดมลพิษให้ประเทศไทย

ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการยกเลิกสนับสนุนราคาแก๊ส NGV/LPG ของภาครัฐ ส่งผลกระทบอย่างหนักกับผู้ให้บริการรถสาธารณะหรือแท็กซี่ ทั้งในส่วนเจ้าของกิจการ และคนขับที่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) ซึ่งมีค่าชาร์จไฟฟ้าที่ถูกกว่า กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจของกลุ่มผู้ให้บริการรถแท็กซี่จนเริ่มมีการสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อนำมาให้บริการประชาชนบนท้องถนนมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ และการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่สะดวกสบายขึ้น ทำให้บริษัทเรเว่ ออโตโมทีฟ (Rêver Automotive) ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยของ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก นำเสนอ BYD e6 คอมแพ็กต์เอ็มพีวีที่มีระยะการขับสูงสุด 500 กม./ชาร์จ (มาตรฐาน NEDC) เพื่อเป็นตัวเลือกให้กลุ่มคนขับแท็กซี่ที่ต้องการลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของราคาน้ำมัน/แก๊สของรถยนต์เครื่องสันดาปมาสู่พลังงานไฟฟ้า พร้อมความอเนกประสงค์ด้วยการมีพื้นที่บรรทุกสัมภาระด้านหลังได้มากถึง 580 ลิตร หรือใส่กระเป๋าเดินทางไซส์ 28 นิ้ว 3 ใบได้อย่างสบายๆ

BYD e6 รถแท็กซี่ไฟฟ้า

หลังจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมสรรพสามิต เพื่อเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว พร้อมการเปิดตัว เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ (Rêver Commercial Vehicles) เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ของ BYD ภายใต้การบริหารของบริษัทเรเว่ ออโตโมทีฟ จากเดิมที่บริษัทสยาม แอดวานซ์ เทคโนโลยี รีเลชั่นชิป ในเครือสยามกลการเป็นผู้ถือสิทธิ์

และเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า BYD e6 จำนวน 20 คัน ให้กับสหกรณ์แท็กซี่ทองคำ สุวรรณภูมิ เพื่อนำมาให้บริการแทนรถแท็กซี่เครื่องยนต์สันดาป โดยตั้งเป้าหมายที่จะจัดซื้อเพิ่มให้ถึง 200 คันภายในปี 2567 แต่ก่อนอื่นลองฟังความเห็นจากผู้ให้บริการ, แนวทางการปรับตัวของคนขับ และกระแสตอบรับจากประชาชนที่เรียกใช้บริการ รวมทั้งข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะในปัจจุบัน

คุณสุพจน์ โกมินทร์ประธานกรรมการบริหาร สหกรณ์แท็กซี่ทองคำ สุวรรณภูมิ
ต้นทุนที่ลดลง ระยะการขับที่ไกลเท่าเติมน้ำมัน 1 ถัง

การที่กลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ทองคำ สุวรรณภูมิ ตัดสินใจเลือกซื้อ BYD e6 เข้ามาให้สมาชิกหรือผู้ขับรถแท็กซี่เพื่อนำออกไปให้บริการประชาชนบนท้องถนน คงจะไม่มีใครให้คำตอบได้ดีไปกว่าคุณสุพจน์ โกมินทร์ ประธานกรรมการบริหารสหกรณ์แท็กซี่ทองคำ สุวรรณภูมิ ที่ปัจจุบันต้องดูแลสมาชิกราว 400 คน

“ก่อนหน้านี้ผมให้คนขับในสหกรณ์ของเราไปลองรถยนต์ไฟฟ้าหลายๆ รุ่น” คุณสุพจน์ เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ “จนมาตัดสินใจเลือก BYD e6 เพราะรถยนต์ไฟฟ้าบางยี่ห้อไม่ตอบโจทย์ตรงที่มีระยะการขับประมาณ 380-400 กิโลเมตร แล้วต้องพักจอดชาร์จไฟ หากต้องต่อคิวรอคันอื่นชาร์จยิ่งเสียเวลาเพิ่มขึ้น แตกต่างจาก BYD e6 ที่ขับได้ถึง 480-500 กิโลเมตรต่อการชาร์จ ซึ่งเป็นระยะทางเท่ากับรถแท็กซี่ที่เติมน้ำมันหรือแก๊สจะขับประมาณ 500 กิโลเมตรต่อวัน ทำให้คนขับสามารถรับลูกค้าได้ต่อเนื่อง พอหมดวันก็สามารถกลับไปชาร์จที่บ้านได้เลย แล้วตอนเช้าก็ขับออกมาทำงานต่อเหมือนกับการใช้รถยนต์เครื่องสันดาป”

“ด้วยเหตุผลนี้ทำให้สมาชิกสหกรณ์ของเราชอบ BYD มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่น ผมทำหน้าที่เป็นตัวแทนเจรจากับ BYD เพื่อขอนำ BYD e6 มาทำเป็นแท็กซี่ เปลี่ยนจากแท็กซี่เครื่องยนต์สันดาปเป็นไฟฟ้า รวมทั้งได้การสนับสนุนสินเชื่อจากทางบริษัทไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ในการช่วยจัดไฟแนนซ์ให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า” ผู้บริหารมากประสบการณ์ กล่าวถึงการตัดสินใจ

ในปัจจุบันคนขับแท็กซี่เครื่องยนต์สันดาปของสหกรณ์แท็กซี่ทองคำ สุวรรณภูมิ ต้องจ่ายเงินค่าเช่า 650 บาทต่อวัน หรือเดือนละ 19,500 บาท โดยราคาของ BYD e6 หลังจากได้รับการสนับสนุนตามมาตรการของภาครัฐลดลงมาเหลือ 1,135,900 บาท แต่จะมีส่วนลดเพิ่มจากการซื้อจำนวนหลายคันผ่านสหกรณ์ฯ เบื้องต้นคนขับต้องจ่ายเงินดาวน์ 20 เปอร์เซ็นต์ และค่าเช่าต่อวันที่ 950 บาท (24,000 บาท/เดือน) โดยจะได้สิทธิ์เป็นเจ้าของรถยนต์หลังจากเช่าขับ 5-6 ปี

ความเห็นจากคนขับ และเป้าหมายในอนาคต

ในช่วงที่พูดคุยกับทีมงาน Grand Prix Online รถแท็กซี่ไฟฟ้า BYD e6 เพิ่งเริ่มออกให้บริการได้ราว 2 สัปดาห์เท่านั้น แต่คุณสุพจน์ ยอมรับว่าคนขับทีได้ใช้งาน 20 คันแรกมีเสียงตอบรับในแง่บวกกันหมด “ทุกคนพอใจมาก เนื่องจากค่าชาร์จไฟฟ้าถูกกว่าการเติมน้ำมันหรือแก๊ส (LPG/NGV) จากเดิมที่ต้องจ่าย 600-700 บาท พอเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเสียค่าชาร์จไฟประมาณ 200 กว่าบาทเท่านั้น ทำให้คนขับเหลือเงินมากขึ้นอีก 300-400 บาทต่อวัน รวมทั้งค่าบำรุงรักษายังต่ำกว่าเครื่องยนต์สันดาปหลายเท่า”

บีวายดี บีเคเค ส่งมอบรถแท็กซี่ไฟฟ้า BYD E6 จำนวน 20 คัน ให้สหกรณ์แท็กซี่ทองคำ สุวรรณภูมิ เมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

 

“ขณะที่ประชาชนซึ่งมีโอกาสใช้บริการรถแท็กซี่ไฟฟ้า BYD e6 มีเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดี ลูกค้าบางคนโทรมาเรียกรถกับทางสหกรณ์ แต่เราไม่มีบริการเรียกรถเหมือนสมัยก่อน ผมต้องให้เบอร์โทรศัพท์คนขับ หรือแนะนำให้ระบุผ่านแอปพลิเคชั่นที่เขาใช้ว่าต้องการแท็กซี่ BYD e6 ในส่วนของลูกค้าชาวต่างชาติจะถูกใจเพราะสามารถบรรทุกกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ได้ 4-5 ใบ และห้องโดยสารกว้างขวางกว่าแท็กซี่ทั่วไป รวมทั้งระยะการขับประมาณ 500 กิโลเมตร ทำให้คนขับสบายใจหากนักท่องเที่ยวเรียกไปนอกกรุงเทพอย่างเมืองพัทยาเป็นต้น”

“ตอนนี้สมาชิกหลายคนในสหกรณ์ของเรา แสดงความสนใจที่จะเปลี่ยนจากรถแท็กซี่เครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถแท็กซี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น ถือเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการรณรงค์เกี่ยวกับโลกร้อน และในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน”

คุณสุพจน์ เปิดเผยว่าหลักเกณฑ์คัดเลือกสมาชิกที่จะได้เปลี่ยนมาขับแท็กซี่ไฟฟ้า BYD e6 ระยะแรกจะเลือกคนขับอายุไม่เกิน 40 ปี อาศัยอยู่แถวสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากจุดเด่นของรถซึ่งมีพื้นที่บรรทุกสัมภาระขนาดใหญ่

BYD e6 รถแท็กซี่ไฟฟ้า

“จำนวนสมาชิกที่สนใจจะเปลี่ยนมาขับ BYD e6 ตอนนี้มีประมาณ 100 คน แต่สหกรณ์มีเงินทุนไม่พอ จากการที่รถแท็กซี่ไฟฟ้าคันหนึ่งต้นทุนสูงกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป โดยไมด้า มีข้อกำหนดให้ดาวน์ 20 เปอร์เซ็นต์ต่อคัน ตามที่มองเอาไว้ในเดือนพฤษภาคมจะส่งมอบอีก 5-10 คัน เดือนมิถุนายน และกรกฎาคมจะส่องมอบอีกเดือนละ 10 คัน จากนั้นสหกรณ์จะขอประเมินสถานการณ์ประมาณ 3 เดือน”

คุณสุพจน์ คาดการณ์ถึงจำนวนแท็กซี่ที่จะลดลงในอนาคต เนื่องจากไม่มีผู้ลงทุนซื้อรถใหม่ออกมาให้บริการว่า “ตอนนี้ทางสหกรณ์มีการพูดคุยกับ BYD เพื่อขอสินเชื่อพิเศษเพื่อจะออกแท็กซี่ไฟฟ้า BYD e6 ให้ครบ 100 คัน ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ และหากมีเงินสนับสนุนจากภาครัฐอาจผลักดันไปให้ถึง 200 คัน เพราะหลังจากนี้แท็กซี่เครื่องยนต์สันดาปจะออกจากระบบปีละประมาณ 10,000 คัน แต่ในปี 2567 ยอดจดทะเบียนแท็กซี่ใหม่ยังมีไม่ถึง 3,000 คัน เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุนทำธุรกิจรถแท็กซี่เพราะการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้อีก 5-6 ปีข้างหน้าอาจมีรถแท็กซี่ให้บริการน้อยลง”

การบำรุงรักษา แผนตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า

ก่อนหน้าจะมีการส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้า BYD e6 20 คันแรก คุณสุพจน์ เปิดเผยว่าทางสหกรณ์มีการฝึกสอนคนขับเกี่ยวกับวิธีชาร์จไฟฟ้า และตั้งกรุ๊ปในแอปพลิเคชั่น Line เพื่อให้คนขับสามารถสอบถามกับทีมวิศวกร BYD โดยตรง เพื่อให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

“ผมมีแผนจะให้ BYD ส่งช่างเทคนิคมาอบรมที่สหกรณ์ของเรา เพื่อให้ช่างของเราเรียนรู้วิธีการซ่อม เหมือนเป็นโชว์รูมอีกแห่งหนึ่ง เพราะอุปกรณ์ต่างๆ เรามีเทียบเท่า BYD และหากต้องซื้อเพิ่มผมก็พร้อมที่จะลงทุนทันที” คุณสุพจน์ อธิบายแผนระยะยาวในการซ่อมบำรุง “ตอนนี้ผมกำลังหาแหล่งซื้อผ้าเบรก และวิธีเปลี่ยนยางมาใช้สเปคเดียวกับยางรถเครื่องยนต์สันดาป โดยไม่มีสัญญาณไฟเตือนโชว์ในระบบ เรากำลังคุยกับ BYD เพื่อให้สอนลบโค้ด และตั้งศูนย์ซ่อมที่สหกรณ์ โดยเราจะให้เขามาวางระบบทั้งหมด แต่ทาง BYD ขอให้ทุก 6 เดือนต้องนำรถแท็กซี่ BYD e6 เข้าตรวจเช็คระบบไฟฟ้าที่ศูนย์บริการเท่านั้น”

นอกจากนี้ทางสหกรณ์แท็กซี่ทองคำ สุวรรณภูมิ วางแผนลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าที่จะมีทั้งหัวชาร์จแบบกระแสตรง (DC Charging) และกระแสสลับ (AC Charging) โดยช่วงแรกจะติดตั้ง 6 หัวชาร์จ และจะเพิ่มเป็น 10 หัวชาร์จหากปล่อยรถ BYD e6 ได้ครบ 100 คันตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

ในส่วนนี้จะมีเงินสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติ และจะตั้งราคาไว้ที่ประมาณ 4-4.50 บาทต่อกิโลวัตต์ (kWh) ซึ่งเป็นราคาต้นทุน เพื่อที่จะเก็บเงินค่าก่อสร้างกลับคืนเข้าสหกรณ์

BYD e6 รถแท็กซี่ไฟฟ้า

การสนับสนุนจากภาครัฐ

สุดท้ายในฐานะผู้นำสหกรณ์แท็กซี่ทองคำ สุวรรณภูมิ คุณสุพจน์ ถือโอกาสส่งเสียงถึงรัฐบาล และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการรถสาธารณะเพิ่มเติม รวมทั้งการปรับราคาค่ามิเตอร์ที่ควรเริ่มต้นที่ 40-45 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน

“แน่นอนว่าผมอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนโครงการรถแท็กซี่ไฟฟ้า เพราะเมื่อมีการกำหนดนโยบายสนับสนุน จะมีเงินงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือ สหกรณ์จะขอกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยทุกอย่างจะอยู่ในระบบของรัฐบาล เป็นวิธีการที่เหมาะสมกว่าการให้เงินสนับสนุนผ่านทางเอกชนเหมือนในอดีต”

“ตอนนี้สถานีบริการแก๊ส NGV ปิดตัวลงไปหลายแห่งเนื่องจากรัฐบาลไม่ได้อุดหนุนราคาเหมือนเมื่อก่อน ทำให้นายทุนที่จะซื้อรถป้ายแดงเพื่อทำแท็กซี่ไม่มีใครกล้าไปลงกับรถยนต์เครื่องสันดาป ทำให้ตอนนี้มีแค่รถแท็กซี่ไฟฟ้าเท่านั้นที่จะไปต่อได้” คุณสุพจน์ แสดงความเห็นในฐานะตัวแทนของสหกรณ์แท็กซี่ทองคำ สุวรรณภูมิ เพื่อให้ภาครัฐ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการรถรับจ้างสาธารณะ

หลังจากนีี้คนกรุงเทพฯ จะได้เห็นรถแท็กซี่ไฟฟ้า BYD e6 ออกมาให้บริการบนท้องถนนมากขึ้น กลายเป็นอีกตัวเลือกของการเดินทางที่สะดวกสบาย และยังช่วยลดการปล่อยไอเสียที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มานานหลายปี เป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่านนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่สร้างจากเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของ BYD

BYD e6 รถแท็กซี่ไฟฟ้า

 

เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล

ขอบคุณข้อมูล: เรเว่ ออโตโมทีฟ/เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save