8 เคล็ดลับที่จะทำให้การปั่นจักรยานไต่เขาเป็นเรื่องง่าย
8 เคล็ดลับที่จะทำให้การปั่นจักรยานไต่เขาเป็นเรื่องง่าย
ไม่ว่าจะฤดูกาลไหนเห็นนักปั่นทั้งหลายไม่เคยหยุดพักน่อง ซึ่งการปั่นในสนามเราก็เคยแนะนำข้อมูลกันไว้หลายครั้งแล้วในคอลัมน์ Hobby มาคราวนี้ เลยอยากจะมาแนะนำเคล็ดลับที่จะทำให้การปั่นจักรยานไต่เขาเป็นเรื่องง่าย เหมาะกับไลฟ์สไตล์แห่งยุคกันหน่อย กับการออกไปปั่นไต่เขาสัมผัสธรรมชาติ
- ปั่นในอัตราที่คงที่
สำหรับนักปั่นทุกคนที่อยากปั่นขึ้นเขา พยามคุมจังหวะปั่นให้คงที่ ประมาณ 80-90 รอบต่อนาที แต่ถ้ารู้สึกว่าน้ำหนักในการปั่นช้าลง เนื่องจากเจอความชันที่มากขึ้น แนะนำให้ปรับเกียร์ให้ต่ำลง และปั่นต่อไปในจังหวะที่เร็วขึ้น และควรหารอบปั่นที่ไม่ทำให้ขาเราล้ามากเกินไป
- ฝึกซ้อมอย่างมีวินัย
การทำให้ร่างกายแข็งแกร่งอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่การเตรียมพร้อม และการจัดตารางซ้อมนั้นสำคัญมาก เพราะถ้ามีวินัยในการซ้อม จะทำให้คุณรู้จุดอ่อนที่ควรปรับแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ และเส้นทางลาดชันได้อย่างไม่ยากนัก หากออกไปซ้อมข้างนอกไม่ได้ อย่างไรก็ควรมีการฝึกกำลังการปั่น หรือกำลังขาด้วยการเดินขึ้นทางชันในยิม ยิ่งซ้อมมากเท่าไหร่ การปั่นไต่เขาจะยิ่งไม่ยากที่จะพิชิตมากเท่านั้น
- ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานในร่างกาย
การปั่นไต่เขาคุณจะเสียพลังงานเยอะมาก ดังนั้นคุณควรกินอาหารที่ให้พลังงานสูงเข้าไปก่อนที่จะมีทริปปั่น เพื่อเป็นการเตรียมร่างกาย นอกจากนี้ยังจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการขึ้นเขา เช่น พกเอา energy bar หรือ energy gel ไปไว้กินระหว่างทาง หรือมีช้อคโกแลตสักแท่งเพื่อไว้กินปิดท้ายตอนจบทริป เพื่อเป็นการให้รางวัลแก่ความสำเร็จของตัวเอง
- อย่าเร่งตามใคร
เมื่อคุณปั่นจนรู้จังหวะร่างกาย และอัตราการเต้นของหัวใจของตัวเองแล้ว แต่ยังต้องไปปั่นกันเป็นกลุ่ม แต่คุณอาจยังไปไม่ถึงในระดับเดียวกันกับพวกเขา อย่าไปเร่งตามใคร เพราะคุณจะเสียพลังงานมากเกินไป ให้ปั่นในระดับที่รู้สึกว่าไหว และสบายร่างกายมากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดอันตรายได้
- เปลี่ยนเกียร์ในเวลาที่เหมาะสม
หลายคนมักจะลากเกียร์เป็นเวลานานกว่าที่จะเปลี่ยน ลองปรับความสมดุลใหม่ แล้วเปลี่ยนเกียร์ให้เร็วขึ้น เมื่อรู้สึกว่าโซ่เริ่มหนืดแล้ว และการปั่นไต่เขาในครั้งนั้นมีความโค้งชัน ให้ลองเปลี่ยนเกียร์บ่อยขึ้นในช่วงโค้ง จะทำให้การปั่นของคุณดีขึ้น
- อย่าวิ่งชิดโค้งด้านใน
โค้งหักศอกเป็นได้ทั้งผู้ร้ายและพระเอก คือเป็นที่ๆ ให้เราพักหายใจได้ แต่ถ้าเกิดควบคุมไม่ได้เราก็อาจจะเสียหลักล้ม และโค้งหักศอกส่วนมากด้านในจะชันกว่าด้านนอก โค้งด้านในสั้นกว่าก็จริง แต่ขาคุณไม่ได้ซาบซึ้งกับความชันนี้แน่ๆ โค้งด้านนอกทำให้คุณคลายเหนื่อยได้บ้างแต่อาจจะไม่ได้ทำความเร็วได้ดีนัก ตำแหน่งที่ดีที่สุดจุดที่เส้นทางสั้นที่สุดและสามารถคงความเร็วไว้ได้ ซึ่งก็คือกลางถนน ถ้าโค้งนั้นมีความชันมากก็อาจจะขยับออกมาด้านกว่าอีกซักหน่อย
- ติดเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
การใช้เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจหรือ power meter เป็นทางที่ดีที่สุดที่จะมั่นใจได้ว่าคุณจะไม่เข้าเขตสีแดง (หัวใจเต้นเร็วเกินไป) การใช้เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจเป็นวิธีที่ถูกที่สุดแล้ว
อัตราการเต้นของหัวใจเป็นสิ่งที่คุณควรคำนึงถึงเมื่อปีนเขา การเลือกหนึ่งโซนแล้วหมายความว่าคุณห้ามไปลึกเกินกว่าโซนที่กำหนดและควรรักษาอัตราการเต้นคงที่ให้ได้ตลอด
- เช็คจักรยานและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด
คุณอาจจะอยากกระโดดขึ้นจักรยานและออกไปปั่นขึ้นเขาเต็มที่แล้ว แต่เราขอให้คุณแน่ใจว่าจักรยานของคุณนั้นพร้อมสำหรับการปั่นแล้ว ลองเช็คเฟืองและเกียร์ต่างๆ ว่าทำงานได้ดีมั้ย และลมยางนั้นมีแรงดันพอสำหรับการออกไปปั่นหรือยัง
ทั้งนี้ทั้งนั้น การปั่นไต่เขา ไม่ว่าจะเป็นเขาไหนๆ นอกจากจะต้องเตรียมร่างกาย และอุปกรณ์ให้พร้อมที่สุดแล้ว อย่าลืมว่าคุณควรจะต้องเช็คเส้นทางให้ดีก่อนออกทริปด้วยเช่นกัน
Comments are closed.