AUDI Q8 & SQ8 E-TRON ปรับตัวสู่ ZERO EMISSION ELECTRIC SUV เต็มระบบ
ในที่สุดอาวดี้พร้อมเดินหน้าในปี 2023 กับรถยนต์เอสยูวีพลังขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า มาพร้อมระบบ Autonomous ที่มี Infrastructure รองรับการใช้งานในเมืองใหญ่
ย้อนไปดูราวปี 2018, AUDI เปิดตัวโมเดล Q8 ตามมาด้วยเวอร์ชันแรง SQ8 ทั้งคู่มาพร้อมกับเครื่องยนต์สันดาปที่ทรงประสิทธิภาพ ขณะที่ฝั่งรถ BEV ค่ายสี่ห่วง นำร่องมาด้วย e-tron quattro ทั้งตัวถัง SUV และ Coupé SUV (Sportback)
ในที่สุด AUDI ได้ทยอยปรับตัวเข้าสู่ยุค ZEV (Zero Emission Vehicle) อย่างเต็มรูปแบบ รถที่ขับเคลื่อนด้วย Fossil Fuel ทั้งรถน้ำมันและกลุ่ม PHEV กำลังถูกแทนที่ด้วยรถพลังงานสะอาด และในที่สุด e-tron quattro ซึ่งเป็น BEV SUV โมเดลแรกของค่าย เมื่อถึงเวลาไมเนอร์เชนจ์ ได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อ ‘Q8 e-tron’ เป็นที่เรียบร้อย
“New face, new name and new corporate identity.”
ประโยคที่อาวดี้ใช้กับการเปิดตัว New AUDI Q8 นอกจากเรื่องลดคาร์บอน ยังยกระดับเข้าสู่เซ็กเมนต์ของ Electric luxury-class SUV อย่างเป็นทางการ
ภายใต้ซับแบรนด์ ‘e-tron’ ของ AUDI การันตีด้วยยอดจำหน่ายทั่วโลกตลอด 4 ปี ราว 150,000 คัน จึงเป็น ‘การเปลี่ยนผ่าน’ จากยุคคลาสสิกของรถที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ มาสู่โลกของยานยนต์ไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) ที่ต่อเนื่อง และไร้การสะดุด
ทั้งหมดล้วนเกิดจากนวัตกรรมที่สั่งสมมา ทั้งของค่าย AUDI และของเครือ VW Group ที่สารพัดเทคโนโลยีของโลกยานยนต์ก้าวล้ำในระดับหัวแถวของโลก โดยเฉพาะในส่วนของ Powertrain นับจากรถเครื่องยนต์ ICEV (Internal Combustion Engine Vehicle)
ไล่เลียงมาเป็นรถ HEV (Hybrid Electric Vehicle) นำมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยลดการทำงานของเครื่องยนต์ ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดมลพิษจากการสันดาป ต่อเนื่องมาจนถึง PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) รองรับการเสียบปลั๊กชาร์จไฟ กระทั่งก้าวเข้าสู่รถ BEV (Battery Electric Vehicle) ในที่สุด
ขณะที่รถพลังงานทางเลือกจากเชื้อเพลิงสะอาดอย่างไฮโดรเจน หรือรถ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) ทาง AUDI ก็ปล่อยรถต้นแบบมาโชว์อย่างต่อเนื่อง (AUDI เรียกเทคโนโลยี FCEV ของตัวเองว่า h-tron) ด้วยแนวคิดในการพัฒนาที่ไม่แตกต่างจากผู้ผลิตสายแข็งสัญชาติเยอรมัน ทั้ง BMW และ Mercedes-Benz ทั้งหมดเพื่อประกันความเสี่ยงของยานยนต์ในอนาคต และลดการพึ่งพาการเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่เพียงทางเลือกเดียว
History & Body:
Q8 นับเป็นรถเซ็กเมนต์ใหม่จากค่าย AUDI เปิดตัวช่วงปลายปี 2018 ตัวถังโดดเด่นด้วยรูปแบบ Full-size Luxury Crossover SUV Coupé ดีไซน์จึงเน้นความสปอร์ตมากกว่า SUV ทุกรุ่นในสายการผลิต ช่วงเปิดตัวในตลาดยุโรป Q8 มีให้เลือก 3 รุ่นเครื่องยนต์ เป็น 1 เบนซิน และ 2 ดีเซล ได้แก่ 55 TFSI, 45 TDI และ 50 TDI ตามลำดับ
ทั้งหมดจัดเป็น Q8 รุ่นพื้นฐาน ซึ่งดูธรรมดาไปในทันที เมื่อต้นสังกัดสั่งเปิดตัวรุ่น Top Performance แรงสุดในสายการผลิต แรงในระดับที่รถสปอร์ตสายพันธุ์แท้ไม่กล้าแหย่ นั่นคือ ‘SQ8 TDI’ รถ SUV Coupé ร่างยักษ์ พร้อมขุมพลังดีเซลบ้าพลัง ที่ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เพียง 4.8 วินาที
Q7 รั้งตำแหน่ง Full-size SUV มีตัวถังใหญ่ที่สุดจาก AUDI มาอย่างยาวนาน ทว่า หลายคนคาดการณ์ว่า Q8 ผู้มาใหม่ อาจมาแย่งตำแหน่งนี้ไป แต่หากพิจารณาจากความยาวร่วม 5 เมตร และระยะฐานล้อในระดับ 3 เมตร จะเห็นได้ว่า SUV ร่างยักษ์ทั้ง 2 โมเดลจากค่ายสี่ห่วง มีความใกล้เคียงกันมากในเรื่องของมิติ หลักๆ ความแตกต่างของตัวรถจึงอยู่ที่ดีไซน์ เพราะ Q8 ไม่ใช่รถสำหรับครอบครัวเหมือน Q7 แต่เน้นความสปอร์ต และโฉบเฉี่ยว เป็นรถ SUV ขนาดใหญ่ ที่อัดแน่นด้วยความพรีเมียม และความไฮเทค พร้อมรองรับการเดินทางแบบสบายๆ ในทุกเส้นทาง และ AUDI ได้มอบตำแหน่ง Top Model ของตระกูล Q family ให้กับ Q8 ไปเป็นที่เรียบร้อย
ก่อนหน้านี้ แม้ AUDI จะปล่อยรถต้นแบบ BEV หรือยานยนต์ไฟฟ้า 100% โชว์ตัวมาแล้วหลายโมเดล แต่ ‘e-tron 55 quattro’ นับเป็นรถไฟฟ้าโมเดลแรกที่ AUDI พร้อมผลิตจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ความน่าสนใจอยู่ที่วิศวกร AUDI ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการสร้างรถยนต์สมรรถนะสูงมายัง BEV ของพวกเขาอย่างครบถ้วน เป็น know-how ที่สร้างสรรค์เทคโนโลยี พร้อมบุคลิกเฉพาะตัวให้กับรถทุกโมเดลจากค่ายนี้ ดังนั้น BEV ภายใต้แบรนด์ ‘e-tron’ ในอนาคต จะได้รับการถ่ายทอดฟีลลิ่ง และอารมณ์ในการขับขี่สไตล์ AUDI มาแบบครบถ้วน
นอกเหนือจากพาหนะใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE: Internal Combustion Engine) เป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อน ปัจจุบันเรามีโอกาสสัมผัส BEV กระทั่งจะกลายเป็นพาหนะปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป โดย BEV เกือบทุกรุ่นจากทุกผู้ผลิต จะมาพร้อมสถาปัตยกรรมในการออกแบบ BEV ที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือ การวางชุดแบตเตอรี่ไว้ใต้พื้นห้องโดยสาร ระหว่างเพลาหน้าและเพลาหลัง เพื่อลด C.G. ของรถทั้งคัน จากนั้นใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อโดยตรง ซึ่งมีให้เห็นทั้งแบบขับเคลื่อนล้อหน้า, แบบขับเคลื่อนล้อหลัง และขับเคลื่อนทั้ง 4 ล้อ ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 2 ตัว เชื่อมต่ออยู่กับล้อหน้าและล้อหลัง
BEV เกือบทุกรุ่นจากทุกผู้ผลิต จะมาพร้อมสถาปัตยกรรมในการออกแบบเดิมๆ นั่นคือ การวางชุดแบตเตอรี่ไว้ใต้พื้นห้องโดยสาร ระหว่างเพลาหน้าและเพลาหลัง เพื่อลด C.G. ของรถทั้งคัน จากนั้นใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อโดยตรง ซึ่งมีให้เห็นทั้งแบบขับเคลื่อนล้อหน้า แบบขับเคลื่อนล้อหลัง และขับเคลื่อนทั้ง 4 ล้อ ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 2 ตัว เชื่อมต่ออยู่กับล้อหน้าและล้อหลัง
ไฮไลต์ของ Electric SUV ‘e-tron 55 quattro’ ในวันนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องพละกำลังรวม 300 kW หรือแรงบิดรวม 664 Nm หรือรถวิ่งใช้งานได้ไกลราว 400 กิโลเมตร/ชาร์จ แต่ AUDI ได้ใส่รายละเอียด “ในความเป็นรถ” ให้กับ e-tron ในทุกองค์ประกอบ อาทิ ระบบแอโร่ไดนามิก, ระบบระบายความร้อน, การตอบสนองของมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ถอดบุคลิกมาจากเครื่องยนต์ และระบบขับเคลื่อน quattro
แม้ว่าการขับเคลื่อนแบบ AWD จะมาจากมอเตอร์ไฟฟ้า แต่วิศวกร AUDI ได้ออกแบบโปรแกรมการทำงาน กระทั่งระบบ quattro จาก e-tron ให้ประสิทธิภาพการในขับเคลื่อนที่ไม่แตกต่างกันจากระบบ quattro แบบดั้งเดิม
ตัวถังของ e-tron 55 quattro จัดอยู่ในประเภท ‘full-size SUV’ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับ Q7 และ Q8 จากมิติ ความกว้าง, ความยาว และความสูง ที่ 1,935, 4,902 และ 1,616 มิลลิเมตร ตามลำดับ ในส่วนของความกว้าง วัดรวมกระจกมองข้างแบบ Virtual Exterior Mirrors
(อดีตเรียก e-mirrors) อุปกรณ์นี้ถูกติดตั้งแทนที่กระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง จากกระจกหูช้างบานใหญ่ที่เราคุ้นเคยใน SUV จะเหลือเพียงก้านบางๆ ที่โผล่ยื่นมาจากตัวรถ และเมื่อ facelift มาเป็น Q8 e-tron
เพื่อเป็นรถปี 2023 จะมีมิติตัวถังเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยที่ 1,937, 4,915 และ 1,619 มิลลิเมตร ตามลำดับ และหากเป็น SQ8 e-tron ทั้งตัวถังปกติ และ Sportback จะเตี้ยกว่า 2 มิลลิเมตร และกว้างกว่า 39 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อจัดมาที่ 2,928 มิลลิเมตร เพื่อเพิ่ม Legroom ของเบาะนั่งแถวสอง
โดยเฉพาะ Q8 e-tron ตัวถัง SUV มีความจุห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง 569 ลิตร ขณะที่ตัวถัง Sportback จุได้ที่ 528 ลิตร โดยทั้ง 2 รูปแบบตัวถัง มีพื้นที่เก็บสัมภาระเพิ่มใต้ฝากระโปรงหน้า จุได้ 62 ลิตร พื้นที่ส่วนนี้ AUDI เรียกว่า ‘Frunk’
วกกลับมาที่ตัวก้านของ Virtual Exterior Mirrors ออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ ติดตั้งกล้องมุมกว้างขนาดเล็กข้างละ 2 ตัว กล้องตัวแรกให้มุมมองในลักษณะ top-view อำนวยความสะดวกในการถอยจอด รวมทั้งเพิ่มความแม่นยำในการจำลองภาพจากมุมบนแบบ 360 องศารอบตัวถัง กล้องตัวที่สองจะส่งภาพท้ายรถจากด้านข้างตัวถัง ซ้าย-ขวา ไปแสดงผ่านจอในห้องโดยสาร โดยจอของระบบนี้ถูกติดตั้งบนแผงข้างบานประตู ทั้งฝั่งผู้ขับและฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับการมองกระจกมองข้างปกติ
จอข้างบานประตูเป็นแบบสัมผัส ความละเอียด 1,280 x 1,080 พิกเซล ผู้ใช้สามารถเลือกปรับมุมมองภาพจากกล้องนอกรถ ผ่านจอได้เช่นเดียวกับการ zoom in หรือ zoom out บนหน้าจอแท็บเล็ต ขนาดตัวเรือนของ Virtual Exterior Mirrors ภายนอกรถจึงเล็กลงมาก แต่ยังคงติดตั้งไฟเลี้ยว LED ได้เช่นเดิม และช่วยลดแรงต้านอากาศได้ดียิ่งขึ้น
ตัวเลขสัมประสิทธิ์แรงเสียดทางอากาศ (Cd.) ของ e-tron 55 quattro อยู่ที่ 0.28 จัดอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับ SUV ขนาดตัวใกล้เคียงกัน และพอ facelift มาเป็น Q8 e-tron ลู่ลมยิ่งขึ้น ตัวถัง SUV มีตัวเลขระดับ 0.28-0.27 ขณะที่ Q8 e-tron Sportback ซึ่งใช้ส่วนท้ายของหลังคาลาดเทในสไตล์คูเป้ กดตัวเลข Cd. เหลือเพียง 0.26-0.24 เท่านั้น
กระจังหน้ารถติดตั้งชุด Intelligent Controlled Air Intake ลักษณะเป็นครีบบานเกล็ด จะ ‘ปิด’ ไม่ให้อากาศไหลผ่านเข้าไปในห้องเครื่องและตัวถัง เพื่อลดแรงต้านอากาศ และจะ ‘เปิด’ ปล่อยให้ลมเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในตัวถัง เพื่อช่วยสร้างแรงกด (และระบายความร้อน) ขณะรถใช้ความเร็ว สำหรับใต้ท้องรถถูกซีลปิดอย่างมิดชิด เพื่อลดการสะสมของมวลลมอันเป็นที่มาของแรงยกตัวถัง
ไฟหน้าจัดเต็มด้วยระบบส่องสว่าง Digital Matrix LED มาพร้อมสารพัดลูกเล่น เพื่อให้การกระจายลำแสงของไฟหน้าครอบคลุมกับทุกสถานการณ์การขับขี่ ส่วน Daytime Driving Light ถูกวางเป็นเส้นขอบภายในโคมไฟหน้า ซึ่งกลายเป็น Light Signature ของรถยนต์ AUDI ไปแล้ว ขณะที่โคมไฟท้ายใช้หลอด LED พร้อมชุดสะท้อนแสง 3D glass สร้างมิติในการมองเห็นได้เป็นอย่างดี สำหรับมุมมองด้านข้าง พื้นผิวตัวถังช่วงซุ้มล้อหน้าและล้อหลัง มีการเล่นระดับ เพิ่มความน่าสนใจให้กับ Q8 e-tron ได้อีกไม่น้อย
800-volt System Voltage: Electric SUV
เทคโนโลยีเด่นใน e-tron GT ได้แก่ ชุดขับเคลื่อน ซึ่งยกระดับไปใช้กระแสไฟ 800 โวลต์ จากที่รถไฟฟ้าและรถไฮบริดทั่วไป ใช้กันอยู่ที่ 400 โวลต์ ใน Q8 และ SQ8 e-tron ก็ไม่ต่างกัน รองรับการชาร์จทั้งไฟ AC และ DC กำลังไฟเริ่มต้น 11 kW ไปจนสุดที่ 170 kW
นั่นส่งผลให้เกิดประโยชน์ 2 ประการ ประการแรก ช่วยลดระยะเวลาในการชาร์จ ประการที่สอง วิศวกรกล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าทั้งระบบที่ 800-volt จะช่วยลดน้ำหนักและขนาดของสายเคเบิลเมื่อเทียบกับ 400 โวลต์ เทคโนโลยีนี้ถูกถ่ายทอดมาจากตัวแข่งไฮบริดในสนามเลอมังส์ 24 ชั่วโมง
แบตเตอรี่ถูกวางไว้ในส่วนของพื้นห้องโดยสารเป็นมาตรฐาน Pure EV ตัวเรือนแบตเตอรี่ใช้เคสอะลูมิเนียมซีลกันน้ำ กันฝุ่น ได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรถ เพื่อลดความเสียหายของแบตเตอรี่ในกรณีที่รถประสบอุบัติเหตุ
ชุดแบตเตอรี่มาพร้อมระบบควบคุมอุณหภูมิ สร้างความเสถียรในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าในทุกสภาพภูมิอากาศ Q8 50 e-tron มีความจุแบตรวม 89 kWh net (95 kWh gross) การชาร์จรองรับกำลังไฟกระแสตรง (DC: Direct Current) สูงสุด 150 kW ขณะที่ Q8 55 e-tron และ SQ8 e-tron ได้แบตขนาดใหญ่กว่า 106 kWh net (114 kWh gross) การชาร์จรองรับกำลังไฟ DC สูงสุดที่ 170 kW
Q8 50 e-tron มีความจุรวม 89 kWh net (95 kWh gross) การชาร์จรองรับกำลังไฟ DC สูงสุด 150 kW ขณะที่ Q8 55 e-tron และ SQ8 e-tron ได้แบตขนาดใหญ่กว่า 106 kWh net (114 kWh gross) การชาร์จรองรับกำลังไฟ DC ได้สูงสุด 170 kW
แบตลูกใหญ่ (ใน Q8 55 e-tron และ SQ8 e-tron) ชาร์จจาก 10-80% รอเพียง 31 นาที หรือชาร์จราวครึ่งชั่วโมง เมื่อชาร์จ DC, 170 kW รองรับการเดินทางในสภาพปกติได้ไกล 420 กิโลเมตร (WLTP) และเมื่อชาร์จผ่านไฟบ้าน กระแสสลับ (AC: Alternating Current) แรงเคลื่อน 11 kW จะใช้เวลาราว 11 ชั่วโมงครึ่ง หรือชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืน และลดเวลาเหลือเพียง 6 ชั่วโมง เมื่อชาร์จผ่านไฟ AC แรงเคลื่อน 22 kW ส่วนการชาร์จแบตลูกเล็ก (ใน Q8 50 e-tron) ผ่านไฟบ้าน AC ทั้ง 11 kW และ 22 kW จะใช้เวลา 9 ชั่วโมง 15 นาที และ 4 ชั่วโมง 45 นาที ตามลำดับ ตัวเลขทั้งหมดทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมปกติ
Powertrain:
เช่นเดียวกับ e-tron GT การตั้งชื่อรุ่นย่อยของ Q8 e-tron ยังคงอ้างอิงกับรถ AUDI รุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของค่าย แตกออกเป็น 3 รุ่น ได้แก่ Q8 50 e-tron, Q8 55 e-tron และ SQ8 e-tron (แต่ละรุ่นมี 2 รูปแบบตัวถัง คือ SUV กับ Sportback)
โดยรถ Q8 e-tron รุ่นมาตรฐาน ปลดปล่อยแรงม้าจากมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่แยกกันขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลังอย่างอิสระ
ขณะที่ SQ8 e-tron ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 3 ตัว แบ่งเป็นล้อหน้า 1 ตัว และล้อหลังอีก 2 ตัว นั่นหมายความว่า Q8 e-tron เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ในรูปแบบ ‘electric all-wheel drive’
การทำงานระหว่างชุดขับเคลื่อนด้านหน้าและด้านหลัง ของมอเตอร์ไฟฟ้า (electric machine), ระบบส่งกำลัง และชุดควบคุม pulse-controlled inverter จะถูกผสานเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ขนาดอันกะทัดรัด
ตัวมอเตอร์ไฟฟ้าถูกวางในลักษณะ ‘ต่อโดยตรง’ อยู่กับเพลาขับ เพื่อลดการสูญเสียในเชิงกล Q8 50 e-tron กำลังรวมในการขับเคลื่อนอยู่ที่ 250 kW หรือราว 335 PS แรงบิดสูงสุด 664 Nm ตัวถัง SUV เดินทางได้ไกล 491 กิโลเมตร (WLTP)
ขณะที่ตัวถัง Sportback ทำได้ 505 กิโลเมตร (WLTP) ถัดมา Q8 55 e-tron กำลังรวมในการขับเคลื่อนอยู่ที่ 300 kW หรือประมาณ 402 PS แรงบิดสูงสุดเท่ากันที่ 664 Nm ตัวถัง SUV เดินทางได้ไกล 582 กิโลเมตร (WLTP) ขณะที่ตัวถัง Sportback ทำได้ถึง 600 กิโลเมตร (WLTP) โดยทั้ง 2 รุ่น ถูกจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 200 กม./ชม.
สำหรับตัวแรง SQ8 จัดเต็มด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว ชุดหลังเป็น Twin-Motor ให้กำลังขับเคลื่อนรวม 370 kW หรือ 496 PS แรงบิดสูงสุดมหาศาลถึง 973 Nm ตัวถัง SUV เดินทางได้ไกล 494 กิโลเมตร (WLTP) ขณะที่ตัวถัง Sportback ทำได้ 513 กิโลเมตร (WLTP) และ SQ8 ทั้ง 2 รูปแบบตัวถังถูกจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 210 กม./ชม.
ตัวแรง SQ8 e-tron จัดเต็มด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว ชุดหลังเป็น Twin-Motor ให้กำลังขับเคลื่อนรวม 370 kW หรือ 496 PS แรงบิดสูงสุดมหาศาลถึง 973 Nm ตัวถัง SUV เดินทางได้ไกล 494 กิโลเมตร (WLTP) ขณะที่ตัวถัง Sportback ทำได้ 513 กิโลเมตร (WLTP) ถูกจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 210 กม./ชม.
ไฮไลต์ของ Q8 และ SQ8 e-tron อยู่ที่ระบบ ‘electric all-wheel drive’ ถ้าเป็นรถ ICE จากค่ายนี้ เราจะคุ้นเคยในชื่อ ‘quattro’ เป็นระบบ AWD ที่ใช้ระดับในการกระจายแรงขับเคลื่อนระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง มาช่วยควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวของรถ โดยการทำงานของ ‘quattro’ จะเชื่อมโยงกับระบบ AUDI drive select หรือการเลือกโหมดการขับขี่ของผู้ขับ
แน่นอนว่า ฟีลลิ่งทั้งหมดจากระบบ ‘quattro’ ที่ AUDI สั่งสมประสบการณ์มากว่า 40 ปี ได้ถูกถ่ายทอดมายังแต่ละสเต็ปในการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าทั้ง 2 ตัว ที่แยกกันขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลังด้วยทั้งหมด ซึ่งการขับเคลื่อนลักษณะนี้ AUDI ได้โชว์เทคโนโลยีมาหลายรอบแล้ว กับรถต้นแบบหลายรุ่น ในชื่อระบบ ‘e-quattro’ แต่สุดท้าย AUDI เลือกจะสื่อสารกับผู้บริโภคด้วยชื่อ ‘electric all-wheel drive’ และมันตอบสนองได้เร็วกว่าระบบ ‘quattro’ เวอร์ชันล่าสุด (ในรถ ICE) ที่ทำงานแบบกลไก-ไฟฟ้า ถึง 5 เท่า
Chassis & Suspension: Electric SUV
ระบบกันสะเทือนของ Q8 และ SQ8 e-tron ได้รับพัฒนามาพร้อมกับแพลตฟอร์ม ‘MBL Evo’ ใช้ Adaptive Air Suspension (แอร์สปริง) หรือกันสะเทือนที่ปรับเปลี่ยนความสูง และรูปแบบในการตอบสนองได้ตามความเร็วรถ
โครงสร้างของกันสะเทือนใช้อะลูมิเนียมที่ผลิตจากกรรมวิธี Forced เป็นพื้นฐาน เพื่อลดน้ำหนักใต้สปริง ด้านหน้าเป็นแบบปีกนกคู่ และด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงก์
การทำงานของช่วงล่างถุงลม ถูกควบคุมผ่านซอฟต์แวร์ ECP (Electronic Chassis Platform) หน้าที่ของระบบนี้ คือ การปรับระดับความสูงของตัวถัง และปรับระดับการตอบสนอง ทั้งนุ่มนวลและหนึบแน่นของโช้คอัพ ให้แปรผันไปตามความเร็วรถ
Adaptive Air Suspension ใน Q8 e-tron เป็นช่วงล่างถุงลมเวอร์ชันล่าสุด ด้านหน้าใช้แอร์สปริงแบบ Three-chamber มีความจุลมเพิ่มขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาตร
ขณะที่ส่วนของ Damper หรือโช้คอัพ คู่หน้าจัดเต็มด้วย Single-tube ซึ่งเป็นโช้คไฟฟ้า ที่ทำงานเชื่อมโยงกับระบบ ECP นั่นเอง
ระบบ ECP จะเข้าไปคอนโทรลระดับการหน่วงของโช้คอัพ (คู่หน้าซ่อนอยู่ภายในชุดของถุงลม) นอกจากนี้ ECP ยังแอบเข้าไปทำงานขณะรถออกตัว หรือเบรกอย่างรุนแรง และขณะรถเข้าโค้ง เพื่อรักษาสมดุลบนตัวถังให้อยู่ในสภาพปกติด้วย ถุงลมใน Q8 e-tron สามารถปรับเปลี่ยนความสูงของตัวถังได้มากถึง 76 มิลลิเมตร ตามรูปแบบการขับขี่
ปิดท้ายด้วยระบบช่วยผู้ขับ (Driver Assistance Systems) ใน Q8 และ SQ8 e-tron นับรวมได้กว่า 40 ระบบ ทั้งที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และเป็นออปชันที่ลูกค้าสั่งติดเพิ่มได้ โดยทั้งหมดทำงานจาก radar sensors มากถึง 5 ตัว, camera sensors รอบคันรวม 5 ตัว และ ultrasonic sensors อีก 12 ตัว
ทั้งหมดนอกจากเรื่องลดอุบัติเหตุ รถ BEV ไร้มลพิษทั้ง Q8 และ SQ8 e–tron ยังออกแบบมาสำหรับระบบ Autonomous หรือระบบขับขี่อัตโนมัติ ที่มี Infrastructure รองรับการใช้งานในหลายพื้นที่ของเมืองใหญ่ เอาไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมแล้วสำหรับการเป็นเรือธงของค่ายมุ่งหน้าสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้ากับ Electric SUV รุ่นใหม่ล่าสุด
เรื่อง : พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย Off Road Magazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ Off Road Magazine
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.