Along the Ho Chi Minh trail War history. ตามรอยเส้นทางสายประวัติศาสตร์สงครามโฮจิมินท์
ปฐมบทก้าวย่างสู่เส้นทาง AEC ครั้งนี้ผู้เขียนเองได้พยายามศึกษาหาเรื่องราวเส้นทางที่มีกลิ่นไอ ยุคสงครามเวียดนาม สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ อาจจะแตกต่างไปจากคอลัมน์ SPECIAL TRIP ที่ส่วนใหญ่จะเดินทางทั่วไปตามป่าเขาลำเนาไพรในประเทศไทยของเราเอง แต่ครั้งนี้ผมเองจะพาท่านท่องโลกกว้าง ไปเปิดประตูสู่ AEC บ้านพี่เมืองน้องซึ่งไม่ไกลจากบ้านเรานัก นั่นก็คือ สปป.ลาว เพื่อนบ้านเรานี้เอต
ก่อนการเดินทางกระผมเอง ได้ไปศึกษาหาข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์เส้นทางสายนี้ซึ่งคนไม่ใช่ใครที่ไหน “น้า POP MT” ของเรานี้เองซึ่งได้ทราบกฎระเบียบต่างๆ ในการขับรถในสปป.ลาว หลังจากได้ข้อมูลรายระเอียดต่างแล้ว เราจึงวางแผนกำหนดการเดินทางในครั้งนี้ ซึ่งเดิมทีเราจะไป เมืองอัตตะบื้อ แขวงเซกอง ในช่วงต้นฝน แต่ก็มีเพื่อนสมาชิกหลายคนที่ติดภารกิจจึงได้เลื่อนการเดินทางออกไป หลังจากที่เพื่อนสมาชิกหลายๆ ท่านได้เคลียร์เรื่องงานประจำให้ว่าง ประจวบด้วยผู้เขียนเองทำงานด้านการศึกษาจึงเสนอไปว่า ช่วงปิดเทอมเดือนกันยายนเหมาะที่สุด เพราะอยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว การเดือนทางครั้งนี้จึงบังเกิดขึ้น โดยเพื่อนร่วมทริปลาวใต้ในครั้งนี้สมาชิก 8 คน รถ 3 คัน ประกอบด้วย เสี่ยเล็ก แห่ง ASIA AUTOSHOP พร้อมเนว์คู่ใจ จะเด ควบเจ้า TOYOTA Landcruiser vx80 คันงามตะลุยทริปนี้ และทีมงาน FORD เรนเจอร์ ประกอบด้วย เกรียง เชษฐ์ และน้องเก่ง สุดหล่อที่มาไกลจากเพชรบูรณ์เพื่อทริปนี้โดยเฉพาะ สำหรับบททดสอบช่วงล่าง NEW FORD ในเส้นทางออฟโรด
ส่วนผู้เขียนนั้นไปสมทบกับ น้าฮาร์ท หรือ ป๋าเจตต์ เชียงใหม่ ที่แกลงทุนเปลี่ยนรองเท้าใหม่ให้เจ้า D-MAX คันขาวสุดหล่อเพื่อความมั่นใจในต่างแดน การเดินทางในครั้งนี้เราได้ติดต่อประสานงานไปยังรายการทีวีรายการหนึ่งของสปป.ลาว ชื่อรายการ “โจแดนจำปา” ซึ่งทำรายการคล้ายๆ กับ รายการเนว์วิเกเตอร์บ้านเรา ได้รับคำตอบว่าเขาจะนำทางให้เราในทริปนี้ แต่มีการเปลี่ยนแผนจากแขวงเซกองมาเป็นแขวงสะหวันนะเขต โดยเราจะต้องเดินทางเข้าสปป.ลาว ที่ด่านจังหวัดมุกดาหาร ติดกับแขวงสะหวันนะเขต
การเดินทางในวันแรก เราเสียเวลาตรงด่านนิดหน่อย ซึ่งกว่าจะข้ามไปฝั่งลาวได้เกือบเที่ยงวัน เคลื่อนเข้าไปในตัวเมืองเพื่อไปสมทบขบวนออฟโรดเจ้าถิ่น ที่นำโดยทีมงานช่างโอฬาน และครั้งนี้เป็นเป็นการบังเอิญจริงๆได้เจอลูกศิษย์เก่าของผม เดย์ เชียงคำ ที่ไม่ได้เจอกันมา 10 ปีหลังจากเรียนจบหันมาเอาดีด้วยการข้ามมาขายอะไหล่รถยนต์อยู่ฝั่งนี้ ผมสอบถามอ้ายโจว่า คืนนี้เราจะไปเดินทางไปนอนที่ไหน แกจึงบอกเราว่าจะพาไปนอนฟังเสียงละมั่ง ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยที่จะไปนอนกางเต็นท์ในป่าที่มีฝูงละมั่งฝูงสุดท้ายของโลก และปกติแล้วนักท่องเที่ยวทั่วๆ ไป ในลาวไม่อนุญาตให้กางเต็นท์นอนได้ตามอำเภอใจเหมือนบ้านเรา ดังนั้นการไปนอนพักแรมกลางป่าเช่นนี้นับเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งของคณะเรา
ขบวนใช้เส้นทางลาดยางปกติราวๆ 40 กม. จนไปถึง หลัก 35 ซึ่งเรามาพักทานอาหารเที่ยงที่นี้ ผมเองได้สอบถามทางอ้ายโจว่า เราจะขับบนทางลาดยางแบบนี้อีกนานมั้ย ( ถนนแบบนี้บ้านผมมีแล้ว) เพราะตอนนี้อยากออกกำลังเกียร์กันเต็มแก่ ได้คำตอบมาว่าอีกแค่ 3 กม. ก็จะเจอกับเส้นทางออฟโรดแล้ว
หลังจากทานเฝอ (ก๋วยเตี๋ยว) ตุนแรงกันเรียบร้อย พวกเราก็วิ่งตามเส้นทางเข้าสู่เมืองแก้งก๊อก เจอเส้นทางที่ต้องเรียกได้ว่าเขย่าตับไตใส้พุง อาหารที่กินไปแทบจะกลับออกมาทางเดิม ใช้เวลาไปราวๆ 1 ชั่วโมง ระยะประมาณ 30 กม. เร็วบ้าง ช้าบ้าง หลบรถช่วงสะพานในแต่ละช่วง เพราะสะพานที่นี้รถไม่สามารถวิ่งสวนทางกันได้ ขับผ่านแนวต้นตาลซึ่งธรรมชาติได้รังสรรค์ความสวยงามในเส้นทางสายนี้ ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส พวกเราวิ่งไปอีกสักพักจึงแวะจอดพักขบวนที่บ้านดอนแดง ซึ่งกลางหมู่บ้านมีบึงขนาดใหญ่อยู่บึงแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า บึงปลาผา(ตะพาบน้ำ) อาศัยอยู่จำนวนมาก มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ผมเองไม่ได้เข้าไปดูข้างใน เพราะมัวแต่สาละวนเก็บบรรยากาศชนบทในหมู่บ้าน ส่วนระยะทางจากบ้านแก้งก๊อกมาบ้านดอนแดงระยะทางประมาณ 20 กม. ถือว่าไม่ได้ลำบากมากเท่าไร แต่ฝุ่นเยอะมาก สงสารแต่รถเซอร์วิสที่ไม่มีแอร์เปิดรับอากาศข้างนอกต้องดมฝุ่นตามหลังเราตลอดเส้นทาง เราก็ออกเดินทางกันอีกครั้ง โดยใช้เส้นทางมุ่งหน้าสู่เมืองชลนะบุรี แวะจอดรับหัวหน้าป่าไม้ผู้รับผิดชอบเขตพื้นที่ป่าฝูงละมั่งแห่งนี้ พร้อมกับเอาหนังสือจากเจ้าแขวงมาแสดงยืนยันว่าเป็นนักท่องเที่ยวจากฝั่งไทย (ตรงหนังสือราชการตรงนี้ทางรายการโจแดนจำปาดำเนินการให้ครับ)
จากนั้นเดินทางมุ่งหน้าสู่บ้านสองห้องระยะทาง 30 กม. ยังคงวิ่งอยู่บนถนนลูกรังสลับข้ามลำห้วย ผ่านหมู่บ้าน ผ่านเส้นทางลักษณะป่าเต็งรัง พื้นที่คล้ายกับทุ่งดอกกระเจียว ไม่นานก็เดินทางมาถึงเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นลานหญ้ากว้าง แต่มองรอบๆ แล้ว ไม่มีแหล่งน้ำ ป๋าเจตต์จึงบอกว่าเราควรหาพื้นที่กางเต็นท์ใกล้แหล่งน้ำน่าจะเหมาะกว่า เพื่อที่จะได้อาบน้ำและล้างภาชนะใส่อาหาร จึงพากันย้ายจากลานกางเต็นท์ไปจุดริมลำห้วย หลายคนรีบจัดแจงกางเต็นท์ดึงฟรายชิสกันฝนไว้ก่อน ส่วนผมเองไม่ได้รีบอะไร เพราะได้ของดีจากเอ้าท์ดอร์ อินโนเวชั่น หรือ EQUINOX มาทดสอบสำหรับฤดูฝน เป็นเต็นท์ของ KARANA โยนกางง่ายและไว
ความมืดเริ่มปกคลุมอย่างรวดเร็วในราวป่า บรรยากาศรอบด้านเงียบสงบ พวกเราจัดแจงทำอาหารและร่ำสุรากับมิตรสหายใหม่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผมเองปลีกตัวไปเก็บภาพบรรยากาศค่ำคืน นอนดูแสงดาวกลางป่าในต่างแดน อากาศเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ ยิ่งตึกน้ำค้างเริ่มแรง มุดเข้าเต็นท์นอนฟังเสียงหริ่งหรีดเรไรที่ร่วมกันบรรเลงเพลงกลางไพร บรรยากาศแบบนี้ซินะที่หลายคนถวิลหา
ช่วงเวลาประมาณตี 4 ผมต้องสะดุ้งตื่น เพราะมีเสียงคำราม ไม่ใช่เสือสางที่ไหนหรอกครีบ เป็นเสียงกรนจจากเต็นท์ข้างๆ นั่นเอง เล่นเอานอนไม่หลับ เลยหาวิธีการให้คนอื่นตื่นเช้าๆ โดยก่อไฟไล่ความหนาวเย็น พร้อมกับนำกล้องตัวเก่ง มาถ่ายภาพทางช้างเผือกไปพรางๆ รับรุ่งอรุณวันใหม่
ก่อนฟ้าสาง อ้ายโจก็ตื่นพร้อมกับเรียกลูกน้องให้ตื่น เพื่อจะพาพวกเราจะไปตามล่าหาฝูงละมั่งที่ออกหากินในช่วงเช้า ตามคำบอกเล่าของเจ้าถิ่นว่า ละมั่งฝูงนี้จะไม่ตื่นตกใจกับเสียงรถ ตรงกันข้ามจะกินหญ้าอยู่กับที่ไม่สนใจอะไร การขับรถหาฝูงละมั่งในครั้งนี้ปรากฎว่าเราไม่เจอสิ่งที่คาดหวัง เจอแต่รอยเท้ากับกองอุจจาระ เราจึงย้อนกลับมาที่แคมป์ เก็บเต็นท์เก็บสัมภาระออกเดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองเซโปน โดยใช้เส้นทางลัดไม่ออกถนนหลัก เรามุ่งหน้าเข้าสู่บ้านสนามไชย และบ้านภูตูบมูบ เส้นทางคับแคบเพราะเป็นทางมอเตอร์ไซค์ เราขับลัดเลาะตามแนวต้นไม้ข้ามลำห้วยปลาผา บ้านนาหญ้าปล้อง และเข้าสู่เมืองเซโปน ระยะทางทั้งหมดราวๆ 100 กม.
เมืองเซโปนอยู่ก่อนถึงด่านลาวบาว ประเทศเวียดนาม วันนี้กว่าจะถึงที่พักก็เกือบ 2 ทุ่ม โดยวันนี้เราเลือกเราเข้าพักที่โรงแรมในตัวเมืองแทนการไปหาทำเลกางเต็นท์นอน สำหรับที่นี้สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดก็คือ วัฒนธรรมแถวนี้จะค่อนไปทางเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอาหารการกิน ดีนะที่เราเตรียมเสบียงมากันเอง ไม่งั้นคงแย่แน่ๆ ด้วยว่ารสชาติอาหารที่ไม่ค่อยถูกปากคณะเราเท่าไรนัก เพราะหนักไปทางจืดเสียมากกว่า
เช้าวันที่สามผมเองออกมาเดินเก็บภาพตลาดเช้าของเมืองเซโปน ที่นี้จะว่าไปอาหารทั่วไปไม่ต่างกับชนบทบ้านเราเท่าไร แต่ที่เห็นได้ชัดคือ มีซากสัตว์นานาชนิดที่วางขายเป็นเรื่องปกติของบ้านเขา ทีมงานเราซื้อเสบียงไปหลายอย่างเลยทั้ง เก้ง หมูป่า เพื่อเป็นอาหารในคืนนี้ จากนั้นออกเดินทางเข้าสู่เส้นทางยุคสงครามเวียดนามหรือเส้นทาง”สายโฮจิมินท์” แต่ก่อนอื่นทางทีมงานโจแดนจำปา พาเราไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สงครามลาวกับเวียดนามร่วมรบเพื่อขับไล่อเมริกาที่เข้ามารุกราน ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากระเบิดนานาชนิดแล้ว ผลพวงของสงครามในครั้งนั้นเด่นชัดสุดก็คือ ฝนเหลือง ที่ทหารอเมริกันใช้ทิ้งมาจากเครื่องบิน ปูพรมเหนือผืนป่าอันกว้างใหญ่ของเวียดนามใต้ รวมทั้งลาว เพื่อทำลายป่าที่หลบซ่อนของทหารเวียดกง แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว 30 ปีเศษ แต่ผลกระทบของฝนเหลืองไม่ได้เฉพาะมีผลกระทบต่อผู้คนเท่านั้น ยังกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมโดยรวมอีกด้วย
เราแวะชมพิพิธภัณฑ์ราวๆ หนึ่งชั่วโมง จากนั้นก็เดินทางยังชายแดนเวียดนามโดยใช้เส้นทางโฮจิมินท์ แวะเข้าไปแจ้งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของลาวว่าเราจะเข้าไปกางเต็นท์ที่ ระวินระเวิง ซึ่งเป็นยอดเขาสูงประมาณ 1,000เมตร ห่างชายแดนเวียดนามเพียงแค่ 3 กม. เส้นทางจากเมืองเซโปนถึงยอดเขาระวินระเวิง ระยะทาง 90 กม. พวกเราขับรถมากันเรื่อยๆ แวะไปรายงานตัวที่จุดตรวจและรับเจ้าหน้าที่ทหารชุดคุ้มกันความปลอดภัยไปอีก 3 นาย งานนี้มีไนท์ช็อตเราขับผ่านหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นชนเผ่า บ่าแวะ ละแนด ลาวเทิง ชาวบ้านเริ่มออกมาดูหลังจากขบวนรถของพวกเราขับผ่านหมู่บ้านไปอย่างช้าๆ เพราะมีทั้ง เด็ก คนแก่ หมู หมา วิ่งกันให้ทั่ว กว่าจะถึงที่หมายก็ปาไป 2 ทุ่มกว่าๆ พวกเราและทีมงานรีบจัดแจงช่วยกันทำอาหารและกางเต็นท์ ท่ามกลางบรรยากาศที่มืดมิดบนยอดเขา มีหลายคนบอกว่าต้องบรรยากาศแบบนี้ที่ใช่เลย เหมาะกับการกางเต็นท์นอนเสียจริงๆ
ตกดึกผมเริ่มมองหาทิศทางแห่งแสงดาว เพื่อตามหาทางช้างเผือกเช่นเคย บรรยากาศฟ้าเปิดไม่มีเมฆมาปิดบังแสงดาว ในคืนนี้เพื่อนสมาชิกยังไม่ยอมนอน สนุกกับการสอนถ่ายภาพของผม ผนวกกับรสชาติอาหารป่า ที่เราแวะซื้อมาจากตลาดสดเมืองเซโปน สมาชิกมิตรสหายเริ่มคุ้นเคยกันมาขึ้น การพูดคุยท่ามกลางใต้แสงดาวค่ำคืนนี้มันช่างมีความสุขเสียจริงๆ กว่าจะนอนปาไปเกือบตี 2 กับความหนาวอุณหภูมิประมาณ 19 c บนยอดเขากับน้ำค้างที่แรง แต่…เต็นท์ KARANA รุ่น Quick Release Plus Water Proof ก็ยังเอาอยู่ ทำให้ผมหลับได้สนิทดีจริงๆ
ค่ำคืนวันที่สามในต่างแดนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ต้อนรับเช้าวันใหม่อันสดใสบนยอดเขา ผมเริ่มเก็บบรรยากาศทะเลหมอกมีให้เห็นบางๆ ภูเขาส่วนใหญ่ลักษณะเป็นหัวโล้น ปราศจากต้นไม้ใหญ่ มีแต่ต้นหญ้าเท่านั้น สอบถามได้ความว่า แถวนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่โดนฝนเหลืองแม้จะผ่านไปหลายสิบปีสารพิษยังมีตกค้างอยู่ ทำให้ต้นไม้ไม่วสามารถขึ้นได้
ฝนเหลือง(Agent Orange) มหันตภัยร้ายแห่งมนุษยชาติ
“ฝนเหลือง” : สารเคมีที่กองทัพอเมริกันใช้โปรยในเวียดนาม ทั่วโลกประจักษ์ซึ้งถึงพิษภัยของ “ฝนเหลือง” (Agent Orange) เป็นอย่างดีในยุคสงครามเวียดนามระหว่างปี 2504-2518 เพราะเป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดรุนแรงที่ทหารอเมริกันใช้ฉีดพ่นเหนือผืนป่าอันกว้างใหญ่ของเวียดนามใต้ เพื่อทำลายป่าที่หลบซ่อนของทหารเวียดกง โดยมีการประมาณกันว่า อเมริกันใช้ฝนเหลืองร้อยละ 60 หรือ 42 ล้านลิตร จากจำนวนสารเคมี 72 ล้านลิตรที่ใช้ไปในสงครามครั้งนั้น แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว 30 ปีเศษ แต่ผลกระทบของฝนเหลืองต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมร่องรอยสงครามผลกระทบจากฝนเหลือง พ.ศ.2504-2518 เครื่องบินอเมริกันโปรยสารฆ่าพืช 72 ล้านลิตร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นฝนเหลือง ลงไปในป่าของเวียดนาม ลาวใต้ และกัมพูชา ครอบคลุมพื้นที่ 2.6 ล้านเฮกตาร์
เวียดนามโดนฝนเหลือง 10% ของพื้นที่ทั้งหมด 3.3 แสนตาราง กิโลเมตร เครื่องบินโปรยฝนเหลืองลงไปในป่าชายแดนเวียดนามกับลาวแล้ว เมื่อยังมีฝนเหลืองค้างอยู่ นักบินก็จะปล่อยสารที่เหลือนี้ลงไปในพื้นที่ทิศตะวันตกของเมืองเว้ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนเวียดนามและลาว…สังเกตดีๆไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเลย
เรียบเรียงข้อมูลโดย นิตยสาร ออฟโรด : www.grandprix.co.th/offroadmagazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ไดที่ www.grandprix.co.th
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.