all-new pajero sport เทียบกับ pajero sport 178 แรงม้า ตัวเก่า
วันนี้ทางทีมงาน จะมารีวิว จากประสบการณ์จริง จากเจ้าของรถที่เคยใช้ เจ้า pajero sport 178 แรงม้า ตัวเก่า กับคันใหม่ของเค้า all-new pajero sport มาดูกันครับ ว่ามันมีอะไรต่างกันบ้างไปเลยครับ
ผม ศิโรฒ น้อยวัน ครับออกรถมาครบสามสัปดาห์ครับ ขับไปกว่าสี่พันกิโลเมตรแล้ว
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสขับทางไกลยาวๆ ราชบุรี-ระนอง-กรุงเทพ-หนองคาย-ภูทับเบิก-เขาค้อ-ราชบุรี ใน 4 วัน
วันที่หนักสุดคงเป็น ระนอง-หนองคาย ในวันเดียว ระยะทาง 1200 กม. ใช้เวลาประมาณ 16 ชั่วโมง รวมเวลาจอดพัก สภาพเส้นทางในทริปนี้ หลากหลายครับ ทางสี่เลนตรงๆ ยาวๆ ทางสองเลนสวน ต้องเร่งแซงฉับพลัน โค้งขึ้นลงเนินไปมา โค้งบนทางราบ ทั้งโค้งมี slope และไม่มี slope ถนนลาดยางลื่นๆ ฝนตก (ตามสไตล์ของระนอง เมืองฝนแปดแดดสี่) ทางบนภูเขาที่มีความชันพอสมควร (ทุ่งตะโก-ละอุ่น-ระนอง และ คอนสาร-น้ำหนาว-หล่มสัก-หล่มเก่า-ทับเบิก-เขาค้อ)
อยากแชร์ประสบการณ์ ระหว่าง all-new pajero sport
และ pajero sport 178 แรงม้า ตัวเก่า
– ช่วงกดคันเร่งออกตัว หนืดๆ หน่วงๆ (หนืดน้อยกว่าปา 2.5 VG Turbo เครื่อง 4D56 178 ม้า ตัวเดิม แต่ยังถือว่าหนืด เมื่อเทียบกับคันเร่งของโตโยต้า) แต่ถ้ากดคันเร่งให้ลึก เรี่ยวแรงก็ไหลบ่ามาพอสมควรครับ พอคุ้นกับระยะคันเร่งแล้วจะคอนโทรลได้ดีขึ้น ความเร็วยืดหยุ่นช่วงกลาง 60-140 กม/ชม ผมว่าลื่นไหลใช้ได้นะ เป็นย่านความเร็วที่เป็นเสน่ห์ของเครื่อง 4N15 2.4 MIVEC CLEAN DIESEL บล๊อกนี้ พอเกิน 140 จะเริ่มหนืดลง ส่วนปลายนั้น ผมว่าปาตัวเดิม 178 ม้า ไหลได้มากกว่า สิ่งที่ถูกใจคือ ความเร็วช่วงกลาง กับรอยต่อของการเปลี่ยนเกียร์ ราบรื่น smooth ดีครับ
– การขับขึ้นลงเขาที่มีความชันแบบพอสมควร ขาขึ้นเขา ผมไม่ได้ลองแบบใส่เกียร์ D แล้วให้ G-sensor มันทำงานแบบเปลี่ยนเกียร์ให้เองตามสภาพความชันของทางเท่าใดนัก ลองสั้นๆที่เขาค้อ เกียร์มันก็แลดูกระฉับกระเฉงและเปลี่ยนให้เอง (ลดต่ำให้เอง ยามขึ้นเนิน ถ้ากดคันเร่งลงไป) แต่ผมชอบที่จะใช้โหมดทิปทรอนิก หรือแมนวล เอง ยามขึ้นเขา ช่วงเขาชันๆอย่าง ทุ่งตะโก-ละอุ่น และทับเบิก นั้น ลงเกียร์สอง แรงยังดีครับ ไม่ต้องถึงขั้นลากเกียร์หนึ่ง ส่วนขาลงเขานั้น ผมไม่ได้ใช้ระบบ HDC (Hill Descent Control) เพราะมันจะลงช้าไป ไม่ทันใจ และเข้าใจว่าสงวนไว้ใช้ลงเขาในทางวิบากที่ความเร็วต่ำมาก คู่กับเกียร์ 4LLc น่าจะเหมาะกว่า เกียร์ที่ให้มาถึง 8 จังหวะเดินหน้า มีประโยชน์มาก ยามลงเขา เพราะใช้เกียร์ต่ำ ช่วยเป็น engine brake ยามลงเขา ได้ดีครับ ช่วยหน่วงความเร็วลงขาได้ดี ไม่เปลืองเบรกเท้ามาก (ระวังดูรอบเครื่อง อย่าให้โหลดเกินไปด้วยนะครับ ใช้เกียร์ให้สัมพันธ์กับความเร็ว) ทั้งขาขึ้นและขาลงเขาชัน ไม่มีปัญหาครับ โดยเฉพาะขาลงเขาชันๆ ถ้าใช้ engine brake ให้เป็น ลงเขามาแทบไม่มีกลิ่นผ้าเบรกเลยครับ
– เรื่องระบบระบายความร้อนเครื่องยนต์ ที่ค่อนข้างมีปัญหาตัวร้อน ในปาตัวเดิม 178 ม้า สำหรับเครื่อง 4N15 อลูมินัมอัลลอยบล๊อก ตัวนี้ ผมว่าแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ดีแล้ว คันนี้ผมติดสมาร์ทเกจ์เพิ่ม ไว้คอยดูค่า parameter ของเครื่องยนต์ต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะค่า ECT (Engine Coolant Temperature) ที่วัดเป็นตัวเลขดิจิตัล (มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุนณภูมิมากกว่าเกจ์หน้าจอรถ) และตั้งค่าเตือนหากสูงเกินได้ เท่าที่สังเกตุ ค่า baseline เดินเบาของเครื่องตัวนี้ จะอยู่ ที่ 84 C (+/- 1 C) การใช้งานปกติ ขับออกตัวไปถึงความเร็ว 100-120 กม/ชม จะอยู่ที่ 86-87 C แล้วค่อยๆลดลงมาอยู่ที่ 85 C ลองกดไปที่ความเร็วประมาณ 160 กม/ชม ค่า ECT คงที่ ไม่เกิน 87 C ถือว่าไม่ร้อนมาก ใช้ได้ครับ อัดขึ้นเขาชัน ลากเกียร์ต่ำ ขึ้นทับเบิก ค่า ECT ไม่เกิน 90-91 ผมถือว่าสอบผ่าน
– เรื่องช่วงล่าง นุ่มนวล ชวนฝัน คนละอารมณ์กับปาตัวเดิม แต่แน่นอน ต้องแลกมาด้วยอาการย้วย ยวบยาบ ยามเข้าโค้ง หรือใช้ความเร็วสูง ตามที่หลายท่านเจอครับ ใช้ความเร็วเกิน 140 กม/ชม มันจะวูบๆ วาบๆ ให้รู้สึกได้ว่ารถไม่ค่อยนิ่ง ยิ่งถ้าเจอลมแรงปะทะด้านข้างรถ จะยิ่งออกอาการครับ
– แอร์เย็นดีมากครับ ขอชมเชย
– การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง ผมขับแบบประหยัดไม่เคยเป็น ความเร็วที่ใช้ ขึ้นๆลงๆ ตามสภาพการจราจร (60-160 กม/ชม) รวมถึงการขับขึ้นลงทางภูเขา อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ย ยังเกิน 10 กม/ลิตร ครับ ประมาณ 11 กว่า ถึง 12 กว่า กม/ลิตร
– ระบบเตือนเซนเซอร์ต่างๆรอบคัน ขยันทำงานดี มีรถ หรือคน เข้ามาใกล้รถเรา ร้องเตือนดังระงมจริงๆ ระบบเตือนมุมอับด้านข้าง (BSW: Blind Spot Warning) มีประโยชน์มากยามเปลี่ยนเลน หรือแซง อีกอย่างคือ เบรก ผมว่าเบรกเซ็ตมาได้นุ่มนวล ดูดตามเท้ายามเหยียบแป้นเบรก และอาการหน้าทิ่มยามเบรก ลดลง เมื่อเทียบกับตัวเก่า
– ผมเจอไฟเตือนระบบป้องกัน/บรรเทาการชนด้านหน้า (FCM: Forward Collision Mitigation) ไม่ทำงานชั่วคราว อยู่สองครั้ง ไฟเตือนจะขึ้นว่า FCM Temporarily Not Available อยู่สองครั้ง ครั้งแรกที่สี่แยกปฐมพร ชุมพร ตอนจังหวะผมมาจากระนองแล้วเลี้ยวซ้ายที่แยกดังกล่าว ไฟขึ้นอยู่พักแล้วดับไปเองตอนถึง อ.ท่าแซะ (ประมาณไม่เกิน 30 กม.) ส่วนอีกครั้ง ไฟเตือนแบบเดิมก็ขึ้นอีก ตอนขับแถวใกล้ๆ สามแยกแคมป์สน เขาค้อ (จาก ทล 12 จะออกทางคู่ขนานเลี้ยวซ้ายเข้า ทล 2196 ไปเขาค้อ) แล้วไฟเตือนดับเองเมื่อผมถึงที่พักที่เขาค้อ เปิดคู่มืออ่านดูก็พบว่ามีหลายสาเหตุที่จะทำให้ระบบ FCM ไม่ทำงานชั่วคราว และเกิดไฟเตือนดังกล่าวได้
โดย คุณศิโรฒ น้อยวัน
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.