TOYOTA LAND CRUISER VX 80…..“มัน ใหญ่ มาก”
ในยุคที่สังคมก้าวเข้าสู่ความทันสมัย มีอยู่สองอย่างที่คนให้ความสนใจ นั่นคือ เทคโนโลยีและความบันเทิง ในเรื่องราวการตกแต่งรถยนต์ ความบันเทิงที่จะได้นำท่านผู้อ่านเข้าสู่โลกใหม่กับสิ่งที่เป็นอดีตจากโลกเก่า และมันถูกจัดแต่งให้กลายเป็นของแต่ง รถแต่งที่บอกได้สองสามคำว่า “มัน ใหญ่ มาก”….
ความอลังการงานสร้างครั้งนี้ เกิดขึ้นจากคนตัวเล็ก หัวใจใหญ่ นั่นก็คือ เดชา พรบำรุง แห่งซุ้มวัดป่า และ หจก.เดชาเจริญกิจ โดยเฉพาะมันอยู่บนพื้นฐานของความต้องการที่จะมีรถแต่งที่ไม่ซ้ำแนวของใคร รวมทั้งต้องการสร้างเอาไว้ช่วยเหลือน้ำท่วม จากภาพสุดท้ายซึ่งจะเป็นภาพแรกของการโชว์ตัวมันยังเก็บความน่าสนใจในเรื่องที่ไม่ลี้ลับเกินเปิดเผยให้ได้รับรู้กับขั้นตอนการสร้างแบบพอให้เข้าใจ และมันจะทำให้รู้รายละเอียดของรถคันนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะตัวจริงของมันแพรวพราวในรายละเอียดการตกแต่งจริงๆ และที่สำคัญลงมือซุ่มสร้างกันเอง
เตรียมการตกแต่ง…..
พื้นฐานหรือรถยนต์เดิมๆ คันนี้คือ LAND CRUISER VX 80 รุ่นที่เป็นบอดี้เปิดท้ายได้แบบห้าประตู สิ่งที่มันถูกกระทำก็คือว่า ถอดทุกอย่างที่เป็นส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายนอก ภายใน เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ทุกชิ้นว่ากันอย่างนั้น จากรูปร่างในจินตนาการที่วางเอาไว้ บอดี้เปล่าถูกหั่นด้านท้ายออกตั้งแต่ช่วงประตูหลังกลางซุ้มล้อไปจนถึงด้านประตูท้ายทั้งหมด แล้วเอาช่วงกระบะท้ายของ SPORT CRUISER มาต่อทำเป็นกระบะสั้นและปิดท้ายเป็นหัวเก๋งด้วยกรอบตัวถังหลังเดิมกระจกเท่าเดิมเป็นห้องโดยสารสองตอน ภาพรวมเป็นบอดี้แบบกระบะสี่ประตูและกระบะท้ายเปิดได้
เมื่อได้บอดี้แล้ว ด้วยพื้นฐานโครงสร้างแบบบอดี้ออนเฟรม เมื่อยกบอดี้แยกออกแล้ว การเตรียมงานซึ่งต้องทำควบคู่ไปพร้อมกันก็คือ งานสร้างแชสซีใหม่เพื่อรองรับบอดี้และช่วงล่างใหม่ ซึ่งต้องมีความแข็งแรงที่มากกว่าแชสซีเดิม สำหรับหน้าที่ของแชสซีที่นอกจากจะต้องเป็นโครงสร้างหลักที่ชิ้นส่วนในทุกส่วนจะมีการโยงยึดกับแชสซีนี้แล้ว มันยังต้องมีการให้ตัวได้ในระดับที่เหมาะสม และสามารถคืนตัวได้ในระดับที่ไม่ทำให้เกิดการผิดรูปทรงเสียศูนย์ไป ด้วยคุณสมบัตินี้จึงเลือกใช้เหล็กเกรดเดียวกับที่ใช้สร้างแชสซีรถมาเป็นวัสดุหลัก วางแนวระยะห่างระหว่างกันในแนวเท่าเดิมกับแชสซีเดิม แต่ทางด้านความยาวจะมีเพิ่มเติมตามระยะที่วางไว้
หลังจากที่ได้แชสซีโครงรถแล้ว ก็วางระยะและส่วนเชื่อมต่อรองรับของหัวใจขับเคลื่อนก่อนที่จะเอาตัวบอดี้รถมาวางทาบครอบทับ โดยเครื่องยนต์เดิมก็เก็บไว้ก่อน เปลี่ยนมาคบหากับเครื่องยนต์พร้อมเกียร์ของ NISSAN TD 42 การวางเครื่องยนต์จะต้องยึดหลักของความเที่ยงตรงของตัวเครื่อง เพราะเป็นชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักมากและมีการสั่นสะเทือน นอกจากความเที่ยงตรงความแข็งแรงของจุดยึดบวกกับพื้นที่ในการเผื่อสำหรับใส่อุปกรณ์ส่วนควบก็มีความสำคัญ ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์หลักถูกวางตำแหน่งและสร้างจุดยึดแล้วจึงได้นำเอาบอดี้ตัวรถมาวางครอบลงไป
จัดการยึดบอดี้รถกับโครงสร้างแชสซีเอาไว้ด้วยจุดเชื่อมป้องกันการเลื่อนตำแหน่ง แล้วยกสูงเทียบขาตั้งสแตนด์เพื่อนำเอาชุดล้อและยางมาเทียบ เพื่อวัดระยะของชิ้นส่วนหลักอย่างถูกต้องพอดี โดยชุดล้อที่นำมาเทียบจะถูกกำหนดระยะห่างล้อช่วงเพลาด้วยความกว้างของเพลาขับเคลื่อนซึ่งใช้เพลาของรถในตระกูล UNIMOG ซึ่งชุดเพลานั้นเป็นของ ROCKWELL จากนั้นกระบวนการเดินทางของจุดยึดประคองเพลาในส่วนต่างๆ จึงได้เริ่มขึ้น โดยที่จุดยึดจากชิ้นส่วนช่วงล่างจะโยงยึดกับชิ้นส่วนที่แชสซีซึ่งจะมีการสร้างขึ้นมาใหม่โดยต่อระยะยึดของสองฝั่งโครงสร้างหลักกับชิ้นส่วนช่วงล่างนั้น
ระบบรองรับที่ใช้เป็นการเซ็ตโช้คอัพหลายแบบที่มาช่วยกันทำงานโดยยึดที่ด้านล่างกับจุดยึดที่เพลาขับเคลื่อนหน้าหลังและสร้างจุดยึดโช้คอัพด้านบนใหม่ในรูปแบบที่คุ้นเคย แล้วจึงเดินระยะของเพลาขับเคลื่อนผ่านชุดเกียร์ไปยังเพลาท้ายหน้าหลัง การตัดต่อระยะเพลากลางและข้อต่อให้ตัวได้หลายทิศทางจะถูกนำมาใส่เพื่อรักษามุมของการทำงานไม่ให้ขัดตัวในทุกสภาวะการขับขี่ ส่วนระบบบังคับเลี้ยวใช้แบบไฮดรอลิกระบบเดี่ยวที่ใช้การเปิดปิดวาล์วและแรงดันไฮดรอลิกอย่างเดียวในการหักมุมซ้ายขวา
ขั้นตอนการวางแนวชิ้นส่วนหลักในระบบใหญ่ๆ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่และสำคัญเรียบร้อย การเก็บงานในชิ้นส่วนควบทั้งหมดก็ตามมา ทั้งการปรับแต่งและพ่นทำสีประกอบส่วนประกอบที่ต้องทำทั้งหมด และขั้นตอนการปรับแต่งอัตราทด วางระบบเครื่องยนต์เกียร์เฟืองท้าย เดินท่อเทอร์โบอินเตอร์คูลเลอร์ ระบบเบรก รวมไปถึงการเก็บงานที่ภายในห้องโดยสารกับสิ่งที่ต้องการ รวมไปถึงทำชิ้นส่วนที่จำเป็นในแบบที่ต้องการอย่างกันชนหน้าหลัง โรลบาร์นอกนั้นอุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ ก็จะถูกนำมาใส่ พ่นทำสีทุกชิ้นส่วนเสร็จสรรพเตรียมพร้อมโชว์ตัว
ซึ่งชิ้นส่วนทั้งหมดมีทั้งแบบนำเข้า ของเก่ามาทำใหม่ และสร้างขึ้นเฉพาะ รายละเอียดการตกแต่งจะเป็นอย่างไรต้องไปตามดู
ภายนอก ภายใน จัดเต็ม จัดครบ…
ตัวรถที่ด้านหน้านอกจากเค้าโครงเดิมของตัวรถที่ยังพอหลงเหลือให้เห็นอยู่ ถูกใส่ไว้ด้วยกันชนแบบเข้ารูปทำจากไฟเบอร์สร้างใหม่ เฉพาะคันนี้เจาะยึดใส่ติดตั้งเอาไว้ด้วยชุดไฟของแต่งตั้งแต่ที่ด้านบนติดตั้งเอาไว้ด้วยไฟส่องสว่างเสริมจากไฟหน้าติดรถแบบ DRIVING LIGHT ทรงกลมสามดวงใหญ่เลนส์ใสของ LIGHT FORCE ยึดติดกับกันชนด้วยขาไฟในระยะเท่าๆ กัน ด้านล่างกับไฟตัดหมอกในช่วงกลางกับกรอบพื้นที่สีดำแตกต่าง และด้านล่างดวงกลมสองดวง ลิ้นด้านล่างพ่นสีเดียวกับตัวรถซ่อนไว้ด้วย DAY TIME RUNNIG LIGHT
ต่อเนื่องกันชนหน้าไปที่ด้านข้าง กับโป่งล้อขนาดใหญ่ติดตั้งแบบเย็บกับตัวถังซุ้มล้อใกล้กันกับสนอร์เกิลตรงรุ่น กระจกมองข้างและที่ด้านบนหลังคาห้องโดยสารด้านหน้ากับชุดไฟสี่ดวงทรงสี่เหลี่ยม และซันรูฟตรงรุ่น ตรงกลางตัวรถที่ถูกสร้างชิ้นส่วนแข็งแรงและต่อจุดยึดลงมาเป็นบันไดก้าวขึ้นรถแบบชิ้นเดียว ต่อไปที่ด้านหลังต่อเนื่องกับโป่งล้อที่สั่งทำเช่นเดียวกับที่ด้านหน้า และกันชนหลังสร้างเองที่ฝั่งไฟถอยของ IPF เอาไว้สองดวง ส่วนที่ด้านบนพื้นที่บอดี้ที่วางเป็นกระบะท้ายนั้น ติดตั้งชุดโรลบาร์ทรงตัววายสามเส้นและไฟส่องเสริมของ LIGHTFORCE ทรงกลม ที่ขอบกระบะด้านบน ฝากระบะท้ายแบบเปิดจุดเดียวไฟส่องป้าย LAND CRUISER กับไฟเบรกทรงแถวเรียงแบบ LED
ภายในเก็บงานวัสดุหุ้มใหม่หมดทั้งที่คอนโซลเดินลายไม้เต็มสูตร ทั้งคอนโซลหน้า กลาง สองฝั่งด้านข้างบานประตู ติดวัดบูสต์ ชุดเกียร์เปลี่ยนหัวเกียร์แบบซิ่ง พวงมาลัยเดิมของ LAND CRUISER วัสดุหุ้มเบาะใหม่ สวิตช์แอร์ล็อกเกอร์และคอนโทรลควบคุมระบบบังคับเลี้ยว พร้อมเดินโรลบาร์ภายในห้องโดยสารด้วยเหล็กกลมไดรฟ์สีน้ำเงิน
เครื่องยนต์เปลี่ยนวางของ NISSAN บล็อก TD 42 ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องยนต์ดีเซลความจุ 4,169 ซี.ซี. เป็นเครื่องยนต์แบบหกสูบแถวเรียง ถ้าเป็นรุ่นที่มีเทอร์โบชาร์จและใช้เทอร์โบเดิม แรงม้าจะอยู่ที่ 145 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบต่อนาที (rpm) แต่ว่าเครื่องยนต์ที่วางในนายแบบคันนี้เปลี่ยนใช้เทอร์โบซึ่งวางในรถยนต์เครื่องจักรกลงานก่อสร้างอย่าง CATERPILLAR ยี่ห้อ CARRETT นี่ถ้าเป็นคอกระบะซิ่งรุ่นที่เล่นหอยใหญ่ดูดหนักอัดแน่นมาเห็น ต้องร้องว่าอยากได้แน่นอน ปรับบูสต์เอาไว้ที่ระดับ 20 ปอนด์ พร้อมใช้กรองเปลือยทรงหัวเห็ดและเดินท่ออากาศแข็งพร้อมใช้ข้อต่อยางทนแรงดันสูง สั่งทำอินเตอร์คูลเลอร์ใบใหม่ขนาดใหญ่หนา 4 นิ้ว เพื่อให้เพียงพอลดอุณหภูมิของไอดี เสริมสมรรถนะการคายไอเสียให้รวดเร็วด้วยท่อไอเสียสเตนเลส ระยะเดินทางของไอเสียสู่โลกภายนอกระยะสั้นปลายออกบริเวณซุ้มล้อด้านซ้าย
ช่วงล่าง “มัน เยอะ มาก”…
นอกจากชิ้นส่วนหลักและชิ้นส่วนประกอบที่หลากหลายเรียกว่าเยอะแล้ว ชิ้นส่วนของส่วนประกอบทั้งหมดยังมีอีกมากทาย จากพื้นที่ช่องว่างของตัวรถบริเวณรอยต่อของตัวถังและแชสซี รวมไปถึงใต้ท้องรถบริเวณต่างๆ ถูกสร้างชิ้นส่วนปิดทั้งจากสเตนเลสและเหล็กแผ่น ทำให้มองดูมีความเรียบร้อยของการวางตำแหน่งชิ้นส่วนแบบรถเดิมๆ
ชุดเพลาท้ายขับเคลื่อนที่ด้านหน้า ใช้เพลาของ ROCKWELL ที่มักใช้อยู่ในรถตระกูล UNIMOG หรือรถทหาร แต่ว่านอกจากเพลาที่สร้างมาสำหรับรถรุ่นไหนแล้ว มันยังมีเพลาที่สำเร็จรูปเอาไว้เลือกใช้ได้อีกหลากหลายจากแบรนด์นี้ ลักษณะของเพลาท้ายด้านหน้าที่มีลักษณะแบบเพลานอนภายในเสื้อเพลาหรือกะโหลกเฟืองท้ายนั้นจะสามารถถอดแยกชิ้นส่วนได้ เพื่อการดูแลรักษา บริการทำความสะอาด ชุดเฟืองขับอยู่ด้านบนเฟืองเดือยหมูลดแรงกดอัตราทดเฟือง 6:1 วัสดุเสื้อเพลาแข็งแรงพ่นไว้ด้วยสีส้มแบบพื้นผิวสีระเบิด
สร้างชิ้นส่วนจุดยึดทอร์คอาร์มที่บริเวณกะโหลกเฟืองท้ายด้านหน้า จุดยึดที่สร้างใหม่รวมไปถึงจุดยึดโช้คอัพหน้าที่เสื้อเพลา ที่ปลายเพลาขับของชุดเฟืองท้ายด้านหน้าติดตั้งชุดเบรกเอาไว้ทั้งที่ด้านปลายเพลาท้ายและบริเวณด้านที่ต่อออกมาจากชุดเกียร์ใช้สำหรับช่วยเบรกในยามจอดล็อกเพลา ชุดเพลาท้ายด้านหน้ายังมีอุปกรณ์ AIR LOCKER ของ ARB ใช้ปั๊มลมขนาดใหญ่สองตัว
แขนประคองเพลาหรือทอร์คอาร์มนั้น ปลายจุดยึดแบบให้ตัวได้สองแขนหลักที่กะโหลกเฟืองท้ายหน้ายึดกับอกกลางและแชสซีและอีกสองตัวช่วยด้านข้าง เหล็กที่นำมาทำทอร์คอาร์มนั้นเป็นเหล็กแข็งน้ำหนักเบาประเภทเดียวกับที่ใช้ทำกระบอกโช้คอัพทั่วไป
ด้านหน้าติดตั้งโช้คอัพเอาไว้ทั้งหมดสามตัวครบทั้งสามรุ่น สามรูปแบบที่มีของ PROFENDER ทั้งกึ่งแก๊สหรือ AIR SHOCK ซับแท็งค์กระบอกแยกหรือ SUBTANK และ COIL OVER SHOCK โช้คอัพรวมสปริงสตรัทปรับเกลียว ความยาว 42 นิ้ว ยึดกับจุดยึดด้านบนที่สร้างขึ้นใหม่รูปทรงที่คุ้นเคย ในส่วนระบบบังคับเลี้ยวใช้ระบบไฮดรอลิกแบบเต็มระบบแรงดันจากปั๊มไฮดรอลิกถูกสั่งจ่ายผ่านเช็กวาล์วในการบังคับเลี้ยวซ้ายหรือขวา และสมดุลสองข้างเมื่อไม่มีการหักเลี้ยวพวงมาลัย โดยยึดข้อต่อถ่ายทอดแรงที่ดุมล้อปลายเพลา ที่ด้านหน้าจะใช้ในการเลี้ยวเป็นหลัก เพราะมันถูกออกแบบมาให้เลี้ยวได้ทั้งสี่ล้อจากแบบระบบบังคับเลี้ยวเดียวกัน ระบบห้ามล้อใช้แบบดิสก์เบรกเมื่อรวมที่ปลายเพลาทั้งหน้าหลังสองข้างสี่จุดและที่เพลาขับเคลื่อนหน้าหลังอีกสามจุด ทั้งหมดมีระบบเบรกเอาไว้ใช้งานเจ็ดจุดด้วยกัน
ด้านหลังใช้เพลา ROCKWELL อัตราทดเดียวกันและระบบ AIR LOCKER ของ ARB เช่นเดียวกับที่ด้านหน้า ทอร์คอาร์มประคองเพลาติดตั้งเอาไว้เพื่อความมั่นคงแข็งแรงในลักษณะเดียวกับที่ด้านหน้าหลักสองแขนและสองแขนเสริม ลักษณะของมุมทอร์คอาร์มด้านบนป้องกันเพลากระดกเพลาพลิกและด้านล่างปลายด้านข้างป้องกันเพลาส่ายเพลาเต้น โช้คอัพด้านหลังยึดในแบบจุดยึดที่เพลาท้ายกับที่ด้านบนส่วนที่สร้างขึ้นใหม่โดยติดตั้งเอาไว้สองตัว ความยาว 42 นิ้วเท่าที่ด้านหน้าของ PROFENDER เป็นโช้คอัพแบบ COIL OVER SHOCK และ AIR SHOCK พร้อมทั้งระบบบังคับเลี้ยวไฮดรอลิกของ PSC เช่นเดียวกับที่ด้านหน้าก็มีติดตั้งไว้ที่ด้านหลัง จึงสามารถหักเลี้ยวได้สี่ล้อ และข้อดีของการใช้ระบบบังคับเลี้ยวแบบไฮดรอลิกเต็มรูปแบบ ช่วยป้องกันการสะบัดของพวงมาลัยได้ด้วยโดยไม่ต้องใช้กันสะบัดเพิ่มเติม แม่นยำเบาแรง
การส่งกำลังสู่เพลาท้ายทั้งหน้าและหลังด้วยเพลากลางและข้อต่อแบบแปดทิศ เพื่อรักษามุมการขับเคลื่อน ล้อแม็กที่ใช้ขอบ 20 นิ้วกับยางขนาด 54 นิ้ว ของ MICKY THOMPSON
ต้องบอกว่าแต่งเต็มจริงๆ สำหรับรถของ เดชา พรบำรุง คันนี้
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.