"หิมาลัย" เมื่อรอยล้อยังคงเคลื่อนไป

1_resize

ท่ามกลางอากาศที่แสนเบาบาง กับอุณหภูมิที่เย็นยะเยือก จนถึงจุดเยือกแข็ง เส้นทางดินแคบๆ ที่เต็มไปด้วยหิมะอันขาวโพลน ตัดผ่านไปบนโตรกผาสูงชัน มองออกไปจากกระจกด้านหน้า ผมยังคงมองเห็นเพียงภาพสีขาวของเขาสูง ที่มองไปสุดลูกหูลูกตา ก็มีเพียงแต่สีขาวของหิมะ ที่ตัดกับผืนฟ้าคราม เสียงของเครื่องยนต์ไอ้กะชอโพยังคงคำราม เพื่อต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก ในดินแดนที่ถูกขนานนามว่าเป็นหลังคาโลก ผมเอื้อมมือไปปรับฮีตเตอร์ ให้อุณหภูมิในห้องโดยสารสูงขึ้น เมื่อเราต้องไต่ไปบนความสูงที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับอุณหภูมิที่ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง

2_resize

ด้วยปริมาณของอ๊อกซิเจนที่เบาบาง หลายจังหวะในการส่งขึ้นเนิน ไอ้กะชอโพจึงต้องถูกกระแทกคันเร่งจนมิด ประคองร่างกายอันอวบอ้วน เพื่อข้ามผ่านไปบนขุนเขาที่ขวางอยู่ตรงหน้า หลายจังหวะผมต้องพบเจอกับปัญหาของเครื่องยนต์ เนื่องจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จากอากาศที่มีปริมาณของอ๊อกซิเจนที่ไหลเข้าไปในห้องเผาไหม้ไม่เพียงพอ ซึ่งจะเกิดอากการเร่งไม่ขึ้น แต่นั่นมันก็เหมือนเป็นอุปสรรคที่จะวัดขนาดของหัวใจเรา ว่าเราจะก้าวข้ามผ่านมันไปได้อย่างไร

4_resize

5_resize

ผมกำลังพูดถึงหิมาลัย  เทือกเขาอันยิ่งใหญ่ในทวีปเอเชีย ที่แยกอนุทวีปอินเดียทางเหนือ ออกจากที่ราบสูงทิเบตทางใต้ หิมาลัยเป็นที่ตั้งของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก อย่าง ยอดเขาเอเวอเรสต์ และยอดเขา Kanchenjunga ในคำว่า หิมาลัย มาจากคำว่า หิมะ รวมกับ อาลัย ในภาษาสันสกฤต ซึ่งหมายถึง ที่อยู่ของหิมะ นอกจากจะเป็นที่ตั้งของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแล้ว ที่นี่ก็ยังเป็นจุดกำเนิดของสายน้ำที่สำคัญของโลกหลายสาย อย่าง แม่น้ำคงคา-พรหมบุตร แม่น้ำสินธุ และแม่น้ำสาละวิน รวมไปถึงแม่น้ำโขง สายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนในภูมิภาคของเรา

6_resize

7_resize

เทือกเขาหิมาลัยทอดตัวยาวพาดผ่านพื้นที่ของอินเดีย เนปาล  ปากีสถาน ภูฏาน จีน และทิเบต ซึ่งดินแดนเหล่านี้ล้วนถือกำเนิดจากเทือกหิมาลัย  เทือกเขาหิมาลัยเป็นที่อยู่ของผู้คนราว 750 ล้านคน  รวมไปถึงดอยอินทนนท์ในบ้านเรา ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยในตอนปลาย อีกด้วย

8_resize

หนึ่งในดินแดนที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางเทือกหิมาลัยมาช้านาน หรือที่ผู้คนเรียกขานกันว่า ทิเบต ดินแดนแห่งนี้ ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบบนที่ราบสูง ที่มีความสูงมากที่สุดของโลก ทิเบตตั้งอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล ด้วยความสูงเฉลี่ยราว 4,000 เมตร  ดินแดนที่แฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งนี้ มียอดเขาสูงที่ถูกหิมะขาวโพลนปกคลุมไปตลอดทั้งปี ส่วนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกทั้ง 10 แห่ง จะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทิเบต  ที่นี่จะมีธารน้ำแข็ง และโตรกผาสูงชัน พร้อมด้วยสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนในภูมิภาคนี้ ด้วยเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำสำคัญหลายสายที่เกิดจากหิมะที่ละลาย ทิเบต จึงเต็มไปด้วยทะเลสาบหลายพันแห่ง ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดถูกเรียกว่า Nam tso และ Yamdrok tso นอกเหนือจากทะเลสาบที่หลากหลายแล้ว ทิเบตยังได้ชื่อว่าเป็นที่ตั้งของทะเลสาบบนที่ราบสูง ที่ใหญ่ที่สุดของพื้นปฐพีนี้อีกด้วย ที่นี่ยังมีน้ำพุร้อนที่เกิดจากลาวาอันร้อนระอุใต้พื้นพิภพผุดขึ้นอยู่ทั่วไป บางพื้นที่ของทิเบตก็แห้งแล้งมากจนกลายสภาพเป็นทะเลทราย ที่มีพายุทรายรุนแรง ทิเบตยังถือเป็นสถานที่ ที่มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่สุดแสนจะทารุณอีกแห่งของโลก เมืองหลวงของทิเบตและที่ตั้งของพระราชวังโปตาลา คือ นครลาซา

9_resize

อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น ด้วยความสูงของดินแดนแถบนี้ ทิเบตจึงเป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำสำคัญๆหลายสายด้วยกัน ซึ่งสายน้ำสำคัญเหล่านี้ ได้หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตและชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก ไล่เรียงลงมาถึงในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำโขง ที่มีความยาวถึง 4,350 กิโลเมตร ซึ่งถือกำเนิดจากบริเวณตอนกลางของทิเบต แล้วไหลผ่านจีนแผ่นดินใหญ่ทอดตัวลงมาทางยูนนาน ไหลผ่านดินแดนของสิบสองปันนา ก่อนจะกั้นแบ่งพรมแดนในบางช่วงของพม่า ลาว และไทย  แล้วไหลผ่านลงไปทางตอนใต้ของกัมพูชา  และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ที่บริเวณปากน้ำไซ่ง่อน ของนครโฮจิมินห์ในประเทศเวียดนาม

10_resize

11_resize

ทิเบต ยังเป็นต้นกำเนิดของ แม่น้ำสาละวิน สายน้ำสำคัญอีกสายหนึ่ง  ที่ถือเป็นสายน้ำที่คู่ขนานกับแม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวินมีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะบนเทือกหิมาลัยในทิเบต  ทอดตัวผ่านจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนจะไหลลงไปหล่อเลี้ยงผู้คนในประเทศพม่า และพื้นที่บางส่วนของผืนแผ่นดินไทย และไหลลงสู่ทะเลที่อ่าว Mottama ในพม่า

นอกจากนั้น แม่น้ำสำคัญอีกหลายสาย ก็ถือกำเนิดมาจากดินแดนที่ซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ ท่ามกลางเทือกหิมาลัยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำคงคา  ที่มีต้นกำเนิดขึ้นมาทางตอนใต้ของทิเบต โดยไหลผ่านอินเดีย ผ่านเมืองพาราณสี ไหลเข้าสู่บังคลาเทศ และไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดีย ที่อ่าวเบงกอล

12_resize

แม่น้ำแยงซีเกียง ที่มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณตอนเหนือของทิเบต สายน้ำแยงซี มีความยาวถึง 6,300 กิโลเมตร ด้วยกัน ซึ่งถือเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในทวีปเอเชีย และเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับที่สามของโลก สายน้ำที่มีเรื่องเล่ามาอย่างยาวนานนี้ ทอดตัวผ่านจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนจะไหลออกสู่ทะเลจีนตะวันออก ทางนครเซี่ยงไฮ้

แม่น้ำพรหมบุตร มีต้นกำเนิดมาจากทางตอนใต้ของทิเบต พรหมบุตรได้ไหลผ่านอัสสัม ของอินเดีย ผ่านชายแดนของภูฏาน ผ่านบังคลาเทศ แล้วไหลลงสู่ทะเลในอ่าวเบงกอล แม่น้ำ

สินธุซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในปากีสถาน  มีความยาว 3,180 ก็ถือกำเนิดในดินแดนนี้ ก่อนที่จะไหลผ่านเมืองลาดัก  ทอดตัวยาวหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในแคว้นแคชเมียร์ ของประเทศอินเดีย และปากีสถาน

แม่น้ำ Sutlej  ที่มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณ เขาไกรลาส และไหลผ่านรัฐปัญจาบของอินเดีย

แม่น้ำยมุนา  ไหลผ่านอินเดียในบริเวณกรุงเดลี ผ่านเมืองอัคระก่อนที่จะไปบรรจบกับแม่น้ำคงคาที่เมืองอัลลาฮาบัด

13_resize

14_resize

คำขนานนามที่ว่า ทิเบตเป็นดินแดนแห่งหลังคาโลก ก็เนื่องมาจากความสูง ที่ตั้งอยู่สูงเฉลี่ยถึง 4,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

คำขนานนามที่ว่า ทิเบตเป็นดินแดนแห่งหลังคาโลก ก็เนื่องมาจากความสูง ที่ตั้งอยู่สูงเฉลี่ยถึง 4,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ด้วยความสูงระดับนี้จึงไม่แปลกเลยที่ในดินแดนที่เราต้องเข้าไปสัมผัส  จะมีปริมาณของออกซิเจนในอากาศที่แสนจะเบาบาง  สภาพอากาศทั่วไปของทิเบต มีอุณหภูมิที่ต่ำ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีจะอยู่ราวๆ 7 องศาเซลเซียล นอกจากอากาศที่เย็นแล้ว สภาพอากาศของที่นี่ก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ง่าย โดยในหนึ่งวัน อุณหภูมิอาจแตกต่างกันได้ถึงประมาณ 25 องศาเซลเซียส และที่นี่ ก็ยังถือว่าเป็นอีกดินแดนหนึ่งมีฝนตกลงมาในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับบ้านเรา

15_resize

16_resize

ช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นช่วงที่อากาศของทิเบตจะหนาวเย็นที่สุดก็ว่าได้ เกือบทุกสถานที่ จะถูกปกคลุมไปด้วยความขาวโพลนของหิมะและน้ำแข็ง ไม่เว้นแม้แต่ในทะเลสาบ ที่ความเย็นยะเยือก จนทำให้น้ำในทะเลสาบเหล่านั้น กลายเป็นน้ำแข็งในช่วงค่ำคืนที่มีอุณหภูมิติดลบ  ซึ่งในช่วงเดือนนี้เอง พายุหิมะ จึงถือว่าเป็นอีกอุปสรรคที่แสนหนักหน่วงที่สุดของการรอนแรมในดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเส้นทางที่ถูกตัดขาด หรือหิมะถล่มทับเส้นทาง ไฟฟ้าดับ หรือแม้กระทั่งน้ำมันเชื้อเพลิงในเมืองเล็กๆ อาจไม่มีให้เราเติม ฤดูหนาวของทิเบต ได้ชื่อว่าหนาวและสุดแสนจะทารุณ และอีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่สามารถจะคร่าชีวิตนักเดินทาที่ผ่านมาในดินแดนนี้ ก็คือ ลมพายุที่รุนแรงมาก ถือเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับการรอนแรมของเรา ตามที่เคยมีคำกล่าวกันไว้ว่า มีแต่ชาวทิเบตและคนพื้นเมืองที่เกิดอยู่ในดินแดนแห่งนี้เท่านั้น ที่จะทนต่อสภาพอากาศที่สุดหฤโหดและความเย็นยะเยือกของดินแดนบนที่ราบสูงแห่งนี้ได้

17_resize

18_resize

ส่วนในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ถือว่าเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างดีที่สุดของดินแดนนี้  อากาศแม้จะเย็นก็จริง แต่ภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหมือนในช่วงของเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะไม่ค่อยพบช่วงนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงหนึ่งที่ผู้คนและชาวบ้านจะได้ออกมาทำการเพาะปลูกบ้าง หรือออกมาเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้ากว้าง และเมื่อพ้นนั้นจากนั้นไป อากาศก็จะหนาวเย็นลงเรื่อยๆ ไปจนถึงติดลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของเทือกเขาสูง ด้วยความโหดร้ายของสภาพอากาศ และอุปสรรคของเส้นทาง ที่ผมจะต้องข้ามผ่านไปในครั้งนี้ มันอาจเป็นเหมือนเครื่องวัดขนาดของหัวใจดวงน้อยๆ ที่ตั้งใจจะข้ามผ่านไปบนข้อจำกัดเหล่านี้ให้จงได้ การเตรียมตัวของเรา จึงต้องมีการวางแผนมากกว่าในหลายครั้งของการรอนแรม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสภาพร่างกาย ที่จะต้องไปต่อสู้กับโรคแพ้ความสูง หรือโรคที่มีชื่อเรียกอย่างสากลว่า Altitude sickness

19_resize

20_resize

21_resize

ซึ่งเจ้าโรคนี้ จะเกิดขึ้นกับร่างกาย เมื่อได้รับออกซิเจนไม่ปริมาณที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากในพื้นที่ ที่เราต้องรอนแรมข้ามผ่านไปนั้น อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยราว 4,000 เมตร ขึ้นไป และยิ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ปริมาณของออกซิเจนในอากาศก็จะยิ่งเบาบางลง พร้อมกับความกดอากาศที่จะค่อยลดต่ำลง ส่งผลให้ออกซิเจนในเลือดยิ่งต่ำตามลงไปด้วย รวมไปถึงอุณหภูมิที่ลดต่ำลง ส่งผลให้ร่างกายของเราต้องการออกซิเจนในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติ นอกจากนั้นร่างกายของเราจะเริ่มหายใจถี่ขึ้น เมื่อความสูงเพิ่มขึ้น ด้วยสภาวะแวดล้อมเหล่านี้ ยิ่งจะทำให้ร่างกายของเราขาดออกซิเจน รวมไปถึงภาวะของเลือดที่มีปริมาณของออกซิเจนลดลงจนต่ำกว่าระดับที่ร่างกายต้องการ นั่นก็จะยิ่งทำให้ ความดันโลหิตของร่างกายต่ำลงเรื่อยๆ  และเมื่อเกิดภาวะของเลือดที่มีออกซิเจนน้อย ร่างกายก็ยิ่งจะกระตุ้นการไหลเวียนเลือดของภายในปอดและสมอง เพื่อเพิ่มเลือดและเพิ่มออกซิเจนให้กับอวัยวะเหล่านั้น ซึ่งจากที่กล่าวมา เมื่อเราต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะแบบนี้นานๆ ก็จะส่งผลให้เกิดกลุ่มอาการขั้นแรกของโรค ที่มีชื่อว่า Acute Mountain sick ness  ซึ่งถ้าเราสามารถปรับสภาพร่างกายและดูแลตัวเองได้ทัน อาการผิดปกติต่างๆ ก็จะฟื้นและกลับเป็นปกติได้ภายในเวลาประมาณ 3 วัน

22_resize

23_resize

แต่หากร่างกายของเราไม่สามารถปรับตัวรับกับสภาพเหล่านี้ได้ และยังมีภาวะการขาดออกซิเจนที่เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดคั่งในเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น มือ เท้า และที่สำคัญ ก่อให้เกิดอาการรุนแรงนั่นก็คือ เลือดจะคั่งอยู่ในในสมอง และในปอด  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการบวมของ มือและเท้า แต่ที่อันตรายที่สุด ก็คือ อาการปอดบวมน้ำ และสมองบวมน้ำ จากการที่มีน้ำคั่งอยู่ในเนื้อเยื่อสมอง  ซึ่งอาการอาจจะลุกลามไปเป็นอาการที่รุนแรง ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาหาข้อมูล และการดูแลสุขภาพร่างกายก่อนเดินทาง จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ  ที่เราจะต้องปฏิบัติเป็นอย่างดี

25_resize

และสำหรับการออกไปขับรถรอนแรมบนเส้นทางสายนี้เป็นแรมเดือน ส่วนที่เหลือ ก็คงจะเป็นในเรื่องของการเตรียมพร้อมของไอ้กะชอโพม้าศึกคู่กาย ที่จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับกับสภาพของเส้นทางและภูมิประเทศที่แสนโหดร้าย ซึ่งเราจะต้องฝ่าฟันไปด้วยกันในทุกที่ ซึ่งในครั้งต่อๆ ไป ผมจะนำเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆ มาเล่าให้เพื่อนๆ ทุกท่านได้ฟังกัน ในฉบับต่อไป

26_resize

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย นิตยสาร ออฟโรด : www.grandprix.co.th/offroadmagazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์  รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ไดที่ www.grandprix.co.th

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save