PLUNGER …..ว่ากันด้วยเรื่องความใหญ่
ซากของยุงที่โดนไม้ตีไฟฟ้าช็อตจนหมดสิ้นสติสมประดี ก็ยังมีความหมายกับมดทั้งหลายที่มาแบกซากนั้นไปเป็นเสบียงอาหาร การทำงานของกลไกการฉีดน้ำมัน ในระบบปั๊มฉีดเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล การตกแต่งลูกปั๊มใหญ่คือเรื่องที่เขาทำกันในการตกแต่งแบบ “ขั้นกว่า” และสุดท้ายมันว่ากันด้วยเรื่องของความใหญ่หาใช่ความยาวกับการตกแต่งนั้น…
หลายครั้งที่เราจะได้รับรู้ข้อมูลถึงการตกแต่งเพิ่มขนาดลูกปั๊ม (PLUNGER) ในปั๊มฉีดเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลในรุ่นก่อน ซึ่งมันจะมีลักษณะของกลไกที่เป็นลูกสูบปั๊มส่งน้ำมันแรงดันสูงจากจังหวะการเตะของลูกเบี้ยวตามไทม์มิ่งของการจุดระเบิด
โดยที่ในระบบเชื้อเพลิงรวมถึงตัวเรือนปั๊มสายน้ำมันและหัวฉีดจะมีน้ำมันอยู่เต็มและมีแรงดันสูงด้วยกลไกวาล์วกันกลับในระบบนั่นคือหลักการ แต่สิ่งที่ต้องการคือการป้อนน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์มากขึ้นด้วยการเปลี่ยนขนาดใช้ลูกปั๊มที่ใหญ่ขึ้น
คำว่าใหญ่ขึ้นก็คือมันเพิ่มขนาดในทางกว้างหรือเส้นผ่านศูนย์กลางของลูกปั๊มนั้นมากขึ้น คำถามตามมาในทันทีแล้วทำไมไม่เพิ่มทางความยาวด้วย คำตอบคือมันจำกัดด้วยพื้นที่การออกแบบ โดยที่การทำงานของลูกปั๊มนั้นเคลื่อนที่ขึ้นลงตามจังหวะที่ต้องฉีดน้ำมันจากกลไกโดยที่ระยะชักมันจะเท่าเดิมตลอดทางด้านกลไก แต่การเปลี่ยนแปลงปริมาณการฉีดให้สัมพันธ์กับความต้องการของเครื่องยนต์จึงทำด้วยการออกแบบตัวชิ้นส่วนของลูกปั๊มนั้นเป็นแบบร่องเฉียงแล้วใช้การบิดตัวของเสื้อลูกปั๊มที่ต่อกับเฟืองสะพานซึ่งเป็นชุดกลไกการเร่งเป็นตัวควบคุม
ร่องเฉียง (HELIX) นั้นนอกจากออกแบบมาเพื่อให้เปลี่ยนแปลงระยะชักได้ และเช่นเดียวกันกับความโตหรือขนาดของลูกปั๊มนั้นก็ต้องการเปลี่ยนแปลงให้เพิ่มปริมาณการฉีดน้ำมันให้เพิ่มขึ้นได้ แปลว่าการเปลี่ยนแปลงในส่วนของระยะชักในตัวลูกปั๊มด้วยร่องเฉียงก็เพื่อควบคุมปริมาณการฉีดน้ำมัน และการตกแต่งเปลี่ยนใช้ลูกปั๊มโตขึ้นหรือมีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะช่วยเพิ่มปริมาณการฉีดจากระยะชักและกลไกการทำงานในปั๊มเชื้อเพลิงชุดเดิม
ตัวอย่างเช่น ลูกปั๊มเดิมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 มิลลิเมตร เปลี่ยนใหม่เป็นลูกปั๊มขนาด 12 มิลลิเมตรนั่นคือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลูกปั๊ม วิธีการเปลี่ยนหรือแต่งปั๊มด้วยการเปลี่ยนลูกปั๊มขนาดใหญ่นั้น จะต้องทำการรื้อปั๊มเชื้อเพลิงออกมาและตั้งเทสต์ใหม่ให้สามารถทำงานได้เหมาะสมในการตั้งระดับการฉีดให้เท่ากันทุกสูบซึ่งนั่นเป็นพื้นฐานของการเทสต์ปั๊มหัวฉีดเชื้อเพลิงดีเซล แต่สิ่งที่จะได้ตามมาหลังจากที่เปลี่ยนลูกปั๊มใหญ่ก็คือปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งจะถูกฉีดเข้าสู่กระบอกสูบเพิ่มขึ้น
ในบางครั้งที่ได้มีการปลดบูสต์หรือเปลี่ยนเทอร์โบลูกใหม่ ให้มีอัตราการบูสต์มากกว่าเดิมหรือเร็วกว่าเดิมทำให้ต้องการปริมาณน้ำมัมมากขึ้นตามไป ขั้นตอนการเพิ่มเติมการฉีดเชื้อเพลิงด้วยการเปลี่ยนลูกปั๊มใหญ่ขึ้นก็เป็นสิ่งที่มักจะถูกทำตามมา
แต่การเพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงทางเดียว มันก็อาจจะไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้าย เพราะถ้าจะทำให้มันเหมาะสมก็ต้องทำการเพิ่มปริมาณอากาศ ซึ่งนั่นมันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ได้กระทำกันมาก่อนแล้วในการตกแต่งแล้วจึงมาเพิ่มปริมาณน้ำมันด้วยวิธีการนี้ การเพิ่มปริมาณน้ำมันทางเดียวโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพการประจุอากาศ ก็จะทำให้ได้กำลังแรงบิดเพิ่มในรอบการทำงานเดิมแต่การเผาไหม้จะไม่หมดจด ได้กำลังไม่คุ้มค่ากับเชื้อเพลิงที่สูญเสียไป เกิดควันดำไม่เหมาะกับการใช้งานทั่วไป แต่การตกแต่งปั๊มฉีดเชื้อเพลิงนั้นยังมีอีกหลายส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในระบบฉีดเชื้อเพลิงเองก็ต้องได้รับการปรับปรุงด้วย สิ่งที่เรามักจะบอกอยู่เสมอก็คือ ในการตกแต่งนั้นต้องทำหลายๆ อย่างให้ส่งเสริมกันและไม่เกินขีดจำกัดของชิ้นส่วนและการทำงานโดยรวมของเครื่องยนต์นั้นจึงจะทำให้สามารถได้สมรรถนะที่ดีขึ้นควบคู่ไปกับความเหนียวทนทาน แต่ทั้งหมดสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล รุ่นใหม่คงไม่สนใจวิธีการที่มีขั้นตอนมากแบบนี้เท่าไหร่
แต่…คอออฟโรดขาลุยก็ยังมีความนิยมเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นดั้งเดิมอยู่ในการใช้งานและการตกแต่ง เพราะเอาใจไม่ยากในระบบกลไก…..
เรียบเรียงข้อมูลโดย นิตยสาร ออฟโรด : www.grandprix.co.th/offroadmagazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ไดที่ www.grandprix.co.th
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.