บทบาทใหม่ของ ปั้น พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ปั้น พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ กับเส้นทางกีฬาที่ถูกบ่มเพาะมาเพื่อรับบทบาทใหม่ นายกราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬา (ร.ย.ส.ท.)
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2476 เป็นเวลากว่า 9 ทศวรรษ ที่ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬา (ร.ย.ส.ท.) : The Royal Automobile Association of Siam (R.A.A.T.) ได้ถือกำเนิดขึ้น จากดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ร่วมกับราชนิกูลเจ้านายหลายพระองค์ พร้อมด้วยข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่
ตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบัน ทางสมาคมฯ ได้มีส่วนช่วยพัฒนาวงการกีฬาให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การจัดการดูแลของนายกสมาคมฯ ทั้งหมดที่ผ่านมา 20 ท่าน กระทั่งปัจจุบันทางสมาคมได้แต่งตั้งนายกฯ คนใหม่เข้ามาจัดการดูแล ซึ่งบุคคลท่านนี้ คือหนึ่งในผู้ชำนาญการด้านการกีฬา ซึ่งในฉบับนี้เราได้รับเกียรติจาก คุณปั้น พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ นายกราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬา (ร.ย.ส.ท.) คนล่าสุด มาร่วมพูดคุยถึงเส้นทางของวงการกีฬา รวมถึงแนวทางในการบริหารจัดการสมาคมในยุคสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาวงการมอเตอร์สปอร์ตประเทศไทยให้มั่นคง ยั่งยืน และก้าวสู่ระดับโลก
ย้อนวันวาน จากความชื่นชอบ สู่เส้นทางนักกีฬามอเตอร์สปอร์ตมืออาชีพ
“ผมคลุกคลีอยู่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตมานานกว่า 40 ปี ด้วยความที่เป็นคนชอบกีฬาแข่งรถมาตั้งแต่เด็ก และเริ่มเข้าวงการแข่งรถมาตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย เพราะอยากหาอะไรสนุกๆ ทำ เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่ได้มีสนามเซอร์กิตให้เราลงแข่ง จะมีเพียงแค่การแข่งแรลลี่ท่องเที่ยวที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น และมีโอกาสเข้าไปแข่งแรลลี่ แต่รู้สึกไม่ใช่ทางของตัวเอง เพราะมีความรู้สึกว่าเป็นการแข่งที่ไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร มีความเสี่ยงสูง หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างเส้นทาง กว่าที่จะมีคนเข้ามาช่วยต้องใช้เวลานาน
แต่ประการสำคัญเลย คือผมเป็นคนรักรถ เวลาเอารถไปแข่งแรลลี่ และนำรถกลับมาจอดที่บ้านจะโดนคุณพ่อจับได้ทุกครั้ง รถจะเลอะไปทั้งคัน เนื่องจากเส้นทางแรลลี่เป็นถนนลูกรังเสียส่วนใหญ่ ซึ่งคุณพ่อซื้อรถไว้ให้ขับไปเรียน แต่กลับเอาไปลงแข่งแรลลี่ จึงคิดว่าเส้นทางนี้ไม่ใช่แนวทางที่ใช่สำหรับตัวเอง
กระทั่งวันหนึ่ง ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ซึ่งอยู่ในวงการมอเตอร์สปอร์ต ได้บุกเบิกการจัดแข่งขันรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทางเรียบในสนามบินเป็นครั้งแรกขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2523 หรือปีค.ศ. 1980 ในชื่อ “เชลล์ไทยแลนด์กรังด์ปรีซ์ ครั้งที่ 1” ที่สนามบิน บน.2 จังหวัดลพบุรี สนามนั้นผมยังเป็นเพียงคนดู และดูไปดูมาเกิดความรู้สึกชอบ มองแล้วว่าน่าจะเข้าทางมากกว่า ดังนั้นเมื่อท่านย้ายการจัดแข่งมาที่สนามบินดอนเมือง เพื่อหาทุนสร้างตึกผู้ป่วยโรงพยาบาลภูมิพลฯร่วมกับกองทัพอากาศ ใน “โครงการมูลนิธิคุ้มเกล้าฯ” ด้วยการปิดสนามบิน บน.6 ดอนเมือง เป็นสนามแข่งรถในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งแรก ครั้งเดียวของเมืองไทยที่สนามบินดอนเมือง ทำให้ผมมีโอกาสเข้าไปลงแข่งแบบเซอร์กิตครั้งแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เนื่องจากผมเองตอนนั้นก็ไม่ได้มีพื้นฐานใดๆ ด้านการเป็นนักแข่ง เป็นเพียงเด็กที่อยากแข่งรถคนหนึ่งเท่านั้น
หลังจากสนามนั้นเป็นต้นมา จึงได้ทำการศึกษาข้อมูลการแข่ง การขับมาเรื่อยๆ ทั้งศึกษาเอง และเข้าไปขอคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ตรงด้านนี้ ได้คำแนะนำดีๆ มามาก จึงนำมาปรับใช้และเข้ามาลงแข่งจริงจัง เริ่มมีการทำรถเพื่อแข่งขันในครั้งต่อไป ที่ทางกรังด์ปรีซ์ใช้สนามบิน บน.2 ลพบุรี เป็นสนามแข่งด้วยการปิดสนามบินมาใช้เป็นเซอร์กิต หลังจากนั้นการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตในบ้านเราก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ กระทั่งมีสนามพีระฯ เซอร์กิต เกิดขึ้นที่พัทยา”
ซึ่งการแข่งที่ผ่านมา คุณปั้น เล่าให้เราฟังว่า ไม่ได้มีการตั้งชื่อทีมมาก่อนจนกระทั่งมีลูกคนแรก จึงนำชื่อลูกมาตั้งเป็นชื่อทีมแข่งว่า เอม มอเตอร์สปอร์ต
“ต้องเล่าว่าสมัยที่ยังเป็นเด็กวัยรุ่นเข้ามาลงแข่ง ช่วงนั้นไม่ได้มีการตั้งชื่อทีมแข่งมาก่อน แต่พอสนามพีระฯ เปิด ลูกคนแรกเกิดพอดี ผมเลยเอาชื่อของลูกคนโตมาเป็นชื่อทีม ใช้ชื่อว่า Aim Motor Sports และแข่งมาเรื่อยๆ กระทั่ง ดร.ปราจิน ทักเข้ามา ว่าดูผมแข่งแล้วขัดใจมาก ดูแล้วผมน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ ให้ลงทุนหน่อย ตอนนั้นก็แค่ซื้อรถมาแข่งเอง ทำในประเทศ แข่งในประเทศ รถที่ใช้ลงแข่งดีบ้างไม่ดีบ้าง ท่านก็แนะนำให้ลงทุน ในเมื่อมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ ทำไมถึงไม่ติดต่อหารถดีๆ เข้ามาแข่ง ตอนนั้นก็ถือว่าเปิดโลกผมเลยครับ
ทำให้ผมเริ่มติดต่อกับเพื่อนที่ต่างประเทศ และนำเข้ารถมาแข่งเอง คันแรกที่นำเข้ามาคือ Nissan Skyline R35 ซึ่ง ณ เวลานั้น ก็ไม่รู้เลยว่ารถคันนั้นมีมูลค่ามาก ณ ปัจจุบัน เนื่องจากนักแข่งโดยส่วนใหญ่ จะมุ่งไปเอารถที่ญี่ปุ่นเข้ามาทำการแข่ง แต่ผมเลือกไปนำเข้ารถมาจากออสเตรเลีย เนื่องจากรู้จักคนที่นั่น เป็นพรรคพวกกันที่พาไปเจอ ซึ่งมีอยู่แค่สองคัน และเป็นสองคันที่เป็นแชมป์ของสนามแข่งที่ยากที่สุดในออสเตรเลีย
ปัจจุบันนี้ หนึ่งในสองคันนั้นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ ส่วนอีกคันเป็นของผม อยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งเมื่อนำเข้ามาใช้แข่งอยู่ได้พักใหญ่ การแข่งขันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาในการแข่ง ผมเลยไปเลือกเอา DTM มา
ซึ่งเผอิญว่าช่วงนั้นทำธุรกิจ Mercedes-Benz อยู่ด้วย และผมเองเป็นตัวแทนของ AMG เลยเชื่อมโยงกัน ไปนำเอา Mercedes 190E เข้ามาแข่งที่ไทย DTM ย่อมาจาก Deutsche Tourenwagen Masters เป็นซีรีส์การแข่งขันรถทัวริ่งระดับชั้นนำของโลกที่จัดแข่งในเยอรมนีและยุโรป เพื่อเก็บคะแนนสะสมแชมป์
หลังจากนั้นก็แข่งต่อเนื่องมาเรื่อยๆ มีพัฒนาการที่ดี มีโอกาสเดินทางไปอบรมที่ต่างประเทศ มี เบรินด์ ชไนเดอร์ (Bernd Robert Schneider) เป็นแชมป์ DTM 5-6 สมัย มาเป็นผู้ฝึกสอนวิธีขับต่างๆ ให้
ผมไปอยู่ที่นั่นเป็นเดือนๆ เพื่อเรียนรู้เรื่องเทคนิคต่างๆ การขับ การออกกำลัง การเทรนนิ่ง การเป็นนักแข่ง ผมได้ความรู้จากตรงนั้นมาเยอะมาก และนำกลับมาใช้เรื่อยมา นั่นคือช่วงที่เข้ามาเป็นนักแข่งแบบจริงจัง”
หากเป็นคนในวงการมอเตอร์สปอร์ต จะทราบดีว่า คุณปั้น หายไปจากวงการนี้พักใหญ่ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ละทิ้งการกีฬา แต่เป็นเพียงการไปหาประสบการณ์จากกีฬาประเภทอื่น นั่นคือ กีฬาขี่ม้า
“กว่า 10 ปี ที่ผมหายไปจากการแข่งรถ เนื่องจากมีความคิดขึ้นมาว่าอายุมากเกินไปแล้ว อาจจะแข่งไม่ไหว และก็อยู่ในช่วงที่ทบทวนตัวเองว่า อยากจะเลือกเล่นกีฬาอะไรหากแข่งรถไม่ไหว ก็ต้องย้อนกลับไปวัยเด็ก ว่ามีอีกหนึ่งกีฬาที่ผมชอบ นั่นคือการขี่ม้า จึงไปมุ่งศึกษาเรื่องกีฬาขี่ม้า จนได้ไปแข่งม้าอยู่พักใหญ่ ได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ ได้แข่ง World Championship จนทุกวันนี้ก็ยังแข่งม้าอยู่ แต่วันหนึ่งก็ทนไม่ไหว กลับเข้ามาแข่งรถอีกครั้ง”
คุณปั้นเล่าถึงความแตกต่างของกีฬาที่รักทั้งสองประเภทว่าค่อนข้างต่างกันมาก เนื่องจากประเภทหนึ่งเป็นพาหนะสี่ล้อ และอีกประเภทเป็นพาหนะที่เป็นสัตว์สองขา
“ความแตกต่างระหว่างการขี่ม้า กับการแข่งรถมันต่างกันมาก ซึ่งตอนที่กลับไปแข่งม้ามันมีการบ่มนิสัยอะไรบางอย่างในตัว อย่างตอนขับรถจะมีความ Aggressive ค่อนข้างสูง ด้วยลักษณะกีฬาที่ต้องมีเบียด มีกระแทก ทำให้ความละเอียดในเรื่องอารมณ์มีน้อยมาก
แต่เมื่อหันไปแข่งม้า กีฬาขี่ม้า อุปกรณ์กีฬาของเราเป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้นทำให้ใจเย็นลงมาก เริ่มมีความละเอียด มีการสังเกตที่มากขึ้น เพราะถ้าเราไปใช้เขาเหมือนรถ ม้าเกิดบาดเจ็บ เสียหาย ซ่อมไม่ได้แน่นอน ต้องหาตัวใหม่เข้ามาอีก ตรงนี้คนรักสัตว์จะเข้าใจดีว่า เมื่อเรามีของดีอยู่กับตัว เราต้องรักษาเขาให้ดี เพราะนานๆ ถึงจะมีมาให้เจอสักตัว ทำให้สองอารมณ์จากสองกีฬานี้ ผสมกันจนเกิดเป็นความลงตัวที่กำลังพอดี
เมื่อกลับมาแข่งรถอีกครั้ง ทำให้ทุกวันนี้เปลี่ยนให้เราเป็นคนใจเย็นลง และเริ่มเปลี่ยนคาแรกเตอร์ เวลาขับจะใช้สมอง ใช้ความคิดมากขึ้น มีการวางแผนที่ดีขึ้น ทำให้อารมณ์ในการขับรถขณะแข่งดีขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่มีความเครียดเยอะ กดดันสูง แพ้ไม่ได้ แต่เมื่อกลับมามันกลายเป็นการขับเพราะเราอยากขับมากกว่าเพื่อแข่ง แต่ความกดดันหายไปหมด มีสมาธิมากขึ้น
ซึ่งเมื่อกลับมาครั้งนี้ เราเลือกประเภทของการแข่งรถให้ตรงกับประเภทของการแข่งม้า นั่นคือ เมื่อแข่งม้า เราเลือกกีฬาแข่งม้าประเภทมาราธอน แข่งหนึ่งครั้ง 160 กิโลเมตร ดังนั้น ถ้าเรามาแข่งรถก็เลือกเป็นการแข่ง endurance จะเหมาะกว่า เพราะทุกการลงแข่งประเภทนี้ เรารู้ตัวเองดีว่าเราจะได้เปรียบ เพราะการแข่งประเภทนี้ต้องอาศัยสมาธิ การวางแผน การเข้าใจเกม การรักษารถให้ดี
ซึ่งทั้งหมดก็ได้มาจากการแข่งม้าอยู่แล้ว ทำให้การกลับมาแข่งรถครั้งนี้มีความสุขมากกว่าเดิม ด้วยความที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ได้เจอเพื่อนเก่า ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะไม่ถูกกันเลย แต่พอมาตอนนี้กลายเป็นทุกอย่างดีขึ้นหมด”
ความมุ่งมั่นของคุณปั้นนั้นไม่เพียงแต่ทุ่มเทไปกับการแข่งรถ แต่สำหรับกีฬาขี่ม้าก็เป็นอีกสิ่งที่เขาทุ่มเทอย่างมากด้วยเช่นกัน
“กีฬาขี่ม้า เป็นกีฬาที่ชอบมาตั้งแต่เด็ก มุ่งมั่นตั้งใจ จนมีโอกาสเข้าไปถึง World Championship เป็นคนที่ทำอะไรแล้ว ต้องทำให้สุด เช่นเดียวกับการแข่งรถ สมัยที่เข้ามาแข่งแรกๆ จนกระทั่งเป็นอาชีพจริงจัง ก็ทำจนสุด ได้ไปแข่งถึง World Endurance Championship ได้ไปแข่ง DTM ที่เยอรมัน เป็นคนไทยคนเดียวที่ขับ DTM ในสนาม F1 ที่มีชื่อเสียง ถ้าไม่ใช่สนามใหม่ๆ ที่เพิ่งถูกสร้าง ผมขับมาแล้วทุกสนาม เรียกได้ว่าน่าจะเป็นคนไทยคนที่สอง ที่ได้เข้าไปแข่งที่ยุโรป เพียงแต่สมัยนั้นไม่มีสื่อโซเชียล ที่จะเป็นช่องทางโปรโมต
แต่เมื่อเข้ามาเล่นกีฬาขี่ม้า ได้ทำการศึกษารูปแบบการแข่งขัน มีเพื่อนที่รู้จักในต่างประเทศที่อยู่ในวงการนี้ เริ่มซื้อของสำหรับการแข่ง รู้ว่าจะต้องเทรนม้าอย่างไร ขั้นตอนโดยรวมของนักกีฬาขี่ม้ามีอะไรบ้าง ผมศึกษามาหมด เรียกว่าก็ทำจนสุดเช่นเดียวกับการแข่งรถ”
จากที่คุณปั้นได้บ่มเพาะเลือดนักกีฬามาอย่างสมบูรณ์ ก็ถึงเวลาที่มีคนมองเห็นจุดเด่น และความสามารถในตัว จึงได้เริ่มมีโอกาสเข้ามาคลุกคลีอยู่ใน ร.ย.ส.ท. กระทั่งได้เป็นผู้จัดงานแข่ง
“การเป็นผู้จัดงานแข่ง เริ่มจากการชักชวนของ ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ท่านให้เข้ามาเป็นกรรมการอยู่ใน ร.ย.ส.ท. หรือราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬา ตั้งแต่สมัยที่คุณไตรรงค์ ศรีมังกร เป็นนายกสมาคม (พ.ศ.2540 – 2543) ซึ่งตอนนั้นยังเด็กมาก แต่ไม่ทราบว่าท่านปราจิน มองเห็นอะไรในตัวผมจึงชักชวนเข้ามา ทำให้ผมได้มองเห็น และศึกษาวิธีในการบริหารสมาคมในยุคนั้น และยังคงเป็นกรรมการเรื่อยมา
กระทั่งได้รับโอกาสเป็นอุปนายกสมาคมฯ จนเข้ามาถึงเลขาธิการนายกสมาคมฯ ในสมัยท่าน ดร.สมพร สืบถวิลกุล (พ.ศ.2559 – 2563) ซึ่งมีการเรียนท่านให้ทราบแล้วว่าผมแข่งกีฬาขี่ม้าอยู่ด้วย หากติดทีมชาติ จะไม่สามารถช่วยทำงานได้ ซึ่งท่าน ดร.สมพร ก็ยังอยากให้รับตำแหน่งและหาคนอื่นมาช่วยงานแทนในขณะที่ผมติดทีมชาติ
แต่ส่วนตัวผมเป็นคนที่ถ้าทำอะไรแล้ว ต้องทำให้ดี ถ้าต้องถูกเรียกเก็บตัวทีมชาติขี่ม้าก็จะทำหน้าที่เลขาฯ ได้ไม่ดี จึงตัดสินใจขอลาออก หลังจากนั้น เมื่อท่านสนธยา คุณปลื้ม ได้เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการกีฬายานยนต์ ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬา (ร.ย.ส.ท.) ถือว่าเป็นการกลับเข้ามามีส่วนรับผิดชอบเนื้องานในสมาคมนี้อีกครั้ง”
ซึ่ง ณ วันนี้ เราสามารถเรียกคุณปั้น ว่า “นายกปั้น” ได้อย่างเต็มปาก ไม่ว่าด้วยประสบการณ์ ความสามารถ เขาคือหนึ่งในคนกีฬาที่น่าน่ายกย่อง
“สำหรับราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ ร.ย.ส.ท. ถ้าเราศึกษาประวัติที่แท้จริงแล้ว ในช่วงก่อตั้งสมัยแรกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ท่านมุ่งเน้นในเรื่องของกีฬามอเตอร์สปอร์ตมาตลอด จะมีเวลาที่เว้นว่างในเรื่องกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ตอยู่บ้างเป็นเวลาราวสิบปี จนได้มีการเปลี่ยนนายกสมาคมคนใหม่เป็นท่านสนธยา คุณปลื้ม การแข่งขันกีฬามอเตอร์สปอร์ตจึงค่อยๆ กลับมา
ก่อนหน้ายุคท่านสนธยา คือยุคท่านสมพร ที่ผมเคยเข้าไปช่วยงานเป็นเลขาฯ อยู่หกเดือน เราได้มีการคุยกันว่าอยากให้ผมกลับเข้ามาช่วยงานใน ร.ย.ส.ท. แต่ตอนนั้นผมยังเน้นไปทางกีฬาขี่ม้าอยู่ จึงต้องปฏิเสธไป กระทั่งหมดสมัยท่านสมพร ท่านก็มาตาม ดร.ปราจิน ก็มาตาม ว่าถึงเวลาแล้ว และส่วนตัวผมเองก็วนเวียนอยู่กับสมาคมมานาน และยังมีโอกาสเป็นอุปนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ดังนั้นเรื่องการทำงานสมาคมผมค่อนข้างจะเข้าใจหลักการบริหาร และมองเห็นถึงปัญหาต่างๆ”
โดยเป้าประสงค์แรกที่นายกปั้นตั้งใจเปลี่ยนแปลงหลังจากการเข้ามารับตำแหน่ง นั่นคือการบริหารจัดการที่ต้องทันยุคทันสมัย และเข้าถึงง่าย
“ปีแรกผมอยากจะรื้อฟื้นระบบภายใน ด้วยโลกที่เปลี่ยนไป รวมทั้งภาพลักษณ์ การบริหารสื่อสารองค์กรให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น และกิจกรรมในส่วนของสังคมด้วยเช่นกัน เพราะภายใน ร.ย.ส.ท. แบ่งออกเป็นสองภาคส่วน ภาคแรกคืองานที่เกี่ยวกับมอเตอร์สปอร์ต อีกภาคคือเรื่องของ Road Safety การใช้รถ ฯลฯ ที่ต้องการรื้อฟื้นขึ้นมา เพื่อให้คนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกีฬามอเตอร์สปอร์ต ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ ด้วย
แต่ในส่วนของวงการมอเตอร์สปอร์ตเอง ต้องบอกว่าดีอยู่แล้ว ถ้าจะทำให้ดีมากไปกว่านี้ อาจจะต้องมีรัฐบาลเข้ามามีส่วนช่วยในการสนับสนุน แต่เบื้องต้นอาจจะมีการปรับแก้การบริหารจัดการนิดหน่อย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น และอาจจะเพิ่มเรื่องสิทธิประโยชน์ของนักแข่งเพิ่มเติมเข้ามา”
โดยนายกฯพฤฒิรัตน์ ได้ทิ้งท้ายไว้เกี่ยวกับวงการมอเตอร์สปอร์ตบ้านเราว่า “อยู่ในยุคเฟื่องฟู ดูได้จากปริมาณนักแข่งที่เพิ่มขึ้น แต่ละปีเพิ่มขึ้นไวมาก หรืออาจเป็นเพราะเรามีไอดอล อย่าง Alex Albon หรือ เอ็นโซ่ ธารวณิชกุล รวมถึงเยาวชนนักแข่งอีกหลายๆ คนที่กำลังฟูมฟักอยู่ และแน่นอนว่าเด็กผู้ชายส่วนใหญ่ชอบการแข่งรถ แต่วันนี้เราจะเห็นผู้หญิงหันมาเป็นนักแข่งรถเพิ่มขึ้น ที่สำคัญบางคนฝีมือสู้นักแข่งผู้ชายได้แบบสบายๆ เพราะระดับโลกเขาก็มี Academy สำหรับนักแข่งรถหญิงแล้ว ซึ่งในอนาคต คาดการณ์ว่าน่าจะมีการแข่งขัน Formula สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะด้วย เรื่องความเท่าเทียม และการตื่นตัวในกีฬามอเตอร์สปอร์ตประเทศไทยเพิ่มขึ้นแน่นอนครับ”
Comments are closed.