กรมการขนส่งทางบก เผย!!! สาเหตุ 5 อับดับแรกของรถที่ถูกสั่งห้ามใช้
กรมการขนส่งทางบก เผย!!! สาเหตุ 5 อับดับแรกของรถที่ถูกสั่งห้ามใช้ ปัญหาการติดตั้งถังดับเพลิงสูงสุด รองลงมา คือ ค้อนทุบกระจก สภาพยาง กระจกแตกร้าว และระบบไฟตามลำดับ ยังคงเดินหน้าตรวจเข้มตาม Checklist ต่อเนื่องทุกสถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดรถทั่วประเทศ โดยร่วมกับ บขส. อาชีวศึกษา ทหาร ตำรวจ จังหวัดและท้องถิ่น ย้ำ!!! พบความบกพร่องเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสั่ง รถ-ห้ามใช้ คน-ห้ามขับ ทันที!!
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงผลการดำเนินการเข้มงวดตรวจสอบความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถตามมาตรฐานความปลอดภัย (Checklist) ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดรถ 229 แห่งทั่วประเทศซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในระบบขนส่งสาธารณะตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม สำหรับผลการตรวจความพร้อมระหว่างวันที่ 24 – 29 มกราคม 2560 ตรวจความพร้อมของรถแล้วจำนวน 79,447 คัน พบรถที่มีข้อบกพร่องจำนวน 6,935 คัน โดยเป็นข้อบกพร่องที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสาร สั่งเปลี่ยนรถทันที 573 คัน สาเหตุ 5 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาการติดตั้งถังดับเพลิงไม่เป็นไปตามที่กำหนด ไม่มีการติดตั้งถังดับเพลง หรือถังดับเพลิงไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน 137 คัน รองลงมาคือ ค้อนทุบกระจก มีจำนวน ขนาดและตำแหน่งติดตั้งไม่เป็นไปตามที่กำหนด 124 คัน สภาพยางไม่พร้อมใช้งาน 88 คัน กระจกแตกร้าว 54 คันและระบบไฟชำรุด 31 คัน ส่วนที่เหลือเป็นความบกพร่องด้านอื่นๆ ซึ่งผู้ประกอบการต้องนำรถคันใหม่มาเปลี่ยนทันทีเพื่อให้บริการได้อย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบในการเดินทางของประชาชน นอกนั้นเป็นข้อบกพร่องเล็กน้อยที่ไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการขนส่งอีกจำนวน 6,362 คัน ซึ่งได้เปรียบเทียบปรับ และในกรณีที่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ ณ จุดตรวจความพร้อม ให้ดำเนินการแก้ไขก่อนให้บริการ ส่วนการตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถ อาทิ แอลกอฮอล์และสารเสพติด ตรวจสอบชั่วโมงการขับรถจากสมุดประจำรถและการแต่งกาย พบข้อบกพร่องจำนวน 197 ราย เป็นข้อบกพร่องที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการ ซึ่งได้ให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนตัวผู้ขับรถทันทีจำนวน 20 ราย ในจำนวนนี้ พบแอลกอฮอล์ในลมหายใจ 1 ราย และทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด 2 ราย ส่วนความผิดอื่นๆ ซึ่งไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการให้บริการอย่างปลอดภัยอีกจำนวน 177 ราย ได้ตักเตือน เปรียบเทียบปรับตามความผิดและบันทึกประวัติที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบกแล้วทุกราย
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมาตรการคุมเข้มพฤติกรรมการขับขี่ ซึ่งกำหนดให้รถตู้โดยสารร่วมบริการกับบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่มีเส้นทางวิ่งกรุงเทพฯ – ต่างจังหวัด ต้องติดตั้ง GPS Tracking แบบ Realtime Online ควบคู่กับการติดตั้งเครื่องบ่งชี้พนักงานขับรถ (เครื่องรูดใบขับขี่แสดงตัวตนพนักงานขับรถ) ในรถทุกคันทุกเส้นทางและเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS อย่างสมบูรณ์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ซึ่งจะเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ให้ติดตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ จนถึงปัจจุบันมีรถตู้ร่วมบริการ บขส. ที่ติดตั้ง GPS Tracking และเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก เข้ารับการตรวจสอบการติดตั้งแล้วจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,250 คัน จากจำนวนรถตู้ร่วม บขส. ทั้งหมด 5,318 คัน คิดเป็นร้อยละ 23.50 ซึ่งจำนวนที่เหลือขอให้เร่งติดตั้งและเชื่อมโยงให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด กรณีรถตู้ที่ครบรอบต่ออายุทะเบียนในงวดเดือนมกราคม – มีนาคม ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการตรวจสภาพรถต่ออายุทะเบียนตามกำหนดปกติ ซึ่งจะไม่เกิน 31 มีนาคม 2560 เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นและเพื่อการควบคุมดูแลความปลอดภัยในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ช่วยลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการควบคุมแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่น DLT GPS อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด
ที่มา : กรมการขนส่งทางบก