บ้านเล็กในป่าใหญ่ คีรีล้อม…ก่อนวันฟ้าพิโรธ
เดินทางไปมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่กลายเป็นว่า ให้หลังมาไม่กี่วัน ภาคใต้ของเราประสบกับมรสุมอย่างหนัก บางพื้นที่ว่ากันว่าหนักที่สุดในรอบ 40 ปี แม้กระทั่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประตูภาคใต้เองก็ไม่ได้รับการยกเว้น หนักสุดเห็นจะหนีไม่พ้น อ.ทับสะแก และ อ.บางสะพาน ที่ถูกน้ำป่าถล่มราบเป็นหน้ากลองภายในคืนเดียว
แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ร่องรอยความเสียหายจากภัยธรรมชาติยังคงอยู่ทุกหย่อมหญ้าที่สายน้ำไหลผ่าน อันเกิดจากธรรมชาติพิโรธ
และแน่นอนว่าที่บ้านคีรีล้อมแห่งนี้ก็เช่นกัน แม้ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก แต่ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน เพราะที่นี่ก็คือ ป่าต้นน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของ จ.ประจวบคีรีขันธ์และ จ.ชุมพร และนี่ก็คือ หนึ่งในต้นเหตุของน้ำป่าที่ไหลบ่าลงสู่ที่ราบด้านล่าง
ผมคุ้นชื่อบ้านคีรีล้อมมานานพอสมควร ตั้งแต่ได้มีโอกาสพูดคุยกับทาง สุเมธ เจริญสุข ชมรมประจวบฯ ออฟโรด คลับ ยิ่งได้เห็นภาพทะเลหมอก น้ำตก และนกเงือก กิเลสก็เกิดขึ้นทันที เฝ้าเวียนถามทางชมรมประจวบฯ ออฟโรด คลับ ว่าจะเดินทางไปอีกเมื่อไร จนแล้วจนรอด กระทั่งปลายปีที่ผ่านมาก็สบโอกาสเหมาะ เมื่อทางชมรมประจวบฯมีโปรแกรมจะเดินทางไปมอบของให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคีรีล้อม จึงรีบเคลียร์ตัวเองให้ว่างและขับรถตามไปสมทบที่ อ.สามร้อยยอดทันที
ก่อนเดินทางไปคีรีล้อมแวะพักผ่อนเอาแรงที่ ละไม ซีวิว รีสอร์ท ของ สุเมธ เจริญสุข ที่หาดสามร้อยยอดสวยงามและเงียบสงบมากๆ
เราออกเดินทางกันในช่วงเช้าของวันเสาร์แวะซื้อข้าวของและเสบียงต่างๆ กว่าจะเดินทางถึงยังบ้านของ พิชัย แก้วเนียม หรือ ปู่ชัย ตะนาวศรีออฟโรด (ชมรมของเขาเรียกว่า ตะ-นาว-วะ-ศรี) ที่แยกธรรมรัตน์ อ.บางสะพาน เวลาก็เริ่มเคลื่อนตัวผ่านเที่ยงวัน และเมื่อเดินทางมารวมตัวกันพร้อม ก็ออกเดินทางเข้าพื้นที่ทันที โดยเลี้ยวเข้าทางซอยพัฒนาร่วมใจ ผ่านชุมชนบ้านในล็อก บ้านโป่งโก ร.ร.บ้านราษฎร์ประสงค์ ไปประมาณ 500 ม. มีทางแยกขวาไปหน่วยพิทักษ์ป่าคีรีล้อม เป็นถนนราดยางเกือบตลอด จนหลุดจากหมู่บ้านมาก็เป็นถนนดินขรุขระ เจอกับด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ เราแวะมอบของให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และออกเดินทางต่อ โดยช่วง 5 กม. สุดท้ายต้องนั้นต้องขึ้นเขาสูงชัน แต่ทางค่อนข้างดี ใช้เวลาไม่นานก็ถึงบ้านคีรีล้อม ต.ช้างแรก รวมระยะประมาณ 19 กม.
หลังมอบของให้กับครู ตชด. เรียบร้อยก็ขับต่อไปยังน้ำตกคีรีล้อม ที่อยู่ห่างจากโรงเรียนไปราวกิโลเมตรเศษๆ จนสุดทางรถก็เดินเท้าลัดเลาะทวนธารน้ำขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่นานนักก็ถึงตัวน้ำตก ซึ่งน้ำตกคีรีล้อมแห่งนี้ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแสวงหาความสุขกับธรรมชาติอย่างแท้จริง มีต้นน้ำจากยอดเขาเตยใหญ่ในเทือกเขาตะนาวศรีและมีน้ำตลอดปี บรรยากาศรอบๆ เป็นป่าทึบที่สมบูรณ์และสวยงาม รอบบริเวณใกล้เคียงกันนี้ยังมีน้ำตกที่สวยอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกพนาสวรรค์ น้ำตกเขาอีเอี้ยงหรือยายเอี้อง เป็นต้น
เวลาในป่าใหญ่ดูเหมือนเคลื่อนตัวไปไวกว่าปกติ เราเพลิดเพลินอยู่กับน้ำตกเพียงชั่วครู่ ก็ต้องไปต่อที่เหมืองยายเอี้อง จุดหมายปลายทางของทริปนี้ ไม่นานนักหัวขบวนก็วิทยุมาแจ้งทุกคันว่า “เดี๋ยวเปลี่ยนเป็น 4Low ได้เลย เพราะข้างหน้าเป็นทางขึ้นเขาชัน ระวังร่องน้ำซ้าย-ขวาด้วยนะ ค่อนข้างลึกพอสมควร”
เส้นทางดินแดงเริ่มไต่ความสูงของขุนเขาขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความลาดชันบางช่วงยาวสุดลูกหูลูกตา แถมมีร่องน้ำดักตลอด นัยว่าในช่วงหน้าฝน กลายเป็นทางน้ำไปในตัว แต่โชคดีที่วันนี้ฟ้าค่อนข้างโปร่ง แถมร่องไหนลึกชาวบ้านก็มาช่วยกันกลบและเกลี่ยหาจนตื้นเขิน หลายคนที่เคยเดินทางมาบอกว่า
“ช่วงฤดูฝนลื่นมาก มันเป็นดินหนังหมู ผมเคยวินช์กันจนหน้ามืดมาแล้ว ขาลงที่เป็นจุดหักศอกรถชาวบ้านตกเขาไปหลายคันแล้ว นี่ดีว่าหมดฝนชาวบ้านก็จะมาช่วยกันทำทางใหม่ และขยายตรงโค้งหักศอกให้กว้างขึ้น และทำคันดินขวางเอาไว้ เพราะเขาต้องใช้ทางนี้เข้าไปที่สวนด้านใน”
เจ้าบ่างน้อยเกาะอยู่ที่ต้นยางข้างทาง
ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรจากหมู่บ้านคีรีล้อมด้านล่าง ใช้เวลาราวชั่วโมงเศษๆ ทั้งหมดก็ทะยอยนำรถขึ้นมาจนถึงสันเขาด้านบน และขับต่อไปอีกไม่นานก็ถึงยังจุดพักแรม เป็นบ้านของ หนุ่ม หรือ กิตติ ประกอบปราณ หนุ่มชาวสวนยางที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี้มายาวนานกว่า 40 ปี และค่อนข้างคุ้นเคยกับชมรมประจวบฯอยู่พอสมควร บ้านของหนุ่มปลูกเดี่ยวๆ อยู่บนสันเขา ด้านหน้าของตัวบ้านเปิดกว้างสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของขุนเขาอันสลับซับซ้อนด้านทิศตะวันออกได้เกือบ 180 องศา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 กว่าเมตร สามารถจอดรถได้เกือบ 10 คัน และยังเหลือพื้นที่กางเต็นท์หรือทำกิจกรรมได้สบายๆ
“เราเข้าไปเที่ยวเหมืองยายเอื้องกันก่อนดีกว่า เดี๋ยวจะมืดเสียก่อน ทางค่อนข้างยากกว่าที่เรามาเยอะ ไหนๆ มาแล้วเข้าไปดูสักหน่อย ส่วนพวกที่เหลือให้เขากางเต็นท์ทำอาหารกันไปก่อน เอารถไปแค่ 2 คันก็พอ จะได้ทำเวลาได้” เฮียชุ้น หรือ ณัฐกร ศศิศุภกุล ประธานชมรมฯ เอ่ยชักชวนผม กับ ศักดิ์ แย้มกล่ำ จากชมรมเพ็ชรบุรีคานแข็งและสมาชิกอีก 4-5 คน
จากบ้านของ กิตติ ประกอบปราณ เส้นทางก็ยังคงไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ มีร่องน้ำลึกๆ ดักอยู่เป็นช่วง จนถึงยอดเขาด้านบนที่ความสูงมากกว่า 600 เมตร ทางเริ่มเปลี่ยนเป็นป่ารกทึบ เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ รถทั้งสองคันยังคงขับไปตามทางที่ขึ้นๆ ลงๆ ไป-มา ระหว่างเนินเขาลูกแล้วลูกเล่า บางช่วงผ่านบ่อโคลนยาวๆ เทียบกับเส้นทางช่วงแรกจากบ้านคีรีล้อมจนมาถึงจุดพักแรม ต้องบอกว่าต่างกันลิบลับ ถ้าหากเจอฝนชะโลมสักหน่อย รับรองคงต้องลากวินช์กันหลายจุดทีเดียว เส้นทางสั้นๆ แค่ 3-4 กิโลเมตรอาจจะใช้เวลาเป็นวันๆ
เมืองยายเอี้ยง เป็นเหมืองแร่ดีบุกเก่าแก่ อยู่ห่างจากชายแดนเมียนม่าร์ประมาณ 2 กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาของเหมืองและชื่อยายเอี้ยงนี้ไม่มีใครทราบแน่ชัด บ้างว่ายายเอี้ยงเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับ แม่ดัด ประจวบเหมาะ ที่รับซื้อแร่ในเขต จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาเหมืองแร่อยู่ในยุคเฟื่องฟูก็มีการนำเครื่องจักรเข้ามาทำทาง เพื่อให้การขนส่งแร่สะดวกสบายขึ้น แม้ว่าปัจจุบันเหมืองต่างๆ จะปิดหรือหมดประทานบัตรไปแล้ว แต่ก็ยังเหลือชาวบ้านที่อยู่ด้านในอีก 2-3 หลัง ที่หันมาทำสวนอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทั้งสวนยาง สวนทุเรียน และผลไม้อื่นๆ อีกมากมาย ที่เหมืองยายเอี้ยงแห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของน้ำตกขนาดใหญ่คือ น้ำตกยายเอี้ยง น่าเสียดายที่เวลาเรามีจำกัด สอบถามทาง กิตติ ประกอบปราณ บอกว่าต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 3-4 กิโลเมตร สุดท้ายก็เลยเดินทางย้อนกลับมาที่พักแรม
ครั้นยามพระอาทิตย์อัสดงลาลับขอบฟ้าไปแล้ว รอบด้านมืดสนิทอนันตกาล บรรยากาศเงียบสงบ อากาศเริ่มเย็นลงตามเวลา ลมเย็นพัดเอื่อยๆ ก่อนจะนิ่งสนิทในยามดึกอากาศยิ่งเย็นและน้ำค้างเริ่มลงแรง จนหลายๆ คนต้องไปคว้าเอาเสื้อและหมวกมาสวมใส่ ก่อนมานั่งรวมตัวหาไออุ่นพูดคุยกันต่อรอบๆ กองไฟใจกลางลานแคมป์
หนุ่ม หรือ กิตติ ประกอบปราณ หนุ่มชาวสวน ผู้สันโดษเจ้าของพื้นที่
แม้อากาศจะเย็นสบาย 10 องศาปลายๆ แต่เช้านี้ลมค่อนข้างแรง ทำให้หมอกไม่ค่อยจับตัวเป็นคลื่นเท่าไรนัก ฟุ้งกระจายเป็นไอน้ำไปทั่ว จนกระทั่งเมื่อแสงแรกเริ่มพ้นขอบฟ้า ลมจึงเริ่มพัดเอื่อยๆ สายหมอกจึงเริ่มจับตัวเป็นทะเลหมอกบางๆ อยู่ในหุบ ไหลหยอกล้อกับเรือนหยอดไม้ใหญ่ กลายเป็นทะเลหมอกสีทอง สวยงามและได้บรรยากาศไปอีกแบบ ไม่เสียแรงที่อุตสาห์เดินทางไกลมาถึงที่นี่
ขณะที่แต่ละคนกำลังสาละวนเก็บข้าวของเตรียมตัวเดินทางกลับ ก็ได้ยินเสียงดึงวู๊บๆ มาจากยอดเขาด้านบน ผมรีบคว้ากล้องเล็งไปทางต้นเสียง เพราะเท่าที่คุยกับ กิตติ ประกอบปราณ บอกว่าในช่วงเช้าๆ ฝูงนกเงือกจะบินออกมาหากินในป่าแถวนี้ และก็เป็นจริงดังว่า ฝูงนกกกหรือนกกาฮัง(Great Hornbill) ราว 7-8 ตัว บินผ่านจุดพักแรมหายไปทางป่าฝั่งตะวันตกเหมืองยางเอี้ยง ซึ่งนกกกเป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นกเงือกที่พบเห็นได้ในเมืองไทย เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของป่าสมบูรณ์ ที่คีรีล้อมนี้ เท่าที่ทราบอาศัยค่อนข้างเยอะพอสมควร
หลังดื่มด่ำกับสายหมอกและธรรมชาติที่คีรีล้อมจนจุใจแล้ว ก็เดินทางไปท่องเที่ยวต่อที่ น้ำตกไทรคู่ ที่ ต.ร่อนทอง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากคีรีล้อมเท่าใดนัก น้ำตกไทรคู่เป็นน้ำตกที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวพอสมควร เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากถนนเพชรเกษมมากนัก มีทั้งหมด 9 ชั้น โดยชั้นที่มีความงามมากที่สุดคือ ชั้นที่ 5 ซึ่งเราใช้เวลาพักผ่อนอยู่ที่ชั้นนี้นานพอสมควร ก่อนจะแยกย้ายเดินทางกลับ เป็นการจบทริปการเดินทางท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบอีกครั้งหนึ่งของชาวประจวบฯ ออฟโรด คลับ เพราะให้หลังมาอีกไม่นาน พื้นที่แถบ อ.ทับสะแก อ.บางสะพาน ถูกพายุฝนและน้ำป่าถล่มอย่างหนัก สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้ ผลพวงมาจากฟ้าพิโรธนั่นเอง
ส่วนใครที่สนใจจะเดินทางไปบ้านคีรีล้อม ลองสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ปู่ชัย ตะนาวศรีออฟโรด โทร.09-0145-7191 ครับ
จิตรกร ถาวร เรื่อง/ภาพ
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.