ทำดีตามรอยสมเด็จย่า เข้าป่าตาม พอ.สว. ไปท่าสองยาง จ.ตาก
มูลนิธิ พอ.สว.นั้น เกิดจากพระราชดำริของสมเด็จย่า หรือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกลความเจริญ โดยเฉพาะสุขภาพของฟัน จึงทรงกำชับว่าให้มีทันตแพทย์ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทุกครั้ง และทรงก่อตั้ง “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” (พอ.สว.) เมื่อปี พ.ศ.2512 ต่อมามูลนิธิ พอ.สว.จึงได้จัดตั้งหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่ชื่อว่า โครงการทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อประชาชนด้อยโอกาสในเขตท้องถิ่นทุรกันดาร และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อประชาชนด้อยโอกาสในเขตท้องถิ่นทุรกันดาร” ระยะเวลาในการปฏิบัติแต่ละปี ประมาณ 8 เดือน
สมาพันธ์ออฟโรดแห่งประเทศไทย ในฐานะของศูนย์กลางของชาวออฟโรดในเมืองไทย ได้เข้าไปร่วมปฏิบัติงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ด้วยส่งเสริมและสนับสนุนชมรมต่างๆ โดยเฉพาะชมรมทางภาคเหนือ (และช่วงหลังๆ มีชมรมจากทั่วเมืองไทยเข้าร่วม)ในการเข้าร่วมในการสำรวจพื้นที่ เป็นพี่เลี้ยงให้กับคณะทันตแพทย์อาสาสมัครในการเดินทางเข้าพื้นที่ รวมทั้งฝึกอบรมให้กับพนักงานขับรถของคณะทันตแพทย์อาสา ปีนี้นับเป็นปีที่ 12 เข้าไปแล้ว
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.-3 ธ.ค.2559 ที่ผ่านมาทางสมาพันธ์ออฟโรดฯ ร่วมกับ ชมรมศรีราชาออฟโรด, ร้อยป่า กรุ๊ป, สนามบ่อดินสามโคก, นิตยสารออฟโรด เข้าร่วมกิจกรรมเป็นปีที่ 12 ทีมที่ 5 ในพื้นที่ ต.แม่ต้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยมีชาวบ้านและเด็กๆ เข้ามารับการรักษามากถึง 930 คน จาก 11 หมู่บ้าน โดยใช้ ศศช.แม่ต้อคี เป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติงานครั้งนี้
ทีมงานของเราเดินทางไปเกาะติดชีวิตการทำความดีบนยอดดอยของพวกเขาเหล่าทันตแพทย์อาสาสมัครฯ ทีมสมาพันธ์ออฟโรดฯ ครู กศน.ตชด. สสช.รพ.ท่าสองยาง ในการปฏิบัติงานท่ามกลางพื้นที่อันทุรกันดาร แต่แวดล้อมด้วยความยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติอันบริสุทธิ์
บอกเลยว่า…ถ้าใครตื่นสาย ไปร่วมงานกับ “หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อประชาชนด้อยโอกาสในเขตท้องถิ่นทุรกันดาร” ไม่ได้ ทุกอย่างต้องพร้อมปฎิบัติงานก่อนเวลา 07.00 น. ของทุกวัน เพราะเมื่อเข็มนาฬิกาขยับไปที่ 07.00 น.เป๊ะ คณะทันตแพทย์อาสาฯ ทีมรถออฟโรด รวมทั้งตำรวจตระเวนชายแดนและครูกศน. ก็จะออกเดินทางสู่ที่หมายในการปฏิบัติงาน โดยแบ่งเป็นหน่วย วันละ 3 หน่วยบ้าง 2 หน่วยบ้าง กระจายไปยังหน่วย ศศช.ในหมู่บ้านต่างๆ แต่ละหน่วยก็ประกอบไปด้วยรถของชมรมออฟโรดออฟโรดที่มีครูหรือ ตชด.นำทาง ตามด้วยรถเครื่องมือของหน่วยทันตกรรมฯ รถของคณะทันตแพทย์อาสาฯ ปิดท้ายด้วยรถออฟโรด
ครั้นถึงที่หมายแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ จัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ โดยพวกเราชาวออฟโรดทำหน้าที่เป็นลูกมือในการขนย้าย ด้วยความชำนาญของบรรดาเจ้าหน้าที่ ใช้เวลาไม่เกินชั่วโมงก็ทุกอย่างก็เรียบร้อย แต่ก่อนอื่นก็ต้องให้เด็กนักเรียนและชาวบ้านมาทำทะเบียนประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน รวมทั้งตรวจสุขภาพฟันเบื้องต้นก่อน จากนั้นก็จะมาเจ้าหน้าที่ช่วยจัดคิว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพวกออฟโรดเรานั่นแหละ ปัญหาสุขภาพฟันของเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็คือ การเคลือบฟลูออไรด์ อุดฟัน และถอนฟัน แต่ที่เล่นเอาบรรดาคุณหมอเหงื่อตกไปตามๆ กันก็คือ บรรดาผู้ใหญ่ที่นอกจากจะต้องขูดหินปูนแล้ว ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน กันค่อนข้างเยอะมาก คุณหมอทุกท่านก็ยังตั้งใจทำงานด้วยความมุ่งมั่น อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทุกคนยังเต็มไปด้วยรอยยิ้มที่เปื้อนหน้าอยู่เสมอ
หลังเสร็จสิ้นภารกิจในการดูแลสุขภาพฟันของเด็กๆ และชาวบ้าน ซึ่งแต่ละหน่วยฯ มีตั้งแต่ 80-100 คน ตกเย็นคณะหน่วยทันตกรรมฯก็เดินทางกลับฐานที่ ศศช.แม่ต้อคี เพื่อพักผ่อน ทานอาหาร และประชุมเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะปฎิบัติงานในช่วงค่ำ เพื่อนำมาแก้ไขในวันต่อไป ส่วนออฟโรดเรานั้นก็แยกออกมาพักอีกจุดหนึ่ง ในบริเวณที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน
รุ่งเช้าวันใหม่ ก็เหมือนฉายหนังม้วนเดิม เพิ่มเติมคือ ย้ายไปยังหมู่บ้านหรือ ศศช.( ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”) ในส่วนของชาวออฟโรดเรา ก็มิได้นิ่งเฉย ขณะที่คณะทันตแพทย์ฯ กำลังง่วนอยู่กับการรักษาฟันให้กับชาวบ้าน พวกออฟโรดก็ช่วยกันตัดผม รวมทั้งนำของที่ติดรถมามอบให้กับเด็กๆ และชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนร่วมกันสืบทอดมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นประเพณีปฎิบัติกันไปแล้ว ถือเป็นการคืนความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร
หลังปฏิบัติงานที่ ศศช.บ้านตะโป๊ะปู่ ต.แม่ต้าน เป็นจุดบริการสุดท้ายของหน่วยที่ 5 ในช่วงบ่ายๆ ของวันที่ 2 ธันวาคม 2559 คณะทันตแพทย์อาสาฯ คณะออฟโรด ตชด. ครูกศน. และผู้ร่วมปฎิบัติงานทุกคนก็มารวมตัวแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลที่ได้ร่วมกันทำในครั้งนี้ รวมทั้งระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ผู้ก่อตั้ง มูลนิธิ พอ.สว. รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานกิตติมศักดิ์ ก่อนจะเดินทางกลับมาที่กองร้อย ตชด.344 อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และแยกย้ายกลับสู่ภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ
ทั้งรองประธานฯ, เลขาธิการฯ จากสมาพันธ์ออฟโรดแห่ง ประเทศไทย คุณณัฐนันท์ จันทร และ อุไรวรรณ นิลพลา รวมทั้งชาวออฟโรดหลายๆ คนเลือกซื้อผ้าทอมือจากชาวบ้านที่เป็นชาวไทยภูเขา ต้องบอกว่าการทอนั้นนอกจากมีความประณีตอยู่ในตัวแล้วลวดลายนั้นสวยงามน่าประทับใจ แถมราคาไม่แพง ตัวเบาไปตามๆ กันเลยทีเดียว หลังจากเหมาซื้อกันไปหลายชิ้น
เด็กน้อยชาวไทยภูเขากำลังเข้ามารับการรักษาฟัน แต่น้องน่าจะเป็นเริมซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ทำให้คุณหมอต้องส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพแทน
วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ ยังคงอิงแอบอยู่กับธรรมชาติ พวกเขายังรักษาวัฒนธรรมดั่งเดิมของตนเองเอาไว้เกือบครบถ้วน แม้ว่าอีกไม่นานความเจริญที่กำลังคืบคลานเข้ามา อาจจะทำให้ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นเปลี่ยนไป แต่อนาคตคงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า หมู่บ้านหรือผู้คนบนที่สูงเหล่านนี้จะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน
แม้จะต้องปฏิบัติภารกิจกันอย่างแข็งขันตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่ต้องบอกว่าทริปนี้ ทีมที่ 5 ของเราค่อนข้างโชคดี ที่จุดพักของหน่วยทันตกรรมฯ ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ต้อคี ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอันงดงาม นับตั้งแต่จุดพักแรมเป็นลานกว้างๆ ยื่นออกไปรับวิวพระอาทิตย์ขึ้นยาวเช้า เห็นเหลี่ยมเขาน้อยใหญ่สุดลูกหูลุกตา (มารู้ทีหลังมาจุดพักแรมของชาวออฟโรด เป็นป่าช้าเก่าของชาวเขา เล่นเอาหลายคนขนลุกขนพองไปตามๆ กัน) หรือขับรถขึ้นไปนิดบนสันเขา ก็สามารถเห็นทะเลหมอกได้หลายจุด เสียดายว่าช่วงที่เดินทางเข้าไปอากาศยังไม่หนาวเย็นเท่าที่ควร ก็เลยมีแค่เรียกน้ำย่อยเล็กน้อย
เจดีย์ขาวหรือเจดีย์แม่ต้อคี ตั้งอยู่ตรงสามแยกปากทางเข้าหมู่บ้านแม่ต้อคี ทางไปยังบ้านเลอผาโด้ เป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านของชาวบ้านในแถบนี้
อีกหนึ่งไฮไลท์ของทริปนี้ ก็คือ น้ำตกแม่ต้อคี ที่ตั้งอยู่ริมทางระหว่างกึ่งกลางไปบ้านตะปรือโหย่ แม้ไม่ใช่น้ำตกขนาดใหญ่ แต่เป็นน้ำตกที่ซ่อนตัวอยู่อย่างมิดชิดกลางป่าดิบ (แม้รอบๆ จะเต็มไปด้วยไร่ข้าวโพด) ความดิบ เถื่อน นั้นต้องให้ชาวบ้านนำทางและช่วยถางทางเข้าไป แต่เมื่อได้สัมผัสแล้วต้องยอมรับว่า เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามและบริสุทธิ์มากจริงๆ
ถือเป็นของแถมจากทริปที่ทุกคนต่างอิ่มบุญ อิ่มใจไปตามๆ กัน ทั้งคณะทันตแพทย์อาสาฯ ทีมสมาพันธ์ออฟโรดฯ ครู กศน.ตชด. สสช.รพ.ท่าสองยาง และชาวบ้านทุกคน ต่างหล่อหลอมใจเป็นหนึ่งเดียว เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อทุกคนได้สละเวลาเพียงน้อยนิด แต่สามารถสร้างรอยยิ้มอันยิ่งใหญ่ให้กับผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร และถวายเป็นพระราชกุศลให้กับสมเด็จย่าอีกด้วย
ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ส่ง Toyota Hilux Revo ดับเบิ้ลแค็บ เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ที่ผ่านบททดสอบหฤโหดเส้นทาง กรุงเทพฯ-อิตาลี เป็นพาหนะสำคัญให้กับทีมงานในการเดินทางตามรอย พอ.สว. ปีที่ 12 ทีม 5 อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ในครั้งนี้
จิตรกร ถาวร เรื่อง/ภาพ
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.