SHOCK UP ถ้าโช้คอัพเสียจะทำอย่างไร?
“โช้ค-แตก” อาจเพราะแบกภาระหนัก แต่ถ้าคิดจะรักก็รีบทักมาในช่องแชท เมื่อนอนไม่หลับก็เพ้อเฟสบุ๊ค มันก็เป็นอารมณ์ของวัยมันส์ๆ แต่ถ้านอนไม่หลับเพราะนั่งรถไปเหมือนนั่งเรือเล็กออกทะเล แสนสุดจะโคลงเคลง คำตอบในการแก้ไขจะทำอย่างไรต้องเลือกหนทางที่เราไหว เข้าใจนะเธอ…
ทุกวันที่เราใช้รถขึ้นรถ สตาร์ทเครื่องยนต์ ปิดประตู คาดเข็มขัดนิรภัยแล้วขับขี่ออกไป บนเส้นทางที่เราขับขี่ไปนั้นเราต้องพบเจอกับสิ่งต่างๆ หลุม บ่อ เนินลูกระนาด ที่เป็นตัวเร่งให้โช้คอัพรับบทหนัก จึงทำให้มันหาสาเหตุและระยะเวลาที่แน่นอนได้ยากว่าเมื่อไหร่ที่มันจะเสีย
ถ้าเอาแบบหลักการสักหน่อย มีคำแนะนำให้ตรวจสอบระบบรองรับในทุกช่วงระยะทาง 20,000 กิโลเมตร ซึ่งอย่าว่าแต่โช้คอัพเลยบางคนขับรถกลางคืนยังลืมไม่เปิดไฟหน้าก็มี แล้วนี่โช้คอัพ อยากเห็นหน้าต้องทำไง มองลอดช่องสิครับ ไม่ก็ต้องยกถอดล้อดูลำโช้คอัพให้เห็นเต็มๆ ตาหน่อย ถ้ามีอะไรเยิ้มเหนียวก็นั่นแหละ เอานิ้วรูดดูถ้ามันลื่นๆ ก็แน่นอน “แตกแล้ว”
ไอ้ที่ลื่นๆ นั้นก็คือน้ำมันภายในโช้คอัพที่เกิดการรั่ว ซึ่งเป็นผลที่ตามมาจากสิ่งที่เราเรียกมันว่าโช้คแตก บางครั้งกับคนที่เข้าใจอาการรถสักหน่อยจะรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลง รถโคลงเคลงเมื่อยามวิ่งใช้ความเร็วสักหน่อย ตกหลุม ขึ้นเนินคอสะพาน สะท้านถึงกระดูกก้นกบ แต่ไอ้คอสะพานเมืองไทยนี่ก็สุดๆ นอกจากรอยต่อจะไม่สนิทแล้วบางครั้งมีหลุมไว้รอเราพลาดลงไปอีก ต้องเบรกต้องเบาอย่างเดียวแต่ก็เสียวท้ายเหลือเกินเมื่อยามรถตามมา นั่นแหละครับ
ปัญหามีไว้แก้ไข จะทำไงได้รถมันก็ต้องเสียต้องซ่อม เมื่อคำตอบและทางเลือกที่ได้มีหลากหลายรูปแบบเราจะเลือก เอาแบบที่ไม่ต้องคิดมากก็คือเปลี่ยนใหม่ ตรงนี้เราก็ต้องดูสักนิดว่าเราจะเปลี่ยนในรูปแบบไหน ถ้าเราโอเคกับฟิลลิ่งการทำงานของโช้คอัพแบบเดิมหรือแบบเดียวกับที่เราเคยใช้งานอยู่ก็จบตรงนั้น เปลี่ยนอะไหล่โช้คอัพตัวใหม่เข้าไป ในส่วนที่เรามีงบประมาณเพียงพอและอยากได้การตอบสนองที่มากขึ้น ด้วยโช้คอัพที่มีคุณสมบัติมากกว่า เราก็เลือกได้มากขึ้นซึ่งทุกวันนี้มีแบบตรงรุ่นหลากหลายแบรนด์ให้เลือกสรรกัน ซึ่งตรงนี้ไม่ค่อยจะมีปัญหา
ปัญหามันจะเกิดตรงคำตอบที่ว่าเมื่อโช้คอั้พแตกจะทำอย่างไร จะเปลี่ยนใหม่ก็ไปเข้าเงื่อนไขอย่างที่เราว่ามา แต่ถ้าเราจะเลือกทางอื่นล่ะ มีทางไหนให้ฉันเลือกได้บ้าง ก็ทางที่เขาเรียกว่า “ซ่อม” แต่มันมีระดับของการซ่อมให้เลือกมากขึ้นด้วย สมัยก่อนซ่อมโช้คอัพเป็นอันว่ารู้กันว่าอยู่ไม่ทน ใช้งานได้ไม่นานก็แตกอีก มันจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการประหยัดหรือหาโช้คอัพใหม่ หรือมือสองมาทดแทนไม่ได้จริงๆ แต่เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปดูอย่างสมัยก่อนถนนหนทางมีสองเลนส์สวนคนก็ว่าสร้างทำใหม่นิ ใหญ่โต พอมาถึงปัจจุบันแปดเลนส์ยังติด
กลับมาที่ทางเลือกการซ่อมโช้คอัพ ในปัจจุบันเครื่องมือ อุปกรณ์ ประสบการณ์และความเข้าใจของสำนักซ่อมต่างๆ มีมากขึ้น ทางเลือกของการซ่อมโช้คอัพที่แตกหรือแม้แต่ยังไม่แตกแต่ต้องการให้มันมีฟิลลิ่งการทำงานที่ดีขึ้น ก็สามารถอัพเกรดได้ในราคาที่ไม่สูง ส่วนที่แตกก็สามารถวางงบประมาณในการซ่อมได้ในระดับที่น้อยกว่าการเปลี่ยนใหม่ ทั้งนี้พวกที่เปลี่ยนโช้คอัพคุณภาพสูงมาแล้วจะเลือกใช้วิธีการนี้เป็นเรื่องของการบำรุงรักษาหรือฟื้นคืนสภาพให้ใช้งานต่อไปได้ คราวนี้เรื่องของระยะเวลาการใช้งานก็มากขึ้นโดยลำดับ ด้วยปัจจัยของการพัฒนาตรงนั้น
ฟันธงแบบหมอลักษณ์กันไปในแบบออกความเห็นแนะนำ ก็ควรเลือกทางที่เหมาะสม ซึ่งอะไรที่เหมาะสมมันก็จะตรงกับเงื่อนไขหรือทางที่เราชอบ ไม่ต้องไปซีเรียสกับมันมาก เพราะตรงนี้มันก็เข้าประเด็นของการดูแลรักษารถยนต์อย่างหนึ่ง เพราะถึงโช้คอัพจะแตกแต่รถก็ยังขับขี่ได้แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า อาการของรถที่ควบคุมได้ยากอาจส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น
อีกทั้งกับผู้ที่มีนิสัยการขับรถด้วยความเร็วสูง เข้าโค้งรวดเร็ว พวกนี้ย่อมที่จะต้องการระบบรองรับที่เหมาะสมขึ้นการเปลี่ยนโช้คอัพที่มีคุณสมบัติที่สูงขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะไม่เพียงแต่การทำหน้าที่รองรับเท่านั้น เมื่อมันมีผลต่อการทรงตัวและความปลอดภัย มันก็คุ้มที่จะจ่ายใช่ไหม สุดท้ายก่อนจากกันไป ขอเตือนไว้ว่าต้นหูกระจงควรปลูกให้ห่างจากตัวบ้าน…
เรื่องโดย กองบรรณาธิการนิตยสารออฟโรด
ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ ในนิตยสารออฟโรด ฉบับที่ 252 เดือนเมษายน
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.