2020 Rezvani Tank ออฟโรดขาโหดใส่เกราะกันกระสุนและระเบิดนิวเคลียร์ EMP
Rezvani Tank รุ่นใหม่ล่าสุดเปิดตัวภายในปี 2020 ด้วยรูปลักษณ์ใหม่ทั้งหมด เพราะไม่ได้ใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ร่วมกับโมเดลเก่าเลย แต่ทางต้นสังกัดก็ไม่ได้ให้ราบละเอียดอื่นๆ มากนัก แต่ยืนยันว่าเอสยูวีจะใช้แพลตฟอร์มแบบ Body On Frame พร้อมช่วงล่างระดับ world Class ที่ออกแบบร่วมกับ Fox
2020 Rezvani Tank จัดให้เป็นรถออฟโรดที่มีความก้าวร้าวมากที่สุด หากว่าลูกค้ากระเป๋าหนักยังสามารถเลือกออพชันเสริมอย่าง “Tank X” ด้วยขุมพลังเครื่องยนต์ซุปเปอร์ชาร์จ V8 ขนาด 6.2 ลิตร ที่ถือว่ามาแรงมากในตอนนี้ สามารถผลิตฝูงม้าออกมาวาดลวดลายได้มากกว่า 1,000+ ตัว
หากใครคิดว่ามันยังธรรมดาไป ทางค่ายก็เสนอความพิเศษสุดกับ Tank Military Edition ที่มีการป้องกันระดับเกรดกองทัพ “Military Grade” ตัวรถสามารถป้องกันการโจมตีด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือนิวเคลียร์ EMP ในระดับ E1 E2 และ E3 แถมบอดี้รอบตัวยังทำหน้าที่เป็นเกราะกันกระสุนอีกด้วย
จากภาพทีเซอร์ยังไม่เปิดเผยอะไรมากนัก ทางค่ายก็ให้ข้อมูลมาว่าจะมีกันชนหน้าใหม่ กระโปรงหน้ารถปรับปรุงใหม่ กระจกหน้าใหญ่กว่าเดิม และกระจกด้านหลังดูเกรงขามยิ่งขึ้น
ตอนนี้ทางค่ายได้เปิดรับพรีออเดอร์ 2020 Rezvani Tank พร้อมเงินมัดจำอีก 2,500 ดอลลาร์ หรือราว 78,000 บาท โดยโมเดลใหม่นี้จะเปิดตัวในอีกไม่กี่สัปดาห์ และการส่งมอบจะเริ่มในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
ระเบิดนิวเคลียร์ EMP จะมีอยู่สามประเภทด้วยกัน แต่ละชนิดมีผลต่อระบบไฟฟ้าประเภทต่างๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ประเภทแรกเรียกว่า E1 ส่งผลกระทบต่อเสาอากาศท้องถิ่น สายเคเบิลระยะสั้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอาคาร แผงวงจร รวมถึงเซ็นเซอร์ ระบบการสื่อสาร ระบบป้องกัน และคอมพิวเตอร์ ส่วนประเภทที่ E2 มีลักษณะการระเบิดคล้ายกับฟ้าผ่า ส่งผลต่อสายนำไฟฟ้าที่ยาวขึ้น เสาอากาศแนวตั้ง และเครื่องบินที่มีเสาอากาศต่อท้าย แต่เป็นประเภทระเบิดที่สามารถป้องกันได้ง่าย
สุดท้าย E3 มีผลต่อสายไฟ สายการสื่อสารขนาดยาวมากๆ เช่น สายเคเบิ้ล หรือสายไฟใต้ทะเล และใต้ดิน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายระดับ “หายนะ” ให้กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องพึ่งพาการติดต่อสื่อสารระดับโลก รวมถึงโทรศัพท์ โดยรวมแล้วความเสียหายส่วนใหญ่มาจาก E1 และ E3 มันส่งผลกระทบต่อเทคโนโลยีที่มนุษย์ต้องพึ่งพา หลังเกิดการระเบิดเครื่องปั่นไฟอาจจะยังใช้งานได้ แต่สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ที่โดนนิวเคลียร์ EMP ผู้คนในละแวกนั้นส่วนใหญ่จะไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้เลย
เรื่อง : ธราภณ วชิระธรกุล
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.