แรลลี่ที่ จ.แพร่
ในระดับ WRC แรลลี่ที่ดีที่สุดนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันต้องแรลลี่เมืองหนึ่งพันทะเลสาบ เมืองแห่งพระอาทิตย์ตกเที่ยงคืนที่ฟินแลนด์ (1000 Lakes Rally Finland) ยังเมืองจีวาสคีลา (Jyvaskyla) ขึ้นไปตอนเหนือห่างจากเมืองหลวง เฮลซิงกิ (Helsinki) ประมาณ 280 กิโลเมตร
ประเทศฟินแลนด์ ที่ว่าเป็นประเทศที่ชื่นชอบกีฬามอเตอร์สปอร์ตเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่า นักแข่งชั้นนำจากประเทศนี้มีมากมาย อาทิ อารี วาทาแนน, จูฮา คานคุนแนน, ทอมมี่ มาคิแนน, มากุส กรอนโฮม (ไอดอลผู้เขียน) รวมทั้ง ยารี มัตติ ลัตวาลา มือขับจากทีม Volkswagen Motorsport ในปัจจุบัน นี่ยังไม่นับถึง มิกา ฮัคคิแนน มือขับ F1 ซึ่งคงเป็นที่น่าสังเกตว่าทำไมประเทศฟินแลนด์ถึงผลิตนักขับชั้นดี ระดับแชมป์โลกไว้ได้อย่างมากมาย
อารี วาทาแนน ตำนานมือขับชาวฟินแลนด์
จูฮา คานคุนแนน
ทอมมี่ มาคิแนน บรรดา FC ชาวไทยไม่น่าพลาด กับลีลาการขับที่ จ.แพร่ ปัจจุบันไปเป็นผู้เชี่ยวชาญทีม TOYOTA GAZOO Racing WRC
มากุส กรอนโฮม จอมโหด กับลีลาขับอันดุดัน
ยารี มัตติ ลัตวาลา มือขับจากทีม Volkswagen Motorsport
มิกา ฮัคคิแนน มือขับ F1
คำถามนี้ผมเคยถาม มร.ซิโม่ แลมพิแนน (Mr.Simo Lampinan) อดีตมือขับแรลลี่ชาวฟินแลนด์ รวมทั้งนายสนามแรลลี่ฟินแลนด์ ควบคู่ไปกับตำแหน่ง Observer และ Stewart จาก FIA หรือผู้สังเกตุการณ์ และควบคุมการแข่งขันรถยนต์แรลลี่ในระดับโลก นอกจากนี้ ยังเข้ามามีบทบาทช่วยแรลลี่เมืองไทยในการยกระดับแรลลี่เมืองไทยขึ้นไปอีกขั้น
มร.ซิโม่ แลมพิแนน เข้ามาช่วยเหลือ และมีบทบาทในแรลลี่เมืองไทย
“ชาวฟินแลนด์ชอบมอเตอร์สปอร์ต โดยถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากการชม ต่อมายังเข้าร่วมแข่งขัน โดยมีภาครัฐ และเอกชน ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่ในเวลาต่อมาจะเห็นเหล่านักขับเหล่านั้น ประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับต่างๆ”
เป็นคำตอบของ มร.ซิโม่ ถ้าได้คิดตามไปด้วยคงบอกได้คำเดียวว่าถูกทุกข้อ ถ้าจะมาขยายความกันสักนิด ซึ่งจำนวนประชากรของประเทศฟินแลนด์มีประมาณ 5 ล้านกว่าคน กับพื้นที่ของประเทศ 338,145 ตารางกิโลเมตร เฉลี่ย 15 คน/ตารางกิโลเมตร การถูกปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก กล่าวคือ แรลลี่ฟินแลนด์ จะเห็นภาพผู้ชมไปรอชมการแข่งขันอย่างชินตา ไปกันแบบครอบครัว เหมือนไปปิกนิค มีการเตรียมอาหาร และเครื่องดื่มไปรอชม แทบจะทุก SS รวมไปถึงวัน Shake down ก่อนการแข่งขัน
ผู้จัดการแข่งขันมีการกำหนดจุดเข้าชม (spectator guide) ในสภาพเส้นทางแข่งขัน อ้อ! ที่สำคัญไม่ได้ดูกับแบบฟรีๆ นะครับ มีการเก็บค่าเข้าชม ดูแรลลี่เมืองนอกต้องเสียเงิน (ในที่นี้ยังไม่ขอโยงกับแรลลี่ไทย ที่เปิดให้ดูฟรี ผู้ชมมีแต่คนท้องถิ่น) ยิ่งใน SS.Show กำหนดจุด VIP ผู้สนับสนุนเนืองแน่น มีอาหาร/เครื่องดื่มไว้คอยบริการ
อาจกล่าวได้ว่าจำนวนมหาศาลของเม็ดเงินนั้นสามารถเนรมิตให้มีระบบรูปแบบการจัดการแข่งขันที่ดีได้ ยิ่งผสมผสานไปกับการให้ความร่วมมือจากหน่วยงานในทุกภาคส่วน สภาพเส้นทางแข่งขันที่จัดได้ว่าเป็นเส้นทางที่เร็วสนามหนึ่งในบรรดาทุกๆ สนามของการแข่งขันเก็บคะแนนสะสมแรลลี่โลก แต่ด้วยระบบการป้องกันความปลอดภัยด้าน (Safety) ของการแข่งขันที่ดีเยี่ยม จึงเป็นที่วางใจได้อย่างดี
ที่กล่าวมายังไม่นับถึงภาพรวม ในภาพของการช่วยเศรษฐกิจของประเทศ ในฐานะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ทั้งทางตรง และทางอ้อม ส่งผลมาอย่างต่อเนื่อง
จึงไม่แปลกเลย!! ที่ฟินแลนด์สามารถผลิตนักแข่งชั้นดีไว้ได้อย่างมากมาย โดยยอดรถผู้สมัครแข่งขันชาวฟินแลนด์นับร้อยคัน ที่ลงแข่งขันในระดับ Championship ที่พร้อมต่อสู้ช่วงชิงขึ้นมาเป็นฮีโร่
โดยเมื่อครั้งหนึ่งได้มีโอกาสได้เข้าไปร่วมชมการแข่งขันแรลลี่ฟินแลนด์ โดยมีที่พักอยู่ติดกับเส้นทางแข่งขัน (ปิดเมืองแข่งบางส่วน) ประมาณสาม-สี่ทุ่ม เสียงรถแข่ง ยังคำรามลั่นวิ่งแข่งขันกันอยู่ อย่างที่ได้บอกไว้แล้วข้างต้น ฟินแลนด์เมืองแห่งพระอาทิตย์ตกเที่ยงคืน จึงมีช่วงกลางวันที่ยาวนานเป็นพิเศษ ดูแล้วช่างอิจฉาแรลลี่ฟินแลนด์เสียจริง
ตั้งหัวเรื่องแรลลี่ที่ จ.แพร่? แต่เลยไปไกลถึงหลังคาโลกยังฟินแลนด์ เพียงด้วยเป้าหมายต้องการให้เห็นภาพถึงสนามแข่งขันที่ดีที่สุดของโลก เฉกเช่นเดียวกัน
แม้แรลลี่เมืองไทย ยังไม่สามารถไปได้ถึงตรงจุดนั้น แต่ในช่วงเวลานั้น คงไม่มีใครปฎิเสธได้ว่า แรลลี่แพร่ ก็จัดเป็นสังเวียนศึกที่ดีที่สุดของประเทศ รวมไปถึงในระดับเอเชีย-แปซิฟิคด้วยเช่นกัน
แต่ที่แน่ๆ ในช่วงเวลานั้น ตัวผุ้เขียนเองแอบเผลอไผล คิดตามไปว่า สภาพภูมิประเทศ ของ จ.แพร่ ช่างคล้ายคลึงกับเมืองจีวาสคีลา โดยอยู่ขึ้นไปทางตอนเหนือเมืองหลวงเช่นกัน ส่วนเรื่องราวต่อไปของแรลลี่แพร่จะเป็นอย่างไรนั้น ตอนหน้าผมจะมาเล่าให้ฟัง…
เรื่อง กิตติศักดิ์ สวัสดิทัศน์
ภาพ Neste Rally Finland/www
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.