เรื่องเล่า เหนือสุดแดนลาว (ธันวาคม 2009) ตอนจบ

01 บรรยากาศรอบๆตลาดเช้า คิวรถ  เมืองอูใต้ (1)_resize
บรรยากาศรอบๆตลาดเช้า คิวรถ เมืองอูใต้

เสียงเครื่องยนต์ของไอ้กะชอโพ คำรามในจังหวะที่ผมต้องลดเกียร์ให้ต่ำลง เพื่อไต่ลงภูสูงลูกที่เราพึ่งจะข้ามพ้นมาความชื้นบนพื้นผิวดินที่พื้นล่างอัดแน่น ยังทำให้เราควบคุมรถได้ยากในช่วงจังหวะของการลงเนินชันแล้วมาเจอกับโค้งหักศอกหลายช่วง ผมมักจะใช้เกียร์เป็นตัวช่วยชะลอความเร็วด้วยน้ำหนักตัวรวมสัมภาระถึงสามตันกว่าๆ ของไอ้กะชอโพ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเบรคไหม้ หรือแม้แต่ในความลื่น ของแต่ละโค้งหักศอกที่ลงเนินมา การลดเกียร์ต่ำหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเอนจิ้นเบรค เพื่อช่วยชะลอความเร็ว ซึ่งจะทำให้รถยนต์ของเราไม่เสียการทรงตัว หรือคำที่เรียกติดปากของผู้ที่รักการเดินทางส่วนใหญ่ จะเรียกอาการเช่นนี้ว่า “ขวาง”

01 บรรยากาศรอบๆตลาดเช้า คิวรถ  เมืองอูใต้ (2)_resize

ผมยังค่อยๆปล่อยให้กำลังของเครื่องยนต์เป็นตัวต่อกร กับค่าแรงโน้มถ่วงของโลก พร้อมกับเลี้ยงพวงมาลัยให้อยู่ในร่อง และแตะเบรกช่วยเล็กน้อย ในการลงเนินชันที่ลื่นเช่นนี้ ซึ่งนอกจากจะลื่นแล้ว ฝั่งหนึ่งเป็นผาหิน ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง เป็นยังหุบเหวลึกลงไปสุดลูกตา เรายังคงเคลื่อนลงเนินอย่างช้าๆ จวบจนพ้นพุ่มไม้ใหญ่ในโค้งซ้ายมา ผืนนาที่กว้างไกลก่อนเข้าสู่ใจกลางเมืองอูใต้ ก็ปรากฏอยู่ข้างหน้าเรา

02 ภาพทั่วไป เส้นทางไปเมืองยอดอู ป้ายเมืองยอดอู (1)_resize
ภาพทั่วไป เส้นทางไปเมืองยอดอู ป้ายเมืองยอดอู

02 ภาพทั่วไป เส้นทางไปเมืองยอดอู ป้ายเมืองยอดอู (2)_resize

เมืองยอดอู เป็นเมืองที่ตั้งอยู่เหนือสุดแผ่นดินลาว อยู่ในแขวงพงสาลี ตั้งขนาบไปกับน้ำอูที่ไหลผ่าน เมืองยอดอูจะแบ่งออกเป็น 2 เมืองย่อยๆด้วยกัน  คืออูใต้ และ อูเหนือ  ซึ่งเมืองอูใต้ที่กำลังโบกมือทักทายเราอยู่ข้างหน้าในขณะนี้ ถือเป็นเมืองหลักของเมืองยอดอู ด้วยเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการต่างๆ ผู้คนส่วนใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทลื้อ ที่มีหน้าตาและวิถีชีวิตบางอย่างที่ละม้าย ชาวลื้อในแผ่นดินจีน เข้าไปทุกขณะ เมืองนี้ถึงจะเป็นเมืองหลักก็ตาม แต่ด้วยความเจริญเท่าที่สังเกตได้จากในครั้งก่อนเก่า ยังถือว่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนเมืองอื่นๆที่เราผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไฟฟ้า  ที่ยังมีใช้เฉพาะหน่วยงานของราชการเท่านั้น ถึงแม้กระนั้น ก็ยังคงมาแบบติดๆดับๆ ส่วนชาวบ้านทั่วไปนั้น หากบ้านไหนพอมีกำลังทรัพย์พอ ก็จะทำการซื้อเครื่องปั่นไฟพลังน้ำมาจากจีน ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ในลำน้ำต่างๆ เราจะเห็นจักรพลังน้ำเหล่านี้วางกันเรียงราย ซึ่งในบางครั้ง ยามเมื่อเหม่อมมองออกไป แนวจักรปั่นไฟพลังน้ำเหล่านี้ที่เรียวราย มันก็เป็นภาพที่ดูงดงามและแปลกตาทีเดียว

02 ภาพทั่วไป เส้นทางไปเมืองยอดอู ป้ายเมืองยอดอู (3)_resize

02 ภาพทั่วไป เส้นทางไปเมืองยอดอู ป้ายเมืองยอดอู (4)_resize

02 ภาพทั่วไป เส้นทางไปเมืองยอดอู ป้ายเมืองยอดอู (5)_resize

เสียงล้อของไอ้กะชอโพบดผ่านไปบนทางลูกรังแดง ที่สองข้างทางถูกขนาบไปด้วยผืนนา พร้อมกับอากาศที่แสนเย็นสบาย บรรยากาศเช่นนี้มันทำให้ผมต้องเคลื่อนผ่านไปอย่างช้าๆ บนทางที่ตัดไว้ตรงดิ่ง ไม่นานนักเราก็เริ่มเห็นหมู่บ้านแรก ของชาวไทลื้อ ที่ริมน้ำ ชานเมืองอูใต้แห่งนี้ ชุมชนชาวไทลื้อไม่ว่าในลาวหรือในสิบสองปันนาส่วนใหญ่มักจะเลือกตั้งบ้านเรือนติดไปกับลำน้ำ วิถีชีวิตกับสายน้ำที่ดูเหมือนว่าจะแยกกันไม่ออก กำลังดำเนินไป เมื่อเราและไอ้กะชอโพ กำลังเคลื่อนเข้าสู่สะพานปูนแห่งเดียว ของเมืองอูใต้แห่งนี้ หลังจากข้ามสะพานมาผมชะลอรถเข้าสู่ไหล่ทางฝั่งขวาเพื่อจอด สายตาทุกคู่ ที่ริมทางในขณะนี้ ต่างจับจ้องมาที่คนแปลกหน้าอย่างเราด้วยความสงสัย หลังจอดรถเสร็จผมเปิดประตูพร้อมกับก้าวลงเดินย้อนกลับไปที่บนสะพาน กลุ่มเด็กน้อยชายหญิงราวสิบกว่าคน ที่กำลังเล่นกันอย่างสนุกสนาน บนลานปูนแห่งเดียวของเมือง นั่นก็คือ กลางสะพาน ดูจะมีสีหน้าเปลี่ยนไป เมื่อผมขยับตัวเข้าใกล้ เด็กๆ บางคนถึงกับวิ่งหนี ด้วยอาการตื่นกลัว ส่วนเด็กตัวน้อยๆ ที่วิ่งไม่ทันเด็กโต บางคนก็เริ่มส่งเสียงโฮ อย่างน่าสงสาร ไม่แปลกเลยสำหรับเรา ที่เด็กๆ จะเป็นเช่นนี้ในทุกๆ ที่ ที่ไม่ค่อยมีผู้คนแปลกหน้าเดินทางมาเยือน ไม่เว้นแม้แต่ในบางที่

03 ภาพเมืองอูใต้ วิถีชีวิตริมลำน้ำ เครื่องปั่นไฟ เด็กๆบนสะพาน (1)_resize

03 ภาพเมืองอูใต้ วิถีชีวิตริมลำน้ำ เครื่องปั่นไฟ เด็กๆบนสะพาน (3)_resize
03 ภาพเมืองอูใต้ วิถีชีวิตริมลำน้ำ เครื่องปั่นไฟ เด็กๆบนสะพาน (6)_resize

ผมแค่ชะลอรถเพื่อจะถามทาง ผู้ใหญ่บางคนทิ้งข้าวของแล้ววิ่งหนีเราเข้าป่าไปเลยก็มี เป็นธรรมดาของดินแดนที่เคยบอบช้ำจากการสู้รบ ในครั้งก่อนเก่า ผู้คนแปลกหน้าในยุคนั้น อาจเคยสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับชาวบ้านตาใสๆไว้ ไม่มากก็น้อย เรื่องราวเหล่านี้ จึงถูกบอกกันต่อๆ มา ถึงคนแปลกหน้าที่เดินทางมา ในดินแดนแถบนี้ขนมห่อเล็กๆในมือ พร้อมกับรอยยิ้มของเรา จึงเป็นสิ่งเดียว ที่ผมมักจะใช้ทลายกำแพงแห่งความหวาดกลัวเหล่านี้ให้พังลง แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เหมือนกับทุกๆครั้ง  ไม่นานนักน้ำตาแห่งความหวาดระแวงของเหล่าเด็กน้อย ก็เปลี่ยนเป็นเสียงหัวเราะในทันใด  เด็กๆ หลายคนที่วิ่งหนีไปก่อนหน้านี้ ก็เริ่มเดินกลับมาเล่นกับเรา ยิ่งผ่านไป เราก็เหมือนสนิทสนมกันมานานแสนนาน โดยที่มีสายตาของผู้ใหญ่ที่อยู่บนเรือน คอยเฝ้ามองเราผ่านช่องหน้าต่างอยู่ตลอด

บรรยากาศสองข้างทาง จากเมืองอูใต้ ไปด่าน ล่านตู๋ย รถจักรกลหนัก (1)_resize

บรรยากาศสองข้างทาง จากเมืองอูใต้ ไปด่าน ล่านตู๋ย รถจักรกลหนัก (2)_resize

บรรยากาศสองข้างทาง จากเมืองอูใต้ ไปด่าน ล่านตู๋ย รถจักรกลหนัก (3)_resize

ริมฝั่งน้ำในขณะนี้ ภาพของวิถีชีวิตของผู้คนกับสายน้ำกำลังดำเนินไป ที่กลางสะพานผมยืนเหม่อมองไปในลำน้ำที่กำลังไหลเอื่อย ด้านหลังตัดกับเส้นขอบฟ้าเป็นภาพของภูลูกใหญ่ ที่เหมือนจะขวางกั้นเส้นทางเถื่อนไพรเอาไว้ แต่สำหรับคนแปลกหน้าอย่างเราในวันที่อากาศหนาวเย็น รอยยิ้มน้อยๆผ่านแววตาใสในขณะนี้ มันก็ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ที่มันออกมาจากข้างใน

ใช้เวลาตรงนี้ไปพักใหญ่ๆ ผมก็โบกมือร่ำลาเพื่อนใหม่แล้วเคลื่อนเข้าสู่จุดที่ถือว่าเป็นใจกลางของเมืองอูใต้ ทางลูกรังแดงเล็กๆที่สองข้างทางยังต้องผ่านกับเรือนไม้ของชาวบ้านสลับกับอาคารชั้นเดียวรูปแบบเก่าที่มีกลิ่นอายของฝรั่งเศสหลงเหลืออยู่ อาคารเหล่านี้ หลังเสร็จศึกสงคราม ในปัจจุบัน ได้ถูกทางการทำเป็นสถานที่ราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจ หรือแม้กระทั่งที่ทำการของเมืองนี้ เรือนแถวฝรั่งเศสเก่าสีขาวมอๆแถวยาวด้านขวามือของเรา ยังมีห้องทำการเกี่ยวกับวัฒนธรรม รวมไปถึงห้องทำการของ องกรอาสาสมัครสาวหนุ่ม ซึ่งเราสามารถจะรู้ได้จากการแต่งกาย ที่มีเครื่องแบบเป็นเสื้อเชิ้ตสีน้ำเงิน ลักษณะคล้ายเสื้อลูกเสือสามัญในบ้านเรา ตรงไหล่จะมีอาร์มปักไว้อย่างชัดเจน ผู้หญิงจะใส่คู่กับผ้าซิ่นพื้นเมือง ส่วนผู้ชายก็จะใส่คู่กับกางเกงผ้าแบบง่ายๆซึ่งดูแล้วช่างสบายตา

บรรยากาศสองข้างทาง จากเมืองอูใต้ ไปด่าน ล่านตู๋ย รถจักรกลหนัก (4)_resize

บรรยากาศสองข้างทาง จากเมืองอูใต้ ไปด่าน ล่านตู๋ย รถจักรกลหนัก (5)_resize

ตลอดสองข้างทางที่เราผ่านมา เมื่อผมลดกระจกข้างลง พร้อมกับโบกมือทักทาย เราจะพบเห็นรอยยิ้มได้ตลอดสองข้างทาง ผู้ชายวัยกลางคนที่นี่สวมใส่เสื้อผ้าแบบง่ายๆ เท่าที่พอหาได้ หลายคนไม่สวมรองเท้า เดินไปมาอยู่ริมทางอย่างช้าๆ แม่หญิงไทลื้อผิวพรรณดี นุ่งซิ่นยืนจับกลุ่มคุยกันกับเพื่อนๆ อยู่ใต้ต้นไม้ ใบหน้าของพวกหล่อนไร้ซึ่งเครื่องสำอาง เมื่อเราชะลอรถเพื่อทักทาย รอยยิ้มที่ปราศจากสิ่งเคลือบแฝงเหล่านั้น ในดินแดนที่กาลเวลา ไหลผ่านกายเราไปอย่างช้าๆ  ในทุกๆ ครั้ง มันทำให้ผมสัมผัสได้ถึง “สุข” ที่มันออกมาจากข้างใน

บรรยากาศสองข้างทาง จากเมืองอูใต้ ไปด่าน ล่านตู๋ย รถจักรกลหนัก (6)_resize

บรรยากาศสองข้างทาง จากเมืองอูใต้ ไปด่าน ล่านตู๋ย รถจักรกลหนัก (7)_resize

ผมพาไอ้กะชอโพเคลื่อนไปบนทางแคบๆ เพื่อมุ่งหน้าสู่ตลาด ที่อยู่ติดกับคิวรถอูใต้ พร้อมกับถามหาเรือนพัก สำหรับเราในค่ำคืนนี้ ในเมืองเล็กๆ แบบนี้ ทุกครั้งผมเลือกจะหาที่พักให้ใกล้กับตลาดและคิวรถมากที่สุด เพราะมันจะเป็นทำเลอย่างดี ที่ทำให้เราได้สัมผัสกับภาพของวิถีพื้นถิ่นได้อย่างอิ่มเอม ห่างจากตลาดมาประมาณ 100 เมตร ทางทิศเหนือ ผมก็มาได้ที่พัก หลังจากการสอบถามชาวบ้านมาเรื่อยๆ ที่นี่เป็นเรือนพักที่พึ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน เจ้าของเรือนพัก เป็นสองสามีภรรยาชาวไทลื้อ ที่มีอาชีพรับราชการอยู่ในเมืองอูใต้ทั้งสองกำลัง ยืนยิ้มกับเราพร้อมเชื้อเชิญเราเข้าสู่ที่พักอันแสนอบอุ่นสำหรับค่ำคืนนี้

บรรยากาศสองข้างทาง จากเมืองอูใต้ ไปด่าน ล่านตู๋ย รถจักรกลหนัก (9)_resize

 

อ้ายคำตุ้ย เป็นข้าราชการวัยกลางคนที่รับราชการอยู่ที่ห้องการในเมืองนี้ ส่วนบัวสอน ภรรยา รับราชการเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนในเมืองอูใต้ สองคนหลังจากแต่งงานก็ได้ช่วยกันเก็บหอมรอมริบ จนเรือนพักเล็กๆ ที่ฝันไว้ กลายเป็นความจริงขึ้นมา ทั้งสองตกลงปลงใจว่า จะตั้งชื่อของที่นี่ว่า “เฮือนพัก สายน้ำแดง” เราจัดของเข้าสู่ที่พักแล้วจอดกะชอโพไว้ด้านหน้าเรือนพัก ก่อนที่ผมจะเดินออกมาสัมผัสกับเรื่องราวพร้อมด้วยวิถีชีวิตในยามเย็น บนทางเดินของเราในขณะนี้ สองข้างทางเป็นร้านค้าร้านขายของลักษณะเป็นห้องแถวไม้ ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆ ของที่ขายในร้าน ส่วนมากจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ ร้านของเบ็ดเตล็ด ร้านค้าเครื่องดื่ม และพวกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่ส่วนใหญ่มาจากเมืองจีน  ส่วนคนขายก็เป็นชาวบ้านที่อยู่ในเมืองแห่งนี้ บางคนก็ถือเอาห้องแถวไม้นี้เป็นที่อยู่อาศัย ขายของกินอยู่หลับนอนในที่เดียวกันเลยก็มี เดินมาเรื่อยๆ บรรยากาศตลาดในยามเย็นดูไม่คึกคักนัก อาจเพราะอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ผู้คนไม่ออกมาข้างนอก ที่ด้านหน้าตลาดมีร้านปิ้งย่างเล็กๆ ราวสองร้าน มีแม่ค้าชาวลื้ออารมณ์ดี กำลังสาละวนกับการติดเตาฟืน เพื่อรอลูกค้าที่จะออกมาอุดหนุนในอีกไม่ช้า ร้านปิ้งย่างเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน ที่ไม่ว่าเราจะเดินทางไปเมืองไหนทั้งในลาวและจีน ก็ขาดไม่ได้ที่จะต้องพบเห็นสารพัดของปิ้งอย่างเหล่านี้ อาจด้วยอากาศที่หนาวเย็น เตาไฟอุ่นๆ ก็คงเป็นเหมือนเตาผิงชั้นดี ที่ทำให้วงสนทนาที่ออกอรรถรสในยามค่ำคืน เต็มไปด้วยเรื่องราว พร้อมๆ กับความอบอุ่นอย่างเปี่ยมล้น

บรรยากาศสองข้างทาง จากเมืองอูใต้ ไปด่าน ล่านตู๋ย รถจักรกลหนัก (11)_resize

กลางค่ำคืนอันเงียบสงัด ท่ามกลางหมู่ดาวที่ประดับอยู่กลางท้องฟ้า แสงอันริบหรี่ของหลอดไฟดวงน้อยๆ ที่ได้พลังงานมาจากจักรปั่นพลังน้ำ มันทำหน้าที่ให้แสงสว่างที่กำลังดีสำหรับวงสนทนาของเรากับครอบครัวของอ้ายคำตุ้ยอย่างอบอุ่น ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น ในราวตีสี่กว่าๆ ของวันใหม่ เสียงสนทนาของแม้ค้าพื้นถิ่นที่พูดคุยกันระหว่างหาบของผ่านหน้าเรือนพักระหว่างทางเดินไปตลาด ปลุกให้เราตื่นขึ้นท่ามกลางความสดชื่น ผมยันกายลุกขึ้นพร้อมกับเปิดซิปของถุงนอนที่แสนอุ่น ขณะเดียวกันกับที่อากาศหนาวเย็นก็ลอยมาประทะบนร่างกาย ทำให้ผมต้องคว้าเสื้อกันหนาวมาใส่ พร้อมกับเดินออกจากเรือนพัก ท่ามกลางความมืดสลัว มุ่งหน้าสู่ตลาดเช้า โดยที่ไม่ต้องล้างหน้าแปรงฟัน บนทางดินมุ่งหน้าสู่ตลาดเช้า กลิ่นควันไฟจางๆ ลอยมาเตะจมูกผสมกับไอความเย็น ส่วนผสมเหล่านี้ ในทุกๆ ครั้งของการรอนแรม มันทำให้ผมรู้สึกสุขได้โดยที่ไม่มีเหตุผลใดๆ มาอธิบาย

ใช้เวลาเดินราว 5 นาที เราก็มาหยุดอยู่หน้าตลาดเช้า ท่ามกลางความมืดของฟ้าสลัวในยามเช้า แสงของตะเกียงน้ำมันก๊าช ผสมกับแสงจากเปลวเทียนจากในตลาด ก็เชื้อเชิญให้เราต้องเดินเข้าไปชมด้านใน ภาพของวิถีชีวิตที่ค่อยๆเคลื่อนผ่านไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางความสุข ผมสามารถพบเห็นได้ทุกครั้ง ในตลาดเช้าของทุกๆที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับดินแดนที่ห่างไกลเช่นนี้ สารพัดของที่ชาวบ้านนำออกมาขาย ล้วนเป็นของที่หาได้จากพื้นถิ่นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นจำพวกผักสด ๆเนื้อสัตว์ต่างๆ สารพัดสมุนไพรจากป่า ที่ชาวบ้านไปหามาได้ ถูกนำมาจัดวางไว้บนพื้นอย่างเรียบง่าย บรรยากาศการจับจ่ายตลาดเช้า ท่ามกลางแสงจากเปลวเทียน มันทำให้เราสัมผัสได้ถึงอารมณ์บางอย่าง ที่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรูที่บ้านเราไม่มี  เช้านี้ผมได้อาหารง่ายๆจากชาวบ้านมาสองสามอย่าง รวมไปถึงอาหารสดสำหรับติดรถไว้ในมื้อถัดไป ข้าวเหนียวร้อนๆ ที่ห่อมาในใบตอง พร้อมกับเนื้อทอดที่ผมก็ไม่ได้ถาม ว่ามันคือเนื้อของอะไร ถูกผมเดินละเลียดขณะที่เราเดินเล่นอยู่ในตลาด จนกลับมาถึงเรือนพัก ไม่นานนักแสงแรกแห่งวัน ก็เริ่มออกมาโบกมือทักทายเรา

บรรยากาศสะพาน ริมน้ำ เมืองอูใต้ ภาพตัวเมืองจากมุมสูง (1)_resize

ผมฝากของที่ขนลงไว้ตั้งแต่เมื่อวานไว้ที่บ้านของอ้ายคำตุ้ย แล้วเริ่มออกเดินทางบ่ายหน้าขึ้นสู่จุดเหนือสุดของแผ่นดินลาว จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน เกี่ยวกับเส้นทางเถื่อนไพรที่อาจมีอุปสรรค์ดักรอเราอยู่ข้างหน้า เช้านี้ ในรถเราจึงมีแต่ของที่จำเป็นเท่านั้นในท้ายรถ ไม่ว่าจะเป็นพวกเชือกลาก ถุงมือ หรือพวกรอกทด ขวาน อีเตอร์ พลั่ว พร้อมเสบียงและเครื่องครัวเท่าที่จำเป็นสำหรับสองวัน เส้นทางสู่เหนือสุดแดนลาวเส้นนี้ ในราวห้าปีที่แล้ว หากฝนตกลงมา กับระยะทางไม่ถึงร้อยกิโลเมตร อาจทำให้เราต้องเดินทางไปกับถึงสองวันด้วยกัน

จากอูใต้ เรามุ่งหน้าต่อขึ้นสู่เมืองอูเหนือ บนเส้นทางดินแคบๆ ระยะทางระหว่างอูใต้ถึงอูเหนือบนเส้นทางเก่าอยู่ราวๆ 50-60 กม สภาพเส้นทางยังเป็นทางดินพังๆ ที่ไม่มีการซ่อมแซมจากทางการ คงมีแต่ชาวบ้านที่ต้องใช้สัญจรผ่านไปมา โดยส่วนใหญ่จะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถอีแต๊ก ที่ต้องขนพืชผลทางการเกษตร เท่านั้น เสียงเครื่องยนต์ของกะชอโพแฝดก้องขึ้นอีกครั้ง เมื่อเราต้องส่งขึ้นเนินชัน ที่ระหว่างเนินเต็มไปด้วยร่องสลับ โชคดียังเป็นของเรา ที่สายฝนไม่เทลงมาในเช้ามืด คงมีเพียงความชื้นจากละอองน้ำค้างเท่านั้น ที่ทำให้ล้อของไอ้กะชอโพหมุนฟรีไปบ้าง ยามเมื่อส่งขึ้นเนินแล้วล้อตกลงไปในร่องลึก ผมเปลี่ยนมาใช้การขับเคลื่อนเป็นแบบ 4l จังหวะของการส่งในแต่ละเนิน คุมรอบเครื่องอยู่ราวๆ 2000-3000 รอบเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการหมุนฟรีของล้อ จังหวะของเกียร์ที่ใช้ในการย่องขึ้นเนิน ยังอยู่ระหว่าง เกียร์สองกับสาม หลายเนินผ่านไป ท่ามกลางความเขียวขจีของผืนป่าเขียว ไอหมอกจางๆ ลอดผ่านกระจกเข้ามากระทบกับใบหน้า ผมหายใจเอากลิ่นเหล่านี้เข้าเก็บไว้ในร่างกายอย่างเต็มปอด บนเส้นทางที่ไม่มีรถสวนมาสักคัน เราสองชีวิตพร้อมกะชอโพ กำลังเคลื่อนผ่านไปอย่างช้าๆ อย่างโดดเดี่ยวเพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองอูเหนือ

บรรยากาศสะพาน ริมน้ำ เมืองอูใต้ ภาพตัวเมืองจากมุมสูง (2)_resize

อูเหนือ เป็นเมืองเล็กๆ ขนาดของชุมชนจะเล็กกว่าอูใต้มาก ในเมืองจะมีเพียงหมู่บ้านของชาวบ้านเท่านั้น ไม่มีที่ทำการของทางราชการเหมือนดังเช่นอูใต้ ผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองแห่งนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นญาติพี่น้องกันกับผู้คนในอูใต้ ส่วนบ้านเรือนของไทลื้อในอูเหนือ เราจะสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะรูปทรงของตัวเรือน รวมไปถึงหลังคาดินเผา ที่ละม้ายกับชุมชนชาวไทลื้อในสิบสองปันนาเข้าไปทุกขณะ

จากอูเหนือบนทางดินที่เต็มไปด้วยหินลอยในบางช่วง โชคยังดีที่มีแสงแดดอ่อนๆมาช่วยทำให้ความชื้นแฉะของเส้นทางลดลงไปบ้าง ระหว่างช่วงที่ต้องลัดเลาะไปตามโตรกผา เราจะเห็นภาพของดินสไลด์หรือหินร่วงลงมาตลอดทาง ตามที่ชาวบ้านได้เตือนเราไว้ว่า บนเส้นทางนี้ ให้ระวังดินมันเจื่อน(สไลด์) พ้นจากอูเหนือมาราวยี่สิบกิโล หลังจากโค้งซ้ายผ่านนาข้าว หมู่บ้านไทลื้อเต็มรูปแบบ ที่ลักษณะของตัวบ้านเหมือนกับบ้านเรือนของชาวจีนบางชาติพันธุ์ ในสิบสองปันนา ก็ปรากฏแก่สายตาของคนแปลกหน้าอย่างเรา

บรรยากาศสะพาน ริมน้ำ เมืองอูใต้ ภาพตัวเมืองจากมุมสูง (3)_resize

หมู่บ้านที่เดินทางมาถึงในขณะนี้ มีชื่อเรียกว่า “บ้านสวยงาม” ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ ผมถือว่าที่นี่เป็นหมู่บ้านแรก จากที่เรารอนแรมผ่านมา หากเรานั่งหลับตาแล้วมาเปิดตาอีกครั้งที่นี่ ผมคงคิดว่าเรามาอยู่ในประเทศจีนที่เมืองสิบสองปันนาเป็นแน่ ข้างทางในระหว่างที่เราต้องขับรถผ่านหมู่บ้าน จะเห็นชาวบ้านที่ลงจากเรือนมานั่งก่อกองไฟเพื่อขับไล่ความหนาวเย็นอยู่เป็นช่วงๆ ผมถือโอกาสจอดไอ้กะชอโพไว้ริมทาง แล้วเดินเข้าไปทักทาย น้ำชาร้อนๆถูกหยิบยื่นให้คนแปลกหน้าอย่างเรา พร้อมด้วยไมตรีจิต บรรยากาศในขณะนี้ จึงเต็มไปด้วยความอบอุ่นที่ริมกองไฟ ผ่านเรื่องราวเล็กๆ จากเพื่อนใหม่ที่เราพึ่งรู้จักกันได้ไม่นาน บรรยากาศเหล่านี้  ยังคงเป็นบรรยากาศที่ทำให้เราเหมือนตกอยู่ในภวังค์บางอย่าง ที่ในทุกๆครั้งเมื่อนึกถึงดินแดนแถบนี้ขึ้นมาเมื่อใด เสียงของหัวใจมันมักก็จะเรียกร้องให้ผมต้องก้าวออกไปทักทาย

บรรยากาศสะพาน ริมน้ำ เมืองอูใต้ ภาพตัวเมืองจากมุมสูง (5)_resize

เราโบกมือร่ำลาเพื่อนใหม่ พร้อมกับมุ่งหน้าสู่จุดเหนือสุดแดนลาว ที่บ้านล่านตุ้ย บนเส้นทางเถื่อนไพรสายนี้ ยังมีเรื่องราวใหม่ๆให้เราเรียนรู้ได้ตลอดเส้นทาง จากอูเหนือถึงล่านตุ้ย ระยะทางราวๆ 40 กิโลเมตร หากแต่เป็นสี่สิบกิโลเมตรที่อาจถูกตัดขาด ในยามวสันต์ฤดู เรื่องราวของสองฝั่งทางที่ไร้การปรุงแต่ง ยังคงเชื้อเชิญให้เราจอดรถลงไปทักทายเสมอ เมื่อพบเจอกับมิตรภาพดีๆ แสงแดดที่เริ่มจัดขึ้นในยามบ่าย ผสมกับอากาศภายนอกที่ยังเย็น ทำให้ผมลดกระจกข้างลงได้จนสุด ผมยื่นมือออกไปในขณะที่รถเรากำลังเคลื่อนผ่านผืนนาแห่งหนึ่งที่มีขนาดไม่ใหญ่เท่าที่อูใต้ หลังเลยจากผืนนามาได้ไม่ไกลนัก หมู่บ้านชาวฮ้อ หมู่บ้านแรก ก็เริ่มโบกมือทักทายเรา ชาวจีนฮ่อ หรือไทใหม่ แต่เดิมมีถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งชุมชนอยู่ในมณฑลยูนนาน รวมไปถึงพรมแดนติดต่อระหว่าง ลาวกับจีน มีทั้งอาศัยอยู่บนเทือกเขาและในเมือง ในประเทศไทยก็มีชาวจีนฮ่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในจังหวัด แม่ฮ่องสอน  เชียงราย เชียงใหม่ หรือบางส่วนของจังหวัดลำปาง และพะเยา

บรรยากาศสะพาน ริมน้ำ เมืองอูใต้ ภาพตัวเมืองจากมุมสูง (6)_resize

“บ้านล่านตุ้ย” แห่งนี้ ถือว่าเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตของดินแดนเหนือสุดของเมืองลาว ลักษณะการปลูกสร้างบ้านเรือน จะเป็นบ้านชั้นเดียว ที่ก่อสร้างด้วยอิฐ หลังคาจะทำด้วยดินเผา หรือบางหลังอาจจะสร้างเป็นลักษณะของบ้านดิน ภายในของตัวบ้านบางหลังยังคงเป็นพื้นดิน โถงที่อยู่อาศัยกับเตาไปจะอยู่รวมกัน เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็น ความอบอุ่นจากเตาไฟ จึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้คนในแถบนี้เป็นอย่างยิ่ง ชาวฮ่อที่นี่โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะสื่อสารกับเราไม่รู้เรื่อง จะมีก็แต่หนุ่มสาวบางคน ยิ่งที่เคยลงมาทำงานในเมืองด้วยแล้ว จะสามารถสื่อสารเข้าใจกับเราได้เป็นอย่างดี เนื่องจากภาษาที่ชาวบ้านใช้สื่อสารกัน จะเป็นภาษาจีนท้องถิ่น มีบางคนเท่านั้น ที่สามารถจะฟังและพูดภาษาลาวได้อย่างดี แต่แม้เราจะสื่อสารกันคนละภาษาแต่ด้วยมิตรภาพดีๆที่ถูกส่งผ่านทางรอยยิ้มและแววตา เรื่องราวในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ก็เป็นอีกที่หนึ่ง ที่ผมสามารถสัมผัสได้ว่า มิตรภาพ ไม่ได้ถูกกั้นขวางไว้ โดยเส้นแบ่งพรหมแดน

เลยจากบ้านล่านตุ้ยมาไม่เกินสิบกิโล ตรงจุดนี้คือด่านพรหมแดนระหว่าง ลาว จีน มีชื่อเรียกว่าด่าน ล่านตุ้ย ในราวห้าปีที่แล้ว ด่านกำลังทำการก่อสร้าง เส้นทางจากบ้านล่านตุ้ยไปสู่หน้าด่าน ทางจึงกว้างขึ้นเล็กน้อย ต่างจากเส้นทางที่เราเดินทางมาจากเมืองอูใต้ แม้กระนั้นก็ตาม ร่องล้อของรถจักรกลหนักของจีน ที่ต้องใช้เส้นทางในช่วงนี้เพื่อการก่อสร้างด่านและตัดทางใหม่ ก็อาจจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึงสำหรับเราในช่วงที่ต้องขับฝ่าไปในร่องโคลนลึก เพราะหากเราตกลงไปในร่องล้อของเค้า นั่นก็หมายถึงการที่ต้องลงจากรถเพื่อมาลากสลิงอย่างแน่นอน ไอ้กะชอโพยังคงทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีเยี่ยม บนเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่ด่านถูกขวางกั้นด้วยภูลูกหนึ่ง หลังจากที่เราข้ามพ้นภูลูกนั้นมาได้ไม่นาน ภาพของด่านล่านตุ้ยก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าของเรา

ผมเคลื่อนรถเข้าไปถึงหน้าด่าน สายตาทุกคู่ยังคงจ้องมองมาที่ไอ้กะชอโพอย่างเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะนายด่าน ที่หลังบทสนทนาของเรา เค้ายังบอกกับผมมาว่ายังไม่เคยเห็นรถจากคนที่อื่น ผ่านมาในจุดนี้มาก่อน นอกจากรถจีนและรถในเมืองลาว หลังจากบทสนทนาอันตื่นเต้นของเจ้าหน้าที่ เค้ายังบอกกับเราว่า ในอนาคต ด่านนี้ กำลังจะเปิดเป็นด่านสากลระหว่างประเทศ นั่นก็หมายถึงว่าในอนาคต หากเราต้องการผ่านเข้าไปในจีนที่เมืองซือเหมา ด่านล่านตุ้ยแห่งนี้ ก็เป็นอีกที่หนึ่ง ที่เราสามารถจะสัมผัสกับมิตรภาพพร้อมกับวิถีสองฝั่งทางได้เป็นอย่างดี …

 

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย นิตยสาร ออฟโรด : www.grandprix.co.th/offroadmagazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์  รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ไดที่ www.grandprix.co.th

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save