เยือนกรูโบ แห่งป่าทุ่งใหญ่ตะวันออก
ชมรมยุทธหัตถีสุพรรณบุรีออฟโรด ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจจะดูเงียบหายไปจากวงการอยู่สักพักหนึ่ง เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ปล่อยพวงมาลัยรถออฟโรด หันไปจับแฮนด์จักรยานเสือภูเขา เป็นการออกกำลังกายและรักษาสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามรถยนต์ออฟโรดก็ยังคงอยู่ในสายเลือดตลอดมา
ยุทธหัตถีฯ เรายังคงเดินทางท่องเที่ยวป่าและลงแข่งขันกันอยู่เนืองนิจ โดยเฉพาะครั้งนี้ ได้ร่วมกับบรรดาศิษย์ญาณุศิษย์แห่งวัดวัดป่าทับทิมแดง จ.ปทุมธานี เดินทางไปเยี่ยมชม รร.บ้านกรูโบ อ.อุ้มผาง จ.ตาก และร่วมบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์การเรียนต่างๆ ให้กับโรงเรียนแห่งนี้ด้วย โดยเฉพาะครั้งนี้มี ดร.ฟิศิษฐ์ วรอุไร เดินทางไปสำรวจ รร.บ้านกรูโบ กับพวกเราด้วย
สำหรับบ้านกรูโบนี้ เชื่อว่าชาวออฟโรดหลายๆ ท่านคงรู้จักกันดี เพราะว่าในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้ มีชาวออฟโรดหลายๆ กลุ่มเดินทางเข้าไปบริจาคสิ่งของ ช่วยสร่างโรงเรียน และร่วมกับ พอ.สว.นำแพทย์อาสาเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ส่วนใหญ่จะเดินทางเข้าไปในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน เนื่องจากยามหน้าฝนนั้น เส้นทางจะแปรเปลี่ยนเป็นทะเลโคลน การเดินทางจึงค่อนข้างลำบากและสาหัสสากรรจ์พอสมควร
จะว่าไปแล้ว ในส่วนของพวกเราชาวยุทธหัตถีฯ ก็เคยเดินทางเข้าไปบ้านกรูดบมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ทริปนี้เกิดขึ้นได้เพราะได้รับการติดต่อ ธรรมรัตน์ ศรีสุข อดีต CO-DRIVER ของ อนันต์ ตั้งเจริญชัย แชมป์ประเทศไทย และเป็นหนึ่งในสมาชิกชมรมยุทธหัตถีฯ ว่าทางคณะศิษยานุศิษย์ ของวัดป่าทับทิมแดง จ. ปทุมธานี จะเดินทางไปโรงเรียน บ.กรูโบ อ.อุ้มผาง จ.ตาก พร้อมทั้งนำสิ่งของเครื่องใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับโรงเรียน โดยมี ดร.ฟิศิษฐ์ วรอุไร ร่วมเดินทางเพื่อสำรวจหาทางช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงกรูโบด้วย
พร้อมกันนี้ก็แจ้งความประสงค์มาว่า ต้องความอนุเคราะห์ในเรื่องของรถออฟโรด ที่จะต้องใช้ประมาณ 7-8 คัน เพื่อบรรทุกคนและสัมภาระรวมทั้งสิ่งของต่างๆ ที่จะนำไปมอบให้กับโรงเรียนและชาวบ้าน พร้อมสำทับมาว่า รถที่จะเดินทางเข้าไปนั้น ทุกคันจะต้องเป็นดอก MUD TERRIAN เพราะเส้นทางที่จะไปนั้นมีร่องลึกๆ เนินชัน ลื่น บ่อโคลน และต้องข้ามลำห้วยอีกด้วย ในฤดูฝนนั้นหมู่บ้านกรูโบจะเดินทางเข้า-ออกติดต่อกับหมู่บ้านอื่นๆ ลำบากมาก
เมื่อทราบความประสงค์แล้ว ผมก็ติดต่อเพื่อนร่วมขบวนการที่พร้อมสรรพทั้งอาวุธและประสบการณ์ รวมแล้ว 9 คัน ประกอบด้วย ผม (เทิดศักดิ์ ธีระพงษ์ไพบูลย์ หรือ บุ้น) ใช้รถ ISUZU D MAX 2500 สีขาว วิชัย (บ๊อก) ภู่จรรยา ใช้รถ LN 106 โตโยต้า จันทร์ แช่มช้อย ใช้รถโตโยต้า ไทเกอร์ และ บรรหาร (หรั่ง) จักษุวัชร ใช้รถนิสสัน แพตทรอน
เราออกเดินทางในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี ที่ 31 มีนาคม 2554 ไปสมทบกับทีมงานจากด่านช้าง นำโดย นายเชิดศักดิ์ (แจ๋) กล่ำพบุตร ใช้ซูซูกิ คาริเบียน ซึ่งเดินทางล่วงหน้าคอยที่เส้นทางบายพาสนครสวรรค์รวม 3 คัน ร่วมกับทางสุพรรณบุรี 4 คันเป็น 7 คัน เมื่อพบกันแล้ว เราก็ออกทางเดินไป อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นจุดหมายปลายทางของวันแรก และพักที่ตูกะสู รีสอร์ท เพื่อรอขบวนรถจากกรุงเทพฯ โดยการนำ คุณธรรมรัตน์ ศรีสุข พร้อมคณะจากวัดป่าทับทิมแดง อีก 3 คัน เป็นรถตู้ 1 คัน ออฟโรด 2 คัน ซึ่งจะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ในเวลา 09.00 น. คาดคะเนว่า น่าจะถึงที่พักตูกะสู รีสอร์ท ในเวลาตีสามของวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2554
ขบวนรถจากกรุงเทพฯ ก็ได้เดินทางมาถึงตูกะสู รีสอร์ทตามกำหนดจริงๆ เมื่อขบวนมาถึงต่างก็นำรถมาขนถ่ายสิ่งของอุปกรณ์การเรียนการสอน กระจายกันไป พร้อมคณะศิษย์ 24 คน ใช้เวลาขนถ่ายสัมภาระราวชั่วโมงเศษๆ ก็เรียบร้อย พร้อมออกเดินทางทันทีในช่วงเช้าของวันนั้น
เมื่อทุกอย่างพร้อมเราก็ออกเดินทางทันที มุ่งหน้าไปตามถนนหมายเลข 1167 ซึ่งเป็นทางลาดยางคดเคี้ยว ขึ้นๆ ลงๆ ตามไหล่เขา ตามธรรมชาติของพื้นที่ภูเขา ซึ่งวันนี้เราต้องเดินทางราวๆ 120 กิโลเมตรเลยทีเดียว หลังจากใช้เวลาเดินทางมาประมาณ 3 ชั่วโมง ก็วิ่งเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1288 ต่ออีก 80 กิโลเมตร ไม่นานนักเราก็เดินทางมาถึงทางแยกเข้าหมู่บ้านยูไนท์ – หมู่บ้านกรูโบ เส้นทางช่วงนี้ไปเริ่มเป็นทางลูกรัง หลุมบ่อ สลับบ่อโคลนลึก ผ่านลำธาร เส้นทางไม่ยากหรือง่ายจนเกินไปนัก อุปสรรคต่างๆ ก็ไม่สร้างปัญหาให้กับเรามากนัก
หลังจากเดินทางยาวตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเที่ยงวัน เราก็แวะทำอาหารและรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านกุยลอตอ จากนั้นจึงเดินทางต่อมุ่งหน้าสู่บ้านกรูโบ โดยผ่านบ้านกุยเคอะ – กุยต๊ะ กระทั่งถึงหมู่บ้านหม่องกั๊วะ ก็เกิดปัญหาขึ้นกับรถในขบวนของเรา นั่นคือรถคันนิสสัน แพตทรอนของ บรรหาร จักษุวัชร ปัยหาคือน้ำมันไม่ขึ้น ต้องเสียเวลาซ่อมอยู่พักใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถไปได้ เวลาก็เคลื่อนผ่านไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ตัดสินใจลากกันไปโดยใช้รถของ จันทร์ แช่มช้อย เป็นคนลาก และมี ดำ ด่านช้าง คอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา ทางเส้นจากนี้ไปเริ่มเข้าสู่ริมขอบของผืนป่าใหญ่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออกอย่างเต็มตัว ทางป่าข้างหน้าเรา เริ่มแปรสภาพเป็นร่องลึกๆ เนินชัน และค่อนข้างลื่น มีร่องน้ำดักอยู่เป็นช่วงๆ พร้อมกับผ่านลำห้วย ลำธารมากมาย ยิ่งลึกการเดินทางก็เริ่มช้าลงและลำบากมากขึ้น สองข้างทางปกคลุมด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์
กว่าจะถึงหมู่บ้านกรูโบก็ตกบ่ายคล้อย เมื่อถึงหมู่บ้านกระเหรี่ยงกรูโบ มีนักเรียนพร้อมชาวบ้านยืนเข้าแถวยกมือไหว้ คอยให้การต้อนรับทำให้หายเหนื่อยลืมความยากลำบากของเส้นทางเป็นปลิดทิ้ง
กรูโบ หมู่บ้านชายขอบ ตั้งที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญในเมือง แต่ในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ มีเรื่องราว และชีวิตผู้คนที่อยู่กันอย่างเรียบง่ายตามอัตภาพ เรียนรู้การพึ่งตนเอง และการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่เปลี่ยนแปลงไป กรูโบหรือเกลิงบอ ตามสำเนียงท้องถิ่น เกลิงบอเป็นชื่อหวายชนิดหนึ่งในภาษามอญ หมู่บ้านนี้เก่าแก่มากกว่า 100 ปี เป็นเครือญาติกับโพล่วทางสังขละบุรี และเป็นหมู่บ้านปลอดอบายมุข ปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ นับถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด เป็นหมู่บ้านสงบสุขร่มเย็นน่าอยู่ มีที่พักอาศัย 30 ครัวเรือน มีโรงเรียน 1 หลัง มีนักเรียนเล็ก – ใหญ่ ประมาณ 30 คน มีครูน้อยเป็นครูคนเดียวและสอนอยู่ที่นี่เป็นเวลา 15 ปี เป็นทั้งครู หมอรักษา หมอทำคลอด เป็นที่นับถือของชาวบ้านมาก
ทุกคนที่มาได้ทักทายครูน้อย และนักเรียน และพาไปหาที่พักซึ่งเป็นอาคารเรียนและโรงอาหาร บางคนก็กางเต็นท์ที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียน หลังจากนั้นครูน้อยพร้อมลูกศิษย์เข้าครัวทำอาหารมื้อเย็น อาหารจำพวกผัก ผลไม้ได้จากนักเรียนและชาวบ้านได้ปลูกเอาไว้กิน และหาได้ง่าย อาหารมื้อนี้เป็นอาหารป่าจริงและอร่อยมาก โดยเฉพาะน้ำพริก พอทานอาหารเสร็จทุกคนก็แยกกันทำธุระสังสรรค์ตามประสา บ้างก็สนทนาธรรมกับพระอาจารย์ บ้างก็เข้านอนเพราะความเหนื่อยล้า จนเวลาพอสมควร ต่างก็แยกย้ายกันเข้าพักผ่อน ส่วนครูน้อยกับลูกศิษย์ชาวบ้านต่างช่วยกันตระเตรียมของเครื่องแกงต่างๆ เอาไว้วันพรุ่งนี้เช้า
เช้าวันที่ 2 เมษายน 2554 ทุกคนตื่นตั้งแต่เช้า โดยการปลุกของเหล่าแม่ครัวที่กำลังทำอาหารสัมผัสบรรยากาศยามเช้า ผสมผสานเสียงสัตว์ นกนานาชนิด และร่วมกันตักบาตร พร้อมกับชาวบ้าน พระอาจารย์จะฉันแค่มื้อเดียว หลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จ ออฟโรดจะต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะต้องช่วยกันลากรถของเฮียหรั่งออกล่วงหน้าไปก่อนเพราะเดินทางได้ช้ากว่าธรรมดา ส่วนชุดที่ 2 ที่เหลือ 5 คัน ต้องรอรับพระอาจารย์ รวมทั้งบรรดาศิษยานุศิษย์ในตอนบ่าย รถน้อยคนเยอะต้องนั่งกระบะเบียดเสียดกันบ้าง แต่ก็เต็มไปด้วยความสนุกสนานและเป็นกันเอง ระหว่างทางมีติดบ่อโคลนกันบ้าง วินช์กันไป กว่าจะถึงที่พักรถจอดรอชุดแรกถึงแล้วก็ปาเข้าไปสองทุ่ม เมื่อถึงที่พัก ตูกะสู รีสอร์ท คณะที่มาจากกรุงเทพฯ จะต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯเลยทันที ส่วนผมกับพรรคพวกต้องพักค้องคืนที่รีสอร์ทอีก 1 คืน
ในช่วงเช้าหลังทั้งหมดตกลงกันไปเที่ยวน้ำตกทีลอซู จะได้เปรียบเทียบสถานที่เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว กับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือ ถนนที่มุ่งหน้าไปยังตัวน้ำตกทีลอซุ ยังเป็นทางลูกรังธรรมดา บางช่วงในอดีตที่ค่อนข้างสูงชันและลื่น ต้องวินช์เป็นตัวช่วย ปัจจุบันทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯเทปูนกันลื่น รถยนต์จึงผ่านได้สบายๆ แม้จะเป็นรถออฟโรดสแตนดาร์ดก็ตามที ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าฯมีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีระเบียบดีขึ้นส่วนทางเดินไปชมและเล่นน้ำตก ระยะทาง 1500 เมตร ก็ปรับปรุงทำเป็นขั้นบันไดปูนตลอดเส้นทาง สะดวกไม่ลื่นล้ม แต่ก็ขัดต่อธรรมชาติอยู่บ้างพออนุโลม ส่วนธรรมชาติป่าไม้ยังเหมือนเดิม ระหว่างเดินทางออกจากน้ำตกทีลอซู คณะของเราได้แวะไปที่โรงเรียนใกล้ๆ พร้อมหอบสิ่งของและสมทบทุนอาหาร จำนวน 5,000 บาท และเดินทางกลับภูมิลำเนา
อิ่มบุญ อิ่มใจ สัมผัสธรรมชาติ ทุกคนต่างนำสิ่งเหล่านี้ซึ่งเต็มไปด้วยความสุขกลับภูมิลำเนา
คู่มือการเดินทาง
ให้ขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 1167 ซึ่งเป็นทางลาดยางคดเคี้ยว ขึ้นๆ ลงๆ ราวๆ 120 กิโลเมตรเลยทีเดียว หลังจากใช้นั้นให้วิ่งเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 1288 ต่ออีก 80 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าหมู่บ้านยูไนท์ – หมู่บ้านกรูโบ เป็นทางลูกรัง เส้นทางนี้จะผ่านบ้านกุยเคอะ – กุยต๊ะ ถึงหมู่บ้านหม่องกั๊วะ ทางเส้นจากนี้ไปเริ่มเข้าสู่ผืนป่าใหญ่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก เส้นทางจะแปรสภาพเป็นร่องลึกๆ เนินชัน และค่อนข้างลื่น มีร่องน้ำดักอยู่เป็นช่วงๆ พร้อมกับผ่านลำห้วย ลำธารมากมาย ไม่นานนักก็จะถึงหมู่บ้านกรูโบ
Comments are closed.