เที่ยวป่าต้นน้ำของพ่อ…แม่แตง- แม่งาย –แม่งัด –ม่อนอังเกตุ –แม่แจ่ม
ในชิวิตการท่องป่าทั้งแบบเดินเท้าและทางรถออฟโรดของผมนั้น ส่วนมากมักจะอยู่ทางเหนือซึ่งทั้งหมดเป็นป่าต้นน้ำสายสำคัญของประเทศมากมายหลายแม่น้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำปิง ที่ไหลลงเขื่อนภูมิพล แหล่งเก็บน้ำสำคัญของประเทศ
เริ่มที่หน่วยจัดการต้นน้ำแม่แตง- หน่วยจัดการต้นน้ำแม่งาย –หน่วยจัดการต้นน้ำแม่งัด –หน่วยจัดการต้นน้ำม่อนอังเกตุ –หน่วยจัดการต้นน้ำแม่แจ่ม และอีกหลายแห่งด้วยกัน
จากปรากฏการณ์เอลนิลโญ่ ทำให้หลายปีที่ผ่านมาเกิดภัยแล้งอย่างหนัก การขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรอย่างเห็นได้ชัดเขื่อนเก็บน้ำหลายแห่ง เหลือน้ำในปริมาณน้ำสำรองน้อยเกินกว่าจะปล่อยให้ชาวบ้านใช้สอยได้ น้ำในลำห้วยที่เคยรินไหลลงสู่แม่น้ำใหญ่แห้งขอดไร้น้ำเหลือเพียงก้อนกรวดและก้อนหิน
แต่ยังมีป่าอีกหลายแห่งยังคงความชุ่มชื้นมีน้ำรินไหลลงไปเติมน้ำในลำธารก่อนจะรวมกันเป็นแม่น้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเบื้องล่างต่อไป ป่าที่เราเรียกกันว่าป่าปลูก ใหม่ ป่าพื้นที่อนุรักษ์ต้นน้ำ ในโครงการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ป่าที่พ่อเหนือหัวได้เตรียมไว้ให้พวกเรา….ป่าของพ่อ
ก่อนอื่นขอยกข้อความจากบทความนักวิชาการป่าไม้ท่านหนึ่ง ได้บันทึกแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศว่า…
ณ หน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ ในปี พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการปลูกต้นไม้ 3 ชนิด ที่แตกต่างกัน คือ ไม้ผล ไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ เพื่อจะทำให้เกิดป่าไม้แบบผสมผสานและสร้างความสมดุลย์แก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของรัฐและวิถีประชาในชุมชน ประการสำคัญนั้นมีพระราชดำริที่ยึดเป็นทฤษฎีการพัฒนาด้านป่าไม้โดยปลูกฝังจิตสำนึกแก่ประชาชนว่า
“เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็พากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง”
การปลูกป่า 3 อย่างนั้น มีพระราชดำรัส ความว่า…”ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม่หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวยผลไม้ก็ตามหรือเป็นสวนฟืนก็ตามนั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือ เป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้”
โดยส่วนตัวแล้วแม้น ขับรถออฟโรดท่องเที่ยวป่าเขามาหลายปี ยังไม่มีท่าทีว่าจะเบื่อหน่าย ผมมาคิดตรึกตรองว่าที่แท้เราขับรถเข้าป่าทำไม เพื่ออะไร บางทีก็ไปไกลแสนไกล ไปยังเส้นทางป่าที่เราไม่คุ้นเคยที่มีอันตรายอยู่ทุกเวลา หากประมาทอาจจะได้รับการบาดเจ็บและรถเสียหายได้
บางครั้งเราก็แยกไม่ออกว่าแท้จริงแล้ว เราชอบอะไร ชอบขับรถออฟโรด หรือชอบป่ากันแน่ หากจะสรุปง่ายๆ ก็คงรวมเอาว่าชีวิตออฟโรดคือ รถและป่า นั่นเอง
โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนที่มีป่าเขาลำเนาไพรให้ท่องเที่ยวมากมายหลายเส้นทาง ตามความต้องการของออฟโรดนักท่องไพรทั้ง สายฮาร์ดคอร์ และสายแค้มปิ้งตามอุทยานหรือหน่วยจัดการต้นน้ำต่างๆ
หลังจากเที่ยวแบบฮาร์ดคอร์มานาน เพื่อนผมหลายคน จึงเริ่มหันมาขับออฟโรดท่องเที่ยวในรูปแบบที่สะดวกสบายขึ้นหน่อยคือ แนวแค้มป์ปิ้งในเขตอุทยานและหน่วยจัดการต้นน้ำกะเขาบ้าง ทริปนี้จึงชวนกันขึ้นไปบันทึกภาพยังหน่วยจัดการต้นน้ำแม่แตง ต้นน้ำสาขาหลักอีกแห่งหนึ่งแม่น้ำปิง โดยใช้เส้นทางผ่าน อ.เชียงดาวไปยัง อ.เวียงแหง (1322) แล้วเลี้ยวขวาที่ปากทางหน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่งายประมาณหลัก กม.ที่ 32 -33 มุ่งหน้าสู่ดอยค้ำฟ้า แต่เป้าหมายหลักของทริปนี้ไม่ได้อยู่ที่ดอยค้ำฟ้า แต่เราก็ต้องผ่านลานกางเต็นท์ของดอยค้ำฟ้า จุดที่มีวิวสวยงามสามารถมองเห็นสันดอยเชียงดาวที่อยู่ห่างไปทางทิศใต้ได้อย่างชัดเจน
แต่เนื่องจากวิวสวย เราจึงพักค้างกันที่นี่ก่อนจะเดินทางไปยัง หน่วยจัดการต้นน้ำแตง ที่ซุกซ่อนตัวเองอยู่ในป่าใหญ่ ในพิกัด 19.610732,98.791980 ห่างจากดอยค้ำฟ้าไปประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร
สองข้างทางตั้งแต่เราเริ่มเดินทางออกจากด่านขึ้นไปสู่ดอยค้ำฟ้าเป็นป่าสนที่ปลูกทดแทนป่าไม้ที่เคยถูกตัดถางทำไร่ฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยตั้งแต่ในอดีต บางจุดมีป้ายบอกว่าป่าแห่งนี้ปลูกมาตั้งแต่ปี 2508 บางจุดที่มีต้นสนขนาดกลางมีป้ายบอกไว้ว่าปลูกตั้งแต่ปี 2527
ป่าปลูกทดแทนเหล่านี้เป็นป่าปลูกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จมาทรงงานที่เชียงใหม่ปี 2519 ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบการดูแลของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่งาย หน่วยจัดการต้นน้ำแม่แตง และหน่วยจัดการต้นน้ำแม่คอง ขึ้นตรงกับหน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำที่ 16
แม้นว่าจะเป็นป่าที่ถูกปลูกทดแทนแต่ด้วยความหลากหลายของพันธุ์ไม้ดั้งเดิม ที่เป็นพืชประจำถิ่นที่ถูกอนุรักษ์ไว้ให้เป็นต้นพันธุ์ไม้ตามแนวทฤษฏีการพัฒนาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ว่า..
“ใช้ไม้จำพวกที่มีเมล็ดทั้งหลายขึ้นไปปลูกบนยอดที่สูง เมื่อโตแล้วออกฝักออกเมล็ดก็จะลอยตกลงมา แล้วงอกเองในที่ต่ำต่อไป เป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ…”
ปกติแล้วทุกครั้งที่พวกเราออกทริปมักจะไม่ค่อยได้สังเกตพันธุ์ไม้กันนัก เพียงแค่ว่าเป็นป่ามีต้นไม้มีลำธาร แค่นั้นก็พอแล้ว แต่ทริปนี้ผมในฐานะ สว.(สุงวัย).ต้องคอยบรรยายสภาพป่าไม้ ชื่อพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ผ่านวิทยุสื่อสารให้เพื่อนร่วมทริปได้รู้จักมากขึ้น เพราะทริปนี้เราเน้นป่าไม้ของพ่อ
ที่ผมเลือกมาเยือนเส้นทางนี้ก่อนก็เพราะว่า ที่นี่เป็นป่าปลูกทดแทนเขาหัวโล้นที่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในการจัดการบริหารพื้นที่ได้ดีกว่าป่าแห่งอื่นที่ผมเคยพบเห็นมา ซึ่งส่วนมากแม้นจะปลูกไปแล้วก็ยังถูกบุกรุกแผ้วถางทำลาย เพื่อทำเป็นพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เหล่านั้น บางแห่งแม้นจะติดป้ายว่า ป่าเฉลิมพระเกียรติก็ยังไม่พ้นเงื้อมือผู้บุกรุก นั่นคือ ปัญหาใหญ่ที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหาทางแก้ไขอยู่ หรือแก้แล้วแต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากปัญหาหลายอย่างที่ผมเคยได้ยินได้ฟังจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าให้ฟัง
พวกเรามาถึงลานกางเต็นท์พักแรมของดอยค้ำฟ้า วันฟ้าเศร้า สายฝนโปรยปรายลงมาพร้อมกับกลุ่มหมอกหนาปกคลุมทิวไม้ ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ไม่ชัดเจน แม้นแต่ฟ้า แม้นแต่ต้นไม้ใบหญ้ายังรับรู้ถึงความสุญเสียพ่อของแผ่นดิน ผู้รักษ์ป่าทุกแห่งบนแผ่นดินของพระองค์ท่าน
ค่ำคืนนี้หลังจากทานอาหารเย็นแล้ว พวกเราเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ สายลมหนาวแรกที่มาปะทะกายยามนี้มันหนาวเหน็บกว่าที่เคยรู้สึกมาก่อน เพื่อนที่มาด้วยกันหลบละอองฝนใต้ร่มฟลายชิส คุยกันไม่นานก็เข้าเต็นท์พักผ่อนกันแล้ว
รุ่งเช้าบนดอยค้ำฟ้าแม้นจะสายแล้วกลุ่มไอหมอกยังไม่มีทีท่าจางลงหลังมื้อเช้าที่เรียบง่าย เมื่อเก็บเต็นท์และสัมภาระเรียบร้อยแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปยังหน่วยจัดการต้นน้ำแม่แตง โดยไม่มีโอกาสได้ถ่ายภาพมุมเด็ดยอดดอยเชียงดาวเลย
วันนี้เรามีเป้าหมายคือ ถ่ายภาพป่าสนและป่าไม้ดั่งเดิมไว้ให้มากที่สุด เพื่อนำมาให้ท่านผู้อ่านได้รับชม แต่ภาพส่วนใหญ่ที่ได้มีแต่หมอกบดบัง มองเห็นป่าเลือนราง ชัดเจนไม่กี่เมตร หากไม่มีฝนและหมอกคงได้เห็นวิวทิวทัศน์ไปไกลถึงสันเขาแนวชายแดนไทยพม่า เพราะจุดสุงสุดที่เราขับขึ้นไปมองเห็นสุดแค่หมู่บ้านแกน้อยที่อยู่ตรงกลางหุบเขาเท่านั้นเอง
บนเส้นทางนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาถึงแค่ดอยค้ำฟ้าที่มีวิวทิวทัศน์เลื่องชื่อ สำหรับกลุ่มเรามีเป้าหมายตามที่ เจ้าหน้าที่บอกว่าสามารถทะลุออกไปที่บ้านแกน้อย หมู่บ้านชายแดนติดเขตพม่าได้ ซึ่งก็ไม่ทำให้เราผิดหวังกับสภาพป่าและเส้นทางที่เหมาะสำหรับคนออฟโรดเช่นพวกเรา
สภาพเส้นทางระยะสุดท้ายจากหน่วยจัดการต้นน้ำแตง ลงไปยังบ้านแกน้อยนั้นจัดว่ายากพอสมควร 90% เป็นทางลงเขาชันและรกร้างมานาน เพราะไม่ค่อยมีใครใช้เส้นทางนี้บ่อยนัก ทางจึงมีร่องน้ำและไม้ล้มขวางอยู่หลายแห่ง แต่ก็ไม่ยากเกินกำลังของพวกเรา ก่อนที่เราจะเดินทางสู่ป่าแห่งอื่นต่อไป เมื่อเราเจอป่าสถานที่เหมาะสำหรับตั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านที่จัดเตรียมมา เพื่อเป็นการน้อมถวายรำลึกถึงการที่พระองค์โปรดให้มีการรักษาป่าและโปรดให้มีผู้ปลูกป่าเสริมเพิ่มเติมความชุ่มชื้นแก่ภูเขาที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ไว้ให้ประชาชนของพระองค์มีน้ำใช้แม้นยามหน้าแล้งก็ยังมีน้ำไว้บริโภคและมีป่าไว้เป็นแหล่งเพิ่มความชุ่มชื้น
พวกข้าพระพุทธเจ้าขอกราบแทบพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดูลยเดช ด้วยการรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดไม่ได้
แม้นว่าพระองค์ท่านจะเสด็จสู่สวรรคาลัย จากพวกเราไปแล้ว แต่พระคุณของพระองค์จะอยู่ในใจของเหล่าข้าพระพุทธเจ้าตลอดไป และเหล่าข้าพระพุทธเจ้าจะคอยเป็นหูเป็นตาจะช่วยกันปกปักรักษาป่าของพระองค์ ให้ดำรงอยู่กับประเทศไทยตลอดไปให้มากที่สุดที่ปวงข้าพระพุทธเจ้าจะทำได้
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าฯพระพุทธเจ้าเครือข่ายออฟโรดภาคเหนือ
(ขอขอบคุณเพื่อนออฟโรดทุกคนที่ร่วมทริปบันทึกภาพป่าต้นน้ำของพ่อครับ)
(ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำทุกแห่งที่ช่วยกันดูแลรักษาป่าของพ่อ)
เรื่อง/ภาพ โดย…นายหิน เอ้าท์ดอร์
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.