หลวงพระบางเปี๋ยนไป่
การที่จะมาเล่าว่าอะไรเปลี่ยนไปอย่างไรนั้น มันจะต้องเห็นตั้งแต่แรกๆ แล้วมาเปรียบเทียบกับในปัจจุบัน เหมือนภาพ Before กับ After ที่เรามักเล่นๆกัน สำหรับหลวงพระบางกับผมนั้น ก็พออนุมานเช่นนี้ได้เช่นกัน
ผมได้สัมผัสหลวงพระบางครั้งแรกนานมาก น่าจะก่อนที่หลวงพระบางได้เป็นมรดกโลกด้วยซ้ำ แต่ครั้งนั้น หลวงพระบางก็เป็นจุดหมายปลายทางของผู้คนจากทุกซีกโลกที่อยากเห็นวัฒนธรรมตะวันออกที่สงบ เงียบ ชีวิตผู้พันกับธรรมชาติและศาสนาแล้ว ซึ่งผลพวงเหล่านี้ อาจจะมาจากทำเลที่ตั้งของเมืองหลวงเอง(คนลาวเรียกหลวงพระบางว่า “เมืองหลวง” และจะเรียกเวียงจันทร์ว่า “เวียง” ทั้งหลวงพระบางเองก็เคยเป็นเมืองหลวงของลาวมา เช่นเดียวกับอยุธยาของไทย) ที่อยู่ท่ามกลางหุบเขาที่โอบล้อม ตัวเมืองจริงๆ เป็นเหมือนเกาะที่มีแม่น้ำโขงและแม่น้ำคานปิดล้อมไว้ ทำเลที่ตั้งแบบนี้จึงเหมือนปราการกั้นโลกภายนอกไว้ได้ส่วนหนึ่งแล้ว ( เหมือนแม่ฮ่องสอนบ้านเราที่เป็นเมืองในหุบเขาเช่นกัน)การเดินทางมาหลวงพระบางทางบกที่ต้องข้ามภูเขาหลายลูกจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แม่น้ำโขงจึงเป็นช่องทางที่ง่ายสุดในการติดต่อกับโลกภายนอก ชีวิตที่หลวงพระบางจึงเป็นไปอย่างช้าๆ สงบ เงียบ อวลด้วยบรรยากาศแห่งธรรมะ ศาสนา วัดวาอารามที่ติดกันราวห้องแถวมีเพียงรั้วกั้นที่บ่งบอกว่าเป็นคนละวัด เหล่านี้คือเสน่ห์ที่ดึงดูดผู้คนให้มาเยือนดินแดนแห่งอารยะธรรมแห่งนี้
ตอนผมไปครั้งแรก หลวงพระบางยังมีกลิ่นอายของเมืองวัฒนธรรมอย่างเต็มเปี่ยม แต่ความเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่กฎเกณฑ์ยังขึงตึงอยู่ บ้านเรือนผู้คนยังเป็นบ้านแบบชนบทล้านนา ที่ยกพื้นสูง มีชานบ้าน หลังคาเตี้ย บางหลังหลังคายังใช้ก็เป็นแป้นเกล็ด โรงแรมมีที่เป็นของรัฐไม่กี่แห่งแต่ราคาค่อนข้างแพง ผมไปจึงต้องไปนอนเกสเฮาท์เล็กๆแต่โชคดีที่เกสเฮาท์นี้เขาตัดแปลงมาจากวังของเชื้อพระวงศ์ของหลวงพระบางที่เจ้าของหนีไปฝรั่งเศสครั้งลาวแตก รัฐบาลใหม่มายึดเอาวังนี้ไป พอประเทศเข้าที่เข้าทางเปิดท่องเที่ยว จึงมีเศรษฐีลาวที่ไปอยู่เมืองนอกกลับมาซื้อแล้วดัดแปลงเป็นที่พักรูปทรงคลาสสิคแบบยุโรป โอ่อ่า มีสวนในบ้านด้วย เวลาจะเที่ยวก็เช่าจักรยานปั่นเที่ยวกัน รถราที่บริการนักท่องเที่ยวมีแล้ว แต่ก็ไม่มาก ตอนนั้นตลาดสดของเมืองอยู่ติดกับคุก ผมไปเดินแต่เช้ายังเห็นว่าเป็นแบบบ้านๆดี แต่ออกจะเฉอะแฉะไปหน่อย ช่วงนั้นร้านค้าผ้าในถนนหน้าพระราชวังหลวงไม่มี แต่มีร้านผ้าในซอยริมพระราชวังหลวงแล้ว ที่นั่งดื่มกินก็น้อยมาก มีร้านขายของที่ระลึกไม่กี่แห่ง กลางคืนในหลวงพระบางจึงแทบหาสิ่งบันเทิงไม่ได้ เรารู้มาว่าเช้ามีพระออกบิณฑบาตรนับร้อยๆรูปที่ถนนหน้าพูสี ใครอยากใส่ก็เตรียมอาหารมารอหน้าบ้าน ไม่มีแม่ค้ามาหาบของใส่บาตรขายแบบทุกวันนี้ เราต้องจ้างชาวบ้านที่อยู่หน้าวังเกสเฮาท์นั้นนึ่งข้าวเหนียวใส่กระติ๊บไว้แล้วนัดสามล้อให้มารับแต่เช้ามืด
พระนั้นมีไม่มาก แต่เณรมีมาก เพราะเป็นเด็กยากจนจากที่ไกลๆมาบวชเพื่อจะได้เรียนหนังสือ เขาจะใส่บาตรเฉพาะข้าวเหนียวอย่างเดียว ส่วนกับข้าวนั้น ญาติโยมข้างวัดจะนำไปถวาย จัดเป็นสำรับที่วัด คนใส่บาตรก็ไม่มาก การใส่บาตรข้าวเหนียว สำหรับทางอีสานไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ทางอีสานบ้านเราเชียงคาน หนองคาย ฯลฯ มีหมด เพียงแต่ที่ลาวเณรจะมากด้วยเหตุผลอย่างที่บอก แต่ทำไปทำมากลายเป็นมีการโปรโมทการใส่บาตรข้าวเหนียวเป็นไฮไลท์สำคัญของการเที่ยวหลวงพระบางไปแบบไม่รู้ตัว
มาเดี๋ยวนี้ถนนหน้าพูสี เช้าตรู่จะมีบริษัททัวร์เอาเสื่อมาปูจองยาวเหยียด มีป้ายบอก บริษัทไหนบ้าง เตรียมสำรับใส่บาตรมาพร้อม พอได้เวลารถก็พานักท่องเที่ยวมาจากโรงแรมมานั่ง มาถ่ายรูปกันสนุกสนาน ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาเองก็ต้องมาซื้ออาหารต่อราคากับแม่ค้าที่หาบของใส่บาตรมาขาย แล้วเชื่อไหมว่ามีการโกง มีการตุกติก โต้เถียงกันตลอด ก่อนพระมาตกลงอีกแบบพอใส่บาตรเสร็จราคาจะอีกแบบ วุ่นวาย โต้เถียงกันทุกเช้า แล้วความวุ่นวายไม่หมดแค่นั้นช่วงที่พระมาบิณฑบาต นอกจากการไปถ่ายรูปยืนขวางทางพระแล้วบางทียังมีการให้พระยืนนิ่งๆ แล้วให้เพื่อนถ่ายรูปตัวเองกำลังใส่บาตร ถ้าถ่ายไม่ทันให้พระเดินกลับไปอีก เห็นแล้วปวดหัว แล้วยังใส่อย่างอื่นไปในบาตรด้วย เงินลาว เงินไทย ใส่ปนลงไปกับข้าวเหนียว ซึ่งจริงๆในบาตรเขาให้ใส่แต่ข้าว แต่ก่อนพระจะมีย่ามสำหรับใส่ดอกไม้ กับข้าว แยกต่างหากไม่มีใครยัดปิ่นโตลงในบาตรพระ ที่ซ้ำร้าย ดันซื้อแกงถุงใส่ไปเหมือนกับใส่บาตรในเมืองไทยด้วย พระเองก็อิหลักอิเหลื่อ พูดไม่ออก ไม่รู้จะบอกอย่างไร เพราะนักท่องเที่ยวคนไทย เน้นย้ำเลยว่าคนไทยไม่ได้สนในวัฒนธรรม ไม่ได้ใส่ใจในเนื้อหาของการใส่บาตรที่หลวงพระบาง สักแต่มีรูปใส่บาตร ทำจนวัฒนธรรมเขาผิดเพี้ยนไปหมด บริษัททัวร์ก็สนใจแค่กิจกรรมตามที่กำหนดไว้ในโปรแกรม ซึ่งคงมีบางบริษัทที่อธิบายความหมายการใส่บาตรข้าวเหนียว แต่นาทีนั้นใครจะสนใจ เลยมีแต่นักท่องเที่ยวคนไทยไปใส่บาตรกันจนดูวุ่นวาย ส่วนนักท่องเที่ยวชาติอื่น ไปถ่ายรูปคนไทยใส่บาตรอีกที คนลาวที่เขาอยากใส่บาตรจริงๆ เดี๋ยวนี้ เขาหนีไปใส่หน้าบ้านใครหน้าบ้านมันแล้ว ส่วนพระร้อยๆรูปที่บิณฑบาตรก็เลยกลายเป็นอีเวนต์โชว์นักท่องเที่ยวไปโดยปริยาย
ไม่ใช่ทางการลาวไม่ตระหนักเขารู้ว่าขืนเป็นแบบนี้วัฒนธรรมจะผิดเพี้ยนและบิดเบี้ยวไปหมดเขาจึงออกโปสเตอร์ออกมารณรงค์ ด้วยถ้อยคำที่อ่านแล้วเจ็บแสบว่า…”ช่วยเราเคารพประเพณีการตักบาตร” ทำไว้หลายภาษา แต่ผมเห็นว่านักท่องเที่ยวคนไทยเป็นตัวละครหลักเช่นเดิม แล้วแบบนี้เขาบอกใคร เมื่อมีไม่กี่ประเทศใส่บาตรแบบเดยวกับที่ลาว
เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวที่ไหลเข้าสู่หลวงพระบางนั้นเป็นเรื่องที่ทางการลาวคงต้องชั่งใจและยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ค่าครองชีพที่แพงมากในหลวงพระบาง ร้านกินดื่มที่แทบจะเป็นพัทยาอยู่กลายๆ ความมีน้ำใจ เอื้ออาทรของคนหลวงพระบางชักหายไปเรื่อยๆ วัดวาอารามก็ไม่ได้เป็นดินแดนสงบเช่นเดิม มีนักท่องเที่ยวที่ไม่รู้วัฒนธรรมเดินเหิน ถ่ายรูปโดยไม่เคารพสถานที่ วัดหลายแห่งเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา แม้กระทั่งวัดเชียงทองที่ว่ากันว่างามสง่าและอ่อนช้อย ทุกวันนี้ก็ทรุดโทรมลงไปมาก
นี่คือโจทย์ใหญ่ของทางการลาวว่าจะให้หลวงพระบางเป็นไปในรูปแบบใดต่อไป แต่อย่าลืมว่านักท่องเที่ยว มาแล้วก็ไป ที่ไหนโทรมที่ไหนหมดเสน่ห์เขาก็เลือกไปที่อื่นได้ มีแต่คนลาว คนหลวงพระบางที่จะต้องอยู่กับความเสื่อมโทรมความไร้เสน่ห์ต่อไป
สำหรับผม หลวงพระบางที่เคยเป็นสาวน้อยดูใสซื่อบริสุทธิ์ การท่องเที่ยวสมัยใหม่ทำให้เธอดูกร้านโลกขึ้นทุกวัน อีกไม่นานเธอจะแก่ชรา ไม่อยากให้เธอเป็นอย่างนั้น…หลวงพระบาง
คมฉาน ตะวันฉาย…เรื่อง/ภาพ
Facebook.com/tawanyimchangweb
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.