หลงเสน่ห์ป่าแห่งมหานที “สาละวิน” ก่อนวันที่เธอจะถูกจองจำ
จากต้นทางที่เทือกเขาหิมาลัย สู่สุดปลายน้ำที่มหาสมุทรอินเดีย บริเวณอ่าวเมาะตะมะ รัฐมอญ รวมระยะทางกว่า 2,800 กิโลเมตร ณ ที่นี่ คือ “สาละวิน“
มหานทีที่ไหลคดเคี้ยว เลี้ยวผ่านไปบนเส้นทางที่แตกต่าง มีชีวิต เผ่าพันธุ์ และวัฒนธรรมหลากหลายไม่สิ้นสุดไปทั้งสองฝั่งน้ำ “สาละวิน” จวบจนกระทั่งแม่น้ำสายนี้ไหลล่อง ลงสู่ทะเลอันดามันที่อ่าวเมาะตะมะ เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ นั่นแหล่ะจึงถือเป็นการสิ้นสุดการเดินทางรอบหนึ่งของสายน้ำสาละวิน ชื่อนี้และในช่วงเวลานี้มีใครบ้างที่ไม่รู้จัก เนื่องจากกระแสการตัดไม้ในป่าอุทยานแห่งชาติสาละวินออกข่าวเกือบทุกวัน ดูแล้วรู้สึกน่าใจหาย
ครั้งนี้ผู้เขียนเองจะขอนำเสนออีกด้านของสาละวินเพื่อให้หลายๆ ท่านที่สนใจอยากเข้าไปเที่ยว จึงมุ่งเป้าหมายไปยังป่าสาละวิน เพื่อมุ่งหน้าสู่สถานที่ความเป็นตำนานกลางป่าสาละวิน ครั้งก่อนผู้เขียนพาไปรู้จักโรงพักโบราณเสาหินแม่สะเรียง แต่งวดนี้ผมจะพาท่านไปรู้จักอีก 2 สถานที่ เป็นตำนานยุคในช่วงอังกฤษเข้ามาสัมปทานไม้ โดย บริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า ในช่วงปี พศ. 2434-2472 สถานที่ 2 แห่งนี้คือ สำนักงานเก่าของ บริษัท บอมเบย์ อายุประมาณเกือบๆ 100 ปี และอีกแห่งคือ สถานีตำรวจท่าตาฝั่ง(โรงพักเก่า)ริมแม่น้ำสาละวินที่สร้างเมื่อปี พ.ศ.2466
ผู้เขียนเองจึงวางแผนว่าจะเดินทางในช่วงฤดูร้อนเป้าหมายคือ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติสาละวิน(ท่าตาฝั่ง) เพื่อที่จะได้ไปเดินเที่ยวหาดทรายขาว ริมน้ำสาละวินกับหาดหินงาม ซึ่งจะโผล่ให้เราเห็นในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเท่านั้น ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ชักชวนพี่ๆ ที่รู้จักประกอบด้วย โรจน์ คม ดา จากลานกระบือ 4×4 ป๋าเจตต์ จากจิ๊ปคลับเชียงใหม่ เสี่ยฮาร์ดจากซุ้มบังไพร และน้าติ๊ก google แนวร่วมทั้งหมด 6 คัน
ครั้งนี้ผู้เขียนเองจึงนัดหมายทีมงานเสี่ยฮาร์ดและน้าติ๊ก ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ในคืนแรกให้ไปนอนพักค้างคืนกันที่สวนสนบ่อแก้ว เพราะตรงนี้ผมได้นัดป๋าเจตต์ จากเชียงใหม่เดินทางลงมาหา ซึ่งกว่าที่เราจะเดินทางมาถึงสวนสนก็เกือบๆ หนึ่งทุ่ม ถ้าเป็นฤดูหนาวคงค่ำมืดแน่ๆ โชคดีที่เราไปถึงยังไม่ค่ำมืดก็จัดแจงทำทั้งกับข้าวกับแกล้มที่แวะซื้อจากตลาด อ.ฮอด เมนูพ่อ ครัวหัวป่า ทั้งลาบปลาเพี้ยะ ปิ้งย่างตามอัธยาศัย ร่ำสุราจนดึก หลายคนคิดว่าอากาศจะร้อน โดยเฉพาะคนกรุง แต่ที่นี้สวนสนผิดคาด ขนาดเที่ยวในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิตอนกลางคืนดึกๆ อยู่ที่ 20-24 C ทำเอาหลายๆ คนต้องเอาเสื้อกันหนาวมาใส่ เนี้ยละครับเมืองไทยไม่ไปไม่รู้
ตื่นเช้ามาทางผู้เขียนรีบจัดแจงเก็บกวาดทำความสะอาด พื้นที่เมื่อคืน เมื่อพร้อมก็ออกเดินทางต่อไปยัง อ.แม่สะเรียง เป้าหมายในคืนนี้ และทางผมเองได้นัดคุณ bobby ฟรายฟิชชิ่ง เพื่อได้ไปดูวิธีการตกฟรายซึ่งต้องบอกไว้ก่อนว่าการตกฟรายนั้นยากไม่ใช่เล่น และหาดูได้ยากมากสำหรับการตกปลาประเภทนี้เรียกง่ายๆ คือ “ฟรายฟิชชิ่งมันคือ ศิลปะแห่งสายน้ำ” ท่านอาจจะหลงเสน่ห์ของมันก็ได้ อีกอย่างคงมีคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องไปนอนแม่สะเรียงอีกคืน เหตุใดไม่วิ่งเข้าไปท่าตาฝั่งเลย จะบอกให้ครับเส้นทางจากสวนสนบ่อแก้วถึงแม่สะเรียง เราจะใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง และจัดแจงหาซื้อเสบียงอีก มันจะกินเวลาไปเยอะ กว่าจะเดินทางเข้าไปอีก ซึ่งคราวก่อนผู้เขียนวิ่งเส้นทางสายนี้แม่สะเรียง-ท่าตาฝั่ง เส้นทางเก่า ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง
ครั้งนี้เลยวางแผนว่าเราจะรอทางพี่ๆ มาจาก จ.กำแพงเพชร ที่วิ่งเส้นทางสายแม่สอด-แม่สะเรียง ที่พักในคืนนี้เลยนอนสบายๆ หน่อยที่ โรงแรม “The goodview guesthouse at maesariang” บรรยากาศริมแม่น้ำยวม เพราะตอนเช้าๆ เราต้องออกไปจ่ายตลาดซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับที่พัก งานนี้เสบียงเราได้ปลาแค้สาละวิน เอามาทำเมนูลวกจิ้มอันแสนอร่อย จากนั้นไม่นานพวกพี่ๆ ลานกระบือก็เข้ามาสมทบช่วงบ่ายๆ จึงได้คุยกันจนดึกดื่นตามประสาคนคอเดียวกัน
และแล้วเช้าวันที่หลายคนรอคอยก็มาถึง เสบียงพร้อม รถพร้อม สุราพร้อม เตรียมล้อหมุน ผมเองรู้สึกตื่นเต้นอีกครั้ง เพราะจะเป็นเส้นทางเข้าโดยปกติที่ผ่านๆ มา ผมวิ่งเป็นเส้นทางขาออก คาดเดาว่าน้ำจะเยอะหรือเปล่า เส้นทางจะเป็นไง จะเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะแต่ละครั้งเส้นทางจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด อันเกิดจากน้ำป่าที่ไหลมาแต่ละปี จึงทำให้ตลิ่งพังเส้นทางเปลี่ยนแปลงตลอด….
เส้นทางเราวิ่งจากตัว อ.แม่สะเรียงสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติสาละวิน ระยะทางถนนดำ 12 กิโลเมตร หลังจากนั้นเราต้องไปขออนุญาตเข้าพื้นที่ ซึ่งทางผู้เขียนได้ขออนุญาต จาก หัวหน้ายุทธนา ศรีเงินงาม ซึ่งทางท่านก็ให้การตอนรับเป็นอย่างดี และแนะนำให้ไปเข้าพักที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติสาละวิน (ท่าตาฝั่ง) จากนั้นเราใช้เส้นทางผ่านหลังหน่วยอุทยานฯ ซึ่งผมเองยังมานั่งคิดๆ ว่า ถ้าเส้นทางนี้เป็นช่วงฤดูฝนจะโหดขนาดไหน ขวาเป็นผา ซ้ายเป็นเหวลึก แล้วผิวถนนยังเป็นฝุ่นหนาๆ กับเนินชันๆ ถ้าแปลงสภาพกลายมาเป็นดินโคลนช่วงฝนละก็…ไม่อยากจะคิดเลยว่าจะโหดแค่ไหน
เราวิ่งขึ้นเนินยาวๆ ราวๆ 2-3 กิโลเมตร จากนั้นก็วิ่งขึ้นๆ ลงๆ ในเส้นทางบนยอดเขา กว่าจะถึง 3 แยกไปบ้านป่าเหว ใช้เวลาวิ่งไปราวๆ 30 นาที กับระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ครั้งนี้ฝุ่นเป็นอุปสรรคจริงๆ เพราะต้องทิ้งช่วงขบวนรถ เพราะรถคันข้างหลังมองไม่เห็นถนน ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้หากขับแบบขบวนติดๆ กัน สักพักเราวิ่งจากแยกบ้านป่าเหว เราก็มาถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติสาละวิน(บ้านศาลา) และสถานที่แห่งนี้ก็คือ สำนักเก่าของบริษัท บอมเบย์ เบอร์ม่า หรือบางทีชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่าบ้านผีสิงกลางป่าสาละวินในตำนาน เพราะอดีตสถานที่แห่งนี้คือ ศูนย์อพยพแม่กองคา มีผู้เสียชีวิตจากโรคติดต่อ อหิวา ทั้งไข้ป่า ทั้งจากการสู้รบ สถานที่แห่งนี้จึงขึ้นชื่อว่าเฮี้ยนในระดับหนึ่ง ด้านหลังบ้านหลังนี้คือ ป่าช้าหลุมศพ เหล่าชาวกระเหรี่ยงที่ฝังอยู่ใต้ดินแห่งนี้ เท่าที่ผมทราบมาคร่าวๆ ประมาณ 200-300 ศพ เรียกความสยองยามค่ำคืนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว หากใครจะไปนอนพักค้างคืนก็เชิญได้นะครับ เพราะผมเองคงจะขอไปนอนที่หน่วยท่าตาฝั่งละกัน
จากนั้นเราก็ขับรถชมบรรยากาศไปเรื่อยๆ มีทั้งไก่ป่า และนกสารพัด บินอยู่ทั่วบริเวณ เส้นทางนี้เราขับข้ามลำห้วยกับป่าหิน ซึ่งหลายๆ ท่านคงทราบดีว่าทำความเร็วไม่ได้ แต่เส้นทางตอนนี้เปลี่ยนไป เนื่องจากมาเจ้าหน้าที่เอารถมาปรับถนนใหม่ แต่ก็ยังเหลือทางให้เลาะข้างลำห้วยแม่กองคา และแน่นอนว่านั่นแหละคือ ทางหลักของพวกเรา มากับผมจะไปวิ่งเส้นทางธรรมดาได้ไง ว่าแล้วผมจึงนำทีมๆ นักผจญป่าวิ่งเส้นทางเก่าไปเรื่อยๆ เก็บบรรยากาศในลำธารอันแสนสวยงาม ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าป่าแห่งนี้สมบูรณ์จริงๆ
เราขับมาไม่นานเราแวะทานข้าวเที่ยงกลางป่าบรรยากาศริมสายธาร..เสียอย่างเดียวน้ำน้อยไปนิด ถ้าเยอะว่านี้ขับรถสนุกแน่…ช่วงอึดใจเดียวเราก็มาถึงบ้านท่าตาฝั่ง ประมาณบ่ายสามโมงแวะเดินเที่ยวแถวๆ ท่าเรือ บ้านท่าตาฝั่ง บรรยากาศเงียบสงบไม่มีผู้คนมาเที่ยวดังช่วงฤดูหนาว ป๋าเจตต์ บอกผมว่าเราจะหาวิธีการนำรถลงไปจอดข้างล่างตรงหาดทรายบ้านท่าตาฝั่ง แต่ผมดูแล้วไม่มีหนทางเลย เพราะตลิ่งสูงชันเกินไป ผมเลยบอกไปว่า เราควรไปเที่ยวสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากที่นี้ นั่นก็คือ โรงพักโบราณท่าตาฝั่ง
ตกลงกันได้แล้วก็ออกเดินทางทันที มุ่งหน้าสู่โรงพักโบราณท่าตาฝั่ง ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ นั่นเอง บรรยากาศเงียบสงบ มีหลายคนถามถึงที่มาที่ไปของสถานที่แห่งนี้ เอาแบบคร่าวๆ นะครับ ปี 2466 ทางราชการได้ก่อสร้างสถานีตำรวจภูธรท่าตาฝั่ง มีหัวหน้าสถานีคนแรกคือ สตอ.หมื่นบริบาล รำเภยศักดิ์ (พ.ศ.2466-2488) จากนั้นในช่วงปี พ.ศ.2485-2489 มีหัวหน้าสถานี คือ ส.ต.อ.อิ่นคำ พิทักษ์ ตัวโรงพักตั้งอยู่บนหน้าผาริมแม่น้ำ สามารถมองสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวฝั่งพม่าได้ ตัวเรือนสร้างจากไม้สักหนา แต่ขณะนี้อยู่ในสภาพผุทรุดโทรมตามกาลเวลา รอบด้านของโรงพักทั้งชั้นล่างและชั้นบน จะมีช่องสำหรับสอดอาวุธยิงต่อสู้โจรข้าศึก หลังจากนั้นมีข้อมูลปรากฏว่า ในวันที่ 4 พ.ค 2524ได้มีการย้ายสถานีตำรวจภูธรท่าตาฝั่ง ไปตั้งในพื้นที่ ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จนถึงปัจจุบัน
ทางผู้บังคับการตำรวจภูธรแม่ฮ่องสอน ต้องการที่จะซ่อมแซม เพื่อมิให้อาคารโรงพักเก่าแห่งนี้ต้องทรุดโทรมและเสียหายไปมากกว่านี้ และหวังว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นโบราณสถานที่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยว ในแถบลำน้ำสาละวิน ที่สำคัญสถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับเยาวชนลูกหลาน ได้จดจำเพื่อให้ระลึกอยู่เสมอว่า บ้านเมืองเราอยู่ได้เพราะการปกป้องอธิปไตยของข้าราชการทหารและตำรวจ ที่ได้มาประจำการ ณ สถานที่แห่งนี้ และหากทางราชการไม่เข้ามาปรับปรุงดูแล ผมว่าอีกไม่เกิน 2 ปีคงจะทรุดโทรมลงไปมากกว่านี้แน่ๆ
ออกจากโรงพักเก่าไม่เกิน 2 กิโลเมตร เราก็เจอหน่วยฯท่าตาฝั่ง กับบรรยากาศที่ต้องบอกไว้เลยว่า…มีด้วยเหรอแบบนี้ในประเทศไทย คมกับดา จัดแจงเริ่มจัดการทำกับข้าวและกับแกล้มที่เตรียมมา หลายคนนอนพักผ่อน พอเย็นย่ำก็เริ่มตั้งวงตามประสาคนออฟโรด จนเย็นย่ำต่อเนื่องไปจนมืดค่ำ ท่ามกลางบรรยากาศอันแสนบริสุทธิ์ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน
พอรุ่งเช้ามาบางคนเริ่มเก็บของ บางคนก็เก็บภาพและบรรยากาศแม่น้ำสาละวิน ที่ห่างไปไม่ไกลนัก เดินลงไปราวๆ 500 เมตร ก็จะพบกับหาดทรายขาว ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา และติดกับหาดหินงามมีความกว้างใหญ่ไม่แพ้กับสายน้ำสาละวิน เล่นเอาพวกผมเดินชมจนเหนื่อยหอบ เดินไปเดินมาอย่างเพลิดเพลินน่าจะประมาณ 4 กิโลเมตรเห็นจะได้ หาดทั้งสองแห่งนี้ ถ้าจะมาเที่ยวชมควรเป็นฤดูร้อนเท่านั้นนะครับ หลังเก็บบรรยากาศแห่งธรรมชาติจนอิ่มเอมแล้วแล้วก็ตั้งขบวนเดินทางกลับทันที
ขากลับเราขับออกมาทางเส้นทางแม่สามแลบ เพื่อแวะเที่ยวชมท่าเรือแม่สามแลบ และแวะดูตลาดซื้อขายปลาสาละวินกัน ต่างคนซื้อกลับบ้านตามอัธยาศัย….จบไปเรียบร้อยสำหรับทริปฤดูร้อนในครั้งนี้…เจอกันครั้งต่อไปทริปรับฤดูฝนกับผม อจต ประตูผา
สาละวิน สายน้ำแห่งชีวิต
แม่น้ำสาละวิน ได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่สวยงามที่สุดสายหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเกิดจากสายน้ำน้อยใหญ่มากมาย ไหลมารวมกันจนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ และเกิดที่ราบลุ่มมากมายในช่วงที่สายน้ำไหลผ่าน จนทำให้เป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่น้อยกว่าสิบกลุ่มในประเทศจีน พม่า และไทย ที่อาศัยพึ่งพาแม่น้ำสายใหญ่น้อยเหล่านี้มาตลอดหลายชั่วอายุคน
ตลอดเส้นทางกว่าสองพันกิโลเมตร จากที่ราบสูงทิเบต ในเขตประเทศจีน สู่อ่าวเมาะตะมะ ในเขตประเทศพม่า แม่น้ำสาขาสายสำคัญหลายสายได้นำพาสายน้ำและความอุดมสมบูรณ์มารวมกันในแม่น้ำสายใหญ่ที่มีชื่อในภาษาไทยว่า “สาละวิน”
โดยในเขตประเทศพม่า แม่น้ำสาละวินจะไหลผ่านรัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกะเหรี่ยง โดยมีแม่น้ำสาขาหลายสายไหลลงมาบรรจบรวมเป็นแม่น้ำสาละวินที่กว้างใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อไหลผ่านเขตรัฐฉาน แม่น้ำปางซึ่งมีต้นกำเนิดจากเขตรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคเหนือของรัฐฉาน ไหลคู่ขนานกับแม่น้ำสาละวิน ผ่านเมืองเกซีและเมืองกุ๋นฮิงเพื่อมารวมกับ “แม่น้ำคง” (ชื่อเรียกแม่น้ำสาละวินในภาษาไทยใหญ่) ในเขตกุ๋นฮิง หลังจากนั้นจึงไหลผ่านผืนป่า เกิดเป็นเกาะแก่งมากมาย จนได้ชื่อว่า เมืองพันเกาะ (กุ๋นเหง คือ พันเกาะ แต่ภาษาพม่าเรียกเพี้ยนกลายเป็น กุ๋นฮิง) ซึ่งมีระบบนิเวศน์หลากหลาย มีพันธุ์ปลาหลายๆ ชนิด สามารถจับได้ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของประชาชนท้องถิ่น นอกจากนี้ ทะเลสาบอินเล ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก็เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำสาละวินด้วยเช่นกัน
หลังจากไหลผ่านรัฐฉานเรื่อยลงมาจนถึงชายแดนไทย-พม่า แม่น้ำสาละวินจะวกกลับเข้าไปในเขตประเทศพม่าอีกครั้ง ผ่านรัฐคะยาและรัฐกะเหรี่ยง ระหว่างการเดินทางไกลสู่ปากแม่น้ำในรัฐมอญ แม่น้ำสาละวินยังได้รับปริมาณน้ำเพิ่มจากลำน้ำสาขาอีกหลายสาย อาทิ แม่น้ำยุนซาลิน จากรัฐกะเหรี่ยง แม่น้ำอัตทะรันและแม่น้ำไกร์นจากรัฐมอญ
ในเขตประเทศไทย นับตั้งแต่ทางเหนือของชายแดนไทย แม่น้ำสาย และน้ำกก ไหลจากเทือกเขาสูงในรัฐฉานลงสู่ จ.เชียงราย และเติมน้ำให้แก่แม่น้ำโขง มหาธารแห่งอุษาคเนย์ เรื่อยมาทาง จ.แม่ฮ่องสอน แม่น้ำแทบทั้งหมดในจังหวัดนี้ล้วนเป็นลูกน้อยของแม่น้ำสาละวิน ไม่ว่าจะเป็นน้ำปาย น้ำเงา น้ำยวม และน้ำเมย เช่นเดียวกับน้ำแม่กษัตริย์ ที่ไหลจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ข้ามพรมแดนไปลงสู่ทะเลอันดามันที่ปากน้ำสาละวิน ในรัฐมอญลงไปทางใต้ที่ จ.ประจวบคีรีขันธุ์และระนอง มีแม่น้ำตะนาวศรีที่ไหลเลียบอยู่ในป่าฝั่งงพม่า และแม่น้ำกระบุรีที่ไหลเป็นเส้นพรมแดนจรดปากน้ำที่ตัวเมืองระนองและเกาะสอง
สาละวิน จึงนับเป็นอีกหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญมากที่สุดอีกสายหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.