สู่ดินแดนลี้ลับ สุดแดนสนธยา หมู่บ้านกะเหรี่ยงฤาษี เลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก

12_resize1-300x201

“ ที่ม่องควา(หรือหม่องกั๊วะ) มีเขาลูกหนึ่งรูปร่างประหลาด  ไม่สูงเทียมเมฆ แต่ก็ชันดิ่ง และตั้งโดดเดี่ยวอยู่กลางทุ่ง  จะว่าไปแล้วก็มีส่วนคล้ายครกคว่ำ  มีคนเล่าว่าข้างบนเป็นปล่อง และในปล่องนั้นเป็นที่ซ่อนสมบัติของกษัตริย์มอญโบราญ  แต่ผมไม่ได้เก็บเรื่องนี้มาใส่ใจมากนัก แต่วันที่เดินถึงม่องควานั้น  บรรยากาศที่พบช่างเหมาะกับตำนานที่ว่าเสียนี่กระไร  ผมยังจำภาพหนุ่มกะเหรี่ยง ไว้ผมมวยกลางศรีษะ และปล่อยตีนผมสยายประบ่าได้อย่างชัดเจน  เขานุ่งโสร่งดีดพิณโค้งแบบพม่าอยู่บนชานเรือนใต้ถุนสูง ’’

1_resize2

นั่นคือ วลีสั้นๆ ของ เสกสรรค์  ประเสริฐกุล  นักเดินทางที่เคยใช้เส้นทางนี้ ผ่านแนวชายแดนบริเวณหมู่บ้านเลตองคุ เป็นเส้นทางของนักปฏิวัติ ช่วงปี 2519 -2525 ตามแนวตะเข็บชายแดนป่าตะวันตก ที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้านกะเหรี่ยงหลายๆ หมู่บ้าน ได้บรรยายไว้ในงานเขียนเรื่อง เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง ตอน ความทรงจำอันขาดวิ่นของนักเดินทางผู้ว้าเหว่ เมื่อปี 2527 ที่ผมได้อ่านแล้วรู้สึกสนใจวิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยงฤาษี  และตั้งความหวังว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิต จะต้องหาโอกาสเดินทางมาเยือนดินแดนแห่งนี้ให้ได้

เลตองคุ  หรือ  เลต่อโคะ ’’   แปลว่า  บ้านบนน้ำตก  หรือ ผาน้ำตก…

2_resize1

หมู่บ้านเลตองคุ  ดินแดนลี้ลับ สุดแดนสนธยา  เป็นหมู่บ้านกระเหรี่ยงฤาษีแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีการปกครองตัวเองแบบ มีฤาษีเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และมีการถือศีลกินเจที่เคร่งครัด และเป็นหมู่บ้านเดียวในประเทศไทยเช่นกัน ที่ไม่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำตามระบบการปกครองท้องถิ่นของไทย  การที่มีองค์ฤาษีสืบทอดเป็นผู้นำชุมชนจนถึงปัจจุบัน และมีการถือศีลกินเจที่เคร่งครัด เป็นผลทำให้หมู่บ้านเกิดความสงบร่มเย็นมาโดยตลอด  ทำให้ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน และกะเหรี่ยงหมู่บ้านใกล้เคียง เกิดความศรัทธา อาจเปรียบได้ว่า เลตองคุเป็นเสมือนเมืองหลวงของหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤาษีที่อยู่ในเขตไทย ตลอดจนถึงหมู่บ้านในเขตพม่าด้วย  จากฤาษีองค์ที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ฤาษีองค์ที่ 9 (ได้ย้ายออกจากหมู่บ้านไปถือศีลอยู่ฝั่งพม่า เนื่องจากความขัดแย้งภายในของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน) แต่ก็ยังมีฤาษีองค์ปัจจุบัน ที่รักษาการแทนอยู่ ซึ่งรอการนิมิต เพื่อเตรียมเข้าสู่พิธีการเป็นฤาษีองค์ที่ 10 อย่างสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้ ผมขอเกริ่นเรื่องหมู่บ้านกระเหรี่ยงฤาษีไว้แค่นี้ก่อน  แล้วจะพาไปรับรู้เรื่องเล่าตำนานอันเร้นลับอันน่าทึ่งของกะเหรี่ยงฤาษีต่อไป – See more at:

5_resize2

ทริปการเดินทางเพื่อเข้าไปเปิดตำนานกะเหรี่ยงฤาษีนี้  เกิดขึ้นจาก ป๋าต้อย  เดินดง (สุชาติ  เฟื่องฟู)  ได้ประสานงานกับ เป็กโก้ หรือที่พวกเราชาวออฟโรดเรียกกันติดปากว่า ผู้กำกับเป็ก (พ.ต.อ. สุทธิพงศ์  เป๊กทอง) เพื่อขอให้ประสานงานกับตชด. ในการเดินทางเข้าไปที่หมู่บ้านเลตองคุ  และถือเป็นการนำสิ่งของ อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์ดำรงชีพ ไปมอบให้ รร. ตชด.บ้านเลตองคุ พร้อมกับเลี้ยงอาหารและขนมแก่เด็กๆ ชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 คน

แล้ววันเดินทางก็กำหนดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน  พร้อมๆ กับข่าวการปิดชายแดนด้าน อ.พบพระ ของ นายพล นะ คะ มวย ผู้บัญชาการทหารกะเหรี่ยงโกะ ทู บลอ  เนื่องจากปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนไทย-พม่า ขบวนรถออฟโรด และผู้ร่วมเดินทางประมาณ 30 ชีวิต ประกอบด้วยหลายชมรม คือ คนตากออฟโรด, เมืองตากออฟโรด , กำแพงเพชรออฟโรด , BANANA TEAM , เดินดง , ขอนลอย, ทีมงานที่นี่ประเทศไทย , ทีมงานร้อยภูพันดาว รวมรถแล้ว 12 คัน เราเริ่มเดินทางจากจุดนัดพบที่ทางแยกก่อนเข้าตัวอำเภออุ้มผาง กว่าจะครบก็ปาเข้าไปบ่าย 3 โมง ระยะทางจากอำเภออุ้มผางถึงหมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง 87 กิโลเมตร เส้นทางลาดยางอย่างดี ระหว่างทางผ่านด่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง บริเวณปากทางเข้าน้ำตกทีลอซู  จุดหมายแรกที่เราจะไปพักระหว่างทางคือโรงเรียนประจำหมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง  โดยขออาศัยอาคารเรียนเป็นที่พักคืนนี้  พรุ่งนี้เช้าค่อยเริ่มตั้งขบวนเข้าสู่หมู่บ้านเลตองคุ ซึ่งจะต้องเดินทางเข้าสู่เส้นทางออฟโรด มีทั้ง ปีนป่ายไปตามสันเขา ไหล่เขา สูงชัน ข้ามลำห้วย และช่องหินภูเขา ด้วยระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่บ้านเลตองคุ

11_resize

เส้นทางแบบนี้ไม่ธรรมดาเลยครับ หากแต่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ เราคงใช้เวลาครึ่งค่อนวัน เนื่องด้วยมีเนินชันยาว หลายเนิน ค่อนข้างอันตรายหากฝนตกลงมา  โดยเฉพาะขาลงเขาที่ลาดชัน จะอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในช่วงกลางฝนจนถึงปลายฝน เส้นทางนี้จะถูกปิดตายไปโดยปริยาย รถผ่านได้ลำบาก  ชาวบ้านต้องเดินเท้าตัดเขาลัดเลาะไปจนถึงหมู่บ้าน  พวกเราโชคดีที่ฟ้าเปิดจึงใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ใกล้ๆ เที่ยงวัน เราก็ถึงหมู่บ้านเลตองคุ

สัมผัสแรกที่ขบวนรถเข้าสู่พื้นที่หมู่บ้าน ก็รู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่เห็น บรรยากาศของหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤาษีตามจินตนาการของผม และภาพที่เห็นแตกต่างจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงอื่นๆ ที่เคยสัมผัสมา สองข้างทางมีต้นหมากขึ้นอยู่เรียงราย ซึ่งเป็นสัญลักษญ์ของหมู่บ้าน กะเหรี่ยงที่นี่นิยมกินหมาก ต้นไม้อื่นๆ ก็ยังมีผลไม้อย่างสวนทุเรียน ไร่สับปะรด ปลูกสลับกันตลอดทาง  ตัวบ้านก็เป็นกระท่อมไม้ไผ่  บางหลังเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงมีใต้ถุน พื้นที่ยกสูงกั้นด้วยแผ่นไม้กระดานฉลุลาย  หน้าจั่วหลังคา  บางหลังมีสัญลักษญ์ทาสีสันสวยสด ตามจินตนาการเจ้าของบ้าน ถนนเข้าหมู่บ้านมีบ้านเรียงราย สองฟากเป็นระยะๆ  แม้จะกลายเป็นทางรถยนต์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่ถนนก็ยังแคบพอแค่รถยนต์วิ่งผ่านได้คันเดียว  กลางหมู่บ้านมีลำธารไหลผ่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เหมาะกับเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนขนาดใหญ่  และมีแนวภูเขาและผาสูงกั้นเป็นกำแพงเมืองธรรมชาติ  สอดคล้องกับตำนานที่ปู่ย่าตายายชาวเลตองคุ เล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคนว่า เลตองคุ ถูกสร้างเมืองวันเดียวกับกรุงเทพฯ  แต่ไม่มีหลักฐานที่จดบันทึกชัดเจน ในความเป็นจริงและสถานการณ์หลายอย่าง เกิดขึ้นสอดคล้องตามนิมิตที่เกิดขึ้น และเชื่อกันว่า 2 เมืองนี้ มีชะตาดวงเมืองเดียวกัน

15_resize2

ขบวนรถเราข้ามสะพานลำห้วยเล็กๆ เข้าสู่ลานสนามหญ้ากว้างใหญ่  กะเหรี่ยงผูกวัวเลี้ยงใว้ตามจุดต่าง โดยใช้ไม่ไผ่ยาวผูกเชือกกับหลัก สามารถหมุนและยกขึ้นลง ทำให้วัวเดินหากินได้รอบๆ อย่างอิสระ เพื่อลดความตึงเครียดของวัว นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแบบหนึ่ง ส่วนลานสนามหญ้านี้กว้างใหญ่พอๆ กับสนามฟุตบอล 2 –3 สนาม มีตำนานกล่าวว่า ภายหลังป่าแตกหรือยุคกองกำลังปฏิวัติล่มสลาย (พรรคคอมมิวนิสน์แห่งประเทศไทย) ฤาษีองค์หนึ่งได้นำงาช้างแกะสลักฉลุลายพญานาคไปทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง  และชักชวนนำชาวบ้านตัดถางป่า ขุดตอไม้ออก เพื่อทำพื้นเป็นที่ราบบริเวณกว้าง (พื้นที่สนามหญ้ากว้างหน้าร.ร. ตชด.ในปัจจุบัน)  และบอกว่าในภายภาคหน้าจะมีเจ้าหญิงเสด็จมาที่นี่ และในยุคฤาษีองค์ต่อมา สมเด็จพระเทพฯ  ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์มาที่หมู่บ้านเลตองคุ  โดยลงจอดที่ลานกว้างดังกล่าว

เมื่อขบวนรถถึงที่หมาย รร.ตชด. แล้ว  แต่ละคนก็เตรียมขนสิ่งของ อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์ดำรงชีพ ลงจากรถเพื่อเตรียมส่งมอบให้หน่วยตชด. และครู รร.ตชด.บ้านเลตองคุ ทีมงานบางส่วนก็แยกออกไปทำอาหารกลางวัน ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ ตชด. ก็ได้แนะนำให้รู้จักผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยง มาเล่าเรื่องตำนานกะเหรี่ยงฤาษี แบบฉบับย่อให้พวกเราได้ฟัง จากนั้นก็ได้พาพวกเราเข้าไปที่สำนักฤาษี สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในหมู่บ้าน

19_resize

เมื่อเราเดินมาถึงซุ้มประตูทางเข้าสำนัก ทุกคนต้องถอดรองเท้า และล้างเท้าให้สะอาด  แล้วเดินไปตามทางเดินลาดซีเมนต์กว้างประมาณ 2 เมตร มีหลังคากันแดดกันฝนตลอดทาง  ประมาณ 20 เมตร ก็ถึงศาลาฤาษี ที่องค์ฤาษีใช้สำหรับให้ผู้เข้ามาติดต่อ กราบไหว้ถวายสิ่งของบริเวณนี้ และบรรดาศิษย์อาวุโสและลูกศิษย์เด็กๆ ก็จะอาศัยอยู่บริเวณนี้ โดยมีแนวร่องซีเมนต์จำกัดเขตห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าเกินแนวที่กำหนด  และห้ามผู้หญิงถวายสิ่งของให้ฤาษีด้วยตัวเองได้  ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติที่เคร่งครัดมากของฤาษีและลูกศิษย์ต่างๆ

ลึกเข้าไปด้านใน จะเป็นเรือนนอนของฤาษีหรือเรียกกันว่าบ้านบริสุทธิ์  โดยศิษย์อาวุโสและลูกศิษย์เด็กๆ  จะนอนอยู่ด้านนอก  และถัดออกไปก็จะเป็นโรงครัว  ด้านข้างจะมีศาลาเก็บพระพุทธรูป องค์ฤาษีจำลอง  และงาช้างแกะสลัก  โดยที่หอนี้จะเป็นศูนย์กลางของการทำพิธีทำบุญ  สวดมนต์ภาวนาในวันพระ ตลอดจนทำพิธีกรรมตามประเพณีความเชื่อต่างๆ  สถานที่อื่นๆ โดยรอบนอกนั้น ก็จะเป็นจุดไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 7 แห่ง  ซึ่งเป็นที่ไหว้เฉพาะขององค์ฤาษีและศิษย์เท่านั้น

พวกเราเข้านมัสการกราบไหว้ฤาษีองค์ปัจจุบัน (รักษาการแทน รอการนิมิตแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ) และถ่ายรูปเป็นที่ระลึก  หลังจากนั้นก็ไปที่ศาลาที่ตั้งพระพุทธรูป และองค์ฤาษีจำลอง เพื่อไหว้สักการะพระพุทธรูปพระศรีอาริยเมตไตรย ที่ชาวกะเกรี่ยงมีความเชื่อว่า จะเป็นผู้มีพระภาคเจ้าองค์ต่อไปที่จะมาโปรดชาวโลก ความ​บริสุทธิ์ผุดผ่องที่ทุกคนถือปฏิบัติร่วม​กัน​ ​ทำ​ให้​ทุกคน​เป็น​ ” ชาวอริยะ ​”  ​ซึ่ง​จะ​ได้​พบพระศรีอาริยเมตไตรย ​และ​ได้​อยู่​ร่วม​กับ​พระองค์​ใน​อีก​ไม่​ช้า​ และจะนำความสงบสุขมาสู่ชาวเลตองคุตลอดไป

หลังจากนั้นศิษย์หนุ่มประจำสำนัก 2 คน ก็ได้ยกงาช้างคู่ใหญ่ ที่แกะสลักเป็นลายพระพุทธรูป ที่สวยงามมาก  โดยนำลงมาที่ลานศักดิ์สิทธิ์ข้างล่าง เพื่อให้พวกเราชมอย่างใกล้ชิด  แต่ก็ยังมีแนวเขตห้ามผู้หญิงเข้าใกล้เกินระยะที่กำหนดไว้เหมือนเดิม

เมื่อพวกเราได้กราบลาฤาษี  และขอบคุณผู้นำชุมชนที่ได้พาเข้าไปเยี่ยมสำนักฤาษีแล้ว ขากลับก็ได้เดินชมบรรยากาศสภาพความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงฤาษี ระหว่างทางบริเวณที่ท้องนาที่มีน้ำฝนขังอยู่ประมาณหน้าแข้ง มีเด็กหนุ่มกะหรี่ยงนับสิบคนเกล้ามวยผม ถอดเสื้อกระโดด ตีลังกาเล่นน้ำเป็นที่สนุกสนาน  ช่างเป็นภาพที่สวยงามจริงๆ ครับ  และเมื่อเดินมาตามถนนเรื่อยๆ  แต่ละคุ้มบ้านบริเวณทางแยก  หรือจุดที่มองเห็นง่ายก็จะมีป้ายบอกชื่อลูกบ้านต่างๆ ติดไว้ โดยชื่อแต่ละคนจะเป็นเจ้าบ้าน ซึ่งมีทั้งชื่อกะเหรี่ยง  และบางชื่อที่เปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทยแล้ว น่าจะเปลี่ยนช่วงที่มีการขึ้นทะเบียนราษฎร์ของทางการ  ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ามีการทำบัตรประชาชนแล้วหรือยัง  เหมือนกับชาวกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวรที่มีการทำบัตรประชาชนแล้ว  และในช่องศาสนาในบัตรประชาชน ระบุชัดเจนว่า “ ฤาษี ”

21_resize1

บางครอบครัวของกะเหรี่ยงฤาษี เคร่งครัดมาก โดยกินเจตลอดชีวิต  พร้อมมีป้ายเขียนบอกหน้าบ้านชัดเจนว่า “ บ้านหลังนี้กินเจ  ห้ามนำเนื้อสัตว์ขึ้นบ้าน  ’’

อีกหนึ่งตำนาน เป็นที่กล่าวกันมาหลายสิบปี เปรียบเสมือนวีรบุรุษของชาวกะเหรี่ยง ที่เคร่งครัดในการถือศีลกินเจ  จึงเกิดปาฏิหาริย์  กับ ลุงสัน’’ ที่ปกป้องลูกชายที่โดนยิงด้วยอาวุธสงคราม  แล้วกระโดดเอาตัวเองบังไว้  แล้วโดนยิงซ้ำ แต่ลูกปืนยิงไม่เข้านับสิบนัด  ช่วงเกิดสงครามเผ่าพันธุ์ตามแนวชายแดน เมื่อหลายสิบปีก่อน  เหตุการณ์นี้ช่วยเสริมความศรัทธา  และความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงฤาษี  ในการทำความดีถือศีลกินเจต่อไป

ทริปนี้คงเป็นการรายงานทริปที่พิเศษฉบับหนึ่ง  ที่เน้นในเรื่องราวตำนานของชนเผ่ากะเหรี่ยงฤาษี แห่งเดียวในประเทศไทย เปรียบเสมือนเป็นดินแดนแผ่นดินธรรมที่บรรพบุรุษของพวกเขาสร้างขึ้นมากับมือ และสืบทอดประเพณีพิธีกรรม  การประพฤติตน  และการถือศิลกินเจที่เคร่งครัด  และสามารถปกครองชุมชน สืบทอดกันนับร้อยปี จนถึงปัจจุบัน  หากย้อนหันมามองพวกเราที่อาศัยอยู่ในเมือง  ที่มีความเจริญสูงสุดในปัจจุบัน  คงต้องมีการพิจารณาปรับพฤติกรรมบางอย่าง ให้สมกับที่เราเป็นเมืองพุทธกันบ้าง

               สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สำคัญของหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤาษี เลตองคุ คือ การต่อต้าน หรือการยอมรับในใจ ต่อความเจริญที่เริ่มเข้าไปเคาะประตูบ้านของชาวกะเหรี่ยงทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องรับโทรทัศน์ จานดาวเทียม วิทยุทรานซิสเตอร์ โทรศัพท์มือถือรุ่นต่างๆ  ที่สายตาของชาวกะเหรี่ยงเริ่มคุ้นเคยขึ้นทุกวัน  สิ่งเหล่านี้ท้าทายต่อศรัทธา  ความเชื่อทางจิตวิญญาณในจิตใจ  คงมีแต่เพียงนิมิตขององค์ฤาษีเท่านั้นที่จะตอบคำถามนี้ได้

30_resize

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับหมู่บ้านกะเหรี่ยงฤาษี

–         เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งเดียวในประเทศไทย  ที่นับถือลัทธิฤาษี  เป็นผู้นำและปกครองชุมชน

–         กะเหรี่ยงในหมู่บ้านเป็น​กะ​เหรี่ยงสะกอ​  ​ที่​เรียกตนเองว่า​  ” ปกา​เกอะญอ ” ​ และ​กะ​เหรี่ยงโปที่​เรียกตนเองว่า​ “​โผล่ว” ​อยู่​ปะปน​กัน​  ส่วนใหญ่พูดภาษไทยไม่ได้  ยกเว้นเด็กๆ รุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียนในรร.ตชด. บ้านเลตองคุ

–         ผู้ชายกะเหรี่ยง เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มจะไม่ตัดผมอีก โดยจะใว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยอยู่เหนือหัวด้านหน้า

–         ผู้หญิงกะเหรี่ยง  ก็จะปล่อยยาวไม่มีการตัดเป็นทรง และรวบเป็นมุ่นมวยใว้ที่ท้ายทอย

–         ผู้ชายกะเหรี่ยงจะใส่ชุดยาวสีขาว มีแถบแดงหรือสีบานเย็นพาดจาดคอถึงด้านล่าง หรือนุ่งโสร่งที่ไม่เย็บเหมือนผ้าถุง  ใส่เสื้อผ่าอกมีกระดุม

–         ผู้หญิงกะเหรี่ยง  ถ้ายังไม่แต่งงาน จะใส่ชุดสีขาวยาวถึงน่อง  ถ้าแต่งงานแล้วจะใส่ซิ่นทอเอง พื้นสีแดง เสื้อทอเองสีแดง หรือสีดำ ม่วง ฟ้า น้ำเงิน เขียว

–         ชาวกะเหรี่ยงถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด  แต่เป็นความเชื่อของชุมชนเองมาหลายร้อยปี  ซึ่งมาประจบสอดคล้องเหมือนกับศีล 5 ของพุทธศาสนาได้อย่างบังเอิญ  คือ ไม่ดื่มเหล้า ของมึนเมา ยกเว้นการสูบยาเส้น และหมาก  ,ไม่คบชู้ผิดประเวณีหากทำผิดจะถูกเนรเทศออกจากหมู่บ้าน ไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต(กะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งในหมู่บ้าน ) และการเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่ากินถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาด เช่นหมู เป็ด ไก่ วัว ควาย ,ไม่ลักขโมย ,ไม่พูดโกหก เสียดสี เพ้อเจ้อ

ส่วนฤาษีของเลตองคุ  มีข้อกำหนด และแนวทางปฏิบัติตนดังนี้

  1. องค์ฤาษีจะต้องปฎิบัติตนถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด ไม่มีการครองเรือน  ไม่มีภรรยา ไม่เข้าหมู่บ้าน  แต่ออกไปทำไร่กับลูกศิษย์ได้
  2. องค์ฤาษี สืบทอดต่อโดยลูกศิษย์อาวุโสตามลำดับ ที่สืบทอดกันมา และอาศัยการนิมิตเท่านั้น และเมื่อมีการนิมิต  มีการยอมรับที่สมบูรณ์ก็จะเปลี่ยนจากการห่มขาว ไปห่มเหลือง ปัจจุบันฤาษี องค์ที่ 9 ได้ย้ายออกจากสำนักเข้าไปปฎิบัติธรรมอยู่ในเขตพม่า เนื่องจากฤาษีองค์ที่ 9 กำหนดให้กะเหรี่ยงทั้งหมู่บ้าน  จะต้องกินเจ อย่างเคร่งครัด เกิดความขัดแย้งภายในหมู่บ้าน  เพราะมีชาวกะเหรี่ยงที่ไม่เห็นด้วยบางส่วน  ปัจจุบันจึงได้แต่งตั้งผู้นำฤาษีขึ้นมารักษาการแทน  รอการนิมิตเพื่อเตรียมแต่งตั้งเป็นฤาษีองค์ที่ 10
  3. องค์ฤาษี  ไม่จับเงิน  ถือเป็นของไม่สะอาด แต่ลูกศิษย์รับแทนไว้ได้
  4. องค์ฤาษี  ทานอาหารวันละ 2 มื้อ เช้า และกลางวัน  ส่วนช่วงเข้าพรรษา จะทาน 1 มื้อ เฉพาะตอนค่ำ หลัง 1 ทุ่มไปแล้ว

MAP_resize2

ข้อมูลการเดินทาง

สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าหมู่บ้านเลตองคุ  มีเส้นทาง 3 สายสายที่ 1 จากอุ้มผาง เข้าบ้านเปิ่งเคลิ่ง  ระยะทาง 87 กิโลเมตร แล้วจากบ้านเปิ่งเคลิ่ง  เป็นถนนดินแคบ ลัดเลาะไปตามแนวชายแดน  แต่ยังอยู่ในเขตประเทศไทย  เส้นทางผ่านภูเขาสูงชัน ผ่านลำห้วยและช่องแคบหิน  และจะปิดตายช่วงฤดูฝน ระยะทาง 16 กิโลเมตร

สายที่ 2 เป็นทางที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงนิยมใช้กัน  เป็นถนนหลักและกว้างพอ ให้รถสามารถวิ่งได้  จากเลตองคุ ข้ามแม่น้ำสุริยะ แล้วย้อนเข้าไปทางตะวันตกในเขตแดนพม่า ผ่านด่านพม่า และต้องเสียค่าผ่านทาง 4 ด่าน แล้ววกกลับเข้าทางด่านชายแดนบ้านเปิ่งเคลิ่ง  มีระยะทางใกลกว่าสายที่ 1 แต่สะดวกกว่า

สายที่ 3 เป็นเส้นทางเดินเท้าผ่านป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทางด้านหน่วยฯพุจือ  แล้วต่อเนื่องไปหน่วยฯย่อยเดอลู่ (ปัจจุบันยกเลิกหน่วยไปแล้ว) แล้วออกชายแดนพม่า ข้ามแม่น้ำสุริยะ ตรงหน่วยตชด.แม่น้ำสุริยะ  แล้วเดินเข้าหมู่บ้านเลตองคุได้  หรืออีกเส้นทางเดินเท้าของชาวกระเหรี่ยงหลายหมู่บ้านที่อยู่ในเขต จ.กาญจนบุรี  ผ่าน จ.ตาก ผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยงหลายสิบหมู่บ้าน เข้าสู่บ้านเลตองคุ

ทุกเส้นทางจะต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหาชาวกะเหรี่ยงผู้ชำนาญทาง เป็นคนนำทางให้  เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ผ่านป่าเขาสมบูรณ์ และแนวตะเข็บชายแดนพม่า มีอันตรายรอบด้าน ทั้งจากสัตว์ป่า และชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดน

เจ้าจันทร์แจ่ม เรื่อง/ภาพ

ข้อมูลอ้างอิง :   

ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยง  และพัฒนา  สารคดี  ปีที่ 26  ฉบับที่ 306

เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง  เสกสรรค์  ประเสริฐกุล

 

 

 

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save