สงครามกระบะขับสองยกสูง…THE BATTLE OF 4×2

CHEVROLET COLORADO Z71…2.5 M/T

FORD RANGER HI-RIDER…2.2 M/T

MITSUBISHI TRITON…PLUS…2.4 M/T

NISSAN NP300 NAVARA CALIBRE…2.5 M/T

TOYOTA HILUX REVO…PRERUNNER…2.4 M/T

5 สาว ใส่ส้นสูง เดินโชว์อวดโฉมและทรวดทรงด้วยดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมแสดงคุณสมบัติที่มีติดตัวให้ได้ทัศนา ถ้าสิ่งที่คุณกำลังมองหา คือยานพาหนะที่ใช้งานได้หลากหลายในแบบปิกอัพเพื่อเมือง 5 ทางเลือกนี้ก็คือสิ่งที่คุณต้องตระหนัก เพราะมันช่างยั่วยวนดึงความรู้สึกไปได้คนละแบบ คุณเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสิน หาสิ่งที่โดนใจในการใช้งาน…

5test

รูปแบบรถยนต์อเนกประสงค์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะ SUV,PPV หรือ MPV เท่านั้นทุกวันนี้ PICK UP หรือกระบะจากที่เคยมีวัตถุประสงค์หลักเพียงเพื่อการบรรทุกขนสัมภาระ มันได้ก้าวข้ามเส้นมาสู่การรองรับการใช้งานส่วนบุคคลในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น แต่คุณสมบัติที่เป็นจุดเด่นของประเภทรถที่มีติดตัวพร้อมด้วยคุณสมบัติการพัฒนาที่เพิ่มเติมเข้ามา จึงเกิดความน่าสนใจในแต่ละทางเลือกที่มี ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 5 ทางเลือกที่ได้นำเสนอในคราวนี้ก็เป็นอีกหลายทางเลือกที่มีอยู่ ในประเด็นของผู้ที่ยังหลงใหลการขับขี่แบบที่ต้องใช้อารมณ์ร่วมในการควบคุมซึ่งถือเป็นสเน่ห์ในแบบของรถกระบะเกียร์ธรรมดา

 

EXTERIOR…รูปโฉมติดตัวที่โชว์ให้คนอื่นเห็น

สำหรับการทดสอบครั้งนี้เราได้นำรถกระบะทั้ง 5 แบรนด์ เพื่อดูความแตกต่างของรูปลักษณ์และอุปกรณ์  ความรู้สึกแรกที่เห็น ความโดดเด่นที่สุดต้องยกให้ “ฟอร์ด” ด้วยความสดใหม่ที่สุด แต่มันก็ไม่ได้ข่มไปซะหมด เพราะคนอื่นยังมีจุดเด่นที่สามารถเป็นแม่เหล็กดึงดูดได้เหมือนกัน

เริ่มต้นด้วย โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ผู้ที่ถือครองศักดิ์ศรีเจ้าตลาด แต่เปิดตัวออกมารูปลักษณ์ไม่โดนใจ “ไม่ฉีก” ยังสัมผัสได้ถึงภาพเดิมๆ  ก่อนเปิดตัวหลายคนคาดหวังให้เหมือนกระบะรุ่นใหญ่ของค่ายนี้ฝั่งอเมริกา แต่ออกมายังเหมือนไม่เต็มใจ ไม่ดุ ไม่โดน แต่มีจุดเด่นในยามอยู่ที่มืด เห็นแค่ไฟหน้าแล้วสวย แต่วิ่งกลางวัน เพราะกระจังหน้าทำให้ความสวยงามต่ำลง แต่คันที่เอามาทดสอบเป็นรุ่นเล็ก 2.4G ไฟหน้าที่ว่าสวยทั้งชุด Day-light แบบ LED หายวับไปกับตา ครับ “ฮาโลเจน” ชื่อนี้คุ้นกันดี

พอเหลียวไปดู มิตซูบิชิ ไทรทัน ทำท่าว่าจะดี แต่กระจังหน้าโครเมียมเน้นจนเลอะ ดูโดยรวมเหมือนจะดี ยิ่งดูยิ่งพิเคราะห์ ยิ่งแปลกตา ส่วนสำคัญมาจากเจ้า “โครเมียม” เยอะเกินเหตุ เหมือนกระจังหน้าที่ฮิตในรถกระบะเล็ก ไม่รู้ใครไปกระซิบบอกพวกค่ายรถว่าความหรูต้องเป็นโครเมียม แต่รสนิยมไทยมันเอาต์ไปแล้ว ดูนวนครมาก แต่ยังมีดีที่ชุดไฟหน้าจัด Daylight แบบ LED และไฟหน้าแบบซีนอนมาให้ในทุกรุ่น ไม่ประหยัดจนขาดความหล่อ

ส่วนค่ายนิสสัน ส่งนาวารา ที่ออกขายก่อนเพื่อนมาพักใหญ่ แต่ออปชั่นยังสูงลิ่วได้ เพราะต้องแลกมาด้วยราคาแพงที่สุดในกลุ่ม ไฟหน้าเกือบจะเรียกว่าฟูล LED เหลือแค่ไฟเลี้ยวที่เป็นหลอดไส้ แต่อดคิดไม่ได้ว่าประกันจะคิดกันยังไงยามที่ต้องเปลี่ยน เป็นกระบะคันเดียวที่เรียกได้เต็มปากว่าสายพันธุ์สปอร์ตกับดักเทลหลังหรือ “ตูดเป็ด” ไม่เคยมีใครใส่ในกระบะมาก่อน เอาไว้วางโซดา น้ำแข็ง มีประโยชน์ดี แถมล้อแม็กไซส์ 18 สวยหรูดูดี ส่วนเวลาเปลี่ยนยาง เป็นเรื่องส่วนบุคคล จะแพงจะถูกว่ากันไปตามเงินในกระเป๋า บางคนชอบเพราะไม่ต้องอัพไซส์เพิ่มให้ดูเท่

กลับมาดูกระบะค่ายเชฟโรเลต ที่ออกมาก่อนใครเพื่อน เรียกว่าเป็นพี่คนโตในกลุ่มนี้ ออปชั่นติดตัวภายนอกเลยมีให้น้อยตามยุคนั้น แต่ก็อัพเกรดรูฟแร็คหลังคามาให้เข้ากับยุคนี้ที่เป็นยุคจักรยาน กับไฟท้ายแบบ LED รูปตัวซี ที่คันอื่นไม่มี ล้ำเกินใครในกลุ่มนี้ พร้อมจุดเด่นในเรื่องราคาค่าตัวที่สบายกระเป๋า คนเลือกใช้มากที่สุด ราคาดีสุดเพราะถูก เหมาะกับผู้ที่เน้นใช้งาน

ส่วนคันสุดท้ายที่เปิดตัวล่าสุดก่อนใครเพื่อนในกลุ่มนี้ ดูจะโดดเด่นกว่าทุกคันที่จอดอยู่ ด้วยด้านหน้าใหม่หมดตั้งแต่กระจกหน้าถอดแบบอเมริกันสไตล์ ตระกูล เอฟ-ซีรี่ส์ หน้าตาดุดัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร แต่ขาดออปชั่นอย่าง Daylight หรือไฟหน้าซีนอน ที่สงสัยว่าตกทะเลระหว่างเดินทางมา

สรุป ภาพรวมกระบะบ้านเราดีไซน์แต่ละค่ายก็ขายกันไปแตกต่างกัน แต่ถ้าดูที่ออปชั่น โตโยต้าและนิสสันจะนำเพื่อนในกลุ่ม หลายคนมักบอกดูที่ราคาไว้ก่อน ไปถอยเชฟโรเลตได้เลย ส่วนพวกชอบเดินทางสายกลาง เหลืออยู่อีกสองค่ายที่ไม่ได้พูดถึงนั่นแหละ

CHEVROLET COLORADO Z71…2.5 M/T

CHEVROLET COLORADO 01 CHEVROLET COLORADO 02 CHEVROLET COLORADO 03 CHEVROLET COLORADO 04 CHEVROLET COLORADO 05 CHEVROLET COLORADO 06 CHEVROLET COLORADO 07 CHEVROLET COLORADO 08

FORD RANGER HI-RIDER…2.2 M/T

FORD RANGER 1 FORD RANGER 2 FORD RANGER 3 FORD RANGER 4 FORD RANGER 5 FORD RANGER 6 FORD RANGER 7 FORD RANGER 13

MITSUBISHI TRITON…PLUS…2.4 M/T

MITSUBISHI TRITON 01 MITSUBISHI TRITON 02 MITSUBISHI TRITON 03 MITSUBISHI TRITON 04 MITSUBISHI TRITON 05 MITSUBISHI TRITON 06 MITSUBISHI TRITON 07 MITSUBISHI TRITON 08

NISSAN NP300 NAVARA CALIBRE…2.5 M/T

NISSAN NAVARA 01 NISSAN NAVARA 02 NISSAN NAVARA 03 NISSAN NAVARA 04 NISSAN NAVARA 05 NISSAN NAVARA 06 NISSAN NAVARA 07 NISSAN NAVARA 08

TOYOTA HILUX REVO…PRERUNNER…2.4 M/T

TOYOTA HILUX REVO 01 TOYOTA HILUX REVO 02 TOYOTA HILUX REVO 03 TOYOTA HILUX REVO 04 TOYOTA HILUX REVO 05 TOYOTA HILUX REVO 06 TOYOTA HILUX REVO 07

 

INTERIOR…เปิดประตูดูสเป็กเทียบออปชั่น “อ.ว.ท.ม.”

สิ่งสำคัญที่สุดของคนขับรถก็คือเรื่องการออกแบบภายในรถ ว่าใครชอบสไตล์ไหน? ที่ดูโดดเด่นมีอยู่สองค่าย นิสสันกับโตโยต้า เพราะให้เบาะทำจากวัสดุหุ้มหนัง พร้อมปรับระดับด้วยไฟฟ้า เหมือนรถยนต์นั่งซีดาน อุปกรณ์ออปชั่นต่างๆ ใส่มาให้มากมาย รีโว่ มาแรงแซงใคร ตั้งแต่จอดิสเพลย์กลาง ที่ดีไซน์เหมือนเอาจอไอแพดมาแปะไว้ แทนที่จะฝังเข้าไว้ข้างใน แต่ก็ลบความขัดตาด้วยประโยชน์การใช้งานที่เยอะ ทั้งเครื่องเสียง แผนที่ ฯลฯ  อีกทั้งการจัดวางรายละเอียดของไฟภายในชุดคอนโซล รีโว่ ก็ยังคงให้ความสวยงามในยามค่ำคืนได้ดี ตามติดมาด้วย ฟอร์ด เรนเจอร์ ที่ถึงจะไม่ใช่รุ่น WILDTRACK ก็ยังมีภายในที่สวยขึ้นกว่าตัวเก่าค่อนข้างมาก ส่วนค่ายนิสสัน เอาใจคนมีแก็ดเจ็ต ด้วยชุดต่อไฟ 12 โวลต์  บนแผงคอนโซล ที่มีให้เจ้าเดียว เหนือกว่าทั้ง 4 คันที่เหลือ

สำหรับมิตซูบิชิ ไทรทัน ที่ความเปลี่ยนแปลงดีไซน์ภายในครั้งนี้ ออกแบบมาไม่หวือหวา เหมือนไทรทันตัวที่แล้ว  อาจจะเป็นเพราะหยิบยืมออปชั่นจากอีโคคาร์ร่วมค่ายมาค่อนข้างเยอะ จนทำให้ความรู้สึกเหมือนขับรถเก๋งมากที่สุด มันเป็นธรรมดาที่ต้องประหยัดต้นทุน ในการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ งานนี้ก็เลยได้กุญแจ Keyless มาใช้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่น อ้อ…เกือบลืม Push Start

ถึงแม้รถที่เอามาทดสอบในกลุ่มนี้เป็นเกียร์ธรรรมดา 6 สปีดทั้งหมด แต่มีอยู่ 2 คัน ที่ให้ออปชั่น Cruise Control (ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ) มาให้จากโรงงาน นั่นคือ ฟอร์ด เรนเจอร์, นิสสัน นาวารา ที่ช่วยให้ความสบายเวลาขับทางไกล ใครชอบออปชั่นเยอะ พวกจอ Touch Screen, Navigator, USB Port ปลั๊กไฟบ้าน แอร์แบ็กเยอะๆ แถมเบาะปรับไฟฟ้า “รีโว่” กินขาด ใครชอบสไตล์เก๋งที่ในค่ายมีขายอยู่รุ่นเดียว “ไทรทัน” เลย สำหรับเมืองไทย ความสบายภายในที่โดดเด่นที่สุดของเรื่องระบบปรับอากาศคงไม่มีใครเกิน “นาวาราและรีโว่” เพราะมีแอร์ตอนหลัง ออปชั่นที่รถเก๋งไซส์กลางหลายคันยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ ส่วนเรื่องติพวกที่ใส่แก้วน้ำอยู่กับพื้นนี่ไม่ชอบเลย บริเวณส่วนเบาะหลังของนาวารา ถ้าจะให้คะแนนเรื่องนี้ เชฟโรเลตตกเป็นรองสุด คงไม่คิดว่าที่วางแก้วเป็นเรื่องจำเป็นกระมัง

Car Group 01

มือใหม่รู้จักกันไหม จอ MID- Multi Information Display แสดงข้อมูลการขับขี่ มักจะเลือกที่จำเป็นมาโชว์ให้ผู้ขับรับรู้ อาทิ น้ำมันที่เหลือวิ่งต่อได้กี่กิโลเมตร ขับประหยัดกี่ลิตรต่อร้อยกิโลเมตร เป็นต้น มักจะติดมาให้ที่มาตรวัดหรือแยกออกมาบริเวณกลางคอนโซล ซึ่งในไทรทันไม่มีฟังก์ชันนี้

มาถึงเรื่องฟีลลิ่งความสะดวกสบายในการโดยสาร พูดตรงๆ ว่าจะเอาสบาย ไปซื้อรถเก๋ง ส่วนรถกลุ่มนี้ใครเด้งน้อยคือชนะ งานนี้ไดรเวอร์และผู้โดยสารของเราต่างให้ความเห็นคนละแบบ อย่างคนแรก เชื่อว่า นาวารา หัวข้อนี้สอบผ่านสุด ส่วนอีกคนให้เรนเจอร์เป็นเบอร์หนึ่ง ในทางตรงกันข้าม ไทรทันกระเด้งสุด แต่พอเดาได้ว่าสร้างมาเพื่อบรรทุกหนัก ซึ่งเป็นข้อดีข้อเสียคนละแบบ ด้านทัศนวิสัยการออกแบบคล้ายคลึงกันมาก แต่มีรีโว่กับนาวาราที่มีกล้องมองหลังมาให้ จะมีประโยชน์ดีมาก เพราะกระบะปัจจุบันมีขนาดใหญ่ขึ้น สูงขึ้น บางครั้งการแก้จุดอับก็สำคัญ ส่วนฟอร์ด รถใหม่สุดแต่เป็นรุ่นรองที่เอามาทดสอบ ซึ่งรุ่นที่มีกล้องเป็นรุ่นท็อปก็มี ตัวนี้ได้เป็นเซ็นเซอร์ถอยหลังยังพอช่วยได้ ส่วนแบรนด์ที่เหลือมักให้ออปชั่นนี้กับพวกขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงว่าด้วยเรื่องตำแหน่งพวงมาลัย นาวารา ที่เวลาหมุนเลี้ยวทีไร มือต้องไปโดนแป้นแตรบ่อยครั้ง เรียกว่าอาการ “ลั่น” รถคันข้างๆ มักจะหันหน้ามาหาว่า “มีอะไรครับ”

CHEVROLET COLORADO Z71…2.5 M/T

CHEVROLET COLORADO 09 CHEVROLET COLORADO 10 CHEVROLET COLORADO 11

FORD RANGER HI-RIDER…2.2 M/T

FORD RANGER 9 FORD RANGER 10 FORD RANGER 11 FORD RANGER 8

MITSUBISHI TRITON…PLUS…2.4 M/T

MITSUBISHI TRITON 09 MITSUBISHI TRITON 10 MITSUBISHI TRITON 11

NISSAN NP300 NAVARA CALIBRE…2.5 M/T

NISSAN NAVARA 09 NISSAN NAVARA 10 NISSAN NAVARA 11 NISSAN NAVARA 12

TOYOTA HILUX REVO…PRERUNNER…2.4 M/T

TOYOTA HILUX REVO 08 TOYOTA HILUX REVO 09 TOYOTA HILUX REVO 10 TOYOTA HILUX REVO 11

 

COMPOSITION…เปรียบเทียบส่วนประกอบที่สำคัญภายนอกและภายในสมรรถนะของรถจากขุมพลังที่มี

 

ENGINE…ดีเซล คอมมอนเรล เวอร์ชั่นไหนโดนใจสุด

ยุคนี้ต้อง “คอมมอนเรล” ถ้าไม่ใช่คงเป็นเรื่องแปลก! มือใหม่ฟังไว้ เจ้าคอมมอนเรลคือระบบรางร่วมน้ำมันเชื้อเพลิงแรงดันสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบฉีดน้ำมันในเครื่องยนต์ เมื่อก่อนจะใช้แรงดันจากปั๊มแยกกัน หัวฉีดใคร หัวฉีดมัน ซึ่งระบบนี้จะดีกว่า เพราะสามารถควบคุมแรงดันได้สม่ำเสมอ และสร้างแรงดันได้สูง เป็นที่มาของ “กำลังและความประหยัด” ซึ่งคอมมอนเรลก็มีหลายเวอร์ชั่นที่ถูกพัฒนาออกมาจนถึงยุคนี้ เป็นสาเหตุของจุดขายที่ว่า “แรงด้วย ประหยัดด้วย” ทำได้จริง และไม่ลืมเรื่องมลพิษที่ดีขึ้นด้วย

รถกระบะแต่ละแบรนด์ที่ออกมา ในหนึ่งโมเดลจะมีหลายเครื่องยนต์ให้เลือกทั้งเบนซินและดีเซล ซึ่งในกลุ่มนี้คือรถดีเซลทั้งหมด แต่ดีเซลเองก็มีหลายขนาดเครื่องอีก นี่ยังไม่นับเรื่องเทอร์โบที่มี  VGS กับ VN TURBO ตัวแปรเรื่องนี้ทำให้เราจัดกลุ่มรถจากกายภาพ ในที่นี้คือ ขับสองล้อยกสูง เกียร์ธรรมดา ส่วนค่ายไหนส่งเครื่องรุ่นไหนมาในโมเดลนี้ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2.5 ลิตร ซึ่งที่พอดีเป๊ะคือ เชฟโรเลต กับ นิสสัน ส่วนที่เล็กลงมา บล็อกใหม่ของสองเจ้าใหญ่ โตโยต้ากับมิตซูบิชิ ส่วนที่เล็กสุดในพิกัดนี้กับเครื่อง 2.2 ลิตร จากฟอร์ดนั่นเอง อยากที่ทราบกันดีว่าเป็นแฝดคนละฝากับมาสด้า  ต่อไปเราจะเห็นเครื่องเล็กลงได้รับความนิยม เป็นพัฒนาการจากเรื่องมลพิษ และภาษีรายปีที่ทุกคนต้องจ่าย เครื่อง 2.5 กับ 3.0 ลิตร ต่างกันครึ่งหมื่น ไม่น้อยนะนั่น ใครปล่อยมลพิษพวกคาร์บอนฯ เยอะ ก็ต้องจ่ายค่าพ่นพิษเยอะตามตัว  เรียกว่าเร็วๆ นี้ รถกระบะจะได้รับผลกระทบจากเรื่องภาษี ทำให้คำว่า “คลีนดีเซล” กำลังเป็นเทรนด์การทำตลาดต่อไป

เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ของโคโลราโดและนาวาราออกมาก่อน ตอนนั้นถือว่าเป็นเครื่องที่ทันสมัยสุดในช่วงนั้น โคโลราโดสามารถทำกำลังได้มากถึง 163 แรงม้า กับแรงบิด 380 นิวตันเมตร “สูงที่สุดในตอนนั้น” แต่หมัดเด็ดของเครื่องบล็อกนี้เป็นของนาวาราที่ 163 แรงม้า ในรุ่นธรรมดาทั่วไป แต่คันที่เราเอามาทดสอบเป็นรุ่น VL มีสเป็กเดียวกับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ถูกจับมาเบ่งกล้ามให้มีแรงม้าเยอะที่สุดของรถทุกคันที่นำมาทดสอบ 190 แรงม้า แรงบิดสูงถึง 450 นิวตันเมตร รองลงมาเป็นไทรทัน เครื่องขนาด 2.4 ลิตร ใหม่สุด ที่มาพร้อมเทคโนโลยีวาลว์แปรผัน MIVEC ให้กำลังสูงสุด 181 แรงม้า กับแรงบิด 430 นิวตันเมตร อันดับ 4 คือเครื่องบล็อกใหม่ตระกูล GD ของโตโยต้า ขนาด 2.4 ลิตร ถึงแม้จะไม่ใช้เครื่องไฮไลต์เหมือนรุ่น 2.8 ลิตรที่มีขาย แต่ก็มีแรงม้าพอให้ใช้ถึง 150 แรงม้า กับแรงบิดที่ได้ชุดเทอร์โบแปรผันแบบ VN ให้แรงบิดที่มากถึง 400 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องยนต์ต่ำเพียงแค่ 1,600 รอบเท่านั้น มาถึงขนาดความจุเล็กสุดในกลุ่มนี้ 2.2 ลิตร คอมมอนเรล เทอร์โบ ที่ทางค่ายฟอร์ดซุ่มเอาไปโมฯ ใหม่ เปิดตัวพร้อมการไมเนอร์เชนจ์แรงม้าเพิ่มขึ้นอีก 10 ตัว เป็น 160 แรงม้า พร้อมอัตราการตอบสนองที่แตกต่างจากโฉมแรกอย่างเห็นได้ชัด

Car Group 02

ถกรวม “เครื่องยนต์”  ถ้ามอง “แรงม้า” นาวาราชนะเลิศ มองที่ “แรงบิด” ไว้ใช้บรรทุก นาวาราก็ยังโดดเด่นอยู่  แต่เรื่องของแรงบิดต้องพิจารณารอบเครื่องยนต์ที่สร้างแรงบิดด้วย นาวารามาในรอบที่สูงถึง 2,000 รอบ/นาที ในขณะที่ ฟอร์ดและโตโยต้ากลับมีแรงบิดที่สูงในระดับ 385-400 นิวตันเมตร ที่รอบเครื่องเพียง 1,600 รอบ/นาที ซึ่งในการใช้งานยิ่งมีแรงบิดที่สูงในรอบเครื่องยนต์ต่ำเท่าใด การตอบสนองในการใช้งานยิ่งมีผลดีขึ้นตามไปเท่านั้น อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของรถกระบะ ที่ต้องว่ากันด้วยเรื่องของการบรรทุกเป็นส่วนประกอบสำคัญ

รถกระบะที่มาทำการทดสอบทั้ง 5 คันในครั้งนี้ เป็นรุ่นเกียร์ธรรมดาทั้งหมด ซึ่งให้ออปชั่นเกียร์ 6 สปีดมาทุกค่ายแล้ว จะมีแตกต่างกันก็เรื่องอัตราทดของเกียร์ ที่ในแต่ละค่ายล้วนเซตมาให้แมตช์กับสไตล์เครื่องยนต์ของตนเอง อย่างนาวารา น่าจะเป็นคันเดียวในกลุ่มที่ใช้รอบเครื่องเดินทางที่ความเร็ว 120 กม./ชม. สูงถึง 2,500 รอบ/นาที อันเป็นผลพวงมาจากการทดอัตราเกียร์ตั้งแต่เกียร์ 1 ถึง 6 สูงกว่าคู่แข่ง อาจเป็นเพราะดีไซน์ในการออกแบบที่เน้นตอบสนองงานบรรทุกที่มากกว่าคันอื่นๆ

หันมาพูดถึงความสะดวกในการใช้งานกันบ้าง จากที่เป็นเกียร์ธรรมดาแบบ 6 สปีด เหมือนกัน ด้านตำแหน่งเกียร์ ถอยหลังนั้น จะมีดีไซน์และวิธีการเข้าเกียร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งเรนเจอร์ดูจะเป็นคันที่ใช้งานได้สะดวก คล่องแคล่วที่สุดในการเข้าเกียร์ถอย ด้วยวิธีการเข้าเกียร์ที่ใช้เพียงนิ้วหนีบกระเดื่องยกขึ้นก่อนเข้าคันเกียร์ ช่วยลดความสับสนก่อนเข้าเกียร์ถอยหลังได้มาก วิธีนี้แม่นยำกว่า

“หลังจากได้ทราบรายละเอียดทั้งหมดแล้ว ถึงเวลาสัมผัสสมรรถนะการขับขี่”

การขับขี่ในเมือง…ทั้ง 5 คัน มีบุคลิกที่แตกต่าง ถามว่าใครชอบแนว “จิ๊ดจ๊าด ขับสบาย” รีโว่คะแนนนำ ด้วยการตอบสนองของคลัตช์ไม่หนักไม่เบา…พอเหมาะ แต่ถ้าปล่อยคลัตช์ไม่สัมพันธ์กัน อาการกระชากจะเห็นชัดเจน เกียร์เข้าง่าย น้ำหนักพวงมาลัยบาลานซ์กำลังดี เหมาะสมกับการใช้งานในเมือง แถมด้วยโหมดการขับขี่ที่มีให้เลือกทั้ง ECO & POWER ตรงนี้แหละที่ช่วยตอนเร่งแซงทันใจขึ้น ด้วยการกดปุ่มเลือก Mode ถ้าเน้นประหยัดไปตามสไตล์ไม่หวือหวา เลือกโหมด ECO แต่ถ้าเลือกเข้าโหมด POWER ให้อัตราเร่งที่เร้าใจดี ทั้งนี้รูปแบบการทำงานของระบบนี้ ทันทีที่กด Mode POWER ระบบ ECU ของเครื่องยนต์จะปรับรูปแบบการตอบสนองคันเร่งใหม่ จากการกดคันเร่งน้ำหนักเท่าเดิม แต่เครื่องยนต์จะตอบสนองมากขึ้น เรียกกำลังและสมรรถนะที่รวดเร็วขึ้นตามมา แตกต่างกับ Mode ECO การตอบสนองคันเร่งจากการกดเท่าเดิม แต่กำลังของเครื่องยนต์ตอบสนองช้าลดลง เพื่อเน้นในเรื่องความประหยัด (ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนจังหวะเกียร์ใดๆ เลย เพราะเป็นเกียร์ธรรมดา) อีกคันที่ขับสนุกด้วยอัตราเร่งที่ดีคือนาวารา ให้กำลังมากจนเร้าใจ  แต่เสียเปรียบในเรื่องน้ำหนักคลัตช์และพวงมาลัยที่ดูหนักเกินไป ในการขับขี่ในเมืองที่การจราจรหนาแน่น

CHEVROLET COLORADO Z71…2.5 M/T

CHEVROLET COLORADO 12

FORD RANGER HI-RIDER…2.2 M/T

FORD RANGER 12

MITSUBISHI TRITON…PLUS…2.4 M/T

MITSUBISHI TRITON 12

NISSAN NP300 NAVARA CALIBRE…2.5 M/T

NISSAN NAVARA 13

TOYOTA HILUX REVO…PRERUNNER…2.4 M/T

TOYOTA HILUX REVO 12

การบังคับควบคุมคือตัวตนที่ซ่อนอยู่

HANDLING

เพื่อพูดถึงน้ำหนัก “พวงมาลัย” ไฮไลต์ไม่พ้นเรนเจอร์ พวงมาลัยใช้ไฟฟ้าเป็นตัวควบคุม ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในกระบะที่เอามาทดสอบทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยีพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฟฟ้าชุดนี้ ทำให้ความสามารถในการแปรผันน้ำหนักของพวงมาลัยทำได้แตกต่างมากกว่าระบบเพาเวอร์แบบกลไกแบบเดิม ฟอร์ด เรนเจอร์ มีน้ำหนักพวงมาลัยเบามากในยามที่จอด แบบที่ใช้นิ้วเดียวหมุนพวงมาลัยได้ แต่เมื่อรถเริ่มเคลื่อนที่ น้ำหนักของพวงมาลัยจะกลับมาหนักเหมือนปกติโดยอัตโนมัติ เพื่อคุมฟีลลิ่งการขับขี่ให้เหมาะสม เรื่องนี้นอกจากจะถูกใจบรรดาคุณผู้หญิงที่ใช้รถประเภทนี้ ส่วนคนที่คุ้นเคยกับการขับกระบะมาตลอด อาจมีอาการหลงทิศพวงมาลัยได้ง่าย จากน้ำหนักที่เบามากๆ

ส่วนเชฟโรเลต โคโลราโด ขับในเมืองจะเหนื่อยหน่อย เพราะเกียร์เข้ายาก “ฟิตเหลือเกิน” คลัตช์ก็หนักชนิดที่ว่าเกิดอาการล้า เมื่อเทียบกับคันอื่น แต่ถ้าความเร็วลอยตัวก็สบาย ในขณะที่นาวารา น้ำหนักคลัตช์ไม่แตกต่างจาก โคโลราโด แต่เกียร์เข้าง่ายกว่า

ความคล่องตัวในเมืองเป็นอีกเรื่องที่ชอบคุยกัน ทุกๆ แบรนด์อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่ถ้าพูดถึงวงเลี้ยวต้องยกให้ไทรทันกับเรนเจอร์ ในฐานะที่ให้รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.9 เมตร ในขณะที่ส่วนใหญ่อยู่ที่ 6.2 เมตร อาจจะดูว่าตัวเลขน้อย แต่สัมผัสได้เวลากลับรถในเมืองที่มีช่องทางน้อย หลังจากพิสูจน์มาแล้ว “ปสก.จริง”

Car Group 01

ในขณะเดียวกัน เรามีการจับอัตราความสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิงเกรดเดียวกัน หัวจ่ายเดียวกัน ปั๊มเดียวกัน เป็นตัวแปรควบคุม วิ่งบนเส้นทางเดียวกัน ในสภาพการจราจรเดียวกันรอบกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเร่งด่วนจนถึงช่วงปกติ เพื่อจำลองสถานการณ์การใช้งานทั่วไป ผลปรากฏว่า “ผิดความคาดหมายไว้พอสมควร” เพราะเรนเจอร์มาเป็นอันดับหนึ่ง  “ประหยัดสุด 13.8 กม./ลิตร” ในขณะที่รีโว่มาเป็นอันดับสอง ด้วยค่าเฉลี่ย 13.2 กม./ลิตร ตามมาด้วยไทรทัน 12.9 กม./ลิตร เบียดมาไม่ห่าง ส่วนนาวารา 12.6 กม./ลิตร และโคโลราโด 11.2 กม./ลิตร (เป็นข้อสังเกตว่าเครื่องยนต์ตัวใหม่จะอยู่หัวแถว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเลขแตกต่างกันไม่มาก)

การขับขี่นอกเมือง…ในความหมายทั่วไปคือการใช้วิ่งทางไกล ที่จะได้เห็นสมรรถนะอัตราเร่งแซง ความนุ่มนวล เสียงเครื่องยนต์ การควบคุมรถ และตัวเลขความประหยัด ซึ่งการขับรูปแบบนี้จะเข้าถึงสมรรถนะที่แท้จริง เพื่อดูความโดดเด่นแต่ละคัน เริ่มต้นที่หัวข้อสมรรถนะโดยรวม “ขับสบาย” ขอเทใจให้ไทรทัน ถึงแม้จะเป็นเกียร์ธรรมดาที่ไม่ต้องคอยพะวงในการเปลี่ยนเกียร์บ่อยๆ จากกำลังของเครื่องยนต์ที่มีช่วงใช้งานในรอบที่กว้าง ระบบเบรกที่ไว้ใจได้ ช่วยให้การเดินทางมีความสะดวกสบาย ส่วนจุดที่ไม่ชอบคือช่วงล่างหลัง ถ้าปรับให้นุ่มนวลขึ้นสักนิด น่าจะสบายขึ้น ส่วนการเก็บเสียงทำได้ดีขึ้นจากรุ่นที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด “ขับสนุก” ต้องเป็นของนาวารา เพราะกำลังเครื่องยนต์แรงเหลือเฟือ เร่งเป็นมา ตอบสนองผู้ใช้รถที่ชอบสมรรถนะ แต่ก็แลกมาด้วยอัตราสิ้นเปลืองที่ดุกว่าใครเพื่อน ด้านช่วงล่างให้ความรู้สึกนุ่มหนึบ พวงมาลัยบังคับทิศทางได้แม่นยำ แต่ในงานลุยดูเหมือนจะเป็นรองคนอื่น เพราะความสูงใต้ท้องรถเตี้ยกว่าใครเพื่อน

group test03

ด้านอัตราความสิ้นเปลืองของการเดินทางระหว่างเมือง ด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 100 กม./ชม. เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด หัวข้อนี้รีโว่มาแรงแซงโค้ง ด้วยรอบเครื่องเดินทางที่ความเร็ว 120 กม./ชม. รอบเครื่องที่ต่ำเพียง 1,800 รอบ ต่ำที่สุดในกลุ่มจนได้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 16.0 กม./ลิตร ถัดมากับค่ายฟอร์ด ที่พาเครื่องยนต์ 2.2 ลิตรตัวใหม่ ทำอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 15.77 กม./ลิตร กับความเร็วเดินทาง 120 กม./ชม. ที่ใช้รอบเครื่องเพียงแค่ 2,000 รอบต่อนาที เหมือนกับไทรทันและโคโลราโด โดยที่ไทรทัน ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 14.41 กม./ลิตร และโคโรลาโด อยู่ที่ 13.2 กม./ลิตร ส่วนแชมป์บริโภคน้ำมันมากที่สุดใช้การเดินทางนอกเมืองครั้งนี้ได้แก่ เจ้าของ “รถขับสนุก” นิสสัน นาวารา กับตัวเลข 12.2 กม./ลิตร จากรอบเครื่อง 2,500 รอบต่อนาที ที่ความเร็ว 120 กม./ชม.

Capture

 

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save