สงกรานต์สีที่อินเดีย
เทศกาลสงกรานต์ในแถบเอเชียนั้น ที่รับรู้กันจนกว้างขวางก็คือ ในบ้านเราที่เดี๋ยวนี้พอถนนข้าวสารเป็นที่รับรู้กันของนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า เป็นสงกรานต์ที่สนุกสนานเพียงไร เดี๋ยวนี้แต่ละจังหวัดก็พลอยลอกกันไป เป็นงานสงกรานต์สารพัดข้าว จังหวัดไหนมีอะไรดีก็เอามาต่อชื่อถนนที่เขาจัดงานสงกรานต์ กรุงเทพมีข้าวสาร ที่อื่นก็มี ถนนข้าวเหนียว ถนนข้าวปุ้น ถนนข้าวจี่ ถนนข้าวก่ำ ถนนข้าวเม่า ถนนข้าวตอก ได้ข่าวแว่วๆ ว่าบ้านผมที่เพชรบุรี ทำถนนข้าวแช่กับเขาด้วย
นอกจากบ้านเรา ประเทศที่นับถือศาสนาพุทธก็มักจะมีประเพณีนี้ วัตถุประสงค์ตอนเริ่มแรกก็คล้ายๆ กันทั้งที่ลาว พม่า กัมพูชา ลาว แต่ไหงปี 57 ที่ผ่านมา ได้ข่าวว่าสิงคโปร์จะจัดงานสงกรานต์ซะอย่างงั้น ที่อินเดียต่อกับทางเนปาล เขามีประเพณีคล้ายๆสงกรานต์ในบ้านเรา บ้านเราวันสงกรานต์นี่คือ การใช้น้ำหยด หยอด จนตามมาถึงสาดกัน ที่อินเดียวเขาใช้สีครับ เริ่มตั้งแต่ค่อยๆ แต้มให้กันพอติดสี มาจนถึงขนาดป้าย และสาดใส่กันเหมือนกัน เขาเรียกว่าเป็นเทศกาลโฮลี่ Holy ที่แปลว่าศักดิ์สิทธิ์ นี่แหละ จะเรียกว่าเป็นเทศกาลของการป้ายสีหรือสาดสีก็ไม่น่าจะผิด
ปีที่ผมไปเห็นมา เขาจัดวันที่ 27-28 มีนาคม 2556 เรียกว่าเป็นงานหลักๆ แต่บางพื้นที่ก็เล่นเลยเถิด ลามไปจนถึงวันที่ 30 ก็มี ซึ่งงานเขาในแต่ละปีก็ไม่ตรงกัน เข้าใจว่าคงมีการนับวันจัดงานที่ไม่ใช่ทางสุริยคติ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงต่อฤดูกาลระหว่างการสิ้นสุดหน้าหนาวจะเข้าหน้าแล้ง(ราวปลายเดือนมีนาคม) เป็นประเพณีของคนที่นับถือฮินดูเขา จะว่าเป็นการเฉลิมฉลองหรือจะว่าเป็นปีใหม่ในทางศาสนาเขาเลยก็ว่าได้ เส้นทางที่ผมเดินทางไปทั้งในอินเดีย และเนปาล ( บางครั้งในปากีสถานบางเมืองที่นับถือฮินดู ก็มีการเฉลิมฉลองนี่เช่นกัน) กำลังเข้าสู่เทศกาลโฮลี่พอดี ผมไปถึงเมืองเสาโนรี ของอินเดีย กำลังจะข้าไปเมืองสิดดานาทากา ของเนปาล ก็เป็นช่วงที่ฮินดูสองประเทศนี้ทั้งสองเมืองนี้กำลังสนุกสนานไปด้วยสงกรานต์สีอย่างพอดิบพอดี
ที่ผมบอกว่าเหมือนวันสงกรานต์ก็คือ เขาจะมีขบวนแห่เทพเข้าใส่เสลี่ยงไปรอบๆ เมืองก่อน มีเครื่องดนตรี ตีนำหน้าขบวน ถ้าเป็นบ้านเราก็คงเป็นกลองยาว แตรวงมีคนรำเชิ้บๆนำหน้าไป แต่ที่นั่นเหมือนไม่เห็นคนรำ พอสายๆ สักหน่อย สงครามสีก็จะเริ่มขึ้นละ ตามหน้าบ้านก็จะมีวงนั่งดื่ม-กิน(ซึ่งไม่รู้ว่าดื่มอะไร)กันหน้าบ้าน แล้วก็เอาสีป้ายใส่กัน ใครผ่านไปผ่านมาก็เอาสีป้าย ที่สนุกหน่อยก็เอาขึ้นไปบนบนบ้าน สาดน้ำสีลงมาก็มี สีที่ป้ายใส่กันก็มีทั้งสีเขียว สีแดง สีม่วง สีเหลือง เขียว สีโทนสดๆ เอามาใช้ได้หมด จนถึงขนาดตั้งด่านขวางถนนรถยนต์ผ่านไปผ่านมาก็จะต้องถูกป้ายสีใส่ ไม่ก็ต้องบริจาค รถมอเตอร์ไซค์อะไรผ่านไปนี่ไม่มีรอด สีที่ป้ายได้ก็ป้าย สีที่เป็นฝุ่น เป็นผงพวกก็เอาซัด ปาใส่กัน แล้วคนอีนเดียที่ตัวดำๆ มีหนวด หน้าโหดๆๆ เวลาใบหน้ามีสารพัดสีที่เลอะเทอะอยู่บนหน้านี่ อย่าได้เห็นตอนกลางคืนเด็ดขาด สยองเชียวละ
แล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เขาทำไปทำไมกัน แล้วทำไมถึงต้องเป็นสี จนมาหาข้อมูลจึงพอได้ความมาว่า มันมีเรื่องในตำนานของฮินดูว่ามีอสูรตัวหนึ่ง อสูรตนนี้ได้รับพรจากพระพรหม ให้เป็นอมตะ ไม่มีใครฆ่าตายได้ พออสูรรู้ตัวแบบนี้ก็เหลิง ไม่กลัวใคร ทำอะไรก็ได้ ไม่ตายนี่นา ใครๆ ก็ต้องมาซูฮกพินอบพิเทา ต้องมาบูชาตน แต่ลูกของอสูรเองกลับไปบูชาพระวิษณุ แทนที่จะบูชาพ่อตน อสูรก็โกรธ ด้วยความเหลิง หลงตนเอง ก็เลยคิดฆ่าลูกที่ไม่บูชาตน ครั้นจะฆ่าเองก็เกรงเขาจะครหา บังเอิญอสูรตัวนี้มีน้องสาวชื่อ Holica ที่ได้รับพรวิเศษว่าไฟไม่อาจทำร้ายเธอได้ เจ้าอสูรนั่นเลยให้น้องสาวหลอกลูกชายให้เข้ากองไฟไปด้วยกัน ซึ่งผมก็สงสัยว่า เจ้าลูกชายนี่ก็เซ่อบรมเซ่อ เขาหลอกไปตาย หลอกเข้ากองไฟก็เชื่อไปหมด ปรากฏว่านาง Holica ที่คิดไม่ดี กลับถูกไฟเผาตายแต่ลูกชายอสูรรอด ซึ่งเหมือนเขาจะสอนว่าผู้ใดยึดมั่นบูชาความดีก็จะอยู่รอดปลอดภัย ใครหลงใหลยกย่องบูชาคนเลวก็จะต้องพบความหายนะอะไรประมาณนี้แหละ ชื่อ Holy จึงมาจากชื่อของนาง Holica ที่มีแผนชั่วต้องการทำลายความดี งานเทศกาลเขาจึงมักเริ่มด้วยการจุดกองไฟเพื่อเผาปีศาจให้ตายก่อนแล้วจึงเล่น สาดสี ป้ายสีกัน
สีที่ป้ายกันนั้นจะเป็นสีที่ทำจากสมุนไพร ถ้าใครเดินทางไปอินเดียหรือเนปาลในช่วงนี้ ตามตลาด ข้างทาง จะเห็นกองสีเหล่านี้ เอามาวางขายกันตามพื้น ตามร้านเต็มไปหมด เหมือนจะบอกว่า เทศกาลวันโฮลี่ ใกล้จะมาแล้ว เหมือนบ้านเรามีเสื้อลายดอก มีปืนฉีดน้ำมาวางขาย แน่นอน สงกรานต์จะมาถึงแล้ว
ในช่วงนี้ ไปเมืองไหนในอินเดีย ก็เห็นแต่คนที่เลอะเทอะไปด้วยสี หน้าตามอมแมมบางที่ผมว่านะจะมีดื่มเหล้าด้วยนะ เห็นตามชนบทมีเป็นกลุ่มๆ เอาเชือกมากั้นถนน ขอบริจาคอย่างที่บอกไป แต่ไม่รู้ว่าเลยเถิดจนถึงขนาดตีกันเหมือนสงกรานต์บ้านเราหรือเปล่า แต่เท่าที่ไปเห็นมานั้นมันไม่น่าพิศมัยเอาซะเลย ผมว่าออกจะเลอะเทอะไปหน่อย แต่อย่างว่าแหละครับว่า เริ่มต้นไม่ใช่การเอาสนุกสนาน หากแต่เป็นความเชื่อทางศาสนา การละเล่นเฮฮาแค่ตามมาทีหลัง
ไปเห็นที่อินเดีย เนปาล มีสงครามสี มาบ้านเรามีสงครามน้ำ ผมว่าเหล่านี้ดูสร้างสรรค์ดี ไม่มีใครตาย(อย่างน้อยก็ตอนที่เล่น) แต่สงครามจริงๆ ที่สาดกระสุนใส่กันนั้นนอกจากจะไม่สร้างสรรค์แล้วยังเป็นการทำลายด้วย ไม่รู้ว่าสงครามที่สร้างความรัก ความเชื่อ ความศรัทธาเป็นเช่นไรให้ไปที่อินเดียว แต่ถ้าอยากชุ่มฉ่ำเย็นทรวงก็ต้องมาที่ไทย รับรองไม่มีใครตาย มีแต่ความรื่นรมย์…
……………………………………
ขอขอบคุณ บ.ควอลิตี้เอกเพลสผู้ชำนาญการเดินทางออกท่องโลกอย่างเข้าถึงจริงๆ www.qetour.com โทร.02-511-3000
เรียบเรียงข้อมูลโดย นิตยสาร ออฟโรด : www.grandprix.co.th/offroadmagazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ไดที่ www.grandprix.co.th
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.