ลุยน้ำท่วมแล้วไง…ต้องดูแลรถอย่างไร
”น้ำท่วม” ปีนี้ ต้องบอกว่า “ใต้ระทม” จริงๆ เพราะโดนกันไปถ้วนหน้าทุกจังหวัด มีทั้งมากและน้อย บางพื้นที่เจอซ้ำซาก ครั้งแล้วครั้งเล่า นานนับเดือน
ที่ผ่านมานั้น มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ควรได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาทำหน้าที่ปิดทองหลังพระ นั่นก็คือ ชาวออฟโรดในพื้นที่และชาวออฟโรดจิตอาสาทุกคน ที่ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือชาวบ้านโดยตรง โดยอาศัยเจ้าล้อโตบุกตะลุยเข้าไปในพื้นที่ที่เดือดร้อน
บรรดากลุ่มออฟโรดบอกตามตรงไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไรนัก เพราะส่วนใหญ่จะรู้กันดีอยู่แล้วว่า ต้องทำอย่างไร ซีลตรงไหน ไม่ให้น้ำเข้า หรือหลังผ่านการลุยน้ำแล้วต้องทำอย่างไร แต่สำหรับผู้ใช้รถทั่วๆ ไป บางคนก็ยังไม่ทราบ วันนี้เราก็เลยนำวิธีการดูแลรถคัรเก่งเบื้องต้นมาฝากทุกท่าน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหนักและใช้งานได้อย่างต่อเนื่องต่อไป…
ถ้าจะไล่ขั้นตอนของการบำรุงรักษาโดยลงรายละเอียดให้ครอบคลุมทั้งหมด ดูเหมือนว่ามันจะกว้างเกินไปหน่อย ค่าใช้จ่ายก็สูงตาม และใช้ระยะเวลาที่มากในการปฏิบัติจริง ดังนั้ยนควรกำหนดหลักที่จะทำการดูแลบำรักษาด้วยความจำเป็นอันไหนก่อนอันไหนหลัง ง่ายๆ เลยก็ให้ยึดระดับน้ำ ความแรงของน้ำและระยะเวลาที่รถอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เป็นอันดับแรก
การดูแลรักษาจะใช้วิธีการนี้กับรถที่ลุยมาไม่หนักมากนัก หรือเสียหายจนถึงขนาดที่ว่าท่วมแบบมิดหลังคา หรือไม่ก็น้ำลึกแต่ยังไม่เข้าเครื่องยนต์จนทำให้เครื่องยนต์ดับ
ที่ต้องแบ่งหรือแยกคร่าวๆ ก็เพราะว่า ความเสียหายมันต่างกัน ถ้ารถที่ขับขี่ลุยน้ำมาแล้วเครื่องยนต์ดับนั่นแปลว่า งานเข้าต้องแก้ไขที่เครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า ตรงนั้นจำเป็นต้องใช้ขั้นตอนแก้ไขที่ซับซ้อนมากกว่า ส่วนรถที่น้ำยังไม่เข้าเครื่อง ถูกน้ำท่วม ขับผ่านน้ำท่วม สิ่งที่ต้องทำคือ การเปลี่ยนถ่ายของเหลวในอุปกรณ์ชิ้นส่วนหลัก ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเครื่องยนต์ น้ำมันเกียร์ น้ำมันชุดเฟืองท้าย นั่นคือ สิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ต้องทำเป็นอันดับแรก แต่ถ้าแค่ขับผ่านไปแบบฉิวๆ เล็กๆ น้อยๆ อันนี้ก็คงไม่ต้องเปลี่ยนนะครับ ส่วนใหญ่จะเจอกับรถที่แช่นานๆ ยิ่งจอดในน้ำนานๆ เฟืองท้ายจะถูกน้ำเข้าไปก่อนเป็นอันดับแรกๆ แม้บางตันจะต่อท่อหายใจช่วยก็ไม่ได้รับการยกเว้นนะครับ แต่อาจจะเข้าไปได้น้อยกว่า
ถ้าคิดว่าลุยมานาน ลุยหนัก จากนั้นลองมาประเมิน “งบประมาณ” ถ้ายังไหวให้ทำการตรวจเช็คชิ้นส่วนของระบบช่วงล่างซึ่งผ่านการแช่น้ำมา ให้ทำการล้างอัดฉีดทำความสะอาด หล่อลื่นในจุดที่สมควรด้วยชนิดและสารหล่อลื่นที่เหมาะสม ตรวจเช็คความหลวมคลอน ซึ่งต้องรีบทำทันทีเมื่อมีโอกาส เพราะเมื่อมันผ่านระดับน้ำที่สูงจนท่วมระบบช่วงล่างมาโอกาสที่จะทำให้สารหล่อลื่นเดิมเสื่อมคุณภาพ และเกิดเสียงดัง สึกหรอจากการเสียดสี และจะทำให้เกิดเสียหายอย่างรวดเร็วถ้าปล่อยทิ้งไว้ ที่สำคัญ ชุดดุมล้อ ลูกปืนล้อ ถ้าถอดออกมาตรวจสอบได้จะเป็นการดีมาก อาจจะทำความสะอาดอัดจาระบีใหม่เพื่อความมั่นใจ
ระบบเบรก ก็ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาดนะครับ ควรทำความสะอาดชุดคาร์ลิปเปอร์ ชุดจานเบรก ผ้าเบรก ตรวจเช็คให้แน่ใจว่า ผ้าเบรกกับชุดยึดติดแน่นดีหรือไม่ ผ้าเบรกเสียงดังหรือยังมีการจับตัวได้เหมาะสมหรือไม่ถ้าไม่สมควรจะเปลี่ยนใหม่
ส่วนประกอบของระบบการทำงานอื่นๆ ไส้กรองอากาศ สายไฟขั้วไฟ ท่อหายใจในจุดต่างๆ ลูกรอกสายพานเครื่องยนต์เหล่านี้ค่อยๆ ทำการเร่งระยะเวลาในการใช้งานให้ลดลงมา เพื่อเฉลี่ยเวลาในการเปลี่ยนออกไปได้ตามความเหมาะสม จะได้ไม่เป็นภาระใหญ่ในคราวเดียว และอีกอย่างที่ควรทำคือ การถอดพรมภายในรถออกมาซักตากแดด ถึงจะไม่มีน้ำเข้ามาในห้องโดยสารให้เห็น แต่น้ำมันอาจจะซึมซับขึ้นมาจากด้านใต้รถ เพื่อป้องกันกลิ่นและความเสียหายจากสนิมหรือการช็อตในระบบสายไฟที่เดินอยู่ตามตัวรถ
ย้อนกลับไปที่รถซึ่งได้รับผลกระทบมากเช่น การท่วมทั้งคันและแช่อยู่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน ตรงนั้นควรชั่งใจถึงการฟื้นฟูสภาพกับสิ่งที่จะได้กลับมาว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะสุดท้ายเราจะต้องดูแลมันตลอดไป
รถทั่วไปหรือแม้แต่รถออฟโรดที่ออกแบบมาให้ลุยน้ำได้ แต่ไม่ได้สร้างมาให้แช่อยู่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำที่มาติดอยู่ตามตัวรถจะส่งผลให้เกิดผลที่ตามมาในระยะยาว ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงหรือทำการบำรุงรักษาทันที ที่ผ่านการใช้งานในบริเวณพื้นที่น้ำท่วมขัง…
กองบรรณาธิการ เรื่อง/กองบรรณาธิการ,ชาวออฟโรดจิตอาสา ภาพ
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.