ริมฝั่งคงคาที่พาราณสี

อินเดีย ยังคงเป็นความประทับใจที่อยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังบ่อยๆ  ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะบรรดาชื่อเมืองต่างๆ  มักจะคุ้นหู โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ที่เราถูกสอนมาแต่เด็กๆ ในเรื่องของศีลธรรม (ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้วิชานี้จะยังอยู่หรือเปล่า) พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกที่ป่าอีสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสีชื่อนี้จึงคุ้นหูมาตลอด แล้วจริงๆ พาราณสีคือ อะไรกันละ

เมืองพาราณสี ที่เวลาเขียนเป็นภาษาอังกฤษจะเป็น Varanasi จริงๆ แล้วเป็นเพียงอำเภอครับ อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ที่อยู่ทางตอนเหนือๆ ของประเทศอินเดีย เมืองนี้จริงๆ มีมานานมากราวๆ 4,000 ปีมาแล้ว ก่อนที่ศาสนาพุทธจะกำเนิดขึ้นมาบนโลกว่างั้นเถอะ เดิมนั้นเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของแคว้นกาสี ในอินเดียโบราณ มาในปัจจุบันแม้พาราณสีไม่ได้เป็นเมืองหลวงของแคว้น (เพราะลักเนาว์ ( lucknow) เป็นเมืองหลวงของอุตรประเทศ ) แต่พาราณาสีก็ยังเป็นเมืองใหญ่ในอุตตรประเทศจนไม่น่าจะเป็นเพียงแค่อำเภอ  มีประชากรเป็นล้านๆคนประกอบกับเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ  เพราะเหตุนี้เมืองนี้ถึงมีสนามบิน ไม่เหมือนบ้านเรา มีสนามบินเพียงเพราะนักการเมืองในจังหวัดนั้น แค่อยากหาเสียง จังหวัดเล็กจังหวัดน้อยเสนอทำสนามบินหมด ทำแล้วก็ไม่มีคนมา สายการบินก็เจ๊ง เลิกบินสนามก็ปล่อยรกเป็นที่เลี้ยงวัวไป  แล้วก็เสียเงินค่า เจ้าหน้าที่ ค่าดูแลรักษา ไร้สาระสิ้นดี

เมืองนี้ก็เหมือนเมืองในอินเดียหลายๆ เมือง ที่ในตัวเมืองก็มีแต่ความจ๊อกแจ๊กจอแจ สับสนวุ่นวาย ของทั้งคน ทั้งรถ กลุ่มคนจนในวรรณะจัณฑาล ทำเป็นเพิงเล็กๆ อาศัยอยู่ริมทางรถไฟ  วัวเดินในเมืองอย่างอิสระเสรี  จะถ่ายมูลตรงไหน นอนตรงไหน หรือรื้อถังขยะยังไงก็ไม่มีใครว่าหรือมาทำอะไร  แล้วอย่าได้ไปตี ไปจับมันเชียว มันดุครับ จะขวิดเอา ผมเจอมาแล้วเอามือแตะหลังมันนิดเดียว หันมาขวิดเลย  ความที่ไม่มีใครไปทำอะไร วัวเลยไม่ได้ฝึกฝนเหมือนบ้านเรา

เมืองนี้ชาวฮินดูถือเป็นเมืองสำคัญที่มีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน แม่น้ำคงคานี้ ชาวฮินดู ถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์โดยมีจุดกำเนิดมาจากแม่น้ำภาคีรธี (Bhagirathi) ที่ไหลมาจากธารน้ำแข็งกังโกตรี (Gangotri) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ในรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) เรียกว่าเป็นแม่น้ำที่มีที่มาจากน้ำแข็งละลายสายหนึ่ง แล้วไหลมาเชื่อมกับแม่น้ำอลักนันทา (Alaknanda) ใกล้ๆ เมืองดีโอปรายัก (Deoprayag) ตั้งแต่นั้นจึงเรียกแม่น้ำคงคา แล้วไหลผ่านพื้นที่ทางตอนเหนือของอินเดียเข้าบังคลาเทศ แล้วไปลงทะเลที่อ่าวเบงกอล เหมือนกับแม่น้ำสาละวินก็ลงที่อ่าวเดียวกันนี้ แม่น้ำนี้เป็นหนึ่งในแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวถึง 2,510 กิโลเมตร (1,560 ไมล์) ลึกโดยเฉลี่ยราว 52 ฟุต (16 เมตร) ส่วนที่ลึกสุดนั้นประมาณ 100 ฟุต (30 เมตร)  อินเดียยังถือเอาแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำประจำชาติอีกด้วย

ในเวบไซค์ของประเทศอินเดีย ( www.indiaindream.com) เล่าถึงความเชื่อศรัทธาของคนฮินดูต่อแม่น้ำนี้ว่า “…มีตำนานทางศาสนาเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำคงคาคือ พระเจ้าสักระ (Sagara) ผู้ทรงมีพระโอรสถึง 60,000 พระองค์ และถูกสังหารสิ้นโดย บัณฑิตกปิละ (Kapila) วิญญาณของพระโอรสต่างๆ ถูกลงโทษให้ท่องไปในโลกตลอดกาล จนกว่าพระแม่คงคาจะเสด็จจากสวรรค์มายังโลกมนุษย์ มาชำระบาปและปลดปล่อยพวกเขาจากคำสาปนั้น และอันเนื่องมาจากการกระทำทุกข์กิริยาเพื่อไถ่บาปให้ของกษัตริย์อีกพระองค์ พระเจ้าภครถี (Bhagarathi) พระแม่คงคาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์ ผ่านมุ่นมวยผมของพระศิวะ จากยอดเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะแห่งหิมาลัยเร่งรุดสู่ทะเล และน้ำศักดิ์สิทธิ์ของพระนางก็ได้ชำระล้างบาปให้แก่ดวงพระวิญญาณของโอรสแห่งกษัตริย์สักระ 60,000 พระองค์ และส่งพระโอรสเหล่านั้นไปสู่สรวงสวรรค์

ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อกันว่าพระแม่คงคานั้นมีอำนาจในการปลดปล่อย ทำให้บริสุทธิ์ และเยียวยา การโปรยเถ้าถ่านของมนุษย์ไปในแม่น้ำคงคาเชื่อกันว่าจะนำไปสู่สรวงสรรค์ชั่วนิรันดร์ ในทุกวันจึงมีผู้คนจำนวนมากมาชุมนุมกันอย่างคับคั่งที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เพื่อทำการสักการะบูชาและล้างบาป สำหรับชาวฮินดู แม่น้ำคงคา คือ พระแม่คงคา ประดุจมารดาที่เลี้ยงดูอุ้มชูลูกๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตวิญญาณ การดื่มน้ำจากแม่น้ำคงคาเสมือนการดื่มน้ำนมจากอกมารดา รวมทั้งทารกจะถูกนำมาทำพิธีล้างบาปในแม่น้ำ เพราะพวกเขาเชื่อว่าแม่น้ำคงคาจะช่วยชำระล้างจิตวิญญาณ…

แล้วที่นักท่องเที่ยวมาที่เมืองนี้ก็เพราะแบบนี้นี่เอง  คือ มีความกังขากันว่า สภาพของแม่น้ำคงคาที่ไหลผ่านพื้นที่มามากมาย บางเมืองก็มีโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานทอผ้า อยู่ริมฝั่งน้ำ ซึ่งไม่รู้ว่ามีแอบทิ้งน้ำเสียลงมาบ้างหรือเปล่า แล้วไหนนะน้ำเสีย สิ่งปฏิกูล รวมทั้งเถ้าจากการเผาศพริมแม่น้ำ และบางครั้งศพที่ยังไหม้ไม่หมดก็จะถูกทิ้งลงน้ำเช่นกัน แม่น้ำคงคาที่เห็นจึงเป็นสีออกดำๆ หน่อย  มีฟองด้วย แต่มีการบอกเล่าว่า มีการนำน้ำจากแม่น้ำคงคาไปตรวจดูเชื้อโรค แล้วไม่พบความสกปรกหรือเชื้อโรคใดๆ  อันนี้ ฟังหูไว้หูนะครับ เพราะอาจจะค้านกับสายตาเราที่เห็นสภาพแม่น้ำคงคาก็ได้ รวมทั้งหน่วยงานไหนเป็นคนมาตรวจ วิธีการตรวจคือ อะไร ก็ไม่รู้รายละเอียด ไม่มีการยืนยันเช่นกัน(หรืออาจมีแล้วแต่ผมไม่รู้)

ใครไปพาราณสี ก็มักจะต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อเดินทางไปที่ท่าน้ำ (ที่ผมลืมชื่อไปแล้ว แต่ท่าที่อยู่ใกล้ๆกันเป็นท่าที่เขาเผาศพนั่นเรียกว่า ท่ามณีกรรณิการ์ ถ้าผิดก็ขออภัยนะครับ) การเดินไปในท่าน้ำแต่เช้ามืดนี่ต้องเสี่ยงเพราะมูลวัวเอย วัวบ้าง คนจรจัดมานอนบ้าง ซ้ำไฟก็ไม่ค่อยสว่าง อาจไปเหยียบเขาได้ การอาบน้ำคงคาเขาเริ่มแต่เช้ามืดแล้วก็เรื่อยไปจนสาย นักท่องเที่ยวที่ไปก็มักนิยมไปล่องเรือดูพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งแม่น้ำนี้กว้างมากเหมือนทะเลกลายๆ ชาวฮินดูมาอาบน้ำ ดื่มน้ำกันหนาตา เหตุผลก็อย่างที่บอกไปแต่ต้น  และการล่องไปดูการเผาศพที่ริมน้ำ ซึ่งมีการเผาแบบนี้มาแต่โบราณ ใครใกล้ตายญาติพี่น้องก็จะพามาอยู่โรงแรมใกล้ๆ พอตายก็เอามาเผาเลย แล้วกวาดเถ้าลงแม่น้ำบางศพไหม้ไม่หมดฟืนหมดก่อน  ก็ทิ้งศพที่เหลือลงน้ำทั้งแบบนั้น แม้อาคารบ้านเรือนริมน้ำคงคาจะดูสวยและคลาสสิค แต่ให้ไปค้าง ก็คงไม่เอา ยิ่งอาคารแถวๆ ย่านที่เขาเผาศพ เขม่าควันติดอาคารดำไปหมด

การที่เราได้มาเห็นประเพณีความเชื่อของคนที่เชื่อต่างจากเรา  ก็คงต้องดูด้วยความเคารพ การที่ยอมรับในความเชื่อคนอื่นที่ต่างกัน จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข การมาดูแม่น้ำคงคาที่พาราณสี จึงได้ทั้งข้อปลดปลงและเปิดโลกทัศน์ในการออกท่องโลกกว้างต่อไป…..

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save