เตรียมตัวออกไปแคมป์ปิ้งกัน!

นานแล้วนะ ที่ไม่ได้ออกไปแคมป์ปิ้ง นับแต่แต่วันที่โควิด-19 กลับมาระบาดระรอกใหม่ ก็ไม่มีใครได้ออกไปไหนเท่าไหร่ ส่วนปีก่อนที่ยังพอเดินทางไปเที่ยวในไทยได้บ้าง

หลายคนหันมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวเป็นการออกไปแคมป์ปิ้ง จากที่เคยนอนโรงแรมหรู อยู่สบาย วันนี้การแคมป์ปิ้งได้กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนที่เคยมีโอกาสได้ไปสัมผัสต่างหลงใหลในเสน่ห์ของมันจนถอนตัวไม่ขึ้น

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดดในประเทศไทย หลายคนที่ได้ลองออกไปใช้ชีวิตในรูปแบบนี้ ต่างหลงเสน่ห์การนอนกลางดินกินกลางทรายอย่างมาก สิ่งที่ได้จากการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง และได้พาร่างกายไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ไม่ว่าเงินมากเท่าไหร่ก็หาซื้อมาไม่ได้

การแคมป์ปิ้งเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัย ค.ศ.1869 โดยเฉพาะฝั่งอเมริกา ผู้คนที่นั่นเริ่มหันมาชื่นชมความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และความงามของพืชพันธุ์สัตว์ป่าต่าง ๆ จนกลายมาเป็นการสร้างรากฐานในการดูแลทรัพยากรที่ดี ทำให้อเมริกาในปัจจุบัน เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่อง Recreation Camping เป็นอย่างมาก จนกระทั่งปัจจุบัน การแคมป์ปิ้งได้กลายมาเป็นที่นิยมอย่างมาก เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็ในบ้านเราในช่วงสองปีมานี้

มีคนกล่าวว่าเทรนด์การใช้ชีวิตกลางแจ้งไม่ได้เปลี่ยนไป สิ่งที่เปลี่ยนคือการใช้ชีวิตของคนไทยมากกว่า ดังนั้นเราจึงอยากพาทุกคนมาทำความเข้าใจ ก่อนที่จะออกเดินทางไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงกฎระเบียบที่ถูกต้อง และสิ่งที่ควรปฏิบัติตามกฏหลักสากลที่กลุ่มแคมป์ปิ้งที่มักเดินทางเข้าไปในป่า หรือในทุกสถานที่นั้น ควรปฏิบัติอย่างไร

 

Leave No Trace Principles

สำหรับข้อควรปฏิบัติในการเดินป่า ขณะที่คุณออกไปแคมป์ปิ้ง ซึ่งเป็นกฎสากลสำหรับนักเดินป่า หรือ Leave No Trace Principles ที่นักท่องเที่ยวอย่างเราควรต้องศึกษา และปฏิบัติตามอย่างจริงจัง เพื่อถนอม และรักษาธรรมชาติให้คงอยู่กับเราไปนานที่สุด

โดยข้อควรปฏิบัติที่ว่านี้สามารถแบ่งเป็น 7 ข้อ ซึ่งนักเดินป่าชาวอเมริกัน ออสเตรเลีย แคนาดา และอื่นๆ อีกหลายประเทศ ที่ได้ฝึกการใช้ชีวิตในธรรมชาติจะรู้จักหลักการนี้ดีเพราะถูกสอนให้ตระหนักรับรู้กันมานานแล้ว หลักการเดินทางแบบไม่ทิ้งร่องรอยไว้ (Leave No Trace Principles, LNTP) หากทำตามได้จะทำให้การเดินทางของเรานั้นรบกวนต้นไม้ สัตว์ป่า สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติน้อยมาก หลักการนี้ทำให้เราเดินป่ากันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและเห็นใจผู้ร่วมทางคนอื่น ได้มิตรภาพดีๆ ระหว่างทางอย่างเหลือเฟือ

  1. วางแผนและเตรียมตัวการเดินทางให้เหมาะสมพื่อลดผลกระทบต่อธรรมชาติ (Plan ahead and prepare)

เริ่มต้นจากวางเป้าหมายของการเดินทาง จะเดินทางไปไหน ใช้เส้นทางไหน เวลาการเดินทางเท่าไหร่จากนั้นรวบรวมข้อมูลสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ อุปสรรคตามฤดูกาลก่อนออกเดินทาง นัดแนะวิธีสื่อสารกันเองภายในกลุ่มเพื่อนให้เข้าใจ คอยสังเกตเพื่อนในกลุ่มว่ามีใครหลุดหลงไปบ้างหรือเปล่า ตามกันทันไหม จะได้ไม่ต้องหักกิ่งไม้เพื่อทำลายธรรมชาติ สิ่งสำคัญที่นักเดินทางจะลืมเสียไม่ได้คือมีความรู้เกี่ยวกับการเดินป่า วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อย่าลืมเตรียมเสื้อผ้า อุปกรณ์ อาหารให้พร้อมและเพียงพอ

ต่อมาก็ประเมินความสามาถตัวเองให้ดี เลือกเส้นทางที่เหมาะ สมกับสภาพร่างกายของของเรา เช่น ทางไม่ไกลหรือชันจนเกินไป วางแผนแบ่งระยะทางเดินต่อวันให้เหมาะสมจะได้ไม่เหนื่อยเกินไป พักให้เต็มที่ในแต่ละวัน ถ้ามีใครในกลุ่มบาดเจ็บหรือประเมินแล้วอาจเกิดอันตรายถ้าเดินทางต่อก็อย่าดันทุรัง ตัดใจหันหลังกลับ คิดเสียว่าหากยังมีลมหายใจอยู่เรายังมาใหม่ได้ ธรรมชาติไม่หายไปไหน ยังอยู่ที่เดิม หากทำตามนี้ได้ครบ ถือว่าถูกตามหลักการเดินทางแบบไม่ทิ้งร่องรอยในธรรมชาติ

  1. กางเต้นท์และแค้มป์บนพื้นที่ทนทานไม่เสียหายได้ง่าย (Travel and camp on durable surfaces)

หากถามว่าเท้าของเราที่เหยียบย่ำไปมีผลอะไรกับป่าหรือธรรมชาติบ้าง คำตอบก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเหยียบย่ำไปบนอะไร ลองนึกภาพความแตกต่างระหว่างเดินริมลำธารไปตามเป็นหินก้อนใหญ่ๆแข็งแรงกับเดินไปบนพื้นป่าที่มีใบไม้ทับถมกัน มีมอสหรือไลเคนนุ่มๆเติบโตคลุมอยู่อย่างสวยงาม (กรณีไปเดินป่าเมืองนอกที่อากาศเย็น) แบบที่สองคงจะทิ้งร่องรอยที่ไม่น่าดูและสร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติชนิดที่ต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะกลับคืนสภาพมาเป็นแบบเดิมได้ แบบนี้ถือว่าไม่ควรทำ เวลาเดินพยายามเดินอยู่ในทางที่ชัดเจนอยู่แล้วตลอดเวลา อย่าเดินตัดทางใหม่ อย่าตัดหัวโค้ง (Switchback) หรือเดินลัดทาง (Shortcut) เพราะจะเป็นการทำลายต้นไม้หรือพืชที่คลุมดินอยู่และจะเป็นการเพิ่มการกัดกร่อนของหน้าดินจากฝนตามมา ก่อนเดินเหยียบย่ำไปหยุดคิดสักนิดครับว่าจะเกิดผลอะไรตามมาจากการกระทำของเรา อย่าลืมนะครับว่าความเป็นสุภาพบุรุษนั้นนอกจากควรปฏิบัติกับคนอื่นๆแล้วยังควรปฏิบัติกับป่าเขาลำเนาไพร สัตว์ป่าและธรรมชาติด้วย

  1. จัดการกับขยะและของเสียอย่างเหมาะสม (Dispose of waste properly)

หลักการข้อนี้เข้าใจได้ง่ายมาก เก็บขยะของคุณทุกชิ้นออกไปจากธรรมชาติ (Pack it in – pack it out) เราอุตส่าห์เดินทางยากลำบากเพื่อไปชื่นชมธรรมชาติที่สวยงาม เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งขยะไว้เรี่ยราดอันเป็นการทำลายความงดงามนั้นเลยครับ เอาอะไรเข้าไปในป่าก็เอาออกมาให้หมด เศษอาหารก็ควรเอาออกมาด้วยนะเพราะหากทิ้งไว้จะทำให้สัตว์ป่าได้กลิ่นเข้ามาคุ้ยกิน บ่อยๆเข้าจะเป็นการลดสัญชาตญาณการหากินเองและเกิดเป็นอันตรายกับสัตว์เพราะอาจกินอะไรแปลกๆที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้

หากเข้าห้องน้ำก็ให้ขุดหลุมลึก 15-20 ซม (Cat hole) ทำธุระเสร็จแล้วก็กลบหลุมฝังปิดไว้ เวลาเลือกบริเวณที่ขุดหลุมทำธุระก็ขอให้ห่างจากแหล่งน้ำอย่างน้อย 50 เมตร (70 ก้าวของผู้ใหญ่) ที่ต้องไกลประมาณนี้เพราะเราไม่ต้องการให้ของเสียไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำที่เราอาจต้องเอามาทำอาหาร หรือดื่ม ลองนึกสภาพว่าถ้าทำธุระส่วนตัวอยู่ใกล้เกินไปใครก็คงกลืนน้ำไม่ค่อยจะลง

  1. ปล่อยสิ่งต่างๆตามธรรมชาติให้อยู่ในสภาพเดิม (Leave what you find)

เราในฐานะนักเดินป่า จำเป็นอย่างมากที่ต้องร่วมรักษาความงามของธรรมชาติ ปล่อยสิ่งต่างๆอยู่ในสภาพเดิมเหมือนที่เราเห็น เพราะเมื่อเราเดินป่า เรากำลังกลับเข้าไปสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ กลับไปสู่ความเรียบง่าย ความสงบ ดังนั้นเราควรลดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเหล่านั้นที่เกิดจากตัวเราให้ได้มากที่สุดครับ ยกตัวอย่างสิ่งทำได้ง่ายๆ เช่น อย่าหักกิ่งไม้ ตัดต้นไม้โดยไม่จำเป็น เวลาตั้งแค็มป์ก็เลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพบริเวณนั้นเช่น ไปขุดร่องก่อดิน หรือเรียงหินทำกองไฟเพิ่ม จำไว้นะครับว่าบริเวณตั้งแค้มป์ (Camp site) ที่ดีนั้นต้องหาจากที่ๆมีอยู่ตามธรรมชาติแล้วไม่ใช่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่

 

  1. ใช้ไฟให้เหมาะสมและลดผลกระทบของไฟให้น้อยที่สุด (Minimize campfire impacts)

การก่อไฟนั้นเป็นสิ่งที่เราส่วนใหญ่จะนึกถึงเสมอเมื่อนึกถึงการพักแรมในป่า ไม่ว่าจะเป็น การก่อไฟเพื่อหุงหาอาหาร สร้างความอบอุ่นระหว่างค่ำคืนที่หนาวเย็น หรือแม้แต่เพิ่มบรรยากาศสำหรับเรื่องเล่ายามค่ำคืน ทักษะการก่อไฟนั้นยังถือกันว่าเป็นสิ่งสำคัญสุดยอดอย่างหนึ่งที่นักเดินป่าทุกคนต้องทำได้ อย่างไรก็ตามไฟนั้นอาจสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้มากเช่นกันหากเราใช้อย่างไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น รอยไหม้เกรียมบนพื้น ต้นไม้ถูกตัดมากเกินไปเพื่อทำฟืน จนถึงอุบัติเหตุทำให้เกิดไฟป่า การก่อไฟให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดนั้นทำได้ง่ายๆ

ควรเลี่ยงการตัดไม้จากต้นไม้เพื่อมาทำฟืน เก็บไม้ฟืนเอาตามพื้นหรือต้นไม้ที่ล้มแล้ว เลือกใช้เตาสนาม เพราะปัจจุบันนี้เตาสนาม (Lightweight stove) ที่ใช้คู่กับแก้สกระป๋อง (Gas canister) นั้นได้รับการพัฒนาไปมากจนมีน้ำหนักเบา ขนาดเล็กกระทัดรัดพกพาสะดวก ราคาไม่แพง การใช้อุปกรณ์ลักษณะนี้จึงเป็นทางเลือกที่ดีมากเพราะแทบไม่ทิ้งร่องรอยอะไรกับธรรมชาติเลย เตาชนิดนี้ไม่ต้องใช้ฟืน ไม่มีขี้เถ้า และถ้าวางในตำแหน่งที่เหมาะสมก็ไม่ทำให้พื้นไหม้เกรียมเลย

 

  1. ไม่รบกวนสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ (Respect wildlife)

ควรทำตัวเป็นแขกที่ดีของป่า  ไม่รบกวนสัตว์โดยเฝ้าดูจากระยะไกล เพราะสัตว์ป่าเป็นส่วนสำคัญมากต่อระบบนิเวศธรรมชาติ ป่าที่ไม่มีสัตว์ก็เหมือนบ้านที่ขาดคน เราต้องระลึกเสมอว่าการที่เราเข้าไปในป่านั้นเราเป็นผู้เข้าไปเยี่ยมเจ้าบ้านและต้องทำตัวให้เป็นแขกที่ดี หลักการง่ายๆที่ควรทำเมื่อเจอสัตว์ในป่าคือ ไม่ส่งเสียงดังโหวกเหวก ทิ้งระยะห่างจากสัตว์ระดับเหลือเฟือ วิธีหนึ่งที่ดีคือพกกล้องส่องทางไกลหรือเลนส์ที่ซูมได้เยอะๆไปด้วยจะได้ดูหรือถ่ายรูปจากระยะไกลได้

ควรแค้มป์ห่างจากแหล่งน้ำอย่างน้อย 70-80 เมตร เพื่อให้สัตว์ลงกินน้ำได้โดยไม่กลัวเราและเครียด สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือเลี่ยงที่จะไปแหล่งน้ำตอนกลางคืนเพราะเป็นเวลาที่สัตว์ป่าแอ็คทีฟและออกหากินมากที่สุด เก็บเสบียงอาหารและเศษขยะให้เรียบร้อยป้องกันไม่ให้สัตว์ได้กลิ่นและเข้ามากินซึ่งจะเป็นอันตรายกับตัวเราและสัตว์ในที่สุด อย่าจับและแตะต้องสัตว์ป่าโดยเฉพาะลูกเล็กๆแม้จะดูน่ารักเพียงใดก็ตาม

 

  1. มีความเห็นอกเห็นใจนักเดินทางคนอื่น (Be considerate to other visitors)

ระลึกไว้เสมอว่าเราเดินทางไปในธรรมชาติเพื่อค้นหาตนเองและความสงบ เห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมทางและแบ่งปันประสบการณ์ดีร่วมกัน เมื่อพบเจอคนใช้ทางร่วมกับคน คนที่กำลังเดินขึ้นเนินหรือเขานั้นปกติจะเหนื่อยกว่าคนเดินลงและเห็นทางในระยะที่จำกัดกว่า หากเรากำลังเดินลงก็ควรหลบทางให้คนกำลังเดินขึ้นไปก่อน ในบางกรณีคนเดินขึ้นอาจจะอยากพักเหนื่อยบ้างและให้เราที่กำลังเดินลงไปก่อน เค้าจะส่งสัญญาณ เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้เราก็เดินลงต่อไปอย่าลืมกล่าวคำทักทาย ขอบคุณและให้กำลังใจกัน

มื่อเดินเป็นกลุ่มใหญ่พยายามเดินเรียงเดี่ยว ถ้าทางกว้างมากๆอาจเดินพร้อมกันหลายคนได้แต่อย่าเดินโดยใช้ที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของความกว้างทาง และเมื่อไหรก็ตามที่เราหยุดเดิน ไม่ว่าจะชมวิว พักเหนื่อย หรือให้ทางแกผู้อื่น เราควรขยับหลบออกมาจากทางเดินเพื่อให้ทางว่างสำหรับผู้อื่นได้ใช้ เมื่อขยับออกมาควรอยู่ในที่ผิวแข็ง เช่นหิน ดินแข็งหรือหิมะ อย่าเหยียบย่ำไปบนพื้นนุ่มที่เต็มไปด้วยหญ้าและดอกไม้

เมื่อรู้ข้อดีต่างๆ ของการออกไปใช้ชีวิตในรูปแบบเอาท์ดอร์แคมป์ปิ้งกันแล้ว ลองมาเริ่มต้นทำความรู้จักกับหนึ่งผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับเอาท์ดอร์ที่ถือว่าเป็นรายใหญ่ในวงการนี้กันดูว่า เขามีคำแนะนำ หรือมุมมองอย่างไรในกระแสการใช้ชีวิตเอาท์ดอร์ ณ ปัจจุบัน กับ จีระพัทธ์ เอี่ยมอุดม ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้จัดการ ThailandOutdoor Shop สาขาลาดพร้าว

ThailandOutdoor เริ่มต้นจากเพื่อนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันที่สนามยิงธนู และเกิดอยากจะชวนกันออกไปทำกิจกรรมเอาท์ดอร์ จึงได้นัดแนะกัน พร้อมกับหาขอสำหรับการแคมป์ปิ้ง แต่หาของที่ดี มีคุณภาพแบบต่างประเทศค่อนข้างลำบากในช่วง 11 ปีก่อน จึงได้มีการพูดคุยกัน จนพวกเขาเริ่มคิดว่าในเมื่อของที่ดีหายากนัก ก็นำเข้ามาขายเสียดีกว่า และพวกเราเองก็จะได้ใช้อุปกรณ์เอาท์ดอร์ที่ดี และมีคุณภาพไปด้วย อีกทั้งยังได้ร่วมแบ่งปันให้คนที่ชื่นชอบในแบบเดียวกันด้วย

ผู้เริ่มก่อตั้ง ThailandOutdoor มีทั้งหมด 7 คน โดยพี่ป๊อบ จีระพัทธ์ เอี่ยมอุดม ผู้ที่มาร่วมพูดคุยกับเราคือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นผู้ดูแลสาขาลาดพร้าวแห่งนี้ หลังจากการเริ่มต้นไอเดียธุรกิจเอาท์ดอร์ ณ สนามธนูในครั้งนั้น ความฝันของพวกเขาก็เกิดขึ้นตามมาในอีกไม่นานนัก ร้านขายอุปกรณ์เอาท์ดอร์เล็กๆ จึงเกิดขึ้น และตั้งอยู่ในมุมหนึ่งของสนามธนูแห่งนั้น และนั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่วันหนึ่งก็มีโอกาสขยับขยาย และกลายมาเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้

สินค้าที่นำมาขาย มีกี่ประเภท

หากพูดถึงสินค้าเริ่มต้น ก็คงเน้นมาจากไลฟ์สไตล์ของพวกเราที่ชอบเดินป่า ดังนั้นสินค้าแรกๆ ที่นำเข้ามาก็จะเป็นพวกเป้ เตาน้ำมัน สินค้า Coleman เต็นท์ เครื่องครัว เครื่องใช้ ตะเกียง ฯลฯ

ประเภทของสินค้า

ผมเริ่มจากเต็นท์ และเป้ แต่ปัจจุบัน ThailandOutdoor มีสินค้าสำหรับใช้ในกิจกรรมเอาท์ดอร์ แคมป์ปิ้งครบหมด เรียกว่าคุณมาแต่ตัวก็สามารถเข้ามาเลือกซื้อของได้ตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า ยันอุปกรณ์ครบทุกอย่างได้ที่นี่

การเริ่มต้นแคมป์ปิ้งต้องเตรียมอะไรบ้าง

ถ้าอยากออกไปจริงๆ ผมว่าเริ่มจากเต็นท์ และถุงนอนก่อน หากขับรถไปเอง แต่ถ้าอยากจะแบกเป้เที่ยว ให้เริ่มจากเป้ และเต็นท์ ให้เริ่มออกไปแคมป์ปิ้งดูสักครั้ง และคุณจะตอบได้เองว่า คุณยังขาดอะไรบ้าง เพราะทุกคนที่เริ่มต้น กลับมาก็จะมาหาซื้ออุกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ต่างๆ เครื่องครัว เตา ตะเกียง ทุกอย่างจะค่อยๆ งอกออกมา แล้วแต่ว่าคุณต้องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง

กรณีขับรถไป คงไม่ยาก หรือมีปัญหาอะไรกับการขนอุปกรณ์ แต่หากเดินทางแบบแบกเป้เที่ยว อุปกรณ์ก็จะต้องเป็นอีกอย่างที่ต้องมีน้ำหนักเบาที่สุด นอกจากนี้ยังต้องขึ้นอยู่กับสถานที่ และปริมาณคนที่จะไปด้วย

สิ่งที่ควรระวัง

การออกไปแคมป์ปิ้ง มีกฎของมันอยู่ใน Outdoor Etiquette เป็นกฎ 7 ข้อที่เรียกว่า Leave No Trace ลองไปศึกษากันดูได้ครับ เป็นกฎสากลที่ใช้กันทั่วโลก เริ่มต้นคร่าวๆ คือต้องมีจริยธรรมในการเดิน เตรียมตัวก่อนไป ศึกษาเรื่องสภาพภูมิอากาศให้ดี สอบถามเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้นๆ อะไรควรไม่ควร อยากให้ศึกษากันให้ดีก่อนออกไปทำกิจกรรมข้างนอกครับ

ความแตกต่างระหว่างการแคมป์ปิ้ง ต่างประเทศ กับในประเทศ

ผมมองว่าคนไทยสบายกันมากไปสักหน่อย สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือเรื่องการจัดการขยะ ยกตัวอย่างทริปที่พวกผมไปเดินที่ประเทศสวีเดนกันมา เรื่องของขยะ ตลอดระยะทางเดิน 110 กิโลเมตร พวกเราไม่เห็นขยะแม้แต่ชิ้นเดียว แต่บ้านเรา ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมของที่แบกเอาเข้าไปได้ แต่พอเหลือเป็นขยะ มันเล็ก และเบากว่าตอนเอาเข้าไป ทำไมเราถึงไม่เก็บมันออกมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อยข้างน่าเป็นห่วงสำหรับบ้านเรา

สถานที่แคมป์ปิ้งในเมืองไทยที่น่าสนใจ

ตอนนี้เราเริ่มต้นจากอุทยานแห่งชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สถานการณ์ตอนนี้อาจจะปิดไปบ้าง แต่อุทยานแห่งชาติเป็นตัวเลือกต้นที่ มีแทบทุกแบบ ทั้งทางบก และทางทะเล ทุกที่มีความสวยงามที่แตกต่างกันไป และยิ่งตอนนี้กระแสแคมป์ปิ้งได้รับความนิยมอย่างมาก ยิ่งทำให้เกิดลานกางเต็นท์ที่เป็นเอกชนเกิดขึ้นมากมาย สำหรับเอกชนการเข้าไปใช้พื้นที่อาจจะไม่ได้จำกัดสิทธิ์อะไรมากเท่ากับอุทยาน แต่เขาก็จัดเป็นสัดส่วนให้

ในปัจจุบันทีมของพวกเราก็ได้มีโอกาสให้คำปรึกษากับหลายๆ สถานที่ที่จัดเป็นที่พักกางเต็นท์ ว่าควรจัดการอย่างไร รูปแบบไหนดี ซึ่งก็มีรูปแบบหนึ่งที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นคือการจองเข้าไปกับสถานที่ก่อน เพื่อเขาจะได้จัดแบ่งสัดส่วนให้ไม่เกิดการรบกวนกัน ถือเป็นลานกางเต็นท์แนวคิดใหม่ที่นำมาจากต่างประเทศอีกที

11 ปีที่ผ่านมา เทรนด์การใช้ชีวิตเอาท์ดอร์เปลี่ยนไปหรือไม่

เทรนด์ไม่เปลี่ยนครับ เพียงแต่ว่าปัจจุบันมีคนสนใจการออกไปใช้ชีวิตในรูปแบบนี้กันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากจนเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดมาตั้งแต่ปีที่แล้วกระทั้งตอนนี้ อาจจะด้วยคนออกต่างประเทศไม่ได้ และอาจจะไม่รู้จะทำอะไรดี ไปได้แต่ในเมืองไทย ยิ่งปีที่แล้วหลังจากที่มีการควบคุมโรคระบาดได้ดี มีการผ่อนปรน คนก็ออกไปเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น และการเที่ยวก็เปลี่ยนรูปแบบออกไป จากเดิมที่นอนโรงแรม ก็กลายมาเป็นการแคมป์ปิ้ง เพราะมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนต้องกำลังมองหาวิถีการเดินทางแบบใหม่ที่เหมาะกับตนเอง เพื่อความปลอดภัย และปลอดโรค ที่สำคัญเพื่อตอบสนองสิ่งที่โหยหามานาน คือการได้ออกไปใช้ชีวิตในอีกรูปแบบที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ชีวิตคุณได้มีสีสันยิ่งขึ้น Thailand Outdoor จึงถือเป็นตัวเลือกแรกที่ตอบโจทย์ครบทุกอย่าง หากคุณต้องการแคมป์ปิ้ง รับรองว่ามาที่นี่ที่เดียวคุณจะได้ของครบแน่นอน

 

Comments are closed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save