ภูตาจอ สวยจับจิต หนาวจับใจ ทะเลหมอกแห่งปักษ์ใจ
ขุนเขาและทะเลหมอกภูตาจอ ที่มีความสวยงามไม่แพ้ภาคเหนือ จนไม่น่าเชื่อเลยว่า ป่าทางภาคใต้จะพบทะเลหมอกที่สวยงามเช่นนี้ ยืนยันได้ด้วยรูปถ่ายที่ ปิณฑ์ ช่างกล หนึ่งในสมาชิกของเจ้าฟ้าออฟโรด เปิดให้ผมดูเมื่อครั้งเจอกันต้นปี รวมทั้งพูดคุยกับ บุญเลิศ จริยโสภาคย์ และ ณัฐภณ รอดย้อย แห่ง NPT 4X4 CAMPING SHOP จังหวัดภูเก็ต
เวลาเลื่อนผ่านจากปลายปี 2554 กระทั่งเข้าสู่กลางปี 2555
ผมจึงได้มีโอกาสไปเยือนภูตาจอสมใจตามที่หวังไว้ กระนั้นก็เหมือนโชคไม่ค่อยเข้าข้างสักเท่าไรฝนใต้ตกต่อเนื่องกันมาเป็นอาทิตย์แล้ว จากร่องลมมรสุมพัดผ่าน ข่าวเรื่องน้ำท่วมและดินถล่ม มีมาเป็นระยะๆ จนทำให้ผมสงสัยว่า ทริปภูตาจอ มันคงมีอาถรรพ์และทำท่าว่าจะเป็นหมันอีกแล้ว อย่างไรก็ตามในเมื่อนัดหมายกันเป็นหมั่นเป็นเหมาะแล้ว จำต้องตัดสินใจไปเสี่ยงดวงเอาข้างหน้า
โชคเข้าข้างเล็กๆ หลังจากที่ฝนโหมกระหน่ำตกต่อเนื่องกันมาหลายวัน ครั้นถึงวันที่ผมเดินทางไปถึงภูเก็ตและพังงา ฟ้าปลอดโปร่ง ไร้เมฆฝน แต่ก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ในเมื่อฝนที่ตกติดต่อกันมายาวนาน สิ่งที่ตามมา นอกจากปัญหาน้ำป่าแล้ว ดินภูเขาที่อุ้มน้ำเอาไว้มากๆ อาจจะถล่มลงมาปิดเส้นทางได้
เราออกเดินทางจากภูเก็ตในช่วงเกือบเที่ยงวันของวันเสาร์ ด้วยจำนวนรถกว่า 10 คัน ทั้งจาก ชมรมเจ้าฟ้าออฟโรด ภูไพร ออฟโรดภูเก็ต ไปสมทบกับ พังงาออฟโรด และ พาร์ท ไทม์ โคกกลอย อีก 4-5 คัน ซึ่งเดินทางมารออยู่ก่อนแล้วที่ทำการอำเภอกะปง รวมเบ็ดเตล็ดแล้ว ทริปนี้มีรถร่วมเดินทางมากถึง 21 คัน
สำหรับ ภูตาจอ ที่เรากำลังเดินทางไปนั้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เปิดให้ผู้คนขึ้นไปสัมผัสความหนาวเย็นและทะเลหมอกได้ไม่นาน บนยอดภูสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นเหมืองแร่ดีบุกเก่าแก่ ซึ่งคนแรกๆ ที่เดินทางไปสำรวจสายแร่ก็คือ ตาจอ หรือ นายจอ แกเป็นคนจีน อยู่ที่บ้านบางกุ่ม ต.กะปง อ.กะปง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าภูตาจอ นอกจากเหมืองตาจอแล้ว ก็ยังมี เหมืองสามร้อยหุ้น เหมือง 72 หุ้น เหมืองเคียนงาม เหมืองหินแก้ว เหมืองเข้รับน้ำ ปัจจุบันเหมืองต่างๆ เหล่านี้ ก็เลิกร้างกิจการไปนานแล้ว พื้นที่เหมืองส่วนใหญ่ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต ที่มีอาณาเขตเชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี จึงจัดว่าเป็นป่าที่สมบูรณ์มากที่สุดผืนหนึ่งของภาคใต้ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย โดยเฉพาะฝูงช้างป่าที่หากินไป-มาระหว่างป่าทั้งสอง และที่สำคัญเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของภูมิภาคนี้อีกด้วย จึงมีศักยภาพสูงในเชิงของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และเป็นป่าไม่กี่แห่งที่พบเห็นทะเลหมอกลงหยอกล้อกับทิวเขาและเรือนไม้ได้ตลอดทั้งปี
ปัจจุบันภูตาจอถูกพัฒนาไปในระดับหนึ่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการใช้ชีวิตกลางแจ้ง จากความคิดริเริ่มของ สมชาย ทิพย์พิมล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหล ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกแหล่งท่องเที่ยวภูตาจอ โดยจัดให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นมา รวมทั้งซ่อมแซมเส้นทางบางส่วน เพื่อเข้าไปยังจุดชมวิวด้านบน มีการปรับพื้นที่ลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ และจัดชาวบ้านที่คุ้นเคยและชำนาญพื้นที่ ขึ้นไปคอยดูแลเรื่องความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ภูตาจอ ก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการผจญภัย เนื่องจากการเดินทางเข้าไปนั้น ก็มีเพียงรถขับเคลื่อน 4 ล้อ รถมอเตอร์ไซต์ รถประเภท UTV และ ATV หรือไม่ก็เดินเท้าเข้าไป แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝน รถออฟโรดสแตนดาร์ดก็ไม่ควรเสี่ยงเหมือนกัน เพราะเส้นทางค่อนข้างลื่นและลาดชัน เต็มไปด้วยหุบเหว จึงอันตรายพอสมควรสำหรับรถที่ไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ
วันนี้ฟ้าปลอดฝนอยู่ได้ไม่นาน ช่วงบ่ายเมฆสีดำทะมึนที่ฟากฟ้าฝั่งโน้น ก็จับกลุ่มตั้งเค้าขยับเข้ามาใกล้ทุกขณะ ส่งเสียงโกญจนาทอื้ออึงขู่คำรามเป็นระยะๆ และอึดใจต่อมาก็เทลงมาอย่างหนัก พวกเราต้องรีบเคลื่อนตัวออกเดินทางโดยเร็วไว แต่ฝนใต้ก็ดีไปอย่าง มาเร็ว ไปเร็ว พ้นจากหน้าที่ทำการอำเภอกะปงมาฟ้าก็ใสอีกครั้ง พวกเราใช้เวลาไม่นานนักก็เดินทางถึง อบต.เหล ผ่านบ้านช้างเชื่อ บ้านนกฮูก เข้าสู่แนวเทือกเขาที่แปรสภาพมาเป็นสวนยางและสวนปาล์ม รวมระยะทางประมาณ 10 กม.(จาก อบต.เหล) ก็ถึงปากทางเข้าสู่ภูตาจอ ซึ่งมีป้ายเล็กๆ ซ้ายมือบอกรายละเอียดเอาไว้ชัดเจน ภูตาจอ 13 กม., เข้รับน้ำ 14 กม. น้ำตกโตนต้นหมาก 9 กม. และหน่วยพิทักษ์ป่าฯ 6 กม.
เราหยุดพักขบวนไม่นาน ก็เริ่มเคลื่อนที่กันอีกครั้ง ลัดเลาะไปตามเส้นทางเหมืองเก่าเข้าสู่ประตูของแนวป่าทึบ แต่เดินทางมาได้ไม่ถึงกิโลเมตร ก็ต้องเกิดปัญหาเข้าจนได้ รถคันนำวิทยุมาบอกว่า รถ SUZUKI SPORTY ของ ปิณฑ์ ช่างกล ถูกตอไม้ตำยางจนยางรั่ว เนื่องจากปีนหลบดินที่สไลด์ลงมาขวางทาง แต่เราก็เสียเวลาแก้ไขปัญหาไม่มากนัก ก็สามารถออกเดินทางต่อไปได้
เส้นทางในช่วงแรกๆ นี้ ถือว่าไม่ยากเท่าไรนัก เป็นทางดินผสมหิน ไต่ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามเหลี่ยมเขา บางช่วงบางตอนของเส้นทางก็แปรสภาพเป็นทางน้ำเล็กๆ ไหลบ่าแผ่เต็มเส้นทาง เราขับตามกันมาเรื่อยๆ ซึมซับบรรยากาศและเรื่องราวของผืนป่าอันบริสุทธิ์และสมบูรณ์ของโตนปริวรรต จนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าฯ จึงหยุดพักขบวนรอกันชั่วครู่
จากหน่วยพิทักษ์ป่าฯ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต เราขับต่อมาได้อีกไม่ถึงกิโลเมตร ก็ต้องเจอกับปัญหาใหญ่ นั่นก็คือ แลนด์ สไลด์ หรือดินถล่มลงมาทั้งเขา ปิดเส้นทางเดิมจนหาแทบไม่เจอ ไม่ใช่ดินอย่างเดียว ต้นไม้น้อยใหญ่ไหลถล่มลงมาครบ ถ้าไม่เรียกว่า งานเข้า ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรแล้วครับ…เพราะพื้นที่ที่ดินถล่มลงมาปิดเส้นทางนั้น ความกว้างความยาวน่าจะมากกว่า 20 เมตร นั่นไม่สำคัญเท่ากับเราจะทำอย่างไรถึงจะฝ่าทะเลโคลนจุดนี้ไปด้ รวมทั้งไม่รู้ว่าพื้นล่างมันลึกขนาดไหน เวลาก็บ่ายคล้อยเข้าไปทุกขณะ หลังจากปรึกษากันอยู่พักใหญ่ ก็มีความเห็นว่า จะถอยหลังก็ดูจะใจง่ายไปสักหน่อย ขอสู้ดูสักตั้ง ว่าแล้วคณะทั้งหมด ก็ลงมาช่วยกันฟัน ช่วยกันถาง สร้างทางขึ้นมาใหม่ ก่อนส่งตัวแรงของ อธิวัฒน์ จิรจำรัสกุล ขึ้นไปชิมลางเป็นคันแรก
แค่แหย่หัวเข้าไปก็ต้องลงแส้เสียแล้ว เพราะอย่างที่บอก ดินภูเขาที่ถล่มลงมามีความสูงจากพื้นเดิมไม่ต่ำไล่ระดับตั้งแต่ 2 เมตรไปจนถึง 5-6 เมตร แม้ว่าเราจะเลือกจุดที่ตื้นที่สุดและสั้นที่สุด แต่ความลาดชันของเนิน และดินที่นิ่มเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สภาพของรถจึงไม่ต่างจากรถไถที่กำลังดันดิน วินช์ต้องทำงานอย่างหนัก แม้จะเพิ่มกำลังด้วยการใช้สแน็ชบล็อกช่วย แต่ดูเหมือนรถจะเคลื่อนตัวไปได้อย่างยากลำบาก
อาทิตย์ลาลับขอบฟ้าและเหลี่ยมเขาไปนานแล้ว พร้อมกับความมืดเริ่มคลี่ห่มท้องฟ้า รอบด้านเริ่มมืดมิดอนันตกาล แต่ความพยายามของคณะก็ยังไม่มืดมิดตามกาลเวลา ทุกคนยังคงช่วยกันนำรถ TOYOTAHILUX HERO ของ โต หรือ อธิวัฒน์ จิรจำรัสกุล ขึ้นไปบนยอดเนินเพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางเดิมให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถหลุดจากกับดักทะเลโคลนไปได้
จาก 5 โมงเย็นเวลาล่วงเลยไปจนเกือบ 4 ทุ่ม รถยังคาอยู่ที่ยอดเนิน ป่วยการที่จะเดินหน้าต่อ เพราะแค่คันเดียวยังใช้เวลาเกือบ 5 ชั่วโมง และหนทางข้างหน้ากว่าจะถึงภูตาจอ พวกเราไม่รู้ว่าจะพบเจออุปสรรคอะไรอีกบ้าง ถึงตรงนี้จึงต้องช่วยกันกู้รถถอยหลังหลุดออกจากหล่มโคลนนั้นได้ ก็ต้องสังเวยวินช์ไป 2-3 ตัว เล่นเอาเรี่ยวแรงอ่อนล้าไปตามๆ
คืนนั้นเราจำต้องยกธงขาวยอมแพ้ให้กับธรรมชาติ ถอยหลังลงมากางเต็นท์พักแรมกันที่บ่อน้ำพุร้อนปากพู่ ติดกับบ้านนกฮูกด้านล่าง ซึ่งบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้ เป็นอีกจุดหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของตำบลเหล ที่กำลังมีการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ ส่งเสริมให้เป็นแหล่งที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของ อ.กะปง ต่อไปในอนาคตข้างหน้า
แม้ว่าจะเดินทางไปไม่ถึงที่หมาย แต่ผมได้มีโอกาส พูดคุยสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ของภูตาจอ กับสมาชิกหลายๆ คน รวมทั้ง สมชาย ทิพย์พิมล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหล ที่พบกันในช่วงเช้า เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่สนใจหากจะเดินทางไปสัมผัสทะเลหมอกแห่ง รวมทั้งได้ความอนุเคราะห์จาก วิโรจน์ อุทัชกุล และยสิกรณ์ จิตร์เกิด จากเจ้าฟ้าออฟโรด นำภาพสวยๆ ของทะเลหมอกภูตาจอมาให้ท่านผู้อ่านได้ชมกันอีกด้วย ทำให้ทริปนี้ไม่ต้องกลับบ้านมือเปล่า
หากว่า ผ่านจุดที่ดินถล่มไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร ก็จะพบกับป้ายลงไปน้ำตกโตนต้นหมาก และถ้าเดินเท้าไปประมาณ 400 เมตร ก็จะพบกับน้ำตกโตนต้นหมาก ที่ถือว่ามีความสวยงามตามธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเส้นทางนี้ และถ้าขับรถต่อไปก็จะพบกับลานมาเลย์ หรือเนินหินขาว เป็นบริเวณที่ชาวมาเลย์เข้ามาตั้งแคมป์เพื่อจะทำเหมืองดินขาว ที่มีอยู่มากมายในบริเวณเหมืองแร่ดีบุกเก่าแก่แห่งนี้ และไฮไลต์ในเรื่องของเส้นทางจะอยู่ตั้งแต่ช่วงนี้ไป เพราะต้องเผชิญกับเนินชันยาวต่อเนื่อง หากฝนตกลงมาจะลื่นไม่เอาใครจริงๆ ถือว่าเป็นจุดที่หนักที่สุดของเส้นทาง
ผ่านพ้นจุดนี้ไปก็ขับแบบชิลๆ ถึงบริเวณจุดกางเต็นท์ เป็นลานทรายขาวโล่งๆ รายรอบด้วยเหมืองเก่า อันบ่งบอกกาลเวลา และยุคสมัยที่เคยรุ่งเรือง ถ้าเดินขึ้นไปบนยอดเขาประมาณ 10 นาที จะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ 360 องศา ถือว่าเป็นจุดชมวิวที่สวยงามและบริสุทธิ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้หรืออาจจะรวมทั้งในเมืองไทย ยามเช้าแสงอรุณแรกเราจะเห็นสายหมอกไหลคลอเคลียไปตามยอดเขาทางด้านตะวันออก และด้านทิศใต้ ส่วนกลุ่มทะเลหมอกที่แผ่คลุมผืนป่าอย่างแน่นนั้น จะอยู่ทางตะวันตก ส่วนหุบป่าด้านล่างจะมีหนองน้ำใหญ่ ซึ่งเคยเป็นแคมป์คนงานเก่า แต่ปัจจุบันก็ยังสามารถใช้สอยได้เหมือนเดิม
สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวภูตาจอ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้
ที่ สมชาย ทิพย์พิมล นายกอบต.เหล โทร.08-6266-3077
การเดินทางสู่ภูตาจอ
การเดินทางเข้าสู่ภูตาจอนั้น เริ่มจากที่ว่าการอำเภอกะปง ขับไปทางวัดปากพู่-น้ำตกโตนต้นหมาก หรือ พง 3032 (ซึ่งเส้นทางนี้จะทะลุออกทางหลวงหมายเลข 401 ได้) เลาะสระเก็บน้ำบ้านปากพู่ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าบ้านทุ่งใหญ่ ขับไปจนถึง อบต.เหล จากบ้านเหลผ่านบ้านช้างเชื่อ บ้านนกฮูก ซึ่งจะผ่านสวนยางและสวนปาล์ม จนมาถึงทางแยกซ้ายเข้าป่า ระยะทางประมาณ 10 กม.
จิตรกร ถาวร เรื่อง/จิตรกร ถาวร, วิโรจน์ อุทัชกุล, ยสิกรณ์ จิตร์เกิด ภาพ
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.