พุหินสี แห่งเมืองราชบุรี มันมีดีกว่าที่คิด

ตั้งแต่เริ่มออกเดินทางไปทั่วผืนป่าของเมืองไทยมากว่า 10 ปี มักเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยคุ้นเคย ไปตามเส้นทางที่ไม่ค่อยรู้จัก กับชมรมออฟโรดที่คุ้นเคยและบางครั้งก็ไม่คุ้นชิน บางครั้งแสนสบาย ในขณะที่บางครั้งก็เหน็ดเหนื่อยเลือดตาแทบกระเด็น การใช้ชีวิตตามวิถีของคนเร่ร่อนวเนจร สิ่งที่ได้รับตอบแทนกลับคืนมาก็คือ ประสบการณ์ที่ยากจะหาซื้อได้จากที่ใดๆ

ความสง่างามของขุนเขา ความเขียวครึ้มของมวลแมกไม้ ความฉ่ำเย็นของสายธารน้ำตก และความวิเวกของผืนป่าใหญ่ที่ห่างไกลจากความสับสนวุ่นวาย มีแต่ความสงบเงียบและร่มเย็น และแน่นอนว่าการเดินทางในสไตล์ของ SPECIAL TRIP ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่พิศมัยความสะดวกสบาย มากกว่าการไขว้คว้าหาธรรมชาติและความท้าทาย

สำหรับจุดหมายของทริปนี้ก็เช่นกัน ดูเหมือนว่าจะใกล้ตัวผมเอามากๆ  มันมีชื่อว่า พุหินสี หรือ หินสี ที่ตั้งอยู่ในแนวเขตของเทือกเขาตะนาวศรี ในเขต ต.ยางหัก อ.ปากท่อ รวมทั้งต่อเนื่องไปถึงต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี โดยส่วนตัวก็ได้ยินชื่อมานานพอสมควร จากการได้พูดคุยกับชมรมราด’รี โฟร์บาย เจ้าถิ่น หลังจากเคยเดินทางเข้าไปผุหินแผ่นมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งบอกว่ามันเป็นเส้นทางที่สวย ขับสนุกโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เต็มไปด้วยอุปสรรคนานาชนิด ทั้งเนินชัน เนินเอียง โขดหิน ร่องโคลน ลำห้วย มีหลายครั้งที่ต้องมุดเข้าสู่ดงไผ่ที่รกชัฏ

และนั่นคือ ข้อมูลคร่าวๆ ของเส้นทางนี้ที่ผมมีอยู่ และจนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีโอกาสเดินทางเข้าไปสักที จนกระทั่งชื่อของหินสีเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวออฟโรดหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะบรรดาฮาร์ดคอร์ ที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวกันอยู่เรื่อยๆ

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงสบโอกาสเหมาะ เมื่อได้นัดหมายกับชมรมเพื่อนไท ทีม ชมรมออฟโรดย่านพระประแดงและทุ่งครุ ซึ่งคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ตั้งแต่เป็นหนุ่มวัยละอ่อนลงสู้ศึกในสนามแข่งขัน จนกลายมาเป็นชมรมออฟโรดที่ก่อตั้งขึ้นมานานกว่า 10 ปี และมีสมาชิกมากมาย ช่วงหลังๆ พวกเขามักจะเดินทางไปรวมตัวกันอยู่ที่บ้านของ ชัย เพื่อนไท หนึ่งในสมาชิกที่ทำไร่อยู่แถวๆ วังปลาช่อน (เข้าทางเดียวกับธนาคารต้นไม้)ไม่ไกลจากหินสีเท่าไร อยู่ติดกับทางหลวงหมายเลข 3206 (ใกล้กับเส้นทาง 3501 ที่ตัดไปยัง อ.หนองหญ้าปล้องและ อ.แก่งกระจาน) ขับรถจากกรุงเทพฯใช้เวลาราวๆ ชั่วโมงเศษก็ถึงแล้ว

หินสี หรือชาวบ้านมักเรียกกันว่า เขาไม้แดง นั้น ครอบคลุมพื้นที่ป่าบางส่วนของ อ.ปากท่อ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ตั้งอยู่บนรอยต่อกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในแนวขอบเขตของเทือกเขาตะนาวศรี และเป็นเส้นทางเก่าแก่ของชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่า และตัดไผ่รวกขาย แต่หลังจากมีการเดินหน้าทำโครงการแปลงฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร เมื่อปี พ.ศ.2518 ได้ทำการเร่งปลูกป่าเพื่อรักษาต้นน้ำ พันธุ์ไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่ก็ประกอบไปด้วย เสลา ตะแบก โมกมัน ขี้หนอน มะค่าโมง ประดู่ป่า ปีบ ยมหิน ไม้แดง นนทรี หว้า สีเสียด และป่าไผ่ประเภทต่างๆ เป็นต้น แต่ตอนหลังก็ถูกปล่อยปละละเลย เนื่องจากขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ครั้นในปี 2542 มีการตัดทางโดยกรมชลประทาน เพื่อสำรวจและสร้างอ่างเก็บน้ำหินสีตอนบน และต่อมาป่าหินสีหรือเขาไม้แดงก็ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน

แม้จะถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่ปัญหาที่ก็ยังพบเห็นอยู่ในทุกวันนี้ เช่นเดียวกับป่าทั่วไปของเมืองไทย ก็คือ การบุกรุกแผ้วถางป่า โดยเฉพาะรอบๆ แนวเขต รวมทั้งปัญหาเรื่องของการล่าสัตว์ และลักลอบตัดไม้ไผ่ โดยเฉพาะไผ่รวก

ครั้นถึงวันนัดหมาย สมาชิกชมรมเพื่อนไท ทีม ต่างก็ทยอยเดินทางมารวมตัวกันที่บ้านของ ชัย บางคนก็มาตั้งแคมป์รอตั้งแต่เย็นวันศุกร์ บางส่วนก็ออกเดินทางมาในช่วงเช้าวันเสาร์ รวมแล้วทริปนี้มีสมาชิกมากถึง 17 คัน แต่ก็มีการคัดรถที่พร้อมๆ และสมัครใจที่จะเดินทางไปได้ 13 คัน เป็นรถเล็กอย่าง SUZUKI CARIBIAN เสีย 9 คัน

เราออกเดินทางจากไร่ของชัย ชักแถวตั้งเป็นขบวนเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3206 มุ่งหน้าสู่ อ.บ้านคา ท่ามกลางไอร้อนของแสงแดดยามสายที่เริ่มระอุขึ้นเรื่อยๆ บ่งบอกว่าฤดูร้อนเริ่มหวนกลับมาเยือนอีกครั้ง ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมงเศษๆ จากวังปลาช่อนก็ถึงที่หมายเส้นทางหินสีอันขึ้นชื่อของเมืองโอ่ง ซึ่งปากทางนั้นแทบไม่มีจุดสังเกตอะไรเลย ยกเว้นหลักทางหลวงหมายเลข 3206 ที่บ่งบอกว่าห่างจากถนนเพชรเกษม 44 กิโลเมตร และ 46 ถึง อ.ปากท่อ จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ บริเวณดังกล่าวมีศาลพระภูมิอีก 4-6 หลัง ซึ่งไม่แน่ใจว่าชาวบ้านนำมาทิ้ง หรือเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย และมีผู้เสียชีวิต จึงสร้างศาลเอาไว้เพื่อระลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากจุดปากทางเข้าหินสีเป็นบริเวณทางโค้งพอดี แต่ก็ไม่ใช่โค้งหักศอกหรือมุมอับสายตา เป็นโค้งกว้างๆ เกี่ยวเป็นทางตรงเสียด้วยซ้ำ ดูแล้วก็ไม่น่าจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายๆ

เพียงแค่แหย่หัวรถเข้าสู่เส้นทาง เราก็จะเจอเข้ากับอุปสรรคแรกทันที เป็นทางลงเนินชัน แต่ลงไปแบบเอียงๆ โดยที่ด้านซ้ายมีร่องน้ำเป็นตะพักดัก รถใหญ่นั้นไม่ค่อยจะมีปัญหา ปัญหาไปตกอยู่กับเจ้าแมงหวี่ตัวน้อย ที่คอยจะเอียงซ้ายลงไปเปาะขอบทางตลอด บางคนยังเกร็งๆ เกิดอาการหลงพวงมาลัย ต้องใช้เทคนิคเดิมๆ คือ คนบอกไลน์และช่วยถ่วงน้ำหนัก ซึ่งก็ผ่านไปได้อย่างไม่มีปัญหาทุกคัน

ห่างออกไปอีกไม่เกิน 300 เมตร อุปสรรคที่สองก็ดักรออยู่  จุดนี้ลักษณะเป็นทางที่ถูกน้ำกัดเซาะจนขาดหายไปเกือบครึ่ง ต้องค่อยๆ นำรถปักหัวลงไป และตั้งหลักให้ดีจากนั้นก็เร่งส่ง ส่วนใหญ่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีหลังจากถอยหน้า-ถอยหลังยักแย่ยักยันอยู่หลายรอบ  เราใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษๆ กับสองอุปสรรค จากนั้นก็ขับลัดเลาะไปตามเขาดินลูกรัง ชมนกชมไม้กันไปเรื่อยๆ แต่กระนั้นป่าในช่วงนี้ก็ไม่มีอะไรให้ชวนพิสมัยเท่าไรนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เริ่มผลัดใบ บางต้นแห้งโกร๋นตามฤดูกาล ไม่เขียวครึ้มดังเช่นฤดูฝน เส้นทางจะเลียบขนานไปกับอ่างเก็บน้ำหินสี ครู่ใหญ่ก็เดินทางมาถึงสันอ่างเก็บน้ำหินสีตอนบน ตามโครงการตามพระราชดำริ (กปร) น่าเสียดายที่สันเขื่อนนั้น ค่อนข้างรกทึบ เต็มไปด้วยเหล่าวัชพืชจนไม่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ เราจึงขับรถผ่านเลยไป

เพียงแค่ข้ามสันอ่างเก็บน้ำมาอีกด้าน สภาพป่าก็ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยน ป่าไผ่ที่ขึ้นอยู่ประปรายในฝั่งกระโน้น เริ่มหนาตาและแน่นทึบ ส่วนใหญ่เป็นไผ่รวก เส้นทางก็เช่นกัน จากดินลูกรังมีสภาพเป็นดินทราย และดินป่าไผ่ โขดหินน้อยใหญ่ขึ้นตะปุ่มตะปั่มหนาตา ร่องรอยล้อของชาวออฟโรดที่เดินทางมาในช่วงหน้าฝนทิ้งให้ดูต่างหน้ามากมาย โดยเฉพาะการหลบเลี่ยงบ่อโคลนต่างๆ มีให้เห็นเป็นช่วงๆ รวมทั้งรอยของการใช้วินช์ บ่งบอกว่าถ้าในช่วงฤดูฝนเส้นทางนี้นับว่าไม่ธรรมดาแน่

แต่การที่เราเดินทางมาในช่วงหน้าแล้งเช่นนี้ ก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ โดยเฉพาะเจ้าแมงหวี่ได้ออกลีลากันเต็มที่ เมื่อเจอเข้ากับเส้นทางลาดเอียง ทั้งซ้าย-ขวาพาให้หวาดเสียวอยู่ตลอด เส้นทางจะเริ่มลำบากหลังผ่านอ่างเก็บน้ำหินสีมาได้ประมาณสองกิโลเมตร และรวมทั้งมีทางแยกโยงระย้าเป็นใยแมงมุมมากมาย บางเส้นทางทะลุเชื่อมต่อกันได้ แต่ส่วนใหญ่เมื่อเดินทางเข้าไปจะเป็นทางตัน ในทริปนี้เราได้ม้าเร็วอย่างทีมเอ็นดูโร่ คอยวิ่งดูทางให้ตลอดป้องกันการหลงทาง รวมทั้งยึดหลักการขับรถเป็นขบวนคาราวานที่ดี นั่นก็คือ คันหลังเห็นท้ายคันหน้า

เราเดินทางต่อเนื่องมาจนถึงศาลพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งตั้งอยู่ด้านขวามือ(ต้องขออภัยไม่ทราบจริงๆ ว่าศาลเจ้าพ่อหรือเจ้าแม่นั้นชื่ออะไร) เราแวะพักและกราบไหว้ขอศีลขอพร และขอขมาที่ได้เข้ามาล่วงเกินในป่าผืนนี้ ตามความเชื่อแบบไทยๆ เรา จากนั้นก็ขับรถวนขวาไต่ขึ้นสันเขาไปเรื่อยๆ ช่วงนี้ แต่คันต้องคลานต้วมเตี้ยมไม่ต่างจากเต่า นื่องจากสภาพเส้นทางเป็นโขดหินเสียส่วนใหญ่ ทีมงานของเพื่อนไท ทีม ต้องส่งไม้เป็นทอดๆคอยบอกไลน์เป็นระยะๆ

จากเนินหินมาก็ต่อเนื่องด้วย เนินเอียงซ้ายสลับเอียงขวาไปตลอดเส้นทาง บางจุดทำให้รถเล็กๆ อย่าง SUZUKI CARIBIAN  ที่ฐานล้อแคบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วต้องหยุดชะงักไปเหมือนกัน ต้องอาศัยคนขึ้นไปถ่วงน้ำหนักจึงจะสามารถผ่านไปได้ เส้นทางยังไต่ตามความสูงของขุนเขาไปเรื่อยๆ ก่อนถึงยอดเขาไม้แดงด้านบน ก็มีทางเป็นร่องลึกยาวขึ้นเนินเกือบพอดีตัวรถ และเป็นเนินค่อนข้างยาวประมาณ 40-50 เมตรน่าจะได้ แต่มีทางเบี่ยงหลบอยู่ทางด้านซ้ายมือสำหรับรถเล็กที่ฐานล้อแคบๆ ส่วนรถใหญ่จำนวน 4 คันนั้น ขอมันในจุดนี้ หลังขับกินลมชมวิวกันมาตลอดครึ่งวัน อุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านมานั้น อาจจะสร้างปัญหาให้กับรถเล็กๆ แต่กับ Toyota LN 106 และ Toyota Hilux Vigo ผ่านกันมาแบบชิวๆ

เราหยุดพักทานอาหารกลางวันบนยอดเขาไม้แดง ก่อนจะออกเดินทางต่อไปยัง เนินไม้ซุง เหตุที่ชื่อเนินไม้ซุง เนื่องจากตลอดความยาวที่ขึ้นเนินประมาณ 60-70 เมตรนั้น มีร่องอันเกิดจากน้ำกัดเซาะสลับซ้าย-ขวา อยู่หลายจุดด้วยกัน เข้าใจว่าน่าจะเป็นชาวบ้านที่ใช้เส้นทางหาท่อนไม้มาถมร่อง นานวันเข้าท่อนไม้ก็จมไปฝังอยู่ตามร่อง บางก็โผล่พ้นดินขึ้นมา กลายเป็นกับดักรถไปในตัว แต่อย่างที่บอกว่าเราเดินทางมาในช่วงฤดูแล้งเช่นนี้ ความยากลำบากของเส้นทางก็ลดน้อยลงไปเยอะ ต่างจากช่วงฤดูฝน เฉพาะเนินซุงนี้มองด้วยสายตาคร่าวๆ เราอาจจะต้องเสียเวลานานนับหลายชั่วโมงทีเดียว กับจำนวนรถที่มากกว่า 10 คัน

ผ่านจากเนินไม้ซุงมา เส้นก็ไม่ต่างจากเดิมๆ เลาะไม่ตามไหล่เขา ขนานไปกับลำห้วยที่บัดนี้แห้งผาก แต่สิ่งที่น่ากวนใจสมาชิกมือใหม่ๆ ก็เห็นจะเป็นการเพิ่มเข้ามาของโขดหินน้อย-ใหญ่ ต้องคอยระแวงและระวังกันตลอดทาง  และไฮไลท์ของทริปนี้อยู่ที่เนินหูแปะ ชื่อนี้ผมไม่ได้ตั้งแต่เป็นชาวออฟโรดเราเองนั่นแหละที่เป็นคนตั้ง อันเนื่องจากเนินนี้มันเอียงจนหูคนขับแทบจะติดกับพื้นดินทีเดียว ความยากของเนินนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงต้น ที่เป็นเนินสลับซ้าย-ขวา รถที่ไม่มีระบบช่วยล็อกล้อจำพวก AIR LOCKER DIF LOCKERหรือ LIMITED SLIP จะลำบากอยู่สักหน่อย เพราะพื้นที่ที่ต่างกัน ล้อขวาลงร่อง ล้อซ้ายอยู่บนเนิน สภาพจึงไม่ต่างจากไม่กระดก เร่งแรงไปรถอาจจะพลิกคว่ำ หรือไม่เพลาขาดในจังหวะที่ล้อลอยอยู่กลางอากาศ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การวางล้อและการใช้จังหวะเดินรอบเครื่อง จากเนินไม้กระดกต่อมาก็ต้องวิ่งตะแคงข้างไปจนถึงยอดเนิน ในขณะที่บางคันจังหวะดีสามารถเกาะไลน์ซ้ายซึ่งเป็นทางเอียงเช่นกัน แต่ค่อนข้างเรียบก็ผ่านไปได้  แต่ถ้าพลาดหลุดไลน์รถจะพลิกคว่ำทันที ส่วนรถใหญ่นั้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรนัก อาศัยฐานล้อที่กว้างและกำลังเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูง สามารถกดคันเร่งผ่านไปด้วยดี แม้จะมีเสียวๆ บ้างกับการเอาสีข้างด้านคนขับไปถูเนิน

ก่อนอาทิตย์ยามเย็นจะลาลับขอบฟ้า ขบวนรถทั้งหมดของเพื่อนไท ทีม ก็เดินทางออกมาทะลุที่บริเวณที่พักสงฆ์ธรรมปรีดา ในเขตของหมู่บ้านบ้านบึง อ.บ้านคา รวมระยะทางที่เราขับมานั้นลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม โดยประมาณก็ตกราวๆ 15 กิโลเมตร นับว่าไม่มากไม่น้อยเกินไป สำหรับการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวหินสีในช่วงฤดูแล้งเช่นนี้ ด้วยว่าอุปสรรคต่างๆ ของเส้นทางถูกบั่นทอนความยากลำบากลงไปเยอะ

และไม่ต้องพูดถึงช่วงหน้าฝน ที่อาจจะต้องบวกเวลาเข้าไปอีกเท่าตัว เพราะหินสี มันมีดีกว่าที่พวกเราคิดเอาไว้เยอะนะสิครับ

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save