ผจญภัยไปกับเส้นทางวังน้ำเขียว-คลองบางพาบน้ำ บนวิถีแห่งการค้นหาป่าต้นน้ำกระบุรี

ฝนเทลงมาห่าใหญ่ หนักบ้าง เบาบ้าง สลับกันเป็นช่วงๆ ตลอดเส้นทางที่ทอดยาวลงสู่ภาคใต้ ในช่วงบ่ายแก่ๆ ก่อนจะหลุดตกไปหลังเวลาใกล้โพล้เพล้…เป็นเวลาเดียวกับที่รถค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่จังหวัดชุมพร ประตูแห่งภาคใต้อย่างช้าๆ ด้วยความที่ถนนเปียกชื้น และลื่นจนทำความเร็วไม่ได้ดั่งใจ  

ผมตัดสินใจเลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองชุมพร เพื่อทักทายรุ่นน้องก่อน พร้อมกับตุนอาหารใส่ท้องแถวๆ ปากน้ำชุมพร หลังจากขับแบบรวดเดียวตียาวจากกรุงเทพฯโดยที่แทบไม่ได้แวะที่ไหนเลย ด้วยกลัวว่าจะมาถึงชุมพรดึกเกินไป รวมทั้งขาล่องใต้ในช่วงบ่ายรถไม่หนาแน่นจนเกินไป ขับสบายกว่าช่วงอื่นๆ เสร็จสิ้นธุระเรื่องปากเรื่องท้องแล้ว ก็ออกเดินทางต่ออีกรอบ จุดหมายต่อไปคือ พฤกษารีสอร์ท ต.วิสัยเหนือ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองชุมพรไปราว 20 กว่ากิโลเมตร เป็นรีสอร์ทที่เงียบสงบของ คุณเจริญสุข ผลพฤกษาและคุณ วิรุณรัตน์ ผลพฤกษา จากชุมพรออฟโรด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นสนามแข่งขันรถยนต์ออฟโรด จนรู้จักกันดีของชาวออฟโรด  ก็ไม่ผิดหวังสองสามีภรรยายังให้การต้อนรับขับสู้ด้วยไมตรีที่ดีงามตามแบบฉบับของคนออฟโรด

เป็นอีกครั้งที่ต้องเดินทางแบบโดดเดี่ยวลงมาภาคใต้ หลังจากก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ทาง ปราการ พิทักษ์เจริญ หรือ ขวัญ GAZZY SHOP สมาชิกชมรมออฟโรดที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้โทรไปชักชวนไปเที่ยวป่า ที่ อ.กระบุรี จ.ระนอง โดยบอกคร่าวแค่เพียงว่า เส้นทางนี้เป็นเส้นทางต้นน้ำคลองละอุ่น ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำกระบุรี ที่ไหลลงสมทบกับทะเลอันดามันที่ อ.กระบุรี ทางเส้นนี้จะวิ่งเลาะลำห้วยไปเรื่อยๆ จาก อ.สวีไปตัดออกที่ อ.ละอุ่น

หลังนัดหมายวัน เวลา กันจนเรียบร้อย โดยผมขอมาพักดักรออยู่ที่ชุมพร เพราะไม่อยากตีรถยาวลงไปจนถึงสุราษฎร์ธานีอีกเกือบๆ 200 กิโลเมตร จึงตัดสินใจนอนพักเอาแรงรออยู่กลางทางดีกว่า

เช้าวันรุ่งขึ้น ปราการ พิทักษ์เจริญ ขับรถย้อนขึ้นมารับที่พฤกษารีสอร์ท สมทบกับขบวนทั้งหมดที่ อ.สวี ที่บริเวณแยกเข้าเขาทะลุ แหล่งปลูกกาแฟชื่อดังของเมืองไทย โดยมีรถทั้งหมด 10 คัน จากสุราษฏร์ธานี 4 คัน และเจ้าบ้านจาก NOC ชุมพร (NATURE ADVENTURE OF CHUMPON) อีก 6 คัน ซึ่งส่วนใหญ่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสองพี่น้องอย่าง ประทีป กับ อ.มาโนช วัฒนไชย นักท่องป่าตัวยงของชุมพร ที่เคยพาผมไปเปิดเส้นทางใหม่ที่บริเวณหลังสวนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

หลังจากจัดเตรียมเสบียงอาหารและสัมภาระที่จำเป็นเรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งขบวนออกเดินทางทันที โดยมุ่งหน้าไปทางด้านเขาทะลุ ตามเส้นทางบ้านไทยพัฒนา เราใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมงเศษๆ ก็ถึงยังบ้านในหุบ ต.เขาค่าย ปากทางเข้าสู่เส้นทางโดยมีทีมงานออฟโรดจาก จ.ระนอง มาดักรออยู่ก่อนแล้วจำนวน 2 คัน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านนำทาง

หลังจากพูดคุยและทักทายกันแบบหอมปากหอมคอ จึงทำให้ทราบว่า เส้นทางออฟโรดเส้นนี้ มีชื่อว่า “วังน้ำเขียว” เป็นทางลัดจาก อ.สวี จ.ชุมพร ตัดไปออกที่ อ.ละอุ่น จ.ระนอง ระยะทางจริงๆ ประมาณ 20 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น แต่เป็นเส้นทางรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนรถยนต์นั้นก็พอวิ่งได้ในช่วงฤดูแล้ง แต่ต้องเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น แต่ช่วงหน้าฝนถือว่ายากมาก เพราะต้องข้ามลำห้วยหลายจุด ซึ่งลำห้วยหลักก็คือ วังน้ำเขียว ที่ไหลไปสมทบกับคลองบางพาบน้ำ ไหลสู่ อ.ละอุ่น ปลายน้ำจะไหลลงแม่น้ำกระบุรี อ.กระบุรี จ.ระนอง และลงทะเลอันดามัน

เส้นทางวังน้ำเขียวนี้ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกงาว เป็นป่ารอยต่อที่กั้นแดนระหว่างชุมพรกับระนอง ครั้งอดีตเคยเป็นเส้นทางชักลากไม้เก่า ที่ได้รับสัมปทานโดย ยงยุทธ นพเกตุ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคประชาธิปัตย์ 3 สมัย จ.ระนอง แต่หลังจากมีการปิดป่า พี้นที่บางส่วนก็ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ส่วนที่ทำกินของชาวบ้านก็ถูกกันออก ปัจจุบันป่าในพื้นที่ราบและตามชายเขา ส่วนใหญ่จึงถูกหักร้างถางพงปลูกยางพารากันเป็นส่วนใหญ่ และมีการบุกรุกกันจนน่าเป็นห่วงว่าอีกไม่นานป่าต้นน้ำแห่งนี้คงหมดไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และที่น่าแปลกใจก็คือ ส่วนใหญ่สวนยางพารานั้น เป็นของคนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือคนอีสานเกือบทั้งหมด

แดดเริ่มส่องแสงแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทุกอย่างพร้อมขบวนทั้งหมดก็ออกเดินทางต่อกันอีกครั้ง จากบ้านในหุบ เส้นทางแม้จะเทคอนกรีตเป็นช่วงๆ แต่ก็แคบและตรงดิ่งขึ้นสู่เทือกเขาสูงชันด้านบนอย่างเดียว ทุกคันต้องปรับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนจาก 2 ล้อ เป็น ขับเคลื่อน 4 ล้อ แล้วเร่งส่งกันยาวตั้งแต่ตีนเนินในตัวหมู่บ้านจนกระทั่งขึ้นไปยังสันเขาด้านบน จากนั้นก็ค่อยๆ ลัดเลาะลงสู่พื้นราบด้านล่างของสันเขาอีกด้าน ทางลงนั้นเป็นทางดินที่ถูกขุดขึ้นมา นอกจากแคบและลาดชันแล้ว สองข้างทางยังเต็มไปด้วยหุบเหว หากเป็นช่วงฝนตกน่าจะลื่นเอาการ ถือว่าเป็นช่วงที่อันตรายมากที่สุด

หลังทุกคันลงมาถึงลำห้วยด้านล่างแล้ว ฝนก็เทลงมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ตกอยู่ชั่วครู่แดดก็แผดจ้าเช่นเดิม ฝนใต้ตกไม่นาน ตกๆ หยุด แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย โดยเฉพาะในพื้นที่ของระนอง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมือง ฝนแปดแดดสี่ เป็นเรื่องปกติที่หลังๆ มานี้ ผมเริ่มชินกับมันไปแล้ว

เราขับลงลำห้วยที่เต็มไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่มากมาย ตามกันมาเรื่อยๆ คันอื่นๆ ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรนัก ยกเว้นรถ MITSUBICHI TRITON ของ ปราการ พิทักษ์เจริญ ที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นรถสแตนดาร์ดเดิมๆ ยกสูงเพียงสองนิ้ว แต่เฟอร์นิเจอร์จัดเต็มด้วยของแต่งจาก IRONMAN 4×4 มีปัญหาเล็กน้อย เนื่องจากใต้ท้องรถต่ำกว่าคันอื่นๆ จึงถูกหินกระแทกอยู่บ่อยครั้ง ต้องอาศัยการเอาใต้ท้องถูลู่ถูกังเดินหน้าตามเพื่อนฝูงไปเรื่อยๆ

พวกเรายังคงขับรถไปตามลำห้วยเรื่อยๆ จากลำห้วยที่เต็มไปด้วยโขดหิน ชั่วไม่นานก็เริ่มเข้าสู่ลำห้วยที่เป็นทราย สลับกับการปีนป่ายขึ้นสู่ยอดเนิน และสวนยางพารา แต่ก็เพียงชั่วครู่ สุดท้ายเส้นทางก็เริ่มดิ่งลงสู่ลำห้วย สลับกันไปมาเช่นนี้

“เมื่อก่อนป่าสมบูรณ์แถวนี้ โอ้ย…สวนยางพาราไม่ได้เยอะขนาดนี้ ผมเคยเดินทางเข้ามาหลายครั้ง ติดอยู่กลางป่าออกไม่ได้ก็หลายหน เพราะช่วงฤดูฝนน้ำจะเยอะและมาไวมาก ก็ต้องนั่งรอจนน้ำลง จึงเดินทางต่อ” อ.มาโนช วัฒนไชย บอกเล่าให้ผมฟัง ตอนหนึ่งในขณะที่จอดพักขบวน

“ไม่น่าเชื่อว่าเผลอแป๊ปเดียวป่ายางเต็มไปหมด ดูสิขนาดเราเข้ามาลึกขนาดนี้ยังมีบ้านคนเลย” พูดแล้ว อ.มาโนช วัฒนไชย ก็ชี้ให้ดูบ้านไม้หลังเล็กๆ ที่ปลูกซ่อนอยู่กลางสวนยาง “อีกไม่กี่ปีป่าแถบนี้คงจะหมด หากยังรุกป่ากันเรื่อยๆ แบบนี้” พูดแล้วแกก็ลอบถอนหายใจเล็กน้อย

เส้นทางยังคงลัดเลาะไปตามลำห้วยเรื่อยๆ ยิ่งเข้ามาลึกทางยิ่งรกและลำบาก บางช่วงต้นไม้ใหญ่ถูกน้ำพัดมาขวางทาง ต้องช่วยกันตัด ช่วยกันยกเบี่ยงออกนอกเส้นทาง รถหลายคันเริ่มต้องอาศัยตัวช่วยอย่างวินช์เนื่องจากถูกทรายใต้น้ำสำแดงเดช ทั้งๆ ที่คันหน้าสามารถผ่านไปได้ แต่คันต่อไปติด หรือคันหน้าติด คันท้ายๆ กับผ่านไปได้ สลับกันอยู่อย่างนี้ตลอด

ในที่หลังจากเดินทางมาได้ประมาณ 7-8 กิโลเมตร ก็บรรจบกับจุดที่วังน้ำเขียวไหลมาบรรจบกับคลองบางพาบน้ำ เนื่องจากกอไผ่ขนาดใหญ่ล้มมาขวางทาง เราจึงหยุดพักขบวน ทานอาหารกลางวันและช่วยกันตัดกอไผ่ออกพอให้รถสามารถมุดผ่านไปได้ โดยมีรถของ มาโนช วัฒนชัย เป็นคันแรก ปราการ พิทักษ์เจริญ เป็นคันที่สอง เนื่องจากรถค่อนข้างหนัก รวมทั้งปั่นแรงจนยางหลุดขอบ ทำให้รถเกิดจมฝังอยู่ใต้พื้นทราย ต้องใช้วินช์ช่วยอยู่พักใหญ่จึงสามารถกู้รถขึ้นมาได้

เราเสียเวลาอยู่ที่จุดนี้นานพอสมควร จากนั้นจึงเดินทางท่องลำน้ำต่อมาเรื่อยๆ จุดไหนลึกก็หาทางตัดทางขึ้นด้านบน จากนั้นก็ลงลำห้วยเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ติดก็วินช์ สลับกันอยู่อย่างนี้ ก่อนตะวันลาลับเหลี่ยมเขาทั้งคณะก็สามารถเดินทางเข้าสู่เขตหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.ละอุ่นเหนือ ผมชะโงกหน้าไปดูจากเรือนไมล์รถ ระยะทางของเส้นทางจากบ้านในหุบ ถึงจุดนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 15-16 กิโลเมตร

หลังขับตระเวนหาจุดพักแรมอยู่ชั่วครู่ ในที่สุดก็ได้ชายหาดทรายเล็กๆ ริมโค้งน้ำติดกับหมู่บ้าน ด้านขวามือมีชะง่อนผาเป็นกำแพงธรรมชาติเป็นด่านกำลังลม ส่วนด้านซ้ายเป็นป่าโปร่งๆ ของสวนปาล์มของชาวบ้าน ความมืดมิดคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว ชั่วไม่นานราตรีกาลก็กลืนกินไปทั่วบริเวณ อากาศเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ หมู่ดาวน้อยใหญ่เริ่มส่งประกายแสงระยับระยับ กลางความมืดมิดอนธกาล ดนตรีไพรจากบรรดาแมลงปีกแข็งเริ่มกรีดปีก ประสานเสียงกับสายน้ำใสที่ไหลกระทบหิน เป็นบรรยากาศที่ถูกธรรมชาติปั้นแต่ง มอบกำนัลให้กับนักเดินทางทุกคน ไฟจากลานแคมป์เริ่มส่องสว่างเจิดจ้าขึ้นเรื่อยๆ ส่วนทางกับความมืด วงล้อมแห่งมิตรภาพเป็นไปอย่างออกรส เรื่องราวต่างๆ ถูกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนพรั่งพรูออกจากปากคนแล้วคนเล่า

ผมสลบไสลไปตอนไหนจำไม่ได้เหมือนกัน แต่ตื่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อย่ำรุ่ง เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คนต่างลุกขึ้นทำธุระส่วนตัว จัดเตรียมเสบียงอาหาร ก่อนที่สายๆ วันนั้นเราออกเดินทางแบบสบายๆ เดินทางต่อมาอีกราวหนึ่งกิโลเมตร ข้ามลำห้วยละอุ่น ทะลุออกบริเวณบางสะพานน้ำร่วมใจสามัคคี หมู่ 5 ต.ละอุ่นเหนือ ห่างจาก อ.ละอุ่น ประมาณ 22 กิโลเมตร ทั้งหมดจึงโบกมือล่ำลาและแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา

และสัญญาว่าจะกลับมาร่วมกันตามหาอีกเส้นทางหนึ่ง ที่มีชื่อว่า เขาชมดาว หนึ่งในสุดยอดเส้นทางที่เจ้าบ้านการันตีถึงความสวยงามและความโหดไม่แพ้เส้นทางไหนๆ และถึงวันนั้นผมก็หวังว่า พวกเขาคงไม่ลืมที่จะหนีบผมติดสอยห้อยตามไปด้วย

 

 

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save