ป่าชุมชนผืนใหญ่ใจกลางรอยต่อของบ้านสมเด็จเจริญ จ.กาญจนบุรี

เมื่อถึงช่วงฤดูร้อนของปี เทือกเขาแถบภาคตะวันตกที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ปกคลุมด้วยป่าไผ่เหลืองอร่ามแลดูแห้งแล้งไปทุกหย่อมย่าน โดยเฉพาะตั้งแต่ป่าเมืองกาญจน์ฯไล่เลียงมาทางด้านทิศตะวันออก ที่สุพรรณบุรี ต่อเนื่องขึ้นเหนือไปจนถึง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

ช่วงนี้นอกจากจะร้อนแบบแห้งๆ แล้ว ร้ายกว่านั้นยังเต็มไปด้วยหมอกควันตลบอลอวล จนรู้สึกแสบตาแสบคอ สาเหตุหลักเกิดจากการเผาไร่อ้อยของชาวบ้านที่ปลูกกันมากในพื้นที่แถบนี้  รวมทั้งไฟป่าที่ลุกลามไปตามเขาลูกต่างๆ ซึ่งในช่วงกลางคืนจะเห็นเด่นชัดมาก ดูสวยงามราวกับยอดเขาแต่ละยอด ถูกสวมเอาไว้ด้วยสร้อยสังวาลย์ แต่มันคือ พลังอำนาจแห่งธรรมชาติที่พร้อมจะเผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า

 ปีก่อนพวกเราเคยเดินทางเข้าป่าตามหาเขาหินซ้อน คนนำทางซึ่งเป็นน้องชายของช่างอุดม ด่านช้าง พาเข้าที่บ้านพุน้ำร้อน อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ปรากฏว่า ไปได้แค่ 2 กิโลเมตรก็ต้องถอยหลังกลับ เนื่องจากเป็นทางหินจริงๆ ไม่มีเส้นทางให้ไปต่อ โตรกผาที่สูงเสียดฟ้า ไม่สามารถนำพารถผ่านไปได้ในเพียงแค่ชั่ววันเดียว และที่สำคัญเส้นทางมันแคบเกินกว่ารถใหญ่จะผ่านไปได้ หากจะผ่านไปจริงๆ ก็ต้องมีการแต่งเส้นทางกันพอสมควร และสุดท้าย…เราก็ไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร ทะลุออกยังจุดไหน ก็เลยถอยกลับมาตั้งหลักใหม่

เขาหินซ้อนที่บ้านพุน้ำร้อน มันเป็นคนละที่และตั้งอยู่คนละฟากกับทริปนี้ที่เราจะเดินทางไป เขาหินตั้งอยู่ในพื้นที่ของบ้านหนองผักแว่น ต.สมเด็จเจริญ อ.หนองปรือ และมีการร่ำลือกันมานานแล้วว่า ยอดเขาด้านบน มีจุดชมวิวที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของสุพรรณบุรีซ่อนตัวอยู่ ชาวบ้านบางคนก็เรียกเขาหินซ้อนหรือบางคนก็เรียกลานหินซ้อน ตามลักษณะสัณฐานที่เป็นลานหินกว้างๆ มองเห็นวิวได้สุดสายตาแบบ 360 องศา ว่ากันว่าที่นั่นเป็นแหล่งน้ำผุดหรือพุ มีชื่อว่า พุอีเหม็น ไหลออกมาจากชั้นใต้ดิน มีน้ำไหลตลอดปี ในอดีตคือ จุดรวมพลของบรรดาพรานป่ามือดีในย่านตะวันตก ที่มักมาขัดห้างดักยิงสัตว์ป่าที่ลงมาหากินน้ำและดินโป่ง และเล่าลือกันว่า โป่งที่นี่เจ้าที่แรงมาก บนบานศาลกล่าวอะไรมักจะได้ตามที่ขอ

นั่นเป็นคำบอกเล่าของทิน หรือประทิน อดีตพรานใหญ่แห่งบ้านไผ่สีทอง ที่มีชีวิตโลดโผนอยู่ในป่าใหญ่แห่งนี้มาตั้งแต่เยาว์วัย จนแตกเนื้อหนุ่ม ก่อนจะผันตัวเองมาทำอาชีพลูกจ้างทั่วไป ในทริปเขารับหน้าที่เป็นผู้นำทาง พร้อมกับพรรคพวกของเขาอีก 3 คน ซึ่งมีความชำนาญพื้นที่ป่าในเขตด่านช้าง ไล่ไปจนจรดป่าหนองปรือ ทิม บอกกับเราสั้นๆ ก่อนออกเดินทางในช่วงเช้าวันเสาร์ของต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า “ป่าหนองปรือรวมทั้งที่ด่านช้างเกือบทั้งหมด เมื่อก่อนก็คือ ป่าที่เปิดให้ทำสัมปทานไม้ ครั้นเมื่อมีการปิดป่า ก็มีการเข้าไปขุดตอไม้เพื่อนำมาทำฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งหาของป่าของพวกชาวบ้านที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ตอนหลังนี้ก็มีการประกาศเป็นป่าชุมชนบ้านสมเด็จเจริญ ในสมัยก่อนเมื่อมีการสัมปทานไม้ บริษัทก็มีการตัดทางเพื่อลำเลียงไม้ออกมาจากป่า ทำให้เขาหินตั้งมีเส้นทางออฟโรดอยู่หลายเส้นทางด้วยกัน มีทั้งหนักและเบา เป็นทางขึ้นเนินสลับการทางหิน ร่องน้ำ และดินป่าไผ่ บางเส้นก็ค่อนข้างรก ช่วงหน้าฝนไม่ค่อยมีคนเดินทางมาเท่าไร เนื่องจากทางค่อนข้างยาก และลื่นมาก ”

หลังพิรี้พิไรกันจนสายโด่ง ขบวนรถทั้งหมดจึงเริ่มเคลื่อนตัวออกจากตลาดของอำเภอด่านช้าง มุ่งหน้าสู่ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี โดยวิ่งลัดเลาะตัดออกจากเขื่อนกระเสียว มุ่งหน้าสู่บ้านม่วงเฒ่า ท่ามกลางอากาศที่เริ่มร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่ายังไม่ทันเที่ยงวัน พยับแดดอันเกิดจากการหักเหของแสง ที่เป็นเหมือนภาพมายาลวงตา ราวกับมีบ่อน้ำอยู่ข้างหน้า แต่ยิ่งขยับเข้าใกล้เท่าไรก็ดูเหมือนมันจะยิ่งถอยห่างออกไปเรื่อยๆ คงไม่ต่างจากชีวิตของคนเราเท่าไรนัก มองไกล ๆ เหมือนมีตัวตนน่าสนใจ น่าค้นหา แต่พอเข้าจริงๆ กลับมีแต่ความว่างเปล่า ยิ่งค้นหายิ่งถอยหนีไปไกล

ทริปนี้เรารวบรวมจำนวนรถได้ทั้งหมด 10 คันด้วยกัน ทั้งจากชมรมยุทธหัตถีสุพรรณบุรีออฟโรด ชมรมขอนลอยอินดีด ชมรมซุ้มวัดป่า ซึ่งแต่ละคันก็เตรียมพร้อมในการต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายของเส้นทางที่ไม่อาจคาดเดาได้เต็มที่ หลุดจากด่านช้างมาไม่นาน ขบวนใหญ่ก็เดินทางมาสมทบกับรถจากชมรมซุ้มวัดป่า รวมทั้งบรรหาร จักษุ หนึ่งในสมาชิกชมรมยุทธหัตถีฯ ที่เดินทางมาดักรอล่วงหน้าแล้ว หลังพูดคุยทักทายกันเพียงชั่วครู่ ก็ตั้งขบวนออกเดินทางทันที

จากแยกไผ่สีทองหรือหนองผักแว่นมุ่งหน้าสู่บ้านม่วงเฒ่ามาเพียงไม่กี่ร้อยเมตร หัวขบวนก็เลี้ยวซ้ายจากถนนราดยางมุดหายเข้าไปในป่าอ้อย ที่บัดนี้อยู่ในช่วงของการเก็บเกี่ยวพอดี

“ไปไหนกันครับ…” ชาวบ้านที่กำลังตัดอ้อยตะโกนถามมา เมื่อเห็นขบวนรถจำนวนมากวิ่งผ่านไร่ของเขามา “ไปเที่ยวเขาหินตั้ง” หนึ่งในคณะตอบกลับไป “จะไปได้หรือ ไฟป่าทั้งนั้นเลยช่วงนี้ ดูโน้นซิทางขึ้นเขาไฟกำลังไหม้อยู่พอดี” ชาวบ้านที่กำลังตัดอ้อยคนเดิมบอกต่อ ทั้งคณะเงียบไม่มีใครโตเตอบต่อ ทำได้เพียงมองไปตามที่ชาวไร่อ้อยคนนั้นบอก

จริงอย่างว่า ไฟป่ากำลังไหม้อยู่บนเขาซึ่งเรากำลังจะไฟพอดี แต่ก็ดีหน่อยที่ไฟป่าในพื้นที่ป่าโปร่งแบบนี้ เป็นเหมือนไฟลามทุ่ง ไม่ลุกโหมกระหน่ำจนน่ากลัว ยกเว้นในช่วงที่พระเพลิงนั้นโหมไหม้ลามขึ้นยอดกอไผ่ผสมกับลมกรรโชก เที่ยวป่าหน้า ดีอย่างเดียว ไม่ต้องกังวลในเรื่องของเส้นทางมากนัก เพราะเส้นทางออฟโรดนั้น รู้กันอยู่แล้วว่า ความยาก-ง่าย ขึ้นอยู่ที่ฝนเป็นตัวแปร ปัญหาใหญ่เพียงอย่างเดียวที่ต้องระมัดระวังก็คือ ไฟป่า ที่มักจะพบเจออยู่เสมอโดยเฉพาะป่าไผ่และป่าโปร่งอย่างเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้นนั้นไม่ค่อยเกิดเท่าไรนัก

ไฟป่าก็มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในทุกยอดเขาที่เป็นป่าโปร่งและป่าไผ่ ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นป่าไฟป่านั้นเกิดจากสาเหตุอยู่เพียง 2 อย่างเท่านั้น อย่างแรกก็คือ เกิดจากธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน ก้อนหินกระทบกัน แสงแดดตกกระทบผลึกหิน แสงแดดส่องผ่านหยดน้ำ ปฏิกริยาเคมีในดินป่าพรุ การลุกไหม้ในตัวเองของสิ่งมีชีวิต (Spontaneous Combustion) แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากมนุษย์แทบทั้งสิ้น ในเมืองไทยเราเท่าที่ผมจำได้ เกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติคือ ฟ้าผ่าเพียง 4 ครั้ง เท่านั้น คือ ที่ภูกระดึง จ.เลย ที่ห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ ที่ท่าแซะ จ.ชุมพร และที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา นอกจากนั้นเกิดจากฝีมือมนุษย์เราทั้งสิ้น โดยมีสาเหตุต่างๆ กันไป ได้แก่  เก็บหาของป่า ด้วยการจุดไฟเพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือจุดเพื่อกระตุ้นการงอกของเห็ด หรือกระตุ้นการแตกใบใหม่ของผักหวานและใบตองตึง ปัญหาต่อมาคือ เผาไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบต่อไป ตลอดจนความประมาทเลิ่นเล่อ เกิดจากการเข้าไปพักแรมในป่า ก่อกองไฟแล้วลืมดับ หรือทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้นป่า เป็นต้น

เราออกเดินทางต่อโดยไม่สนใจคำเตือนของชาวไร่ พวกเขาได้แต่ส่ายหน้าราวกับไม่เชื่อว่าเราจะกล้าเดินทางต่อ เราวิ่งขึ้นๆ ลงๆ เนินเขาสูงชัน ที่ปกคลุมไปด้วยป่าอ้อย และโล่งเตียนในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ชั่วไม่นานก็สุดปลายทางที่ตีนเขา คนนำทางเริ่มฟันทางนำหน้าสางกิ่งไผ่ที่ค่อนข้างรกออก จนเผยให้เห็นเส้นทางเก่าดั่งเดิม ที่ไร้ร่องรอยล้อมมานานนับสิบปี

แค่แหย่หัวเข้าไป ก็ได้เจอกับเนินรับแขกแล้ว เป็นเนินป่าไผ่สูงชันยาวประมาณ 50 เมตร อาจจะเรียกว่าเป็นเนินรับแขกก็ว่าได้ แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับรถทั้ง 10 คัน ต่างทยอยนำรถผ่านเนินดังกล่าวขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ไม่เท่านั้น หลังจากผ่านพ้นเนินจนลับตาไปแล้ว ผมเดินตามขึ้นไป ปรากฏว่ามีพื้นที่ราบให้รถได้พักเพียงแค่ไม่กี่ จากนั้นต่อไปเป็นทางขึ้นสู่ยอดเขายาว เกือบๆ 200 เมตร และความลาดชันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 2 คันนำอย่างจันทร์ แช่มช้อย และ บรรหาร จักษุ เริ่มต้องใช้วินช์ช่วยที่ปลายเนิน ซึ่งเป็นดินผสมหินร่วนซุย ยิ่งปั่นยิ่งจม มีเพียงแค่อนันต์ ตั้งเจริญชัย เพียงคันเดียวที่ผ่านไปได้

เนินนี้ทั้ง JEEP CJ7 ของ ประจวบ สังข์มณี กับ SUZUKI CARIBIAN ของ วันชนะ ศรีเพชร ที่อุตสาห์เดินทางมาจากชลบุรี ต้องสังเวยเพลาท้ายไปทั้ง 2 คัน ติดค้างอยู่กลางเนิน และอะไรไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับกระแสลมที่เกิดพัดหวนทำให้ไฟป่าที่ครั้งแรกมุ่งหน้าลงใต้ กลับโหมไหม้ย้อนขึ้นเหนือมุ่งหน้าเข้าหาขบวนรถ ทำให้เกิดการชุลมุนเล็กน้อย และต้องรีบเร่งกู้รถย้อนศรไปป่าขึ้นไปยังยอดเนิน ที่บัดนี้โล่งเตียน เนื่องจากถูกไฟป่าไหม้จนเหลือแต่เถ้าถ่าน

ชุดกู้รถก็ทำหน้าที่ลากวินช์กันไป ส่วนที่เหลือก็ช่วยกันหักกิ่งไม้สดช่วยกันไล่ดับไฟป่า กว่าจะนำรถทั้งหมดผ่านขึ้นไปยังเนินเขาด้านบนได้ก็ใช้เวลาเกือบๆ 2 ชั่วโมง เนื่องจากอากาศที่ร้อนอยู่แล้วบวกกับไอระอุของไฟป่า ทำให้หมดเรี่ยวหมดแรง แสบหูแสบตาและหายใจติดๆ ขัดๆ ไปตามๆ กัน

รถสองคันที่เพลาขาด ตัดสินใจขอเดินทางย้อนกลับ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนอื่นๆ เพราะจากปากคำของทินบอกว่า จุดนี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ข้างหน้ายังมีเนินอีกหลายเนินและต้องข้ามเขาอีกอย่างน้อย 2 ลูก ทำให้ตอนนี้เหลือรถอยู่เพียง 8 คัน ที่ยังดั้นด้นเดินทางต่อไปข้างหน้า

“ตกลงผมจะไม่พาขึ้นลานหินซ้อนนะครับ เพราะเวลาคงไม่ทัน เพราะช่วงทางขึ้นนั้นต้องปีนหินกันหลายจุด เดี๋ยวจะมืดเสียก่อน ผมจะพาไปที่พุอีเหม็นแล้วก็ออกเลย กว่าจะออกได้ก็คงมืดหน่อย” ทิม พรานนำทางบอก

จากยอดเนินแรก ต่อด้วยยอดเนินที่สอง และยอดเนินที่สามก็ตามมา สภาพเส้นทางขึ้นๆ ลงๆ ตลอด หากเป็นช่วงฤดูฝนไม่อยากคิดจริงๆ ว่าเราจะต้องบวกเวลาไปอีกเท่าไร เนื่องจากความลาดชันของแต่ละเนิน บวกกับความยาวที่ต้องปั่นกันสุดแรงเกิด รวมทั้งบางช่วงก็ต้องปีนป่ายไปตามโขดหิน บางช่วงก็ต้องมุดผ่านป่าไผ่ที่ล้มขวางทาง ต้องยอมรับว่ามันเป็นเส้นทางที่ท้าทายนักท่องป่าอีกเส้นทางหนึ่ง

จากสายกระทั่งบ่ายคล้อย ในขณะที่อาทิตย์ใกล้ลาลับฟ้า เราก็มาถึงยังทางลงเขาร่องตัววี สภาพของเส้นทางนั้น น้องๆ ปิเต็งที่เป็นร่องตัววี อันเกิดจากกระแสน้ำไหลผ่านในช่วงฤดูฝน และยาวจากยอดเขาหลายลับไปในความมืดของหุบด้านล่าง อันเป็นที่ตั้งของพุอีเหม็น โป่งอาถรรพ์อันขึ้นชื่อของป่าชุมชนบ้านสมเด็จเจริญ หลังจากเล็งเหลี่ยมกันอยู่นาน ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ต้องคร่อมร่องไปอย่างเดียวโดยวางคนบอกไลน์เป็นระยะ เนื่องจากซ้ายมือเป็นเขา ขวามือเป็นเหวลึก ตกร่องตรงไหนก็วินช์อย่างเดียว ห้ามดิ้นเพื่อเป็นการถนอมรถและความผิดพลาดที่อาจจะล่วงลงเหวได้

จุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราต้องเผาผลาญเวลาไปค่อนข้างมาก จนพลบค่ำจึงพารถทั้งหมดผ่านลงไปยังพื้นราบของหุบเขาด้านล่างอันเป็นที่ตั้งของพุอีเหม็นได้ จุดนี้ถ้าเป็นฤดูฝนและต้องย้อนศรขึ้นไป ไม่ยากคิดเลยว่าจะมหาโหดแค่ไหน และต้องใช้เวลานานเท่าไร

ในป่ามักความมืดมักจะมาเยือนเร็วกว่าปกติ เช่นเดียวกับตอนนี้นาฬิกาข้อมือบ่งบอกว่าหกโมงเย็นเศษๆ แต่รอบด้านเริ่มถูกรัตติกาลคืบคลานเข้ามาครอบครอง ทำให้เราต้องรีบเร่งออกจากป่าให้ได้ โดยเฉพาะทินคนนำทางเริ่มกระสับกระส่าย เนื่องจากเขาหินตั้งมีเส้นทางเหมือนเขาวงกต แม้จะจัดเจนพื้นที่มากขนาดไหน แต่ในความมืดเขาก็ยอมรับว่า ไม่กล้ารับประกันในเรื่องของการหลงทางเช่นกัน

ในความมืดอนธกาลขบวนทั้งหมดยังคงวิ่งลัดเลาะไปตามลำห้วยที่แห้งผาก สลัลบกับขึ้นๆ ลงๆ ไปตามเนินเขา และร่องน้ำ อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า สภาพเส้นทางหากเป็นฤดูฝนน่าจะสาหัสสากรรจ์เอาเรื่อง เพราะดูจากเส้นทางแล้ว ต้องข้ามลำห้วยหลายแห่ง สภาพเส้นทางที่เป็นเนินดินป่าไผ่ และบ่อโคลนตลอดทาง หากจะเข้ามาเที่ยวรถต้องมีความพร้อมสูง รวมทั้งผู้นำทางที่เป็นคนในพื้นที่เพราะมีแยกเยอะมากด้านใน

กว่าจะหลุดออกสู่ป่าอ้อยได้เวลาก็เกือบสามทุ่ม โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายก่อนอกจากราวป่า เราถูกไฟป่ารอบอยู่รอบด้าน ได้ตื่นเต้นกับการผจญเปลวเพลิงกันอีกรอบ รวมทั้งผู้นำทางพาออกมายังบ้านห้วยใหญ่ วิ่งกันฝุ่นตลบอบอวลลัดกลับมาที่บ้านหนองผักแว่น

สุดท้ายทุกคันก็เดินทางออกมาอย่างปลอดภัย และจุดหมายปลายทางของพวกเราทั้งหมดคืนนี้อยู่ที่ การกางเต็นท์พักแรมริมเขื่อนลำตะเพิน ของบ้านวังโหรา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของบรรหาร จักษุ หนึ่งในสมาชิกชมรมยุทธหัตถีสุพรรณบุรีออฟโรด

และนี่คือ หนึ่งเส้นทางแห่งความท้าทาย ของป่ารอยต่อระหว่างสุพรรณบุรีกับกาญจนบุรี ที่พร้อมอ้าแขนต้อนรับแขกผู้มาเยือนทุกเมื่อ ไม่ว่าหน้าร้อน หน้าแล้ง หน้าฝน…แต่ต้องถามใจคุณก่อนว่า…พร้อมหรือไม่

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save