ขึ้นภาษี รถเกิน 7 ปี นโยบายนี้เต็นรถตายเกลื่อน ผลกระทบอื่นๆที่คุญคาดไม่ถึง

จากข่าวคราวของมาตรการการปรับภาษี อัตราภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป เพื่อต้องการกรตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษมากขึ้น

คุณศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้เผยว่า “อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 54,986 คัน หรือเพิ่มขึ้น 1.72% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และอาจมีแนวโน้มเพิ่มได้มากกว่านี้ โดยภาครัฐต้องช่วยกระตุ้นความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่มีอายุมากกว่า 7 ปี ขึ้นไป เนื่องจากปัจจุบันจัดเก็บอัตราคงที่หรือลดลง เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อรถรุ่นใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco Car) ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีราคาไม่แพง”

“รวมไปถึง รัฐบาลควรเพิ่มการจัดเก็บภาษีป้ายทะเบียนรถเพิ่มขึ้น โดยจัดเก็บตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มากก็ควรเก็บสูงขึ้น เหมือนขณะนี้ที่รถยนต์รุ่นใหม่ หากปล่อยก๊าซน้อยก็จะเสียภาษีน้อย ส่วนหนึ่งเป็นการสนองนโยบายรัฐให้ใช้รถยนต์ประหยัดพลังงาน ส่วนจัดเก็บสูงเท่าไร ก็ต้องมาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นได้”

เนื่องจากการปรับภาษีทะเบียนรถเก่าที่ใช้งานเกิน 7 ปีขึ้นไป อาจดูเหมือนกลยุทธ์ “ไม้แข็ง” สำหรับการกระตุ้นซื้อรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันและลดมลพิษที่มากขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์เก่าหรือเจ้าของกิจการเต๊นท์รถมือสองในหลายๆ ปัจจัย แต่ทั้งนี้ยังคงต้องรอดูสถานการณ์กันต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
Advertisement

ไอเดียที่ผุดออกมาจากมันสมองของ สศอ. ฟังดูแรกๆ ก็เหมือนจะดี รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกำหนดว่า อัตราภาษีนั้นจะถูกคำนวณจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถที่มีอายุเกิน 7 ปี ถ้าปล่อยก๊าซมากก็โดนอัตราภาษีสูง และหากเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดก็ควรปลดระวางรถเก่า แต่อีกนัยยะคือ เพื่อกระตุ้นความต้องการรถยนต์ใหม่ ส่งเสริมยอดผลิตยอดจำหน่ายในประเทศให้ขยายตัว ก็ลองวิเคราะห์กันดูนะครับว่ามันจะกระตุ้นความต้องการ หรือกระตุ้นต่อมอย่างอื่นมากกว่ากัน

ข้อกำหนดคือ รถที่มีอายุเกิน 7 ปี และ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก ถึงจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม หรือถ้าเกินมากๆ ก็โดนปลดระวาง

รถเก่าการสันดาปของเครื่องยนต์มันก็ต้องอ่อนแอลงบ้าง วัดค่า CO ยังไงโอกาสรอดมันคงมีไม่มาก แต่ถ้าเป็นห่วงเรื่องมลภาวะ ผมว่าไปดูทีพวกนิคมอุตสาหกรรมจะดีกว่ามั้ย เสียภาษีน้อยจากการส่งเสริมการลงทุน แต่การปล่อยมลพิษนั้นไม่ต้องพูดถึง มากกว่ารถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปีแน่ๆ ทีอย่างนี้ สศอ.กลับไม่ไปดูแล

ซึ่งถ้าวัดจากการกระทืบคีย์บอร์ดตอบสนองไอเดียรถยนต์อายุเกิน 7 ปี ที่จะออกมาชำเรารถยนต์ของประชาชนแล้ว พวกเรายินดีดมมลพิษตายดีกว่า ไม่มีเงินจนต้องอดข้าวตายนะครับ ความหิวมันทรมาน ยอมเลิกหายใจเอามลพิษเข้าปอดน่าจะดีกว่า เกิดมาชาติหน้าอาจจะได้ไม่ต้องพบเจอคนผุดไอเดียแบบนี้อีก

ในกรณีที่รถเกิน 7 ปี และดันมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก หากรถคุณเข้าทั้ง 2 เกณฑ์นี้ โดนแน่ๆ ภาษีอ่วม สุดท้ายคิดว่า ขายทิ้ง! ซื้อคันใหม่ เป็นไงดูแล้วเหมือนง่ายนะครับ ขายทิ้งแล้วซื้อคันใหม่ แต่อย่าลืมนะครับ ประเทศไทย ภาษีรถมันแพงหูตูบ ซื้อรถทีภาษีเอาไปแล้วเป็นเท่าตัวของราคารถ แล้วอย่างนี้ประชาชนตาดำที่หาเช้ากินค่ำจะไปซื้อรถใหม่ไหวหรือ รวมถึงการจะเอารถเก่าไปปล่อยในตลาดรถมือสอง ถึงเวลานั้นตลาดรถมือสอง เต็นท์รถ คงเจ๊งวินาศสันตะโรเป็นธุรกิจแรกไปก่อนแล้วล่ะ รับซื้อรถเก่ามาแล้วจะไปขายใคร…ว่ามะ

มาตรการของทาง สศอ.คือ หากค่าคาร์บอนไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานก็ให้ปลดระวางรถเก่าออกจากตลาด เขียนซะสวยหรู ตีความได้ว่า “โละทิ้ง” แล้วขยะรถยนต์ล่ะ จะเอาไปไหน มีมาตรการอะไรมารองรับ คุณนั่งผ่อนรถมา 5 ปี ใช้ได้อีก 2 ปี เป็นหนี้ใหม่อีกแล้ว เมื่อไรคนในประเทศมันจะลืมตาอ้าปากได้ล่ะพ่อคุณ
ในต่างประเทศ รถเก่าจะเสียภาษีมากกว่ารถใหม่หลายเท่าตัว พอรถมีอายุเกิน 5 ปี เค้าก็โละทิ้งเข้าสุสานบีบอัดรถยนต์ แล้วก็ซื้อคันใหม่ แต่รถใหม่ในต่างประเทศราคาโดยเฉลี่ยถูกกว่าในประเทศไทยประมาณ 3 เท่า ยอมโละทิ้งซื้อใหม่ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการเสียภาษี เอาวิธีจากประเทศเจริญแล้วมาใช้ เหมือนจะดูดี แต่ไม่มีมาตรการอะไรรองรับ รถยนต์ใหม่ก็ยังมีราคาแพง…จะไหวมั้ยล่ะ

หากคุณจะขึ้นภาษีรถเก่า ก็ควรจะลดอัตราภาษีรถใหม่ให้มันสมดุล เมื่อรถยนต์ใหม่ราคาถูกลง นั่นแหละถึงจะเรียกว่า กระตุ้นความต้องการรถยนต์ใหม่ แต่ไอเดียบรรเจิดเลิศหรูของ สศอ. เค้าไม่เรียกกระตุ้นนะครับ เค้าเรียกว่า “บังคับ ขีนใจ ให้ต้องใช้รถใหม่” ไอเดียชำเราประชาชนแบบนี้ ใครก็คิดเป็นครับ ไม่ต้องเป็นคนระดับ ผอ. แค่เด็กเรียน กศน. มันก็คิดได้

ผลกระทบที่จะได้รับจากการขึ้นภาษีป้ายรถอายุเกิน 7 ปี สามารถจินตนาการได้ตามนี้เลยครับ

  1. ธุรกิจแรกที่จะบรรลัยเจ๊งก็คือ ตลาดรถยนต์มือสองหรือเต๊นท์รถ ปิดตัวได้ทันทีแบบไม่มีเงื่อนไข และที่ลงทุนไปแล้วใครจะรับผิดชอบ

      2. ธุรกิจต่อมาก็คือ โรงงาน ห้างร้าน บริษัท กิจการขนส่งทุกประเภท กิจการรถยนต์สาธารณะ เพราะคุณถูกบังคับให้เปลี่ยนรถใหม่ทุก 7 ปี โดยปริยาย ต้องควักกระเป๋าลงทุนใหม่ทุก 7 ปี ผลที่ตามมาคือ การผลิตสินค้าทุกชนิดจะมีต้นทุนสูงขึ้น ราคาแพงขึ้น แต่ผู้บริโภคมีรายได้เท่าเดิม

      3. กิจการอะไหล่ยนต์ ช่างยนต์ อู่ซ่อมรถ เป็นรายต่อไป ในเมื่อไม่สามารถใช้รถได้เกิน 7 ปี จะเอารถไปซ่อมทำลิงฮารัมเบอะไรล่ะครับ พังก็โยนทิ้งซื้อใหม่ ยิ่งปัจจุบันรถบางรุ่นบางยี่ห้อให้ประกันยาวถึง 5 ปี หมดประกันก็เลิกใช้ ซื้อคันใหม่ ใครจะซื้ออะไหล่ ใครจะจูงรถไปหาช่าง หรือเอารถเข้าอู่หลังจากรถหมดประกัน

      4. กิจการต่อไปที่โดนหางๆ ก็คือ พวกอุปกรณ์แต่งรถ เครื่องเสียง ในเมื่อรถไม่ได้มีชีวิตอยู่กับคุณยาวนานอีกแล้ว แต่งไปก็เสียเงินเปล่าเดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยนคันใหม่

5.ในเมื่อกิจการช่างยนต์ อู่ซ่อมรถ ไม่มีแล้ว ใครมันจะไปเรียนสาขานี้อีกล่ะครับ เรียนจบจะไปเปิดอู่ซ่อมรถหากินกับใคร เรียนจบมาก็ทำได้อย่างเดียวคือ เป็นช่างเทคนิคอยู่ตามโรงงานของบริษัทรถยนต์ แล้วงานประเภทนี้จะเปิดรับปีล่ะ 500,000 คน รึเปล่าล่ะครับ เพียง 5,000 คนยังลำบาก แต่ข้อดีก็มีอยู่นิดนึงคือ ลดปริมาณการยกพวกตีกันของเด็กช่างกล!!!

ถึงตรงนี้คงพอได้ข้อสรุปแล้วนะครับว่า ขึ้นอัตราภาษีรถอายุเกิน 7 ปี แล้วดียังไง ถ้ายังไร้มาตรการรองรับ กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา แม้ในขณะนี้ทางกระทรวงการคลังจะไม่รับไอเดียบรรเจิดของ สศอ. แต่อนาคตใครจะรู้อาจจะเปลี่ยนใจแบบสายฟ้าแลบ เรื่องได้เงินภาษีเพิ่มมีรัฐบาลชุดไหนไม่แฮปปี้ มิเช่นนั้นภาษีทุกประเภทคงไม่ขึ้นกระฉูดแตกทั้ง ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีมรดก ภาษีสรรพสามิต ตอนนี้กำลังฮิตก็ภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ห่วงประชาชนมากก็ให้เกษตรกรเลิกปลูกอ้อย ปลูกมะพร้าว ปิดโรงงานน้ำตาลกันไปเลยดีมั้ยล่ะ จะได้ไม่ต้องผลิตน้ำตาลให้ประชาชนกินให้เสียสุขภาพกันอีก

ท่านอาจกำลังคิดว่า การขึ้นภาษีรถที่มีอายุเกิน 7 ปี มันจะส่งแต่ผลเลวร้ายเพียงด้านเดียวอย่างนั้นเรอะ! ข้อดีทาง สศอ.เค้าก็บอกแล้วไงว่า ลดมลภาวะ กระตุ้นยอดผลิตยอดจำหน่าย ยอดผลิตรถออกมาจอดดูเล่นๆ น่ะเป็นไปได้ แต่ยอดจำหน่ายนี่สิ ใครจะซื้อ กว่าจะผ่อนรถหมดก็หมดตัวแล้ว ใครมันจะอยากลงทุนเป็นล้านแลกรถ 1 คัน ใช้ได้ 7 ปี แล้วลงทุนใหม่อีก กลับกันยอดจำหน่ายรถยนต์มันจะลดลงฮวบฮาบมากกว่า เพราะมูลค่าของรถมันหายไป ! ขายต่อก็ไม่ได้ จากรถ 7 ปี 10 ปี ที่เคยมีมูลค่าอยู่บ้างยามขายต่อ เป็นต้นทุนให้ดาวน์รถคันใหม่ กลายเป็นว่าหลัง 7 ปี รถคือ “ขยะ” ซาเล้งขายของเก่ายังอาจจะเมินเอาด้วยซ้ำ

ข้อดีอีก 1 ข้อ ก็คือ จะมีอีกกิจการที่รุ่งเรืองขึ้นมา คือ สถานตรวจสภาพรถ หรือตรวจวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ “พี่ๆ รถพี่ค่าคาร์บอนไดออกไซด์เกินมาตรฐานนะครับ อยากให้ค่าคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงมั้ยครับพี่ ไปคุยกันหลังร้าน” คงไม่ต้องบรรยายต่อนะครับว่า หลังร้านเค้าไปคุยอะไรกัน

บทความดีๆตรงใจจาก สยามดราม่า ดอทคอม

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save