บันได 4 ชั้นสำหรับมือใหม่ซื้อ Car Seat ให้ลูก
อาจจะเพราะรู้หรือไม่รู้ แต่เด็กเล็กมักจะถูกละเลยในเรื่องของความปลอดภัยในระหว่างการเดินทางอยู่เป็นประจำ ดังนั้น ภาพที่เราได้เห็นผู้โดยสารตัวน้อยนอนหลับอยู่ในอกแม่ หรือกระโดดโลเต้นอยู่ในห้องโดยสารระหว่างที่รถยนต์กำลังเคลื่อนที่เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้บนท้องถนนในบ้านเรา
ไม่มีใครห้ามไม่ให้คุณพาเด็กเล็กเดินทาง เพียงแต่ว่าเมื่อคุณต้องกระเตงพวกเขาไปไหนมาไหนบนยานพาหนะที่มีการเคลื่อนที่ ก็ควรที่จะมอบความปลอดภัยในการเดินทางให้กับพวกเขาด้วยเช่นกันกับการติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car Seat ซึ่งเปรียบเสมือนกับเข็มขัดนิรภัยสำหรับเด็ก
การเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัวเป็นสิ่งที่คนไทยในยุคนี้ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าคำว่าครอบครัวนั้นไม่ได้มีแค่คุณกับผมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดาเด็กๆ ทั้งหลายที่อยู่ในครอบครัวของคุณด้วย ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้เด็กๆ เหล่านี้นั่งอยู่บนเบาะนั่งอย่างอิสระแล้วใช้เข็มขัดนิรภัยคาดลงไป หรือปล่อยให้เล่นกันอย่างอิสระ คุณควรจัดเตรียมเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้กับพวกเขา
อย่าบอกว่า ‘ตัวเองขับรถระมัดระวังอยู่แล้ว’ หรือ ‘ขับช้าๆ ไม่เป็นอะไรหรอก’ เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าไม่ได้มาจากคุณ ก็มาจากคนอื่นที่อยู่บนท้องถนน และความปลอดภัยเป็นสิ่งที่อะลุ่มอะหล่วยไม่ได้ มีแค่ ‘ต้องทำ’ เท่านั้น
1.ประเภทของเบาะ…คุณต้องรู้จักก่อน
เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กก็เหมือนกับอุปกรณ์หลากหลายอย่างนั่นแหละ คุณต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมันก่อน ไม่ได้เดินดุ่ยๆ เข้าไปซื้อเลย เพราะเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะต้องถูกเลือกอย่างเหมาะสมกับวัยและสรีระของเด็กเพื่อความปลอดภัยในการปกป้องอย่างสูงสุด
ในตลาดทั่วไปมีการแบ่งเบาะนั่งเด็กออกเป็น 4 แบบด้วยกัน ซึ่งแต่ละแบบก็มีคุณสมบัติและหน้าที่ในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป
1.Infant Carrier Seats สำหรับเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ 9.09 กิโลกรัม หรือ 20 ปอนด์ และความสูงประมาณ 26 นิ้ว ซึ่งบางยี่ห้อจะขายเป็นลักษณะคล้ายแปลหิ้วแบบ Built-in รวมกับชุดรถเข็นเลยก็มี เรียกว่าแบบ 3-1 ซื้อมาแล้วได้ทั้งเบาะนั่งนิรภัย รถเข็น หรือแปลหิ้วเวลาพาเจ้าตัวเล็กไปหาหมอ
2.Rear-Facing Convertible Seats สำหรับเด็กที่มีอายุ 6 เดือนจนถึง 1 ปี ซึ่งมีน้ำหนักไม่เกิน 13.6 กิโลกรัม หรือ 30 ปอนด์ และเมื่อนั่งในเบาะแล้ว ขอบบนของเบาะมาจนถึงด้านบนของศีรษะเด็กจะต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 1 นิ้ว เพื่อความปลอดภัยในกรณีที่อาจจะกระแทก เพราะเบาะแบบนี้ยังต้องติดตั้งในลักษณะ Rear Facing หรือหันหัวเด็กไปทางด้านหน้าของรถ
3.Forward Facing Seat หรือ Toddle Booster Seat เหมาะใช้กับเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักไม่เกิน 40 ปอนด์ หรือ 18.8 กิโลกรัม หรือดูจากเมื่อเด็กนั่งอยู่ในเบาะ บนสุดของหัวไหล่จะต้องอยู่ในระดับต่ำกว่าแนวของเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดของตัวเบาะ และเป็นกลุ่มที่มีตัวเลือกหลากหลายแบบ
Booster หรือเบาะนั่งเสริม มีทั้งรูปแบบที่เป็นเบาะทั้งอันมีทั้งที่รองและพนักพิงหลัง หรือว่าเป็นแค่เบาะรองนั่งอย่างเดียว โดยจะใช้งานร่วมกับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดของเบาะหลัง ซึ่งเบาะประเภทนี้เป็นจุดสุดท้ายของเบาะนั่งนิรภัยก่อนที่ตัวเด็กจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การโตเต็มวัยสำหรับการใช้เข็มขัดนิรภัยในรถยนต์
โดยปกติแล้ว Booster จะใช้กับเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-8 ปี ซึ่งมีความสูง 4 ฟุต 9 นิ้ว หรือ 142 เซ็นติเมตร และก็รวมถึงผู้ใหญ่มีความปิดปกติกับสรีระด้วย เพราะตัวเบาะจะช่วยรองให้ระดับในการนั่งของเด็กอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับการใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดในเบาะหลังของรถ
นอกจากนั้น ในฝั่งยุโรปยังใช้วิธีแบ่งประเภทของเบาะออกเป็นขั้น หรือ Stage ตามมาตรฐานการทดสอบของยุโรปที่เรียกว่า ECE ซึ่งมี 2 มาตฐาน คือ ECE R44.03 and ECE R44.04 แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ต่างจากการแบ่งข้างบนสักเท่าไร และผมคิดว่าวิธีนี้ทำให้เลือกซื้อเบาะได้ง่ายและสะดวกกว่าด้วยซ้ำ
Stage 1 = Groups 0 and 0+ ซึ่งแบบแรกสำหรับเด็กอายุ 6-9 เดือนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม และอย่างที่ 2 สำหรับเด็ก 12-15 เดือนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม
Stage 2 = Group 1 เด็กที่มีน้ำหนักระหว่าง 9-18 กิโลกรัม หรือใช้ได้ตั้งแต่ 9 เดือนจนถึง 4 ปี
Stage 3 = Group 2 เด็กที่มีน้ำหนักระหว่าง 15-25 กิโลกรัม หรือใช้ได้ตั้งแต่ 4-6 ปี
Stage 4 = Group 3 เด็กที่มีน้ำหนักระหว่าง 22-36 กิโลกรัม หรือใช้ได้ตั้งแต่ 6-11 ปี
ถ้าว่ากันตามการแบ่งประเภทของยุโรปแล้ว เบาะนั่งจะมีแค่ 3 แบบเท่านั้น คือ สำหรับแรกเกิดที่อยู่ใน Group 0 และ 0+ ตามด้วยแบบ Toddle ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Group 1 และ Booster ที่อยู่ในกลุ่ม Group 2 และ 3 และในบางครั้งเบาะนั่ง 1 ตัวอาจจะสามารถผ่านมาตรฐานการทดสอบโดยได้เรทที่รองรับ Stage ในกลุ่มที่สูงกว่า เช่น เบาะนั่งในแบบ Group1 อาจรองรับกับการใช้งานใน Group 2 หรือ 3 ก็ได้ ถ้าสามารถผ่านการทดสอบภายใต้ข้อกำหนด
ตรงนี้ต้องดูที่ป้ายบอกจากผู้ผลิตเบาะนั่งเด็กให้ดี หรือพูดง่ายๆ คือ ท่านผู้ปกครองควรหาข้อมูลจากเว็บไซต์และทำการบ้านให้เยอะๆ ก่อนตัดสินใจ
ประโยชน์ของเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก
-ลดอาการบาดเจ็บของเด็กในระหว่างการเกิดอุบัติเหตุ
-เป็นที่พักผ่อนของเด็กในระหว่างเดินทาง
-ลดความเมื่อยล้าในการที่จะต้องอุ้มหรือนั่งตักของผู้โดยสารที่ต้องดูแลเด็ก
-ลดสิ่งรบกวนสมาธิในระหว่างขับรถ
ทำไมไม่ใช่เข็มขัดนิรภัยคาดให้เด็กเลยละ
Car Seat ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับเข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นเข็มขัดนิรภัยที่ถูกออกแบบมาเพื่อเหมาะสมกับสรีระที่ยังไม่โตเต็มวัยเท่านั้นเอง ดังนั้น ความคิดที่ว่าการใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งมากับตัวรถกับเด็กที่ยังไม่โตเต็มวัยถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก
เข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งมากับตัวรถได้รับการออกแบบโดยอิงสรีระของผู้ใหญ่ที่โตเต็มวัยเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในการนำมาคาดกับเด็กไม่ว่าจะเล็กหรือโต และก็รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีความปิดปกติของขนาดสรีระด้วย ซึ่งในบางเว็บไซต์ระบุว่า เด็กจะใช้เข็มขัดนิรภัยได้โดยไม่ต้องใช้เบาะนั่งเสริม หรือ Booster ก็ต่อเมื่อมีความสูงเกิน 4 ฟุต 9 นิ้ว หรือ 142 เซ็นติเมตรขึ้นไป
จากการทดสอบในต่างประเทศพบว่า การนำเข็มขัดนิรภัยมาคาดให้กับเด็ก เมื่อเกิดการชน แรงกระชากจะส่งผลต่ออวัยวะภายในตรงช่องท้อง และขนาดของร่างกายที่เล็กของเด็กก็จะมีการเคลื่อนตัวไถลลง ทำให้เข็มขัดในส่วนที่พาดตรงไหล่บาดเข้าที่ลำคอ ผลคือ มีความเสี่ยงสูงที่เด็กจะคอขาดได้จากแรงกระชากที่เกิดขึ้น
ดังนั้น ถ้ายังเป็นเด็กควรนั่งอยู่บน Car Seat จะปลอดภัยมากที่สุด
แล้วจะเลือกแบบไหนดีละ ?
การจะเลือกซื้อเบาะแบบไหนนั้น ให้หันไปมองเจ้าตัวเล็กที่จะต้องนั่งเป็นหลัก และเวลาจะซื้อทุกครั้ง ควรนำลูกไปลองด้วยตัวเอง เพราะเด็กจะนั่งสบายหรือไม่สบายกับรูปทรงของเบาะ หรือวัสดุของตัวเบาะนั้น ต้องลองกับของจริงเท่านั้น
นอกจากเรื่องของคนที่จะต้องนั่งแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าในการเลือกซื้อ คือ
1.ช่วงอายุที่ต้องการใช้งาน : ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเลือกใช้งาน Car Seat ที่ตรงกับวัยและช่วงอายุของเด็ก ไม่ต้องซื้อเผื่อเพราะ Car Seat ไม่ใช่เสื้อผ้า แต่จะส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้งานเพราะประสิทธิภาพในการปกป้องจะลดลง และในทางกลับกันอาจจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
ในกรณีที่คุณมีการวางแผนการใช้งานอย่างเป็นระบบ สิ่งที่ต้องทำคือ ค้นหา Car Seat ที่ตรงกับความต้องการของคุณเองให้เจอ เพราะเบาะนั่งบางรุ่นถูกออกแบบมาให้มีการใช้งานที่ครอบคลุม อาจจะตั้งแต่อายุ 1 ปีจนถึง 6-7 ปีเลยก็มี โดยตัวผู้ผลิตจะออกแบบให้ตัวเบาะสามารปรับหรือถอดชิ้นส่วนออกมาเพื่อเปลี่ยนจากเบาะแบบหนึ่งไปเป็นเบาะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเท่าที่เห็นในท้องตลาดคือ Recaro Young Sport
ตรงนี้มีข้อดีในเรื่องของความยืดหยุ่นในการใช้งาน แต่ข้อด้อยอาจจะมีเรื่องของประสิทธิภาพในการปกป้องที่อาจจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเบาะที่ออกแบบบมาให้ตรงกับช่วงอายุที่ใช้งาน
2.แบบธรรมดาหรือ ISOFIX : นี่คืออีกสิ่งที่เจอเสมอ คือ แล้วจะต้องเลือกแบบไหนดี ประเด็นมีอยู่ 2 อย่างที่จะต้องนำมาใช้ในการพิจารณาร่วม คือ รถยนต์ของคุณ และงบประมาณ ถ้าอย่างแรกในตัวรถมีการติดตั้งจุดยึดที่เรียกว่า ISOFIX มาให้ (รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ขายในบ้านเราหลังจากปี 2010 มักจะมีติดตั้งมาให้จากโรงงานแล้วในเกือบทุกเซ็กเมนต์) คราวนี้สิ่งที่คุณต้องกังวลต่อไปคือ เรื่องของงบประมาณ เพราะส่วนใหญ่แล้วเบาะนั่งที่มี ISOFIX จะมีราคาแพงกว่ารุ่นปกติอยู่ราวๆ 20-30% ในกรณีที่เปรียบเทียบกับรุ่นเดียวกันระหว่างมีกับไม่มีระบบนี้ และถ้ามีระบบ ISOFIX เราแนะนำให้ยอมจ่ายแพงไปเถอะ เพราะมีประสิทธิภาพในการยึดรั้งที่ดีกว่า
3.ต้องดูสติกเกอร์ : เพราะ Car Seat เป็นเรื่องของความปลอดภัย ดังนั้น เรามักจะเน้นย้ำให้ทุกคนใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งตามปกติแล้ว แบรนด์ที่ได้มาตรฐานและผ่านการทดสอบจะมีสติกเกอร์ตัวนี้แปะอยู่เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของตัวเบาะ โดยจะเป็นสติกเกอร์ที่ระบุถึงมาตรฐานที่ได้รับจากการทดสอบจากหน่วยงานอิสระที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคนั้นๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ควรนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณา เพราะเท่ากับว่าเบาะนั่งนิรภัยตัวนั้นได้รับการทดสอบจนมีมาตรฐานความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ แต่นั่นก็หมายความว่าคุณต้องจ่ายแพงขึ้นมาอีกหน่อยกับของที่มีคุณภาพ
ISOFIX คือ อะไร ?
ISOFIX เป็นมาตรฐานจุดยึดที่มีติดตั้งในรถยนต์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และรวมถึงบ้านเรา (ถ้ามี) หรือบางทีก็ถูกเรียกว่า UCSSS- Universal Child Safety Seat System แต่ในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า LATCH หรือ Lower Anchors and Tethers for Children และในแคนาดาใช้ชื่อว่า Canfix หรือ Luas Lower Universal Anchorage System
ทั้งหมดแม้ว่าจะเป็นรูปแบบของระบบการยึดเบาะนั่งเด็ก แต่ถ้ามองในรายละเอียดจริงๆ แล้วจะพบกับความแตกต่างในเรื่องของชิ้นส่วนในการยึดรั้ง อย่างระบบ LATCH จะมีลักษณะคล้ายกับสมอบกสำหรับยึดด้านบนของตัวเบาะ ส่วนที่ยึดด้านล่างจะเป็นหูเกี่ยวคล้ายกับตะขอของพวกนักปีนเขา
ดังนั้น คนที่ซื้อเบาะนั่งจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ควรดูรายละเอียดให้ดีว่านอกจากการใช้กับระบบ LATCH แล้ว เบาะนั่งเหล่านี้สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดยึดรั้งตัวเบาะได้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็รวมถึงเบาะที่ใช้กับจุดยึด ISOFIX ด้วย เพราะบางรุ่นถูกออกแบบมาเฉพาะกับรถยนต์ที่มีระบบนี้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดได้ ต่างจากเบาะนิรภัยที่ใช้กับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ซึ่งบางยี่ห้อจะมีชุดติดตั้ง ISOFIX เข้ากับตัวเบาะเพื่อใช้กับรถยนต์ที่มีจุดยึด ISOFIX แยกขายต่างหาก
ISOFIX เป็นมาตรฐานของ International Organisation for Standardisation โดยเป็นมาตรฐานสำหรับหัวข้อ ISO 13216-1 เกี่ยวกับเรื่องของการยึดรั้งในตัวรถ และก็รวมถึงเบาะนั่งเด็กใน Group I ซึ่งตรงตัวเบาะบางรุ่นจะถูกออกแบบให้มีแท่งยาวๆ อยู่ตรงด้านล่างฝั่งซ้ายและขวาของตัวเบาะ โดยวิธีใช้ก็เสียบแท่งนี้เข้ากับตัวล็อกของระบบที่ติดตั้งมาจากโรงงานในรถยนต์ และตรงด้านบนของตัวเบาะนั่งนิภัยของเด็กก็จะมีการยึดรั้งด้วยสายคาด ซึ่งติดตั้งอยู่ตรงแผงลำโพงด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เบาะหน้าคะมำไปทางด้านหน้าในกรณีที่เกิดการชน
จุดประสงค์ของการออกแบบ ISOFIX คือ วิธีที่สะดวกและถูกต้องในการติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยเด็กเข้ากับตัวรถ เพราะแค่เสียบเข้ากับช่อง ISOFIX บนเบาะก็เสร็จแล้ว เพราะก่อนที่จะมีการออกแบบตัวยึดนี้ มีการเซอร์เวย์และพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กไม่ถูกต้อง และการยึดรั้งโดยใช้เข็มขัดนิรภัย 3 จุดของตัวรถยังไม่แน่นหนาพอ เพราะเข็มขัดสำหรับรถยนต์บางรุ่นอาจจะสั้นกว่าหรือยาวกว่าบางรุ่น
3.เลือกของใหม่ดีที่สุด
Car Seat มีวันหมดอายุไหม ?
คำถามนี้น่าสนใจ…แม้ว่าทางภาครัฐจะไม่ได้มีการระบุวันหมดอายุของตัวเบาะ แต่เพื่อความปลอดภัยทางผู้ผลิตมีการกำหนดเอาไว้ในกล่องหรือคู่มือ ซึ่งอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยของ Car Seat 1 ชุดนับจากวันที่ผลิตควรจะอยู่ที่ 8-10 ปี ด้วยเหตุผลในหลายๆ ด้าน
-ความเสื่อมของวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของโครงสร้าง : ส่วนใหญ่แล้วตัวเบาะจะมีส่วนประกอบของเหล็กและพลาสติกสำหรับตัวโครงเบาะ ซึ่งปกติแล้ว Car Seat จะถูกติดตั้งอยู่ในห้องโดยสารเสมอ และมีเรื่องของความร้อนในขณะจอดตากแดดรวมถึงเรื่องของการกระชากและการกระแทกในระหว่างถอดเข้าถอดออกในระหว่างใช้งาน
-ความเสื่อมของวัสดุที่เป็นตัวเบาะและระบบยึดรั้ง : ในส่วนของเบาะนั่น จะมีส่วนผสมของผ้าที่ใช้ทำที่หุ้ม ฟองน้ำ และโฟม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความเสื่อมตามอายุขัย เช่นเดียวกับเข็มขัดนิรภัยที่ยึดอยู่บนตัวเบาะซึ่งจะต้องถูกเข้าถอดออกหลายต่อหลายครั้งตลอดอายุการใช้งาน
-เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป : อย่าลืมว่า Car Seat ก็คือ สินค้าอย่างหนึ่ง และดันเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกฎและข้อบังคับทางภาครัฐที่มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ดังนั้น เบาะรุ่นเก่าๆ อาจจะไม่สอดคล้องกับการใช้งานกับในปัจจุบัน เพราะมาตรฐานที่ทดสอบ ณ ตอนที่เบาะรุ่นนั้นวางขายอาจจะยังไม่เข้มงวดหรือมีมาตรฐานที่ดีพอ อีกทั้ง การพัฒนาตัวเบาะเองในเรื่องขององค์ความรู้จากบริษัทผู้ผลิตยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แค่ 3 ข้อนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้การเลือกซื้อ Car Seat ควรเน้นความใหม่สดเป็นหลัก เพราะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย และอายุของเทคโนโลยี
แล้วของมือสองน่าซื้อไหม ?
ถ้าถามว่าสินค้ามือสองน่าซื้อไหม คำตอบคือ ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไร เพราะจริงอยู่ที่อาจจะมีราคาถูกกว่าสัก 50-60% แต่อย่างที่เขียนข้างต้นในเรื่องของอายุการใช้งานที่แม้ว่าจะไม่มีจุดเสื่อหรือแตกหักให้เห็น แต่ด้วยอายุที่เยอะและผ่านการใช้งานมาแล้ว แถมเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ยังไงควรเลือกของใหม่ดีกว่า
นอกจากนั้น เรายังไม่ทราบที่มาที่ไปของการใช้งานที่ผ่านมาด้วยแล้ว อันนี้ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะคงไม่ดีแน่ ถ้าเมื่อถึงเวลาที่ Car Seat จะต้องทำหน้าที่ของตัวเองในการปกป้องชีวิตน้อยๆ แล้วดันทำได้ไม่เต็มที่
4.ได้มาแล้วก็ต้องติดตั้งให้ถูกด้วย
ฝรั่งเปรียบเทียบได้น่าสนใจว่า ‘Install Car Seat Wrong, Face Manslaughter’
พวกเขากำลังเปรียบให้เห็นถึงการติดตั้งที่ผิดหรือไม่ถูกวิธีแล้ว สุดท้ายก็ไม่ต่างจากการที่คุณกำลังส่งลูกน้อยไปเผชิญหน้ากับพวกสัตว์อันตรายกินเนื้อคนทั้งหลาย
จากการสำรวจของ The German Insurance Institute GDV พบว่ามีเพียง 30% เท่านั้นที่ผู้ปกครองติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กกับเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดของตัวรถได้อย่างถูกต้อง ขณะที่จุดยึด ISOFIX พบว่า มีการติดตั้งถูกต้องถึง 96% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความง่ายของระบบในการใช้งาน
อีกทั้งในคู่มือประจำรถหรือของเบาะนั่งเด็ก ผู้ผลิตมักแนะนำให้ยึดเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กเข้ากับ ISOFIX จะดีกว่า เพราะจากการที่จุดยึด ISOFIX ยึดเข้ากับตัวถังของตัวรถทำให้มีความหนาแน่นกว่า ลดการเคลื่อนตัวทั้งพุ่งไปข้างหน้าหรือออกทางด้านข้างได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ในยุโรป นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2006 รถยนต์ใหม่ทุกรุ่นจะต้องติดตั้ง ISOFIX พร้อมกับ Top Tether หรือสมอสำหรับยึดรั้งด้านบนของเบาะนั่งเด็ก มาจากโรงงาน และในปี 2011 รถยนต์ทุกคันที่วิ่งบนถนนจะต้องติดตั้ง ISOFIX ขณะที่ของอเมริกาบังคับให้มี LATCH ในรถยนต์ใหม่ทุกคันมาตั้งแต่ปี 2002 โน่นแล้ว
ดังนั้น ความซับซ้อนในการติดตั้งมักจะเกิดขึ้นกับการใช้งานกับ Car Seat ที่ใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดเป็นตัวยึดรั้ง
ในกรณีของเบาะนั่งเด็กอ่อน และเด็กที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี ส่วนใหญ่แล้ว วิธีติดตั้งสำหรับการใช้เข็มขัดนิรภัย 3 จุด คือ ดึงสายคาดออกมาแล้วก็สอดไปทางด้านหลังของตัวเบาะ จากนั้นก็เสียบเข้ากับตัวล็อกเข็มขัดฯ ประเด็นที่จะทำให้ตัวเบาะแน่นหนาคือ ให้คุณแม่หรือคุณพ่อเอาหัวเข่ากดและทิ้งน้ำหนักลงไปที่ตัวเบาะนั่งเด็ก จากนั้นใช้มือดึงเข็มขัดฯ ให้ตึงแล้วค่อยกดตัวล็อกของเบาะให้แน่นและเมื่อติดตั้งเสร็จแล้วควรลองขยับตัวเบาะและจุดยึดตั้งๆ ว่าแน่นหนาหรือไม่ ถ้ายังไม่แน่น ก็ลองติดตั้งใหม่ ส่วนพวกบูสเตอร์ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะใช้เข็มขัดนิรภัยเป็นตัวยึดร่างกายของเด็กอยู่แล้ว ตัวเบาะเป็นแค่เบาะเสริมเท่านั้น
ทางที่ดีเมื่อได้ Car Seat มาแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ นั่งอ่านคู่มือซะเหมือนกับที่เวลาที่คุณนั่งอ่านคู่มือโทรศัพท์มือถือนั่นแหละ หรือไม่ก็เสิร์ชหาเอาใน Youtube ซึ่งมีวิธีติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยที่ถูกต้องให้ทำความเข้าใจและศึกษาอยู่มากมาย
Rear Facing ดีไหม ?
Rear Facing เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึงวัย 1 ปีหรืออย่างน้อยมีน้ำหนักเกิน 10 กิโลกรัม แต่สำหรับผู้ผลิตรถยนต์จากสวีเดนซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมากบอกว่าควรจะนั่งไปเลยจนกว่าจะครบอายุ 4 ปี หรือมีน้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัม หรือแม้แต่หน่วยงานอย่าง American Academy of Pediatricians ก็สนับสนุนให้เด็กนั่งแบบ Rear Facing ไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นเดียวกับงานวิจัยใหม่ๆ ล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็สนับสนุนให้เด็กนั่งแบบ Rear Facing จนกว่าจะถึง 4 ขวบ
ประเด็นตรงนี้เกิดจากสรีระของเด็กยังไม่มีความแข็งแรง โดยเฉพาะกระดูกคอ ซึ่งการนั่งแบบ Rear Facing จะเหมาะสมกว่า เพราะตัวเบาะนั่งในลักษณะนี้จะออกแบบมาเพื่อรองรับกับช่วงกระดูกคอและศีรษะของเด็ก และจากการทดสอบจะพบว่า เบาะนั่งแบบ Rear Facing อาการเคลื่อนตัวของศีรษะและคอแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ต่างจากการนั่งแบบ Forward Facing ที่เมื่อเกิดการชนทางด้านหน้า ร่างกายของเด็กในส่วนหัวและแขนจะพุ่งไปด้านหน้าอย่างรุนแรงแม้ว่าตัวเบาะนั่งจะใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 5 จุดก็ตาม
นั่นเป็นเพราะการกระจายแรงกระแทกที่เกิดขึ้นจะถูกส่งผ่านไปทั่วแผ่นหลัง ศีรษะและคอของเด็ก ทำให้ช่วยป้องกันไม่ให้ศีรษะมีการเคลื่อนตัวอย่างรุนแรง รวมถึงช่วยลดอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงเพราะแรงกระชากที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาทของกระดูกสันหลัง
แม้เรื่องของการถูกชนทางด้านท้าย การนั่งแบบ Rear Facing จะมีประสิทธิภาพในการปกป้องลดลง แต่หลายความเห็นก็ชี้แนะว่า เรื่องการชนท้ายถือเป็นสิ่งที่รุนแรงน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการชนทางด้านหน้าทั้งแบบเต็มหน้าหรือครึ่งหน้า ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยและอันตรายกว่าในชีวิตประจำวัน
แต่ข้อควรระวังสำหรับการติดตั้งแบบ Rear Facing คือ เมื่อวางอยู่เบาะหน้าต้องมั่นใจและแน่ใจว่า คุณปลดการทำงานของถุงลมนิรถัยฝั่งคนนั่งด้านหน้าแล้ว เพราะไม่เช่นนั้น เมื่อเกิดการชน แรงกระแทกที่เกิดจากการพองตัวของถุงลมฯ อาจทำให้เด็กคอหักได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่อาจจะต้องรับมือกันอย่างหนักสำหรับผู้ปกครอง คือ การจับให้เจ้าตัวเล็กนั่งหันหลัง ซึ่งความจริงแล้วอาจจะดูฝืนๆ โดยเฉพาะเมื่อมาเริ่มเอาตอนมีอายุสักหน่อย
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.