น้ำตกห้วยโรง-บ้านบ่อหอย วันฟ้าฉ่ำฝน บนเส้นทางแห่งความหวังและมิตรภาพ
ขึ้นต้นบรรทัดแรกนี้ ขอแสดงความเสียใจและไว้อาลัยให้กับเพื่อนที่แสนดี ชัชวาล เดือนเพ็ญ ประธานชมรมแก่งเสือเต้น คนหนุ่มไฟแรงที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ด้วยโรคประจำตัวก่อนวัยอันสมควร และการเดินทางครั้งนี้ จึงกลายเป็นการเข้าป่าครั้งสุดท้ายของเขา เพราะให้หลังเพียงไม่กี่วัน เขาก็เสียชีวิตลงอย่างสงบที่ อ.ร้องกวาง จ.แพร่
ด้วยจิตคารวะ จากใจนิตยสารออฟโรดและพ้องเพื่อน ขอดวงวิญญาณของ ชัชวาล เดือนเพ็ญ จงไปสู่สุขคติในสัมปรายภพเบื้องหน้าด้วยเทอญ
แพร่-น่าน อยู่ใกล้กันแค่เอื้อม
หากจะไปเมืองน่าน ก็ต้องผ่านเมืองแพร่ สองจังหวัดนี้ มีอะไรที่ใกล้เคียงกันมาก จนเรียกได้ว่าเป็นเมืองพี่เมืองน้องก็คงไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศอันเต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน จนตัวเมืองมีสภาพไม่ต่างจากไข่แดง ถูกโอบอุ้มอยู่กลางแอ่งกระทะ เป็นเมืองที่สวยงาม เงียบสงบ และน่าอยู่อาศัย มีศิลปวัฒนธรรมที่มีสวยงามเอกอุและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ถูกหล่อหลอมให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่น่าสนใจและค้นหาทั้งสิ้น
นานหลายปีที่ผมไม่ค่อยได้เดินทางแวะเวียนมาสองจังหวัดนี้ แต่ก็ยังคุ้นชินกับบรรยากาศที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก จากครั้งอดีตที่ขึ้น-ลง เป็นว่าเล่น
กลางเดือนมิถุนายนรอยต่อระหว่างหน้าร้อนล่วงเข้าสู่ต้นฝนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจเส้นทางคาราวาน TOYOTA OFF ROAD TRAINING 2014 เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา จึงถือโอกาสนี้นัดแนะกับทาง ดนัย ปัญญานะ หรือ ไก่ แกงโฮ๊ะ นักแข่งชื่อดังของน่านและเป็นที่ปรึกษาของชมรมน้ำน่านออฟโรด ซึ่งคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ให้ช่วยจัดหาเส้นทางเที่ยวป่าให้สักหนึ่งทริป
และก่อนถึงเวลาที่จะเดินทาง ดนัย ปัญญานะ ก็ส่งข่าวมาแจ้งว่า “มาได้เลย เดี๋ยวจะพาไปตะลุยเส้นทางบ่อหอย ป่ารอยต่อระหว่าง อ.เวียงสา จ.น่าน กับเขต อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ผมแจ้งทางชมรมแก่งเสือเต้นเอาไว้แล้ว รับรองสนุกครับเส้นทางนี้ มีให้เลือกตั้งแต่ระดับเบาๆ ไปจนถึงหนักสำหรับพวกฮาร์ทคอร์ เป็นทางขึ้นเขาสันปันน้ำระหว่างแพร่กับน่าน ถึงเวลาเดินทางค่อยไปว่ากันอีกครั้งว่าเราจะเลือกเดินทางไปทางเส้นไหนดี ต้องดูฟ้าฝนด้วยว่าเป็นใจหรือเปล่า”
“อ้อ…เส้นทางนี้จะผ่านน้ำตกห้วยโรงด้วย เป็นน้ำตกขนาดกลางที่สวยงามมากอีกหนึ่งหนึ่งของร้องกวาง เราจะแวะไปเที่ยวและพักผ่อนกันที่นี่ด้วย”
ดนัย ปัญญานะ แจ้งข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับเส้นทางและจำนวนรถที่จะร่วมเดินทางครั้งนี้ “ขอบคุณมากไก่…แล้วเจอกัน” ผมตอบกลับไปสั้นๆ
ครั้นถึงวันเดินทางจริงปรากฏว่าฝนที่ทิ้งช่วงมานานหลายวัน ตกกระหน่ำลงมาอย่างหนักตั้งแต่กลางดึก จนกระทั่งในช่วงเช้าก็ยังตกพร่ำๆ ฟ้าสลัวขมุกขมัวรอบด้าน
“แน่ใจนะว่าเดินทางเข้าไปได้ ฝนตกข้างนอกยังหนักขนาดนี้ เส้นทางข้างในเป็นยังไงบ้างก็ไม่รู้” ผมเปรยๆ กับ ดนัย ปัญญานะ “ผมสอบถามไปยังแก่งเสือเต้น เขาบอกว่าที่ร้องกวางฝนไม่ตกนะ แต่ก็มืดๆ เหมือนกัน ตกหนักอย่างไรพวกนั้นคงส่งข่าวมาอีกที” ดนัย ปัญญานะ บอกให้ผมและคณะที่จะเดินทางไป เบาใจลง หลังจากควบจี๊ปคันเก่งออกจากอู่มาหมาดๆ ประเภทสียังไม่ทันได้ทำ มาดักรออยู่ก่อนแล้ว
เมื่อทุกอย่างพร้อม ขบวนรถจากน้ำน่านออฟโรดจำนวน 8 คัน ก็วิ่งมุ่งหน้าฝ่าสายฝนที่ตกเปาะแปะมาตลอดทางสู่ อ.ร้องกวาง เราใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง ก็มาถึงยังจุดนัดพบกับชมรมแก่งเสือเต้นเจ้าบ้าน อีก 6 คัน ที่รออยู่ที่ปากทางเข้าบ้านห้วยโรง นำทีมโดย พิชิต อิทราวุธ ที่ปรึกษาของชมรมแก่งเสือเต้น รวมทั้ง ชัชวาล เดือนเพ็ญ ประธานชมรมฯผู้ล่วงลับไปแล้ว
ฝนเริ่มซา ฟ้าเริ่มเปิด แต่รอบด้านก็ยังขมุกขมัวไปด้วยเมฆฝน ขบวนรถทั้งหมดเริ่มเคลื่อนตัวออกจากบ้านห้วยโรง ไปตามเส้นทางราดยางที่ไต่ความสูงของดงดอยต่างไปเรื่อยๆ ราวครึ่งชั่วโมงกับระยะทางราว 17 กิโลเมตร ก็เดินทางมาถึงยังใจกลางหมู่บ้านบ่อหอย สิ้นสุดเส้นทางออนโรด เข้าสู่ปากทางออฟโรดที่แท้จริง
เราพิรี้พิไรจับจ่ายซื้อเสบียงอาหารและรอเพื่อนๆ ที่ตามมาสมทบอยู่ครู่ใหญ่ ก็ได้ฤกษ์เดินทางเข้าสู่ไปตาม ความลาดชันของขุนเขา อย่างไรก็ตามเส้นทางในช่วงแรกนี้ แม้จะเป็นเส้นทางออฟโรด แต่ก็เป็นแบบเรียกน้ำย่อย มีอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ เนื่องจากเส้นทางจากบ้านบ่อหอยจนถึงแคมป์สนของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ถา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังใช้อยู่เป็นประจำ จึงมีการปรับปรุงอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
ครั้นผ่านหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ถา เข้าสู่เขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำชั่น 1A ไปแล้ว ความยากของเส้นทางเริ่มมาเยือน จากเนินชันธรรมดาๆ แปรเปลี่ยนเป็นเนินชันที่เอียงซ้ายสลับขวา และลื่น เนื่องจากได้รับอิทธิพลของฝนที่ตกลงมาก่อนหน้านี้ รถหลายๆ คันต้องงัดวินช์มาเป็นตัวช่วยลากผ่านอุปสรรคดังกล่าวไป แค่เนินแรกนี้ก็ใช้เวลาไปเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ เราหยุดพักขบวนเพื่อเติมพลังในการต่อสู้กับอุปสรรคข้างหน้า
เส้นทางบ่อหอย ถือว่าเป็นเส้นทางออฟโรดที่สวยงามเส้นทางหนึ่งของ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ รอยต่อของ อ.เวียงสา จ.น่าน สามารถเดินทางไปได้หลายเส้นทาง จะเข้ามาทางด้านบ้านป่าหุ่ง ต.ยายหัวนา อ.เวียงสา มาทะลุบ้านบ่อหอย เหมาะสำหรับรถประเภทฮาร์ทคอร์ รถต้องพร้อมจริงๆ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งจากบ้านบ่อหอย ขับไปลงที่ อ.สอง จ.แพร่ แต่ไม่ค่อยมีใครใช้เดินทางนัก เนื่องจากยากกว่าทุกๆ เส้นที่กล่าวมา
ทริปนี้จึงสรุปกันว่า จะวิ่งเป็นวงกลมจากบ่อหอย ขึ้นสันปันน้ำ ย้อนกลับมาออกที่บ้านบ่อหอย ระยะทางออฟโรดรวมแล้วประมาณ 17 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ไม่หนักจนเกินไปหนัก เหมาะสำหรับทริปที่รถเยอะๆ เช่นนี้
จากหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ถา เส้นทางจะไต่สันดอยขึ้นไปเรื่อยๆ เส้นทางไม่ยาก เป็นโขดหินผสมทางดินและร่องเล็กๆ สลับซ้าย-ขวา และใช้เวลาไม่นานเท่าไรนักขบวนทั้งหมดก็ขึ้นมาถึงยอดเขาจุดสูงสุดของเส้นทาง ที่ปกคลุมไปด้วยทุ่งหญ้าเขียวครึ้ม มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นประปรายตามที่ลุ่มริมเขา และยอดเขาที่ลาดชัน อากาศเย็นสบาย ลมเย็นพัดเอื่อยๆ มองเห็นทัศนียภาพได้รอบด้าน โดยเฉพาะเทือกเขาอันสลับซับซ้อน 360 องศา
“มีรถคว่ำ ไม่รู้รถใคร ทุกคันจอดก่อนดีกว่า ไปดูเพื่อนกันก่อน” เสียงวิทยุสื่อสารดังขึ้น เหมือนมนต์สะกดที่ทำให้รถทุกคันจอดอยู่กับที่ พวกที่ล่วงหน้าไปแล้ว ต่างกระวีกระวาดเดินย้อนกลับมายังจุดเกิดเหตุ หลังจากที่เคลื่อนตัวจากจุดชมวิวมาไม่กี่กิโลเมตร ปรากฏว่าเป็นรถ SUZUKI CARIBIAN ของนายช่าง อบต.ห้วยโรง เกียรติศักดิ์ บุญปัน/สัตยา เลิศนราพันธ์ ที่ขับเพลินไปนิด ไปปีนขอบทางด้านซ้าย ส่งผลให้รถเสียอาการและพลิกตะแคง รถก็ไม่เสียหายอะไรมาก ส่วนคนก็ปลอดภัย กลายเป็นเรื่องโจ๊กสนุกสนานในทริปนี้ไป
หลังช่วยกันพลิกเจ้าแมงหวี่กลับมาตั้งดังเดิม สำรวจและแล้วไม่มีอะไรบุบสลาย ก็ออกเดินทางต่อไปตามเส้นทางที่คดเคี้ยวบนสันเขา ที่ค่อยๆ ลาดต่ำลงเรื่อยๆ จนบรรจบกับเส้นทางไปต่อยังบ้านป่าหุ่ง แต่เราเลี้ยวขวาวิ่งลงสู่หุบเขาด้านล่าง เพื่อย้อนกลับไปออกที่บ้านบ่อหอย
จากจุดบรรจบของสามแยกดังกล่าว เส้นทางก็ค่อยๆ ลาดต่ำลงมาเรื่อยๆ บางช่วงเป็นโค้งหักศอก บางช่วงเป็นร่องน้ำลึก บรรจบกับลำห้วยขนาดเล็กๆ ที่ทางแก่งเสือเต้นหมายตาเป็นที่พักแรมคืนนี้ รถทั้งหมดค่อยๆ ทยอยพาตัวเองลงไปทีละคัน ทิ้งช่วงห่างกันพอสมควร เนื่องจากเป็นช่วงที่ยากและอันตรายมากที่สุด แต่แล้วจู่ๆ ฝนก็เทลงมาอย่างหนัก จนมองแทบไม่เห็นเส้นทาง ความลื่นและลาดชันของเนินที่ยาวเกือบ 300 ร้อยเมตร เริ่มสำแดงเดชทันที รถหลายๆ คันเกิดอาการขวางลำ บางคันไม่สามารถบังคับรถได้ พลาดท่าตกลงไปในร่องที่ถูกน้ำกัดเซาะ เนื่องจากทัศนวิสัยตอนนี้แทบจะมองไม่เห็นไกลเกิน 5 เมตร บวกกับเส้นทางได้กลายเป็นทางน้ำไปเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกันรถคันที่ลงมาจอดรถที่ริมห้วยด้านล่าง ก็เริ่มมีการขยับตัวกันอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้เริ่มน่าเป็นห่วง จากลำห้วยเล็กๆ ระดับน้ำเริ่มเอ่อสูงขึ้น สายน้ำสีขาวกลายสภาพเป็นสีชา และเริ่มไหลแรงขึ้นเรื่อยๆ “เราขึ้นไปรอเขาด้านบนก่อนดีกว่า เผื่อหาที่ตั้งแคมป์คืนนี้ด้วย พักแรมที่นี่เสี่ยงเกินไป จับผลัดจับพลูจะเจอน้ำป่าเอาได้” ใครคนหนึ่งในทีมชุดแรกที่มีอยู่ประมาณ 7-8 คัน เอ่ยขึ้น ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย
เวลาผ่านไปอย่างเนิ่นนาน จากฝนตกราวกับฟ้ารั่ว จนเริ่มซาเม็ดไปหลังจากความมืดเริ่มคืบคลานเข้ามาปกคลุม ป่าทั้งป่าดูเงียบสงบ ยกเว้นด้านบนเนินที่ยังส่งเสียงเอ็ดตะโรในการช่วยกันบอกไลน์รถ ทั้งช่วยกันดันช่วยกันเข็น รวมทั้งวินช์กู้รถที่เหลือติดค้างอีก 2-3 คัน ลงมาได้อย่างปลอดภัย และขับจนทะยอยผ่านลำห้วยและไต่ขึ้นสันดอยตามชุดแรกไปจนครบ
ค่ำคืนอันแสนลำบาก และเปียกปอนจากฝนที่ตกลงมา ทำให้หลายคนสมัครใจนอนพักเอาแรงบนรถมากกว่าจะกางเต็นท์บนสันเขาแคบๆ เพราะยังไม่ไว้ใจว่าฝนจะเทลงมาอีกหรือไม่ ในขณะที่ครัวกลางก็เร่งรีบจัดเตรียมข้าวปลาอาหารอย่างขมักขะเม้น แข่งกับเวลาที่เริ่มดึกลงเรื่อยๆ ก่อนที่จะล้อมวงทานอาหารด้วยกัน ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่นในมิตรภาพของแต่ละคนที่หยิบยื่นให้แก่กันและกัน แม้ว่าสภาพอากาศในค่ำคืนนี้ไม่ค่อยเอื้ออำนวยในการแรมคืนและการใช้ชีวิตกลางแจ้งสักเท่าไร
สายหมอกปกคลุมไปทั่วบริเวณป่ารอบด้าน แคมป์กลางป่าเปียกปอนไปด้วยไอหมอกจนชุ่มโฉกถ้วนหน้า หลังทานอาหารเช้ารองท้องแบบง่ายๆ แล้วก็เคลื่อนตัวออกเดินทางทันที เพื่อไปทานอาหารกลางวันที่น้ำตกห้วยโรงด้านล่าง
ฝนที่ตกเมื่อวานนี้ทำให้เส้นทางที่เป็นทางดินลูกรังผสมดินหนังหมู ทำให้การบังคับรถค่อนข้างจะยากและฝืนธรรมชาติพอสมควร แต่เนื่องจากเป็นทางลงเขาตลอด ทำให้แต่ละคันผ่านมาได้แบบใจหายใจคว่ำ เนื่องจากบางช่วงแทบจะต้องสกีบกลงมาจากความลื่นของเส้นทาง แม้จะว่าแต่ละคันตำแหน่งจะอยู่ที่ SLOW 1 แล้วก็ตาม แต่ยังโชคดีที่เส้นทางนี้ค่อนข้างกว้าง ไม่ค่อยมีหุบเหวให้หวาดเสียวสักเท่าไร
ใช้เวลาไม่นานก็หลุดจากราวป่า เข้าสู่เขตพื้นที่ทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน ที่มีการหักร้างถางพงจนกลายเป็นเขาหัวโล้นกินบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล จนน่าเป็นห่วงว่าอีกไม่นานป่าต้นน้ำแห่งนี้ หากยังขาดการดูแลและอนุรักษ์กันอย่างจริงๆ จังๆ จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชาวบ้าน อนาคตคงไม่เหลือป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์แห่งนี้อีกต่อไป
เราขับผ่านลำห้วยอีก 2-3 แห่ง ผ่านเรือกสวนของชาวบ้าน กระทั่งก่อนเที่ยงวันก็เดินทางมาถึงยังบ้านบ่อหอย และขับต่อเนื่องมาพักขบวนกันที่น้ำตกห้วยโรงหรือห้วยลง สถานที่ท่องเที่ยวอันมีชื่ออีกแห่งหนึ่งของ อ.ร้องกวาง
จบทริปการเดินทางบนสันปันน้ำของสองจังหวัด น้ำตกห้วยโรง-บ้านบ่อหอย ในวันฟ้าฉ่ำฝน บนเส้นทาง
แห่งความหวัง และมิตรภาพที่เบ่งบานขึ้นเรื่อยๆ ของชาวน้ำน่านออฟโรดกับแก่งเสือเต้น
ของฝากจากทริปนี้ การขับรถลงเนินชัน
หากถามว่าการขับรถในเส้นทางไหนที่อันตรายมากที่สุด ส่วนใหญ่ผู้ที่มีประสบการณ์มักจะยกให้การขับรถลงเนินที่ลาดชันและลื่น อันตรายมากที่สุด เนื่องจากบางครั้งไม่สามารถบังคับรถให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ ยิ่งขาดประสบการณ์ จะยิ่งอันตรายเพิ่มมากที่สุด แน่นอนว่าการขับรถลงเนินชันนั้น ทุกคนต้องนึกถึง WALKING SPEED ที่เปลี่ยนจากการไต่ในขณะขับขึ้นเนินมา เป็นการดึงในขณะขับลงเนินจะทำให้มีความปลอดภัยมากกว่าการใช้เบรกแต่เพียงอย่างเดียว ในการขับลงเนิน หากต้องการใช้เบรกช่วยก็สามารถกระทำได้ แต่ห้ามเหยียบเบรกอย่างรุนแรงเพราะล้อจะล็อกทำให้รถพุ่งลงจนไม่สามารถควบคุมได้เลย รถจะขวางลำโดยอัตโนมัติ และอาจเกิดการพลิกคว่ำได้ ถ้าโชคดีก็สามารถหยุดรถได้ โดยขวางลำอยู่กลางเนิน ก็ให้ปรับทิศทางพวงมาลัยไปในทิศทางลงเนินให้เข้าเส้นทางเสียก่อน แล้วจึงเคลื่อนที่ลงโดยการใช้ WALKING SPEED
บางครั้งการใช้ WALKING SPEED อาจดึงรถได้ดีเกินไป จะมีอาการคล้ายกับการใช้เบรกในการขับลงไม่สัมพันธ์กับองศาของเนิน รถก็จะเกิดอาการขวางลำได้เช่นกัน วิธีการแก้ไขก็คือ ควรเปลี่ยนจากการใช้เกียร์ 1 4L เป็น 2 4L อาการล้อล็อกก็จะหายไป แต่หากยังเกิดอาการลื่นไถลหรือขวางลำอยู่ ให้เลือกวิธีปฎิบัติ 2 แบบ ในการขับ คือ การเหยียบคลัตช์เพื่อลดการดึงของเกียร์ ก็จะทำให้รถไหลลงเล็กน้อย ทำให้ไม่เกิดอาการขวางลำอีก และเมื่อรถปรับเข้าเส้นทางดีแล้วให้ถอนคลัตช์ทันที เพื่อให้เกียร์ดึงรถต่อไป หรืออีกวิธีหนึ่งที่ปลอดภัยกว่า นั่นคือ การกดคันเร่งเพื่อฉุดให้รถตั้งลำตรง การตบคันเร่งเพียงเล็กน้อยจะสามารถแก้อาการขวางลำได้ แล้วจึงปล่อยให้เกียร์ทำหน้าที่ดึงรถต่อไป
สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการขับลงเนินในเส้นทางธรรมชาติ ก็ไม่ต่างไปจากการขับขึ้นเนินโดยเฉพาะอุปสรรคแบบเดียวกัน คือ มีร่องล้อไม่ว่าจะเป็น 2 หรือ 3 ร่องก็ตาม ควรเลือกบังคับให้ทั้งล้อหน้าและล้อหลังอยู่ในร่องล้อคู่เดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดการขวางลำจนเสียการควบคุมรถ และไม่จำเป็นต้องปีนออกนอกร่อง เพราะโอกาสที่ใต้ท้องรถจะแขวนในช่วงขาลงนั้นเป็นไปแทบไม่ได้เลย
น้ำตกห้วยโรง หรือ น้ำตกห้วยลง
สำหรับเส้นทางบ่อหอยนี้ นอกจากความสวยงามของเส้นทางที่มีทั้งป่าสนของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ถา และได้ชื่นชมกับวิวทิวทัศน์อันงดงามของเทือกเขาสันปันน้ำแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจและไม่ควรพลาดเข้าไปเที่ยวชมก็คือ น้ำตกห้วยโรง หรือ น้ำตกห้วยลง
สำหรับน้ำตกห้วยโรงนั้น สามารถเดินทางเข้าไปง่ายๆ เพราะอยู่ใกล้กับปากทางไปเส้นทางออฟโรด เดินทางไปจังหวัดน่าน ตามถนนสายแพร่-น่าน อย่าลืมเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางบ้านห้วยโรง ที่มีป้ายบอกว่าทางเข้าน้ำตกห้วยโรง ขับรถเข้าไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกห้วยโรง
ปัจจุบันนี้ มีการสร้างถนนลาดยางอย่างดี เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และชาวไทยได้เดินทางเข้าไปเที่ยวชม ซึ่งในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเป็นจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะวันหยุดนักขัตรฤกษ์ ซึ่งหลังจากที่ จ.แพร่ได้ปรับปรุงพื้นฟูธรรมชาติของสวนรุกขชาติห้วยโรง และจัดรูปแบบของการบริหารน้ำตกและปรับภูมิทัศน์ในพื้นที่ให้เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง, ร้านค้าแผงลอยและห้องน้ำที่ปลูกสร้างใกล้กับน้ำตก ไม่ให้บดบังทัศนียภาพ จึงทำให้น้ำตกห้วยโรงกลับฟื้นคืนสู่ธรรมชาติกันอีกครั้ง
โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งของทุก ๆ ปี สายน้ำที่น้ำตกห้วยโรงแห่งนี้มักจะขาดความสวยงาม เนื่องจากเป็นฤดูแล้งขาดแคลนน้ำไหลตกลงมาจากที่สูง แต่ในปัจจุบันสวนรุกขชาติน้ำตกห้วยโรงได้ปรับปรุงการบริหารน้ำจัดทำวิธีกรกักเก็บน้ำให้น้ำตกห้วยโรงแห่งนี้ มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี จึงเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าไปเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี และมีความสวยงามไม่แพ้น้ำตกแห่งอื่นๆ
รายชื่อสมาชิกที่ร่วมเดินทางครั้งนี้
1.พิชิต อิทราวุธ/พิบูลย์ อินทราวุธ
ที่ปรึกษาชมรมแก่งเสือเต้น
2.ประสิทธิ์ ละทะโล
ประธานชมรมน้ำน่านออฟโรด
3. (จากซ้าย) สิทธิพร ใจหวาน, ยงยุทธ รัตนพันธุ์จักร, ชัชวาล เดือนเพ็ญ และอาจาร์ยสำราญ กองโกย
ชมรมแก่งเสือเต้น
4.ดนัย ปัญญานะ
ที่ปรึกษาชมรมน้ำน่านออฟโรด
5.ธวัชชัย อุดซ้าย/กิติพงศ์ แก้วไชโย
ที่ปรึกษาชมรมน้ำน่านออฟโรด
6.บุญยง บุญสืบ
รองประธานชมรมน้ำน่านออฟโรด
7.นครชัย ภูเลิศ
ชมรมแก่งเสือเต้น
8.เกียรติศักดิ์ บุญปัน/สัตยา เลิศนราพันธ์
ชมรมแก่งเสือเต้น
9.วิชาญ สุขนาค/ศุภกิจ ตรีจัย
ชมรมน้ำน่านออฟโรด
10.สิริเชษฐ์ ดีอัมภาภิสิทธิ์
ชมรมน้ำน่านออฟโรด
11.จรัส แสนคำ
ชมรมน้ำน่านออฟโรด
12.ชัยยันต์ ทาละวงศ์
ชมรมน้ำน่านออฟโรด
13.ชาครีย์ เพชรชันยบูรณ์
ชมรมน้ำน่านออฟโรด
เรียบเรียงข้อมูลโดย นิตยสาร ออฟโรด : www.grandprix.co.th/offroadmagazine
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ไดที่ www.grandprix.co.th
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.