ทักทายพนมเปญ…

ผมไปดูกัมพูชามาหลายที่ สวายเรียง กันดาล กำปงสะปือ  กำปอต บันเตียเมียนเจย ไพลิน พระตะบอง สีหนุวิวส์ เกาะกง ยังไม่เคยไปคือ ทางรัตนคีรี ที่ติดกับจำปาสักของลาวนั่นเอง ในบรรดาที่ไปเห็นมา ผมว่าเสียมเรียบน่าจะเจริญมาไล่ๆ พนมเปญ แต่เป็นการเจริญในแง่การท่องเที่ยวและงานบริการที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยวเท่านั้น นอกนั้นเป็นเมืองเล็กๆ หนักไปทางเป็นชนบทมากกว่า พื้นดินกัมพูชายังเหลืออีกเยอะมาก ประชากรไม่กี่ล้านคน ทำให้แผ่นดินดูหลวมไปเยอะเลย ป่าไม้ทางพระวิหาร ทางเกาะกง ยังหนาทึบ แทบไม่มีรอยเว้าแหว่งแต่อย่างใด วิถีชีวิตแบบพื้นๆ นี่มีให้เห็นมากในต่างจังหวัดของกัมพูชา แต่สำหรับพนมเปญ ไม่เป็นเช่นนั้น

เมืองหลวงของกัมพูชาคือ พนมเปญ ซึ่งเขาว่าตั้งชื่อตามวัดที่อยู่บนเนินเขากลางเมืองชื่อวัดพนม ซึ่งว่ากันว่าเป็นเนินที่เกิดจากการเอาดินมาถมสูงๆ ขึ้น ซึ่งอันนี้ผมไม่ยืนยันว่าจริงหรือเปล่า เขาก็ว่ากันมาเรื่อยๆ ผมก็จำขี้ปากเขามาว่าเหมือนกัน ทำไงได้ เกิดไม่ทันยุคนั้น รอบๆ วัดนี้มีต้นไม้ร่มรื่น เป็นสวนสาธารณะไปกลายๆ   วัดอยู่ไม่ไกลจากกับลานอิสรภาพ ใกล้กับบ้านของฮุนเซ็น ที่อลิสมันต์เคยไปหลบนั่นแหละ

มารู้จักพนมเปญกันก่อนที่จะไปเรื่องอื่นๆ พนมเปญนั้นถือเป็นเมืองใหม่  ไม่ได้ค่อยๆ เจริญเติบโตมาเฉกเช่นเมืองอื่นๆ ทั่วไปไม่ หากแต่เกิดจากการอพยพโยกย้ายเพื่อหนีภัยจากสยามมาตั้งเมือง เพิ่งจะมาตั้งเป็นเมืองหลวงในยุคของสมเด็จพระนโรดม  พรหมบริรักษ์ เป็นกษัตริย์  เมื่อปี ค.ศ.1866  นี่เอง  ก่อนหน้านั้น ในปี 1863 กัมพูชาได้ลงนามในสนธิสัญญายอมเป็นหนึ่งในรัฐอารักขาของฝรั่งเศสร่วมกับลาวและเวียดนาม โดยฝรั่งเศสเรียกว่าอินโดไชน่า

พนมเปญเลยได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองหลวงที่สมบูรณ์ มีการวางผังเมือง ตึกรามบ้านช่องมากมาย  พนมเปญเจริญด้วยแรงขับเคลื่อนของฝรั่งเศสที่พยายามสร้างให้เป็นปารีสตะวันออก  ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สมเด็จนโรดมสีหนุ ท่านก็เรียกร้องเอกราชกลับคืน ต่อมาฝรั่งเศสก็ยอม แต่พอได้เอกราชกัมพูชาก็ยุ่งอีรุงตุงนัง มีปฏิวัติยึดอำนาจ นายพลลอนนอล  มีเขมรแดง มีสารพัดอย่างที่เรารู้ๆ กัน

ปี 1975 ช่วงที่เขมรแดงเข้ามาในพนมเปญนั้น ก็มีการกวาดต้อนประชาชนในพนมเปญราว 2 ล้านคน ออกไปสู่ชนบท ว่ากันว่ากรุงพนมเปญแทบจะร้างจากผู้คน เมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองเป็นดาวรุ่งแห่งภูมิภาค กลับอยู่ท่ามกลางบรรยากาศความหวาดกลัว เขมรแดงครองกัมพูชาอยู่ 4 ปี ถือเป็นช่วงที่ดองพนมเปญไว้แทบหยุดนิ่ง   พอเขมรแดงถูกขับไล่ออกไป ผู้คนก็เริ่มทยอยกลับเข้ามา แต่บ้านเมืองที่ถูกทิ้งร้าง 4 ปี ก็ทรุดโทรมอย่างมาก  พนมเปญค่อยๆ ฟื้นตามสภาพ  ต่อมาพอมีการเลือกตั้ง แล้วฮุนเซนครองอำนาจมาเป็นสิบๆ ปี ถือว่าการเมืองนิ่ง ทิศทางบ้านเมืองรู้แล้วว่าจะไปซ้ายหรือไปขวา  โดยมีจีนเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ การลงทุนหลั่งไหลเข้าสู่กัมพูชา พนมเปญทุกวันนี้ใครไปเห็นก็จะดูแปร่งปร่า ดูขัดหูขัดตาหน่อย

ที่ตั้งของพนมเปญนั้น ผมว่าเป็นทำเลที่ดีคือ ติดกับแม่น้ำหลายสาย ซึ่งจริงๆ ก็คือ แม่น้ำที่เป็นผลพวงมาจากแม่น้ำโขงที่กลายมาเป็นทะเลสาบเขมรนั่นแหละ ทะเลสาบนี้ใหญ่มาก เป็นทะเลจริงๆ กว้างมาก พนมเปญมาตั้งอยู่ตรงที่แม่น้ำมาหักงอก่อนไหลขึ้นเหนือ พื้นที่ตรงนี้เลยเป็นที่ลุ่ม จะเรียกว่าเป็นพรุก็ได้  บ้านเมืองที่เติบโตทุกวันนี้ เลยถมที่หนองน้ำทำอาคารร้านค้ากันมาก ผมว่าต่อไป กัมพูชาจะเผชิญกับน้ำท่วมอย่างมาก

กัมพูชาทุกวันนี้เจริญก้าวหน้ามาก อย่างที่ผมบอก โดยเฉพาะพนมเปญ เงินทุนหลั่งไหลเข้ามามากมาย โดยมีรายใหญ่คือ จีน ให้ทั้งเงินช่วยเหลือ ผู้เชี่ยวชาญ วิทยาการ การลงทุน และเขี้ยวเล็บของกองทัพ ก็จากจีนทั้งนั้น ไหนจะจากเกาหลี จากสิงคโปร์ ส่วนไทยนั้นเงินการลงทุนในกัมพูชาไม่มาก ที่สำคัญองค์กรการกุศลก็ยังช่วยเหลือกัมพูชาอยู่

จากบ้านเมืองที่บอกว่าเคยมีการวางผังเมืองที่สวย และเป็นระเบียบของฝรั่งเศสที่ทิ้งไว้ให้ ผมว่าเดี๋ยวนี้  ชักเลอะเทอะ คือ ผังเดิมก็ยังอยู่ แต่มีการดัดแปลง ขยาย ต่อเติมปลูกสร้างอะไรจนมั่วไปหมด  ท่านผู้อ่านเคยเห็นไหมในชนบทที่มีบ้านทรงยุโรปสวยงามเลย แต่การตกแต่งข้างในยังเป็นชาวบ้าน คือ ผมไม่ได้ว่ามันไม่ดีนะ แค่อุปมาให้ฟังว่ามันไม่ค่อยเข้ากัน ตึกรามที่เราสร้าง มันไม่ได้มาจากการเติบโตโดยธรรมชาติที่ค่อยๆ สั่งสมค่อยๆเรียนรู้ไป  แต่เป็นการจับยัดมาใส่ คนปรับตัวเข้ากับการเติบโตในแนวทางทุนนิยมแทบไม่ทัน บ้านเมืองในพนมเปญ ท่านผู้อ่านไปดูเถอะ มันมั่วๆ ยังไงพิกล การก่อสร้างมีไปทั่วทุกหัวระแหง ฝุ่นนี่ฟุ้งทั้งเมือง ใครที่แพ้อากาศ ได้ไปพนมเปญติดหน้ากากกันฝุ่นไปด้วย ฝุ่นเยอะ ขยะเยอะ  บ้านเมืองยังห่างไกลจากคำว่าปารีสตะวันออกที่เคยได้รับมาในอดีตมากเชียว

ในพนมเปญ คนจนเยอะ สลัมก็เยอะด้วย ซึ่งผมว่าเป็นธรรมดาของเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่คนจนวิ่งหาเมืองหลวงเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า แต่พอทุนนิยมเติบโต ประกอบกับฮุนเซนแกมีบุคลิกแบบเผด็จการ ยิ่งพอมาเลือกตั้งแล้วชนะได้เป็นรัฐบาลมาหลายปี ชักจะเผด็จการชัดขึ้น พวกอยากให้นายทุนจีนมาสร้างห้างสรรพสินค้าตรงไหน สร้างโรงแรมตรงไหน พวกเล่นไล่รื้อ ไม่ฟังเสียงชาวสลัม ชาวสลัมมาค้าน ก็เอาทหารตี ไล่ทุบกระเจิง ใครไม่ยอม เอาแทรกเตอร์ไถเลย นี่เล่นกันแบบนี้  ความชังฮุนเซนจึงค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยๆ  ยิ่งคนกัมพูชาสมัยใหม่มีการศึกษามากขึ้น โลกไร้พรหมแดน เห็นบ้านเมืองอื่นเขาก้าวหน้าอย่างไร ประชาชนมีสิทธิ์อย่างไร เดี๋ยวนี้ในกัมพูชา เราจึงมักเห็นการเดินขบวนประท้วงอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะล่าสุดที่มีการเลือกตั้งในปี 2556 ที่ผ่านมา พรรคของสม รังสี ชักชวนคนกัมพูชาออกมาเดินขบวนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่พรรคของฮุนเซนได้เสียงข้างมากแบบค้านสายตา  นั่นเป็นสัญญาณว่าต่อไปฮุนเซน จะปกครอง จะทำอะไรตามใจยากขึ้นแล้ว ค่าแรงของกรรมกรในโรงงานถูกมาก แค่วันละร้อยกว่าบาท ในขณะที่ค่าครองชีพแทบไม่ต่างจากบ้านเรา มีการคอรัปชั่นกันมากมาย  ผู้บริหารมองประชาชนเป็นคนชั้นสองรองจากนายทุนต่างชาติ แบบนี้ความมั่นคงของซุนเซนจึงเริ่มสั่นคลอน

สม รังสี ออกมาเป่านกหวีดเรื่องเลือกตั้งนิดเดียว คนในพนมเปญออกมาเดินขบวนกันเพียบ  คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา ส่วนใหญ่ไม่เอาฮุนเซนทั้งนั้น อย่างกรณีที่ฮุนเซ็น ให้ต่างชาติเช่าอาณาเขตในสัญญา 99 ปี  ซึ่งโลกยุคนี้ไม่มีใครเขาทำกัน กรณีของฮ่องกงก็เป็นการบังคับให้เช่า ไม่ใช่สมัครใจ  แต่ที่กัมพูชา ฮุนเซน ให้เช่า หลายพื้นที่เฉยเลย คนรุ่นใหม่จึงรู้สึกว่า เขาไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ แต่ประโยชน์ไปตกกับฮุนเซนและบริวาร คนชังฮุนเซ็นจึงขยายตัว ว่ากันว่าเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้าไม่มีอิทธิพลมืดมาแทรกแซงการเลือกตั้ง เขาว่าฮุนเซนแพ้แน่

พระราชวังเขมรินทร์นั้น เลียนแบบผังของพระบรมมหาราชวังมาเป๊ะเลย เพียงแต่อาจไม่วิจิตรบรรจงเท่า วัดที่สร้างคล้ายวัดพระแก้วบ้านเรา ก็มีจิตกรรมฝาผนังในวิหารคดเหมือนบ้านเรา แต่ไม่สวยเท่า ซ้ำไม่ได้รับการเอาใจใส่ด้วย รูปจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียร์สไตล์เขมร หลายส่วนจึงพัง ลอก ร่อน ไม่มีการซ่อมแซม ซ้ำนักท่องเที่ยวก็ไม่ไปดูด้วย นับว่าเสียดาย แต่ของเขาดูโปร่งตา ไม่แน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวเหมือนบ้านเรา  ส่วนคุกตวนเสร็งที่เคยเป็นค่ายกักกันสมัยเขมรแดง ที่ว่าคนมีความรู้ไปตายเยอะๆ นั้น ต้องออกไปนอกกรุงพนมเปญอีกหน่อย

พนมเปญเดี๋ยวนี้เจริญรุดหน้าแบบน่าสนใจ และน่าติดตามก้าวย่างแบบอย่ากระพริบตา   เอาไว้มีโอกาส มาเล่าต่อก็แล้วกัน…

 

 

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save